fbpx
ลังกาวี มหาธีร์สร้างเมือง

ลังกาวี มหาธีร์สร้างเมือง

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

ชัยชนะเด็ดขาดของตุน มหาธีร์ โมฮัมหมัด จากแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ฝ่ายค้านของมาเลเซีย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สร้างความกระเทือนให้แก่การเมืองแห่งแหลมมลายูอย่างใหญ่หลวง เพราะแทบไม่มีใครคิดว่านักการเมืองเฒ่าผู้นี้จะมีพิษสงเอาชนะพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งประเทศได้ แม้ว่ามหาธีร์จะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนก็ตาม

การลงชิงตำแหน่งจากการเลือกตั้งของ มหาธีร์ครั้งนี้ ไม่ได้ลงสมัครในเขตเลือกตั้งเดิมสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือเขตกุบัง ปาซู (Kubang Pasu) ทางตอนเหนือของรัฐเคดะห์ (ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อไทรบุรี) แต่กลับเลือกที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Dewan Rakyat) ในฐานะตัวแทนของเกาะลังกาวี

ลังกาวี

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะว่า ตลอด 22 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ได้สร้างผลงานมากมายไว้ให้กับมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมันเปโตรนาสและตึกคู่เปโตรนาสที่เคยสูงที่สุดในโลก เมืองใหม่ปุตราจายา สนามฟอร์มูล่าวันที่เซปัง และการต่อสู้กับวิกฤตต้มยำกุ้งที่ไม่ต้องพึ่งพา IMF แต่ผลงานที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเพชรยอดมงกุฎของ ดร.มหาธีร์ คือการพัฒนาเกาะลังกาวีจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ให้กลายเป็นเกาะสวรรค์แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

เมื่อครั้งที่มหาธีร์เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ จากคณะแพทยศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์คิงเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในสิงคโปร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์) ได้มาเป็นแพทย์ประจำในโรงพยาบาลของเกาะลังกาวีเป็นตำแหน่งแรก และเป็นนายแพทย์ของรัฐบาลคนแรกที่มาทำงานบนเกาะลังกาวี นพ.มหาธีร์หนุ่มเห็นความงดงามของป่าเขาและชายหาดแห่งลังกาวีแล้วเกิดความประทับใจอย่างยิ่ง แม้ว่าลังกาวีในขณะนั้นยังมีแค่หมู่บ้านชาวประมงและท่าเรือขนาดเล็ก ประชากรก็มีเพียงน้อยนิด แต่ นพ.มหาธีร์ก็ได้จดจำความงดงามนั้นไว้ จนกระทั่งเขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

ลังกาวี

ในปี 1987 มหาธีร์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรก สิ่งที่เขาลงมือคือการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกาะลังกาวี และประกาศให้ลังกาวีเป็นเขตปลอดภาษี (Duty Free Zone) จากนั้นการสร้างเกาะให้เป็นเมืองก็เริ่มต้นขึ้น

ท่าเรือกัวห์ (Kuah Jetty) ที่รับเรือโดยสารจากทั้งปีนัง ปะลิส และสตูล ถูกก่อสร้าง ตามด้วยท่าอากาศยานนานาชาติลังกาวี ที่เชื่อมเกาะกับเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย

ลังกาวี

จากนั้น มหาธีร์ก็เล่นใหญ่ ด้วยการใช้ตำนาน “นางเลือดขาว” เพื่อดึงดูดความสนใจผู้คนให้เดินทางมายังเกาะชายแดนที่มีชายหาดสวยงาม ป่าดิบและป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ น้ำตกและพรรณไม้นานา รวมถึงภูเขาเก่าแก่โบราณแห่งนี้

ตำนานนางเลือดขาว

ตำนานนางเลือดขาว เล่าเรื่องราวคำสาปของมะห์สุหรี หญิงสาวชาวภูเก็ต ผู้พบรักและสมรสกับวัน ดารุส บุตรชายทายาทเจ้าเกาะลังกาวี เธอถูกกล่าวหาว่าคบชู้สู่ชายและลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมในขณะที่สามีออกไปรบต่างแดน เมื่อเลือดของนางตกต้องพื้นดินลังกาวีก็ทำให้เกาะแห่งนี้ประสบกับหายนะถึงเจ็ดชั่วรุ่น เมืองลังกาวีที่เคยใหญ่โตจึงเหลือเพียงหมู่บ้านเล็กๆ โดยมีพื้นที่ที่เล่าขายตามตำนาน เช่น หาดทรายดำ ซึ่งเป็นหาดทรายที่ฝังร่างของมะห์สุหรีแต่ไม่สำเร็จ ทรายดันร่างของนางขึ้นมาและกลายเป็นสีดำ หรือทุ่งนาไหม้ ซึ่งแสดงถึงคำสาปของนางที่ทำให้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารล้มเหลว

