fbpx
ปลุก ‘กระสือ’ ในโลกการ์ตูนผีของ ‘ทวี วิษณุกร’

ปลุก ‘กระสือ’ ในโลกการ์ตูนผีของ ‘ทวี วิษณุกร’

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

“หนูเป็นคนยุคใหม่ หนูไม่อะไรกับเรื่องแบบนี้ ถ้าเป็นพวกผีปอบหนูก็อาจจะเชื่อบ้าง แต่กระสือคือหนูไม่เชื่อ”

คำสัมภาษณ์ของหญิงสาวผ่านรายการโทรทัศน์ ให้ความเห็นในข่าวที่ว่าชาวบ้านพบผีกระสือที่บ้านร้างเมื่อปลายปี 2561

ความเชื่อเรื่องผีปอบและผีกระสือในชนบทเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อคนในชุมชน เมื่อเกิดข่าวลือว่ามีผู้พบเห็นผีชนิดดังกล่าว สร้างความหวาดกลัวที่อาจนำไปสู่การกล่าวหาใครสักคนว่าเป็นผีจนเกิดการกีดกันออกจากสังคม

การกล่าวหาคนในหมู่บ้านว่าโดนผีสิง แม้จะดูเป็นเรื่องโบร่ำโบราณ แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ยังปรากฏข่าวลักษณะนี้ โดยเฉพาะการกล่าวหาเรื่องผีปอบที่ถูกนำมาใช้โจมตีคนที่มีพฤติกรรมแปลกแยกจากคนอื่น ต่างจากผีกระสือที่มีการขยายความเข้าใจมากขึ้น ว่าภาพกระสือที่ถูกจดจำกันในสังคมไทยนั้นเกิดจากจินตนาการของนักเขียนการ์ตูนและถูกนำมาผลิตซ้ำผ่านภาพยนตร์

อย่างไรก็ดี เรื่องกระสือเป็นความเชื่อร่วมกันของดินแดนอุษาคเนย์ที่มีเรื่องเล่าถึงผีที่มีลักษณะคล้ายกระสือของไทย คือเป็นหัวผู้หญิงที่ถอดออกจากร่างพร้อมอวัยวะภายใน ล่องลอยพร้อมแสงเรืองวาบยามค่ำคืน อันจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

หลักฐานที่มีการพูดถึงกระสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ส่วนพระอัยการเบ็ดเสร็จ ซึ่งระบุความผิดเกี่ยวกับ ฉมบ, จะกละ, กระสือ, กระหัง แม้จะไม่ได้อธิบายลักษณะกระสือไว้ แต่สะท้อนให้เห็นความเชื่อเรื่องผีของคนสมัยอยุธยา (ดูที่บทความ ผีในกฎหมายตราสามดวง)

ถัดมาเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ภาพของกระสือถูกอธิบายไว้อย่างชัดเจนในงานเขียนของ พระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) เขียนไว้เมื่อปี 2495 ในหนังสือ เรื่องผีสางเทวดา ว่า

“ผีกระสือนั้นทราบแต่ว่าเป็นผีผู้หญิง โดยมากมักเป็นยายแก่ มันชอบกินของสดคาวและชอบออกหากินในเวลากลางคืนดึกๆ มันไปแต่หัวและตับไตไส้พุงเท่านั้น ส่วนร่างกายไม่ไปด้วยคงทิ้งไว้ที่บ้าน อย่าถามเลยว่าไปได้อย่างไร เพราะขึ้นชื่อว่าผี เรื่องเหตุผลหรือเรื่องเป็นไปไม่ได้ย่อมไม่มี เมื่อไปจะเห็นเป็นดวงไฟเป็นแสงเรืองวาบๆ สีเขียวเป็นดวงโต”

แต่ภาพจำของกระสือที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่นั้นมาจากนิยายภาพเรื่อง ‘กระสือสาว’ ของ ทวี วิษณุกร ที่เขียนเป็นตอนลงหนังสือการ์ตูน ‘หนูจ๋า’ ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ตั้งแต่ปี 2511-2516 และได้มีการนำมารวมเล่มพิมพ์ใหม่ 9 เล่มจบ ก่อนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘กระสือสาว’ ในปี 2516 โดย ศรีสยามโปรดักชั่น นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์ ซึ่งทวีได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงสมทบด้วย

 

ทวี วิษณุกร

‘กระสือสาว’ งานมาสเตอร์พีซของ ‘ทวี วิษณุกร’

 

