fbpx
ลา ลีกา-ชาตินิยม-คนสเปน : ฟุตบอลและการเมืองภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก

ลา ลีกา-ชาตินิยม-คนสเปน : ฟุตบอลและการเมืองภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ลีกฟุตบอล ลา ลีกา ฤดูกาลที่ 88 กำลังจะเริ่มในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้แล้ว

สำหรับชาวสเปน นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี ลำพังฤดูกาลที่แล้วมีคนเข้าไปชมแมตช์ระหว่างสโมสรบาร์เซโลน่า-เรอัล มาดริด เต็มสเตเดียมที่ความจุเก้าหมื่นกว่าที่นั่ง เม็ดเงินสะพัดมหาศาล มันจึงเป็นบทพิสูจน์สายสัมพันธ์อันหนาแน่นระหว่างชาวสเปนกับกีฬาฟุตบอลที่เป็นมากว่าลูกกลมๆ กับผู้เล่น 22 ชีวิตบนสนามเท่านั้น

และเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์อื่นๆ ฟุตบอลในสเปนเกี่ยวเนื่องกันกับการเมืองอย่างแยกไม่ออก และเราคงรับทราบได้เป็นอย่างดีทั้งจากการพยายามแยกตัวของแคว้นกาตาลัน การแสดงตนทางการเมืองอย่างแจ่มชัดจากนักเตะบางคนอย่าง เฆราร์ด ปิเก้ หรือ เปป กวาร์ดิโอล่า ตลอดจนการเป็นสโมสร ‘ตัวแทน’ ของแต่ละชาติ อันเนื่องมาจากว่าสเปนนั้นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยพลวัตและความหลากหลายทั้งในแง่ภาษา เชื้อชาติ อุดมการณ์และความเชื่อ ซึ่งสะท้อนผ่านสโมสรฟุตบอลที่ผูกพันแนบแน่นกันกับผู้คน

 

นักฟุตบอลทีมบาร์เซโลน่า สวมเสื้อฝึกซ้อมลายเหลือง-แดง ซึ่งเป็นสีของธงแคว้นคาตาลัน ก่อนลงแข่ง เป็นการแสดงจุดยืนสโมสรในช่วงที่ชาวสเปนกำลังลงประชามติแบ่งแยกแคว้นคาตาลัน ในปี 2017 / ที่มาภาพ bbc.com

 

สัญญะทางการเมืองที่ว่านี้ปรากฏตัวชัดเจนในยุคสมัยของสงครามกลางเมือง (1936-1939) ผ่านการเรืองอำนาจของผู้นำเผด็จการอย่างนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก ชายผู้ฝักใฝ่ในลัทธิฟาสซิสต์ชาตินิยมจนมองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ‘เป็นอื่น’ จนหมด นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่โยงใยไปสู่ความรุนแรงและสงคราม ซึ่งทั้งหมดนี้ -ไม่มากก็น้อย- มันได้ลากเอาการกีฬา ฟุตบอลและลีกลา ลีกา ไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วยเสมอ

“คุณแยกฟุตบอลสเปนกับการเมืองออกจากกันไม่ได้หรอก”

จิมมี เบิร์นส์ สื่อมวลชนชาวอังกฤษผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลเคยกล่าวไว้

เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางการเมืองของหลายๆ ประเทศ สงครามกลางเมืองสเปนนั้นเต็มไปด้วยองค์ประกอบและรายละเอียดยิบย่อย หากแต่เราคงพอจะแบ่งภาพให้ชัดเจนได้คร่าวๆ ว่าเป็นการปะทะกันระหว่างกบฏทหารของนายพลฟรังโก กับฟากรัฐบาลที่หนุนการปกครองแบบสาธารณะรัฐ

