fbpx

‘ลา มาร์เซยแยส’ และ ‘เลือดไม่บริสุทธิ์’ ที่ไหลท่วมรอยไถของเรา

(1)
กำเนิด ‘ลา มาร์เซยแยส’

“…ติดอาวุธเถิด, พลเมืองทั้งหลาย,
จงรวมกันเป็นกองกำลัง
หน้าเดินเข้า, หน้าเดิน!
ให้เลือดไม่บริสุทธิ์
ไหลท่วมรอยไถของเรา…”[1]
– เพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ (La Marseillaise)

ข้างต้นนี้ก็คือท่อนสร้อยของเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ (La Marseillaise) ที่ประพันธ์โดยนายทหารช่างในกองทัพฝรั่งเศส ‘โคลด โจเซฟ คูเจต์ เดอ ลิลส์’ (Claude Joseph Rouget de Lisle) เดิมทีเพลงนี้มีชื่อว่า ‘เพลงรบแด่กองทัพแห่งไรน์’ (Chant de guerre pour l’armée du Rhin) เนื่องจากผู้แต่งตั้งใจอุทิศเพลงนี้ให้กับกองทัพฝรั่งเศสซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพแห่งจักรวรรดิปรัสเซียและออสเตรียที่มาประชิดชายแดนแม่น้ำไรน์ของฝรั่งเศสในฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1792 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส’ ที่กินเวลายาวนานหลายปี ด้วยเหตุนี้เอง เนื้อเพลงที่มีข้อความปลุกเร้าให้ประชาชนพากันจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับทรราชนั้นจึงหาได้หมายถึงกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ไม่ แต่อยู่ภายใต้บริบทของสงครามเพื่อพิทักษ์ดอกผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสจากการคุกคามของบรรดากษัตริย์ ‘ทรราช’ แห่งยุโรปเสียมากกว่า

ยังไม่นับว่าอันที่จริงแล้ว คูเจต์ เดอ ลิลส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกนิยมเจ้า รวมทั้งตัวเขาเองก็มีความเห็นอกเห็นใจกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 จนถูกปลดออกจากยศนายทหารหลังแสดงความเห็นประท้วงการคุมขังลุยส์ที่ 16 และครอบครัว อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์บุกพระราชวังตุยเลอรีย์ (Palais des Tuileries) ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 เมื่อประชาชนในปารีสหวาดระแวงว่ากษัตริย์ลุยส์ที่ 16 จะสมคบคิดกับกองทัพกษัตริย์ต่างชาติเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ[2]

สถานการณ์ของสงครามปฏิวัติที่ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในตอนแรกดูเหมือนจะมีส่วนช่วยทำให้ ‘เพลงรบแด่กองทัพแห่งไรน์’ ของคูเจต์ เดอ ลิลส์ แพร่หลายในหมู่ทหารและกองกำลังประชาชนอาสา (fédérés) ที่รัฐบาลในระบอบปฏิวัติประกาศเรียกระดมพลจากต่างจังหวัดให้มาช่วยกันป้องกันเมืองปารีส เนื้อเพลงท่อนที่บอกว่า “…แล้วพวกมันจะบุกมาถึงอ้อมแขน เพื่อเชือดคอบุตรและภรรยาของท่าน…” (Ils viennent jusque dans vos bras, Égorger vos fils, vos compagnes) จึงไม่ใช่แค่โวหาร แต่เป็นความเป็นจริงที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

แม้เพลงนี้อาจจะได้รับความนิยมอย่างมากในต่างจังหวัด แต่กลับยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในปารีส ดังนั้นเมื่อกองกำลังประชาชนอาสาจากมักเซย (Marseille) เดินทางมาถึงปารีสพร้อมกับ ‘เพลงรบแด่กองทัพแห่งไรน์’ ชาวปารีสจึงขนานนามเพลงนี้ในชื่อว่า ‘เพลงของชาวมักเซย’ (Hymne des Marseillais หรือ La Marseillaise)

ความนิยมในเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ทำให้ในวันที่ 26 ของเดือนเมซสิดอร์ ในปีที่ 3 แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสตามปฏิทินปฏิวัติ หรือวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1795 ตามปฏิทินเกรกอเรียน สภากงว็องซิญง (Convention) ซึ่งเป็นอำนาจรัฐในระบอบปฏิวัติได้ประกาศให้ ‘เพลงของชาวมักเซย’ หรือ‘ลา มาร์เซยแยส’ มีสถานะเป็นเพลงสำคัญของชาติ แต่กว่าที่  ‘ลา มาร์เซยแยส’จะมีสถานะเป็น ‘เพลงชาติ’ อย่างเป็นทางการก็ในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 (ค.ศ. 1879) ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ระบอบสาธารณรัฐได้ลงหลักปักฐานในฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน


ลายมือเนื้อร้องเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ในหนังสือของคูเจต์ เดอ ลิลส์ จากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส


(2)
สัญลักษณ์ของการต่อสู้ของประชาชน


แม้ว่า ‘ลา มาร์เซยแยส’ จะมีจุดกำเนิดในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสและมีเนื้อหาที่ปลุกเร้าให้ชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นสู้กับกองทัพต่างชาติ แต่เพลงนี้จะค่อยๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบอบสาธารณรัฐและการปฏิวัติฝรั่งเศสไปโดยปริยาย และด้วยเหตุนี้เองที่ ‘ลา มาร์เซยแยส’ ต้องเกิด-ดับหลายครั้งตามบริบททางการเมืองในขณะนั้น มันอาจเสื่อมสถานะลงไปเมื่อระบอบกษัตริย์กลับคืนมาสู่ฝรั่งเศสหรืออยู่ภายใต้ระบอบจักรวรรดิของตระกูลนโปเลอง แต่ในที่สุด ‘ลา มาร์เซยแยส’ ก็กลับมาเป็นเพลงสำคัญของชาติได้อีกครั้งในระบอบสาธารณรัฐ

แม้โดยปกติแล้ว เพลงชาติของประเทศหนึ่งๆ มักจะเป็นแค่ตัวแทนของความรักชาติ แต่ ‘ลา มาร์เซยแยส’ มีความหมายกว้างไกลกว่านั้น เพราะมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ไปแล้ว ดังเช่นใน ค.ศ. 1871 เมื่อรัฐบาลกลางของฝรั่งเศสกำลังติดพันในสงครามกับปรัสเซียที่เริ่มขึ้นในสมัยของจักรพรรดินโปเลองที่ 3 (และจบลงในสมัยสาธารณรัฐที่ 3 หลังจากที่จักรพรรดินโปเลองที่ 3 ถูกฝ่ายปรัสเซียจับตัวได้ไม่นาน) ชนชั้นล่างของปารีสได้เข้ายึดอำนาจรัฐและสถาปนา ‘รัฐอิสระ’ ที่เรียกว่า ‘คอมมูนแห่งปารีส’ (La Commune de Paris)

ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือนกว่านั้น ชาวคอมมูนแห่งปารีสมีชีวิตอยู่ภายใต้อุดมการณ์ที่ก้าวหน้า พวกเขาประกาศแยกศาสนาออกจากรัฐ ยกเลิกโทษประหารและการบังคับเกณฑ์ทหาร ยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก และให้ผู้ใช้แรงงานเข้าควบคุมกิจการที่เจ้าของทอดทิ้งเพราะภัยสงครามมาบริหารกันเอง ในระหว่างนี้เองที่เพลง ‘ลา มาร์เซยแยสแห่งคอมมูน’ (La Marseillaise de la Commune) ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ฉบับที่ถูกเขียนเนื้อเพลงขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยบุคคลปริศนานามว่า ‘ยูเจนี เดอ คาสเตลลัน’ (Eugénie de Castellane)

เพลง ‘ลา มาร์เซยแยสแห่งคอมมูน’ มีท่อนสร้อยที่ร้องว่า

“…จงขับร้องเพลงแห่งเสรีภาพเถิด,
และจงพิทักษ์เมืองแห่งนี้
หน้าเดินเข้า, หน้าเดิน, เมื่อไร้ซึ่งองค์อธิปัตย์
ประชาชนจักมีขนมปัง…”
[3]