ทวีสร้างผลงานในช่วงยุครุ่งเรืองของการ์ตูนไทย จากการเริ่มต้นวางแผงการ์ตูนสำหรับเด็กเล่มแรกอย่างหนังสือการ์ตูน ‘ตุ๊กตา’ จนหลังปี 2500 เริ่มมีหนังสือการ์ตูนออกมาหลากหลายหัวอย่าง ‘เบบี้’ และ ‘หนูจ๋า’ ในเครือบรรลือสาส์น ซึ่งเป็นที่รวมเหล่าจอมยุทธ์ในวงการการ์ตูนไทยถึงปัจจุบัน

ทวี เย็นฉ่ำ เจ้าของนามปากกา ทวี วิษณุกร เกิดปี 2484 ที่ลพบุรี ในครอบครัวเกษตรกรเชื้อสายมอญจีนลาวไทย โดยมีพ่อเป็นหัวหน้าคณะลิเก ‘ส่งเสริมวาทศิลป์’ ทำให้เขาได้เขียนฉากลิเกและแสดงความสนใจในศิลปะตั้งแต่เด็ก หลังจบ ม.6 ทวีเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อโรงเรียนเพาะช่างในปี 2503 แม้ที่บ้านจะไม่สนับสนุนและยืนยันว่าต้องหาเงินเรียนเอง แต่ก็ยังส่งเงินให้บ้าง ทวีหาเงินด้วยการเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์ เรื่องแรกคือ แม่นาคพระโขนง (2503) ซึ่งช่วงนั้นกำลังเป็นที่นิยมเพราะมีภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในโรง

ทวียังหาเงินด้วยการรับจ้างหาบข้าวแกงส่งให้ร้านแถวพาหุรัด ซึ่งเป็นร้านน้าของ ‘พร ภิรมย์’ นักร้องเพลงแหล่รางวัลแผ่นเสียงทองคำ ทวียังได้พบรักกับหลานสาวเจ้าของร้าน ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 14 ปี และได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา

‘วงเดือน’ หรือ เบญริสา เย็นฉ่ำ ลูกสาวของทวี เล่าว่าสมัยนั้นตอน พร ภิรมย์ แต่งเพลงอยู่ที่บ้าน จะใช้ไฟแช็คเคาะหน้าต่างให้จังหวะไปด้วย เมื่อแต่งเสร็จก็นำมาให้แม่ของเธอร้องไกด์เป็นตัวอย่างให้ฟัง จนแม่ได้เจอกับพ่อและแต่งงานตอนอายุ 16

“ตอนหาบข้าวแกงขาย พ่อยังได้เจอกับ ‘ประจวบ จำปาทอง’ มารับข้าวแกงหาบไปขายพร้อมกัน แล้วคุณประจวบเขาก็ใส่เสื้อนอกหาบข้าวแกง เขาบอกว่าฝรั่งเห็นจะได้บอกว่าคนไทยรวย (หัวเราะ) ใส่สูทหาบข้าวแกงขาย พ่อก็รู้จักกับคุณประจวบที่นั่น”

ผลงานของทวีเป็นการวาดอินเดียอิงค์ ตัดเส้นด้วยปากกาคอแร้งบนกระดาษอาร์ตขนาด A3 โดยสำนักพิมพ์ต้องนำต้นฉบับไปย่อก่อนตีพิมพ์ ผลงานเรื่องแรกที่เปิดตัวคือการ์ตูนผี แม่นาคพระโขนง โดยในระยะแรกเริ่มมักเขียนเรื่องอิงจากนิทานพื้นบ้าน เน้นเรื่องราวการผจญภัยและอภินิหาร เช่น แก้วหน้าม้า, โกมินทร์กุมาร, จอมไพรจอมสิงขร, ราชาร้อยเล่ห์, สองอัศวินดาบดำ, เห้งเจียผู้วิเศษ

ทวีย้ายบ้านไปอยู่อยุธยาและเริ่มเขียนเรื่อง กระสือสาว ในปี 2511 ลงการ์ตูนหนูจ๋าเป็นเวลา 5 ปีและประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงเขียนการ์ตูนผีอย่างต่อเนื่อง เช่น นางตานี ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนสยองขวัญ, ลูกสาวผี ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนรวมรสสำราญ, ผีหัวขาด ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนหนูจ๋า, โรงแรมผี ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนช็อค

วงเดือน เล่าว่าตอนที่กระสือสาวตีพิมพ์เธออายุเพียง 6 ขวบ การเขียนการ์ตูนของพ่อเป็นรายได้หลักที่มาเลี้ยงครอบครัว โดยแม่จะเป็นคนช่วยตัดกระดาษ ตรวจปรู๊ฟ และนำต้นฉบับขึ้นรถไฟจากอยุธยามาส่งโรงพิมพ์ที่กรุงเทพฯ

