fbpx

ภาษากำหนดความคิด

เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำให้มนุษย์ ‘เป็นมนุษย์’ แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่มนุษย์พวกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ก็จะมีผู้เสนอเรื่องต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ความคิดเชิงนามธรรมทั้งหลาย วัฒนธรรมต่างๆ ฯลฯ  

เรื่องของภาษานี่น่าสนใจมากครับ เพราะเกี่ยวพันกับสมองส่วนที่ใช้จดจำและคิดหาเหตุผลเป็นเรื่องเป็นราวมาก จนถึงกับมีคำถามว่า ต้องมีสมองส่วนหน้าหรือ ซีรีบรัม (cerebrum) เจริญมากๆ แบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้นหรือเปล่าที่จะสามารถคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลได้ดี หรือแม้แต่สามารถคิดเรื่องต่างๆ หรือคิดเชิงนามธรรมได้หรือไม่?  

มีการค้นพบและการทดลองเกี่ยวกับความคิด ความจำ และภาษาที่น่าสนใจอยู่เยอะพอสมควร ลองดูตัวอย่างที่น่าสนใจบางส่วนกันครับ 

มีนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปคลุกคลีกับชนเผ่าโบราณที่ยังเร่ร่อนหาของป่าล่าสัตว์อยู่เรียกว่า พวกพีราญา (Pirahã) ในประเทศบราซิล คนพวกนี้มีคำเรียกจำนวนนับอยู่แค่เพียง ‘1’ กับ ‘2’ และ ‘มากมาย’ เท่านั้น ไม่มี 3, 4 หรือ 5 และมากกว่าอย่างที่เราเรียนในห้องเรียน

นักวิจัยออกแบบการทดลองให้คนเผ่านี้ลองแยกแยะความแตกต่างระหว่างจำนวน 4 กับ 5 แต่ผลก็คือแยกได้ไม่ค่อยดีครับ เหมือนกับว่าในหัวของพวกเขาจะปัดเลขเหล่านี้ไปอยู่รวมกันเป็นจำนวน ‘มากมาย’ และไม่จำเป็นหรือไม่สามารถแยกออกจากกันได้

เรื่องนี้นับว่าประหลาดเข้าขั้นมหัศจรรย์ทีเดียว เพราะสัตว์หลายชนิดเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการนับจำนวนอยู่ในตัว คือความสามารถแบบนี้มันฝังอยู่ในสัญชาตญาณไปเลย ตัวอย่างที่ศึกษากันมากคือในสัตว์ปีก เช่น พบว่านักแก้วพันธุ์แอฟริกันตัวโตๆ ที่อาจจะเคยเห็นกันทางโทรทัศน์ (ตัวนี้ชื่อ อเล็กซ์) สามารถนับจำนวนได้ถึง 6 อย่างแม่นยำ จากการทดสอบที่ออกแบบอย่างรัดกุม พบว่านอกจากอเล็กซ์นับจำนวนได้ถึงเลข 6 แล้ว ยังบวกลบเลขเหล่านี้ได้อีกด้วย! 

จะเห็นได้ว่าชนเผ่าที่ว่านี้ แยกแยะจำนวนได้แย่กว่านกฉลาดๆ ตัวหนึ่งด้วยซ้ำ!!! 

นกอีกชนิดหนึ่งคือ รอบิน (Robin) ชื่อเดียวกับผู้ช่วยของแบตแมนนั่นแหละครับ นักวิจัยทดลองหย่อนหนอนที่เป็นอาหารของพวกมันลงในช่องที่ขุดเอาไว้ในขอนไม้ให้มันดู มันจะไปยืนตรงหลุมที่ใส่หนอนลงไปมากกว่าเสมอ ไม่แสดงอาการงุนงงหรือมีรูปแบบการบินไปเกาะขอนไม้ที่ทั้ง 2 หลุมแบบสุ่มแต่อย่างใด 

