fbpx
“ทะเล” ของ แพร์ ลาเกอร์ควิสต์ (Pär Lagerkvist, 1891-1974)

“ทะเล” ของ แพร์ ลาเกอร์ควิสต์ (Pär Lagerkvist, 1891-1974)

ปีนี้ครบรอบ 130 ปีชาตกาลของ แพร์ ลาเกอร์ควิสต์ (Pär Lagerkvist, 1891-1974) นักเขียนและสมาชิกราชบัณฑิตยสภาของสวีเดน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1951

ชื่อของลาเกอร์ควิสต์ยังเป็นที่รู้จักของนักอ่านชาวไทยอยู่น้อย จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการสะท้อนรำลึกถึงความสำคัญของนักเขียนผู้นี้ ทั้งยังเป็นการกล่าวถึงวาระการตีพิมพ์งานแปลนิยายของเขาในชื่อ เรือบาปของนักแสวงบุญ (นิรัติศรัย หล่ออรุโณทัย แปล, 2653) ในห้วงยามนี้ด้วย

 แพร์ ลาเกอร์ควิสต์ (ที่มาภาพ: commons.wikimedia.org)


พิจารณาจากจุดเริ่มต้น


หากเราจะนึกถึงนักเขียนใหญ่ผู้ต่อต้านระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ชื่อของ อัลแบร์ กามู, มิลาน คุนเดอรา, จอร์จ ออร์เวล และ อเล็กซานเดอร์ ซอลเจนิตซิน คงจะมาเป็นลำดับต้นๆ แต่นักเขียนยักษ์อีกผู้หนึ่งคือ ลาเกอร์ควิสต์ คงจะไม่ปรากฏในรายชื่อผู้ที่ถูกอ้างอิงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่บทละคร Bödeln (The Hangman, 1933) ของเขาถือเป็นงานเขียนต่อต้านระบอบนาซีแรกๆ จากสแกนดิเนเวีย

ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ นักเขียนผู้เขียนนิยายในภาษาของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งย่อมทำให้ภาษาเดินทาง (ถึงสหรัฐอเมริกา) ได้ช้า ในขณะเดียวกันงานเขียนของลาเกอร์ควิสต์นั้นก็มีบรรยากาศที่อุดอู้ มืดหม่น ตัวละครออกจะแบน ผู้ที่จงเกลียดจงชังศาสนาก็เห็นว่างานอุปมาของเขามีน้ำเสียงของศาสนามากเกินไป ในขณะที่ผู้ที่เคร่งศาสนา (ในสหรัฐอเมริกา) ก็ไม่แล้วใจในลักษณะไร้ความศรัทธาของนิยายเขา ซึ่งคุณลักษณะ “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” (โปรดดูบทความ “การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย: Scandinavian Design” เหล่านี้กลับทำให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมอบรางวัลแก่เขาจากมือกษัตริย์สวีเดน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งทำลายยุโรปวินาศสันตะโรไม่กี่ปีก่อนหน้า ว่าเขาเป็นผู้ “บากบั่น…หาคำตอบให้แก่คำถามอันเป็นนิรันดร์ของมนุษย์”

ลาเกอร์ควิสต์เขียนงานหลายประเภทตลอดอาชีพของเขา แต่หากเราพิจารณาจากจุดเริ่มต้น อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นบุตรของยุคแห่งการสิ้นสุดศตวรรษ (fin de siècle) ผู้ที่เติบโตทางความคิดในขณะที่ยุโรปกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่ได้รับการศึกษาที่ค่อนข้างเคร่งศาสนาตามปกติที่เด็กชายรุ่นเขาได้รับ แต่ในวัยยี่สิบต้นๆ จุดก้าวกระโดดในทางภูมิปัญญาของเขาก็มาถึง เขาขอให้เพื่อนศิลปินช่วยจัดการเดินทางไปปารีสในช่วงปี 1913 และที่ปารีสเขาได้พบกับศิลปิน ไปงานแสดงงานศิลปะ และเห็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คิวบิสม์ (cubism) และช่วยให้เขาเขียนหนังสือศิลปะวิจารณ์สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของสวีเดน นั่นคือ Ordkonst och bildkonst (1913) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายของการนำวงการวรรณกรรมสวีเดนและสแกนดิเนเวียเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นิยม (modernism)