หลังการยึดครองปารีสได้เป็นเวลาเพียง 2 เดือน 1 สัปดาห์ กับอีก 3 วัน ฝ่ายคอมมูนแห่งปารีสถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมโดยกองทัพของรัฐบาลกลางฝรั่งเศส สมาชิกชาวคอมมูนนับหมื่นถูกสังหารและประชาชนอีกราวสี่หมื่นคนถูกจับกุมคุมขังโดยที่บางส่วนถูกเนรเทศไปยังดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส รัฐอิสระในอุดมคติของพวกเขาถูกบดขยี้ลงไปพร้อมกับเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ฉบับที่ไม่ได้เรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นสู้กับกองทัพต่างชาติ แต่เรียกร้องให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานปลดเปลื้องโซ่ตรวนออกจากตนเอง

ดังจะเห็นได้ว่าเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติของฝรั่งเศสแต่อิทธิพลของมันก็ไม่ได้จบลงที่พรมแดนของฝรั่งเศส – ‘ลา มาร์เซยแยส’ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ในที่แห่งอื่นอีกด้วย

หลังการรัฐประหารล้มล้างระบอบสาธารณรัฐและสถาปนาตนเองขึ้นเป็น ‘จักรพรรดินโปเลองที่ 1’ (Napoléon Ier) นโปเลองมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นระบบทาสในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายคือ ‘ซังต์-โดมินิก’ (Saint-Dominigue) หรือที่รู้จักในปัจจุบันว่า ‘เฮติ’ (Haiti) แผนการของนโปเลองถูกตอบโต้ด้วยกองทัพของชนพื้นเมืองที่นำโดยตุสซังต์ ลูแวร์ตูร์ (Toussaint Louverture) อดีตทาสที่กลายมาเป็นผู้นำของชาวเฮติ

มีเรื่องเล่าจากบันทึกของผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยในสงครามฝรั่งเศส-เฮติช่วง ค.ศ. 1801-1803 ว่าในระหว่างการสู้รบ พวกกองทัพชนพื้นเมืองเฮติได้ร้องเพลงปฏิวัติฝรั่งเศสตอบโต้กับพวกทหารฝรั่งเศส แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ‘ลา มาร์เซยแยส’ เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกขับร้องโดยกองทัพชนพื้นเมืองเฮติ แต่ก็น่าไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นชนพื้นเมืองและ ‘คนนอก’ ย้อนไปถึงในปลายศตวรรษที่ 19 เลือกจะ ‘จดจำ’ ว่าเพลงที่ถูกขับร้องนั้นคือ ‘ลา มาร์เซยแยส’[4] – ก็จะมีอะไรที่แสดงความย้อนแย้งกันเองได้ดียิ่งกว่าการที่เหล่าอดีตทาสผู้เป็นไทเพราะการปฏิวัติฝรั่งเศสกำลังต่อสู้เพื่อปกป้องอิสรภาพของตนเองได้พากันร้องเพลงอันเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสตอบโต้กับ ‘กองทัพของทรราช’ ที่ถูกส่งมาเชือดคอผู้เป็นที่รักของพวกเขา ที่น่าประหลาดใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คือทหารฝรั่งเศสภายใต้นโปเลองผู้เคยขับร้องเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ด้วยความภาคภูมิใจกลับต้องมายืนอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามในฐานะผู้รุกรานไปเสียแล้ว

หากจะไปให้ไกลกว่าโลกภาษาฝรั่งเศส ในช่วงเวลาใกล้กันกับเหตุการณ์ ‘คอมมูนแห่งปารีส’ ขบวนการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1875 ได้หยิบเอาบทกวีชิ้นหนึ่งของ ‘ปโยตร์ ลาฟรอฟ’ (Pyotr Lavrov) มาใส่ทำนองเพลง ‘ดี ไบเดน เกรนาดิเรอ’ (Die beiden grenadiere) ประพันธ์โดย ‘โรเบิร์ด ชูมันน์’ (Robert Schumann) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ อีกที[5] เพลงนี้ต่อมามีชื่อว่า ‘มาร์เซยแยสของคนงาน’ หรือ ‘ราโบชายา มาร์เซลเยซา’ (Rabochaya Marsel’yeza) และเป็นเพลงปฏิวัติได้รับความนิยมมาจนถึงสมัยสหภาพโซเวียต

นอกจากที่กล่าวมานี้แล้ว เพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ยังได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ หรือดัดแปลงเอาทำนองมาใช้อีกมากมาย ดังในกรณีของไทยก็คือเพลง ‘มาร์ช มธก.’ ที่ประพันธ์โดยทวีป วรดิลก และเพลง ‘มาร์ชลาดยาว’ ที่ประพันธ์โดยจิตร ภูมิศักดิ์

