fbpx

‘สิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน’: เมื่อรัฐและทุนเติบโตถึงจุดที่โลกไม่สามารถย้อนกลับไปได้ กับ กฤษฎา บุญชัย

กฤษฎา บุญชัย

นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมต่างออกมาเตือนว่า หากยังไม่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จนอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น สภาพภูมิอากาศจะอยู่ใน ‘จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ (a point of no return)’

ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ทุนใหญ่และเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิดการแปรทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบตอบสนองอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมโลก

ท่ามกลางวิถีดังกล่าว คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2544 – 2563 อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จนเกิดการตั้งเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (paris agreement) ว่าไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2643

“สำหรับผมนั้นชีวิตแต่ละชีวิต ธรรมชาติแต่ละแห่ง ทุกสิ่งย่อมมีคุณค่าและสิทธิของมัน” นี่คือเสียงสะท้อนจาก กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลานานต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและภาวะโลกรวนในปัจจุบัน หลายคนอาจจะมองว่าประเด็นอย่างสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นประเด็นที่ตั้งอยู่อย่างเอกเทศ แต่สำหรับเขากลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมล้วนเกี่ยวพันทั้งการเมือง สังคม หรือแม้กระทั่ง ‘ความยุติธรรม’

ความยุติธรรมในสายตาของกฤษฎาจึงไม่ใช่เพียงความยุติธรรมอันเกิดจากตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญ แต่คือความยุติธรรมของสังคมและประชาชนที่ควรได้รับ ซึ่งหมายความรวมถึงความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

101 ชวนกฤษฎาพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในประเด็นสิ่งแวดล้อม เขาวาดฝันถึงสังคมที่มีความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร

คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดหลังจากนี้

ในฐานะที่เป็นทั้งนักสิ่งแวดล้อมและนักมานุษยวิทยา มองสถานการณ์ภาวะโลกรวน (climate change) ปัจจุบันนี้อย่างไร

สถานการณ์ภาวะโลกรวน หรือ climate change หากสำรวจตั้งแต่ต้นธารจะพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม จากกลุ่มประเทศที่ใช้พลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่เพื่อให้ระบบทุนนิยมของโลกเติบโต ดังนั้นจึงกล่าวได้เลยว่าระบบทุนนิยมโลกเติบโตได้ด้วยพลังงานฟอสซิลเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาในแวดวงสิ่งแวดล้อมเองก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ขึ้นตลอดมาท่ามกลางการเติบโตของระบบทุนนิยม


ความไม่เป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร และโลกกำลังตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นธรรมอย่างไร

ในฉับพลันที่โลกเริ่มต้นการใช้พลังงานฟอสซิล ทำให้บางประเทศใช้ทรัพยากรมากและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากเช่นเดียวกัน มันจึงมีการตั้งคำถามในเรื่องความไม่เป็นธรรม 4 ประการ ประกอบด้วย

ประการที่ 1 – ความไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศ กล่าวคือประเทศที่ใช้พลังงานเยอะ ส่วนใหญ่คือประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน ส่วนใหญ่คือประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา

ในด้านหนึ่ง มนุษย์ต่างไม่เคยทราบมาก่อนว่าการปล่อยมลพิษอย่างคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซอื่นๆ จะส่งผลกระทบต่อทั้งโลกขนาดนี้ คือทำให้โลกเกิดการแปรปรวน คำว่า ‘แปรปรวน’ หมายถึงมันส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับประเทศที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตร เขตร้อนชื้น ซึ่งประเทศส่วนมากเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีความเปราะบางสูง ดังนั้นจึงเห็นว่าผลกระทบจากภาวะโลกรวนตกไปอยู่กับประเทศยากจนและกำลังพัฒนาค่อนข้างเยอะ ขณะที่ประเทศที่ใช้ทรัพยากรมากไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับน้อย สถานการณ์ดังกล่าวจึงเกิดคำถามเรื่องความไม่เป็นธรรมขึ้น