หนังสือ Ordkonst och bildkonst (1913) คำประกาศเข้าสู่สมัยใหม่นิยมของวรรณกรรมสวีเดนและสแกนดิเนเวีย (ที่มาภาพ: cecilhagelstam.com)


Ordkonst och bildkonst


สิ่งสำคัญที่ปรากฏในบทความคือ การแสดงปฏิทรรศน์ (paradox) ว่าด้วยสถานะของวรรณกรรมร่วมสมัยกับเขา ลาเกอร์ควิสต์วิจารณ์วรรณกรรมสวีเดนก่อนหน้านั้นว่ามุ่งแสวงหาความสำเร็จจากยอดผู้อ่านเสียมาก ดังนั้นจึงเต็มไปด้วยงานที่เข้าไปสำรวจห้วงลึกในจิตใจของมนุษย์ เป็นสัจนิยมทางจิตวิทยาที่ตัวละครเป็นผู้อ่อนแอ ผู้ยากไร้ คนเจ็บไข้ได้ป่วย ผู้น่าสงสาร ฯลฯ ที่จับใจผู้อ่านตลอดปลายศตวรรษก่อนหน้า เขาเห็นว่าวรรณกรรณกรรมสมัยใหม่ของสวีเดนล้มเหลวที่จะแสดงออกถึงธรรมชาติของสภาวะสมัยใหม่นั้นเสียเอง

ลาเกอร์ควิสต์ใช้ความก้าวหน้าของทัศนศิลป์มาสนับสนุนข้อเสนอ เขาเห็นว่าวงการทัศนศิลป์ได้ก้าวไปข้างหน้าโดยการเคลื่อนจากเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (expressionism) มาสู่คิวบิสม์เพราะเห็นถึงปัญหานี้ เขาเห็นว่าในขณะที่เอ็กซ์เพรสชันนิสม์พยายามจับเอาอารมณ์มาไว้บนผืนผ้าใบ ศิลปะคิวบิสม์ดึงดูดเราเข้าหาเหตุผล นำเอาเหตุผลด้วยวิธีการที่รัดกุมอย่างแทบจะเป็นคณิตศาสตร์ออกมาแสดง ในแง่นี้ หากอุปมาว่าศิลปินเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ทำงานเหมือนอย่างคีตกวีประพันธ์เพลงแล้ว ศิลปินคิวบิสม์ก็ทำงานสร้างในลักษณะเดียวกับสถาปนิกหรือวิศวกร

แต่ปฏิทรรศน์ของลาเกอร์ควิสต์คือ ในขณะที่เขาเห็นหนทางก้าวไปข้างหน้าในการนำเสนอธรรมชาติของภาวะสมัยใหม่ เขาสนับสนุนการสร้างงานวรรณกรรมที่เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากความเป็นจริง หัวข้อนี้กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางต่อมา และกล่าวหาว่าเขาสนับสนุนการทำงาน “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เท่านั้น จึงจัดเขาให้ไปอยู่ในนักเขียนสกุลรูปแบบนิยม (formalism) ทั้งๆ ที่ใน Ordkonst och bildkonst เขาเสนอเองว่าไม่ว่าจะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์หรือคิวบิสม์ ต่างก็มีรากมาจากโลกบรรพกาล (primitive) ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจหรือรูปแบบ แต่เขาไม่ได้เข้าหาศิลปะของโลกบรรพกาลอย่างนักบูรพาคดีนิยม เขาเห็นว่าแม้ว่าเราจะสามารถย้อนรากของศิลปะสมัยใหม่ได้ในโลกบรรพกาล นั่นมิได้หมายความว่าศิลปะสมัยใหม่นั้นเป็นศิลปะบรรพกาล กลับกันต่างหาก ศิลปะบรรพกาลนั่นเองที่เป็นศิลปะสมัยใหม่อย่างถึงที่สุด

ไม่ว่าจะอย่างไร Ordkonst och bildkonst ถือเป็นแถลงการณ์การเข้าสู่สมัยใหม่ของวรรณกรรมสวีเดนและสแกนดิเนเวีย สิ่งที่ลาเกอร์ควิสต์พยายามกระทำในการเชื่อมโลกสมัยใหม่กับโลกประเพณี ความคิดสิ่งสร้างนิยม (constructivism) กับความคิดบรรพกาลนิยม (primitivism) ก็เฉกเช่นเดียวกับที่ โทมัส เอเลียต (T. S. Eliot) ทำในการปริทรรศน์งาน Ulysses ของเจมส์ จอยซ์ หรือในงานกวี The Waste Land (1922) ของตนนั่นเอง

