fbpx
Ladies Parking : การเมืองเรื่อง 'ที่จอดรถของผู้หญิง'

Ladies Parking : การเมืองเรื่อง ‘ที่จอดรถของผู้หญิง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

 

ในอดีต บนถนน ยานยนต์และลานจอดรถเคยเป็นแค่พื้นที่ของผู้ชาย

แต่เมื่อผ่านพัฒนาการทางสังคมมาหลายยุคหลายสมัย วันนี้ผู้หญิงได้เปลี่ยนจากสถานะที่เป็นเพียงผู้โดยสาร ก้าวมานั่งหลังพวงมาลัย พวกหล่อนได้รับการส่งเสริมให้มีสิทธิเทียบเคียงกับเจ้าของอำนาจเดิม และเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างฐานอำนาจของตัวเองมากขึ้น ในรูปแบบของอาณาเขตหวงห้ามบนลานจอดรถ ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ที่จอดรถสำหรับผู้หญิง’

ทุกวันนี้ ที่จอดรถเฉพาะสาวๆ กลายเป็นหนึ่งในสิ่งอำนวยความสะดวกที่พบเห็นได้ทั่วไป เป็นเทรนด์ของความทันสมัย และเป็นหลักประกันความปลอดภัยในสถานที่มืดเปลี่ยว ทว่าเบื้องหลังความชินตาของเรา เสา เส้นกรอบ และป้ายสีชมพูเหล่านั้น ก็ได้จุดชนวนปัญหาการเหยียดเพศและการกีดกันแบ่งแยกระลอกใหม่ในสังคม

ที่จอดของผู้หญิง โดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง

โลกเริ่มทำความรู้จักกับแนวคิดที่จอดรถเหล่านี้ในยุค 90s โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี

ภายหลังการรวมชาติเป็นหนึ่งในปีค.ศ.1990 ผู้คนสองฝั่งหลังกำแพงเบอร์ลินกลายเป็นพี่น้องร่วมประเทศ เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นประชากรจากดินแดนที่แตกต่างด้านการปกครองและวิถีชีวิตมาอาศัยอยู่ร่วมกัน หนึ่งในปัญหาที่น่าเป็นห่วงคืออาชญากรรมอาจเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนพลเมือง

หัวข้อความปลอดภัยสาธารณะจึงกลายเป็นประเด็นโจษจันของผู้คน ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ทว่าการตัดสินว่าสังคมนี้ปลอดภัยจากอาชญากรรมหรือไม่ เป็นเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ทั้งสิ้น กล่าวคือ มาตรฐานการวัดความปลอดภัยในสังคมมาจากความรู้สึก ‘พึงพอใจ’ ของชาวเมืองต่อการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม การควบคุมอาชญากรรมของรัฐ และความรู้สึก ‘หวาดกลัว’ เมื่อต้องอยู่เพียงลำพังหลังตะวันตกดิน (alone after dark)

เพื่อลดความรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ ของประชากรภายในประเทศ รัฐบาลจึงเร่งหานโยบายรับมือระดับชาติ และผลิตผลหนึ่งที่เกิดขึ้นคือแนวคิดที่จอดรถสำหรับผู้หญิง (Frauenparkplatz)

ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ริเริ่มสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงแห่งแรกในโลก
ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ริเริ่มสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงแห่งแรกในโลก ภาพจาก commons.wikimedia.org

เหตุใดจึงเป็นที่จอดรถสำหรับผู้หญิง ? หนึ่ง จำนวนประชากรที่ว่าเพิ่มขึ้นหลังทลายกำแพงเบอร์ลิน แท้จริงแล้วเป็นผู้หญิงเสียมาก สถิติของทางการเยอรมัน[1] รายงานว่าในปีค.ศ.1990 พลเมืองเพศหญิงมีมากกว่าเพศชายถึง 2.7 ล้านคน และมีรวมกันมากถึง 41.2 ล้านคน แน่นอนว่าสาวๆ ผู้กลายเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศขณะนั้น ย่อมเป็นกลุ่มหลักที่ ‘รู้สึก’ หวาดกลัวต่ออาชญากรรมได้ง่าย