ประการที่ 2 – ความไม่เป็นธรรมภายในประเทศ ภายในประเทศก็มีความไม่เป็นธรรม คือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนยากจนด้วย ต้องยอมรับว่าคนที่มีฐานะย่อมมีฐานทรัพยากรและทางเลือกสำหรับชีวิตมากกว่า เช่น หากวันนี้เกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือแม้กระทั่งปัญหาฝุ่น พวกเขาสามารถพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีในการจัดการกับปัญหาได้ แต่คนยากจนกลับเป็นเหมือนด่านหน้าของการเผชิญภัยพิบัติ บ่อยครั้งจึงเห็นภาพของชาวบ้านหรือผู้คนในชนบทเผชิญกับภัยพิบัติจำนวนมากและซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การเพาะปลูก โรคภัย หรือแม้กระทั่งคนจนเมืองที่เจอสภาวะฝุ่นพิษ พวกเขาไม่มีทางเลือกในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งเครื่องมือที่จะป้องกันด้วยซ้ำ

ประการที่ 3 – ความไม่เป็นธรรมระหว่างรุ่น นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกต่างตั้งคำถามโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะต้องอย่าลืมว่าคนรุ่น baby boomers , gen X และ gen Y ล้วนใช้พลังงานฟอสซิลอย่างหนักหน่วงตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และไม่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ผลกระทบนั้นตกไปยังคนรุ่นต่อไปที่กำลังจะเกิดและเติบโตขึ้นมา พวกเขาเกิดมาในต้นทุนธรรมชาติที่ติดลบ กล่าวคืออนาคตของพวกเขาไม่มีทางเลือกอย่างคนรุ่นก่อนที่มีโอกาสเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ แล้วมนุษย์จะต้องอยู่ในโลกที่มีภาวะโลกรวนและวิบัติไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน

ประการที่ 4 – ความไม่เป็นธรรมในเชิงระบบนิเวศ ที่ผ่านมาระบบทุนนิยมเองทำให้มนุษย์แปลกแยกกับธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นราวกับเป็นเพียงปัจจัยการผลิต มนุษย์จึงไม่เคยคำนึงถึงขีดจำกัดของธรรมชาติ เช่น แม่น้ำโขงที่สร้างเขื่อนจำนวนมากโดยประเทศจีน ลาว และไทย ซึ่งไปทำลายระบบนิเวศของทั้งโลก ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความมั่นคงทางอาหารพังทลาย

เมื่อมนุษย์สร้างปัญหากับระบบนิเวศขนาดนี้ เรากลับมองว่าไม่ว่าเช่นไรธรรมชาติก็สามารถรองรับได้ แม้ว่าปัจจุบันสังคมพอจะเข้าใจและตื่นตัวในประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่แนวคิดที่ใช้ธรรมชาติแก้ปัญหายังคงอยู่ เราเห็นแนวคิดนี้อยู่ตามทุกแผนการพัฒนา เช่น แผนพัฒนาระบบจัดการน้ำ หลายประเทศเชื่อว่าการสร้างเขื่อนเป็นการจัดการน้ำที่ดี หรือหากกักเก็บน้ำได้ยิ่งมากคือมีระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ในความจริงนับว่าเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรง

พูดตรงไปตรงมาคือมนุษย์ในระบบทุนนิยมต่างใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด หรือหากใช้จนเกินขีดจำกัดก็จะฝืนดันขึ้นไป เช่น การตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMOs (genetically modified organisms) เพราะเดิมทีระบบพันธุ์พืชมีข้อจำกัด มนุษย์จึงตัดสินใจฝ่าขีดจำกัดนั้นออกไป

ดังนั้น ประเด็นความเป็นธรรมต่อระบบนิเวศจึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ไม่ใช่เพียงมิติความเป็นธรรมระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เดิมทีพวกเรามีเพียงความคิดว่ามนุษย์ต้องมีสิทธิที่จะมีธรรมชาติที่ดี (right to nature) ปัจจุบันกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและนักสิ่งแวดล้อมเกิดแนวคิดใหม่อย่าง ‘สิทธิของธรรมชาติ (right of nature)’ ซึ่งพยายามให้ธรรมชาติมีฐานะเป็นผู้มีชีวิตหรือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิด้วย เช่น ในประเทศนิวซีแลนด์ มีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกร้องให้แม่น้ำวังกานุย (whanganui river) ต้องมีสิทธิในฐานะนิติบุคคล หากผู้ใดละเมิดหรือทำลายธรรมชาตินี้จะมีความผิด  การเกิดขึ้นของแนวคิดดังกล่าวแปลว่าการเรียกร้องได้ขยับไปอีกขั้นหนึ่ง คือเราเห็นความเป็นธรรมของนิเวศอย่างแท้จริง