“บางทีไม่มีเงิน แต่มีต้นฉบับแผ่นเดียวแม่ก็ไปส่ง สมัยนั้นค่ารถไฟ 4 บาท ถ้ามีต้นฉบับทุกวันแม่ก็ไปส่งให้ทุกวัน แต่พ่อจะเป็นประเภทที่มีอารมณ์ถึงจะเขียน ไม่มีอารมณ์ก็ออกไปเดินเล่นข้างนอก นั่งกินกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ที่ร้านกาแฟทั้งวัน จนแม่โมโห ตังค์ก็ไม่มีไปนั่งกินกาแฟทั้งวันไม่กลับบ้าน เขาบอกไปนั่งเก็บข้อมูล อ่านหนังสือพิมพ์ คุยกับคนแก่แถวนั้นแล้วเอามาเขียน คนที่พ่อไปคุยด้วยบ่อยสุดคือ ตาประเสริฐ พ่อของพร ภิรมย์”

 

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ และ เบญริสา เย็นฉ่ำ

 

วงเดือนบอกอีกว่า นอกจากการเก็บข้อมูลผ่านการพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ทวียังชอบอ่านหนังสือทุกประเภท ชื่อตัวละครมักอิงมาจากชื่อคนในหมู่บ้าน ฉากก็มักอิงมาจากสภาพแวดล้อมในอยุธยาที่มีเจดีย์มาก และยังเคยตั้งชื่อหมู่บ้านในการ์ตูนว่า ‘หมู่บ้านโขมงหัก’ ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่มีจริงในกำแพงเพชร การเขียนฉากนรกก็อิงจากไตรภูมิพระร่วง

“พ่อเป็นคนใจดี พี่ชอบให้พ่อไปส่งงานเพราะพ่อจะขนการ์ตูนทุกอย่างของบรรลือสาส์นใส่กระเป๋าเจมส์บอนด์ไปให้ลูกอ่าน สมัยนั้นบรรลือสาส์นเป็นเบอร์ 1 พิมพ์การ์ตูนหลายแนว ลูกก็ชอบอ่านการ์ตูนตอนกินข้าว แม่เห็นก็ว่า แต่พ่อไม่ว่า ที่ลูกๆ เป็นคนชอบอ่านเพราะมาจากพ่อด้วย”

บรรลือสาส์นยังเป็นที่รวมยอดฝีมือวงการการ์ตูนในยุคนั้น โดยทวีจะสนิทกับ อาจุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) อาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ์) ทวียังได้เขียนการ์ตูนตลกลงหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะเล่มแรกๆ ด้วย แต่พบว่าไม่ถนัด จึงหันมาเขียนแต่การ์ตูนผี

กระสือสาว นับเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ทวีเมื่อถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ทำให้เขาเขียนการ์ตูนผีอย่างต่อเนื่อง จนการ์ตูนผีญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาสู่นักอ่านไทย ทวีจึงหันไปเขียนแนวบู๊อิงประวัติศาสตร์คือเรื่อง เลือดทาส และแนวบู๊ดรามา ชีวิตเดือด ซึ่งถือเป็นเรื่องสุดท้าย

วงเดือนเล่าว่าช่วงนั้นพ่อกับแม่เลิกรากัน ทวีย้ายไปอยู่กำแพงเพชร แต่งงานใหม่และไม่ได้เขียนการ์ตูนอีก จึงฝึกภาษาอังกฤษเตรียมไปเป็นโฟร์แมนที่ซาอุฯ แต่ได้มาเจอหลานเจ้าของบรรลือสาส์น ชักชวนให้ไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ในปี 2527 ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระเครื่อง ก่อนจะหันไปทำนิตยสารเองชื่อ ‘มหาสิทธิโชค’ และหนังสือการ์ตูน ‘โลกหัวเราะ’ ได้เพียง 2 ปีก็ต้องยุติกิจการ และมาเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับพระสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อภินิหาร การดูลายมือ และเขียนนิยายผี

ปัจจุบันทวีอายุ 78 ปี ป่วยด้วยอาการอัมพาตและอยู่ในการดูแลของครอบครัว

 

ทวี วิษณุกร กับ ราช เลอสรวง ยอดฝีมือการ์ตูนบู๊ร่วมรุ่นเดียวกัน

 

ภาพยนตร์กระสือสาว ฉายปี 2516 อำนวยการสร้างโดย บันลือ อุตสาหจิต

 

นวัตกรรมใหม่วงการผีไทย

 

