fbpx
ความเป็น 'ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ'

ความเป็น ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’

กำพล นิรวรรณ เรื่อง

มานิต ศรีวานิชภูมิ ภาพถ่าย ดอนกิโฆ ‘โต้ง’

 

คืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนโน้นที่บ้านทรงไทยในซอยราชครู, เมื่อครั้งตับไตของเรายังแข็งแรง, เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังผมมีโอกาสได้รู้จักกับหนุ่มใหญ่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, ผมได้ฟังเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจเสี้ยวหนึ่งในชีวิตวัยดรุณของเขา. มันยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผมมาจนบัดนี้.

เสี้ยวชีวิตที่ว่านั้นเกิดขึ้นในสนามโปโลที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา.

“เขาจัดให้พวกลูกทูตแข่งกับเด็กอาร์เจนตินา. ไอ้พวกลูกทูตเกือบทั้งหมดมันก็ผิวขาว. แล้วมันก็ดูถูกคนอินเดียน. มีผมคนเดียวที่หน้าตาดันไปเหมือนอินเดียน. ม้าของพวกลูกทูตก็อ้วนพี ขณะที่ม้าของฝั่งตรงข้ามผอมกะหร่องเหมือนเจ้าของมัน. ผมก็เลยคอยหาจังหวะแกล้งตีลูกไปให้อีกฝั่ง. สงสารเขาน่ะ.”

คำพูดประโยคนี้ของเจ้าของบ้านทรงไทยหลังนั้น มันฝังอยู่ในหัวผมราวกับคำจารึกที่ถูกตอกลงบนแผ่นสัมฤทธิ์. มันเป็นประโยคที่ทำให้ผมสามารถหยั่งลงไปถึงก้นบึ้งหัวใจของเขาว่าเขาเป็นลูกหลานของเผด็จการเพียงแค่ร่างกาย. หัวใจของเขาคือกบฏ. เขาเพียงแต่เลือกเกิดไม่ได้.

ผมได้รู้จักกับพี่โต้งผ่านการแนะนำของพี่วิทยากร เชียงกูล. ผมรู้จักกับพี่วิทยากรและพี่เล็กภรรยาของท่านตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ. เหตุการณ์นั้นทำให้ผมตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตภูบรรทัดร่วมห้าปี เป็นห้าปีที่ถูกตัดขาดจากข่าวสารบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง ได้ฟังก็แต่ข่าวความเคลื่อนไหวของพวกเรากันเองจากสถานีวิทยุของพรรคฯ ที่กระจายเสียงมาจากเมืองจีน. เป็นห้าปีที่ตัวละครบนเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นมากหน้าหลายตา ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร. ห้าปีผ่านไป พรรคฯ ล่มสลาย ต้องซมซานกลับเข้าเมืองในสภาพเหมือนตาบอดคลำช้าง. บ่ายวันหนึ่งหลังกลับออกมาใหม่ๆ พี่วิทยากรนัดเจอ เป็นการเจอที่ส่งผลให้เส้นทางชีวิตของผมหักเหเข้าไปในซอยราชครูตั้งแต่บัดนั้น:

“คุณโต้งฝากให้ผมพาสหายจากภูบรรทัดไปรู้จักกับเขาสักคน,” พี่วิทยากรบอก.

“คุณโต้งไหนครับพี่?”

“ก็ลูกชาติชาย ชุณหะวัณไง.”

“อ้าว ชาติชายมีลูกด้วยหรือ? แล้วพี่ไปคบกับลูกหลานเผด็จการได้ไง ผมไม่เอาหรอก?”

“คุณโต้งก็คือไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ.”

“ไกรศักดิ์ลูก ชาติชายพ่อ?”

“ใช่ กำพล. แต่คุณไกรศักดิ์เป็นโซเชียลลิสต์นะ.”

“พ่อเป็นฟาสต์ซิสต์ ลูกเป็นโซเชียลลิสต์!” ก้นสมองของผมในเวลานั้นยังเต็มไปด้วยภาพของ ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์ และ ประมาณ อดิเรกสาร.

“คุณจะไปหรือเปล่า?”

“ไปสิครับ.”

พี่วิทยากรขอตัวกลับในตอนค่ำ. และแล้วคืนนั้นผมกับเจ้าของบ้านก็คุยกันยันฟ้าสาง. เป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักรสชาติของไวน์. จำไม่ได้ว่าเขาเปิดไปกี่ขวด แต่จำเรื่องราวที่เราคุยกันได้เกือบไม่ขาดตกบกพร่อง.

