fbpx

ชีวิตแรงงานก่อนฟ้าสางแห่งซอยกีบหมู: วันที่รุ่งอรุณยังไม่มาเยือน

ตีสี่นั้นมืดทึบ อากาศเย็นและแห้ง ลิบไกลจากปลายตามีเพียงแสงไฟนีออนแห้งแล้งจากมินิมาร์ตข้างถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง ส่องสว่างพอเป็นหมุดหมายให้เห็นทิศเห็นทาง ใครสักคนฉวยกระเป๋าใบน้อย ทิ้งตัวลงนั่งตรงริมถนนหน้าร้านค้า แล้วใครอีกคนหนึ่ง -และอีกหลายต่อหลายคน- ก็ทยอยทอดตัวลงนั่งตาม

ฟ้ายังไม่สว่าง และจะไม่สว่างไปอีกกว่าชั่วโมงนับจากนาทีนี้ แต่คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจับจองพื้นที่ว่าง เพื่อจะงีบหลับ เพื่อจะไถโทรศัพท์ หรือเพื่อจะเหม่อลอย

พวกเขาเป็นแรงงาน เป็นช่าง เป็นกรรมกร และเป็นทุกอย่างที่นายจ้างในแต่ละวันอยากให้เป็น เริ่มต้นเดิมพันกับชีวิตกันตอนตีสี่ของทุกวันว่าจะมีนายจ้างมอบหมายงานมาให้หรือไม่ หากว่ามีก็ขึ้นรถกระบะ ออกเดินทางไปปลายทางที่อาจเป็นไซต์ก่อสร้างสักแห่งในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่ถ้าไม่มี ก็อาจแค่ต้องรอต่อไปจนตะวันขึ้น และกับอีกหลายคน ก็อาจรอจนตะวันลับ เพื่อจะกลับบ้านมือเปล่าแล้วตื่นมาเดิมพันใหม่อีกรอบในตีสี่ของวันใหม่

กล่าวกันตามตรง ในฐานะมนุษย์รับเงินรายเดือน นี่ไม่ใช่หรือคือภาพฝันร้าย

แต่นี่คือชีวิตของเหล่ากรรมกรแห่งซอยกีบหมู กับค่าแรงรายวันที่อยู่ในระยะ 500-1,000 บาท ซึ่งไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้แบบนี้ทุกวัน ภายใต้ภาวะโรคระบาดจากโควิด-19 ที่กินเวลามาสองปีกว่า รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่สูงลิ่ว สวนทางกับค่าแรงที่ยังนิ่งอยู่เหมือนเมื่อหลายปีก่อน ยังไม่นับ ‘ค่าชีวิต’ ที่อาจจะถูกยิ่งกว่าเมื่อคำนึงถึงประกันภัยและสวัสดิการอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินของแรงงานไทย

“แพงขึ้นทุกอย่าง ที่ยังถูกเหมือนเดิมคือค่าแรง” ใครบางคนบอกไว้เช่นนั้น และจริงอย่างว่าเมื่อได้สนทนากับพวกเขาในรุ่งเช้า ก่อนฟ้าสางของซอยกีบหมู

1

“แฟนซ้อม” คนพูดชี้ให้ดูรอยช้ำตรงเบ้าตาซ้าย รอยสีม่วงกินวงกว้างเกือบถึงช่วงขมับ “นอนๆ อยู่แล้วมันก็พุ่งเข้ามาเลย”

มนตรีตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อมานั่งรองานที่ซอยกีบหมูเช่นเดียวกับแรงงานคนอื่นๆ เขาทำความรู้จักกับวิถีชีวิตเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2020 หรือหากจะกล่าวอย่างรวบรัด คือช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนเขาต้องปิดกิจการส่วนตัวที่วังน้ำเย็น สระแก้ว -บ้านเกิด- แล้วมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหารายได้อื่นมาเลี้ยงชีพ

