fbpx
ทะเลสาบน้ำตา อาทิตย์ ศรีจันทร์

“ทะเลสาบน้ำตา” กับ ความทรงจำ ความฝัน ความจริง

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

“การตื่นให้ความรู้สึกเหมือนวูบร่วง ควงคว้าง ร้างหล่น แต่ไม่ใช่จากข้างบนลงข้างล่าง หากจากก้นบึ้งสีดำของความหลับ ทะลึ่งขึ้นในโลกสีน้ำเงินอึมครึม”

– ทะเลสาบน้ำตา หน้า 11

 

นี่คือบทเปิดของนวนิยายที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งในรอบหลายปีของผม สำหรับผมแล้ว บทเปิดนวนิยายคือความ sexy อย่างหนึ่งที่ชวนและเย้ายวนให้เราตามติดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ มันต้องเผยให้เห็นตัวตนบางอย่างที่อยู่ภายในเรื่องและยังต้องเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน บทเปิดของนวนิยายนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่หลายอย่างมากๆ

ในบทเปิดนวนิยายเรื่อง “ทะเลสาบน้ำตา” ผลงานล่าสุดของ วีรพร นิติประภา ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ในทุกๆ ด้านสำหรับผม

“ทะเลสาบน้ำตา” เป็นผลงานนวนิยายลำดับที่ 3 ของ วีรพร นิติประภา โดย 2 เล่มก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และเป็นผลงานที่ส่งให้วีรพรได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายถึง 2 ครั้ง วีรพรจึงกลายเป็นนักเขียน “ดับเบิ้ลซีไรต์หญิง” คนแรกของประเทศไทย

นอกจากรางวัลซีไรต์แล้ว ผลงานของวีรพรยังได้รับการพูดถึงจากแวดวงวรรณกรรมอย่างแพร่หลาย ด้วยลักษณะเด่นคือภาษาที่งดงามและวิจิตรบรรจงมาก อีกทั้งยังมีเรื่องราวชวนให้ติดตามและต้องใจผู้อ่านหลากหลายกลุ่ม

แต่ไม่ว่าผลงานของวีรพรจะได้รับความนิยมเพียงใดก็ตาม ผลงานก่อนหน้านี้ทั้ง 2 เล่มนั้น ผมกลับไม่ใคร่จะประทับใจเหมือนนักอ่านหลายๆ ท่าน สิ่งที่ผมยืนยันกับมิตรสหายหลายท่านเมื่อได้สนทนากันเกี่ยวกับผลงานของวีรพร คือ ผมมักจะมีข้อสงสัยอยู่เสมอว่า ‘โครงเรื่อง’ ในงานของวีรพรคืออะไร

ในความเห็นของผม งานของวีรพร คือ นวนิยายที่เต็มไปด้วยโครงเรื่องย่อยๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ได้นำพาผู้อ่านเช่นผมไปยังจุดมุ่งหมายของนวนิยาย มิตรสหายบางท่านก็ว่า ทำไมวรรณกรรมต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ทั้งๆ ที่มันไม่ได้จำเป็นกับวรรณกรรมขนาดนั้น

ประเด็นนี้ผมก็จนใจจริงๆ ที่จะตอบ… (ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจต้องพ่วงมากับคำถามที่ว่า จุดมุ่งหมายของงานคืออะไร) (นั่นก็จนใจจริงๆ อีกทอดหนึ่ง)

ต่อมา ผมคิดว่าในงานของวีรพรนั้น เต็มไปด้วยถ้อยคำสวยงาม และประโยคที่สามารถเอาไปโควตไว้ที่ใดที่หนึ่งได้เสมอ กล่าวคือเป็นโควตลอยๆ ก็ได้ เพราะถ้อยคำและประโยคเหล่านั้นช่างสวยงามเสียจริงๆ ในทางภาษา แต่นั่นก็เป็นประเด็นที่ทำให้ผมยังไม่อาจ ‘คลิก’ กับงานของวีรพรได้ เพราะผมกลับเห็นว่า ในบรรดาประโยคที่สามารถโควตได้มากมายมหาศาลนั้น เมื่อเอามารวมกันแล้ว มันไม่ได้พาผู้อ่านเช่นผมไปในทิศทางไหนของเรื่องเลย มันเหมือนกับการนั่งบนเก้าอี้โยกที่รู้สึกว่ามันสั่นไหวอยู่เสมอ แต่ไม่เคลื่อนไปข้างหน้า หรือไม่แม้กระทั่งพาถอยหลัง