ความรู้สึกนี้พอมีเหตุผลรองรับอยู่บ้าง จากรายงานสำรวจสถิติอาชญากรรมทั่วโลก[2] ในปีค.ศ. 1989 ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย ทั้งอาชญากรรมทางเพศ และอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่นการล้วงกระเป๋า ดังนั้น ในลานจอดรถซึ่งมีแสงสว่างน้อยและเงียบเชียบ จึงเป็นสถานที่ที่ต้องการความระแวดระวังสำหรับสุภาพสตรีเป็นพิเศษ

สอง หลังการรวมชาติเยอรมัน วัฒนธรรมเรื่อง ‘ผู้หญิงทำงาน’ ได้แพร่หลายจากฝ่ายเยอรมันตะวันออกไปสู่เยอรมันตะวันตก โดยสัดส่วนของแรงงานเพศหญิงในดินแดนซึ่งเคยเป็นคอมมิวนิสต์ สูงถึง 89% ของประชากรหญิงทั้งหมด อันเป็นผลมาจากการปลูกฝังความเชื่อเรื่อง ‘การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าชีวิต’ ส่วนผู้หญิงในฝั่งเสรีประชาธิปไตยกลับถูกครอบงำด้วยคติแบบเก่า อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน คอยดูแลครอบครัว ทำให้ออกไปทำงานเพียง 56% เท่านั้น ครั้นกำแพงเบอร์ลินทลายลง ฝ่ายเยอรมันตะวันตกจึงเห็นความสำคัญของแรงงานเพศหญิงและเริ่มส่งเสริมให้ผู้หญิงออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน มาตรการเกี่ยวกับที่จอดรถจึงดูเหมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งของกระบวนการนี้เช่นกัน

สาม ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองในระดับชาติมากขึ้น แม้ว่าพวกหล่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการเลือกตั้งตั้งแต่ปีค.ศ.1918 ทว่าอำนาจของผู้หญิงเพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนช่วงใกล้ยุค 90s หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนเยอรมนี (Bundestag) ปีค.ศ.1983 จำนวนสมาชิกสภาเพศหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปีค.ศ.1988 Rita Süssmuth สามารถครองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนหญิงคนแรกของเยอรมัน ความเป็นหญิงและอำนาจทางการเมืองส่งผลต่อการดำเนินนโยบายสนับสนุนกลุ่มเพื่อนหญิงด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ เรื่องการสร้างสวัสดิการสนับสนุนเพศหญิงในแง่นโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดรัฐ ‘Women-friendly’ ที่แพร่หลายในภูมิภาคยุโรป ณ เวลานั้น ทำให้พื้นที่ผู้หญิงถูกประกอบสร้างขึ้นบนลานจอดรถได้อย่างราบรื่น

ที่ตรงนี้มีความหมาย : สิทธิสตรี และความเท่าเทียม

นานวันเข้า ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงยิ่งทวีความสำคัญจากจุดเริ่มต้นมากขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองทางกฎหมายในบางรัฐของเยอรมันอย่างถูกต้อง ถึงขั้นมีกฎระเบียบกำกับดูแลมาตรฐานที่จอดรถของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น ในรัฐ Baden-Württemberg บังคับให้ในลานจอดรถมีพื้นที่ของผู้หญิงอย่างน้อย 10% รัฐ Brandenburg บังคับให้สงวนพื้นที่ไว้ 30% ส่วนรัฐ North Rhine-Westphalia และ Schleswig-Holstein ออกข้อบังคับให้ที่จอดเหล่านี้มีป้ายบอกอย่างชัดเจน อยู่ใกล้กับทางเข้าอาคาร สัญญาณเตือนภัย และต้องมียามรักษาความปลอดภัยหรือกล้องวงจรปิดจับตาดูแลตลอดเวลา

คำถามคือ การสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้หญิงเช่นนี้ นับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมหรือไม่?

