fbpx
สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา กับ ไกรยส ภัทราวาท

สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา กับ ไกรยส ภัทราวาท

เมื่อกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นสำคัญของความเหลื่อมล้ำในทุกช่วงชีวิต คือความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

แม้จะเห็นปัญหาชัด แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายที่ทำงานบนฐานของความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งทรัพยากร เจตจำนงทางการเมือง และความรู้ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ

คุยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่าด้วย สถานการณ์ ปัญหา และทางออกของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

:: ทุนเสมอภาค ::

ไกรยส ภัทราวาท

โจทย์ของ กสศ. ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าจะต้องเป็นคนให้เงินอุดหนุน แต่โจทย์คือทำอย่างไรที่เราจะดูแลให้เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบันไม่หลุดออกไปจากระบบ เราจะทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ให้เด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อยไปถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถสู้กับความยากจนได้ เราจึงต้องหาวิธีที่จะช่วยให้เขาไม่พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคเหล่านั้น

จากการทำงานในระดับนโยบาย และงานวิจัยในระดับนานาชาติ ก็เห็นตรงกันนะครับว่า การช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนด้านการศึกษาของเด็กเยาวชนเหล่านี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เขายังคงอยู่ในระบบได้ แต่การให้เงินเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าเราให้เงินเขาไปแล้วแต่ไม่ได้นำไปสู่โอกาสทางการศึกษาที่สม่ำเสมอขึ้น หรือพฤติกรรมทางการศึกษาที่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่าเงินนั้นไม่ส่งผลไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา เราก็เลยดึงโครงการที่ใช้อยู่หลายประเทศทั่วโลกคือ Conditional Cash Transfer หรือเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข

ในประเทศไทย เราใช้คำว่า ‘ทุนเสมอภาค’ เราไม่อยากใช้คำว่าเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน เพราะไม่อยากให้คำว่ายากจนติดตัวน้องเขาไป เราใช้คำว่า ‘ทุนเสมอภาค’ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเขามีโอกาสที่จะเสมอภาค

:: สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทย ::

ไกรยส ภัทราวาท

กลุ่มเป้าหมายของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานช่วงต้น ก็คืออายุประมาณ 25 ปี

กลุ่มแรก  เด็กเล็กในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุ 0-2 ขวบ อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% แรกของประเทศ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะในช่วงเด็กแรกเกิด ทุกๆ คนที่เพิ่งมีลูกใช้เงินเยอะ คนที่รายได้น้อยก็จะมีความลำบากในการที่จะช่วยให้โภชนาการของลูกสมบูรณ์ หรือพาลูกไปเรียนได้ทันเวลา

กลุ่มสอง กลุ่มวัยเรียน เช่น เด็กอนุบาล เด็กไทยจำนวนมากยังไม่ได้เรียนอนุบาลประมาณ 2 แสนกว่าคน คิดเป็น 10% มีเด็กไทยประมาณ 1 ใน 10 ที่ควรจะได้เรียนอนุบาลแล้วยังไม่เข้าเรียน เหตุผลส่วนใหญ่คือพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยต้องไปทำงานตามที่มีโอกาสในการทำงาน บางทีกะเตงลูกไปด้วย เขาเลยไม่มีโอกาสที่จะเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ทันเวลานัด ส่วนใหญ่พวกนี้ตั้งใจ อยากให้ลูกเข้าเรียน แต่ว่ารอ ป.1 แล้วกัน ส่วนเด็กที่เข้าอนุบาลไปแล้วประมาณ 6 แสนคนก็อยู่ในครอบครัวที่ยากจน

กลุ่มสาม สำคัญมาก และเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6-14 ปี  หรือ ป.1-ม.3 จริงๆ ประเทศไทยก็ค่อนข้างก้าวหน้า เพราะเหลืออยู่ 3% เท่านั้นที่ยังไม่ได้เรียน หรือเข้าไปแล้วหลุดออกมาจากการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มนี้ใกล้ถึงฝั่งแล้ว มีประมาณ 2 แสนคนจาก 7 ล้านคน

