fbpx

ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?: เมื่อหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังจะ disrupt ตลาดแรงงานไทย

ในทางทฤษฎี เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยกระดับเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมสูง และการจะทำเช่นนั้นได้ เศรษฐกิจไทยต้องมีกำลังแรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูงเช่นกัน ในทางกลับกัน แรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงถูก (low-skilled and low-wage workers) ไม่เพียงแต่จะไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตเท่านั้น หากแต่ยังเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ถึงกระนั้น ก็ยังแทบไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเชิงประจักษ์ว่า แรงงานไทยจะได้รับผลกระทบแค่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร

งานวิจัยของผู้เขียนซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือ Digitalization and Sustainable Economic Development ของ Asian Development Bank Institute แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยที่สร้างมูลค่าระดับสูงได้ จะต้องขับเคลื่อนด้วยแรงงานที่มีทักษะสูง ในขณะที่แรงงานทักษะต่ำก็จะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

แรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำในเศรษฐกิจไทย

การวิเคราะห์ของผู้เขียน (รูปที่ 1) พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนอาชีพที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (cognitive analytical skills) และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (cognitive interpersonal skills) มากกว่า จะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ GDP ของจังหวัดเฉลี่ยต่อหัว นั่นคือ รายได้เฉลี่ยของจังหวัดสูงกว่า

รูปที่ 1: ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และด้านการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ GDP รายจังหวัดเฉลี่ยต่อหัว

ในขณะที่เมื่อพิจารณาในระดับปัจเจกบุคคล ผู้ประกอบอาชีพที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่า จะมีรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ จะเป็นทักษะสำคัญอย่างมากในการกำหนดรายได้ในระดับสูง

ในทางกลับกัน อาชีพที่ใช้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนมากคือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ เป็นแรงงานไร้ทักษะหรือทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์มาก จะถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (รูปที่ 2)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มีลักษณะการทำงานไม่ซับซ้อนหรือไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ สามารถใช้อัลกอริธึมทำงานได้แม่นยำมากกว่า และเทคโนโลยีที่กำลังมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ สามารถเข้ามาทำงานแทนได้

รูปที่ 2: อาชีพที่ใช้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์น้อยกว่า จะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

หลายภาคการผลิตของไทยมีการเปลี่ยนผ่านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทยลดจำนวนสาขาและการจ้างงานลงมาก และหันไปมุ่งลงทุนในด้านเทคโนโลยีและการให้บริการทางดิจิทัลแทนจนแทบจะกลายเป็นช่องทางในการให้บริการหลัก หรืองาน ‘แม่บ้าน’ ก็กำลังถูก disrupt จาก gadget อย่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่นและหุ่นยนต์ถูพื้น ในขณะที่งาน ‘พนักงานประจำจุดรับบัตรจอดรถ’ ก็กำลังหายไปจากการแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนงานที่เคยเป็นงานวิชาชีพเฉพาะอย่างการทำบัญชี ก็กำลังถูกแทนที่ด้วยโปรแกรมบัญชีอัตโนมัติที่มีค่าบริการรายเดือนเพียงไม่กี่ร้อยบาท เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ย่อมมีประสบการณ์ได้รับคำแนะนำจากปัญญาประดิษฐ์ในการแสดงผลและแนะนำเพื่อน การเลือกซื้อของหรือสั่งอาหารทางออนไลน์ การเลือกดูหนังฟังเพลง streaming หรือ กิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

หากยิ่งมองแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต เราก็ยิ่งเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบคลังสินค้าใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ทั้งหมด และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ต้องมีคนขับ เราได้เห็นข่าวนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำอาหารแบบง่าย เช่น ข้าวผัดหรือไข่เจียว ข่าวผู้ประกอบไทยพัฒนาหุ่นยนต์ชงชาไข่มุกที่สามารถกดคำสั่งเลือกประเภทชานมและระดับความหวานได้ หรือบางคนเคยมีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นผ่านระบบอัจฉริยะ high-frequency algorithm trading เป็นต้น

