ไม่น่าเชื่อว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แพลตฟอร์มส่งอาหารกลายมาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราเกือบสามเวลาก่อนอาหาร นอกจากนี้ในมุมของแรงงานยุคที่เศรษฐกิจล้มพังกันระเนระนาด ลูกจ้างถูกบีบให้ออกจากงาน กิจการร้านรวงต่างๆ พากันปิดตัวอย่างไม่มีกำหนดเปิดเช่นนี้ การทำงานบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเรียกได้ว่าเป็นโอกาสเดียวที่เหลืออยู่
ในขณะที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ประเด็นเรื่อง ‘สิทธิแรงงานแพลตฟอร์ม’ กลับสวนทางกันอย่างน่าแปลกใจ ภาพของคนส่งอาหารหรือ ‘ไรเดอร์’ ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการปรับค่ารอบให้เหมาะสม หลังจากที่โดนแพลตฟอร์มปรับลดลงมาจนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ มีให้เห็นถี่ขึ้นและขยายขอบเขตไปทั่วประเทศ ยังไม่นับรวมหลายกรณีที่ผ่านมา เช่น กรณีไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างส่งอาหารแต่ไร้ซึ่งการรับผิดชอบจากแพลตฟอร์ม หรือกรณี #แบนFoodpanda ก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์อันย้อนแย้งและการมีอำนาจควบคุมสั่งการอย่างเข้มงวดระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ ทั้งๆ ที่ในการตีความของกฎหมายไทยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายไม่ได้อยู่ในสถานะนายจ้างและลูกจ้าง
ประเด็นเรื่องความคลุมเครือของสถานะแรงงานแพลตฟอร์มยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และยังไม่มีกฎหมายใดๆ เข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่กระนั้นมีหนึ่งองค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาร่วม 4 ปี คือสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ตั้งแต่การทำงานวิจัยเพื่อศึกษารูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กํากับโดยแพลตฟอร์ม การออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มรับผิดชอบสวัสดิภาพคนทำงานในช่วงโควิด-19 ตลอดจนการร่วมก่อตั้งสหภาพไรเดอร์โดยมี ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักวิชาการ นักวิจัย ที่ศึกษาและเชี่ยวชาญในประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
101 ชวน ดร.เกรียงศักดิ์ มาสนทนาหลากหลายประเด็นว่าด้วยสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์ม ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของแรงงานแพลตฟอร์ม ตอบคำถามเรื่องสถานะของแรงงานแพลตฟอร์มที่ควรจะเป็น อะไรคือหลักคิดสำคัญในการกำกับดูแลแรงงานแพลตฟอร์ม ตลอดจนร่วมกันจินตนาการและมองหารูปแบบใหม่ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมต่อแรงงานทุกคน
ในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มมาโดยตลอด มองว่าการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานดั้งเดิมอย่างไรบ้าง
ในแง่ของผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงานตลอดจนรูปแบบการจ้างงาน มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ
เรื่องแรกคือ งานที่ไม่มั่นคง หรือ precarious work อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการจ้างงาน เนื่องจาก gig economy มีรูปแบบการจ้างงานที่เอื้อให้เกิดการจ้างงานที่ไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด จากเดิมที่เคยมีการจ้างพนักงานขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเป็นพนักงานประจำ หลังจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มส่งอาหาร งานเหล่านี้ก็ถูกโอนออกไปเป็นการจ้าง outsource แทน สิ่งที่น่ากังวลคือรูปแบบการจ้างงานลักษณะนี้ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมมีความไม่มั่นคงมากขึ้น ในขณะเดียวกันการจ้างงานที่มีมาตรฐาน (standard employment) หรือการจ้างงานที่มีการจ้างเต็มเวลาและคนงานได้รับสวัสดิการก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