“เรามาหางานในซอยกีบหมูสักสองปีได้แล้ว ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดนั่นแหละ ตามญาติมาเพราะเมื่อสักสิบปีก่อนก็เคยมีญาติมาหางานทำแบบนี้เหมือนกัน” เขาเล่า ก่อนขยายความถึงขอบเขตงานที่ทำได้ ไม่ว่าจะปูกระเบื้อง แบกของ แลกเงินอย่างต่ำ 600 บาทต่อวัน “กรรมผู้หญิงได้ค่าแรง 500 บาท ผู้ชายได้ 600 บาท ถ้าเป็นช่างฉาบก็สัก 700 บาท หรือถ้าเป็นช่างเชื่อมก็ 800 บาทขึ้นไป บางคนได้วันละพันก็มีนะ

“ที่นี่เขามีงานให้ทำทุกอย่างเลย แต่ก็มีเหมือนกันที่บางวันเราไม่ได้งาน ยืนอย่างไรก็ไม่ได้ วันที่ไม่มีงานก็มายืนฟรีๆ เลย” เขาจบประโยคด้วยเสียงทอดถอนหายใจยาว “จริงๆ แล้วงานที่กีบหมูนี่ ถ้ารู้จักญาติหรือเพื่อนเยอะหน่อยก็ทำให้ได้งานเยอะขึ้นด้วยนะ เหมือนถ้าเพื่อนเขาได้งานบางทีก็พาเราไปด้วย หรือเราได้งาน เราก็พาเพื่อนไปด้วยเหมือนกัน”

“อย่างนั้นก็มีเพื่อนเยอะล่ะสิ” เราถาม มนตรีพยักหน้า แต่แล้วก็ขยายความ “แต่ก็มีนะ ที่บางวันก็ไม่ได้งานกันหมดเลย ยืนรอไปสิ ถึงเที่ยง ถึงบ่าย”

ใต้แสงนีออนหน้าห้าง ทำให้เห็นรอยช้ำสีม่วงวงใหญ่บนใบหน้านั้น และอาจจะเพราะเห็นนัยน์ตาของเราตวัดมองไปยังรอยช้ำนั้น หรืออาจจะเพราะอ่านคำถามในใจเราได้ มนตรีชี้ไปยังวงสีม่วงแล้วบอก “แฟนซ้อม นอนๆ อยู่แล้วมันก็พุ่งเข้ามาเลย”

“แล้วเป็นอะไรมากไหม” ได้ยินเสียงตัวเองถามกลับไปแบบนั้น

“เป็นสิ” เขาตอบไว “เห็นหมอว่ากระดูกร้าว ต้องไปเข้าอุโมงค์ในโรงพยาบาล เขาให้สแกนอะไรไม่รู้”

“แพงน่าดูเลย” ได้ยินเสียงตัวเองตอบกลับไปแบบนั้นเหมือนกัน

“เราใช้สิทธิสามสิบบาท” เขาตอบ “ตอนนั้นป่อเต็กตึ๊งมาช่วย ไปแจ้งตำรวจก็ไม่เห็นใครจะทำอะไร ก็ปล่อยมันไป” ท้ายประโยคแว่วเสียงปลดปลง

พ้นไปจากการต้องตื่นมารองานตั้งแต่เช้ามืด มิติอื่นในชีวิตของมนตรีก็ไม่ได้สวยงามนัก นับรวมถึงการถูกคนรักซ้อมอย่างหนักจนต้องพักตัวนานหลายสัปดาห์แล้วต้องกัดฟันลุกมาทำงาน -ที่ก็ต้องใช้ร่างกาย- เพราะไม่อยากเสียรายได้รายวัน ทั้งยังกินความไปถึงการจากบ้านเกิดและครอบครัวที่ก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปเมื่อไหร่

“ตั้งแต่มีโควิดมา กระทบกันทุกคน เราเช่าห้องอยู่ บางวันทะเลาะกับแฟนก็อยู่ไม่ได้ ให้แฟนอยู่ไป เราก็ออกมา ไปหานอนที่เซเว่นหรือไปนอนที่สะพานลอย หรือที่อื่นๆ ที่ไม่มีคนเห็น