แรงงานไทยจะโดนกระทบแค่ไหน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ผลการวิเคราะห์ของผู้เขียนพบว่า แรงงานไทยเกือบร้อยละ 10 หรือ 3 ล้านกว่าคน มีโอกาสมากกว่า 95% ที่อาชีพของตนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ถึงแม้ในขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

หากนิยามอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง คือมีโอกาสมากกว่า 70% ในการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จากงานวิจัยของผู้เขียนพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยหรือกว่า 17 ล้านคน ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงาน อันเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยโดย ดร. เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ดร. วรประภา นาควัชระ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นว่า หากตลาดแรงงานไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานและยังคงมีองค์ประกอบทักษะแรงงานเหมือนอย่างปัจจุบัน จำนวนแรงงานที่จะเสี่ยงต่อภาวะการไร้งาน (joblessness) คิดเป็นจำนวนสูงถึง 12 ล้านคน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมด

(ผู้เขียนคาดว่า งานวิจัยของอาจารย์ทั้งสองน่าจะมีความแม่นยำมากกว่าผลวิเคราะห์ของผู้วิจัย เพราะเป็นการคำนวณโดยปรับวิธีวิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลอง Machine Learning ให้สอดคล้องโดยตรงกับลักษณะแรงงานไทย)

ประเทศไทยเตรียมพร้อมหรือยัง?

การศึกษาผลกระทบของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ต่อตลาดแรงงานไทย อุปมาดังเช่นปรากฏการณ์ El Niño–Southern Oscillation (ENSO) ที่ทำให้เราสามารถพยากรณ์ได้ว่า ปีนี้เป็น cool phase ทำให้ประเทศไทยจะเจอน้ำท่วมถี่ขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะท่วมหนักขนาดไหน และเมื่อไหร่ กระนั้นการทำนายในลักษณะเช่นนี้ก็เพียงพอต่อการต้องปรับตัวเพื่อรับมือ เช่นเดียวกับภัยคุกคามจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เราเผชิญแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะหนักหนาขนาดไหน เพราะความรุนแรงของผลกระทบก็ขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชี้นำโดยภาครัฐ

ในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าขนาดของผลกระทบจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจริงจะมีขนาดรุนแรงเพียงใดก็ตาม ก็มีข้อสรุปที่ชัดเจนเดียวกันว่า แรงงานไทยจำนวนมากหลายล้านคนมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบ หรือต้องพลิกฟื้นวิกฤตให้เป็นโอกาส

ประเด็นนี้เป็นภัยคุกคามที่อันตรายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม เพราะหากระบบเศรษฐกิจไทยไม่สามารถพัฒนาทักษะแรงงานได้ทันและเพียงพอ แรงงานไทยมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่กลายเป็นคนจน ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้วในปัจจุบัน (มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากร) และกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี ค.ศ. 2040 (มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 32 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร) การที่แรงงานไทยมีโอกาสจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จนกลายเป็นคนจนจึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth แม้แต่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำให้แนวโน้มความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันได้หรือจะอยู่รอดอย่างยากลำบากในโลกอนาคต

เทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญในการพามนุษยชาติไปสู่อนาคต แต่อนาคตของประเทศไทย จะสดใสหรือมืดมน ก็คงจะขึ้นอยู่กับว่า สังคมเศรษฐกิจไทยจะสามารถประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งการสร้างโอกาส การยกระดับคุณภาพชีวิต ให้กับคนไทยทุกภาคส่วน

บรรณานุกรม


เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ วรประภา นาควัชระ. 2562. บทบาทของการค้าและเทคโนโลยีต่อการปรับเปลี่ยนของโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). มิถุนายน 2562.

Jithitikulchai, T. 2020. Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand. Southeast Asian Journal of Economics, 8(2): 51-90.

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save