fbpx

ในยามราตรี : ค่ำคืนที่นาซีไม่ต้องการ

ขณะที่นักเขียนฝรั่งเศสคนหนึ่งกำลังเขียนต้นฉบับนิยายซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นหาเด็กหญิงชาวยิวผู้หายตัวไปในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมัน รายละเอียดที่เขาอ่านได้จากภาพถ่ายเก่าเร้าให้เกิดคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดฟ้าผ่าในสถานที่หนึ่งแทนที่จะเป็นสถานที่อื่น? ความทรงจำเกี่ยวกับนักเขียนเยอรมันคนหนึ่งได้เข้ามาเยี่ยมเยียนความคิดของเขา นำพาเขาไปสู่เรื่องราวของนักเขียนคนนั้นและค่ำคืนแห่งเดือนกันยายนในเมืองเบรเมน

เขาเล่าว่าตัวเองได้พบกับหนังสือ Am Rande der Nacht  ฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสที่ร้านหนังสือในย่านฌ็อง เซลิเซ่ ชื่อของนักเขียนเยอรมัน Friedo Lampe (ซึ่งเขาสะกดชื่อเป็น Fredo Lampe) และชื่อของนิยายนั้นมีบรรยากาศที่ทำให้เขารู้สึกว่าเคยรู้จักและอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้วในชาติภพอื่น ทั้งที่เขาไม่เคยได้ยินชื่อนักเขียนเยอรมันคนนี้มาก่อนเลย



สำหรับเขาแล้ว ชื่อของ Lampe และ Am Rande der Nacht ก่อให้เกิดภาพของบานหน้าต่างที่ส่องแสงซึ่งคุณไม่อาจละสายตาออกมาได้ มันทำให้คุณเชื่อว่าเบื้องหลังบานหน้าต่างมีใครสักคนที่คุณหลงลืมกำลังรอคอยการกลับมาของคุณมาแล้วนานนับปี หรือไม่ก็ไม่มีใครสักคนอยู่ที่นั่นแล้ว มีเพียงตะเกียงที่กำลังลุกไหม้อยู่ในห้องว่างเปล่า

Lampe เกิดในวันที่ 4 ธันวาคม 1899 ในเมืองเบรเมน ปีเดียวกับพ่อของเด็กหญิงชาวยิวที่หายตัวไปคนนั้น เขาไปเรียนหนังสือที่ไฮเดลเบิร์ก ต่อมาได้ทำงานให้กับหอสมุดในฮัมบูร์กและเริ่มเขียน Am Rande der Nacht ซึ่งเป็นนิยายเรื่องแรกจนจบและตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม 1933

เพียงสองเดือนหลังจากนั้น พรรคนาซีก็สั่งเก็บและทำลายนิยายของ Lampe เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวเขาตกอยู่ในฐานะ ‘ต้องสงสัย’ ทั้งที่ไม่ใช่ยิว นักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นเข้าใจว่าความงดงามของค่ำคืนและการโหยหาอดีตชวนคะนึงของเรื่องราวในหนังสือเป็นสาเหตุของการต้องห้าม ไม่เพียงแต่เขาเท่านั้นที่เข้าใจแบบนั้น ผู้คนอีกมากมายที่อ่านงานเขียนของเขาก็เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน การลบเลือนหายของบางสิ่งบางอย่างทำให้เหตุการณ์เป็นไปในท่วงทำนองแบบนี้ หลายคนอาจมองในภายหลังว่ามันเป็นปริศนาที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่หลายคนกลับมองว่านี่คือเสน่ห์ที่อยู่กับประวัติศาสตร์และการตีความหมายสืบค้น