“ถ้าเราป่วย นายจ้างก็ไม่ดูแลหรอก ตายก็ตายฟรี เจ็บก็เจ็บฟรี จำได้ว่ามีป้าคนหนึ่งเป็นแม่บ้านในกลุ่มแรงงานนี่แหละ แล้วแกประสบอุบัติเหตุ คือตกนั่งร้านลงมา ตายฟรีเลย แต่คนในกีบหมูเขาก็ไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้กันหรอก เราถึงอยากทำประกันไง จะมากหรือน้อยก็ได้ ถ้ามีเงินก็อยากทำประกันสักหน่อย ทำให้ตัวเอง ให้หลาน และครอบครัว”

พ้นไปจากสามสิบบาทรักษาทุกโรค อีกหนึ่งโครงการจากรัฐที่ดูจะเป็นตัวช่วยต่อลมหายใจให้ชาวแรงงานคือโครงการเยียวยาประกันสังคมมาตรา 40 อันเป็นโครงการให้เงินเยียวยากลุ่มคนอาชีพอิสระโดยรัฐ แต่นอกจากนั้น โครงการหรือตัวช่วยอื่นใดก็ดูจะห่างไกลจากการเข้าถึงของพวกเขาเหลือเกิน

“พวกสิทธิโครงการรัฐอย่าง ‘เราชนะ’ นี่ เราก็เข้าไม่ถึงนะ” เขาบอก ไม่ปกปิดน้ำเสียงหงุดหงิด “ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงเข้าไม่ถึงโครงการบางอย่างพวกนี้

“จริงๆ อีกอันที่เราได้คือเงิน 200 บาทจากบัตรประชาชนของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่พอใช้หรอก จริงนะ” เขาว่า “อยากให้รัฐช่วยตรงนี้ คือคนที่มีบัตรประชาชนทุกคนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐให้ครบ เอาให้เขาไปเลย ไม่ต้องว่ามาให้ 200-500 บาท จ่ายเขาไปเลย! ช่วยเหลือเขาช่วงโควิด เขาลำบากกันขนาดไหนในช่วงโควิด เห็นไหมว่ามีคนมารองานตรงนี้กี่ร้อยคน เงิน 200 บาทพอกินไหม”

บทสนทนาของเราไหลเรื่อยไปถึงภาพชีวิตที่มนตรีเห็นตัวเองนับจากนี้ หากว่าสถานการณ์ดีขึ้น หากว่าไม่ต้องมาเป็นแรงงานก่อสร้าง หรือหากว่าที่สุดแล้วได้กลับไปบ้านเสียที

“ที่ยังทำอาชีพนี้อยู่เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร ใจเราก็อยากกลับบ้าน ไปทำมาหากินที่บ้าน แต่ที่บ้านก็ไม่รู้ต้องไปพึ่งใคร จะออมสินเหรอ หรือว่า ธกส. เราก็กลัวเป็นหนี้งอกขึ้นมา จะอาศัยเงินแม่ที่ได้จากรัฐซึ่งเป็นเงินคนแก่ก็ไม่พอหรอก”

“รายได้จากงานที่กีบหมูอยู่ไม่ได้ ได้ไปวันต่อวัน หาเช้ากินค่ำ ชีวิตไม่มีอะไรเหลือเลยนะ”

2

พงษ์เป็นคนแรกๆ ที่ปรากฏตัวในซอยกีบหมู ช่วงก่อนเวลาตีสี่เล็กน้อย เขามากับรถกระบะหนึ่งคัน จอดไว้ตรงลานจอดรถแล้วทิ้งตัวนั่งลงหน้ามินิมาร์ตใต้แสงเรื่อเรืองของนีออน ตรงกันข้ามกับหลายคนในที่แห่งนี้ เขาไม่ได้มาหางานในฐานะช่างเชื่อม ช่างทาสี หรือช่างฉาบ หากแต่เป็นคนมาหาแรงงานให้ไปทำงานในไซต์ก่อสร้างของนายจ้างที่ว่าจ้างเขามาอีกต่อหนึ่ง