องค์การต่อต้านการกีดกันแบ่งแยกแห่งสหพันธ์เยอรมนี (The German Federal Anti-Discrimination Agency) แถลงว่าการสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิง ไม่ละเมิดต่อบัญญัติว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียม หรือ The General Equal Treatment Act (Allgemeines Gleichbehandlungsgesetz) เพราะเพศหญิงเป็นเพศที่มีแนวโน้มตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าชาย จากความอ่อนแอทั้งด้านกายภาพและอำนาจทางสังคม ดังนั้นจึงควรได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้คล้ายคลึงกับกรณีการดูแลผู้พิการหรือสตรีมีครรภ์

หลักการนี้ยังสานต่อมาถึงนโยบายประเทศในช่วงหลัง รายงานของ Federal Ministry for Economic Cooperation and Development (BMZ) ในปี 2011[3] กล่าวว่าการป้องกันความรุนแรงแก่เพศหญิงถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของเยอรมัน ดังนั้น ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงจึงได้รับความชอบธรรมในแง่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนในแง่ความเป็นอิสระจากขนบที่ต้องอาศัยการดูแลจากผู้ชายตลอดเวลา และเป็นการยกระดับสิทธิแก่กลุ่มที่เคยถูกลิดรอนสิทธิในสังคมชายเป็นใหญ่มานาน

ตัวอย่างที่น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ คือข่าวเรื่องการประกาศยกเลิกห้ามผู้หญิงขับรถในประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังจากต่อสู้เรื่องการแบ่งแยกเพศและสิทธิที่ไม่เท่าเทียมตามความเชื่อทางศาสนามาเนิ่นนาน ล่าสุด ผู้หญิงสามารถขับรถได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในเดือนมิถุนายน 2018 และสิ่งที่ต้อนรับการมาเยือนของสาวๆ บนท้องถนนแทบจะทันที ก็คือที่จอดรถสำหรับผู้หญิง

พื้นที่เล็กๆ ในลานจอดรถนี้จึงแลดูคล้ายกับสัญลักษณ์ของชัยชนะแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ขณะเดียวกัน ก็ถูกหลายประเทศตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความทันสมัย

ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงคือเครื่องยืนยันอิสระบนท้องถนนของผู้หญิงซาอุ lady parking
ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงคือเครื่องยืนยันอิสระบนท้องถนนของผู้หญิงซาอุ ภาพจาก stepfeed.com

ที่ตรงนี้ปลอดภัย สะดวกสบาย และ ‘เหยียดเพศ’

เทรนด์การสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทุกมุมโลก และผู้นำเทรนด์หลักคือ ห้างสรรพสินค้า

เราสามารถค้นพบพื้นที่เหล่านี้ได้ทั้งในภูมิภาคยุโรปอย่างออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ตะวันออกกลางเช่นคูเวต ในเอเชียอย่างจีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ลักษณะของที่จอดรถสำหรับผู้หญิงโดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนัก คือเต็มไปด้วยเส้นกรอบและป้ายสีชมพู พ่นสัญลักษณ์สากลอย่างผู้หญิงสวมกระโปรง อยู่บนชั้นทางเข้าห้างที่มีแสงไฟ และติดตั้งกล้องวงจรปิดคอยตรวจตรา

ศูนย์การค้าในหลายประเทศ (โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา) พยายามสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงราวกับต้องการแสดงความตื่นตัวเรื่องภัยอาชญากรรมต่อสตรี และยืนยันถึงแนวคิดความก้าวหน้าเรื่องสิทธิการดูแลเป็นพิเศษต่อเพศหญิง ตามแบบฉบับของห้างสรรพสินค้าที่ ‘ทันสมัย’

