fbpx

ลาไล : โควิดและภูมิภาคนิยมของนักเขียนใต้

สิบเก้าปีแรกของศตวรรษที่ 21 โลกทักทายมนุษยชาติด้วยโรคระบาดที่หนักหนาสาหัส ซึ่งไม่ได้นำมาแต่เพียงความเจ็บป่วยทางกายและใจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นชีวิตที่ไม่ปกติ และก็ไม่รู้ว่าจะมีวันได้กลับไปปกติอย่างเดิมหรือไม่ เศรษฐกิจที่พังทลาย กิจการต่างๆ ล้มหายตายจากไปมากมาย ร้านข้าวที่เราเคยกินเมื่อปีกลายกลับมลายหายไปในปีนี้  ไหนจะชีวิตประจำวันที่มีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นมากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เต็มไปด้วยข้อห้ามที่เกิดจากโรค มนุษยชาติจมจ่อมอยู่ในที่เดิมๆ ด้วยชั่วโมงที่เพิ่มมากขึ้นและด้วยข้อบังคับในชีวิตที่มากขึ้นตามตัว

โรคระบาดจึงไม่ใช่แค่ความเจ็บป่วยทางกายและใจ แต่ยังหมายถึงชีวิตของมนุษย์ที่ต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เพื่อให้ ‘รอดชีวิต’ จากวิกฤตในครั้งนี้

โลกจึงไม่ง่ายสำหรับมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 เอาเสียเลย…

ท่ามกลางความปั่นป่วนทั้งหมดทั้งมวลในย่อหน้าแรกนั้น คำถามที่ผมสนใจและหมกมุ่นอยู่มากๆ คือ วรรณกรรมจะมีประโยชน์อย่างไรบ้างในช่วงเวลาแบบนี้ ผมมีสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคม ซึ่งผมมักจะใช้เป็นพื้นฐานในการสอนหนังสือ (ในช่วงที่ผมเคยได้สอนหนังสืออยู่) ว่านอกจากการให้ความบันเทิงสำเริงอารมณ์แล้ว วรรณกรรมยังได้บันทึกเอาเหตุการณ์และสภาพสังคมในแต่ละห้วงเวลาที่วรรณกรรมได้นำเสนออีกด้วย เราได้เห็นชีวิตของผู้คนและสังคมไปพร้อมๆ กันในงานวรรณกรรม ชีวิตของคนในแต่ละยุคสมัย ความคิดความอ่านของคนและ ‘โลกทัศน์’ ของนักเขียนที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงและพลวัตรของสังคม

‘ลาไล’ คือรวมเรื่องสั้นชุดล่าสุดของ จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนเรื่องสั้นมากฝีมือคนหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทย เรื่องสั้นของเขาได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักอ่านว่าเป็นงานที่แพรวพราว มีเทคนิคการเขียนและการเล่าเรื่องที่ชวนให้ติดตาม สนุก เสียดเย้ยอย่างแสบสัน

‘ลาไล’ จึงเป็นงานอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจ ในฐานะที่เป็นบันทึกสภาพสังคมไทยในยุคโรคระบาด นอกจากนี้ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษหลังจากอ่านเรื่องสั้นเล่มนี้คืออัตลักษณ์บางอย่างของนักเขียนใต้ในงานวรรณกรรมที่ ‘เปลี่ยนแปลง’ ไปจากเดิม และสังคมของภาคใต้ที่แตกต่างไปจากงานของนักเขียนใต้ที่ผมเคยอ่านไปก่อนหน้านี้มากมายนัก

เรื่องเล่าและการเล่าเรื่อง

ในบทความชิ้นนี้ผมคร้านที่จะพูดถึงเทคนิคและกลวิธีทางการประพันธ์ เนื่องจากในรวมเรื่องสั้น ‘ลาไล’ เต็มไปด้วยกลวิธีที่เปิดเผยความเรื่องแต่งของตัวเอง จำลองพยายามแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าแต่ละเรื่องนั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร หรือเรียกกันในแวดวงวิชาการวรรณกรรมว่า ‘เมตาฟิกชัน’ จะเห็นได้ว่าจำลองเอาวิธีการเล่ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่กำลังเล่า จับกลวิธีมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหา เช่นที่เขากล่าวเอาไว้ในคำนำว่า

