fbpx

ย้อนอ่าน คน Krung Thep Maha Nakhon เลือกผู้ว่าฯ กันอย่างไร?

บทความตอนนี้ออกจะไม่ไปด้วยกันกับชื่อคอลัมน์ ‘ไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’ เท่าไรนัก เพราะเจาะจงพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ ซึ่งกลายเป็นประเด็นการเมืองท้องถิ่นที่มีพื้นที่ในสื่อหลักมาตลอดนับแต่ผ่านพ้นการเลือกตั้ง อบต. ไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้จนถึงขณะนี้ ในบรรดา อปท. ทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง เหลือเพียงกรุงเทพมหานครกับเมืองพัทยา 2 แห่งนี้เท่านั้น ที่ยังไร้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่

กระแสนี้เริ่มมาตั้งแต่มีข่าวว่าท่านผู้ว่าฯ หมูป่า (ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) ถูกทาบทามให้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ และเห็นชัดยิ่งขึ้นเมื่อ ดร.เอ้ (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์)ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และประกาศลงรับสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เป็นต้นมา

ผมอยากพาผู้อ่านย้อนสำรวจตรวจตรางานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสารบบฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทยดูว่ามีกี่มากน้อย ข้อค้นพบที่ได้น่าสนใจประการใด เจาะจงดูงานที่ให้คำอธิบายในสองแง่มุมหลักคือ พฤติกรรมในการตัดสินใจเลือกของประชาชนกับกลยุทธ์การหาเสียงของผู้สมัคร งานบางชิ้นแม้ศึกษาเชิงพฤติกรรมการเลือกตั้งก็จริง แต่พิจารณาเพียงการ ‘ไป’ หรือ ‘ไม่ไป’ ใช้สิทธิเท่านั้น หรือมุ่งดูการเปิดรับสื่อ แต่ไม่ชี้ชัดลงไปถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือก งานเหล่านี้ไม่อยู่ในข่ายที่ผมจะนำมาพิจารณา

ก่อนอื่นคงต้องประมวลผลการเลือกตั้งตลอด 10 ครั้งที่ผ่านมาให้พอเห็นข้อสังเกตสำคัญๆ กันเสียก่อน

หนึ่ง ผู้ว่าฯ ที่ชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่มักเป็นผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ยกเว้นเพียงบางช่วง เช่นระหว่างปี 2551-2554 ที่อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ และอภิรักษ์-สุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าฯ

สอง พรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเลือกตั้ง 4 หนหลัง (2547, 2551, 2552, 2556) ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เอาชนะมาได้ตลอด แม้มีคู่แข่งสำคัญในปีกของพรรคไทยรักไทยเดิม ยังไม่พูดถึงผู้สมัครอิสระที่มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ก็ชนะการเลือกตั้งได้ในบางสมัย

สาม สถิติการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งก็ค่อนข้างสูง เช่นหนล่าสุดเมื่อปี 2556 บางครั้งก็ต่ำจนน่าตกใจ เช่นในปี 2518 กับ 2535 ซึ่งอาจมีส่วนสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองภาพใหญ่ในขณะนั้นด้วย

 ข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นับแต่ปี พ.ศ. 2518-2556[1]

จากการสำรวจพบงานศึกษาตรงตามที่ต้องการ 25 เรื่อง[3] ต้องถือว่ามีปริมาณค่อนข้างเยอะ (เมื่อเทียบกับการศึกษาในองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่น ทั้งที่มีเพียงแห่งเดียว) แยกเป็นพวกเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือก 14 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์สายรัฐศาสตร์ กับอีก 11 เรื่องว่าด้วยกลยุทธ์การหาเสียงที่ใช้อย่างได้ผล ซึ่งก็พบทั้งทางรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์

งานในกลุ่มหลังแทบไม่พบว่าเคยมีการศึกษามาก่อนช่วงระหว่างปี 2518-2535 ต้องจนรอถึงการเลือกตั้งในปี 2539 จึงเริ่มมีผู้สนใจประเด็นนี้ ครั้งที่มีคนสนใจศึกษาเยอะคือปี 2543 และ 2556 ผิดกับงานกลุ่มแรกที่นิยมทำการศึกษากันเกือบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเลยก็ว่าได้ ยกเว้นเพียงบางปี ได้แก่ปี 2518 และ 2535 น่าจะสอดคล้องกับสถิติของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ก็มีจำนวนน้อยมาก และคราวที่มีการตื่นตัวมากที่สุดคือปี 2547 ช่วงเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว

มองในแง่ขอบเขต พบทั้งที่ศึกษาในภาพรวม เจาะจงบางเขต เปรียบเทียบผู้สมัครหลายคน และเลือกเอาผู้สมัครบางคนมาใช้เป็นกรณีศึกษา

ข้อค้นพบเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งที่อาจเรียกว่าเป็นจุดร่วมก็คือ

หนึ่ง การเลือกตั้งก่อนหน้าปี 2543 หรือก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้ปัจจัยส่วนบุคคลในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครมากที่สุด คุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งคือความซื่อสัตย์สุจริต เช่นที่เคยมีกระแส ‘จำลองฟีเวอร์’ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถึง 2 ครั้งติด (ปี 2528, 2533) ต่อมาจึงเปลี่ยนไปให้น้ำหนักเรื่องการศึกษา (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, ดร.พิจิตต รัตตกุล) ประสบการณ์บริหาร (อภิรักษ์ โกษะโยธิน) รวมไปถึงนโยบายของผู้สมัคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล, สมัคร สุนทรเวช)

คนในยุคนั้นให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง ไม่ว่าจะศึกษาคนกรุงเทพฯ โดยทั่วไปหรือเจาะจงรายเขต เช่น พญาไท ทุ่งครุ ห้วยขวาง ดินแดง ก็ล้วนแล้วแต่พิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้สมัครมากที่สุด

ปรากฏการณ์ที่มีคนสนใจมากหน่อยคือ กรณีของนายชูวิทย์ที่สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากบุคลิกกล้าได้กล้าเสีย กล้าชน และพูดจาดุดัน ตรงไปตรงมา ทั้งที่ไม่ได้ลงสังกัดพรรคใหญ่ แต่ได้รับคะแนนเสียงสูงมาก[4]

สอง ในระยะหลัง ปัจจัยเรื่องพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดอยู่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้น ในฐานะปัจจัยร่วม ยังมิใช่ปัจจัยหลักแต่เพียงปัจจัยเดียว

ดูได้จากชัยชนะของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คนในการเลือกตั้ง 4 หนหลัง ขณะที่คู่แข่งสำคัญแทบทุกครั้งไม่พ้นผู้สมัครในฟากพรรคเพื่อไทย ซึ่งในอดีตผู้ว่าฯ ที่มาจากพรรคการเมืองนั้นสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีความสม่ำเสมอในการเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเวลานาน บางครั้งก็เป็นผู้สมัครอิสระที่สอดแทรกเข้ามาได้ เช่น พลตรีจำลองกับ ดร.พิจิตตในสมัยแรกของทั้งคู่

การที่ผู้ใช้สิทธิมีแนวโน้มจะเลือกโดยพิจารณาที่ตัวพรรคนับเป็นพัฒนาการทางการเมืองอีกขั้นหนึ่งของการเมืองท้องถิ่นใน กทม. ซึ่งต้องยอมรับว่าเพิ่งเกิดชัดเจนในยุคที่สังคมมีการแบ่งข้าง (สงครามสีเสื้อ) ทำให้ประชาชนเอาตัวเองเข้าผูกพันกับพรรคการเมืองยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครอิสระเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างของผู้สมัครอิสระท่านหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจคือ นายวรัญชัย โชคชนะ ซึ่งไม่มีใครลงผู้ว่าฯ กทม. มากเท่าเขาคนนี้อีกแล้ว ลงสมัครมาตั้งแต่ปี 2533 รวม 6 ครั้ง

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2533 – ลำดับที่ 5 ได้ 13,143 คะแนน

ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2535 – ลำดับที่ 10 ได้ 734 คะแนน

ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2539 – ลำดับที่ 5 ได้ 1,011 คะแนน

ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2543 – ลำดับที่ 19 ได้ 383 คะแนน

ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2547 – ลำดับที่ 14 ได้ 1,087 คะแนน

ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 – ลำดับที่ 19 ได้ 638 คะแนน

สาม งานบางชิ้นถึงกับยกย่องวิธีคิดในการตัดสินใจของชาวกรุงเทพฯ ว่าเป็นพฤติกรรมการเลือกตั้งที่ ‘ฉลาด’ ด้วยเหตุผลคือ ไม่ขึ้นกับผลสำรวจโพล ไม่ขึ้นกับผู้มีอำนาจในสังคม คำนึงถึงปัญหาและความต้องการของ กทม. พิจารณาโดยถ้วนถี่ ทั้งจากผลงาน คุณสมบัติ และทีมงานของผู้สมัคร[5]

บางชิ้นพยายามสร้างคำอธิบายว่านี่คือ พฤติกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบ ‘ถ่วงดุลการเมืองระดับชาติ’ โดยมีปัจจัยประการสำคัญคือ สถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติในแต่ละช่วงเวลาสัมพันธ์กับการแสดงออกทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ “เช่นในปี 2547 ที่รัฐบาลมีลักษณะเป็นเผด็จการทางรัฐสภาจนกระทั่งเสียงของฝ่ายค้านในรัฐสภาไม่สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีลักษณะเป็นปัจเจกชน มีอิสระในการตัดสินใจ มองไปที่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นในการผูกขาดอำนาจของรัฐบาล จึงตัดสินใจเลือกบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายรัฐบาล อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการยับยั้งอำนาจของฝ่ายรัฐบาลไม่ให้มีการสานสัมพันธ์เข้ามาในการเมืองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร”[6] พูดตรงๆ ก็คือ เลือกประชาธิปัตย์เพื่อต้องการที่จะคานอำนาจรัฐบาลทักษิณนั่นเอง

นัยของคำอธิบายข้างต้น เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกโดยมองผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าความสัมพันธ์ในเชิงส่วนตัว (เพื่อตอกย้ำว่าคนกรุงเทพฯ คิดต่างไปจากคนต่างจังหวัดจนทำให้ดูเหนือกว่า)

ในทางกลับกัน บางห้วงเวลา สถานการณ์การเมืองก็กลับส่งผลตรงตรงกันข้ามคือ ทำให้คนเกิดความเบื่อหน่ายต่อพรรคการเมืองในระดับชาติ และหันมาให้ความนิยมต่อผู้สมัครอิสระแทน[7]

สี่ พบอยู่บ้างที่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในบางเรื่องแตกต่างกันส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง เป็นต้นว่าผู้ที่มีการศึกษาสูง ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดี และมีอายุอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวตอนปลาย (26-30 ปี) เลือกโดยคำนึงถึงพรรคมากกว่าผู้สมัคร[8] ปัจจัยทางด้านชนชั้นที่สัมพันธ์กับพรรคที่เลือก ซึ่งส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ ระดับการศึกษา นอกนั้นไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งอาชีพและรายได้[9]

ห้า ผลการหยั่งเสียงประชามติหรือโพลไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ สรุปคือโพลไม่มีผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับกลยุทธ์การหาเสียงที่ใช้อย่างได้ผลพบดังนี้

หนึ่ง ในอดีตนิยมใช้วิธีการหาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน และการตั้งปราศรัยบนเวที ต่อมาจึงเป็นยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ และเปลี่ยนมาใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยม โดยผู้สมัครตัวเก็งได้มีการนำเอากลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ พยายามขับเน้นภาพลักษณ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้เลือก อย่างนายอภิรักษ์ก็ผันตัวเองมาจากนักบริหารมืออาชีพ นายชูวิทย์พยายามวางบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบ

สอง ช่วงแรกๆ ความนิยมในวิธีการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ใช้วิธีสาดโคลนหรือปากกล้ามีน้อยมาก เช่นนายสมัครเมื่อคราวที่สามารถชนะเลือกตั้งได้ ก็วางตำแหน่งของตนเองในการหาเสียงไว้ชัดเจนว่าจะไม่ใช้วิธีการแบบเก่าคือ เลี่ยงการโจมตีคู่แข่ง ทว่าระยะหลังกลับกลายเป็นวิธีการที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งเป็นอันมาก