“ลักษณะเด่นสำคัญของอาจารย์ทวีคือเป็นนักเขียนที่มีการออกแบบผีได้หลากหลายมากๆ แต่ละเรื่องจะไม่ค่อยซ้ำหน้ากัน เป็นผีที่น่ากลัวทุกแบบ บางคนจะวาดผีหัวกลมๆ ตาโบ๋ๆ แต่อาจารย์จะลงรายละเอียด บางตัวปากกว้าง บางตัวตาคล้ำ ลิ้นยาว แต่ละตัวจะมีดีไซน์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คอหนังผีหรือคนที่ชอบเรื่องผี จะชอบงานของอาจารย์ทวีมาก เพราะจุใจกับการได้เห็นผีในแนวที่แตกต่างออกไป”

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ บรรณาธิการฝ่ายภาพ อนุสาร อ.ส.ท. และบรรณาธิการสำนักพิมพ์วิษณุกร เล่าถึงความโดดเด่นในการ์ตูนผีของทวี

ภาคภูมิเล่าว่าจากนักอ่านที่ชื่นชอบการเขียนการ์ตูน ครั้งหนึ่งเขาไปเดินซื้อหนังสือแล้วมีคนบอกว่าปรมาจารย์การ์ตูนสยองขวัญญี่ปุ่นคือ จุนจิ อิโต้ ผู้เขียน ‘ก้นหอยมรณะ’ เขาจึงซื้อมาทั้งเซ็ต เมื่อมาอ่านแล้วรู้สึกรำลึกความหลังว่าสมัยเด็กมีนักเขียนการ์ตูนผีไทยที่ฝีมือไม่แพ้กันเลยคือ ทวี วิษณุกร เขาจึงตามหาซื้อหนังสือเก่าตามเว็บไซต์ แล้วมีคนแนะนำให้ติดต่อกับวงเดือนผู้เป็นลูกสาว เมื่อติดต่อไปก็ถูกปฏิเสธว่าไม่มีหนังสือเก่าเก็บไว้แล้ว

ต่อมาคนเอาเรื่อง แก้วหน้าม้า ของทวีมาตีพิมพ์ใหม่ ภาคภูมิจึงสั่งซื้อ ก่อนจะถูกเบี้ยว ได้มาเพียงหนังสือถ่ายเอกสารเล่มบางๆ จึงโวยไปที่วงเดือนซึ่งมีชื่อเป็นผู้ส่งแต่พบว่าไม่เกี่ยวข้องด้วย จึงแนะนำวงเดือนว่าถ้าจะนำผลงานของอาจารย์ทวีมาตีพิมพ์ใหม่ ควรเลือกเรื่องที่เป็นมาสเตอร์พีซอย่างกระสือสาวและเรื่องผีอื่นๆ ซึ่งเป็นผลงานที่ภาคภูมิเองก็อยากเก็บสะสมด้วย และสุดท้ายเขาจึงเข้ามาเป็นบ.ก.สำนักพิมพ์วิษณุกรเอง

ยุคที่ทวีเริ่มเขียนการ์ตูนเรื่องแรกนั้น การ์ตูนผีได้รับความนิยมอยู่แล้วในตลาดนักอ่าน แต่ผลงานของทวีจะเน้นที่ความเป็นไทยผสมผสานกับความชอบเรื่องผี ภาคภูมิบอกว่าแม้แต่การ์ตูนที่อิงมาจากวรรณคดี เช่น ไกรทอง อาจารย์ทวีก็จะแทรกเรื่องผีเข้าไปเสมอ แม้แต่ในเรื่องที่ไม่มีบทผี

 

 

ภาคภูมิอ่านผลงานของทวีตั้งแต่เด็ก นับแต่เรื่องแม่นาคพระโขนง และอีกเรื่องที่เขาประทับใจมาก คือเรื่อง ลูกสาวผี ที่มีฉากคล้ายแถวบ้านเขาจนรู้สึกว่าเป็นผีที่อยู่ใกล้ๆ บ้านตัวเอง เป็นอีกเรื่องที่น่ากลัวมากตั้งแต่เห็นหน้าปก

“งานของอาจารย์เน้นบรรยากาศพื้นบ้านที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นไทย ต่างจากนิยายภาพของคนอื่น คนอ่านงานอาจารย์ทวีจะเห็นว่ามีความใกล้ตัว อย่างกระสือสาวที่ดังมาก เพราะคนอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นผีที่ลงบันไดบ้านไปก็น่าจะเจอได้แล้ว หลายคนบอกว่างานของอาจารย์ทวีจะมีลักษณะเด่น คือเป็นผีที่น่าจะได้เจอได้จริง น่ากลัวกว่าผีที่เป็นเรื่องไกลตัว อาจารย์ทวีเก็บรายละเอียดสภาพแวดล้อม ต้นไม้ บ้านเรือน เหมือนที่เป็นในสมัยนั้นจริงๆ คนอ่านก็จินตนาการแล้วมีอารมณ์ร่วมว่าผีในเรื่องอยู่แถวๆ บ้านตัวเอง