แต่ก็ใช่ว่า ‘ลา มาร์เซยแยส’ จะมีสถานะเป็นเพลงแห่งการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่เท่านั้น เนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของมันและบริบททางประวัติศาสตร์ของมันทำให้ ‘ลา มาร์เซยแยส’ กลายเป็นประเด็นถกเถียงของสังคมฝรั่งเศสมาจนถึงยุคปัจจุบัน


(3)
‘เลือดไม่บริสุทธิ์ที่ไหลท่วมรอยไถของเรา’


แม้ว่าสาธารณรัฐฝรั่งเศสในปัจจุบันจะเป็นมรดกของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสก็ดำรงอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างกระอักกระอ่วน แม้ทุกคนจะรู้ดีว่าคุณค่าสาธารณรัฐนิยมของฝรั่งเศสที่น่าภาคภูมิใจทั้งหลายนั้นมีจุดกำเนิดมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ถึงช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงนับสิบปีหลังจากนั้น

เนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของ ‘ลา มาร์เซยแยส’ ดูเหมือนจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับใครหลายๆ คน ไม่ต่างอะไรกับเรื่องความรุนแรงในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส และที่สำคัญที่สุดเราไม่ควรลืมว่า ถึงอย่างไร ‘ลา มาร์เซยแยส’ ก็ยังเป็น ‘เพลงชาติ’ ดังนั้นการกระทำต่างๆ ในนามของ ‘ชาติฝรั่งเศส’ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีงามน่ายกย่องหรือจะเป็นอาชญากรรมอย่างเช่นการล่าอาณานิคมก็ยากที่จะแยกมันออกจาก ‘ลา มาร์เซยแยส’ ในสายตาของคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำในนามของชาติเหล่านั้น

ในช่วงทศวรรษ 1990 เคยมีการรณรงค์เปลี่ยนแปลงเนื้อร้องของเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ให้ไม่มีความรุนแรงภายใต้แคมเปญ ‘สำหรับมาร์เซยแยสแห่งภราดรภาพ’ (Pour une Marseillaise de la fraternité) ซึ่งมีคนเขียนจดหมายสนับสนุนมากถึง 2,000 ฉบับ แต่ถึงแม้จะมีคนที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมมากมาย การรณรงค์นี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ในช่วง ค.ศ. 2014 ก็มีการถกเถียงกันว่าวลี ‘ให้เลือดไม่บริสุทธิ์ไหลท่วมรอยไถของเรา’ ที่อยู่ในท่อนสร้อยของ ‘ลา มาร์เซยแยส’ นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่? โดยเป็นประเด็นจากการที่นักแสดงฝรั่งเศส ‘ล็องแบร์ต์ วิลซง’ (Lambert Wilson) ให้สัมภาษณ์ว่าเนื้อเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’  นั้น “โหดเหี้ยม บ้าเลือด ล้าหลัง เหยียดชาติ และกลัวคนต่างชาติ” (Les paroles sont épouvantables, sanguinaires, d’un autre temps, racistes et xenophobes) และตัวเขาเองไม่เข้าใจว่าทำไมคนฝรั่งเศสคนอื่นๆ ถึงยังกล้าร้องเพลงท่อน ‘ให้เลือดไม่บริสุทธิ์ไหลท่วมรอยไถของเรา’ กันอยู่ได้