ประเด็นความไม่เป็นธรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้มันกลับไปเชื่อมโยงกับคำถามคือ ‘ใครคือผู้สร้างมลพิษ’ หากเทียบการใช้ทรัพยากรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนา ชนชั้นร่ำรวยล้วนมีคนที่ใช้ทรัพยากรเยอะและปล่อยมลพิษเยอะ ทั้งหมดนี้สร้างคาร์บอนฟุตปรินต์ (carbon footprint) มหาศาล หากเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาหรือคนยากจนที่เขาใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพียงเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลายคนมักหันไปโทษคนยากจน แต่กลับลืมตั้งคำถามว่ามลพิษส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานซึ่งตอบสนองภาคเหมืองและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังนั้นคนที่อยู่โครงสร้างส่วนบนจึงเป็นผู้ที่สร้างมลภาวะและได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

ด้านกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จะพบว่ามีกลุ่มคนชายขอบที่เราลืมนึกถึงพวกเขาอีกมาก เช่น ผู้หญิง เด็ก คนชรา ชาวเขา กลุ่มชาติพันธุ์ มักจะเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางสังคมมาก และมีความเปราะบางสูงกว่า ดังนั้นผลกระทบที่เกิดกับพวกเขามาก แต่มาตรการและงบประมาณรัฐที่เข้าไปช่วยเหลือน้อย


แล้วคุณมอง ‘ความยุติธรรมในมิติสิ่งแวดล้อม’ อย่างไร

แก่นหลักคือเราต้องเห็นว่าใครคือผู้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผู้นั้นต้องมีบทบาทรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น หลักการดังกล่าวปรากฏในความตกลงปารีส (paris agreement) ประเด็นของโลกร้อนแล้ว ใช้คำว่า ‘ความรับผิดชอบที่แตกต่าง’ เช่น หากประเทศใดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องรับผิดชอบมากกว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย

นอกจากนี้ยังต้องทบทวนว่าใครคือผู้ที่มีหน้าที่กอบกู้และรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามักพุ่งไปยังภาคเอกชน นักวิชาการ หรือผู้ที่ถือครองทรัพยากรมาก แต่ในความจริงแล้ว ผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องและกอบกู้สิ่งแวดล้อมคือประชาชนคนธรรมดาต่างหาก เห็นได้จากที่ผ่านมาชุมชนท้องถิ่นคือผู้ที่สามารถดูแลป่าได้ดีที่สุด จากป่าอนุรักษ์ที่เหลืออยู่ในโลกส่วนใหญ่อยู่บริเวณพื้นที่ของกลุ่มชนพื้นเมือง แปลว่าเขตเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ของรัฐหรือเอกชน แต่คือวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองที่สามารถอนุรักษ์ได้ดี

บทเรียนที่ทั่วโลกสรุปคือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกับความยุติธรรมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะในด้านหนึ่งเมื่อเราพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่พูดถึงความไม่เป็นธรรม นั่นแปลว่าคุณกำลังกีดกันประชาชนส่วนใหญ่และมอบอำนาจให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม ในทางกลับกัน หากโลกสนใจเพียงเรื่องความยุติธรรม แต่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเลยก็ไม่ได้ เพราะผลกระทบของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราอาจจะบอกว่าผลกระทบหลักของความไม่เป็นธรรมออกมาในรูปแบบของสงครามหรือการละเมิดสิทธิทางการเมือง นั่นเป็นเพียงความรุนแรงที่ปรากฏ แต่เบื้องหลังของสงครามหรือการละเมิดสิทธิ ส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยมาจากเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การต่อสู้กันระหว่างทุตซี (Tutsi) และฮูตู (Hutu) ที่เคยขัดแย้งกัน ทุกคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเพียงความขัดแย้งทางวัฒนธรรม แต่เบื้องหลังของความขัดแย้งคือความไม่เป็นธรรมในพื้นที่หากินและทรัพยากรต่างหาก

ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงความยุติธรรม เราต้องเห็นบทบาทของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยหรือชุมชนซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความยุติธรรมเหล่านั้น ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำว่าใครคือผู้สร้างผลกระทบ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ และใครคือผู้ที่ต้องกอบกู้ผลกระทบเหล่านั้น เพื่อสร้างชีวิตที่ดีและเท่าเทียมกันของผู้คนในอนาคต


จากความตกลงปารีสที่ใช้คำว่า ‘ความรับผิดชอบที่แตกต่าง’ คุณมองคำนี้อย่างไร

นิยามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายคือให้ประเทศที่ปล่อยมลพิษลดการปล่อยของตนเอง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามเบี่ยงเบนจากหลักการดังกล่าว การกระทำที่ชัดเจนคือการเกิดขึ้นของแนวคิด ‘ตลาดคาร์บอน’

ระบบ ‘ตลาดคาร์บอน’ เกิดขึ้นมาจากฐานความคิดที่มองว่าภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล และลดการปล่อยลงได้น้อย ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดคือ ป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ สามารถดูดซับมลพิษได้ โดยหากภาคอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษปริมาณจำนวนเท่าใด เราก็นำธรรมชาติมาดูดกลับ หรือที่เรียกว่า ‘การชดเชยคาร์บอน’ เมื่อบัญชีปล่อยมลพิษ และบัญชีดูดกลับมีปริมาณเท่ากัน เรียกว่า ‘คาร์บอนเป็นกลาง (Net Zero)’

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือระบบตลาดคาร์บอนคิดถึงแต่เพียงการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ก่อมลพิษ จึงเกิดความคิดว่าไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษก็ได้ เพียงแต่เอาเงินไปลงทุนปลูกป่าในพื้นที่ต่างๆ พฤติกรรมดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะนั่นแปลว่าผู้ที่มีเงินมากย่อมสามารถปล่อยมลพิษได้มาก ผลที่เกิดขึ้นคือผู้ปล่อยมลพิษก็สามารถปล่อยมลพิษได้ปริมาณมาก และยังมีแนวโน้มปล่อยต่อไป

หากยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม อย่างกรณีน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง ส่งผลให้ทะเลเสียหายจนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่บริษัทนั้นกลับใช้วิธีปลูกป่าเพิ่มอีกสองล้านไร่ เพื่อให้องค์กรของตนบรรลุด้านคาร์บอนเป็นกลาง คำถามสำคัญกว่านั้นคือ ชีวิตของชาวประมง ชีวิตของทะเลที่อ่าวไทย มันนำมาแลกกับการปลูกต้นไม้ได้ไหม คนที่มองปัญหานี้ไม่ออกแสดงว่าคิดว่าแลกได้ กล่าวคือแลกระหว่างการทำลายธรรมชาติที่หนึ่งแล้วไปฟื้นธรรมชาติอีกที่หนึ่งได้

สำหรับผมมันแลกกันไม่ได้ ชีวิตแต่ละชีวิต ธรรมชาติแต่ละแห่ง ย่อมมีคุณค่าและสิทธิของมัน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนราวกับตัวเลขได้ หากวันนี้เรามองว่าแลกเปลี่ยนได้แปลว่าคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากชาวบ้านเผาไร่ กับคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากบริษัทอุตสาหกรรมพลังงาน มีค่าเท่ากัน ทั้งที่ในความจริงแล้วเจตจำนงของชีวิตนั้นต่างกันมหาศาลระหว่างการสู้เพื่ออยู่รอดกับการแสวงหากำไรสูงสุด

ทั้งๆ ที่ระบบทุนนิยมคือปัญหาของโลกและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้ แต่ระบบทุนนิยมกลับกระโดดเข้ามาเป็นกลไกจัดการปัญหา ที่ผ่านมาจึงเกิด ‘การฟอกเขียว (greenwashing)’ บ่อยครั้ง