“บ้านผมสมัยนั้นก็มีใต้ถุน แล้วไม้กระดานจะมีร่อง ตอนกลางคืนถ้าอะไรหล่นลงมาใต้ถุนนี่ไม่เก็บแน่ๆ แล้วต้องพยายามไม่นั่งตรงร่อง กลัวมันจะล้วงขึ้นมา (หัวเราะ)”

ทวีได้แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายภาพจาก เหม เวชกร ที่มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่เพาะช่าง ภาคภูมิเล่าว่าคนที่ชอบเรื่องผีในยุคนั้นไม่มีใครไม่ชอบครูเหมที่เขียนเรื่องผีได้น่ากลัว เรื่องผีของครูเหมจะเน้นบรรยากาศ ไม่ค่อยเห็นตัวผี แต่งานของทวีจะโดดเด่นที่การออกแบบผี เช่น ผีกระสือ ในความเชื่อคนไทยสมัยก่อนจะพูดกันแค่ว่าเป็นดวงไฟวูบวาบตามที่มืด ที่สกปรก ไม่มีหลักฐานว่าหน้าตาเป็นยังไง แต่รูปหัวผู้หญิงติดกับไส้ลอยอยู่ในอากาศนั้นเป็นดีไซน์ของทวี

“อาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กอยู่กระท่อมในต่างจังหวัด กลางคืนออกมาฉี่ข้างนอกมองต้นไผ่หน้าบ้าน ก็เห็นเหมือนหน้าผู้หญิงลอยอยู่สูงๆ แล้วเอามาผสมกับเรื่องที่คุณพ่อของอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ตอนไปเป็นทหารที่เขมร มีทหารเขมรคนหนึ่งฟันเมียตัวเองตายเพราะเห็นดวงไฟมาเข้าร่าง จึงเอามาประกอบกัน แล้วดีไซน์ออกมาเป็นผีที่มีหัวกับไส้ ก่อนหน้านี้จะไม่มี ทุกคนเลยตื่นเต้นตอนสร้างเป็นภาพยนตร์ มันคือสิ่งใหม่ เป็นนวัตกรรมของผีเลยก็ว่าได้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังแปลงร่าง เพราะกระสือคือการแปลงร่าง จากร่างหนึ่งเป็นอีกร่างหนึ่งที่มีพลังวิเศษ”

เขาบอกว่าก่อนทวีจะเขียนรูปกระสือออกมา เวลามีคนเห็นกระสือจะเล่าลักษณะออกมาแตกต่างกัน เช่นที่พ่อของภาคภูมิเคยเล่าให้ฟังว่า มีคนเห็นผีกระสือติดอยู่ในกอไผ่ที่กาญจนบุรี มีหัวติดกับไส้และแขน แตกต่างจากภาพจำของกระสือไทยในปัจจุบันที่จะติดภาพจากดีไซน์กระสือของทวี

 

ต้นฉบับกระสือสาว

 

 

การ์ตูนผี สนองอารมณ์ สะท้อนสังคม

 

บ.ก.สำนักพิมพ์วิษณุกร มองว่าสิ่งที่ทำให้การ์ตูนผีได้รับความนิยมตั้งแต่ยุคการ์ตูนเล่มละห้าบาทไซส์ใหญ่ในยุคของทวี จนถึงยุคการ์ตูนเล่มละบาทที่รูปเล่มเล็กลงเข้าถึงคนจำนวนมากได้ เพราะผีเป็นเรื่องลี้ลับที่คนอยากรู้อยากเห็น เช่นสมัยนี้ที่ยังมีการไปถ่ายวิดีโอตามบ้านร้างอยู่ ขณะที่หนังสือเป็นความบันเทิงที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ในยุคนั้น

“เรื่องผีได้รับความนิยมเยอะ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้อยากเห็นโดยธรรมชาติ จากความไม่ชัดเจนเท่าเรื่องอื่นในชีวิต เรารู้ว่าความเศร้า ความสนุกสนาน ตลกขบขันเป็นยังไง แต่พอเป็นเรื่องผีมันไม่มีตัวตนชัดเจน เป็นจินตนาการที่นักเขียนจะใส่ลงไป จึงเป็นเรื่องที่ทำให้คนสนใจ ผีของแต่ละคนก็มีลีลาในการหลอกไม่เหมือนกัน เรื่องราวไม่เหมือนกัน ก็เลยได้รับความนิยม”

ภาคภูมิมองว่าการ์ตูนผีในยุคเล่มละห้าบาท มีความโดดเด่นกว่าเล่มละบาท เนื่องจากเป็นหนังสือไซส์ใหญ่กว่า จำนวนหน้าเยอะกว่า เห็นภาพได้เต็มตาและเนื้อเรื่องจุใจ อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการ์ตูนเล่มละบาทในเวลาต่อมา แต่กลับมีคนศึกษาน้อย