ทว่า ‘ความปลอดภัย’ ที่ห้างร้านเสนอให้ก็เปี่ยมด้วยนัยทางการค้า

บรรดาสุภาพสตรีผู้รักการชอปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ คือเป้าหมายสำคัญของห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ หากทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกวางใจในการเดินซื้อของนานขึ้นอีกสักนิด มาจับจ่ายบ่อยขึ้นอีกสักหน่อย นั่นย่อมหมายถึงกำไรมหาศาลแก่ธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงจึงกลายเป็นกลยุทธ์ดึงดูดใจ และพัฒนาถึงขั้นเอาอกเอาใจด้วยการเพิ่ม ‘ความสะดวกสบาย’ ขึ้นมาอีกมิติหนึ่ง

‘ความสะดวกสบาย’ ที่ว่า คือเพิ่มพื้นที่จอดรถของผู้หญิงให้กว้างขึ้นกว่าปกติ ในศูนย์การค้าบางประเทศ เช่น จีน พื้นที่สีชมพูเหล่านี้มีขนาดใหญ่ถึง 3 เมตรกว่าต่อหนึ่งคันรถ ด้วยความกว้างเท่านี้ ทำให้ผู้หญิงสามารถถอยรถเข้าซองได้ง่ายดายยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถเปิดประตูสองฝั่งได้เต็มที่โดยไม่ชนรถคันข้างๆ เหมาะแก่การขนย้ายสัมภาระและอุ้มบุตรหลานขึ้นลงได้อย่างไร้กังวล

กระนั้นความพยายามนี้กลับถูกกระแสโต้กลับอย่างรุนแรง เมื่อสุภาพสตรีจำนวนไม่น้อยมองว่า ‘ความสะดวกสบาย’ ดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับการเหยียดเพศ ตอกย้ำสเตอริโอไทป์เรื่อง ‘ผู้หญิงเป็นเพศที่ขับรถได้ห่วยกว่าชาย’ อย่างชัดเจน

ที่จอดรถที่กว้างสำหรับผู้หญิงจุดประเด็นการเหยียดเพศ ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ขับรถได้แย่กว่าชาย lady parking
ที่จอดรถที่กว้างสำหรับผู้หญิงจุดประเด็นการเหยียดเพศ ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ขับรถได้แย่กว่าชาย ภาพจาก metro.co.uk

ประเด็นการเหยียดเพศนี้ทำให้สาวๆ ส่วนหนึ่งและนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีในจีนแทบเรียกร้องให้ล้มเลิกที่จอดรถของผู้หญิงด้วยกันเอง พวกหล่อนล้วนกล่าวว่าสเตอริโอไทป์เรื่องการขับรถนี้เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ ความยากง่ายในการถอยหลังจอดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของคนขับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศแต่อย่างใด

“ที่จอดรถแบบนี้ควรถูกเรียกว่าที่จอดของพวกมือใหม่เสียมากกว่า” แน่นอนว่าพวกหล่อนไม่ปลื้มนักหากผู้หญิงจะถูกมองเป็นพวกมือใหม่ไร้ฝีมืออยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลเรื่องความกว้างจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ ‘แม่’ ในการดูแลเด็กได้ดี ก็ทำให้ฝั่ง ‘พ่อ’ รู้สึกขุ่นเคืองอยู่บ้างในฐานะคนทำหน้าที่ดูแลลูก แต่กลับไม่ได้รับผลประโยชน์นี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับห้างสรรพสินค้าแห่งอื่นรวมถึงห้างในไทยที่ไม่มีนโยบายเพิ่มขนาดพื้นที่จอดรถ (จนทำให้รอดพ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างหวุดหวิด) ยังคงปรากฏมาตรการเพิ่ม ‘ความสะดวกสบาย’ รูปแบบอื่น เช่น การกำหนดเงื่อนไขของคนที่มีสิทธิเข้าจอดในพื้นที่สีชมพูว่าต้องเป็นผู้หญิงที่มาคนเดียว หรือมีผู้หญิงเป็นคนขับรถ โดยผู้ติดตามต้องเป็นเพศเดียวกันหรือเด็ก เพื่อสงวนซองจอดไว้ให้สุภาพสตรี พร้อมรับประกันว่าจะไม่มีผู้ชายเข้ามาปะปนแย่งชิงแน่นอน

ข้อกำหนดที่เกิดขึ้นทำให้ความชอบธรรมเรื่องความเท่าเทียมของที่จอดรถสำหรับผู้หญิงเริ่มรางเลือนลง

ที่ตรงนี้ ต้องไม่มีผู้ชาย!

