fbpx

กฤษฎางค์ นุตจรัส : จาก ‘6 ตุลา’ ถึง ‘112’ บาดแผลและความอยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการสะสาง

46 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยค่อยๆ เรียนรู้จากกรณีสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 จนคนรุ่นใหม่ค่อยๆ ทำความรู้จักเหตุการณ์นี้ แม้ไม่มีการให้ข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอจากระบบการศึกษา

ความตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในสังคม ผลิตคำถามมากมายต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ควบคู่ไปกับคำถามอันแหลมคมต่อการเมืองร่วมสมัย

101 ชวน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองความทรงจำ 6 ตุลาที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุค การให้ความหมายต่อเหตุการณ์นี้ของคนในปัจจุบัน และจุดร่วมคำถามแห่งยุคสมัยในวันที่มาตรา 112 ถูกหยิบมาปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวาง ในรายการ 101 One-on-One Ep.277: จาก ‘6 ตุลา’ ถึง ‘112’ บาดแผลร่วมสมัยของสังคมไทย กับ กฤษฎางค์ นุตจรัส


YouTube video


46 ปีแห่งหยดเลือด คราบน้ำตา และอุดมการณ์ประชาธิปไตย


ย้อนกลับไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว กฤษฎางค์เริ่มต้นเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่นักศึกษาจากหลายสถาบัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รามคำแหง ฯลฯ เดินทางมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมและปราศรัยยื่นข้อเรียกร้อง 2 ประการต่อรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 

ข้อเรียกร้องประการแรก คือขอให้นำตัวจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งในขณะนั้นเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในฐานะสามเณร และได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร มาลงโทษในฐานใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมจนถึงแก่ชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ข้อเรียกร้องประการที่ 2 เนื่องจากก่อนหน้าวันที่ 6 ตุลาคม มีเหตุการณ์ฆาตกรรมช่างไฟฟ้า 2 คนด้วยการจับแขวนคอที่ประตูรั้วบานใหญ่หรือ ‘ประตูแดง’ ที่จังหวัดนครปฐม ช่างไฟฟ้า 2 คนนั้นเป็นประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านการกลับเข้ามาในประเทศไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งหาตัวฆาตกรมาดำเนินการลงโทษ

กฤษฎางค์ระบุว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยติดกับท้องสนามหลวงมีกลุ่มประชาชน ได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และกลุ่มค้างคาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังฝ่ายขวาเดินขบวนจากพระบรมรูปทรงม้ามาที่รั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่านักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยกระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สืบเนื่องจากการแสดงละครของกลุ่มนักศึกษาจำลองการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกฆาตกรรม ทว่านักแสดงที่เล่นเป็นพนักงานการไฟฟ้า ถูกมองว่ามีหน้าตาละม้ายคล้ายพระบรมโอรสาธิราช จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย

ความตึงเครียดระหว่างนักศึกษาและประชาชนฝ่ายขวายิ่งทวีความรุนแรงเมื่อสื่อจากฝ่ายขวา ได้แก่ สถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม บิดเบือนความจริงว่านักศึกษามีเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์และสร้างความเกลียดชังโดยอ้างว่านักศึกษาที่ชุมนุมกันภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพวกฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์

“สถานการณ์วันนั้นค่อนข้างตึงเครียด ทางฝั่งนักศึกษาเราก็ชุมนุมกันอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ว่าตรงสนามหลวงเริ่มมีการนำกองกำลังมาปิดล้อมแล้ว และมีการประโคมข่าวจากสถานีวิทยุยานเกราะซึ่งเป็นสถานีวิทยุของทหาร เขากล่าวโจมตีนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นญวน และมีหนังสือพิมพ์ดาวสยามเอารูปที่นักศึกษาเล่นละคร ซึ่งภายหลังทราบว่ารูปนั้นมีการแต่งฟิล์ม กล่าวหาว่านักศึกษาจะล้มล้างเจ้า มีความผิดตามมาตรา 112 ฐานอาฆาตมาดร้ายต่อมกุฎราชกุมาร”