ที่ผ่านมามักจะได้ยินประโยคว่า “ประเทศพัฒนาแล้วสร้างมลพิษ แต่ผลกระทบตกมาที่ประเทศกำลังพัฒนา” แต่ปัจจุบันนี้ประเทศเหล่านั้นก็เป็นเหมือนหัวเรือด้านเศรษฐกิจที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต่างต้องพึ่งการนำเข้าและส่งออกจากประเทศเหล่านั้น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

มันมีแนวคิดการวิเคราะห์ระบบโลก (world system theory) โดยแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ประเทศในกลุ่มแกนกลาง (core countries) , ประเทศกลุ่มกึ่งชายขอบ (semi-periphery countries) และประเทศกลุ่มชายขอบ (periphery countries) ซึ่งในประเด็นนี้ประเทศในกลุ่มแกนกลางคือศูนย์กลางของระบบทุนนิยมที่ทำหน้าที่ดูดทรัพยากรจากประเทศกลุ่มกึ่งชายขอบและชายขอบเข้ามาสู่แกนกลางของระบบทุนนิยม และประเทศกลุ่มแกนกลางก็จะแปรรูปผ่านภาคอุตสาหกรรมกระจายกลับไป แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือประเทศแกนกลางยิ่งโต ขณะที่รอบข้างเริ่มเหี่ยว 

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ประเทศญี่ปุ่นที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากและหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม คำถามคือทำไมประเทศเหล่านั้นถึงมีพื้นที่สีเขียวมาก เขาไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้วหรือ คำตอบคือใช้ แต่ประเทศญี่ปุ่นเลือกที่จะนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา 

จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่าระบบทุนนิยมโลกสร้างให้เกิดสภาวะการดูดทรัพยากรเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่งในกลุ่มประเทศแกนกลาง และผลักภาระออกไป


หากแต่ละประเทศย่อมมีผลประโยชน์ของชาติ แล้วแบบนี้เราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งความร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างไร

หากเรามัวคิดเช่นนั้นว่าทุกประเทศต่างมีผลประโยชน์ของชาติ ผลสะท้อนคือ เวทีการประชุม COP (conference of the parties) ที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันได้ เวทีการประชุมดังกล่าวจึงไม่มีผลที่ก้าวหน้ามากนัก เพราะแต่ละประเทศก็คิดแต่ประโยชน์ของชาติ

อีกทั้งการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีฐานะเป็นภาคบังคับ เป็นเพียงเวทีการหาทางแก้ไขร่วมกัน ดังนั้นเวทีเหล่านี้แทนที่จะเป็นเวทีที่เอาจริงเอาจัง มันจึงเป็นเพียงเวทีไปแสดงว่าฉันทำอะไร คุยโม้โอ้อวดเสียเยอะ แต่ทำได้จริงน้อย เพราะเวทีการประชุมดังกล่าวไม่มีมาตรการเชิงกดดัน ทั้งนี้ภาคประชาสังคมก็ยังหวังว่าแต่ละประเทศจะเห็นว่าผลประโยชน์ของชาติไม่สามารถแยกจากผลประโยชน์ของโลกได้


อย่างการประชุม COP27 เมื่อปีที่ผ่านมา มีการตั้งกองทุน lost and damage หรือนำเงินกองทุนไปช่วยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน การแก้ปัญหาเหล่านี้ตอบโจทย์หรือไม่

ไม่ตอบโจทย์ แม้ขณะนี้จำเป็นต้องถมงบประมาณ เพราะในปัจจุบันนี้มีหลายคนที่ใกล้จะใช้ชีวิตไม่ได้จากสถานการณ์โลกปัจจุบัน เช่น การประสบภัยพิบัติซ้ำซาก เป็นต้น แต่ความเสียหายจากสถานการณ์ภาวะโลกรวนนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น หากการปล่อยปริมาณของก๊าซเรือนกระจกยังเติบโตมากขึ้นในแต่ละปี คุณมีงบประมาณในกองทุนเท่าไหร่ก็ถมไม่พอ