“ทั้งเล่มละห้าบาทและเล่มละบาท มีการ์ตูนหลากหลายแนวเหมือนกัน ทั้งแนวผจญภัย แฟนตาซี กำลังภายใน แต่คนจะจดจำและศึกษาเฉพาะการ์ตูนผีเล่มละบาท อาจเพราะการ์ตูนผีจะเด่นตั้งแต่หน้าปกเป็นที่จดจำง่าย และการ์ตูนเล่มละบาทซื้อง่าย เล่มเล็กราคาถูก เป็นความบันเทิงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงกระจายมาสู่ชนชั้นล่างมากขึ้น แม่ค้าในตลาดก็ซื้อมาอ่านเล่นระหว่างรอลูกค้า ต่างจากเล่มละห้าบาทที่อาจแพงไปหน่อยสำหรับการซื้อมาอ่านเล่น แม้ราคาหนังสือจะกลายเป็นการแบ่งคุณภาพการเขียน แต่ช่วงหลังที่เล่มละบาทบูมมากๆ ก็มียอดฝีมือมาเขียนเล่มละบาทด้วย ยกเว้นอาจารย์ทวี”

ภาคภูมิบอกว่าเหตุที่ราคาหนังสือเป็นเส้นแบ่งคุณภาพการเขียน เพราะการ์ตูนเล่มละบาทจะมีหน้าน้อย มากสุดคือ 24 หน้า ขณะที่เล่มละห้าบาทต้องใช้ความประณีตมากกว่า เพราะเป็นหนังสือไซส์ใหญ่ทำให้เห็นรายละเอียดในภาพ

เนื้อหาของการ์ตูนเล่มละบาท เมื่อหน้าน้อยก็จะไม่ซับซ้อนนัก เปิดมาโดนฆ่าตาย กลายเป็นผี แล้วไปฆ่าผู้ร้าย ถ้าไม่เป็นผู้ชายรูปหล่อมีผู้หญิงมาชอบ แล้วโดนนักเลงฝ่ายตรงข้ามฆ่าตายกลายเป็นผีมาหักคอ ก็เป็นผู้หญิงโดนกระทำแล้วเป็นผีมาหักคอผู้ร้าย

ส่วนเล่มละห้าบาท ต้องวางเรื่องซับซ้อนกว่า มีที่มาที่ไปและเรื่องพลิกไปมาได้ เพราะหน้าเยอะ เขายกตัวอย่างเรื่อง ขุดหลุมผี ที่เคยอ่านวัยเด็กว่าพล็อตเรื่องเปิดมา คนโดนผีสิง หมอจึงต้องสืบว่าเกิดอะไรขึ้น จนพบว่าคนโดนผีสิงเพราะไปเอาคัมภีร์เล่มหนึ่งมา แล้วสืบสาวต่อว่าคัมภีร์นี้มีที่มาอย่างไร เนื้อเรื่องจะเดาไม่ได้ต่างจากเล่มละบาท

การ์ตูนผีไทยจำนวนมากมีเนื้อเรื่องที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายโดนกระทำจนเสียชีวิต กลายเป็นผีดุร้ายมาเอาคืน ภาคภูมิยอมรับว่าการที่พล็อตแบบนี้ถูกนำมาใช้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการสะท้อนสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีการกดขี่ทางเพศอยู่พอควร ผู้หญิงถูกกดดันในเรื่องต่างๆ ถูกบีบบังคับให้แต่งงาน จนมีเรื่องราวหลากหลายให้เอามาเขียน เป็นกลไกทางสังคมอย่างเพื่อให้มีช่องทางระบายความเครียด

“หลายเรื่องจะเห็นว่าผู้หญิงถูกกระทำมากๆ แล้วพอตายก็เป็นผีที่มีพลัง เปลี่ยนสถานภาพไปสู่ความมีอำนาจ แล้วกลับมาโต้ตอบล้างแค้นคนที่กระทำ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนผีได้รับการยอมรับ เป็นกลไกที่ช่วยให้คนที่อ่านซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้หญิง เป็นแม่ค้า พออ่านแล้วก็รู้สึกชอบ เพราะเหมือนได้ระบายอารมณ์ ฉันโดนกดขี่ พอตายเป็นผีก็มาเล่นงานคืนได้”

 

สตอรีบอร์ดของทวี

 