เรื่องนี้ส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องที่สองคือการขยายใหญ่ขึ้นของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ จากเดิมเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือการจ้างงาน ‘นอกระบบ’ กินพื้นที่ขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว การมาของ gig economy ยิ่งเสริมย้ำสิ่งนี้ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ในเชิงคุณภาพก็เช่นกัน เราเห็นแนวโน้มของการจ้างงานมีคุณภาพที่ลดลง ในขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการกลับมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น แพลตฟอร์มส่งอาหารในปัจจุบันซึ่งเป็นบริษัทหรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบเป็นทางการ แต่ภายในความเป็นทางการของบริษัทกลับมีการจ้างงานไรเดอร์ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอยู่ สิ่งนี้คือความทับซ้อนรูปแบบใหม่ที่ซ่อนอยู่ในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ
ในเชิงวิชาการมีการพูดคุยถึงเรื่องความเป็นทางการและไม่เป็นทางการของเศรษฐกิจและการจ้างงานนี้มานานแล้ว แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าความเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีหลายเฉดสีมาก แต่หนึ่งสิ่งที่รู้ชัดคือ ต่อจากนี้เฉดสีต่างๆ จะมีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น วิธีคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิ วิธีคิดเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการ ตลอดจนการนิยามเรื่องสิทธิต่างๆ ของแรงงานจะเปลี่ยนไปและไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่าสิ่งไหนขาวหรือดำเหมือนที่เราเคยนิยามในอดีต
การศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานแพลตฟอร์มแตกต่างจากแรงงานดั้งเดิมอย่างไร และทำไมจึงเลือกศึกษาแรงงานแพลตฟอร์มประเภทคนส่งอาหารหรือไรเดอร์
ผมเคยศึกษาการจัดตั้งของคนงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ฉะนั้นเมื่อมาเทียบกับการศึกษาแรงงานแพลตฟอร์มก็เห็นความแตกต่างค่อนข้างมาก ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญคือเรื่องการเข้าถึงชุมชนของคนงาน
กลุ่มคนงานซึ่งอยู่ในโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมเดียวกันจะมีขอบเขตของภูมิศาสตร์เรื่องสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัยชัดเจนกว่ามาก แต่สำหรับแรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้มีภูมิศาสตร์แรงงานแบบเก่า เช่น ไรเดอร์จะกระจัดกระจายอยู่ทุกที่ สถานที่ทำงานเขาก็คือพื้นที่สาธารณะหรือบนถนนหนทางต่างๆ จากแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ทำให้ต้องเปลี่ยนกฎระเบียบหลายๆ อย่างในเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานแล้ว
ถ้าถามว่าทำไมจึงศึกษา ‘ไรเดอร์’ ต้องย้อนกลับไปว่าก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานวิจัยเรื่อง ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ ร่วมกับอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ โจทย์ในงานวิจัยตอนนั้นเริ่มมาจากคำถามที่ว่าทำไมเมืองไทยจึงไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในมุมของแรงงานเลย เราพบแค่เพียงการพูดในมุมธุรกิจ ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีการพูดถึงประเด็นนี้กันค่อนข้างมาก
ผมคิดว่าควรมีการพูดถึงประเด็นนี้ในเมืองไทยบ้างจึงทำวิจัย โดยในงานวิจัยชิ้นนั้นได้สำรวจ 3 แพลตฟอร์ม คือ Uber เรื่องขนส่งสาธารณะ, Airbnb เรื่องที่พัก, BeNeat เรื่องบริการแม่บ้าน เพื่อศึกษารูปแบบการทำธุรกิจของแพลตฟอร์มและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน แต่งานวิจัยชิ้นนั้นเป็นในเชิงเปรียบเทียบข้อมูล (literature review) โดยอ้างอิงจากดีเบตของต่างประเทศเป็นหลัก ยังไม่ได้เจาะลึกลงไปที่ตัวแรงงานแพลตฟอร์มภายใต้บริบทของไทยจริงๆ
หลังจากที่ทำงานวิจัยเรื่องนั้นเสร็จ ปรากฏว่าตัวละครในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงพอดี จากแพลตฟอร์ม Uber กลายมาเป็นแพลตฟอร์ม Grab ที่เข้ามาครองตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้ง Uber และ Grab ก็มีความเหมือนและความต่างกันในหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ต่างที่สุดน่าจะเป็นการที่ Grab ใช้ประโยชน์จากกำลังแรงงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานส่งอาหาร ปรากฏการณ์ที่คนจำนวนมากแห่เข้ามาในเมืองเพื่อทำงานส่งคน ส่งอาหาร เป็นปรากฏการณ์ใหม่และน่าสนใจมาก ผมจึงตัดสินใจศึกษาเรื่องคนส่งอาหารหรือไรเดอร์ต่อ
อะไรคือข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดจากการทำงานวิจัยชิ้นนี้