“คืนวันที่ 5 ตุลา ผมก็อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเป็นสมาชิกสภานักศึกษาชั้นปีที่ 2 ตอนนั้นผมก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ เพราะผมก็ไม่คิดว่าคนไทยจะทำกันได้แบบนี้” กฤษฎางค์กล่าว

กฤษฎางค์ยังให้ข้อมูลว่าในปี 2520 นักศึกษาที่รอดชีวิตและไม่ได้เดินทางเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่างกลับมารวมตัวกันจัดงานรำลึก เพื่อต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เสียชีวิตไป

มากไปกว่านั้น บรรยากาศของธรรมศาสตร์ปราศจากกิจกรรมของนักศึกษาอย่างสิ้นเชิงหลังเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาล เพราะถูกสั่งยกเลิกทุกกิจกรรม อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็ถูกสั่งปิด ก่อนกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติอีกครั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2519 เนื่องจากรัฐบาลทนรับความกดดันจากภาคประชาชนและประชาคมโลกไม่ไหว

“ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ภาพที่ออกไปที่มีการฆ่าฟันกัน มีการตอกอก เอาคนไปเผาทั้งเป็น เอาคนไปแขวนคอ จับผู้หญิงถอดเสื้อให้เหลือแต่ยกทรง มีศพเต็มไปหมดทั่วทั้งสนามหลวง ทำให้ประเทศไทยอยู่ในโลกนี้ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ เผด็จการโหดร้ายและหน้าด้านก็จริง แต่เนื่องจากยังคงต้องติดต่อกับคนอื่นในโลก เขาก็เลยต้องยอมให้เปิดมหาวิทยาลัย

“ในวันแรกที่เปิดมหาวิทยาลัย ตอนกลางวันมีคนโปรยใบปลิวด่ารัฐบาลและคณะปฏิรูปที่ฆ่านักศึกษาลงมาจากคณะศิลปศาสตร์ โปรยลงมาเต็มลานโพธิ์ไปหมดเลย คือการต่อสู้มันเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 ตุลามาจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครยอมใคร”


‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’
ความหวังในการเรียกคืนความยุติธรรมให้คนเดือนตุลา


การพยายามชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษยังคงดำเนินมากว่า 46 ปี ทว่าการดำเนินคดีดังกล่าวในประเทศไทยมีข้อจำกัดอันใหญ่หลวง เนื่องจากในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2521 หรือ 2 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับทั้งฝ่ายคนฆ่าและคนถูกฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พอมีการนิรโทษกรรมจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับคนที่มีส่วนในการล้อมปราบปรามนักศึกษา

“ตอนที่คุณเกรียงศักดิ์ถูกกดดันให้นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา ในสภาก็มีคนแย้งขึ้นมาว่านิรโทษกรรมให้แค่นักศึกษาไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคนฆ่าหรือคนที่มีส่วนปกป้องประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมีความผิด สุดท้ายจึงต้องใช้วิธีการนิรโทษกรรมให้ทั้งสองฝ่ายหรือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เท่ากับว่าตอนนี้กฎหมายไทยจัดการอะไรไม่ได้ และปัจจุบันคดีก็ขาดอายุความแล้ว” กฤษฎางค์อธิบาย

เกือบ 50 ปีที่ผู้เข่นฆ่าประชาชนยังคงลอยนวลพ้นผิด กฤษฎางค์ระบุว่าปัจจุบันยังคงมีความพยายามอย่างมากที่จะนำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อทำการสอบสวนและชำระคดีให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งนับเป็นหนทางแห่งความหวังในการนำตัวคนกระทำความผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลามาพิจารณาลงโทษเท่าที่จะลงโทษได้ ทว่าปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้การยื่นคดีสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศยังไม่อาจทำได้ โดยเงื่อนไขสำคัญคือ ICC ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 ซึ่งก่อตั้งภายหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยหลักแล้ว ICC จะสามารถรับพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการก่อตั้ง ICC

อย่างไรก็ตาม กฤษฎางค์ยืนยันว่าตนเองและทีมงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงยืนหยัดหาหนทางอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้ผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลาได้รับความเป็นธรรม และเชื่อมั่นว่าถึงอย่างไรก็ย่อมมีหนทางที่จะนำคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มเขมรแดงในกัมพูชา ซึ่งท้ายที่สุดมีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดี

นอกจากนี้ กฤษฎางค์กล่าวว่าหากมีประเทศที่ 3 ที่ไม่เกี่ยวพันกับประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยความผิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นความผิดสากล ประเทศนั้นก็สามารถมีส่วนในการนำคดี 6 ตุลาขึ้นสู่ศาลของประเทศได้ หรืออีกหนึ่งหนทางคือการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทำการไต่สวนและใช้วิธีการทางกฎหมายในการชดเชยให้ผู้เสียหายและลงโทษผู้กระทำความผิดต่อไป แต่ถึงอย่างไร การตั้งคณะกรรมอิสระนั้นต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยด้วย

“จากการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลามาตลอด เราได้ข้อมูลพอสมควรเกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามนักศึกษา ทั้งการตอกอก เอาเก้าอี้ฟาด แขวนคอ เรากำลังดูว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง ใครที่มีหน้าที่สั่งการ พอจะโยงใยได้ในระดับหนึ่งในการจะนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาล

“บางคนที่มีส่วนในการฆาตกรรม 6 ตุลายังมีชีวิตอยู่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิด ชื่อเสียงเกียรติยศที่เขาได้รับต้องถูกถอดถอน ทรัพย์สินที่มีต้องถูกนำมาใช้หนี้ให้คนตาย และต้องมอบเกียรติคุณให้กับวีรชน 6 ตุลา นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้อง เราไม่ได้มีความคิดที่จะแก้แค้น” กฤษฎางค์เสริม


6 ตุลา กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่


กฤษฎางค์มองว่าปัจจุบันนี้บริบททางการเมืองการปกครองของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก สืบเนื่องจากนักศึกษาจำนวนมากที่รอดชีวิตจากการล้อมปราบพากันเข้าป่า ร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้อิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์แผ่ขยายอิทธิพลเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการไม่คาดคิด ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในขณะนั้นจึงพยายามยุติความขัดแย้งของเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย 2 วิธีการ คือ ‘การลืม’ ห้ามไม่ให้คนพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา และอีกหนึ่งวิธีคือ ‘การประนีประนอม’ ด้วยการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมให้นักศึกษาที่ร่วมชุมนุมทุกคน และยินดีให้นักศึกษาที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยออกมาจากป่าเพื่อกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง

“ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 จนถึงวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ และก็ไม่เป็นไปอย่างที่เผด็จการคิด คือเผด็จการคิดว่าการที่ปราบนักศึกษาที่ชุมนุมกันที่ธรรมศาสตร์แล้วเขาจะชนะ ปรากฏว่าประชาชนกว่าหมื่นคนเข้าป่าไปหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจนเติบโตเกือบจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นสังคมนิยมไปเลย”

ทั้งนี้ กฤษฎางค์ให้ความเห็นว่าพัฒนาการที่เปลี่ยนไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของเผด็จการไทยคือ ‘วิธีการ’ กล่าวคือ รัฐบาลไม่สามารถนำวิธีการล้อมปราบแบบที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลามาใช้กับการสลายการชุมชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อีกต่อไป เนื่องจากประเทศไทยต้องมีปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติและประชาคมโลก และแน่นอนว่าการล้อมปราบด้วยความรุนแรงอาจทำให้ประเทศไทยถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติได้ ดังนั้นปัจจุบันเราจึงเห็นเผด็จการใช้วิธี ‘ตบหัวแล้วลูบหลัง’ และใช้วิธีการทางกฎหมายมาจัดการกับประชาชน เช่น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

กฤษฎางค์กล่าวว่าสิ่งที่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา คือการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าประชาชนที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม 2553 การเอาตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปฆ่าทิ้งลงแม่น้ำโขง หรือการอุ้มหายนักโทษทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อเตือนใจให้ประชาชนรู้ว่าเผด็จการโหดร้ายทารุณเพียงใด แต่ในขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนก็เติบใหญ่ไม่แพ้กัน