“ผมมาหาช่าง หากรรมกรชายหญิงที่จะไปทำความสะอาด วันนี้เราต้องมีช่างปูนไปจับเสียมฉาบปูนสามคู่ กับกรรมกรสัก 7-8 คน แล้วแต่จะหาได้” เขาสาธยาย “งานผมเป็นประเภทก่อสร้าง ลุยขี้โคลนหน่อย แต่ว่าก็ดีกว่าไม่มีงาน”

ในวัย 53 ปี นี่ก็นับเป็นทศวรรษที่ 4 แล้วที่เขาจากบ้านเกิดที่จังหวัดเลยมาเข้ากรุงเทพฯ อันเป็นประตูบานแรกที่ทำให้เขาเรียนรู้วิชาช่างจากการฝึกแบบครูพักลักจำและช่วยงานญาติผู้ใหญ่ซึ่งโยกย้ายมาทำงานก่อสร้างเมื่อหลายสิบปีก่อน

“ตอนแรกๆ มาทำช่างฝ้ากับญาติๆ ยื่นเหล็กยื่นของให้เขา ได้ค่าแรงวันละ 40 บาท ค่ารถเมล์สมัยนั้น 25 สตางค์เอง ข้าวจานละสองบาทเท่านั้น เราจึงอยู่ได้ด้วยเงิน 40 บาท สบายด้วย เราจึงเป็นช่างมาทั้งชีวิต สารพัดช่างเลย”

และจากต้นธารนั้น พงษ์อยู่กินด้วยอาชีพคนก่อสร้างมาค่อนชีวิต ได้ค่าแรงตกวันละ 400-500 บาท ซึ่งก็นับว่าลำบากและชวนให้เลือดตากระเด็นไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเขามีลูกให้ต้องดูแลอีกสามคน ก่อนที่ชีวิตจะจัดสรรหนทางให้เขาเข้ามาค้าแรงที่ย่านกีบหมู

“แรกๆ ที่มาผมได้ 700-800 บาทต่อวัน แล้วแต่ผู้จ้างเขาจะเห็นว่าเราทำงานอย่างไร มีฝีมือไหม” และก็ด้วยทักษะการทำงานช่างที่สั่มสมมาตั้งแต่ยังไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่านาย พงษ์จึงกลายเป็นช่างคนโปรดของนายจ้างที่เขาทำงานด้วยในปัจจุบันแทบจะทันที หน้าที่ของเขาขยับจากการเป็นกรรมกร ลงมือทำงานเอง มาสู่การจัดสรรหาคนงานไปตามไซต์ก่อสร้างต่างๆ ให้นายจ้าง

“ตอนนี้ก็มีเจ้านายคนนี้ที่ผมทำงานด้วยมา 3-4 เดือนแล้ว ผมจึงไม่ได้ต้องมาลุ้นงานทุกเช้าเหมือนคนอื่นเพราะงานของผมคือมาหาคน แล้วก็มีคนอยู่แล้ว” เขาพยักเพยิดไปทางกลุ่มคนที่กำลังทยอยเดินเข้ามาใต้แสงนีออน

ดูมีนายจ้างที่ทำงานด้วยกันประจำ หากแต่พงษ์ก็ยังเลือกจะรับเงินเป็นรายวัน “ถ้ารับเป็นรายเดือนก็ผูกมัดเรา เราไม่ชอบการผูกมัด วันไหนที่ผมมีกำลังผมจะทำ วันไหนเหนื่อยก็หยุด ปกติผมหยุดวันอาทิตย์ หยุดอยู่กับครอบครัวนี่แหละ พาแฟนไปหาลูก ไปซื้อของพวกเสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน”

สำหรับพงษ์ หน้าที่หาคนงานในย่านกีบหมูจึงเป็นหน้าที่ที่ลงตัวสำหรับเขา กล่าวคือแม้ต้องตื่นเช้าแต่ก็เป็นงานที่ไม่เหนื่อยนัก มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน หากแต่อีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นแรงงานรายวันที่ไร้ประกันใดๆ จากนายจ้าง