แต่การทดลองส่วนถัดมายิ่งน่าสนใจ เพราะช่วยเน้นย้ำว่ามันบินไปเกาะตามความจำที่ได้จากการนับคำนวณในใจของมัน นั่นก็คือหลังจากนักวิจัยใส่หนอนให้มันเห็นแล้ว ก็มีการแอบเอาหนอนส่วนหนึ่งออกไปโดยไม่ให้มันรู้ แล้วหลังจากนั้นจึงนำมันไปยังขอนไม้ มันก็ยังบินไปที่หลุมที่มันจำได้ว่า มีหนอนใส่ไว้มากกว่า (ทั้งที่ตอนนี้มีน้อยกว่าแล้ว) อีกทั้งยังใช้เวลากับหลุมดังกล่าวมากกว่าอีกด้วย

แต่หากเทียบกันแล้วในบรรดานกด้วยกัน นกกาเป็นแชมป์เรื่องนับเลข เพราะมันบวกลบเลขได้มากถึงเลข 16!

ตัวอย่างการศึกษาต่างๆ ข้างต้นจึงแสดงให้เห็นว่า คำระบุจำนวนที่ชนเผ่านี้คิดขึ้นมีน้อยมาก และยังกลับมาบังคับวิธีคิดคำนวณของคนในเผ่าอีกที 

เรื่องของคำเกี่ยวกับสีก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ  

มีงานวิจัยที่พบว่าคนรัสเซียจับคู่เฉดสีต่างๆ ได้ไวกว่าคนอังกฤษมาก พอไปดูคำศัพท์เกี่ยวกับสีต่างๆ ในภาษารัสเซียก็พบว่ามีคำศัพท์ระบุสีเยอะกว่าในภาษาอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด

คำระบุเพศก็กำหนดวิธีคิดของคนเรามากเหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ 

มีตัวอย่างการศึกษาภาษาต่างๆ ที่มีการแบ่งข้าวของสิ่งก่อสร้างออกเป็นเพศต่างๆ ทำให้ทราบว่า ข่าวที่เขียนถึงจะมี ‘โทน’ แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หาก 2 ภาษาที่ศึกษาระบุเพศของสิ่งเดียวกันไว้ต่างกัน เช่น เมื่อสำรวจพาดหัวข่าวและเนื้อข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสะพาน Viaduct de Millau ในฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2004 สะพานแห่งนี้เป็นเจ้าของสถิติสะพานที่สูงที่สุดในโลก 

หนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันที่ระบุเพศคำว่า สะพาน (Brücke) เป็นเพศหญิง จะมีพาดหัวที่ใช้คำสำคัญประกอบคือ ล่องลอยเหนือเมฆ สง่างาม บางเบา งามจนต้องกลั้นใจ ซึ่งให้ความรู้สึกบางเบา งดงาม และล่องลอย สอดคล้องกับ ‘ความเป็นหญิง’ ในขณะที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสที่ถือว่า สะพาน (pont) เป็นเพศชาย กลับเจอพาดหัวที่มีคำจำพวกคอนกรีตยักษ์ ยิ่งใหญ่ และอลังการ ที่สอดคล้องกับลักษณะแข็งๆ บึกบึนแบบ ‘ความเป็นชาย’ 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำว่ากุญแจ

ในภาษาเยอรมัน คำว่า กุญแจ (SchlÜssel) ถือเป็นเพศชาย เมื่อไปสำรวจดูพวกนวนิยายทำให้พบว่า คำที่ใช้อธิบายกุญแจมักวนเวียนอยู่กับคำแสดงความบึกบึน แข็งแกร่ง เช่น โลหะ แข็ง หนัก หรือขรุขระ ขณะที่ในภาษาสเปน คำว่า กุญแจ (llaves) เป็นเพศหญิง คำที่นักเขียนใช้จึงมักเป็นคำแสดงความสวยๆ งามๆ หรือเล็กๆ แบบหญิงๆ เช่น ทองคำ บอบบาง อันเล็กๆ และน่ารัก

แม้แต่คำที่มีลักษณะเป็นนามธรรมมากอย่าง ‘ความตาย’ ก็มีความแตกต่างลักษณะนี้อยู่เช่นกัน 

ในภาษาเยอรมัน ความตายมีเพศเป็นชาย ทำให้ภาพวาดที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความตายมีลักษณะเป็นผู้ชายอยู่ราว 85% สวนทางกลับภาษารัสเซียที่ ‘ความตาย’ เป็นเพศหญิง บรรดาภาพวาดต่างๆ จึงใช้สัญลักษณ์เป็นเพศหญิงด้วยสัดส่วนที่สวนทางกัน

หลักไวยากรณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับความคิดความจำได้แก่ รูป passive voice หรือ ‘กรรมวาจก’ คือคำชี้ระบุผู้กระทำ ยกตัวอย่าง ในภาษาอังกฤษหากใช้ว่า she broke the bowl (เธอทำชามแตก) ก็จะมีลักษณะระบุชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ทำแตก ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ต่างจากภาษาสเปนและภาษาญี่ปุ่นที่คำพูดจะใช้เป็นว่า ‘ชามแตก’ โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ผู้ทำจานแตกเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเด็ก คนแก่ 

มีการทดลองเปิดวิดีโอที่เป็นภาพผู้หญิงทำชามตกแตกให้คนต่างชาติต่างภาษาดู ผลคือเมื่อถามว่าจำได้หรือไม่ว่าใครทำจานแตก คนพูดภาษาอังกฤษจำได้ว่า ‘ใคร’ ทำ ในขณะที่คนสเปนและคนญี่ปุ่นจำได้ไม่แม่นยำเท่า

น่าสนใจนะครับว่า เรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันแค่ไหน จะส่งผลกับการพิจารณาคดีและกฎหมายต่างๆ แค่ไหน เวลาพยานของคดีอาชญากรรมระบุตัวคนร้าย 

คราวนี้มาดูแง่มุมของภาษากับความคิดในเด็ก

เวลาที่เด็กๆ ฟังเรื่องเล่าหรือนิทาน ถ้ามีแอ็กชั่น เช่น การวิ่งหนีหรือเตะต่อย จะไปกระตุ้นให้สมองส่วนมอร์เตอร์คอร์เทกซ์ (motor cortex) ที่ควบคุมกล้ามเนื้อทำงานด้วยเช่นกัน ส่วนบทบรรยายชวนฝันต่างๆ เช่น “เขารู้สึกได้ถึงสัมผัสของมือที่นุ่มนวลราวขนนก” ก็จะไปกระตุ้นสมองส่วนรับสัมผัสทำให้ทำงานราวกับเราได้สัมผัสมือนั้นด้วยตนเองจริงๆ!

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อใช้เครื่องมือตรวจวัดรูปแบบคลื่นสมองคนเล่านิทานกับเด็กๆ ที่เป็นคนฟัง พบกว่ารูปกราฟคลื่นสมองคล้ายคลึงกันมาก อธิบายง่ายๆ คือ คล้ายกับผู้เล่าเรื่อง ‘ปลูก’ ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกสู่สมองและจิตใจของผู้ฟังด้วย 

ไม่ต่างจากหนังเรื่อง Inception สักเท่าไหร่ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่คำแนะนำการเลี้ยงดูเด็กเล็ก จึงให้พ่อแม่ผู้ปกครองเล่านิทานหรือไม่ก็อ่านนิทานร่วมกันกับลูกๆ เพราะได้ทั้งการปลูกฝังความรู้ ความคิด และอารมณ์ ซึ่งจะนำไปสู่อุปนิสัยใจคอที่ดีต่อไปในอนาคตนั่นเอง 

ข้อสังเกตจากงานวิจัยเรื่องสุดท้ายที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการอ่านหนังสือแล้วนำมาสรุป เพื่อเขียนขึ้นใหม่ให้น่าสนใจ แบบเดียวกับที่ก๊อปปี้ไรเตอร์ (copy writer) ทำกับงานโฆษณานั้นมีผลดี เพราะทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดการทำงานแบบเดียวกับการนั่งสมาธิ คือมีการหายใจสม่ำเสมอหายใจได้ลึก และมีความถี่ของการหายใจลดลง

จึงอาจใช้เป็นวิธีการทำสมาธิสำหรับคนที่จดจ่อกับสิ่งซ้ำๆ อย่างลมหายใจได้ยาก จนไม่สามารถทำสมาธิด้วยรูปแบบมาตรฐานคือ อานาปานสติ (การสังเกตลมหายใจเข้าออก) ได้ดี

ทั้งหมดที่ว่ามาคือ ความเกี่ยวข้องของภาษากับความคิดความอ่านและอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เราที่อาจนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งสิ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save