“ในความเห็นของผม เยาวชนคนรุ่นนี้ไปไกลกว่ารุ่นผม และไปไกลเกินกว่าที่พวกเผด็จการจะคิดว่าเขากล้าทำ ดูตัวอย่างได้จากการรัฐประการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคนต่อต้านทุกวันมาจนถึงตอนนี้ คุณจับเขาไป คนใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา และผลพลอยได้ของการที่สังคมก้าวหน้ามากขึ้นคือทำให้เรามีเยาวชนรุ่นใหม่ที่มาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่อย่างเพนกวินหรือโรม คนเหล่านี้ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่เขาเป็นตัวแทนของคนแต่ละรุ่นที่ขึ้นมาต่อสู้ เรามีตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีทางกลับมาได้อีกแล้ว และผมก็เชื่อว่าเผด็จการจะอยู่ได้อีกไม่นาน”


จาก ‘6 ตุลา’ ถึง ‘112’


คดีการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่ช่วงปี 2563 มาจนถึงปัจจุบันกว่า 3,000 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปแล้ว 200 กว่าคดีและมีหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เช่น การเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การทำโพล หรือเกิดจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง รวมไปถึงกระบวนการในระบบกฎหมายที่ไม่เที่ยงธรรม ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลทำให้ประชาชนจำนวนมากตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทย และต้องการให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

“มาตรา 112 ควรจะยกเลิกสถานเดียว เพราะมันพิสูจน์ได้แล้วว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้เป็นกฎหมายปกป้องพระมหากษัตริย์ แต่เป็นกฎหมายที่ทำร้ายสถาบันฯ ด้วยซ้ำ” กฤษฎางค์ให้ความเห็น

เขามองว่าคดีที่นำกฎหมายมาตรา 112 มากลั่นแกล้งประชาชนอย่างไม่สมเหตุสมผลที่สุดคดีหนึ่ง คือคดีแต่งชุดไทยของนิว-จตุพร แซ่อึง รวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ถูกนำมาตรา 112 มาเอาผิดด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก

“คดีของนิว จตุพร ศาลท่านเขียนว่าการแต่งชุดไทยแล้วมีคนมาชมว่า พระราชินีสวยจริงๆ ถือเป็นการล้อเลียนสถาบันฯ ซึ่งผมก็ยอมรับว่าเป็นการล้อเลียน แต่การล้อเลียนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ดี จะมองว่าเป็นการอาฆาตมาดร้ายจนลงโทษด้วยมาตรา 112 ได้อย่างไร และการล้อเลียนกับหมิ่นประมาทก็เป็นคนละเรื่อง”

กฤษฎางค์เสนอว่าเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบยุติธรรมไทย โดยต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในทุกองคาพยพ ให้สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมแก่ประชาชน รวมไปถึงปลูกฝังความกล้าหาญแก่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้ต้องต่อสู้ในคดีทางการเมือง

“ผู้ปกครองในประเทศปกครองแบบไม่เป็นธรรม ไม่ให้เสรีภาพ เมื่อมาเจอกับระบบที่อ่อนแอเพราะบุคลากรขาดความกล้าหาญในการตัดสินใจเพื่อประชาชน ทางออกคือต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะตราบใดที่คนยังยากจนและไม่ให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองประเทศ ไม่มีทางที่จะเกิดระบบยุติธรรมที่เป็นธรรมได้ คือต้องมีการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย” กฤษฎางค์ระบุ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อชวนมองอนาคตของการเมืองการปกครองไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า กฤษฎางค์กล่าวว่าความปรารถนาของเขาคือต้องการให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และปรับกฎหมายให้เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท มิใช่การนำมาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งประชาชน ทั้งยังอยากให้คนในสังคมเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ใน 2 มิติ

มิติแรก เข้าใจว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นความโหดร้ายทารุณที่เผด็จการปราบปรามประชาชน

มิติที่ 2 เข้าใจและให้ความสำคัญว่าสังคมเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก และเพื่อไม่ให้มีลูกหลานของใครต้องมาบาดเจ็บล้มตายเช่นนี้อีกต่อไป

“ผมไม่มีเรื่องของการแก้แค้น เป็นแค่เรื่องของการอยากให้คนมองเห็นใน 2 มุมนี้ว่ามันโหดร้าย และป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ต่อให้จะมีคนอยากทำเราก็ต้องช่วยกันต่อต้าน” กฤษฎางค์กล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save