“ถ้าป่วยก็ไม่ได้รายได้ เขาไม่ได้คุ้มครองอะไรเรา เราเป็นลูกจ้างรายวัน ประกันสังคมเขาก็ไม่มีให้ สวัสดิการก็ไม่มี เขาแค่มาจ้างอย่างเดียว มันก็อันตรายแหละ” เขาว่า “แต่ความปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับเรา ถ้าผมเห็นว่าอันตรายมากก็ไม่ทำ แล้วไปหางานที่ไม่อันตรายมาทำแทน

“แต่งานก่อสร้างมันอันตรายอยู่แล้ว ไหนจะเครน ไหนจะไฟ หรือวันไหนฝนตกอีก แต่ถ้าวันไหนเป็นแบบนั้นเราก็เลือกไม่ไปทำไง สำหรับผมอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์เท่านั้น แล้วเวลาผมรับลูกน้องไปทำงาน ก็บอกลูกน้องตลอดว่าความปลอดภัยอยู่ที่ตัวเรานะ ระวังไม้มือ แข้งขา ใส่รองเท้าหุ้มส้นเผื่อไปเตะเหล็กเตะอะไรก็ต้องไปรักษาเอง นายจ้างเขาจ้างเรามาแพงแล้ว เขาไม่ได้มารับผิดชอบชีวิตเรา แล้วเราไม่ใช่ลูกจ้างประจำเขา เราเป็นลูกจ้างรายวัน”

ยิ่งกับช่วงโควิดที่พงษ์ได้รับผลกระทบโดยตรง แผลของการเป็นลูกจ้างรายวันยิ่งเด่นชัด “ผมเองก็ติดโควิดมาแล้ว แฟนผมติดแล้วลงปอดด้วย เลยต้องพากลับไปรักษาตัวที่บ้านสักเดือนกว่าได้ อยู่โรงพยาบาล 14 วัน แฟนอยู่ได้ 3 วันก็อาการหนัก เขาเลยต้องส่งตัวไปฟอกปอด พอหายป่วยก็กลับมากักตัวที่บ้านอีก 14 วัน แต่โรคนี้เป็นโรคที่เขารังเกียจจริงๆ” เขาเล่า สีหน้าไม่สู้ดี

“บ้านใกล้เคียงที่เคยสนิทชิดเชื้อกลับกลายเป็นรังเกียจ เหมือนชีวิตเราไม่มีใครเลย ยังดีว่าเจ้านายคนนี้เขาใจดี ช่วงที่เราหยุดไปแกก็โอนเงินให้ทีละ 2,000-3,000 บาท ด้วยน้ำใจเฉยๆ ไม่ได้ตามกฎหมายอะไร เขาก็เหมือนพ่อแม่แล้วเราก็เหมือนลูกหลานเขาน่ะ”

“ทุกวันนี้ผมก็หาเงินเพื่อลูก ลูกผมสามคน คนเล็กเพิ่งจบปริญญาตรีไปนี่เอง สบายแล้ว” เขายิ้ม ในยิ้มนั้นพราวระยับด้วยความภูมิใจ “ก็ได้แต่หาเงินเก็บไว้ให้เขาแค่นั้น เพราะไม่รู้ว่าชีวิตเราจะอยู่ไปได้อีกถึงเมื่อไหร่”

3

เข้าใจว่า ‘น้า’ น่าจะจับตามองเรามาสักพักแล้ว ในห้วงเช้ามืดที่คลาคล่ำไปด้วยคนงานถืออุปกรณ์ก่อสร้าง อะไรจะสะดุดตาและผิดที่ผิดทางไปได้มากกว่าคนยืนถือกล้องตัวเขื่อง หน้าตาง่วงงุนอีกเล่า และอาจจะเป็นเหตุนั้นที่ทำให้ ‘วิสุทธิ์’ เดินมาทักทายเราพร้อมรอยยิ้มกว้างขวาง

“ไง อยากคุยอะไรไหม”