คำวิจารณ์ของวิลซงนำไปสู่ปฏิกิริยาตอบโต้มากมาย และหนึ่งในนั้นคือก็คำวิจารณ์ของปาทริซ เกนนิฟเฟ (Patrice Gueniffey) นักประวัติศาสตร์ด้านการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เสนอว่า ‘เลือดไม่บริสุทธิ์’ นั้นแท้จริงแล้ว ก็คือเลือดของประชาชน เพราะคำว่าเลือด ‘เลือดบริสุทธิ์’ นั้น หมายถึง พวกเจ้าหรือพวกอภิชน ส่วน ‘เลือดไม่บริสุทธิ์’ นั้นหมายถึงประชาชนธรรมดา ‘ให้เลือดไม่บริสุทธิ์ไหลท่วมรอยไถของเรา’ จึงเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนกล้าเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อชาติและเพื่อการปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม ฌอง-เคลมงต์ มาร์ตัง (Jean-Clément Martin) อดีตศาสตราจารย์ด้านการปฏิวัติฝรั่งเศสแห่งซอร์บอนเห็นต่างกับข้อเสนอของเกนนิฟเฟ และวิจารณ์ว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเพราะเอกสารร่วมสมัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่ามีการใช้วลี ‘เลือดไม่บริสุทธิ์’ กันในความหมายเชิงเหยียดหยาม ไม่ว่าจะเป็นกับกษัตริย์ ศัตรูของชาติ พลเมืองที่ชั่วร้าย หรือบริวารของทรราช ฯลฯ ดังนั้น ‘ให้เลือดไม่บริสุทธิ์ไหลท่วมรอยไถของเรา’ จึงเป็นการบริภาษต่อพวกปรัสเซียผู้รุกรานว่าเป็น ‘อ้ายเลือดชั่ว’ มากกว่าอะไรอื่น

นอกจากปัญหาที่ว่า ‘ลา มาร์เซยแยส’ มีความรุนแรงและชวนให้รู้สึกได้ว่าเป็นการเหยียดชาติแล้ว ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าสำหรับคนที่เป็นเหยื่อของการล่าอาณานิคมเช่นคนอัลจีเรียหรือคนฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายอัลจีเรีย เพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ อาจไม่ใช่ทั้งเพลงชาติหรือเพลงปฏิวัติ แต่เป็นเพลงของ ‘ผู้ล่าอาณานิคม’ (ที่มือถือสากปากถือศีล?) ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสเชื้อสายอัลจีเรียหลายคนเช่น ‘คาริม เบนเซมา’ (Karim Benzema) รวมทั้งนักเตะในตำนานอย่าง ‘ซีเนดีน ซีดาน’ (Zinédine Zidane) ที่ไม่ยอมขับร้อง ‘ลา มาร์เซยแยส’ และมักตกเป็นเป้าโจมตีของพวกฝ่ายขวาของฝรั่งเศส หรือในกรณีของนักดนตรีและนักร้อง ‘มาจีด เชอร์ฟิ’ (Magyd Cherfi) ผู้เคยออกอัลบัมคัฟเวอร์เพลงปฏิวัติฝรั่งเศสที่ไม่มี ‘ลา มาร์เซยแยส’ อยู่ในนั้น เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “…ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะไม่ได้ต้องการเรา…” (และ ‘เรา’ ในที่นี้ก็น่าจะหมายถึงคนฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายอัลจีเรียนั่นเอง)

บริบทดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ช่วงเวลาหนึ่ง เพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ (และสัญลักษณ์ของความเป็นสาธารณรัฐต่างๆ) กลายเป็นสัญลักษณ์ของพวกขวาจัดในฝรั่งเศส แต่สถานะดังกล่าวของ ‘ลา มาร์เซยแยส’ เปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มมุสลิมเคร่งศาสนาในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 ย่านโรงละครบาตาคล็อง (Bataclan) ทางตอนเหนือของกรุงปารีสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยและส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งสังคมฝรั่งเศส ในเวลาเพียงสามวันต่อมา หลังจากการกล่าวปาฐกถาของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ อ็องลองด์ (Francois Hollande) เพื่อไว้อาลัยเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อการร้าย สมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสได้ร่วมกันขับร้องเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ โดยพร้อมเพรียงกันอย่างไม่ได้นัดหมาย และดูเหมือนในช่วงเวลาอันสั้นนี้เองที่  ‘ลา มาร์เซยแยส’ ได้กลับคืนสู่ความหมายดั้งเดิมของมัน ไม่ใช่ในฐานะเพลงของการปฏิวัติหรือการต่อสู้ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ แต่ในฐานะ ‘เพลงสงคราม’ ที่ปลุกเร้าความสามัคคีของประชาชนต่อหน้า ‘ศัตรูต่างชาติ’ ที่กำลังรุกรานฝรั่งเศส