นักเขียนการ์ตูนร่วมสำนักบรรลือสาส์น จากซ้าย พลังกร สุรเดช, วีรกุล ทองน้อย (พ.บางพลี), วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ์ (อาวัฒน์), จำนูญ เล็กสมทิศ (จุ๋มจิ๋ม), ทวี วิษณุกร, น.อ.ประเวส สุขสมจิตร (ปิยะดา)

 

ปลุกการ์ตูนผีไทยด้วยลายเส้นทวี

 

จากการพบกันของวงเดือนและภาคภูมิ ทำให้เกิดแนวคิดการทำสำนักพิมพ์วิษณุกรเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อนำงานทวีมาตีพิมพ์ใหม่สำหรับนักสะสม และผู้ที่ต้องการศึกษาการ์ตูนไทยต่อไป

“ผมชื่นชอบงานอาจารย์ทวีเป็นพิเศษ พอเห็นคนอื่นทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ ในฐานะที่เราก็ทำหนังสือ จึงมองว่างานของอาจารย์เป็นงานที่มีคุณค่า ถ้าจะทำต้องทำให้มีคุณค่า ก็เลยมาร่วมมือกัน เริ่มพิมพ์งานมาสเตอร์พีซของอาจารย์ 4 เรื่องก่อน ทำเป็นบ็อกเซ็ตสำหรับคนต้องการเก็บสะสมซึ่งต้นทุนสูง ถือว่าทำเอามันจริงๆ”

วงเดือนบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการนำงานทวีมาพิมพ์ใหม่ คือการตามหาต้นฉบับ จึงหาจากหนังสือเก่าที่แฟนคลับสะสมแทน อย่างเรื่องกระสือสาวที่เคยรวมเล่มแล้ว จะง่ายหน่อย แต่เรื่องที่ไม่เคยรวมเล่มต้องไปตามหาทีละตอน

เมื่อได้หนังสือมาแล้ว จึงนำมาสแกนแต่งไฟล์แก้กระดาษเหลือง บางภาพไม่สมบูรณ์ตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก ก็ต้องถมดำใส่เส้นเพิ่ม บางภาพใบหน้าตัวละครหายก็ต้องเขียนใหม่ หรือกระทั่งพิมพ์ออกมาสลับสีเป็นเนกาทีฟ ก็ต้องเอามาแก้เช่นกัน

ส่วนหน้าปกอย่างเรื่อง ผีหัวขาด ที่สำนักพิมพ์วิษณุกรกำลังจะตีพิมพ์ เดิมทวีวาดปกเป็นสีขาวดำ จึงต้องนำไปลงสีในคอมพิวเตอร์ หรือเรื่อง นางตานี ที่ไม่มีหน้าปก ภาคภูมิบอกว่าต้องใช้วิธีสังเกตรูปแบบการวางองค์ประกอบภาพหน้าปกที่อาจารย์ทวีมักจะใช้ แล้วไปหารูปในเล่มเอา โดยเลือกเอาฉากสำคัญมาจัดวางจนออกมาดูเข้าชุดกับเล่มอื่น

“งานอาจารย์ทวีเด่นที่รายละเอียดมาก ในการทำปก ถ้าเราไปลดรายละเอียดปุ๊บ จะดูประหลาดอย่างสังเกตได้เลย จึงต้องใส่รายละเอียดให้เท่าอาจารย์ สีเส้นเล็กๆ น้อยๆ ต้องทำให้เป็นสไตล์อาจารย์ ตัวหนังสือก็ใช้แบบที่อาจารย์วาด จนได้งานที่มีความเป็นอาจารย์ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ถึงอาจารย์ไม่ได้วาดเองแต่ก็ใกล้เคียง”

ที่สำคัญคือมีการทำฟอนต์ใหม่ชื่อ ‘วิษณุกร’ เพื่อนำมาซ่อมต้นฉบับหน้าที่ขาดหายให้เป็นลายมือเดิมของทวี

“ทุกอย่างทำแบบมีขั้นตอน ต้องศึกษาอย่างดี พยายามไม่ฉีกแนวให้ประหลาดออกไป เพราะตั้งใจทำเป็นงานสำหรับเก็บสะสม นี่ถือเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนอ่านแล้วรู้สึกอยากสร้างสรรค์ผลงาน งานของอาจารย์ได้อารมณ์มาก ถ้าคนที่ชอบเขียนรูป อ่านแล้วจะคันไม้คันมือขึ้นมาทันที เราพยายามรวมผลงานสี่เรื่องก่อน เพื่อมอบให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำหรับคนรุ่นหลังที่จะศึกษานิยายภาพสมัยก่อน เพราะตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย พยายามไปตามหางานอาจารย์ทวีเพื่อดูเป็นแรงบันดาลใจ ไปหอสมุดทุกมหาวิทยาลัย หอสมุดแห่งชาติก็ไม่มี เขาไม่เก็บไว้ทั้งที่ควรจะมี โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ ที่ญี่ปุ่นมีการเรียนการ์ตูนเป็นวิชาเอก มีหลักสูตรเฉพาะ แต่ของเราแค่หนังสือตัวอย่างยังไม่มีเลย ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีเพราะนิยายภาพเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง”