ข้อค้นพบที่สำคัญมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1. ข้อสมมติที่ว่าแรงงานอยากได้ความมั่นคงในการทำงานและไม่ชอบความไม่มั่นคงทางรายได้อาจจะไม่จริงเสมอไป จากการศึกษาทำให้เราค้นพบว่าแรงงานไทยมีความคุ้นเคยกับความไม่มั่นคงของรายได้หรือความไม่มั่นคงในการทำงานอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะบริบทการจ้างงานของไทยมีหลายปัจจัยที่เป็นปัจจัยเชิงลบ เช่น การบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่ทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้แรงงานประสบกับความรู้สึกอึดอัดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานในระบบงานประจำที่มีมาตรฐานด้านแรงงานต่ำค่อนข้างมาก หรือแรงงานบางคนมีภาระครอบครัวต้องรับผิดชอบเยอะ เพราะระบบสวัสดิการสังคมไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาเต็มที่ ทำให้ตัวเขาไม่สามารถทำงานประจำได้ ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้แรงงานจำนวนมากชอบที่จะทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ จะเห็นว่าช่วงแรกๆ แรงงานชอบการทำงานบนแพลตฟอร์มมากเพราะได้เงินเดือนเยอะและมีความเป็นอิสระ แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้ว่ามันไม่ใช่
2. งานบนแพลตฟอร์มอาจไม่ได้เป็นงานที่ดีกว่างานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการเดิมอย่างที่เราเคยคิดกัน ในงานวิจัยชิ้นนี้มีบทหนึ่งที่พูดถึงกระบวนการแรงงาน (labour process) ของแพลตฟอร์ม เราพบว่าแพลตฟอร์มมีอำนาจในการกำกับควบคุมพฤติกรรมและวิธีการทำงานของแรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านกฎระเบียบและเงื่อนไขการทำงานที่เข้มงวด ไรเดอร์หลายคนสะท้อนให้ฟังว่าพวกเขาต้องอดข้าวในตอนเที่ยงเพื่อที่จะทำงานให้ได้ครบรอบ เนื่องจากช่วงเวลาพักเที่ยงเป็นช่วงเวลาที่ได้รับเงินจูงใจ (incentive) สูง หรือไรเดอร์เกิดความรู้สึกอึดอัดเพราะขาดระบบที่จะรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาของพวกเขา แม้แพลตฟอร์มจะบอกว่ามีระบบ call center ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นระบบที่ไรเดอร์สามารถใช้สื่อสารกับแพลตฟอร์มได้เลย
การระบาดของโควิด–19 ทำให้แพลตฟอร์มส่งอาหารเติบโตขึ้นอย่างมาก แล้วข้อค้นพบข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ประเด็นเรื่องสภาพการทำงานไม่ได้แตกต่างจากช่วงที่ศึกษามากนัก แต่อาจจะพอเห็นแนวโน้มว่ากฎระเบียบหรือเงื่อนไขในการทำงานของไรเดอร์มีความเข้มงวดและรัดกุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในช่วงโควิดคือไรเดอร์มีอำนาจต่อรองลดลงอย่างมาก ในขณะที่แพลตฟอร์มมีอำนาจเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้เขาสามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ได้เต็มที่ ทั้งจากการที่ผู้คนแห่เข้ามาสมัครเป็นไรเดอร์เพราะตกงานจากโควิด และการอิ่มตัวของตลาด gig economy แพลตฟอร์มไม่มีการทุ่มตลาดเหมือนช่วงก่อนหน้านี้อีกแล้ว เงินทุนลดลง แต่มาเน้นการแข่งขันเรื่องค่าบริการแทน
ตอนนี้เราเห็นความเป็นจริงของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มว่ามีการแข่งขันกันรุนแรงมาก และกำลังถึงจุดที่อาจจะชี้เป็นชี้ตายว่า ตกลงแล้วใครจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะเป็น dominant player ในตลาด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือ ค่าตอบแทนที่ลดลงอย่างมากของไรเดอร์ ถ้าเราลองไปฟังเสียงจากพวกเขา ทุกคนพูดแทบตรงกันว่าค่าส่งต่อรอบทุกวันนี้เหลือแค่ 5 บาท 10 บาท บางคนบอกว่าเหมือนทำฟรีเสียด้วยซ้ำ ปัญหาของคนทำงานแพลตฟอร์มเกิดขึ้นรุนแรงมาก โดยเราจะเห็นได้จากการประท้วงในช่วงที่ผ่านมา
ฝั่งแพลตฟอร์มมักพูดว่าทุกวันนี้เขาเองก็ขาดทุน ฉะนั้นถ้าจะขึ้นค่ารอบให้ไรเดอร์ ผู้บริโภคหรือร้านอาหารก็ต้องรับต้นทุนนี้ไป คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมเคยฟังคำอธิบายนี้จากปากของผู้บริหารแพลตฟอร์ม มันทำให้ผมรู้สึกอึดอัดเพราะเป็นคำอธิบายที่ผิด ผมเองก็ศึกษาและทำความเข้าใจเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทั้งในเชิงทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาสักพักหนึ่ง และเห็นว่าจริงๆ แล้ว เราไม่สามารถทำความเข้าใจการขาดทุนของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแบบเดียวกับที่เคยทำความเข้าใจสถานประกอบการหรือธุรกิจปกติได้ เพราะการขาดทุนถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเติบโตของเน็ตเวิร์กแพลตฟอร์ม เนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้เป็นโมเดลที่ต่างออกไป แพลตฟอร์มจำเป็นต้องสร้างเน็ตเวิร์กให้ได้เสียก่อน เช่นการมีไรเดอร์และร้านอาหารเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด หรือการมีลูกค้าโหลดแอปพลิเคชันและเข้ามาใช้ได้เยอะที่สุด โดยมีการทุ่มตลาดเพื่อที่จะแข่งขันและเอาชนะคู่แข่ง