“รูปแบบกับโครงสร้างในเรื่องสั้นเล่มนี้ อิสระจากงานยุคเก่าไปบ้าง แต่ยังอิงกฎเกณฑ์เดิมๆ เกาะก่ายขึ้นไปหรือแตกแขนงออกไป คอเรื่องสั้นแยกแยะออกและบอกได้ เรื่องสั้นบางเรื่องกลมกลืนมีเอกภาพ หลายเรื่องไม่เป็นเอกภาพหรือแหกกฎ จะบอกว่าเป็นลักษณะงานสมัยใหม่ก็เท่ากับอวดตัว”

สำหรับผม วิธีการแบบเมตาฟิกชัน ‘ไม่ได้มีความใหม่’ ในยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว ยังมีวิธีการเล่าเรื่องในเรื่องสั้นที่ ‘ใหม่กว่า’ เมตาฟิกชั่นมากมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 และผมเองเคยเขียนวิธีการและเทคนิคแบบเมตาฟิกชันเอาไว้ในบทความ “อาณาเขต” : เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว และคิดว่าไม่อยากเขียนอีกเพราะผมก็คงจะพูดแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าข้อที่น่าสนใจที่สุดใน ‘ลาไล’ ต่อประเด็นของวิธีการเล่าเรื่องคือความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา จำลองได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะ ‘เล่น’ อะไรในการเล่าเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเล่นเอาล่อเอาเถิดกับผู้อ่าน ถ้อยคำในแต่ละประโยคชัดเจน เรียบง่าย กล่าวคือไม่ทิ้งคนอ่านไว้ข้างหลังแล้วตะบี้ตะบันเล่าเรื่องให้ซับซ้อนวุ่นวายจนตัวเรื่อง ‘ไม่จับใจ’ เพราะความต่างระหว่างการเขียนหนังสือให้สนุกและซับซ้อนกับการเขียนหนังสือให้ ‘เหนือชั้น’ นั้นแตกต่างกันมาก (สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะคร้านอย่างไร ผมก็ยังต้องเขียนถึงอยู่ดี ไม่ทราบว่าจะจำเป็นหรือไม่ แต่ก็อาจจะจำเป็นด้วยวินัยแห่งวิชาของวรรณกรรมวิจารณ์)

โควิด/ชีวิต/วรรณกรรมไทย

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องใน ‘ลาไล’ เขียนและตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศไทยประสบกับภัยของโรคระบาดโควิด-19 ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในระดับภูมิภาคไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นได้ในแต่ละเรื่องสั้นของ ‘ลาไล’ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เราได้เห็นการปรับตัวเปลี่ยนแปลงและอารมณ์อันอ่อนไหวของผู้คนที่มีต่อโรคระบาด ในแง่นี้ ผมคิดว่าในอนาคตมันจะเป็นหลักฐานให้กับคนรุ่นหลังได้ดีว่าในช่วงวิกฤตที่มนุษยชาติประสบพบเจอนั้นสังคมไทยมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงในด้านในบ้าง

ชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ถูกจัดวางไปกับตัวเรื่องในทุกเรื่องได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน โดยที่ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้อ่านแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จาก การล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยที่กลายเป็น ‘มาตรฐาน’ ในการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคโรคระบาดนี้ เช่นในเรื่อง ‘บันทึกเป็นท่อนๆ (24 เฟรมต่อวินาที)‘ จำลองบรรยายถึงตัวละครหลักในเรื่องที่พยายามจะชวน “คุณลุง” คนหนึ่งในร้านกาแฟพูดคุยแต่ก็ไม่กล้าจึงเดินไปห้องน้ำเพื่อล้างมือ จากนั้นตัวละครก็พูดกับตัวเองว่า “มือของเธอสะอาดดีแล้ว วันนี้ลองชวนคุณลุงคุยสักประโยคสองประโยคสิ ไม่รบกวนแกหรอกน่า” (หน้า 42) หรือในเรื่อง ‘สตูลไม่ไกล’ ตัวละครที่เป็นนักเขียนขึ้นรถไปกับหญิงสาวคนหนึ่ง จำลองบรรยายว่า “ผมนั่งข้างหน้า สวมหน้ากากอนามัย เธอก็สวม…” (หน้า 171)

