fbpx
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังมีชีวิตอยู่?

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังมีชีวิตอยู่?

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ เรื่อง

 

ผู้สนใจศึกษาชีวประวัติบุคคลผู้ซึ่งสมาทานหลักการประชาธิปไตยมาเป็นโคมไฟส่องทางสังคม คงพอจะรับรู้ว่าประเทศของเราเคยมีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เรื่องนี้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้วหลายท่าน

หนึ่งในบรรดาผู้ขับเคี่ยวกับระบอบอำนาจนิยมอย่างโดดเด่นเห็นชัด โดยเฉพาะนำร่องมาก่อนเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยซ้ำ ก็คือ ‘สุภาพบุรุษ’ นาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ นั่นเอง

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2448 สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ในครอบครัวชนชั้นล่าง บิดาจากโลกนี้ไปขณะเขา 6 ขวบ ผู้เป็นแม่อาศัยรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งเสียให้เขาได้รับการศึกษา ภายหลังจบชั้นประถม 4 จากโรงเรียนวัดหัวลำโพง แล้วได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนทหารเด็กของกรมหลวงนครราชสีมาอยู่สองปี ก่อนย้ายมาเข้าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ในชั้นมัธยม 2 จนจบมัธยม 8 ในปี 2468 และเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ประจำปี 2486

กุหลาบแสดงออกถึงความสนใจ หมายจะเป็นนักเขียนนักประพันธ์ตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นมัธยม 6 หรืออายุ 17 ปี โดยเริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์ออกเผยแพร่ในห้องเรียนชื่อ ‘ศรีเทพ’ ก่อน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เทพคำรณ’ และ ‘ศรีสัตตคารม’ ในปีถัดมา แน่ละว่าในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ ย่อมมีผลงานของเขาปรากฏเป็นสำคัญภายใต้นามปากกา ‘ดาราลอย’

เมื่ออินทรีย์แก่กล้า จึงเริ่มเสนอผลงานไปเผยแพร่ยังเวทีนอกห้องเรียนอย่างหนังสือพิมพ์ ‘ภาพยนตร์สยาม’, ‘ฉันทราบหมด’ และ ‘ทสวารบรรเทิง’ ในนามปากกาต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากนามเดิม อาทิ ‘แก้วกาญจนา’, ‘ส.ป.ด. กุหลาบ’ เป็นต้น

และแล้วในปี 2466 นาม ‘ศรีบูรพา’ ก็ได้ฤกษ์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในบรรณพิภพในหน้าหนังสือพิมพ์ ‘ทสวารบรรเทิง’ ด้วยชิ้นงานที่ชื่อ ‘แถลงการณ์’

กล่าวอย่างรวบรัดก็ต้องว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มประกอบสัมมาอาชีวะทางการประพันธ์มาตั้งแต่ครั้งยังเรียนไม่จบจากเทพศิรินทร์ อย่างน้อยที่สุดใน ‘บรรทึกการแต่งหนังสือ’ ของเขาก็ระบุไว้ชัดว่าไม่เพียงเป็นนักประพันธ์ในคณะ ‘รวมการแปล’ เมื่อปี 2467 หากยังได้เขียนเรื่องอ่านเล่นให้ผู้อื่นพิมพ์จำหน่ายหลายเล่มหลายชิ้นด้วยกัน ได้แก่ ‘คุณพี่มาแล้ว’ (สองเล่มจบ), ‘จ้าวหัวใจ’ (สี่เล่มจบ) ตลอดจนแปล ‘คางคกขึ้นวอ’ (สองเล่มจบ ‘ศรีเงินยวง’ เรียบเรียง) อีกต่างหาก

หลังจากเรียนจบ กุหลาบหนุ่มในวัย 20 ปี ได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการหนังสือรายสิบวัน ‘สาส์นสหาย’ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2468 ทว่าจัดพิมพ์ออกมาได้แค่ 7 ฉบับ ก็หมดทุน กระนั้นเขาหาได้หมดไฟ หากผลิตข้อเขียนอย่างต่อเนื่องตลอดมาโดยส่งไปลงในหน้าหนังสือพิมพ์อย่าง ‘สมานไมตรี’ และ ‘ข่าวด่วน’ กระทั่งเข้าไปกินเงินเดือนประจำเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือ ‘เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์’ ของโรงเรียนนายร้อย ในปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกันเรื่อยมา ก่อนตัดสินใจลาออกในปี 2472 เนื่องจากรับไม่ได้กับท่าทีวางเขื่องของนายทหารสมัยนั้นที่มีต่อพลเรือน บวกกับอัตราเงินเดือนเต็มขั้น ขึ้นอีกไม่ได้เพราะมิได้เป็นนายทหาร