ความที่ฟรังโกพยายามกำจัดความเป็นอื่นและสร้างความเป็นชาติสเปน เขาจึงกำจัดความเป็นอื่นในสายตาทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นภาษากาตาลันหรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นอื่นๆ ผ่านจุดยืนที่ว่าฝั่งทหารคือ ‘ผู้รักชาติ’ และกำลังปกป้องประเทศจากคนที่มุ่งร้าย (คุ้นๆ เนอะ) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สโมสรจากท้องถิ่นอย่างบาร์เซโลน่าที่อยู่ในแคว้นกาตาลัน หรือสโมสรอัตเลติก เดบิลเบา จากแคว้นบาสก์ จะต่อต้านฟรังโกสุดแรง

นายพลฟรังโกทราบดีว่ากีฬาฟุตบอลทรงอิทธิพลเพียงใดต่อคนในประเทศ และเขาตั้งต้นรวมความเป็นหนึ่งเดียวของชาติผ่านการสั่งห้ามไม่ให้ภาษาอื่นๆ ทั้งภาษาคาตาลันและภาษาบาสก์ ใช้พูดในสโมสร เห็นได้ชัดจากการสั่งเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสโมสรบาร์เซโลน่าด้วยการเอาธงคาตาลันออกและใส่ธงสเปนเข้าไปแทน (ซึ่งแน่นอนว่าเหยียบย่ำหัวใจแฟนบอลมาก) ขณะที่อัตเลติกเดบิลเบา – ซึ่งเป็นภาษาบาสก์ – ถูกฟรังโกสั่งเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้ดูเป็นสเปนมากขึ้นในชื่อ อัตเลติโก บิลเบา (Atletico Bilbao) ทั้งยังถูกบังคับให้ปลดกฎที่ว่าด้วยการรับแต่นักเตะชาวบาสก์เข้ามาในทีม

เหตุการณ์ที่รุนแรงและกระทบหัวใจแฟนลูกหนังชาวกาตาลันมากที่สุดครั้งหนึ่งคือการฆาตกรรม โยเซฟ ซูนโญล ประธานสโมสรบาร์เซโลน่าที่ออกตัวสนับสนุนประชาธิปไตย ซูนโญลเป็นหนึ่งในคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลันอย่างหนักแน่นมาโดยตลอด ทั้งออกทุนก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฝั่งซ้ายอย่าง La Rambla ที่โจมตีการปกครองและการใช้อำนาจอย่างล้นเกินของนายพลฟรังโก ในทันทีที่ซูนโญลได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสรจึงเท่ากับว่า บาร์เซโลน่าประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ายืนคนละข้างกันกับฝั่งทหารของฟรังโก ก่อนที่ถัดมาไม่นานหลังจากนั้น ซูนโญลจะถูกนายทหารของฟรังโกสังหารอย่างน่าสลดใจ ขณะที่สโมสรอัตเลติก เดบิลเบา จากแคว้นบาสก์เอง ก็เผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนัก เมื่อเหล่านักเตะแทบทุกคนเดินหน้าเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อต่อต้านกองกำลังฝั่งทหาร

 

โยเซฟ ซูนโญล ประธานสโมสรบาร์เซโลน่า ช่วงปี 1935-1935 / ที่มาภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Josep Sunyol i Garriga

 

หากแต่ก่อนที่การสูญเสียจะบานปลาย โฆเซ่ อันโตนิโอ อากูร์เร่ อดีตนักเตะกองกลางผู้ผันตัวไปเป็นนักการเมือง เล็งเห็นว่านักกีฬาทำอะไรได้มากกว่าการเข้าร่วมการต่อสู้ (โดยเฉพาะกับการต่อสู้ที่แสนจะเสียเปรียบเมื่อต้องปะทะกับเหล่าทหารที่ถูกฝึกมาให้รบ ขณะที่พวกเขาถูกฝึกมาให้ลงสนามเตะลูกฟุตบอล) จึงพยายามดึงนักเตะเหล่านั้นกลับเข้าสนามแข่งอีกครั้ง พร้อมประกาศจุดยืนว่าพวกเขาอยู่ข้างแคว้นบาสก์และเป็นปฏิปักษ์กับฟรังโก ซึ่งเช่นเดียวกับผู้นำเผด็จการหลายๆ คนที่เมื่อเห็นคนต่อต้านแล้วยิ่งบีบให้อีกฝ่ายจำยอม เขาออกกฎระเบียบจุกจิกไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาคมกรรมการขึ้นมาเอง และบังคับให้สโมสรหลายๆ สโมสรพิสูจน์ตัวเองว่าจะไม่ประพฤติตัวเหมือนช่วงก่อนหน้าสงคราม (นั่นคือแสดงจุดยืนที่เป็นชาติอื่นไม่ใช่สเปน)