ดังนั้นการตั้งกองทุน lost and damage เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งเพื่อเป็นงบประมาณในการเปลี่ยนผ่าน เช่น การให้กู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศที่เปราะบาง เป็นต้น แต่ปัญหาขณะนี้คือแม้ในการประชุม COP ครั้งที่ผ่านมาจะมีข้อตกลงเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้สนับสนุนเงินในกองทุน วิธีการเข้าถึงกองทุน และจำนวนเงินคือเท่าใด

ก่อนหน้านี้มีการตั้งกองทุนชื่อ ‘green climate fund’ ซึ่งมีจุดประสงค์คล้ายกับกองทุน lost and damage คือเป็นทุนสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา แต่การเข้าถึงกองทุนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก อย่างประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะโลกรวนเป็นอันดับต้นๆ กลับได้เงินในกองทุนดังกล่าวเพียง 1 โครงการ และโครงการที่ได้เป็นของกรมชลประทานที่ทำเรื่องระบบการจัดการน้ำในคลองชลประทาน นับเป็นบทเรียนสำคัญเลยว่าไม่มีใครมาดูปลายทางเลยว่าโครงการที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนทำเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ภาวะโลกรวนหรือไม่

จากประโยคที่คุณกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อสภาวะโลกรวนอันดับต้นของโลก ผลกระทบที่พวกเราพบเจออย่างรูปธรรมคืออะไร

สายตาของนักมานุษยวิทยาจะสนใจว่าผู้คนในแต่ละพื้นที่มีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศอย่างไรหรือมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศอย่างไร ข้อค้นพบคือแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์กับภูมิอากาศทั้งสิ้น เช่น ชาวกะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้แยกออกจากดินหรือน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเขาดูแลทรัพยากรเหล่านั้นผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ดังนั้นการทำไร่หมุนเวียนมันสัมพันธ์กับผีในดิน ผีในข้าว และภูมิอากาศทั้งสิ้น

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง ยังมีอีกหนึ่งเครื่องมือที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ใช้คือการพยากรณ์ธรรมชาติ เดิมทีพวกเขาอาจจะสังเกตจากมด แมลง พืช ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพภูมิอากาศ แต่ด้วยสภาวะโลกรวนและภูมิอากาศที่ผันผวนในปัจจุบันนี้ทำให้การพยากรณ์ของชาวบ้านเริ่มใช้ไม่ได้ เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมีรากฐานมาจากแบบแผนพฤติกรรมที่ชัดเจนและซ้ำ เมื่อพวกเขาอ่านมันไม่ได้ ทำให้เขาเริ่มจะประสบปัญหาการปรับตัวไม่ถูก

หลายคนมองว่าการปรับตัวไม่ถูกไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะมันทำให้พวกเขาออกแบบชีวิตไม่ได้เลย


เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณมองนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างไร คิดว่ามันช่วยหนุนเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในทางสิ่งแวดล้อมได้จริงไหม

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ผ่านมา เรามองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยที่น่ารำคาญมากกว่าเป็นสาระของตัวมันเอง นโยบายจึงเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วค่อยระแวดระวังสิ่งแวดล้อมบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือเศรษฐกิจ BCG (bio-circular-green economy) ที่พื้นฐานของแนวคิดนี้คือเรื่อง green growth เน้นเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นแม้จะพูดถึงการเกษตร แต่เป็นการเกษตรเชิงแข่งขัน หมายความว่ารัฐไม่ได้วางโจทย์ใหญ่ที่จะสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและธรรมชาติ แต่โจทย์กลับไปตกอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป

ต่อมา รัฐยังผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์และผลประโยชน์ในหน่วยงาน แต่รัฐพยายามทำตัวราวกับเป็นเจ้าที่ดิน ทั้งที่เจตจำนงของกฎหมายคือให้ดูแลทรัพยากร พอรัฐมีอำนาจมาก อย่างอุทยานแห่งชาติที่ผ่านมาก็สร้างเงินมหาศาลจนเกิดการทุจริตขึ้น