แม้องค์กรด้านสิทธิของเยอรมันจะออกมากล่าวว่า การคงอยู่ของที่จอดรถสำหรับผู้หญิงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดความเท่าเทียม แต่การสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับสตรีและกีดกันผู้ชายออกไปจากพื้นที่โดยสิ้นเชิง ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และยิ่งเข้มข้น–แหลมคมมากยิ่งขึ้นในวันที่บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเปลี่ยนแปลงไป

ทุกวันนี้ที่จอดรถสำหรับสตรีปลอดภัยมากขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับยุค 90s รายงานการสำรวจอาชญากรรมทั่วโลก (The National Crime Victimization Survey : NCVS) ของ The Bureau of Justice Statistics ในปี 2016 เผยว่าจำนวนอาชญากรรมที่เกิดในบริเวณลานจอดรถมีเพียง 7.3% ของความรุนแรงทั้งหมด ขณะที่ตำรวจเยอรมันเองก็ออกมากล่าวว่าสถิติอาชญากรรมต่อผู้หญิงในที่ดังกล่าว มีโอกาสเกิดต่ำกว่าสถานที่อื่น

นอกเยอรมนี ที่จอดรถสำหรับสตรีก็โดนวิจารณ์เรื่องความปลอดภัยด้วยเช่นเดียวกัน Keith Galvin หัวหน้าสมาคมที่จอดรถในไอร์แลนด์ (The Irish Parking Association) ยังตั้งข้อสังเกตถึงการกำหนดให้ผู้หญิงเข้าจอดได้เท่านั้น ว่าอาจเป็นการเชิญชวนให้ผู้ประสงค์ร้ายก่ออาชญากรรมต่อผู้หญิงมากขึ้น เช่นเดียวกับการรายงานจากสำนักสื่อ Korea Bizwire ว่าแม้ในเกาหลีจะสร้างที่จอดรถสำหรับผู้หญิงและใช้อย่างเคร่งครัด แต่สถิติอาชญากรรมต่อคนขับรถเพศหญิงยังคงเพิ่มอยู่ ทั้งยังมีข่าวสะเทือนขวัญในปี 2015 ว่าเกิดเหตุอุ้มฆ่า ณ ที่จอดดังกล่าวในศูนย์การค้าชื่อดัง ทำให้เกิดข้อสงสัยถึง ‘ความปลอดภัย’ ที่แท้จริงของพื้นที่สีชมพูเหล่านี้ ว่าสุดท้ายแล้ว ที่จอดรถสำหรับผู้หญิง คือทางออกที่ถูกต้องของการป้องกันปัญหาอาชญากรรมจริงหรือ

ในขณะที่ที่จอดรถสำหรับสตรีตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยที่น้อยลง คำถามว่าด้วยความเท่าเทียมกลับยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น  ถ้าผู้ชายสักคนเข้าไปจอดในที่ดังกล่าว ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เขาจะได้รับคือสายตาตำหนิ คำพูดติเตียน การตีตราว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่มีความเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ หรือเลวร้ายจนถึงขั้นไม่มี ‘จิตสำนึก’ ต่อส่วนรวม นอกเหนือจากบทลงโทษทางสังคม ในบางประเทศที่เคร่งครัดเช่นเกาหลี พวกเขาอาจได้รับบทลงโทษทางกฎหมายอีกคำรบหนึ่ง

นั่นหมายความว่า ในภาวะสังคมอันคับคั่งไปด้วยผู้ใช้รถยนต์ ผู้ชายกำลังถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงพื้นที่จอดรถ แต่ผู้หญิงกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการที่จอดของเพศตัวเองหรือที่จอดรถปกติทั่วไป ยังไม่รวมว่าจำนวนที่จอดสำหรับผู้หญิงรังแต่จะเพิ่มขึ้นในห้าง และลามเลยไปยังสถานที่อื่นอย่างสนามบินหรือปั๊มน้ำมันเพื่อเอาอกเอาใจลูกค้า