การเลือกตั้งหนหลังสุดเมื่อปี 2556 ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูง เปรียบได้กับสงครามตัวแทนระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะนำสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นผลกระทบเชิงลบมาเป็นกลยุทธ์การหาเสียง (negative campaign) ใช้วาทกรรมโจมตีพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง เป็นต้นว่าไม่อยากให้เพื่อไทยกินรวบประเทศต้องเลือกประชาธิปัตย์ เลือกสุขุมพันธ์เพื่อเอาชนะทักษิณ อย่าเลือกพวกเผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง โดยมุ่งส่งสารตรงถึงผู้ที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกับพรรค[10] ทว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญยังไม่มีศักยภาพในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผลจึงต้องประสบความพ่ายแพ้[11] แนวทางหาเสียงที่ย้ำว่า กทม. จะสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร้รอยต่อยังคงทำงานได้ไม่มากพอ

สาม ฐานคะแนนเสียงเดิมของพรรคก็นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก พรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. กับสมาชิกสภาเขต หรือ ส.ข. (ตามกฎหมายปัจจุบันไม่มีแล้ว) อยู่ในมือ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีความได้เปรียบ เพราะคนเหล่านี้คือกำลังหลักที่จะเข้ามาช่วยในการหาเสียง

พูดตามจริง คำถามที่น่าถามแทนยิ่งกว่า ณ ตอนนี้คือ คน Krung Thep Maha Nakhon จะได้เลือกผู้ว่าฯ กันเมื่อไหร่? ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน


[1] ข้อมูลการเลือกตั้งโดยรวม ดู พินสุดา วงศ์อนันต์, “พรรคการเมืองกับการเมืองท้องถิ่น: ข้อค้นพบเบื้องต้นเฉพาะกรณีกรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับเพิ่มเติม (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563), 129-130, จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polscicmujournal/article/download/245928/168308/; ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งหลังสุด ดู “สาระ+ภาพ: ใครเพิ่มใครลด? เทียบคะแนน กทม. ‘ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย’ รอบ 5 ปี”, ประชาไท (5 มีนาคม 2556), จาก http://prachatai.com/journal/2013/03/45611; ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งระหว่างปี 2518-2552 ดู “สถิติการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร”, สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร (ม.ป.ป.), จาก http://office.bangkok.go.th/ard/stat_elect.html

[2] อรทัย ก๊กผล, กรุงเทพมหานคร, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), 15.

[3] อาศัยฐาน TDC-ThaiLIS เป็นหลัก ใช้คำค้น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เจองานที่มีคำนี้อยู่ในชื่อมากถึง 66 เรื่อง ร่วมกับแหล่งข้อมูลอื่นอีกบางส่วน อาทิ ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital วช., หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[4] เบญจนุช เกิดมณี, (2547), การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 ที่ลงคะแนนเสียงให้กับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; พิศุทธิ์ จำเริญรวย, (2553), ยุทธศาสตร์การสื่อสารทางการเมืองของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์: ศึกษากรณีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551, มหาวิทยาลัยเกริก.

[5] ชินวัตร ยะทะนนท์, (2548), ปัจจัยทางจิตและสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกตั้งที่ฉลาดของชาว กทม.เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

[6] วรินทร์ทร ปณิธานธรรม, (2551), การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบถ่วงดุลการเมืองระดับชาติ: ศึกษากรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บทคัดย่อ.

[7] รวงทอง พฤกษะวัน, (2539), ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[8] จุฑาทิพย์ สุขรังสรรค์, (2529), พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[9] สุรัตน์ ยุทธนาวนิชย์, (2547), ชนชั้นกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547, มหาวิทยาลัยบูรพา.

[10] ดู ลลิตพรรณ นุกูลวัฒนวิชัย, (2559), การตลาดทางการเมือง: ศึกษาเปรียบเทียบกลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[11] มณฑาทิพย์ ชินวัตร, (2557), การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครวันที่ 3 มีนาคม 2556: ศึกษากรณี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, มหาวิทยาลัยเกริก.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save