นั่นคือสองประเด็นที่ผมคิดว่าตัวเองยังไม่ประทับใจงานของ วีรพร นิติประภา เสมอมา อย่างไรก็ตาม ผมเห็นพัฒนาการบางอย่างในงานชิ้นที่ 2 นั่นคือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ผมคิดว่าในเรื่องนี้มี ‘โครงเรื่อง’ ที่แข็งแรงขึ้น ชัดเจนขึ้น อาจเป็นเพราะว่ามันคือนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับมิติทางประวัติศาสตร์ จึงช่วยให้ตัวนวนิยายมีเรื่องราวที่สามารถจับต้องได้มากกว่าในเล่มแรกคือ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”

จนกระทั่งมาถึงผลงานขบวนที่ 3 “ทะเลสาบน้ำตา”

เพียงแค่บทเปิดผมก็รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ผมเฝ้ารอเสมอมาในงานของวีรพร…

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจบทเปิดนี้มากๆ ก็คือ การนำเสนอสภาวะของการตื่นและการร่วงหล่นไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสภาวะทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่มันกลับดำรงอยู่ด้วยกันราวกับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มันชวนให้สงสัยว่า การร่วงหล่นจากก้นบึ้งทะลึ่งขึ้นมานั้นเป็นอย่างไรกัน

ไม่กี่วันก่อนหน้าที่ผมจะอ่าน “ทะเลสาบน้ำตา” ผมฝันร้าย (ซึ่งผมมักจะฝันร้ายอยู่เสมอ) และทุกครั้งที่ฝันร้าย จะมีห้วงเวลาหนึ่งก่อนตื่นขึ้นมา เป็นห้วงเวลาที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังจะร่วงจากอะไรบางอย่าง ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักได้ว่ามันคือความฝันและเราพยายามจะหนีจากมัน ในความรู้สึกนั้น เรากำลังพุ่งทะยานขึ้นมา จนกระทั่ง…เราลืมตาพร้อมกับสูดลมหายใจเฮือกแรกหลังจากความฝันกัดกินความรู้สึกของเรา

บ่อยครั้ง ผมลุกขึ้นมานั่ง แต่ภาพของฝันร้ายเมื่อครู่นี้ยังคงดำเนินต่อไปในโลกของความเป็นจริง ชั่ววูบหนึ่งผมไม่แน่ใจว่าผมกำลังตื่นหรือกำลังฝัน หรืออยู่ในความฝันซ้อนความฝันอีกทีหนึ่ง มันเป็นสภาวะกึ่งกลางระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกของฝันร้าย… และต้องใช้เวลาสักครู่หนึ่ง เพื่อสำรวจว่าผมได้ตื่นมาจากฝันร้ายแล้วจริงๆ

นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ในที่สุดผมก็ ‘คลิก’ กับงานของวีรพรได้สักที…

“ทะเลสาบน้ำตา” เป็นนวนิยายที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซี เป็นสัจนิยม หรือเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์แต่อย่างใด สิ่งที่ตัวนวนิยายกำลังทำ คือการเล่าเรื่องบนพื้นที่ที่ทับซ้อนกันของ ‘ความฝัน’ ‘ความทรงจำ’ และ ‘โลกของความเป็นจริง (?)’ ในประเด็นสุดท้ายนั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าโลกแห่งความเป็นจริงในทะเลสาบน้ำตาเป็นอย่างไร หรือตัวนวนิยายเองหมายใจจะให้มีโลกเช่นนี้ดำรงอยู่ในตัวเรื่องหรือไม่

โลกในทะเลสาบน้ำตาเต็มไปด้วยเรื่องเหนือจริง แต่ก็เป็นโลกที่สามารถเข้าใจได้ ความเข้าใจได้ในโลกแห่งนี้เป็นเพราะวิธีการเล่ามีลักษณะแบบนิทาน แม้ว่าดูเผินๆ ทะเลสาบน้ำตาอาจเหมือนเป็นนิทานมากกว่านวนิยาย แต่ในท้ายที่สุด มันก็ยังเป็นนวนิยาย เราจะเห็นได้จากบทสนทนาที่ไม่แยกออกจากบทบรรยายนอกจากนี้ ‘ผู้เล่าเรื่อง’ ยังมีบทบาทสำคัญในตัวเรื่อง เพราะทำหน้าที่ทั้งเล่าเรื่อง บรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ล่วงรู้ อดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละคร

เมื่อนำองค์ประกอบด้านรูปแบบของนิทานไปผสมผสานกับตัวโครงเรื่องและตัวเรื่องที่มีลักษณะเหนือจริง มันจึงให้ความรู้สึกเหมือนมีใครสักคนกำลังเล่านิทานเรื่องทะเลสาบน้ำตาให้เราฟัง แต่ในด้านโครงสร้างของเรื่อง ก็มีลักษณะแบบนวนิยาย คือมีโครงเรื่องหลัก โครงเรื่องรอง มีลำดับการเล่าเรื่องที่ผูกโยงให้ตัวละครหลักสองตัวในเรื่อง คือ ยิหวาและอนิล มาพบเจอกันผ่านปมขัดแย้งในชีวิตของแต่ละคนอันเป็นโครงเรื่องรอง

ด้านโครงเรื่องหลักจึงเป็นชะตากรรมของ ยิหวาและอนิล ซึ่งมีภูมิหลังที่ร้าวรานและความแหลกละเอียดของ ‘ทรงจำ’ (คำนี้เป็นคำที่วีรพรใช้บ่อยมาก ในงานก่อนหน้านี้ก็มี) มันได้นำพาชะตากรรมของสองคนนี้มาพบเจอกัน และต้องลากันอีกครั้งหนึ่ง

ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้ “ทะเลสาบน้ำตา” มีความโดดเด่นนอกจากเรื่องภาษา ก็คือการเล่าเรื่องบนพื้นที่ของ ‘ความฝัน’ และ ‘ความทรงจำ’ นี่เอง มันพาเราไปดูว่าอะไรที่ทำให้ชะตากรรมของตัวละครสองตัวนี้เหมือนกัน เปรียบเสมือนการขุดค้นลงไปในโครงสร้างของจิตในตัวละคร แล้วดึงเอาความซับซ้อนและยุ่งเหยิงภายในจิตออกมาเป็นฉาก เป็นตัวละครตัวอื่น หรือมีการบิดผันแปรเปลี่ยนเหตุการณ์ในชีวิตจริงออกมาอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ในความฝันนั้น เส้นแบ่งของพื้นที่และเวลาคือสิ่งที่ไม่มีขอบเขต ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถข้ามเวลา ข้ามสถานที่ได้ เราจะเห็นได้ในตัวเรื่อง เช่น ในตอนที่อนิลต้องแยกจากยิหวา ฉากนั้นอนิลอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ที่มีคุณยายนักหักคอปลาอยู่ แล้วบังเอิญไปเจอกับลูกแก้วลูกหนึ่งซึ่งภายในดูเหมือนจะเป็นทะเล แต่ “เมื่ออนิลลดลูกแก้วลงปาดน้ำตา และพบว่าทะเลที่เห็นไม่ได้อยู่ในลูกแก้ว แต่อยู่ตรงหน้า ทะเลจริงๆ วิบวาบในแดดจัดจ้า อนิลหมุนรอบตัวเองช้าๆ งงงัน ป่าดึกดำบรรพ์หายไปแล้ว และอนิลก็ไม่ได้ยินเสียงทะเล ไม่เลยแม้แต่น้อย” (หน้า 150) ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวย้ายที่ได้ในพริบตา เป็นภาพตัดเหมือนกับความฝันเวลาที่เรานอน

การนำเสนออดีตที่เจ็บปวดและร้าวรานของตัวละครหลักทั้งยิหวาและอนิลนั้น เป็นเรื่องหลักที่ตัวนวนิยายพยายามจะนำเสนอ และมันถูกนำเสนอในลักษณะกึ่งความฝัน กึ่งความทรงจำ กึ่งนิทาน ทุกสิ่งทุกอย่างมันดู ‘กึ่ง’ ไปเสียหมด ความ ‘กึ่ง’ เหล่านี้อาจดูเหมือนว่าตัวเรื่องไม่พาเราไปไหนสักที กึ่งๆ กลางๆ ค้างๆ เติ่งๆ อยู่อย่างนั้น แต่ในแง่หนึ่ง มันช่วยขับเน้นความแตกสลายในชีวิตของยิหวาและอนิลอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกสลายที่ว่า คือ การที่ชีวิตไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ เพราะมันกำหนดไม่ได้ว่าต่อไปฉากในเรื่อง/ความฝัน/ความทรงจำ จะนำพาตัวละครไปสู่ที่ใด