ผมเคยถามผู้บริหารแพลตฟอร์มใหญ่ว่า เรื่องการขาดทุนเป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาดหรือว่าเป็นแผนธุรกิจที่รู้มาตั้งแต่ต้น เขาก็บอกว่าเป็นแผนธุรกิจที่รู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นคำตอบนี้กำลังสะท้อนว่า ไรเดอร์ ผู้บริโภค และแพลตฟอร์มมีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน (asymmetric information) เพราะไรเดอร์ไม่รู้มาก่อนเลยว่าอีก 3-5 ปีจะเกิดปรากฏการณ์แพลตฟอร์มขาดทุนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเขารู้ข้อมูลนี้มาก่อนล่วงหน้าอาจจะทำให้การตัดสินใจของเขาเปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในบ้านเราคล้ายๆ กับช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เราเห็นภาพสวยงามของมันขณะลอยเด่นขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะตกลงเช่นนี้
สำหรับผมการพูดเรื่องขาดทุนจึงเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะจริงๆ แล้วคนที่แบกรับต้นทุนไม่ใช่แพลตฟอร์มแต่เป็นไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์การทำงาน ยานพาหนะ ค่าเชื้อเพลิง หรือต้นทุนความเสี่ยงที่ไม่ใช่ตัวเงิน อย่างความเสี่ยงในตลาด จากแต่เดิมธุรกิจเป็นคนต้องแบกรับและคำนวณต้นทุน มาวันนี้โมเดลแบบใหม่เอื้อให้แพลตฟอร์มสามารถโอนความเสี่ยงนี้ออกไปสู่คนทำงาน
ฉะนั้นกลับมาสู่คำถามว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราควรทำอย่างไร ผมคิดว่าอย่างแรกคือ แพลตฟอร์มต้องให้ความรู้กับคนจำนวนมากว่าการขาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารแพลตฟอร์มไม่เคยให้ข้อมูลนี้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ ผู้บริโภค หรือร้านอาหาร อย่างที่สองคือ เรื่องกติกาและกฎระเบียบในการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ขณะที่โมเดลเศรษฐกิจมีหน้าตาเปลี่ยนไปแล้ว คำถามคือเรายังใช้ชุดกฎกติกาแบบเดิมได้อีกหรือเปล่า ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องพูดเรื่องการกำกับดูแลที่ต่างออกไปจากเดิม แต่หน้าตาของมันจะเป็นแบบไหน นั่นเป็นเรื่องที่เรายังสามารถดีเบตกันต่อไปได้
มีโมเดลการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มแบบไหนที่คุณสนใจเป็นพิเศษไหม
ทุกวันนี้มีการพูดถึงวิธีการกำกับดูแลอยู่หลายแบบ เช่น การกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมที่เก็บกับไรเดอร์และร้านอาหาร วิธีการลักษณะนี้เป็นการฝากความหวังไว้กับผู้คุมกฎ โดยสมมติเอาว่าถ้าเรามีการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมที่แน่ชัด แพลตฟอร์มก็ไม่สามารถที่จะเก็บค่าธรรมเนียม เก็บค่า GP ได้มากเท่าเดิม แต่ผมมองว่าวิธีการนี้อาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มมีอำนาจทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสที่เราจะบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งองค์กรภาครัฐหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมากก็เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ฉะนั้นหากมองในแง่เศรษฐศาสตร์การเมือง การตั้งกฎกติกาลักษณะนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
ผมมองว่าวิธีการกำกับดูแลที่เป็นธรรมที่สุดคือ การพยายามสร้างกรอบความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์หรือร้านอาหารเสียใหม่ ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์มีความเหลื่อมล้ำสูง ในขณะที่แพลตฟอร์มสามารถแก้ไขกฎระเบียบหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการทำงานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่สามเข้ามากำกับดูแล แต่ตัวไรเดอร์กลับไม่สามารถมีกระบวนการต่อรองหรือกระบวนการร้องทุกข์จากแพลตฟอร์มได้เลย เราจำเป็นต้องทำให้ความสัมพันธ์เท่ากันมากขึ้น
มาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มและไรเดอร์ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น คือการตีความสถานะของไรเดอร์เสียใหม่ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการออกกฎหมาย Assembly Bill 5 หรือ AB5 ที่กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการตีความสถานะของคนงานว่าเป็นพนักงานของบริษัทแพลตฟอร์มหรือเปล่า วิธีการแบบนี้จะเพิ่มอำนาจให้คนงานมากขึ้น