แต่ผลลัพธ์สำหรับฟรังโกนั้นไม่โสภานัก จากการใช้อำนาจล้นเกินของเขา แทนที่จะทำให้สโมสรฟุตบอลและแฟนบอลเหล่านี้รู้สึกว่าต้องโอนอ่อนผ่อนตาม กลับจุดประกายเดือดดาลอยู่ภายในลึกๆ

“ฟรังโกพยายามจะประกาศความเป็นสเปนผ่านกีฬาฟุตบอล”

ลิซ โครล์ลีย์ และวิก ดุค ระบุไว้ในหนังสือ Football, Nationality and the State

“แต่เขาพลาดถนัดเมื่อประกาศจุดยืนคนละข้างกับบาร์ซ่า โดยเฉพาะเมื่อแคว้นกาตาลันถูกสั่งห้ามไม่ให้มีพรรคการเมืองหรือรัฐบาลของตัวเอง หรือแม้กระทั่งใช้ภาษากาตาลันในทีม ชาวเมืองจึงยิ่งผลักอัตลักษณ์ตัวเองเข้าสู่สโมสรบาร์ซ่า ทั้งเสื้อทีม เพลงประจำสโมสร เพราะว่าในเวลานั้น มันเป็นแค่หนทางเดียวที่พวกเขาจะได้ประกาศความเป็นเชื้อชาติของตัวเองน่ะ”

 

ที่มาภาพ : goal.com

 

อิทธิพลของฟรังโกนั้นทรงพลังกับทั้งนักเตะและแฟนบอล ในการแข่งขันปี 1943 ระหว่างบาร์เซโลน่า กับเรอัล มาดริด – ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเสมือนทีมของชาวสเปนเลือดแท้ – ขณะที่สเปนยังอยู่ภายใต้การปกครองของฟรังโก เจ้าหน้าที่จากฝั่งทหารบุกเดี่ยวเข้ามาคุยกับเหล่านักเตะเพื่อจะย้ำเตือนว่า การที่พวกเขาชาวกาตาลันยังมาลงแข่งได้ในแผ่นดินสเปนนี้ อย่าลืมเชียวล่ะว่าเป็นเพราะความ ‘กรุณา’ ของใคร ไม่ใช่นายพลฟรังโกหรอกหรือ (อูย)

แน่นอนว่ามันไม่ใช่บทสนทนาที่มาแค่เพื่อชี้แจงถึงความใจดีของฟรังโก หากแต่เป็นคำเตือนอันมาดร้ายที่ทำให้ผู้เล่นจำยอมต้องพ่ายแก่มาดริดอย่างดราม่าสุดๆ ที่สกอร์ 11-1

ซิด โลว ผู้สื่อข่าวกีฬาชาวอังกฤษแสดงความเห็นต่อการแข่งขันนัดนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า

“ไอ้ผลการแข่ง 11–1 มันไม่ได้แค่ถูกจารึกไปในประวัติศาสตร์ของทีมบาร์เซโลน่าเท่านั้นนะ เพราะมันสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของทีมเรอัล มาดริดภายใต้การปกครองของฟรังโก และบาร์เซโลน่าคือเหยื่อ”