และนับตั้งแต่นั้นมา ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ก็กลายเป็นพี่ชายที่เคารพรักของผม เฉกเช่นเดียวกับเป็นที่เคารพรักของเพื่อนพ้องน้องพี่ของเขาทุกวงการอีกนับร้อยนับพันคน.

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ว่ายุคไหนจะมีใครสักกี่คนที่มีพ่อเป็นแกนนำในศูนย์กลางอำนาจ ทว่าตัวเองพร้อมกระโดดออกมายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเสมอเมื่อเห็นว่ารัฐบาลเดินหลงทิศผิดทาง. ยิ่งเมื่อพ่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งไม่มีลูกคนไหนเลยที่จะกล้าออกมาเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้าน.

ยกเว้นลูกกบฏแห่งซอยราชครู.

 

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กับผู้เขียน ระหว่างเดินป่าเขาใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2531

 

มีหลายเรื่องหลายราวที่ผมมีโอกาสได้ร่วมรณรงค์เคียงบ่าเคียงไหล่กับเขา โดยเฉพาะการคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรและโครงการเขื่อนเหวนรกที่เขาใหญ่.

โครงการแรกทำให้บ้านของเขากลายเป็นแหล่งนัดพบแลกเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหลากหลายกลุ่ม. ตัวเขาเองควักเงินซื้อกล้องวิดีโอซื้อเทปและอุปกรณ์ต่อพ่วงครบครัน เตรียมถ่ายทำสารคดีประกอบการรณรงค์. เขาชวนผมขับรถบุกป่าฝ่าดงไปพักค้างที่หัวเขื่อน ไปบันทึกภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อนำไปคัดง้างกับคำแถลงของพลเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีช่วงปลายรัฐบาลเปรม. นายพลหน้าถมึงทึงผู้นี้อ้างว่าได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูสภาพป่าแถบนั้นแล้วพบว่ามันกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมหมดแล้ว. แต่สิ่งที่พี่โต้งกับผมไปเห็นก็คือทุ่งสะวันนาที่กระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางผืนป่าเต็งรัง. มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ถ้ามองลงมาจากท้องฟ้าในหน้าแล้ง ทุ่งสะวันนาจะไม่ต่างอะไรกับแผลเป็นบนแผ่นดิน. แน่นอนในสายตาของคนอยากสร้างเขื่อน มันก็คือป่าเสื่อมโทรม.

ส่วนโครงการเขื่อนเหวนรก เขาชวนผมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกรมป่าไม้ บินเก็บภาพป่าทางอากาศเพื่อนำมาประกอบเหตุผลในการคัดค้าน. จำได้ว่ามันเป็นคอปเตอร์เครื่องยนต์เดียว ลำสีเขียว กระจกหน้าเต็มไปด้วยซากแมลง. จำได้ด้วยว่าห้องนักบินมีขวดเปล่าของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังกระจัดกระจายเกลื่อนพื้น. ยังสงสัยไม่หายว่าทำไมนักบินต้องชูกำลังถึงเพียงนั้น. ห้องโดยสารมีพี่โต้งกับผมแค่สองคน. พี่โต้งนั่งฝั่งซ้าย ถือกล้องวิดีโอตัวเท่าหน้าแข้ง โผล่หน้าต่างออกไปตั้งหน้าตั้งตาถ่าย ไม่มีทีท่าหวาดเสียวแม้แต่น้อยนิด. ส่วนผมนั่งฝั่งขวา ถือกล้องปอนเตี๊ยกรุ่นโรงจำนำไม่รับ แต่ไม่กล้าโผล่หน้าต่างออกไปถ่าย. นักบินคงดูสีหน้าแววตาออกว่าผมกำลังรู้สึกอย่างไร จึงตะโกนเสียงดังฟังชัดว่ามันเป็นเครื่องบินชั้นยอด เดี๋ยวตอนลงจะดับเครื่องลงจอดให้ดู ว่าแล้วก็บินฉวัดเฉวียนเหมือนนางนวลโล้ลม ทำเอาไส้พุงผมขยอกขย้อนแทบอ้วกแตก. พี่โต้งคงอายแทน เลยตะโกนแซวว่า: “เฮ้ย พวกคอมมิวนิสต์ทำไมปอดแหกยังงี้วะ?”