สุดท้าย รัฐเปิดเสรีให้กลุ่มทุนเข้ามาใช้ประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติเยอะไป โดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบหรือขอบเขตในการใช้ทรัพยากรแต่อย่างใด อย่างกลุ่มทุนพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เติบโตมาในช่วงภายในไม่กี่ปีนี้ ด้วยโครงสร้างเช่นนี้ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น แม้วันนี้เรามีการเลือกตั้งที่ดี พรรคการเมืองที่ดี แต่หากคุณไม่เข้ามารื้อโครงสร้างเหล่านี้ สุดท้ายประชาธิปไตยด้านพลังงานมันไม่เกิด ประชาชนจะมีไม่มีสิทธิในการจัดการพลังงานและได้รับสวัสดิการพลังงานที่เป็นธรรม

ทั้งหมดนี้สะท้อนแล้วว่าที่ผ่านมารัฐไทย แม้จะออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการดำเนินนโยบายอย่างฉาบฉวยเท่านั้น ทั้งที่ประชาชนทุกคนล้วนแต่มี ‘สิทธิในสิ่งแวดล้อม’ และสิทธิเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเขาด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่องคุณภาพชีวิตหรือการมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างเดียว สิทธิของชาวบ้านที่จะเข้าถึงทรัพยากร สิทธิของพวกเราที่ต้องไม่เจอกับฝุ่นควันเช่นนี้ ไม่ทำให้เราป่วย ไม่ทำให้เราเป็นโรคมะเร็ง สิทธิที่เราจะกินอาหารที่ดีโดยปลอดสารเคมี ทั้งหมดนี้คือรากฐานว่าทำไมการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลายคนอาจจะมองว่ารัฐต้องเลือกระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมหรือการคำนึงสิทธิมนุษยชน (รัฐเข้าไปจัดการพื้นที่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติ) แต่มันเป็นเรื่องตลกนะ เพราะเขาไม่เอาทั้งคู่


ก่อนหน้านี้โครงการเศรษฐกิจ BCG มักถูกวิจารณ์เรื่องกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารของโมเดลเศรษฐกิจ BCG คุณมองข้อวิจารณ์เหล่านี้อย่างไร

เนื่องด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มีปัญหาด้วยตัวเอง เพราะเป็นโครงสร้างที่เน้นให้ภาคทุนขนาดใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อน ต้องกล่าวก่อนว่าผมยอมรับว่าทุนมีความสำคัญและเป็นส่วนที่จะสามารถขับเคลื่อนการทำงานได้ แต่คำถามคือภาคประชาชนหายไปไหน ทั้งที่ภาคประชาชนควรเป็นสัดส่วนใหญ่ในคณะกรรมการด้วยซ้ำ แล้วให้เอกชนเป็นส่วนเสริม พอโครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจึงเกิดสภาวะย้อนแย้ง กล่าวคือกลุ่มทุนเหล่านั้นยังไม่สามารถจัดการกับมลพิษที่ตนเองก่อได้ แต่วันนี้กลับมาเป็นผู้ขับเคลื่อนในนามสีเขียว คำถามคือนโยบายสิ่งแวดล้อมมันจะถูกแก้ไขได้ไหม ปัจจุบันคำว่า ‘สีเขียว’กลายเป็นพื้นที่การแสวงหาผลกำไรแบบใหม่ ซึ่งแยกขาดกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สนใจเพียงตลาดคาร์บอนเพียงอย่างเดียว เพราะมันคือธุรกิจยังไงล่ะ (หัวเราะ)

ที่ผ่านมาระบบการเมืองของประเทศไทยโดยเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์ จะเห็นสภาวะราชการเข้าหากลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ได้โดยขาดการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน สังเกตเลยว่ายุคไหนที่ประเทศปกครองด้วยอำนาจนิยม เราจะเห็นทุนนิยมบริวาร กล่าวคือทุนอยู่ในระบบราชการเต็มไปหมด รูปแบบดังกล่าวเป็นบ่อเกิดให้เกิดการจับมือกันระหว่างอำนาจสองแบบ คืออำนาจนิยมในระบบราชการ กับอำนาจผูกขาดในระบบทุนนิยม เราจึงเห็นว่าในคณะกรรมการบริหารของโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงพากลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปนั่งได้