ในจดหมายฉบับหนึ่ง Lampe เขียนถึงความปรารถนาเกี่ยวกับ Am Rande der Nacht ไว้ว่า “เพื่อสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับบริเวณรอบๆ ท่าเรือในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงของยามค่ำคืน ช่วงเวลาระหว่างสองทุ่มถึงเที่ยงคืน ที่ผมคิดในตอนนี้คือเบรเมนที่ผมเติบโตขึ้นมา ฉากสั้นๆ ที่บอกเล่าเหมือนในภาพยนตร์ ความข้องเกี่ยวกันของผู้คน แสงและสายธารทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกันไปอย่างหลวมๆ ภาพ เสียง ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศ”

ช่วงปลายของสงครามขณะที่กองทัพรัสเซียกำลังได้เปรียบ Lampe พักอาศัยอยู่แถบชานกรุงเบอร์ลิน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 1945 เขาถูกทหารรัสเซียสองคนเรียกให้หยุดเพื่อตรวจเอกสารประจำตัวก่อนจะลากเข้าไปในสวน และภายในระยะเวลาสั้นๆ ที่ไม่มีการสืบสวนให้ถ้วนถี่ เขาถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ผู้คนในละแวกใกล้เคียงฝังศพเขาไว้ใต้ต้นเบิร์ช และติดต่อให้ตำรวจมารับสิ่งของที่เหลืออยู่ซึ่งก็คือเอกสารและหมวก หลังจากนั้นเพียงหกวัน นาซีเยอรมันก็แพ้สงคราม

การปรากฏของ Lampe กลับมาในความคิดของนักเขียนคนนั้นและถูกบอกเล่าในนิยายว่าด้วยการสูญหายและค้นหาที่ตีพิมพ์ในปี 1997 ทำให้ชื่อของ Lampe และ Am Rande der Nacht กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งและในวงที่กว้างกว่าเดิม

ในปี 2016 นายหน้าจัดหาหนังสือสิ่งพิมพ์และเอกสารหายากชาวอังกฤษชื่อ Simon Beattie ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “I never have any luck with my books” ลงในบล็อกส่วนตัวที่เขาใช้เป็นแหล่งเก็บบันทึกเรื่องราวที่สนใจ ในบทความนี้ เขาได้ยกข้อความบางส่วนที่นักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นกล่าวถึง Lampe และ Am Rande der Nacht มาเกริ่นนำก่อนเข้าสู่เรื่องราวที่เขาสืบค้นได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของ Lampe

ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมมาทำให้รู้ว่า ตอนอายุ 5 ขวบ Lampe ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรคกระดูกที่ข้อเท้าซ้ายซึ่งภายหลังได้รับการรักษาจนหาย แต่ผลของโรคทำให้ร่างกายของเขาไม่สมประกอบ

Lampe เป็นหนอนหนังสือตั้งแต่วัยรุ่น นิสัยรักการอ่านทำให้เขากลายเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง เขาเปรียบเปรยว่าการซื้อหนังสือไม่รู้จักจบสิ้นนี้เป็นโรคประจำตัวที่ทำให้ต้องซื้อทุกเล่มถึงแม้ว่าจะไม่มีเงิน Lampe ศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ และปรัชญาที่ไฮเดลเบิร์ก มิวนิค และไฟรเบิร์ก

นอกจากนั้นข้อมูลยังเปิดเผยให้รู้ว่า Lampe เป็นเกย์ การมีรสนิยมทางเพศอันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของระบอบนาซีทำให้เขาต้องปกปิดตัวตนไว้เป็นความลับ เมื่อรวมกันเข้ากับความหวาดกลัวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามทำให้น้ำหนักตัวของเขาลดลงอย่างมาก จนรูปลักษณ์ไม่สอดคล้องกับภาพถ่ายบนเอกสารประจำตัวซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดความเข้าใจผิดที่นำไปสู่จุดจบสุดสะเทือนใจ