งาน Sjömansvals (1922) ของ Gösta Adrian-Nilsson ศิลปินคิวบิสม์สวีเดนผู้ได้รับอิทธิพลจากแพร์ ลาเกอร์ควิสต์ (ที่มาภาพ: www.flickr.com)


ฐานอันรองรับความเป็นจริงทั้งมวล


แนวทางแบบคิวบิสม์นี้จะแสดงออกมาในงานเขียนของลาเกอร์ควิสต์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาเรียบง่ายและรูปแบบที่เด่นชัดเจน การเน้นรูปร่าง (shape) และแบบ (form) มากกว่าอารมณ์และความรู้สึก ตัวละครของเขาจึงไม่มีที่ทางให้กับพื้นที่ภายใน (interior space) ตัวละครของลาเกอร์ควิสต์มิได้เป็นตัวแสดงสภาวะทางจิตของตนเอง แต่เป็นตัวแสดงแนวโน้มของมนุษย์ออกมาผ่านการกระทำและการพูดมากกว่า นั่นจึงเป็นที่มาที่นักวิจารณ์เห็นว่าตัวละครของเขา ‘แบน’ หากสำหรับลาเกอร์ควิสต์แล้ว ภารกิจของวรรณกรรมคือการต้องสั่นสะเทือนความเชื่อในเรื่องโลกแห่งความเป็นจริงของผู้อ่าน และนำผู้อ่านเข้าไปอยู่ร่วมกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ นั่นทำให้นักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่งระบุว่า แม้ว่างานเขียนของเขาจะถูกมองว่าไม่เปลี่ยนในเนื้อหาและแก่นแกน แต่อันที่จริงแล้วตลอดอาชีพนักเขียน ลาเกอร์ควิสต์มุ่งแสวงหาฐานอันรองรับความเป็นจริงทั้งมวลเอาไว้

เส้นทางเช่นนี้ทำให้นักวิจารณ์จัดเขาเข้าไปอยู่ในเส้นทางของนักเขียนอย่าง ฟรีดิช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche, 1844-1900) ในรุ่นก่อนหน้า เพราะแหล่งการอ้างอิงถึงคริสต์ศาสนาของนักเขียนทั้งคู่ แต่ในขณะที่นีทเชอหันหนีจากพระผู้เป็นเจ้าที่ตายแล้ว ลาเกอควิสต์ยังคงใช้คำถามที่มาจากคริสต์ศาสนาเสมอ และเมื่อว่ากันด้วยเรื่องนี้แล้ว จิตใจของงานเขียนทั้งหลายของเขาจึงโคจรอยู่รอบเรื่องความดีและความชั่ว โดยนักวิจารณ์นับเริ่มมาตั้งแต่นิยายที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ The Dwarf ( 1944) เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น Barabbas (1950) Sibyllan (The Sibyl ,1956) Ahasverus död (The Death of Ahasuerus, 1960) Pilgrim på havet (Pilgrim at Sea, 1962) กระทั่งถึง Det heliga landet (The Holy Land, 1964)


เรือบาปของนักแสวงบุญ

เรือบาปของนักแสวงบุญ


ในที่นี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่มีการแปล Pilgrim på havet เป็นภาษาไทยในชื่อ เรือบาปของนักแสวงบุญ (นิรัติศรัย หล่ออรุโณทัย แปล, 2653) และหวังว่าจะมีการแปลงานอื่นๆ ของเขาอีกในอนาคต

งานในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 ของลาเกอร์ควิสต์ ใช้สัญลักษณ์ของพระคริสต์และอพอลโลในการสร้างแรงเสียดทานระหว่างสองพลัง ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างและความมืด ชีวิตและความตาย หรืออารยธรรมและอนารยธรรม ในนิยายไตรภาคของเขาซึ่งมีตัวเองคือโทเบียซทั้งหมด เรือบาปของนักแสวงบุญ คือเล่มที่สาม เป็นความพยายามหาคำตอบในการเปิดให้เห็นจิตวิญญาณของมนุษย์ โทเบียซในนิยายต้องการจาริกไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งปรากฏในนิยาย Ahasverus död) แต่ปรากฏว่าเขากลับไปอยู่บนเรืออีกลำหนึ่งกับเหล่าโจรสลัดผู้ลึกลับหลากหลาย บนเรือลำนี้โทเบียซได้พบกับโจวานนีผู้บอกเขาว่าดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระ สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงคือทะเลที่พวกเขากำลังล่องอยู่นั่นเอง โจวานนีประกาศว่า