“อยากซี่” เราตอบ

“งั้นเอ็งถามมา”

บทสนทนาของเราออกรสออกชาติ หัวใจหลักๆ เป็นเพราะวิสุทธิ์ถือว่าเป็นคนงานที่ ‘เจนสนามรบ’ มากกว่าใครเพื่อน เนื่องจากหากินอยู่ที่ซอยกีบหมูมาร่วมสองทศวรรษ หรือหากพูดให้ชัด เขาอยู่มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีชุมชนคนงานที่ซอยกีบหมูนี้เสียอีก

“แต่ก่อนคนงานเขามาปลูกหญ้าอยู่ในสวนหญ้า พอว่างงาน เถ้าแก่เขาเลยถามว่ามึงจะไปก่อสร้างไหม เลยติดต่อลูกพี่คนอื่นๆ ให้พาคนงานไปก่ออิฐ ฉาบปูน” มือเขาชี้ไปยังอาคารบ้านเรือนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่รกร้างในย่านนี้

“แต่ก่อนไม่มีมายืนอย่างนี้นะ ต้องเข้าไปรับงานในป่าหญ้า เพิ่งมาเป็นอย่างนี้สักสิบกว่าปีก่อนเอง สมัยที่เราเริ่มมารับงานตรงนี้ยังเป็นที่ร้างๆ ไม่มีร้าน ไม่มีรถ มาเป็นรุ่นแรกๆ จนตอนนี้เพื่อนตายไปหมดแล้ว”

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ วิสุทธิ์จากบ้านเกิดที่สกลนคร เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2530 “สมัยนั้นทำงานบริษัท เอาของไปโหลดให้เขา ได้เงินเดือนแหละแต่ไม่ได้เรื่องเลย เงินน้อยแค่นั้นเอง” พูดแล้วทำมือประกอบให้เห็นความเล็กจิ๋วของเงินเดือน “เลยเริ่มชีวิตใหม่ ไปมีแฟนที่ภาคใต้แล้วเรียนรู้การก่อสร้างจากพ่อตา จากนั้นก็ยาวเลย”

วิสุทธิ์ผ่านช่วงรุ่งโรจน์ของหน้าที่การงานในฐานะช่างก่อสร้างมานานแล้ว ถึงวันนี้ในวัย 54 เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะแบกหามหรือยกของหนักได้อีกต่อไป ไม่เพียงแต่จะทำร้ายร่างกาย หากแต่ยังทำร้ายเงินในกระเป๋าเมื่อถึงคราวบาดเจ็บ

“ทุกวันนี้ทำได้แค่ทาสี ฉาบผิว ทำพวกงานง่ายๆ หรืองานขุดดินลุงก็ไปนะ ไปหมดแหละขอให้เป็นเงิน วันไหนไม่มีงานทำก็ไปตัดใบตองขาย สัปดาห์หนึ่งๆ อย่างขี้เหร่ก็ทำงานสัก 3-4 วัน ปกติเราพักวันอาทิตย์ แต่จะว่าพักก็ไม่ใช่หรอกนะ คือถ้ามีงานก็ไป แค่ว่าวันอาทิตย์ไม่ค่อยมีงาน ไม่มีใครเขามาหางานเพราะรู้กันว่าหมู่บ้านต่างๆ ที่มีก่อสร้าง เขาไม่ให้คนเข้าไปในวันอาทิตย์”

“เจนสนามขนาดนี้มีวันไหนที่ไม่ได้งานไหม” เราถาม

คนถูกถามย่นจมูกใส่ ถอนหายใจสำทับอีกเฮือก “อย่ามาพูดเล้ย มีหมดแหละ ไอ้เราน่ะไม่ได้เลือกงานนะแต่คนจ่ายตังค์เขาเลือก อย่ามาพูดหน่อยเลยว่ามาที่กีบหมูแล้วจะไม่ตกงานกัน ตกกันหมดแหละ บางคนไม่มีงานเขาก็ไปขอข้าววัดกิน แต่เราน่ะไม่ต้อง เราเซ็น หยิบยืมไปได้ก่อน ถ้ามีเงินค่อยเอาไปคืนให้เขา