แล้วสถานะใหม่ของแรงงานแพลตฟอร์มควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เรื่องการตีความสถานะของแรงงานแพลตฟอร์มอาจไม่ได้จบแค่การบอกว่าคนเหล่านี้อยู่ในสถานะพนักงานหรือแรงงานอิสระ เพราะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่านั้น ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษมีการกำหนดสถานะของแรงงานไว้ 3 แบบคือ พนักงานของบริษัท (employee), คนทำงานอิสระ (freelancer) และคนงาน (worker) ซึ่งสถานะคนงานถือได้ว่าเป็นสถานะตรงกลางและเป็นสถานะของแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งคนงานอาจไม่มีสิทธิและสวัสดิการมากเท่าพนักงานของบริษัท แต่อย่างน้อยๆ เขาสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบสวัสดิการเต็มรูปแบบเหมือนพนักงานของแพลตฟอร์ม นี่ก็เป็นหนึ่งในวิธีการประนีประนอมระหว่างแพลตฟอร์มกับคนงาน
โมเดลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไม่ควรจะถูกปิดกั้นด้วยข้อจำกัดเรื่องจินตนาการหรือวิธีคิดตามโมเดลเศรษฐกิจแบบเก่า เพราะฉะนั้นโมเดลการกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อจากนี้อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นก็ได้ ในเมื่อประเภทของงานในแพลตฟอร์ม ณ วันนี้มีความแตกต่างหลากหลายมาก ยกตัวอย่างกลุ่มไรเดอร์กับกลุ่มแม่บ้านทำความสะอาด คนงานสองกลุ่มนี้มีวิธีการทำงานบนแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนกัน ถ้าลองนำมาเทียบกันเราพบว่ากลุ่มแม่บ้านทำความสะอาดมีอิสระในการทำงานกับหลายแพลตฟอร์มมากกว่าไรเดอร์
ฉะนั้นเมื่อแพลตฟอร์มมีการควบคุมการทำงานของคนงานในระดับที่ต่างกัน ความรับผิดชอบที่แพลตฟอร์มจะต้องมีต่อคนงานก็อาจไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เช่น แพลตฟอร์มทำความสะอาดอาจจะไม่ต้องถึงขนาดจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้กับคนงาน แต่ว่ามีสวัสดิการที่จำเป็นมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยการสัมผัสสารเคมีในระยะยาว รวมถึงต้องมีมาตรการพิเศษในการป้องกันการคุกคามทางเพศ
แต่ละสาขาอาชีพก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป คำถามนี้ไม่อาจมีคำตอบเดียวสำเร็จรูป เราต้องพิจารณาเป็นรายอาชีพ หรือแม้กระทั่งอาชีพในกลุ่มเดียวกัน แพลตฟอร์มแต่ละเจ้าก็มีเงื่อนไขและวิธีการทำงานที่ต่างกันไป เราอาจจะต้องถึงขั้นพิจารณาเป็นรายแพลตฟอร์มไป เรื่องนี้เป็นงานที่ทั้งใหญ่และยาก แต่ถ้าเราจะออกกฎหมายหรือกติกาใหม่ ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่เราต้องมีความเข้าใจวิธีการทำงานของแพลตฟอร์มและต้องมีพื้นที่ให้ความหลากหลายนี้ด้วย
เมื่อพูดถึงกฎหมาย คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงภาครัฐ คุณมองว่าที่ผ่านมาภาครัฐมีความเข้าใจประเด็นเรื่องแรงงานแพลตฟอร์มมากน้อยแค่ไหน
เราติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาโดยตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเราช่วยเหลือแรงงานแพลตฟอร์มในการทำเรื่องร้องเรียนปัญหาไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราค่อนข้างผิดหวังกับกระทรวงแรงงาน เพราะจากการพูดคุยกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานทำให้ได้รู้ว่า ภาครัฐยังมีความเข้าใจการจ้างงานลักษณะนี้ค่อนข้างน้อยและขยับตัวในเรื่องนี้ช้ามาก ผมเพิ่งรู้มาว่ากระทรวงแรงงานกำลังจ้างทีมนักวิจัยเพื่อศึกษาประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว
นอกจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องแรงงานแพลตฟอร์ม พบว่ายังมีอีกหนึ่งปัญหาอย่างวิธีคิดของกระทรวงแรงงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกโครงสร้างขององค์กร พูดง่ายๆ ว่าเรามีกองคุ้มครองแรงงานที่ดูแลแรงงานในระบบ กับกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่ดูแลแรงงานนอกระบบ การแบ่งในลักษณะนี้ก็ทำให้แรงงานแพลตฟอร์มตกอยู่ในร่องระหว่างแรงงานสองกลุ่มนี้เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มใดตามเกณฑ์แบ่งแยกเดิมได้ ส่งผลให้แรงงานแพลตฟอร์มไร้หน่วยงานดูแลอย่างชัดเจน