ในนั้นมีกลุ่มที่ กสศ. พยายามช่วยอย่างเต็มที่คือกลุ่มที่เป็นเด็กยากจน ด้อยโอกาส เด็กพิการที่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 1.8 ล้านคน กันไม่ให้เขาหลุดออกมาเพิ่มเติมอีก คือ 3% ก็ต้องแก้ไขรีบเอากลับเข้าระบบด้วย ซึ่งการป้องกันใช้งบประมาณน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี ตัวเลข 3% จะไม่เพิ่มอีก และก็จะกลายเป็น 0 % ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก ทีนี้พอเลยวัยที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ เราไปบังคับเขาไม่ได้ ไม่ได้มีกฎหมายว่าต้องเรียนต่อ แต่ถ้าเรียนก็จะมีนโยบายของรัฐบาลเช่น เรียนฟรี 15 ปี ส่วนที่เข้าไปเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย หรือ ปวช. ประมาณ 15% ก็เป็นเยาวชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเขาอาจจะเรียนไม่จบการศึกษาขึ้นพื้นฐาน หรือสุดท้ายก็จะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย อีกกลุ่มที่เหลือก็จะเป็นวัยแรงงานที่ต้องการการพัฒนาทักษะ

ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่นของ กสศ. คือคุณครูที่ห่างไกลทุรกันดาร โรงเรียนที่ห่างไกลทุรกันดาร นี่แหละคือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยมีในปัจจุบัน

:: ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำ ::

ไกรยส ภัทราวาท

ถ้าเด็กที่หลุดออกจากโรงเรียนคือเด็กประถมศึกษา เขายังทำงานไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็จะไปอยู่ตามบ้านกับพ่อแม่ ติดตามพ่อแม่ไปตามไซต์ก่อสร้าง หรือไปช่วยทำงานที่บ้านลุงป้าน้าอา ใช้ทำนู่นทำนี่ไป

แต่ถ้าเป็นเด็กระดับ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ก็จะไปหางานทำตามร้านอาหาร ไร่นา สวน หรือไซต์ก่อสร้าง เขามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะครอบครัวเหล่านี้พ่อแม่ใช้แรงงานมาตลอดชีวิต และเป็นแรงงานที่ทำงานอันตราย เช่น เก็บขยะ หรือทำงานเกินกำลัง พอในวัยที่ลูกเติบโตมาถึง ม.ต้น พ่อแม่ก็ร่างกายไม่ไหวแล้ว บางคนโรคภัยรุมเร้ามากเลย เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ก็มี เพราะว่าทำงานหนักเหลือเกิน โดนสารพิษบ้างจากการเก็บขยะ เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้ยังไม่ทันถึง 15 ปี ภาระก็ตกมาอยู่บนบ่าเขาแล้ว ว่าต้องลุกขึ้นมาทำงาน ลุกขึ้นมาเป็นผู้หารายได้หลัก

แต่การที่เขาต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้หารายได้หลัก ตั้งแต่วัยที่เขายังไม่สำเร็จการศึกษาแม้กระทั่งภาคบังคับ ทำให้ความยากจนยังอยู่กับครัวเรือนนี้ ความยากจนในรุ่นพ่อแม่ของเขา เท้าไปถึงรุ่นปู่ย่าตายายของเขา ข้ามรุ่นไปยังรุ่นลูก เพราะลูกของเขาก็มีรายได้วันละ 300-400 บาท รายจ่ายก็ไม่น้อย พวกค่าเดินทางต่างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาเรียนอีกเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ใจก็คงนึกถึง กศน. นึกถึงการไปเป็นครูพักลักจำในร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ ในร้านอาหาร