และอย่างที่เราเห็น ตรงกันข้ามกับบาร์เซโลน่าหรือทีมจากแคว้นบาสก์ แทบจะเรียกได้ว่าสโมสรเรอัล มาดริด คือลูกรักของฟรังโกอย่างแท้จริง ความที่มันเป็นสโมสรที่มีพื้นฐานมาจากเหล่าชาวสเปน เต็มไปด้วยแฟนบอลที่ขับร้องเพลงชาติสเปนกันเกรียวกราวเต็มสเตเดี้ยม ฟรังโกจึงมักฉวยโอกาสเวลามีการถ่ายทอดสดการแข่งขัน โดยให้จับกล้องไปยังกลุ่มคนที่แห่แหนกันมาดูกีฬา พร้อมโบกธงชาติและร้องเพลงไปตามถนนอย่างยิ่งใหญ่ ภาพที่ออกมาจึงเกรียงไกรและแสนจะประกาศความเป็นชาติสเปนแบบที่ฟรังโกต้องการ

 

นับจากนั้น ฟุตบอลสเปนก็เชื่อมโยงกับการเมืองอย่างแนบแน่นมาโดยตลอด มันขยับไปไกลมากกว่าแค่การเป็นตัวแทนของเมืองหรือแคว้นใดแคว้นหนึ่ง แต่มันได้กลายเป็นตัวแทนของความเป็นชาติและความเป็นอื่น ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเหยียบย่ำในนามของรัฐสเปนอย่างไม่เป็นธรรม พิษร้ายจากการสร้างชาตินิยมเต็มขั้นของฟรังโก ยังคงอวลอยู่ในเนื้อตัวคนดูฟุตบอล และบางทีอาจรวมไปถึงตัวนักกีฬา

ในระยะหลังสถานการณ์อาจเบาบางลงไปบ้าง จากการที่ผู้คนหายใจปลอดโปร่งมากขึ้นใต้ระบอบประชาธิปไตย หากแต่เมื่อมีประเด็นการแยกประเทศมา บรรยากาศคุกรุ่นก็พร้อมหวนกลับมาในทุกมิติของบ้านเมืองเสมอ

การกีฬาก็เช่นกัน เห็นได้อย่างชัดที่สุดเมื่อปี 2017 ที่มีการพยายามโหวตแยกแคว้นกาตาลันออกจากการปกครองของสเปน นักกีฬาชาวกาตาลันหลายคนที่ลงเล่นให้ทีมชาติสเปนอย่างปิเก้ ก็ออกมาสนับสนุนการแยกประเทศจนถูกแฟนๆ จากทีมชาติสเปนแบน หรือกวาร์ดิโอลาที่ครั้งหนึ่งยืดอกให้สัมภาษณ์อย่างภูมิใจในเลือดกาตาลันว่า เขาไม่มีปัญหาในการจะลงเล่นให้ทีมชาติสเปน แต่หากมีโอกาสและเป็นไปได้ เขาก็อยากลงเล่นให้ทีมชาติกาตาลันเช่นกัน

“กาตาลันคือประเทศของผม และผมปรารถนาอยากลงเล่นให้ทีมของประเทศตัวเองเสมอ ก็เท่านั้นแหละครับ”

เหตุที่การเมืองสเปนยังคุกรุ่นรุ่มร้อนเป็นระยะๆ นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกี่ยวเนื่องจากมิติทางสังคมอีกหลายมิติ และฟุตบอลเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่สำคัญที่สุดและปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การพยายามกีดกันความเป็นอื่นและการพยายามสร้างชาติของฟรังโก ได้สร้างบาดแผลลึกให้แก่ชาวเมืองคนอื่นๆ ที่อยู่นอกรอบสเปน และทิ้งร่องรอยไว้ยาวนาน บางทีอาจจะนานกว่าที่เขาคิดไว้เสียด้วยซ้ำไป

 

ที่มาภาพ : https://www.pri.org/stories/2017-10-20/roots-catalonia-s-differences-rest-spain

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save