ฝั่งของกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบก็พยายามจะดึงแรงงานแพลตฟอร์มให้เข้าไปอยู่ในการดูแลของตัวเอง ในขณะที่กองคุ้มครองแรงงานที่ดูแลแรงงานในระบบก็พยายามปฏิเสธว่าไม่ใช่งานของเขา นี่เป็นแนวโน้มที่เราเป็นห่วง เพราะหากกระทรวงแรงงานพยายามจัดให้กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานนอกระบบไปโดยอัตโนมัติ จะเป็นการปิดโอกาสการสร้างบทสนทนาว่าสภาพการทำงานใหม่ที่เป็นธรรมควรเป็นอย่างไร และเป็นการปฏิเสธการเข้าถึงการคุ้มครองของแรงงานแพลตฟอร์มตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ เพราะฉะนั้นมันซับซ้อนกว่าที่กระทรวงแรงงานคิดไว้เยอะ
จากที่เราคุยกันมาทั้งหมด ผมคิดว่าทิศทางของมันกำลังชี้ไปว่า การจ้างงานบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายและเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเพื่อให้เราเข้าใจมันมากขึ้น
ทราบว่าทางสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมได้เข้าไปร่วมก่อตั้ง ‘สหภาพไรเดอร์’ อะไรคือวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ’สหภาพไรเดอร์’ ในครั้งนี้
การก่อตั้งสหภาพไรเดอร์เกิดขึ้นจากความต้องการของเหล่าคนงานไรเดอร์ที่ต้องการจะรวมกลุ่มกัน โดยมีทางสถาบันแรงงานฯ เป็นผู้สนับสนุนกระบวนการก่อตั้งสหภาพ เช่น มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์มหรือการพยายามเชื่อมต่อกลุ่มสหภาพไรเดอร์กับกลุ่มสหภาพแรงงานเดิมอื่นๆ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงาน ตลอดจนเปิดวงประชุมเพื่อพาเหล่าไรเดอร์และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน เพราะเราเชื่อว่าการเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดขบวนการจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานเป็นเครือข่าย โดยมีเป้าหมายคือการทำให้กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
เหมือนที่คุณพูดไว้ในช่วงต้น สหภาพแรงงานแพลตฟอร์มต่างจากสหภาพแรงงานเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องชุมชนคนงาน สถานที่ทำงานและลักษณะงานที่เป็นอิสระ แล้วฟังก์ชันของการก่อตั้งสหภาพแรงงานแพลตฟอร์มยังตอบโจทย์แรงงานยุคใหม่อีกไหม
ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงลัทธิสหภาพแรงงาน (unionism) ในไทย ในฐานะความคิดและหลักการไม่ได้มีการฝังรากลึกหรือแผ่ขยายไปในหมู่คนงานมากเท่าที่ควร เราไม่เคยมีการพูดถึงสหภาพแรงงานในโรงเรียน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะไม่เข้าใจและไม่รู้จักสหภาพแรงงาน แม้เราจะมีกระบวนการพัฒนาทางอุตสาหกรรมมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่สมาชิกภาพหรือความหนาแน่นของสหภาพแรงงานในภาคเอกชนไทยกลับมีน้อยมากและขณะเดียวกันฟังก์ชันของสหภาพแรงงานในเชิงสถานประกอบการเองก็มีไม่มาก เราแทบไม่ค่อยได้เห็นบทบาทของสหภาพ
แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วสหภาพแรงงานยังเป็นองค์กรแรงงานที่มีความสำคัญอีกไหม ในบริบทโลก ผมคิดว่าสหภาพแรงงานไม่เคยลดทอนความสำคัญของตัวเองลงไป ในฐานะองค์กรที่จะช่วยคุ้มครองแรงงาน รวมถึงเรียกร้องหรือพัฒนาสถานภาพการทำงานที่ดีในสถานประกอบการของคนงาน แต่สำหรับบริบทเมืองไทย เราจะเห็นสหภาพแรงงานเหล่านี้ได้แค่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมหนักเช่นเหล็กและเคมีภัณฑ์ แต่สถานประกอบการขนาดกลางและเล็กจำนวนมากไม่ได้มีสหภาพแรงงาน ถึงแม้บางครั้งแรงงานจะมีความพยายามจัดตั้ง แต่สุดท้ายนายจ้างหรือผู้ประกอบการบางแห่งก็ไม่ค่อยยอมรับสหภาพแรงงานลักษณะนี้ อย่างที่เราเห็นในกลุ่มแรงงานย่านรังสิตหรือย่านสมุทรปราการ
เพราะฉะนั้นกลุ่มสหภาพแรงงานไม่ได้ฟังก์ชันในลักษณะสถานที่ทำงานเพราะทำได้ยาก แต่พวกเขาใช้พื้นที่ทางการเมืองในการรวมตัวกันและขับเคลื่อนทางการเมืองแทน แต่ถึงแม้กลไกของสหภาพจะไม่ได้ทำงานภายใต้กรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่กลไกของสหภาพในฐานะการรวมตัวกันของคนงานที่จะสะท้อนเสียงแรงงานและเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองนั้นฟังก์ชันและมีความสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 70 สำหรับผมสหภาพแรงงานไทยฟังก์ชันในแง่นั้นมากกว่า
อีกประเด็นคือมักจะมีคนบอกว่าสหภาพแรงงานควรทำหน้าที่ในการนัดหยุดงาน ต้องมีการสไตรก์เท่านั้น แรงงานถึงจะมีพลัง แต่ที่ผ่านมาหลายสิบปีเราเห็นแล้วว่าสหภาพแรงงานไทยไม่สามารถสไตรก์ได้ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายแรงงานที่ไม่อนุญาตให้สามารถทำได้ จำเป็นต้องมีการขออนุญาต หรือกำหนดเงื่อนไขว่าจะนัดหยุดงานได้ก็ต่อเมื่อถึงจุดที่การเจรจาต่อรองไม่เป็นผลแล้ว มีรายละเอียดเยอะมาก