ระบบการศึกษาเป็นระบบทางสังคมที่ได้ดูแลคนมาตั้งแต่วัยที่น้อยมาก เช่น ปฐมวัย หรือวัยประถมศึกษา ถ้าทำได้ดี ระบบการศึกษาควรจะช่วยเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมให้ความยากจนไม่ข้ามรุ่น การศึกษาสูงสุดของพ่อแม่อาจจะ ป.6 อย่างน้อยๆ ลูกก็จบ ปวช. หรือสูงไปกว่านั้นถ้าเขามีศักยภาพ ฐานรายได้ของลูกก็จะสูงพอที่จะพาครอบครัวของเขาออกไปจากกับดักความยากจน หรืออย่างน้อยรุ่นลูกของเขาก็ไม่อยู่ในความยากจนอีกต่อไป

:: โรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร ::

ไกรยส ภัทราวาท

ผมไปมาแทบทุกจังหวัด โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ถ้าไปดูหอพักคุณครู เราจะสงสารครูจับใจเลยว่านอนอยู่ได้ยังไง หรือเรื่องความปลอดภัย ครูบางคนก็เพิ่งบรรจุเลย แต่พอได้เร่ิมคุยกับคุณครู เราจะได้เห็นว่าความเสียสละและจิตวิญญาณของความเป็นครูเป็นยังไง

ถ้าเราไปดูโรงเรียนที่ยากจน เราจะเห็นเลยว่าเขาอยู่ในสภาพอาคารที่ทรุดโทรม อุปกรณ์การเรียนไม่ครบ จำนวนนักเรียนที่ยากจนด้อยโอกาสก็มาก ครูก็อาจจะไม่ครบชั้น ไม่ครบกลุ่มสาระ ความเป็นครูทำงานตั้งแต่ภารโรง ซ่อมประปา เวรยาม แก้เหาให้เด็ก ทำทุกอย่าง ด้วยความขาดแคลนตรงนี้ โรงเรียนต้องการการช่วยเหลือจริงๆ

เราก็เคยไปถามคุณครูว่าทำทอดผ้าป่า ทำเรื่องการระดมทุนบ้างมั้ย ผอ. ในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะบอกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในวงการตรงนี้เหมือนกัน ก็คือเวลาพวกเราจะไปทำทอดกฐินโรงเรียน เราก็จะนึกถึงแต่โรงเรียนเดิมๆ โรงเรียนที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว เพราะว่าไปถึงแล้วก็บริจาคสิ่งของ เสร็จแล้วก็ไปเที่ยวต่อ โรงเรียนเดิมๆ ก็จะได้

:: กระจายอำนาจในการศึกษา ::

ไกรยส ภัทราวาท

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรายังไปเน้น supply-side อยู่มาก อัดเงินลงไปผ่านทางด้านอุปทาน กลไกเหล่านี้ได้ผลครับ แต่ได้ผลแค่จุดหนึ่ง จุดที่ยากก็คือจุดสุดท้าย กลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายของเด็กนอกระบบการศึกษา ของเด็กยากจน มันต้องตบมือ 2 ข้าง ทรัพยากรส่วนหนึ่งควรจะย้ายไปฝั่ง demand-side เพื่อให้เขาสามารถแก้ปมปัญหาเฉพาะกิจของเขา

เรื่องของกลไกการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ สถานศึกษาควรได้รับอิสระในการคิด ในการทำงานมากขึ้น คุณครูควรจะมีทรัพยากรที่ดีขึ้นในห้องเรียน ในการคิดแก้ปัญหาของเด็กได้ดีขึ้น ต้องเป็น all for education คือการศึกษาไม่ใช่โจทย์ที่จะให้ภาคการศึกษาเป็นคนแก้อย่างเดียว แต่ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาชนก็ต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ การศึกษาไทยก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงปีสองปีข้างหน้า จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากเลย เพราะตลาดแรงงานจะมีความท้าทายมาก การเปลี่ยนแปลงของโรงงาน การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ถ้าเรายังจับจุดตรงนี้ไม่ได้ เด็กที่จะลำบากที่สุด ก็คือเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน เพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกมากเท่าไหร่ เขามีภูมิคุ้มกันน้อย เพราะฉะนั้นเราควรจะช่วยเขาให้มาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save