“จริงๆ ค่ากินไม่พอหรอก นี่ไม่ได้พักห้องมา 6 เดือนแล้ว ถ้าจะพักแถวนี้ก็เจอค่าห้อง 1,500-2,000 บาทต่อเดือนแล้ว ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ หน่วยกิตละ 10-20 บาท สู้ไม่ไหวหรอก เราก็เลยไปนอนศาลาที่สวนสยามเอา อยู่กับตำรวจ ไปกวาดหน้าบ้านให้เขา เขาก็เอาข้าวมาให้บ้าง

“มันแย่นะ แย่ไปหมด นี่แหละว่าทำไมคนงานถึงอยากได้ค่าแรงแพง เพราะแบบนี้ไง มันไม่พอจะกินเอา” วิสุทธิ์ถอนหายใจ

“แล้วตั้งแต่โควิดก็ลำบาก คนเขาไม่ให้ช่างก่อสร้างเข้าหมู่บ้านเลย พวกหมู่บ้านหรูๆ หลังละล้านกว่าก็ไม่ให้เข้า เพราะเขากลัวเรา ขนาดเรามีใบตรวจ ATK เขายังไม่ให้เข้าเลย แล้วสัปดาห์นี้ตกงานเพราะเรื่องนี้ 4 วันแล้ว เพราะงั้นบอกตรงๆ เลยว่าตั้งแต่มีโควิดนี่ลำบากกว่าเดิมเยอะ เอาแค่จะซื้อข้าว บางร้านเขายังไม่ให้เข้าเลย”

วิสุทธิ์พอจะยังชีพได้ด้วยเงิน 200 บาทจากบัตรประชาชนของกลุ่มเปราะบาง แต่ก็เพียงแค่ยังชีพ -ในความหมายตรงตัวอักษร- จริงๆ “สองร้อยนี่ได้มาม่ากี่ห่อ ไข่กี่ฟอง ให้เขาคิดกันบ้าง กับรัฐนี่ไม่รู้ต้องพูดอย่างไร พูดไปก็ไลฟ์บอย”

“มันเหนื่อยนะ” เขาย้ำ “ทำงานน่ะทำได้ แต่งานหายากจริงๆ นะ ท้อไปไม่รู้กี่ครั้งแต่ก็ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายหรอก เกิดมาแล้วก็ต้องอยู่นี่นะ”

4

ฟ้าสางแล้ว พระออกเดินบิณฑบาต คนงานหลายคนแวะซื้ออาหารจากร้านข้างทาง ถวายปัจจัย พนมมือรับพร

ขบวนรถกระบะเคลื่อนตัวแน่นถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง แต่ละคันอัดแน่นไปด้วยกลุ่มคนงานที่เพิ่งได้ขยับตัวออกจากพื้นที่หน้าซอยกีบหมู หลังยืนรอร่วมสามชั่วโมงหรืออาจจะนานกว่านั้น บางคนเพิ่งได้ขึ้นรถ หอบเอาข้าวของ เครื่องใช้ทำมาหากินติดตัวไปด้วย

แดดออกสว่างไสวแต่ชวนอึมครึมในหัวใจ บอกไม่ถูกว่าเพราะบางแววตาของใครไหม หรือเพราะรอยช้ำใต้เบ้าตา หรืออาจเพราะความเศร้าที่เจือจางอยู่ในเรื่องเล่าของผู้คนเหล่านี้ แต่เหนืออื่นใด ทุกคนล้วนพยายามตะเกียกตะกายมีชีวิตอยู่ วาดฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า -ไม่ได้ดีเลิศเลอ- เอาแค่ดีกว่าตอนนี้ ตอนที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมารอลุ้นงานและเงินในแต่ละวัน

รุ่งอรุณมาเยือนย่านกีบหมู และได้แต่หวังว่าสักวันรุ่งอรุณจะมาเยือนในชีวิตของผู้คนอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกันบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ในอนาคตอันใกล้นี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save