เรื่องราวสำคัญอีกอย่างที่ Beattie ค้นพบซึ่งไปหักล้างกับความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุในการเป็นหนังสือต้องห้ามที่นักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นให้เหตุผลไว้ก่อนหน้า กล่าวคือเหตุผลแท้จริงที่ทำให้ Am Rande der Nacht อยู่ในรายชื่ออย่างเป็นทางการของ “รายการงานเขียนที่เสื่อมเสียและไม่พึงปรารถนา” คือการมีเนื้อหาในเชิงอิโรติกแบบรักร่วมเพศและการบรรยายถึงความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างชาติพันธุ์ของชายผิวดำและหญิงเยอรมัน

Lampe ได้เขียนถึง Am Rande der Nacht ในยามต้องห้ามไว้ว่าหนังสือของเขาเกิดมาภายใต้ระบอบที่ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เขาหวังว่าสักวันมันจะคืนชีพกลับมาอีกครั้ง

ราวกับจะเป็นการทำนายถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า กางเขนไม้ที่หลุมศพของ Lampe สลักข้อความไว้ว่า ‘Du bist nicht einsam’ (ในความหมายที่ว่า ‘You are not alone’ หรือ ‘คุณไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย’)

เหตุพ้องพานที่ชวนประหลาดใจอีกอย่างบนเส้นทางของค่ำคืนในเบรเมนก็คือนักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นในช่วงวัยหนุ่มเคยดำรงชีวิตด้วยการค้าหนังสือสิ่งพิมพ์และเอกสารหายากเหมือนกับอาชีพในปัจจุบันของ Beattie

สามปีต่อมา ความสนใจในชีวิตของ Lampe และงานเขียนที่ไม่จางหายไปจากใจนำพา Beattie ไปสู่การค้นคว้าและแปล Am Rande der Nacht อย่างสมบูรณ์จากต้นฉบับเดิมออกมาในชื่อ At the Edge of the Night ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ผลงานของ Lampe ครั้งแรกในโลกภาษาอังกฤษ ในหมายเหตุของการอธิบายต้นฉบับ Beattie ได้ไขปัญหาที่ทำให้นักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุของการเป็นหนังสือต้องห้ามไว้ว่า ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสของ Am Rande der Nacht ที่เขาบอกเล่ากล่าวถึงนั้นแปลมาจากต้นฉบับพิมพ์ใหม่ที่ไม่สมบูรณ์ภายใต้ชื่อ Ratten und Schwanne (Rats and Swans) ในปี 1949 ซึ่งตัดเนื้อหาส่วนที่ก่อให้เกิดปัญหาออก

ต้นฉบับที่สมบูรณ์เหมือนกับการพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมันคืนชีพกลับมาอีกครั้งในปี 1999 เนื่องในวาระครบรอบศตวรรษชาตกาลของ Friedo Lampe


At the Edge of the Night (2019) บรรยายถึงเรื่องราวของผู้คนหลายกลุ่มจากเมืองท่าไร้ชื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลที่มีบอกให้รู้ว่าสถานที่นั้นอยู่ในเบรเมน ในค่ำคืนหนึ่งของเดือนกันยายน กลุ่มเด็กที่มาซุ่มดูฝูงหนูบริเวณคูเมืองที่มีหงส์อยู่คู่หนึ่ง ชายชราผู้เปลี่ยวเหงามานั่งฆ่าเวลาในสวนสาธารณะเพื่อรอคอยใครสักคนมาพูดคุยด้วย ผู้ดูแลคูเมืองที่ภรรยาตายจากไป นักเรียนสองคนที่กำลังจะโดยสารทางเรือเพื่อไปเรียนต่อ ชายหนุ่มที่ยืนเล่นฟลุตบรรเลงเพลงของบาคไปเกือบตลอดทั้งเรื่อง ฯลฯ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากแต่ละส่วนเสี้ยวของตัวละครค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของชะตาชีวิตที่เกี่ยวพันกันของคนเหล่านี้