รายละเอียดเหล่านี้อาจจะดูว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สลักสำคัญ แต่ในอนาคตข้างหน้าเมื่อมนุษยชาติรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะต้องอยู่กับวิถีชีวิตใหม่หรือได้กลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่า (ยุคก่อนโควิด) เรื่องสั้นเหล่านี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งผู้คนในสังคมเคยมีชีวิตและใช้ชีวิตภายใต้ระเบียบแบบแผนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มันคือการแสดงให้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนที่จะมีชีวิตแบบ ‘ปกติ’ แม้ว่าในความเป็นจริงจะ ‘ไม่ปกติ’ ก็ตาม

‘ตรัง…อย่าไปอีกเลย’ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บันทึก ‘กระแส’ ของผู้คนในช่วงที่ต้อง ‘กักตัว’ อยู่บ้านในการระบาดระลอกแรก กระแสที่สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงนี้คือการทำอาหารเอง ผมจำได้ว่ามีมุกตลกที่ชอบพูดกันคืออยู่ดีๆ เราก็มีเชฟออนไลน์กันเต็มไปหมด เพราะคนออกไปไหนไม่ได้ หรือการออกไปซื้ออาหารก็ลำบาก ด้านร้านอาหารก็ถูกสั่งปิด การทำอาหารเองจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น บางคนไม่เคยทำก็กลับทำได้ดีและมีความรู้ในการทำอาหารเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีการทำอาหารเองที่ ‘ฮิต’ มากๆ ในขณะนั้นคือการทำอาหารจากหม้ออบลมร้อนหรือหม้อทอดไร้น้ำมันนั่นเอง

“อย่ามาวอแวเอากับสมาคมฯ (สมาคมเราจะผอมด้วยเมนูจากหม้อทอดไร้น้ำมัน – ผู้วิจารณ์) เลยค่ะ เดี๋ยวนี้เรามีสมาชิกเกือบครึ่งล้าน มีทุกสาขาอาชีพ ครูบาอาจารย์ นักปกครอง พนักงานธนาคาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ ใครไม่เป็นสมาชิกจะล้าสมัยเอาได้นะคะ…” (หน้า 72)

“ตอนนี้สมาชิกสมาคมฯ มีความเห็นร่วมกัน ถ้าสมาชิกครอบครองหม้อทอดไร้น้ำมัน แล้วเอาแต่อบขนมปัง อบมันฝรั่ง อบผัก ทำเฟร้นซ์ฟราย ดาวไข่ มันไม่คุ้ม เมนูพวกนี้ดึงศักยภาพแท้จริงของหม้อทอดออกมาไม่ได้เลย หม้อถูกๆ ก็ว่าไปอย่าง แต่ใบหมื่นขึ้นมันไม่คุ้ม แล้วมันก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าต่างจากทอดด้วยกระทะยังไง คณะกรรมการสมาคมเราจะผอมด้วยเมนูจากหม้อทอดไร้น้ำมันจึงมีมติเห็นชอบ ว่าวันอาทิตย์นี้ เราจะทำหมูกรอบพร้อมกันทั่วประเทศ หอมฟุ้งกระจายทั่วทุกโรงพยาบาลอำเภอ” (หน้า 75)

ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทยภายในโลกโซเชียลมีเดีย นอกจากเชฟที่เกิดใหม่ทุกวันในช่วงโควิดแล้ว เรายังได้เห็นหมูกรอบในรูปแบบที่แตกต่างกันไม่ว่างเว้นในแต่ละวันอีกด้วย