ยิหวาถูกแม่ทิ้งเพียงเพื่อจะไปตามหาความรักแล้วไม่กลับมาอีกเลย ปล่อยให้ยิหวาอยู่ในตึกอันพิลึกพิลั่น เต็มไปด้วยความประหลาดแต่ไม่มหัศจรรย์ เช่น ลุงนอมป้าดวงดาวที่ใส่เสื้อตัวเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ที่ต้องใส่เสื้อตัวเดียวกันและหนีบไปไหนมาไหนด้วยกัน เป็นเพราะป้าดวงดาวนั้นหาโอกาสที่จะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ ลุงนอมจึงต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา หรือคุณป้าอมราที่มักปรากฏตัวพร้อมกับทรงผมหลุดโลก หรือแฝดสามหมา ที่ไม่ว่าตัวไหนถูกเตะ มันก็จะเด้งขึ้นสามตัวพร้อมกัน เวลาออกเดินก็ออกเดินพร้อมกัน ยิหวาตั้งข้อสังเกตว่าพวกมันไม่น่าจะมีสมองและไม่มีหัวหน้า เพราะคิดอะไรเหมือนๆ กันและทำเหมือนกันๆ อยู่ตลอดเวลา

ความประหลาดเหล่านี้นอกจากจะไม่มหัศจรรย์แล้ว ยังดูเหมือนเป็นโศกนาฏกรรมสามัญที่เกิดขึ้นประจำวัน จะขำก็ไม่ได้ จะร้องไห้ก็ไม่ถนัด  มันคือความบิดๆ เบี้ยวๆ ของโลกที่ตัวละครทุกตัวต้องดำรงชีวิตอยู่และเอาตัวรอด

ส่วนอนิล เป็นเด็กที่มีปัญหาบ้านแตกสาแหรกขาด พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อตบตีแม่และอนิล จากนั้นก็แยกทางกันไป พ่อเอาอนิลไปฝากไว้กับป้าที่บ้านริมชายหาด ที่ที่อนิลใช้ชีวิตราวกับไม่มีตัวตน ไม่มีใครสนใจอนิล นอกจากนี้ อนิลยังถูกลูกชายของป้ากลั่นแกล้งและกลายเป็นรอยแผลอยู่ในตัวของอนิลไปอีกนานแสนนานอีกด้วย “หนหนึ่งยังถึงกับบังคับให้กลืนปลาทองฟองมณีที่พะงาบหลายท้องนอนมองพระจันทร์ลงไปทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นใจ ปล่อยมันว่ายนอนหงายในสภาวะวิกฤติข้างในอนิลไปชั่วฟ้าดินสลาย” (หน้า 60)

อนิลมักคิดถึงแม่ แต่อนิลเองก็จำแม่ไม่ได้มากนัก สิ่งที่อนิลจำเกี่ยวกับแม่ได้ไม่ใช่รูปทรงหรือแม่ทางกายภาพ แต่เป็นแม่ในความรู้สึก แม่อยู่ในความทรงจำในฐานะของความรู้สึก เพราะในตอนท้าย อนิลได้เจอแม่อยู่ในโรงมหรสพ ทันทีที่ได้ยินเสียง อนิลก็จำได้ว่าเป็นแม่ นั่นเป็นเพราะเสียงแม่มาพร้อมกับความรู้สึกที่อนิลเคยผูกพัน และยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ สำหรับอนิล แม่เป็นความทรงจำที่ซีดจางมากๆ

นอกจากตัวละครทั้งสองตัวที่เป็นเรื่องหลักในการนำเสนอแล้ว พื้นที่ที่สำคัญในเรื่องนี้ ยังมี “เมืองกระจก” และ “ครอบแก้ว” ซึ่งเราจะพบพื้นที่เช่นนี้ได้บ่อยในนิทาน พื้นที่ทั้งสองดำรงอยู่ในเชิงกายภาพ และทำหน้าที่ในการสื่อความหมายเชิงสังคมอีกด้วย

“เมืองกระจก” เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งที่มีแต่กระจก ตึกกระจกที่สะท้อนแสงกันไปมา และผลจากการสะท้อนแสงนี้เองทำให้เกิดความผิดปกติกับผู้คน