ลูกสาวของชายชราผู้เปลี่ยวเหงาไม่มาเยี่ยมพ่อผู้รอคอยแต่กลับแอบไปสนุกสนานกับกามราคะกับชายอื่นในที่ลับสายตาทั้งที่สามีอยู่ด้วยไม่ไกล เพื่อนของนักเรียนสองคนที่ทำงานอยู่บนเรือโดยสารมีความสุขกับการกดขี่ข่มเหงจากเจ้านาย นักมวยปล้ำที่มีพฤติกรรมส่อให้เห็นถึงรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย หญิงสาวโสเภณีกับชายหนุ่มผู้ไม่สามารถประกอบกามกิจได้ ฯลฯ

เรื่องราวหลายชีวิตในฉากของเมืองท่าที่แต่ละตัวละครมีความสำคัญเท่ากันทั้งหมดขับให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าแท้จริงแล้วยามค่ำคืนคือตัวละครเอก เมื่อมองผ่านการบรรยายถึงบรรยากาศอันชวนโหยหาด้วยเทคนิคการสร้างภาพจะสัมผัสได้ว่าสถานที่ต่างๆ ในเรื่องมีลักษณะชวนฝันในโทนที่คล้ายกับศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ ในขณะที่ภาพของผู้คนซึ่งชีวิตมีทั้งความหม่นหมองและความหวังได้รับการบอกเล่าอย่างเน้นย้ำผ่านความฉูดฉาดแบบศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ 

ภาพเปรียบระหว่างสถานที่และผู้คน ความสงบสุขและปั่นป่วนถูกนำเสนอผ่านภาพของคู่ตรงข้ามอย่างฝูงหนูและคู่หงส์ ความแตกต่างกันในอุปนิสัยของเพื่อน การตกอยู่ในสภาวะจำยอม หรือการฝ่าฝืนศีลธรรมของตัวละคร แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการก่อขึ้นของสังคมผ่านความอลหม่าน นัยหนึ่งคือการยืนยันว่าสังคมอุดมคติที่ปราศจากความแปดเปื้อนนั้นไม่มีอยู่จริง

การใช้ลักษณะของงานศิลปะสองสกุลเข้าด้วยกันเพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างขั้วผ่านเทคนิคการตัดต่ออย่างแนบเนียนที่หยิบยืมมาจากภาพยนตร์ของ Lampe ทำให้มิติย่อยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของยามค่ำคืนร้อยเข้าหากันจนเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน At the Edge of the Night มีลักษณะการผสมผสานกันเป็นเนื้อเดียวกันของงานจิตรกรรม วรรณกรรม และภาพยนตร์

คุณลักษณะแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับการข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์กันไปมาในกรอบของศิลปะร่วมสมัย แต่ในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลวิธีการทำงานของ Lampe ถือได้ว่าเป็นพวกอาวองต์-การ์ดที่ใช้วิธีการทางศิลปะแขนงต่างๆ มานำเสนอให้เห็นว่า ความสวยงามของยามค่ำคืนนั้นประกอบขึ้นมาจากทั้งความทุกข์และความสุขของผู้คนธรรมดา และความธรรมดานั้นก็มีส่วนที่ปลูกสร้างขึ้นด้วยเรื่องราวแปลกแยก ผิดเพี้ยน ไปจนถึงวิปริต


หมายเหตุ

นอกจากการเขียนถึงเรื่องเล่า องค์ประกอบและคุณลักษณะต่างๆ ที่มีอยู่ใน  At the Edge of the Night บทความนี้ยังเขียนขึ้นเพื่อทดลองตอบคำถามที่นักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นสงสัยว่าเหตุใดจึงเกิดฟ้าผ่าในสถานที่หนึ่งแทนที่จะเป็นสถานที่อื่น? สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของนักเขียนฝรั่งเศสคนนั้นและการหาคำตอบให้กับคำถามของตัวเขาเองสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ข้อความจากลายมือเขียนของปฐม วัฒนประพันธ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save