กุหลาบ สายประดิษฐ์ รวบรวมมิตรสหายก่อตั้ง ‘คณะสุภาพบุรุษ’ ขึ้นถัดจากนั้นแทบจะในทันทีทันใด ยิ่งได้รับการสนับสนุนจุนเจือจากหอม นิลรัตน์ ณ อยุธยา เจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ไทยหนุ่ม’ ในยามนั้นด้วยแล้ว ยิ่งช่วยแผ้วหนทางในการลงทุนจัดทำหนังสือรายประจำของตนไม่ติดขัดแต่อย่างใด

‘สุภาพบุรุษ’ รายปักษ์ฉบับปฐมฤกษ์ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2472 โดยมียอดพิมพ์สูงถึง 2,000 เล่ม ก่อนเพิ่มเป็น 2,300 ในฉบับที่สอง และ 2,500 ในฉบับที่สาม เรียกได้ว่าได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างอบอุ่นยิ่ง

อุดมคติหรือจิตวิญญาณของหนังสือ ‘สุภาพบุรุษ’ ได้รับการบอกกล่าวอย่างเป็นทางการจากผู้เป็นหัวเรือใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้นในข้อเขียน ‘พูดกันฉันท์เพื่อน’ ความว่า ‘ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น’ ถ้อยประกาศดังกล่าวนี้ไม่ใช่สักแต่พูดเพื่อเอาเท่ หากแต่เป็นประหนึ่งพันธสัญญาแห่งชีวิตในทางสังคมของ ‘ลูกผู้ชาย’ ชื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตราบจนชีพวายโดยแท้

ความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์จาก ‘สุภาพบุรุษ’ นี่เอง ส่งผลให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการติดต่อเชื้อเชิญให้เข้าไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘บางกอกการเมือง’ ของหลุย คีรีวัต ซึ่งจัดพิมพ์ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2466 เรื่อยมา ทว่ายามนั้นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ ไม่เป็นที่นิยมชมชอบของผู้อ่านเท่าที่ควร กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จำต้องเร่งหาทางชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่ หาไม่แล้วก็อาจต้องปิดตัวลงในที่สุด

ถึงจุดนี้ แม้รู้ทั้งรู้ว่ารายได้ของตนจะลดน้อยถอยลงกว่าครึ่งค่อน แต่ความกระหายใคร่อยากก้าวเข้าสู่อาณาจักรของหนังสือพิมพ์ข่าวอย่างเต็มตัวจริงจังก็ทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตัดสินใจย้ายไปบัญชาการยัง ‘บางกอกการเมือง’ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2473 เป็นต้นมา

นับแต่นั้น เส้นทางชีวิตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ผูกติดวนเวียนอยู่กับโลกของหนังสือพิมพ์อย่างแน่นแฟ้น แม้บางช่วงจะลดบทบาทจากการเป็นผู้นำทัพหรือบรรณาธิการโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้มิตรสหายในกลุ่มคณะสุภาพบุรุษมารับไม้แทน หากก็เป็นที่รับรู้กันว่าความคิดความอ่านอันส่งผ่านมาทางข้อเขียนของเขาซึ่งปรากฏตามหน้าหนังสือต่างๆ ยังคง ‘เสียงดัง’ อยู่เสมอ โดยเฉพาะปลายปี 2474 เมื่อนำเสนอบทความขนาดยาวที่มีชื่อว่า ‘มนุษยภาพ’ ลงเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ‘ไทยใหม่’ ประจำวันที่ 8 และ 11 ธันวาคม ได้แค่สองตอน ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าถึงกับดิ้นพล่าน หาทางตัดลมเพื่อไม่ให้มันส่งเสียงสื่อสารกับสังคมอีกต่อไป