แต่หลังจากที่กลุ่มไรเดอร์มารวมตัวกันและก่อตั้งสหภาพไรเดอร์โดยไม่มีการจดทะเบียน เขากลับสามารถสไตรก์ได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนอะไรหลายอย่าง เราเคยคิดว่าแรงงานจำเป็นต้องสไตรก์จึงจะมีพลังอำนาจ แต่ในเมื่อกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถไปต่อได้ แต่การที่คนงานกลุ่มนี้ไม่ได้มีกฎหมายชัดเจนว่าสถานะเขาเป็นอะไร กลับอนุญาตให้เขาสามารถที่จะขยับขยายการใช้อำนาจของเขาได้
ฉะนั้น อาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสหภาพแบบที่กฎหมายรองรับหรือไม่รองรับ ขอเพียงแค่การรวมกลุ่มกันครั้งนี้ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงานแพลตฟอร์ม แค่นี้ก็มีความสำคัญในตัวของมันเองแล้ว
โมเดลแพลตฟอร์มในฝันของคุณมีหน้าตาเป็นอย่างไร
มีหนึ่งโมเดลแพลตฟอร์มที่เราพยายามนำเสนอคือ สหกรณ์แพลตฟอร์ม (platform co-op) หัวใจของแพลตฟอร์มนี้คือการเอาข้อดีของทั้งสองโมเดลมารวมกันไว้ในที่เดียว อธิบายง่ายๆ ว่าเราหยิบข้อดีเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรและอำนาจการตัดสินใจของสมาชิกมาผสมรวมกับการทำงานของระบบแพลตฟอร์ม โดยระบบการทำงานของสหกรณ์แพลตฟอร์มจะเป็นลักษณะคนงานทั้งหมดเป็นเจ้าของร่วมกัน การบริหารตลอดจนการกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรจะเกิดจากการที่คนงานทั้งหมดมาตัดสินใจร่วมกัน
ในต่างประเทศก็มีการใช้โมเดลนี้บ้างแล้ว เช่น ในสหรัฐฯ เกิดแพลตฟอร์ม Up and Go หรือ แพลตฟอร์มรับจ้างทำความสะอาดที่มีแม่บ้านเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกันเอง ซึ่งแพลตฟอร์มในลักษณะนี้ก็ตอบโจทย์แม่บ้านในเมืองไทยได้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เนื่องจากเขาสามารถกำหนดราคาเองได้ หรือเรื่องการจัดสรรงานที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่ง pain point สำคัญของแรงงานแพลตฟอร์ม เหล่าแม่บ้านจะรู้ได้ทันทีว่าใครควรรับงานที่ไหนหรืองานดังกล่าวควรเป็นของใคร ฉะนั้น ผมมองว่าโมเดลสหกรณ์แพลตฟอร์มตอบโจทย์ได้ในหลายๆ เรื่อง
ความยั่งยืนคือหนึ่งข้อท้าทายหลักของแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมต่อแรงงาน เช่นโมเดลแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือโมเดลเชิงอาสาต่างก็ต้องเจอกับข้อท้าท้ายนี้ คุณมองเรื่องความยั่งยืนของสหกรณ์แพลตฟอร์มไว้อย่างไร
แน่นอนว่าแม้จะมีคนงานเป็นเจ้าของร่วมกันหรือจะมีการจ้างงานแบบมีจริยธรรม แต่สหกรณ์แพลตฟอร์มยังคงมีรูปแบบการทำงานแบบธุรกิจ ที่ต้องใส่ know how เรื่องการบริหารจัดการกับคนงานและต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราจะสร้างให้สหกรณ์แพลตฟอร์มเกิดขึ้นมาได้จริง หนึ่งตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งคือระบบนิเวศและโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะมาสนับสนุนแพลตฟอร์มนี้ ในต่างประเทศจะมีการรวบรวมคนหลายกลุ่มเข้ามาทำงานด้วยกัน หรือมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟักไข่ (incubator) จากหลายสายงานไม่ว่าจะเป็น co-op developer หรือ business consultant เพื่อมาช่วยฟักไข่แพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีระบบ funding ซึ่งสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจลักษณะนี้โดยตรง เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในแง่ของชุมชน และหากธุรกิจสามารถดำเนินไปได้จริง สุดท้ายแล้วผลตอบแทนหรือผลกำไรก็จะกลับคืนสู่คนในชุมชน
ดังนั้น เราต้องกลับมาถามหรือเปล่าว่าความยั่งยืนที่ว่าคืออะไร ถ้าหากว่าธุรกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีกำไร แต่ต้องขูดรีดแรงงานและชุมชนก็อยู่ไม่ได้ มันอาจจะไม่ใช่ความหมายของความยั่งยืนที่เป็นธรรม แต่ยอมรับว่าการจะสร้างให้เกิดโมเดลแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมจำเป็นต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโต
อาจจะฟังดูเป็นเป้าหมายที่อุดมคติพอสมควร แต่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการบริหารจัดการและวิธีคิดเรื่องความเป็นธรรมมากขึ้น ระบบการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะต้องเปลี่ยนมามองว่า การให้ทุนกับธุรกิจลักษณะนี้จะส่งผลดีและมีความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการสนับสนุนธุรกิจที่อาจจะมีผลกำไรดีแต่ว่าขูดรีดคนงาน