นั่นคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการผจญภัยด้วยกัน. แต่เห็นทีผมคงต้องลงไปลึกๆ สักเรื่อง คือเรื่องท่าฉัตรไชย ป่าชายเลนเนื้อที่กว่าสี่ตารางกิโลเมตรในเขตอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต. เพราะมันช่วยสะท้อนความเป็นตัวตนของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณได้อย่างถ่องแท้. เขาคือกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยให้ป่าผืนนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์มาจนปัจจุบัน.

เรื่องของเรื่องก็คือ ในยุคต้นรัฐบาลชาติชาย เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู. นายบรูซ แรพพาพอร์ต นักธุรกิจขนส่งทางทะเลชาวสวิส เพื่อนสนิทของนายกรัฐมนตรีขอเช่าท่าฉัตรไชยเป็นเวลา 99 ปี เพื่อทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ รวมทั้งสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐานระดับห้าดาว. ด้วยวงเงินลงทุนจำนวนมหาศาลทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะพลอยได้อานิสงส์จากโครงการนี้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว กระโดดออกมาร่วมผลักดันกันเต็มสูบ. ขณะเดียวกัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ดาหน้าออกมาขวางทันทีเต็มที่เช่นกัน.

ฝ่ายแรกฝากความหวังไว้กับประมุขรัฐบาล เพราะเป็นเพื่อนซี้กับนายบรูซ แรพพาพอร์ต. ฝ่ายหลังฝากความหวังไว้กับลูกชายประมุขรัฐบาล เพราะมีหัวอกเป็นนักอนุรักษ์ด้วยกัน.

ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพราะมี ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ สองรายเข้าไปกว้านซื้อที่รอบๆ ท่าฉัตรไชยไว้เก็งกำไร หนึ่งคืออดีตนายตำรวจใหญ่จอมวิสามัญ อีกหนึ่งคือภรรยาอดีตนายทหารที่ผันตัวเป็นนักการเมือง. ทั้งสองส่งตัวแทนไปวิ่งเต้นให้น้าชาติอนุมัติโครงการของนายแรพพาพอร์ต. ตัวแทนไม่กล้าเข้าหาน้าชาติโดยตรง จึงติดต่อผ่านผมให้ช่วยไปคุยกับพี่โต้ง เพื่อให้ลูกโต้งไปเกลี้ยกล่อมพ่ออีกโสด.

รางวัลสำหรับพี่โต้งคือ 150 ล้านบาท ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน.

เอกสารที่ตัวแทนผู้นี้นำมาประกอบการวิ่งเต้นคือภาพถ่ายที่ดินที่พวกเขาไปซื้อห้อมล้อมท่าฉัตรไชยเอาไว้. ผมบอกเขาว่าพี่โต้งคงไม่เล่นด้วยหรอก แต่มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะตัดสินใจแทน. ครั้นจะปัดสวะให้พ้นตัวก็ดูจะหักหาญน้ำใจเขาเกินไป. เขาเป็นเพื่อนผมเอง. ผมก็เลยจำใจนำเอกสารเล่มนั้นไปให้พี่โต้งพร้อมอธิบายความเป็นมาเป็นไปทั้งหมดให้ฟัง. ผมยังจำได้ดี พี่โต้งรับไปแล้วก็วางมันลงบนโต๊ะ ไม่ยอมแม้แต่จะเปิดดูแม้แต่หน้าเดียว.

“เอาไปคืนให้มันเถอะ.” เขาบอกสั้นๆ.

สัปดาห์ถัดมาพี่โต้งชวนผมไปกินค่ำที่บ้าน.

“เรื่องท่าฉัตรไชย ผมบอกพ่อเรียบร้อยแล้วนะ.”

ผมนั่งฟัง ไม่พูดอะไร.

“ผมแนะให้พ่อเอาเข้า ครม. ดันให้เป็นเขตอนุรักษ์ชั้นหนึ่ง จะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป.”

หลังจากนั้นไม่นาน คณะรัฐมนตรีก็มีมติประกาศให้ท่าฉัตรไชยเป็นอุทยานแห่งชาติ.

และนั่นก็คือตัวตนที่แท้จริงของคนชื่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ.

 

ภาพถ่าย ดอนกิโฆ ‘โต้ง’ โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ

 

ผู้เขียน: กำพล นิรวรรณ นักเขียนและนักแปล เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ (สำนักพิมพ์ผจญภัย, 2562) อดีตเจ้าหน้าที่แปลและอ่านข่าวของบีบีซีภาคภาษาไทย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save