“ก็มันสว่างจ้าแสบตาออกอย่างนั้น ยิหวาเคยได้ยินคุณป้าอมราบ่นกับคุณยายหนูแดง แสงที่สะท้อนจากผนังกรุกระจกกลับไปมาไม่เลิกรานั่นแหละทำให้อากาศเผือดพร่าไปหมด คนจะน้ำตาไหลจนต้องคอยหรี่ตากันไว้ตลอดเวลา มองอะไรก็ไม่ชัดล่ะสิทีนี้ แล้วถนนหนทางก็ยังมีแต่ตึกกรุกระจกสี่เหลี่ยมเหมือนกันหมด จดจำทางกันก็ไม่ได้ ละต้องมีป้ายบอกทาง บอกร้าน บอกบริษัท หน่วยงานอะไรต่อมิอะไรจนรกรุงรังสับสนไปกันใหญ่” (หน้า 55)

“คุณยายไลลายังเล่าด้วยว่ามีโรคระบาดในเมืองกระจก โรคเลือนลืมนิ คนที่นั่นน่ะพากันลืมว่าตัวเองมีอะไร มีแล้วประเดี๋ยวก็หาซื้อเอาใหม่อีก ซื้อของอย่างเดิมซ้ำๆ กันหลายๆ ชิ้นนิ อย่างดีก็มีแบบเดียวหลายๆ สี ของอะไรเสียพวกเขาก็ไม่ซ่อมกันนิ แปลกจริงๆ เรื่องประหลาดอีกเรื่องที่ยิหวาเคยได้ยินก็คือนอกจากชอบซื้อของซ้ำๆ คนทื่นั่นยังชอบพูดซ้ำๆ ด้วย ทั้งพูดซ้ำคำที่คนอื่นพูด ยังชอบพูดสิ่งที่ตัวเองเพิ่งพูดไปแล้วด้วย” (หน้า 55-56)

และด้วยเหตุที่ว่า คนเมืองกระจกนั้นมีโรค “เลือนลืม” เป็นโรคประจำตัว โรคดังกล่าวส่งผลทำให้คนสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับตัวเอง พอจำตัวเองไม่ได้ก็จะไม่ฝัน พอไม่ฝัน “พวกเขาจะสูญเสียความหมายของการชีวิตอยู่ไป…” (หน้า 196)

ส่วน “ครอบแก้ว” เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่กลางเมือง หน้าที่ของครอบแก้ว คือเป็นสถานที่กระตุ้นเตือนไม่ให้ผู้คน ‘ลืม’ ความทรงจำของตัวเอง ดังนั้น ใน “ครอบแก้ว” จึงเป็นสถานที่กักเก็บความทรงจำของผู้คน บางครั้ง บางคนมีโอกาสได้เจอคนที่ตายซึ่งอาจอยู่ในความทรงจำของตัวเองเพียงแต่ลืมไปแล้ว หรือบางครั้งมันก็เป็นที่กักเก็บความทรงจำเกี่ยวกับความฝัน

ในครอบแก้วนี้เอง ที่ ‘ความฝัน’ และ ‘ความทรงจำ’ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มันได้ส่งผลต่อผู้คนอย่างรุนแรง เพราะทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือความจริง ความทรงจำ ความฝัน เส้นแบ่งต่างๆ ถูกหลอมละลายเอาไว้ในที่ๆ เดียวกัน จนทำให้ผู้คนคลุ้มคลั่ง บางคนเข้าไปในครอบแก้วและติดอยู่ในความทรงจำจนไม่สามารถออกมาได้อีก ดังนั้น ครอบแก้วจึงถูกปล่อยทิ้งให้ร้างและไม่มีทางเข้าเพื่อป้องกันความโกลาหล

ในแง่หนึ่ง “ครอบแก้ว” เป็นสิ่งที่น่าสนใจในฐานะสถานที่กักเก็บความทรงจำ แต่ความทรงจำอาจทำให้เราไม่ตระหนักความจริงที่ว่าเราอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ใช่อดีต ส่วนความฝันนั้นอาจหมายถึงความปรารถนาที่ทำให้คนเรามีจุดมุ่งหมายในการดำรงอยู่ การที่เรามีความทรงจำเกี่ยวกับความฝันในบางครั้ง มันจึงยิ่งพาเราออกไปไกลจากโลกของความเป็นจริงมากขึ้น

นอกจากนี้ ความทรงจำในบางครั้งเราไม่ได้จำเรื่องที่ดีเสมอไป เช่น ยิหวาและอนิล ความทรงจำของตัวละครทั้งสองนี้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความพังทลายในจิตใจได้อย่างชัดเจน และที่มาของความพังทลายนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุมาจาก ‘ครอบครัว’ อีกด้วย

เราจะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทะเลสาบน้ำตาพยายามจะนำเสนอก็คือ อะไรก็ตามที่มันเป็นอุดมคติ เป็นความงดงาม เป็นรากฐานที่ดีของชีวิต นั่นเป็นเพียงสิ่งที่เราคิดว่า/เห็นว่า มันน่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ในบางครั้งมันคือที่มาของโศกนาฏกรรมในชีวิต เป็นเหมือนกระแสสำนึกแห่งความเจ็บปวดรวดร้าวที่ไหลเข้าท่วมท้นความทรงจำ

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการนำเสนอของ “ทะเลสาบน้ำตา” ตั้งแต่ต้นเรื่องมานั้นล้วนทำได้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันไม่สามารถแยกออกได้เลยว่าขอบเขตของความฝัน ความทรงจำ และความจริงนั้นอยู่ตรงไหน วิธีการเล่าแบบนิทานก็ช่วยส่งเสริมให้การนำเสนอมีความแปลกและเด่นชัดมากขึ้น ทั้งยังช่วยทำให้ตัวเรื่องที่กำลังเล่า คือโศกนาฏกรรมสามัญของตัวละคร เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความสับสนงุนงงของวิธีการนำเสนอและการเล่า แต่ดูเหมือนว่านวนิยายเรื่องนี้จะดำเนินตามสูตรสำเร็จบางอย่างที่ผมคิดว่าไม่จำเป็นก็ได้

ในบท “การเดินทางของหยาดน้ำตา” ที่ให้คุณครูตากำธรมาเป็นผู้เฉลยความลี้ลับของครอบแก้วและโลกบางส่วนในจักรวาลของ “ทะเลสาบน้ำตา” อันที่จริงแล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเฉลยก็ได้ แต่การเผยความลี้ลับของครอบแก้วโดยคุณครูตากำธรนั้น ก็มีหน้าที่ทำให้เรื่องเดินต่อไป และจบแบบแฮปปี้เอนด์ดิ้ง แม้ยิหวาจะไม่มีโอกาสได้เจอแม่เหมือนกับอนิล แต่ยิหวาก็ดูจะพึงใจที่คนรอบข้างของเธอล้วนมีความสุข ทุกอย่างจบได้สวยและลงตัว ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็นต้องจบเช่นนี้ก็ได้

ผมสารภาพว่าอึดอัดใจอยู่พอสมควรที่ตัวโครงเรื่องมันถูกหักคอมาแบบนี้ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมาเฉลยเรื่อง ”ครอบแก้ว” ผมเห็นว่าถ้าหากปล่อยให้ครอบแก้วกลายเป็นสิ่งลี้ลับภายในเรื่องต่อไปน่าจะเปิดโอกาสในการตีความได้กว้างไกลกว่าที่เป็นอยู่

แม้จะอึดอัดใจไปบ้างในตอนท้าย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมกับงานของวีรพรก็หาจุดที่ลงตัวเจอกันเสียที ผมขอจบด้วยการโควตบางข้อความที่อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่ผมเขียนมา แต่มันก็น่าจะฉายให้เห็นภาพบางอย่างระหว่างคนในเมืองกระจกกับคนใน “เมืองแห่งหนึ่ง” ได้อย่างน่าสนใจ

 

ก็คนพวกนั้นน่ะมีแต่คำตอบละรู้มั้ยเล่า คุณยายหนูแดงผู้ซึ่งเอาวิกผมไปส่งให้ร้านค้าในเมืองกระจกบ่อยๆ บอก พวกเขาจะคอยพูดนี่บอกนั่นตลอดเวลาทั้งๆ ที่ไม่มีใครถาม แล้วนอกจากพูดเหมือนๆ กันเรื่องเดียวๆ กันยังไม่เคยถามคำถามอีกต่างหาก เอาแต่เร่งรีบลุกลี้ลุกลนยุกๆ ยิกๆ จะไม่มีเวลาคิดอะไร ทนรออะไรใครแทบไม่ได้ อะไรๆ ก็ต้องเอาเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ พวกเขาคิดว่าเวลาของเขามีราคาแพง แต่ก็แพงเฉพาะเวลาของตัวเองเท่านั้นนะ เวลาของคนอื่นอย่างพวกเราๆ น่ะเขาตีราคาถูกจะตาย” (หน้า 56)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save