สภาวะที่ทุนและราชการจับมือกันเช่นนี้ส่งผลให้รัฐใหญ่ขึ้น และทุนจะไม่อยู่ในระบบตลาดเสรี การผสานเช่นนี้กลายเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจระหว่างทุนและอำนาจนิยม มิหนำซ้ำยังมีภาพลักษณ์เป็นสีเขียวมากขึ้น นับเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างยิ่ง

จากที่คุณพูด เห็นได้ว่าระบอบการปกครองสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าอย่างนั้นคุณคิดหรือไม่ว่าหากวันนี้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

ใช้คำว่า ‘หากประเทศเป็นประชาธิปไตยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น’ ดีกว่า เพราะสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติควรจะถูกกระจายถึงมือประชาชน และประชาชนต้องมีสิทธิในการดูแล จัดการ และตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ พลังงาน น้ำ การเกษตรหรือเรื่องต่างๆ

แนวคิดนี้คือการทำให้ทรัพยากรเป็นสาธารณะ ประชาชนมีอำนาจต่อทรัพยากรเหล่านี้ร่วมกัน ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเป็นเหมือนหลักประกันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ และโอกาสการผูกขาดทรัพยากรก็จะยากขึ้นด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศบราซิลที่ประธานาธิบดีคนที่ผ่านมาเป็นพวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง ไม่เอาทั้งชนพื้นเมือง นักสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงที่ประเทศบราซิลทำลายป่าจำนวนมหาศาล แต่ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) อดีตประธานาธิบดีที่หวนกลับมาครองตำแหน่งอีกครั้ง ประเทศบราซิลจึงเกิดการกลับขั้วทางนโยบาย จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย เราจะสามารถเปลี่ยนนโยบายได้เสมอ

เพียงแต่เวลาพูดถึงประชาธิปไตย สังคมต้องไปให้ถึงรูปธรรมของการมีอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นเราจะติดอยู่กับประชาธิปไตยที่เป็นแนวคิดเชิงนามธรรม มองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงการช่วงชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยม แต่ว่าโครงสร้างใหญ่ ทั้งระบบทุนนิยมบริวารที่ครองทรัพยากรสาธารณะต่างๆ ไม่ถูกแก้ไขซ้ำร้ายยังผูกขาด 

ต่อให้วันนี้เปลี่ยนพรรคการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้าที่สุด  แต่หากคุณไม่รื้อโครงสร้างเหล่านี้ ประชาชนชนชั้นล่างก็ยังอดอยากยากจนอยู่ดี สิ่งแวดล้อมก็ยังเกิดปัญหาอยู่ดี และความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นอยู่ดี


สังคมไทยจะก้าวไปสู่ความยุติธรรมได้จริงหรือ

คำถามนี้คงเป็นเหมือนหมุดหมายของสังคม สังคมที่หมายความรวมถึงประชาชน แต่หมุดหมายนี้จะเกิดขึ้นอีกสิบปี หรือร้อยปีไม่มีใครรู้ แต่ว่าเป็นหมุดหมายที่หากวันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ก็คงทิ้งไม่ได้ เพราะว่ามันคือชีวิตของเรา ต่อให้มันไม่สำเร็จวันนี้ รุ่นต่อไปก็ต้องขับเคลื่อนให้ไปถึงจุดหมายให้ได้


ภาพสังคมที่มีความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่คุณอยากเห็นเป็นอย่างไร

ภาพความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ผมอยากเห็นนั้น ต้องกลับไปสู่หลักการพื้นที่ของประชาธิปไตยเลย คือสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม

สิทธิ – สิทธิที่ประชาชนจะมีทรัพยากรเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เสรีภาพ – เสรีภาพที่สามารถเลือกจะดำเนินชีวิตบนความรับผิดชอบได้ ณ ปัจจุบันยิ่งมีทรัพยากรไหนที่ถูกผูกขาด เราแทบไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกได้เลย

ความเป็นธรรม – ช่วงที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และเสียประโยชน์ในทรัพยากรมีช่องว่างมหาศาล รัฐต้องลดช่องว่างเหล่านี้และสร้างให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง

ดังนั้นสังคมที่มีความยุติธรรมคือต้องสร้างให้เกิดหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมเหล่านี้


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save