“ไม่จริงทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเหมือนทะเลหรอก เราไม่มีเพื่อนที่ดีเหมือนอย่างทะเล ไม่มีใครจะช่วยเหลือและประคับประคองจิตวิญญาณที่น่าสงสารของเราได้…

ถึงกระนั้นแล้วผมไม่ควรจะเรียกทะเลว่าเพื่อน มันดูจะทะนงตัวไปสักหน่อย ผมควรจะคุยถึงมันด้วยความนอบน้อม และแสดงความนับถือด้วยความยำเกรงมากกว่านี้ ในฐานะบางสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์…ทะเลเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผมรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันผมจะกล่าวคำขอบคุณที่มันยังดำรงอยู่ ไม่ว่ามันจะก่อพายุเดือดดาลขนาดไหนผมก็ยังขอบคุณ เพราะว่ามันให้ความสุขสงบ เปล่า..ไม่ใช่ความปลอดภัย แต่เป็นความสุขสงบ เพราะมันโหดร้าย รุนแรงและไร้ความปรานี แต่กระนั้นมันก็นำมาซึ่งความสุขสงบ

ท่านจะไปทำอะไรที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเมื่อมีทะเลศักดิ์สิทธิ์อยู่นี่แล้ว?” (น.25)

ในขณะที่สำหรับนักอ่านหลายคน “ทะเล” ของลาเกอร์ควิสต์คงเป็นการประกาศให้เห็นความไร้สาระของมนุษย์ในการแสวงหาดินแดนศักดิ์สิทธิ์อื่นใดที่อยู่นอกเหนือจากประสบการณ์เฉพาะหน้า เป็นการเรียกร้องหาโลกธรรมชาติ มิใช่โลกเหนือธรรมชาติอันวิเศษวิโสประการใด ซึ่งเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่าลาเกอร์ควิสต์เองเป็นอเทวนิยมอย่างเหมาะสม

แต่ปฏิทรรศน์ก็ปรากฏตรงที่ว่า ในขณะที่โจวานนีประกาศถึงความไร้สาระของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เขาเองก็กระทำราวกับว่าดินแดนศักดิ์สิทธ์นี้มีอยู่ (ดังที่เขาเก็บจี้ห้อยคอของผู้หญิงที่เขามีสัมพันธ์เอาไว้) ‘ทะเล’ ของลาเกอร์ควิสต์จึงกลายเป็นปฏิทรรศน์ของจิตวิญญาณมุนษย์ ซึ่งต่างพยายามจาริกไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีอยู่ ในแง่นี้ลาเกอร์ควิสต์มิได้แสดงอัตถิภาวนิยม (existentialism) ดังในงานของกามูหรือซาทร์ เพราะอุดมคตินั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์ ดังเมื่อตรึกตรองแล้วว่า “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์นั้นมีอยู่ เพียงแต่เราไม่สามารถจะไปถึงเท่านั้น” โทเบียซจึงรำพึงว่า

“แต่ทะเลไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ห่างไกลออกไป จะต้องมีแผ่นดินที่อยู่ไกลไปจากผืนน้ำเวิ้งว้างกว้างใหญ่ และมีความลึกล้ำอันมหาศาลที่ไม่แยแสต่อบรรดาสรรพสิ่ง อย่างไรก็ตามมันเป็นแผ่นดินที่เราไม่สามารถจะไปถึง เราเพียงอยู่ระหว่างการเดินทางไปยังที่นั่น” (น.127)


อ้างอิง

– Jeff Polet, “A Blackened Sea: Religion and Crisis in the Work of Pär Lagerkvist”, Renascence Vol.51 (1), Fall 2001, 47-65.

– Peter Luthersson, Svensk litterär modernism (2002)

– Rikard Schönström, “Pär Lagerkvist’s Literary Art and Pictorial Art”, in A Cultural History of the Avant-Garde in the Nordic Countries, 1900-1925 (2012), 435-444.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save