อันที่จริง ประเด็นเรื่องที่จอดรถสำหรับผู้หญิง เป็นรูปธรรมหนึ่งของการถกเถียงใหญ่ในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (Identity Politics) ว่าถึงแม้การมอบสิทธิพิเศษให้กลุ่มคนผู้ (เคย) ด้อยโอกาสในสังคม อย่างผู้หญิง คนรักร่วมเพศ หรือคนผิวสี จะเป็นเรื่องที่พึงกระทำ ทว่าในระยะหลังการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ก็โดนวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า เป็นการเมืองเพื่อสร้าง ‘สิทธิพิเศษ’ ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม จนหลงลืมความเป็นธรรมและก้าวล้ำสิทธิของคนกลุ่มอื่นที่เหลือก็เป็นได้

คลิปวีดีโอเรื่อง Are identity politics dangerous? โดย The Economist ได้ชี้ให้เห็นว่า การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งในการทำให้เห็นความอยุติธรรมกับผู้เสียเปรียบจากโครงสร้างทางสังคม แต่ในด้านกลับ ถ้ามันถูกใช้เพื่อสร้างการเมืองสำหรับคนบางกลุ่ม (exclusive politics) ก็จะกลายเป็นอันตรายอย่างยิ่งเช่นกัน The Economist เสนอว่า เราควรใช้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เพื่อสร้างการเมืองสำหรับทุกคน

ที่จอดรถสำหรับทุกคน ความปลอดภัยอันเท่าเทียม

ในบริบทของการเมืองเรื่องที่จอดรถ ความเป็นจริงคือที่จอดรถของผู้หญิงควรเป็นเพียงมาตรการป้องกันภัยระยะสั้นเท่านั้น

Suriani Kempe ผู้จัดการแผนพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศและส่งเสริมสิทธิสตรีในมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในคนผลักดันให้เกิดการบริการเฉพาะเพศหญิง (Women-only service) ยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทนี้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันจริง และการแบ่งแยกผู้หญิงออกจากผู้ชาย ไม่ใช่ทางแก้ของอาชญากรรมทางเพศที่ยั่งยืน

สมาคมยานยนต์ในเยอรมัน หรือ The German Automobile Association (ADAC) พูดถึงโมเดลที่จอดรถสมัยใหม่ว่า ลานจอดรถทุกแห่งควรเป็นอย่าง ‘ที่จอดรถของผู้หญิง’ คือมีแสงไฟเพียงพอ ไม่มีมุมอับหรือจุดบอดที่เสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทั่วถึง เช่น กล้องวงจรปิด และระบบขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉิน

หากสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียมอีกต่อไป ตัวอย่างมีให้เห็นในศูนย์การค้าที่ ‘ทันสมัย’ เช่นในเมือง Zurich และ Luzern ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มยกเลิกการใช้ที่จอดรถสำหรับผู้หญิง เพราะลานจอดรถทุกจุดถูกปรับปรุงให้ ‘ปลอดภัย’ แก่ผู้ใช้บริการทุกคน

ที่จอดรถสำหรับผู้หญิงควรเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่สังคม และเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งนำไปสู่การสร้างมาตรการความปลอดภัยใหม่ในระยะยาว

พูดอีกแบบคือ เทรนด์ใหม่บนลานจอดรถในอนาคต ควรเป็นเทรนด์ ‘ที่จอดรถที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน’ นั่นเอง

เชิงอรรถ

[1] http://countrystudies.us/germany/86.htm

[2] https://books.google.co.th/books?hl=th&lr=&id=JidySAlFVQ0C&oi=fnd&pg=PA1&dq=germany+1990+crime+women&ots=axzNcDrqzz&sig=04lJaliLp1SGRa3V-PldwFQKMNY&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false

[3] https://www.giz.de/fachexpertise/downloads/Human_Rights_in_German_Development_Policy.pdf

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save