การก่อการร้ายที่บาตาคล็องทำให้บางคนที่เคยมองว่า ‘ลา มาร์เซยแยส’ เต็มไปด้วยความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติอยากกลับมาร้องมันอีกครั้ง หลังเหตุก่อการร้าย มาจีด เชอร์ฟิ ผู้เคยปฏิเสธที่จะรวมเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ไว้ในอัลบัมคัฟเวอร์เพลงปฏิวัติฝรั่งเศสเขียนสเตตัสลงเฟซบุ๊กมีใจความท่อนหนึ่งว่า “…วันเช่นนี้เองที่ (ทำให้) พวกเรารักฝรั่งเศส หรืออยากจะร้องเพลงลา มาร์เซยแยส…” (Il y a des jours comme ça où on aime la France, où on a envie de chanter la Marseillaise)

ถึงกระนั้น เขาก็ยังเชื่อว่าเนื้อร้องของเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ยังควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด แต่ก็ยังมีบางคน เช่น จอร์จ ซาลีนส์ (Georges Salines) ชายผู้สูญเสียบุตรสาวในเหตุการณ์ก่อการร้าย แม้เขาจะเข้าใจดีถึงเหตุผลของคนที่ไม่ชอบเนื้อร้องของเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ เพราะเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น แต่เขากลับไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนแปลงงานศิลปะด้วยเหตุผลของความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) “…มันมีวลีที่เหยียดชาติหลายอันในท็อม ซอวเยอร์ แต่เราจะไม่เปลี่ยน (เนื้อหาของ) ท็อม ซอวเยอร์…”


(4)


‘ลา มาร์เซยแยส’ อาจเป็นตัวแทนของคุณค่าหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะในฐานะเพลงที่ปลุกเร้าความสามัคคีของคนในชาติ ตัวแทนของการปฏิวัติฝรั่งเศสและการต่อสู้ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ หรือในฐานะเพลงของ ‘ผู้กดขี่’ และสัญลักษณ์ของความอนุรักษนิยม แต่ก็เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของสัญลักษณ์หรือสถาบันอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์อันซับซ้อน ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ ‘ลา มาร์เซยแยส’ จะมีตัวตนอันหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและบริบททางสังคมในขณะนั้น ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะเปิดกว้างทำความเข้าใจและถกเถียงกันอย่างอารยะถึงความหลากหลายนั้นหรือไม่มากกว่า


มาเถิดบุตรหลานแห่งปิตุภูมิ วันอันยิ่งใหญ่ได้มาถึงแล้ว
ธงศึกเปื้อนเลือดของทรราชได้ถูกเชิดขึ้นต่อเบื้องหน้าเรา
ท่านได้ยินหรือไม่ เสียงโห่ร้องในชนบทของทหารที่โหดเหี้ยมเหล่านั้น?
แล้วพวกมันจะบุกมาถึงอ้อมแขน เพื่อเชือดคอบุตรและภรรยาของท่าน

ติดอาวุธเถิด, พลเมืองทั้งหลาย,
จงรวมกันเป็นกองกำลัง
หน้าเดินเข้า, หน้าเดิน!
ให้เลือดไม่บริสุทธิ์
ไหลท่วมรอยไถของเรา


[1]Aux armes, citoyens,
Formez vos bataillons,
Marchons, marchons!
Qu’un sang impur
Abreuve nos sillons!

[2] เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การล้มล้างระบอบกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1792

[3] Chantons la liberté,
Défendons la cité,
Marchons, marchons, sans souverain,
Le peuple aura du pain.

[4] ในหนังสือ ‘The Cry of Vertières: Liberation Memory and the Beginning of Haiti’ โดย Jean-Pierre Le Glaunec ได้อภิปรายว่าความเข้าใจที่ว่ากองทัพชนพื้นเมืองเฮติร้องเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ ตอบโต้กองทัพทหารฝรั่งเศสนั้นเป็นความเข้าใจผิด และจากบันทึกที่สืบค้นได้บ่งชี้เพียงว่ามีการร้องเพลงปฏิวัติฝรั่งเศสบางเพลง เช่น ‘Ça Ira’ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเพลง ‘ลา มาร์เซยแยส’ แต่อย่างใด (ดูหน้า 23-30)

[5] เพลง ‘ดี ไบเดน เกรนาดิเรอ’ (Die beiden grenadiere) ของชูมันน์เป็นการใส่ทำนองให้กับบทกวีในชื่อเดียวกันของไฮน์ริช ไฮเนอ (Heinrich Heine) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมของทหารฝรั่งเศสสองคนที่พ่ายศึกรุกรานรัสเซียของจักรพรรดินโปเลอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save