ภายใต้กรอบของความเป็นธรรมจำเป็นที่จะต้องยกระดับความคิดในหลายๆ เรื่อง ซึ่งก็เป็นโจทย์ยากทั้งนั้น
เศรษฐกิจที่เป็นธรรมต่อแรงงานในอุดมคติของคุณคืออะไร
ในระดับปัจเจก เศรษฐกิจควรจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้พัฒนาศักยภาพในตัวของเขาเอง ในมิติที่เขาปรารถนา ไม่ว่าเป้าหมายในชีวิตของเขาจะเป็นเรื่องอะไร ถ้าเขาอยากให้ลูกหลานขยับฐานะจากชนชั้นแรงงานขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง เศรษฐกิจควรตอบโจทย์เป้าหมายนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนในระดับโครงสร้าง หน้าตาของเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนงานซึ่งเป็นเจ้าของกำลังแรงงานมีอำนาจในการกำหนดและตัดสินใจการใช้กำลังแรงงานของเขาเองว่าจะเอาไปใช้อะไร โดยไม่ต้องกังวลผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย การสูญเสียสิทธิทางการเมือง หรือต้องแลกมาด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
ถ้าจะตอบแบบสั้นๆ แรงงานจำเป็นต้องมีทางเลือกและเสรีภาพในระดับที่เขาพึงพอใจ ทุกวันนี้ทางเลือกมีความหมายเปลี่ยนไปมาก ทางเลือกที่มีอยู่ขณะนี้เป็นทางเลือกที่ถูกคนกลุ่มหนึ่งกำหนดมาให้แล้วว่านี่คือทางเลือกและแรงงานจำใจต้องเลือก ซึ่งทั้งหมดคงเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าเศรษฐกิจของเรายังคงเป็นเศรษฐกิจที่มีทุนเป็นตัวนำ
ฉะนั้น หัวใจของการทำงานของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม คือการพยายามสร้างอำนาจให้กับคนทำงานเพื่อให้เขามีทางเลือกและมีเสรีภาพที่ดี
ในอนาคตยังมีโจทย์วิจัยหรืองานความรู้ประเด็นใดเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่คุณคิดว่าสำคัญและควรค่าแก่การศึกษาต่อ
งานวิจัยชิ้นปัจจุบัน เราขยับจากการศึกษาไรเดอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมาเป็นการศึกษาแรงงานแพลตฟอร์มในงานด้านการดูแล (care work) ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง งานวิจัยนี้เปิดโอกาสให้เราได้เข้าใจมิติที่ซับซ้อนของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในมิติเพศ (gender) การศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มใช้ประโยชน์จากสังคมชายเป็นใหญ่อย่างไรบ้าง ซึ่งประเด็นใหญ่ๆ ของงานวิจัยของแรงงานแพลตฟอร์มหญิงมีอยู่ 3A ด้วยกัน
Autonomy หรือความเป็นเอกเทศ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอิสรภาพอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความสามารถในการกำหนดรูปแบบการทำงาน หรือความสามารถในการกำหนดเวลาทำงานในแต่ละวัน
Access หรือการเข้าถึงตลาดแรงงาน ตกลงแล้วเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทำให้คนงานหญิงมีโอกาสในการเข้าถึงตลาดแรงงานได้มากน้อยแค่ไหน คนงานหญิงมีอุปสรรคในการเข้าถึงงานลักษณะนี้หรือไม่ รวมไปถึงผู้หญิงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา และพื้นเพที่ต่างกันถูกกีดกันในการเข้าถึงตลาดแรงงานลักษณะนี้หรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาขาอาชีพด้วย เช่นเราพบว่า แรงงานหญิงในงานทำความสะอาดบ้านส่วนใหญ่จะมีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนักและไม่ได้มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จากเรื่องนี้ก็นำไปสู่การตอบคำถามอีกหลายเรื่อง เช่น จริงๆ แล้วเศรษฐกิจแพลตฟอร์มช่วยเปิดโอกาสให้คนงานหญิงมี career path ในอนาคตหรือไม่
Agency หรืออำนาจในการต่อรองกับข้อจำกัดหรือสภาพการทำงานของแรงงานหญิง เช่นในแรงงานหญิงกลุ่มแม่บ้านกับพนักงานนวดส่วนใหญ่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราเคยได้ยินผู้บริหารแพลตฟอร์มพูดเองว่า เขาตั้งใจจ้างแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะเป็นกลุ่มที่มีทางเลือกน้อยและมีความรับผิดชอบทางการเงินสูง ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ยอมรับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ได้มากกว่ากลุ่มอื่น
จากงานวิจัยชิ้นเดียวเปิดให้เราเห็นหลายมิติโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมิติเศรษฐกิจในความหมายแคบกับเศรษฐกิจในความหมายเชิงวัฒนธรรม เป็นงานวิจัยที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะแม้แต่ในต่างประเทศเอง การศึกษาเรื่องแรงงานแพลตฟอร์มหญิงก็ยังมีจำนวนน้อย ตอนนี้งานวิจัยอยู่ในขั้นตกผลึกกับชุดข้อมูลและคิดว่าน่าจะได้ตีพิมพ์ในช่วงปลายปีนี้ รอติดตามกันได้ครับ