นอกจากนี้ อารมณ์และความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังถูกบันทึกเอาไว้ในเรื่อง ‘โรคระบาดจากห้องคลอด (โควิด-19)’ เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าถึงพยาบาลห้องคลอดคนหนึ่งที่ถูกชายหนุ่มโพสต์ด่าในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่พยาบาลคนนี้พยายามเข้าไปสอบประวัติของเขาและภรรยาที่กำลังจะคลอดลูก ซึ่งเป็นมาตรการในการดูแลผู้ป่วยช่วงโควิด แต่ชายหนุ่มกลับเข้าใจว่าพยาบาลมองเขาเป็นตัวเชื้อโรคเพียงเพราะเขามาจากพื้นที่เสี่ยงและปล่อยให้ลูกเมียของเขาติดโควิด สายธารคำบริภาษต่างๆ ถูกสาดใส่ไปยังพยาบาลและโรงพยาบาล ก่อนที่เธอจะยื่นบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้นให้คณะกรรมการความเสี่ยงของโรงพยาบาลไว้เป็นข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา ด้วยความเครียดก็ทำให้เธอเองใช้โซเชียลมีเดียในการระบายอารมณ์เช่นกัน จนกระทั่งถูกตักเตือนจากหมอ

โซเชียลมีเดียจึงถูกนำมาใช้เป็นอุปมานิทัศน์ถึงการแพร่เชื้อโรค อีกทั้งความเครียดสะสมของบุคลากรทางการแพทย์ก็ถูกนำมาอธิบายได้อย่างน่าสนใจ

“…เหมือนโควิดทำให้เราเครียดกันไปทั้งโลกแหละค่ะ เรารู้ว่ามันระบาดยังไง ถ้าคนไม่พบปะกันมันระบาดต่อไม่ได้ เราจึงต้องรักษาระยะห่างไงคะ อาชีพเราไม่ควรเก็บเรื่องในโซเชียลมาเป็นประเด็น ถ้าเราไม่ออกความเห็นก็เท่ากับช่วยลดแรงปะทะ เวลาเราไปแสดงความคิดเห็นทุกกลุ่มงานจะโดนหมด ตัวหนังสือไหลวูบวาบบนจอมือถือเป็นกระแสน้ำปนเปื้อน ใครมีของเสียระบายออกมา หมอว่าจะแปดเปื้อนกันไปหมด เดี๋ยวนี้ทุกคนเอาความป่วยไข้ฝากไว้กับโซเชียลมันจะติดเชื้อเพิ่มนะคะ โซเชียลมีเดียติดง่ายกว่าโควิดอีก” (หน้า 113)

ภาคใต้ ความเป็นเมืองและภูมิภาคนิยม

ผมมักจะมีภาพฝังใจหรือความเข้าใจอย่างลำลองว่า นักเขียนใต้มักจะนำเสนอประเด็นท้องถิ่นของตนได้อย่างแหลมคมเสมอ ทำให้เราเห็นภาคใต้ในหลากหลายแง่มุม เห็นความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกัน (แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักเขียนใต้จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะนำเสนอประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับท้องถิ่นไปเลยก็มี หรือพยายามจะเชื่อมท้องถิ่นกับภูมิภาคในระดับนานาชาติ — แม้จะน่าสนใจ และ/หรือ ดูน่าฉงนอยู่บ้างก็ตาม) ความเข้าใจอย่างคับแคบของผมเช่นนี้เองทำให้ผมอ่าน ‘ลาไล’ ด้วยความรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ

สิ่งที่ผมสนใจมากๆ ในการอ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้ของจำลองคือการปรากฏตัวของ ‘ภาคใต้’ ในวรรณกรรม

ในเรื่องสั้นชุดนี้ สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแปลกตาออกไปในการอ่านวรรณกรรมของนักเขียนใต้คือเราจะไม่พบความขัดแย้งแบบ ‘ไม่รบนาย ไม่หายจน’ หรือการแสดงอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของคนใต้ อันที่จริงแล้วเราแทบไม่พบความขัดแย้งที่ชัดเจนและโดดเด่นออกมา จนทำให้กลายเป็นจุดจำของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องด้วยซ้ำไป ทุกเรื่องสั้นต่างเล่าถึงชีวิตของตัวละครด้วยความราบเรียบราวกับกำลังนั่งอ่านบันทึกของใครหลายคนในแบบไดอารี่วันต่อวัน