พูดอีกแบบก็คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูก ‘จับตา-กาหัว’ เพราะไม่เพียงบังอาจชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนข้อด้อยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากยังเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ในระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะประเทศไปพร้อมกันด้วยบทความชิ้นดังกล่าว และกลายเป็นข่าวเกรียวกราวยิ่งขึ้นในต้นปีถัดมา เมื่อบทความชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ซ้ำและเขียนต่ออีกตอนในหน้าหนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ฉบับวันที่ 10, 16 และ 21 มกราคม ส่งผลให้หนังสือพิมพ์ถูกปิดเป็นเวลา 9 วัน และเปลี่ยนตัวบรรณาธิการ

ทัศนะทางสังคมที่ยึดโยงอยู่กับหลักประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่นมั่นคง ปรากฏเป็นข้อเขียนนับชิ้นไม่ถ้วนในเวลาต่อมา แม้จะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กระนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผู้กุมอำนาจรัฐแสดงออกถึงการไม่เคารพความเสมอภาคเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือหันเหออกไปจากแนวทางประชาธิปไตย กุหลาบไม่เพียงทำหน้าที่เตือนสติสังคมอยู่เสมอ หากยังต่อต้านแนวคิดอำนาจนิยมอย่างไม่ไว้หน้า ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐหงุดหงิดรำคาญจ้องเล่นงานเขาตลอดมา กระทั่งในปี 2485 จึงฉวยโอกาสจับกุมคุมขังเขาอยู่สามเดือนด้วยข้อหากบฏในราชอาณาจักร โดยอ้างเหตุจากข้อเขียนคัดค้านรัฐบาลในการเป็นพันธมิตรร่วมมือกับญี่ปุ่นทำสงคราม

กุหลาบถูกจับอีกหนในอีกทศวรรษถัดมาด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่ติดจริงอยู่เกือบ 5 ปี ก่อนได้รับนิรโทษกรรมในวาระครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ

ในเดือนสิงหาคม 2501 กุหลาบเป็นหัวหน้าคณะรับเชิญไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทว่ายังไม่ทันถึงกำหนดกลับ ก็ได้ข่าวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม และกวาดจับบรรดาผู้รักชาติรักประชาธิปไตยนับไม่ถ้วน แน่ละว่าถ้ากุหลาบกลับมาเหยียบแผ่นดินแม่เมื่อไร ก็ไม่แคล้วเข้าตะรางอีกหน ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจขอลี้ภัยอยู่ในที่นั่นเรื่อยมา กระทั่งสิ้นลมจากโลกนี้ไปด้วยโรคปอดบวมและเส้นเลือดหัวใจตีบที่โรงพยาบาลเซียะเหอ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517

 

ท่านผู้อ่านคงจับทางได้แล้วว่า ทำไมผมจึงบรรยายฉายภาพเส้นทางชีวิตอย่างย่นย่อของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่น่าเคารพยกย่องที่สุดคนหนึ่งของบ้านเราขึ้นมาในเวลานี้

ไม่เพียงเพราะอยากเชิญชวนให้ผู้นิยมแนวทางประชาธิปไตยได้ร่วมรำลึกนึกถึงสุภาพบุรุษสามัญชนท่านนี้ในห้วงยามแห่งการจากไปครบรอบ 43 ปีเท่านั้น หากในภาวะที่เรายังมองไม่เห็นแสงแห่งความหวังว่าบ้านเมืองจะดีขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อถูกฝ่ายอำนาจนิยมปล้นความเสมอภาคเป็นธรรมไปแล้วอย่างสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ยังออกแบบกลไกในนามกฎหมายเพื่อใช้ครองอำนาจสืบต่ออีกไม่ต่ำกว่าสิบปี  อย่างน้อยที่สุด คนรุ่นพ่อของเราท่านหนึ่งก็ได้สาธิตให้ประจักษ์มาแล้วชั่วชีวิต!

สมัยยังอยู่ในคุกบางขวาง กุหลาบ สายประดิษฐ์ได้เขียนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2498 ว่า ‘ไม่ว่าอยู่ที่ไหนและในฐานะอย่างไร จงตรองหา ว่าจะมีทางใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ในทางใดบ้าง’

กล่าวสำหรับผู้ที่เคยแห่แหนยกย่องกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ‘ศรีบูรพา’ มาแล้วนักต่อนัก ทว่าวันเลวคืนร้ายกลับกลายเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร้ยางอาย และยังไม่มีทีท่าจะกลับลำแต่อย่างใดนั้น ก็อาจจะต้องเรียนว่า พวกเขาถูกผีห่าซาตานเข้าสิงไปแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save