ภาคภูมิบอกว่า แม้ผลงานของ ทวี วิษณุกร จะล่วงมาแล้วถึงครึ่งศตวรรษ แต่ยังทรงคุณค่าในการบันทึกเรื่องราว สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น โดยสอดแทรกความเชื่อและวิถีชีวิตไว้ในแต่ละหน้า

“ภาพของอาจารย์จะเก็บละเอียดมาก ดูได้เลยว่าสมัยนั้นเขาปลูกต้นอะไรไว้รอบบ้านบ้าง เรื่องกระสือสาว เปิดมาหน้าแรกก็จะเห็นบ้านทรงไทย หน้าปกก็จะเห็นภาพการทำศพ มีมัดตราสัง ทำให้เห็นว่าสมัยก่อนพอตายแล้วต้องทำยังไง”

 

นางตานีฉบับพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์วิษณุกร จัดวางภาพหน้าปกใหม่และไกด์สีก่อนพิมพ์จริง

 

ล่าสุด สำนักพิมพ์วิษณุกรได้จัดประกวดนิยายภาพผีไทย ชิงรางวัล ‘ทวี วิษณุกร อวอร์ด’ ซึ่งทางสำนักพิมพ์จัดขึ้นมาเองโดยไม่มีองค์กรสนับสนุน ในโอกาสที่ปี 2563 นิยายภาพเรื่องแรกของทวี แม่นาคพระโขนง จะครบรอบ 60 ปี โดยผลงานที่ส่งประกวดต้องเป็นนิยายภาพผีที่เป็นผลงานใหม่ มีความเป็นไทยทั้งลายเส้น ตัวละคร และบริบทในสังคม ยาว 12-24 หน้า เปิดรับผลงานไปจนถึงสิ้นปี 2562

สาเหตุหนึ่งที่จัดประกวดนี้ขึ้นมา ภาคภูมิบอกว่าเพราะเขารู้สึกว่าผีไทยกำลังโดนกลืน นับแต่ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เป็นต้นมา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นสไตล์การหลอกแบบต่างประเทศ จนทำให้เห็นว่าผีไทยค่อยๆ โดนกลืนไป

“การหลอกแบบผีเอาผมปิดหน้า โผล่มานั่งบนไหล่นิ่งๆ เป็นแบบญี่ปุ่น ผีไทยต้องแหกอกควักไส้ ทำตาปลิ้น มีหนอน ผีออกมาเป็นผีจริงๆ มีขนบในการหลอกแบบไทยๆ ไม่หลอกแบบต่างประเทศ ที่เอาไฟเขียวมาส่องผม ปิดหน้า นุ่งห่มสีขาว ผมคิดว่าทำยังไงจึงจะรักษาผีไทยไว้ได้ จึงจัดประกวดนิยายภาพผีไทยขึ้นมา คนอาจจะไม่รู้สึก แต่สักวันหนึ่งอาจมีคำถามขึ้นมาว่าแล้วผีไทยหลอกยังไง คนรุ่นใหม่จะคิดถึงการหลอกแบบผีเกาหลี ผีญี่ปุ่น มากกว่า”

เขาเน้นย้ำว่าผลงานที่ประกวดต้องเป็นแนวทางแบบอาจารย์ทวี ที่มีการรักษาความเป็นไทย ไม่ใช่การ์ตูนหน้าญี่ปุ่น และต้องมีประเด็น ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงถูกฉุดไปข่มขืน กลายเป็นผีมาหักคอคนทำ ซึ่งเป็นพล็อตที่เขียนอยู่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

“คุณจะเอาความคิดความเชื่อเรื่องผีที่อยู่ในสังคมไทยมาเขียนเป็นนิยายภาพให้มีความสนุกสนานได้อย่างไร เป็นนิยายภาพที่ได้แรงบันดาลใจความเป็นไทยและลายเส้นที่เป็นไทยจริงๆ รางวัลหนึ่งหมื่นบาท ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไหน ไม่ต้องแอบแฝงโฆษณา ถ้าได้รับรางวัล ต้องถือว่าเป็นสุดยอดนิยายภาพผีของไทยเลย ต้องการให้มีกระแสนิยายภาพผีไทย เพราะระดับตำนานของเรื่องผีต้องยกให้คุณทวี และนี่เป็นรางวัลแรกของประเทศไทย” ภาคภูมิกล่าวทิ้งท้าย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save