‘ความเป็นเมือง’ คือสิ่งที่ชัดเจนมากในเรื่องสั้นชุดนี้ เราได้เห็นตัวละครหลายๆ แบบไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นชาวบ้าน หรือกลุ่มชาวมุสลิมเท่านั้น ซึ่งตัวละครหลายแบบที่ว่าล้วนเป็นชนชั้นกลางแทบทั้งสิ้น เช่น นักเขียน นักศึกษา หมอ พยาบาล เจ้าของรีสอร์ท เจ้าของร้านหนังสือและร้านกาแฟ ช่างภาพ ตัวละครชนชั้นกลางที่ปรากฏตัวมากขึ้นในภาคใต้นี้เองแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของระบบทุนนิยม และเมื่อชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งก็ย่อมน้อยลงไปด้วย เพราะชนชั้นกลางต้องการความสงบ ความราบเรียบในการทำมาหากิน ถ้าขัดแย้งกันมากๆ ชนชั้นกลางก็อาจจะทำมาหากินลำบากไปด้วย ดังนั้นยิ่งราบเรียบเท่าไร ก็น่าจะเป็นผลดีต่อชนชั้นกลางเช่นกัน

แน่นอนว่าเราไม่อาจกักขังคนใต้ในวรรณกรรมให้ถูกนำเสนออยู่แบบเดียวหรือภาพจำไม่กี่แบบ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และโลกไม่เคยหยุดหมุน ฉะนั้นชีวิตของผู้คนก็ย่อมต้องเปลี่ยนเช่นกัน และจำลองก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ในหลายๆ เรื่องหากไม่มีการระบุว่าฉากของเรื่องคือสถานที่ใด ผมก็อาจจะเข้าใจได้ว่าตัวเรื่องนั้นถูกเล่าอยู่ในกรุงเทพฯ นี้เอง [1] ดังเช่นเราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในสามของจำนวนเรื่องสั้นทั้งหมดมีฉากหลังหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ในร้านกาแฟที่ดู ‘ชิคๆ คูลๆ’ ตามสไตล์ของชนชั้นกลาง

ร้านกาแฟที่กลายเป็นศูนย์กลางของเรื่องสั้นใน ‘ลาไล’ ถ้าหากลองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นได้ว่าในสังคมของคนใต้นั้นมี ‘ร้านน้ำชา’ ที่ดูจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนมากที่สุด ไม่ว่าจะถกเถียงกันเรื่องอะไร คุยกันในประเด็นไหน ร้านน้ำชาต่างเป็นหมุดหมายของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ร้านกาแฟกลายมาเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ปะทะสังสรรค์ในเรื่องราวอื่นๆ แทน ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความร้านน้ำชาจะหมดความสำคัญ หรือไม่มีใครไปนั่งอีกต่อไป เพราะในเรื่องสั้น “รอยยิ้ม 2564” ก็ยังคงเล่าถึงร้านน้ำชาในฐานะศูนย์กลางของผู้คนเช่นเคย และในความเป็นจริงวัฒนธรรมร้านน้ำชาของคนใต้ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในชุมชนอยู่นั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงจากร้านน้ำชาสู่ร้านกาแฟ ‘ชิคๆ คูลๆ’ น่าจะช่วยให้เห็นได้ว่าในความเป็นเมืองแบบชนชั้นกลางในภาคใต้นั้นขยายตัวขึ้นมาก การนั่งร้านกาแฟที่ “มีมิวสิคสตรีมมิ่งปล่อยเสียงเพลงไพเราะต่อเนื่อง พูดคุยแบบไม่ต้องตะโกน…” (หน้า 80) นั้นแตกต่างไปจากการนั่งร้านน้ำชาแบบ ‘ชาวบ้าน’ เป็นแน่

กระนั้นแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่หน้าที่ของร้านน้ำชาและร้านกาแฟกลับไม่ต่างกัน ร้านกาแฟสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของผู้คนในเมืองเช่นในเรื่อง ‘บันทึกเป็นท่อนๆ (24 เฟรมต่อวินาที)’ ตัวละครนักศึกษาหญิงสงสัยว่าคุณลุงที่ลืมสมุดบันทึกเอาไว้นั้น “…ทำไมคุณลุงถึงเลือกเป็นบูมเมอร์หัวหงอกเต็มศีรษะท่ามกลางหนุ่มสาวเจน X-Y-Z แทนที่จะนั่งตามร้านน้ำชาที่พวกลุงๆ เคี้ยวใบกระท่อมวิจารณ์ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันหรือข่าวทีวี” (หน้า 80)