คณะกรรมการพัฒนาเกาะลังกาวี อาศัยตำนานโบราณนี้ สร้างแคมเปญตามหาทายาทของพระนางมะห์สุหรีอ้างว่าพบเชื้อสายของมะห์สุหรีเป็นทายาทรุ่นที่ 7 คือ คุณศิรินทรา ยายี โดยนายกฯ มหาธีร์ ในขณะนั้น ได้เดินทางมารับตัวคุณศิรินทราด้วยตัวเอง และเชิญไปทำพิธีถอนคำสาปของมะห์สุหรีถึงเกาะลังกาวี ซึ่งสื่อทั้งไทยและมาเลเซียประโคมทั้งโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ในราวปี 1999 จนทำให้สายตาและความสนใจของคนไทย มาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์และอินโดนีเซียเดินทางมาเที่ยวชมเกาะแห่งตำนานแห่งนี้

เทปรายการที่คุณศิรินทรา ยายี ให้สัมภาษณ์เรื่องทายาทมะห์สุหรี

YouTube video

แผนการพัฒนาเกาะลังกาวีของมหาธีร์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนถึงปี 2015 เกาะลังกาวีกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของมาเลเซีย มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาะแห่งนี้มากกว่า 3.6 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้เข้าเกาะมากถึง 21 พันล้านริงกิต (ราว 18,000 ล้านบาท) โดยมีที่พักโรงแรมมากถึง 9,000 หน่วย เป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาวกว่า 40% โดยเล็งเป้าหมายนักท่องเที่ยวมุสลิมระดับกลางขึ้นไปที่ต้องการความสงบ สะอาด เป็นระเบียบในบรรยากาศหาดทรายและชายทะเลที่อัศจรรย์ จากทั้งในประเทศมาเลเซียและตะวันออกกลาง ถือได้ว่าแผนของมหาธีร์สำเร็จและพลิกเกาะลังกาวีให้กลายเป็นเมืองที่เจริญแล้วได้ในชั่วคนเดียว

แผนการพัฒนาเกาะลังกาวีของมหาธีร์

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของลังกาวี นอกจากสุสานพระนางมะห์สุหรี และหาดทรายขาวท่ามกลางทะเลอันดามันสวยใสแล้ว ยังมีกลุ่มภูเขาหินที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาอนุรักษ์ระดับโลก (World Geopark) เนื่องจากเป็นเขตภูเขาและป่าโบราณเก่าแก่ถึง 550 ล้านปี ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาเกาะลังกาวี ได้สร้างเคเบิลคาร์และสะพานขึงพื้นใสข้ามยอดเขากุนุง มาชินชัง (Gunung Machinchang) เพื่อนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมทัศนียภาพป่าโบราณ น้ำตก และเทือกเขาหินทรายที่งดงามอลังการ พร้อมทอดสายตาไปยังท้องทะเลที่รายรอบเกาะมองเห็นได้ถึงเกาะตะรุเตาของไทยที่อยู่ใกล้เคียง ทิวเขาแมกไม้และป่าสีเขียวตัดกับทะเลและท้องฟ้าสีครามบนสะพานขึงสูงสีขาวเป็นวิวที่ยากจะหาได้ไม่ว่าที่แห่งใดในโลก

แผนการพัฒนาเกาะลังกาวีของมหาธีร์

แผนการพัฒนาเกาะลังกาวีของมหาธีร์

แผนการพัฒนาเกาะลังกาวีของมหาธีร์

นอกจากนี้ ที่ด้านล่างของเคเบิลคาร์ ยังเป็นธีมปาร์คขนาดเล็กที่มีเครื่องเล่นสวนสนุกต่างๆ และหมู่บ้านสไตล์เอเชียพร้อมร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก และโรงแรม ไว้บริการนักท่องเที่ยวครบวงจร

การเป็นเขตปลอดภาษีของลังกาวี ยังทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นปลายทางของการชอปปิง โดยเฉพาะสินค้าขนม ของขบเคี้ยว และอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของรัฐเคดะห์ ช็อกโกแลตและขนมอบกรอบชนิดถุงที่ขายในห้างสรรพสินค้าของลังกาวี อาจถูกกว่าบนเกาะปีนังที่อยู่ใกล้กันถึงครึ่งเท่าตัว และถูกกว่าที่กัวลาลัมเปอร์ถึงหนึ่งในสาม เพราะฉะนั้นถ้าใครไปลังกาวีก้ไม่ควรจะพลาดซื้อขนม ช็อกโกแลต หรือสารพันของขบเคี้ยวกลับมาฝากญาติมิตรสหายในราคาย่อมเยา

ความสำเร็จของการพลิกสร้างลังกาวีดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา มหาธีร์ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเกาะลังกาวีที่มาลงสมัครครั้งแรกไปถึง 18,954 คะแนน คิดเป็น 54.90% ชนะทั้งตัวแทนจากพรรค UMNO ฝ่ายรัฐบาล และพรรคอิสลาม PAS ขาดลอย และแนวร่วมของมหาธีร์ยังได้เสียงข้างมากในรัฐสภา เข้าสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่

เราคงต้องดูกันต่อไปว่า การกลับมาของมหาธีร์ครั้งนี้ จะสามารถสร้างตำนาน สร้างมาเลเซียให้สดใสอีกครั้ง ดุจดังตำนานของเกาะลังกาวีได้หรือไม่ในเร็ววัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save