นอกจากนี้ร้านกาแฟยังถูกใช้เป็นฉากในการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นภาคใต้กับนานาชาติ ผ่านการอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์การค้าขายเสื้อผ้ามือสองในเรื่อง “จัดบ้านครั้งเดียว” อีกด้วย เรื่องสั้นดังกล่าวเล่าถึงนักศึกษาหญิงคนหนึ่งต้องทำรายงานเรื่องเสื้อผ้ามือสองส่งอาจารย์ ดังนั้นเธอจึงเลือกสัมภาษณ์นักเขียนซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ด้วย ตัวเรื่องพยายามชี้ให้เห็นว่าเสื้อผ้ามือสองเข้ามาในภาคใต้ผ่านพ่อค้าชายชาวมุสลิมปัตตานีกับยะลา เพราะพวกเขานำเข้าเสื้อผ้ามือสองมาจากซาอุฯ กับตะวันออกกลาง จึงนำเข้ามาในราคาถูก ก่อนจะซักและทำความสะอาด ส่งขายไปตามจังหวัดต่างๆ บางคนหอบไปขายหน้ารามฯ เพื่อหาค่าหน่วยกิตก็มี

ประเด็นที่ผมสนใจคือ การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นภาคใต้กับนานาชาติในวรรณกรรมเดิมทีมักจะถูกเล่าผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บ่อยครั้ง แต่การเล่าในเรื่อง “จัดบ้านครั้งเดียว” เป็นการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการค้าในโลกสมัยใหม่ที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างภาคใต้กับโลกภายนอก ทั้งอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญระดับโลกอย่างสงครามอ่าวเปอร์เซียที่ทำให้เสื้อผ้าอเมริกัน “กลายเป็นแฟชั่น ตลาดนัดจตุจักรต้องการเสื้อผ้าจากตะวันออกกลางทุกชนิด รวมถึงแว่นกันแดดของเสืออากาศ หนุ่มสาวญี่ปุ่นคลั่งอเมริกันยีนส์ บินมาซื้อลีวายส์ริมแดงที่จตุจักรตัวละหมื่นห้า-สองหมื่น เสื้อยืดแบรนด์เนมคัดอย่างดีตัวหลายพัน  พ่อค้าผ้ามือสองจากใต้มาเปิดร้านในสวนจตุจักรร่ำรวยหลายราย…” (หน้า 127)

อีกประเด็นหนึ่งที่ชวนให้ผมพิจารณาคือ ความเป็นภูมิภาคนิยมจนกลายเป็นชาตินิยมอยู่กลายๆ ของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ แน่นอนว่าในเรื่องสั้นพูดถึงชีวิตและผู้คนในภาคใต้ แต่เท่าที่ผมสังเกตจากน้ำเสียงในหลายๆ เรื่องนั้น ผมคิดว่าในอีกมิติหนึ่งรวมเรื่องสั้น ‘ลาไล’ ของจำลอง ฝั่งชลจิตร ดูเหมือนเป็นวรรณกรรมที่ประชาสัมพันธ์ความน่าท่องเที่ยวของภาคใต้ เช่นการพูดถึงของกินอันหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ของตรัง ใน ‘ตรัง…อย่าไปอีกเลย’ และในเรื่องเดียวกันนี้ยังได้พูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เอาไว้อีกด้วย หรือในเรื่อง ‘สตูลไม่ไกล’ ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกเรื่องที่เล่าและพรรณนาเมืองสตูลเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งท้องฟ้าที่สดใสจนสามารถมองเห็นทะเลดาวและทางช้างเผือกในเวลากลางคืนได้ ทะเลที่สวยงาม หรืออาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์

วาบความคิดหนึ่งพุ่งเข้ามาในใจผมคือ หากเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในแผ่นพับ และ/หรือ วารสารการท่องเที่ยวภาคใต้ ก็คงน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว…

ประการสุดท้าย ผมมีข้อสังเกตในเรื่องสั้น “จัดบ้านครั้งเดียว” บางอย่างที่ชวนให้คิดต่อไปอีกว่าในการพูดถึงประวัติศาสตร์เสื้อผ้ามือสองมีแง่มุมบางอย่างในบทสนทนาของนักเขียนกับนักศึกษาหญิง ที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามีน้ำเสียงของความสงสัยและตั้งคำถามต่อการเข้ามาตีตลาดมือสองของจีนและญี่ปุ่นในเมืองไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ จะบอกว่าเป็นน้ำเสียงของความไม่ไว้ใจ ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน กล่าวคือในตัวเรื่องผู้เล่าเรื่องพยายามชวนนักศึกษาคุยว่าหลายปีมานี้คนญี่ปุ่นนิยมจัดบ้านให้เรียบง่าย โล่งโปร่งสบาย ถูกสุขลักษณะ จึงมีการทิ้งของที่ไม่จำเป็นมากขึ้น และของที่ถูกทิ้งเหล่านั้นก็ “ยัดกระสอบใส่ตู้คอนเทนเนอร์ใส่เรือสินค้าส่งมาเมืองไทย” (หน้า 130) สินค้า ‘มือสอง’ จากญี่ปุ่นมาอยู่ในเมืองไทยจำนวนมากและได้รับความนิยมสูง แม้จะมีสินค้ามือสองจากจีนมาบ้างก็ตาม

ผู้เล่าเรื่องพยายามโน้มน้าวและชี้ให้นักศึกษาหญิงเห็นว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นนั้น ก็เป็นเพียง ‘ขยะ’ จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมาหาที่ทิ้งอยู่ในเมืองไทย และบ้านของคนไทยที่นิยมซื้อของและเสื้อผ้ามือสองจากญี่ปุ่นก็เป็นถังขยะชั้นเลิศให้คนญี่ปุ่นอีกด้วย ความกังวลในคนชาติอื่นๆ หรือ ‘คนอื่น’ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวผู้เล่าเรื่องที่เป็นนักเขียน (ชนชั้นกลาง) ที่แม้ว่าจะมีสำนึกทางสังคมกังวลว่าประเทศไทยจะกลายเป็นถังขยะของโลก แต่ตนเองนั้นก็ยังคงยืนยันที่จะใส่เสื้อผ้ามือสองต่อไป แต่ “ต้องไม่ซื้อง่ายๆ จนกลายเป็นขยะหมักหมมเต็มบ้าน” (หน้า 134) ผมคิดว่านี่เป็นการปลอบประโลมตัวเองอย่างหนึ่งแบบชนชั้นกลาง ที่รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองกำลังทำบางอย่างที่ขัดต่อหลักการในมโนสำนึก แต่ก็ไม่สามารถเลิกทำได้จึงได้แต่บอกตัวเองว่า “ทำน้อยๆ ไม่เป็นไรหรอกน่า” …

สุดท้าย แม้จะมีนักเขียนใต้จำนวนมากพยายามนำเสนอท้องถิ่นของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นในแง่มุมที่ไม่เหมือนกัน หรือแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่ในงานของจำลอง ฝั่งชลจิตร ชิ้นนี้ สำหรับผมแล้วเป็นงานที่ชวนให้คิดถึงพลวัตรที่เกิดขึ้นในปักษ์ใต้โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดแพร่กระจายไปทุกหัวระแหง และแม้ผมจะบอกว่า เราแทบจะไม่พบความขัดแย้งที่ชัดเจนในงานชุดนี้เอาเสียเลย แต่ภายใต้ความเรียบง่ายและราบเรียบของเรื่องเล่าและวิธีการเล่าเรื่องกลับถูกขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้งบางอย่างที่ดูธรรมดาที่สุด เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสามัญ เป็นความธรรมดาจนเรามองไม่เห็นหรือไม่สามารถระบุได้ว่ามันคือความขัดแย้งประเภทหนึ่ง

บางทีนี่อาจเป็นพัฒนาการในวัยเก๋าของนักเขียนอย่างจำลอง ฝั่งชลจิตร ที่ตกตะกอนชีวิตในการเขียนมาอย่างโชกโชนแล้ว….ก็เป็นได้


[1] ณ จุดนี้ผมควรถูกวิจารณ์จนถึงบริภาษว่าเป็นพวกเอากรุงเทพเป็นศูนย์กลาง – น่าเบื่อ —

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save