fbpx
“อย่าทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก” คุยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญกับ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

“อย่าทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก” คุยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญกับ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

  

เขาเริ่มเล่นทวิตเตอร์เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว (2562) ตอนนี้มียอดผู้ติดตามอยู่กว่า 2 แสนฟอลโลเวอร์ เขาอธิบายตัวเองสั้นๆ ไว้ว่า ‘เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยกว่า 47 ปี’

เขาใช้ทวิตเตอร์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เล่าความรู้ทางสังคมการเมือง และจิกกัดเวลามีข่าวเกิดขึ้นในสังคม ในหมวกอีกใบหนึ่ง เขาเป็นเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และปัจจุบันยังคงสอนอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คือหนึ่งในคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอย่างจริงจังและยาวนาน ทั้งในแง่เหตุการณ์เบื้องหลังทางการเมืองและเนื้อหา

101 จึงชวนเขามาร่วมในซีรีส์ #แก้รัฐธรรมนูญ คุยกันยาวๆ ว่าด้วยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย รัฐธรรมนูญควรเป็นแบบไหน ชวนวิพากษ์สังคมการเมือง และทัศนะต่อคนรุ่นใหม่ของเขา

บทสนทนาด้านล่างนี้ยาวกว่า 280 ตัวอักษร และมีเสียงหัวเราะคั่นบ้างบางจังหวะ

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ 

รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องสนใจศึกษา

รัฐธรรมนูญเป็นหลักการปกครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ปกครองโดยอารมณ์ของผู้ปกครอง เมื่อเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องทำอย่างนั้น ทุกสังคมต้องมีกฎเกณฑ์กติกา แต่ถ้าไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา กฎก็เบี้ยวได้ เปลี่ยนได้ตามใจ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญ และเราต้องเข้าใจว่าคืออะไร

ปัญหาของรัฐธรรมนูญไทยคือเราไม่ทราบว่าเขียนอะไร ถ้าทราบแล้วก็สบาย ผมสอนรัฐศาสตร์เบื้องต้นมา 40 กว่าปี พอมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผมก็บังคับให้ลูกศิษย์คัดลอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เยอะนะ เพราะรัฐธรรมนูญไทยยาวเหลือเกิน ผมก็ถูกต่อว่าเยอะ แต่ผมก็ยังยืนยันให้คัดลอกมา เพราะถ้าเกิดไม่รู้ มีปัญหา ให้อ่านก็ไม่อ่าน ผมให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมาก

การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วทำให้คนรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง จำเป็นอย่างยิ่ง เหมือนสมัยโรมัน เขาจารึกกฎหมายลงบนแผ่นทองแดง 12 แผ่น ไปติดตามชุมชน ตามสามแยกในตลาด เพื่อให้ประชาชนรู้กฎหมาย แต่กฎหมายของประเทศไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไปเอามาจากกำแพงจักรวาล คนธรรมดาสามัญไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมาย ถ้าผิดก็โดนลากเข้าคุกเอง ไม่มีหลักเกณฑ์

เราต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายชนิดหนึ่ง เป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าใช้บังคับไม่ได้ ทุกวันนี้กฎหมายส่วนใหญ่ที่รังแกประชาชน เป็นกฎหมายขั้นต่ำทั้งนั้น แล้วมาขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยังไง เพราะฉะนั้นเวลาเรียนกฎหมาย ที่สำคัญมากๆ คือเรื่องศักดิ์ของกฎหมาย รัฐธรรมนูญอยู่สูงสุด รองลงมาก็พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายชั้นรองลงมาทั้งหลายนี่แหละ ที่เราโดนกดขี่อยู่มากเลย

ยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ถ้าดูในกฎหมายขั้นต่ำแล้วไม่เท่าเทียมกัน ผมยกตัวอย่างกฎหมายที่เพิ่งแก้ไขเมื่อสัก 10-20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไม่นานนะ เช่น หญิงมีชู้ ชายฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าผู้ชายมีชู้เป็นตัวเป็นตน ผู้หญิงฟ้องหย่าไม่ได้ หรือตำรวจจับกุมคนโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น

ถ้าเรารู้รัฐธรรมนูญ รู้สิทธิขั้นสูงของเรา แล้วเจอกฎหมายแปลกๆ เราก็สามารถบอกได้ว่านี่ผิดรัฐธรรมนูญ

 

ปัญหาอย่างหนึ่งที่คนพูดกันมากคือเรื่องการ ‘เข้าถึง’ และ ‘เข้าใจ’ รัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่คนไม่รู้ว่าต้องอ่านส่วนไหนของรัฐธรรมนูญ หรือไม่รู้ว่าท่อนไหนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราจริงๆ ปัญหานี้เกิดจากอะไร และเราทำอะไรได้บ้าง

เป็นความตั้งใจของคนเขียนรัฐธรรมนูญ เขียนให้ยากเพื่อให้คนไม่เข้าใจ เอาแค่เริ่มต้นคำปรารภที่บอกว่าทำไมถึงมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยาวแล้ว ความจริงเขียน 3-4 บรรทัดก็พอ แต่นี่เขียนเข้าไป 2-3 หน้า อ่านไม่รู้เรื่องเลย ใช้ศัพท์แสงยากทั้งนั้น พอเริ่มต้นก็หมดแรงแล้ว

ผมสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิ่งแรกที่ผมทำคือให้นักศึกษาเอาคำปรารภมาอ่าน พออ่านก็ร้องกันทุกคน นี่ภาษาอะไร แล้วผมก็ต้องแปลให้ฟัง พอแปลเสร็จแล้วก็ไม่มีสาระอะไร

หรืออย่างการใช้คำเยิ่นเย้อในการอธิบายส่วนอื่นๆ ก็มี ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ หรือ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะบอกทำไม ในเมื่อเป็นราชอาณาจักรก็ต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซ้ำซ้อนอะไรกันก็ไม่รู้ แค่บอกว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรก็รู้แล้ว

หรือในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ต้องเขียนเอาไว้ด้วยเหรอ แล้วเราจะเลือกตั้งรัฐบาลไปทำไมในเมื่อมีแนวนโยบายแห่งรัฐอยู่แล้ว ตอนนี้หนักขึ้นไปอีก มียุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งไม่เคยพูดถึงไวรัสโคโรนาเลย ผ่านมาแค่ปีสองปีก็เจอวิกฤตขนาดใหญ่แล้ว ยังจะกำแหงหาญไปตั้ง 20 ปีเลยทีเดียว

รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่ยาวจนเกินไป 10 กว่าหน้าคงจะพอแล้วมั้ง เขียนอะไรกันตั้งเยอะแยะตั้งร้อยกว่าหน้า เพื่อตั้งใจจะไม่ให้อ่าน ก็เป็นความตั้งใจเพื่อไม่ให้คนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง

 

คุณมีความเห็นอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ฉบับล่าสุดที่มีการใช้งานอยู่ในขณะนี้

ผมว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีชื่อเล่นทั้งนั้น ผมตั้งให้เลยแล้วกันว่า เป็นรัฐธรรมนูญถอยหลังเข้าคลอง เพราะเหมือนลอกแบบมาจากรัฐธรรมนูญปี 2521 ก็คือตั้งนายกฯ คนนอกได้ มี ส.ว. มาช่วยโหวตให้ ตอนนั้นสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้วคุณเปรมก็ได้อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเป็นเวลานาน 8-9 ปี กว่าจะหมดบทเฉพาะกาล

บทเฉพาะกาลก็สำคัญ เขียนอะไรลงในรัฐธรรมนูญก็เขียนไปเถอะ แล้วค่อยมีบทเฉพาะกาลยกเลิกที่เขียนไว้ทั้งหมด ยิ่งของปี 2560 บทเฉพาะกาลตั้ง 20 ปี เอาไปผูกกับยุทธศาสตร์ชาติ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 กับ 2560 คนเขียนคนสำคัญก็คนเดียวกัน เราก็ทราบอยู่

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องของการพยายามยึดอำนาจของฝ่ายทหารโดยตรง ซึ่งก็สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2490 มีอดีตมาทั้งนั้นแหละ จึงถอยหลังเข้าคลองอยู่ตลอด รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 เราเรียกว่า รัฐธรรมนูญทหารฉบับใต้ตุ่ม คือเขียนเสร็จแล้วเอาไว้ใต้ตุ่ม ทหารก็เข้ามามีบทบาทเป็นคณะรัฐประหาร แล้วก็เป็นตัวอย่างของการกระทำรัฐประหารต่อมาทุกครั้ง เสร็จแล้วก็มีการร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่นั้น มาร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 พอร่างเสร็จ เขาก็ทำรัฐประหารเงียบ รัฐบาลประชาธิปัตย์ออก แล้วก็เชิญจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างปี 2492

 

พอบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ลอกตามแบบ 2521 มา แล้วเลิกใช้รัฐธรรมนูญ 2521 ได้เพราะอะไร

ปี 2534 ก็ยึดอำนาจโดยทหารอีก คือ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เพราะเขาทำอะไรไม่สะดวก ก็ยึดอำนาจ อ้างโน่นอ้างนี่ บอกว่านักการเมืองเลว ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นเขาคุมหมด ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ คนเพิ่งเริ่มจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็เพราะมีอินเทอร์เน็ตนี่แหละ

ขนาดผมมีเพื่อนฝูงที่ต่างประเทศ อ่านภาษาอังกฤษได้ เลยรับข่าวสารจากต่างประเทศบ้าง ก็ยังโดนเซนเซอร์ หรืออันไหนที่เป็นความรู้ก็ยังไม่ชัด ไม่ลงลึก กว่าจะเชื่อมโยงได้ก็แก่เสียแล้ว ผมก็ดีใจที่คนรุ่นใหม่มีโอกาสดีกว่าผม รู้หลักเกณฑ์ รู้ความเป็นมา ก็คือฉลาดกว่า ไม่โดนหลอก แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อไม่ให้อ่านอยู่ดี

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

หลังจาก รสช. ทำรัฐประหาร ผ่านมา 6 ปี เราก็มีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการพูดถึงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าในช่วงนั้นการเมืองไทยมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างไร จากที่ก่อนหน้านั้นอำนาจการร่างรัฐธรรมนูญก็เวียนวนอยู่ในมือของผู้มีอำนาจหมดเลย

ก็มีการลุกฮือ มีการเปลี่ยนผ่าน ตอนนั้นมีโทรศัพท์มือถือขึ้นมา ที่เรียกว่าม็อบมือถือ ส่งข่าวคราวกันเร็ว เพราะฉะนั้นถึงส่งทหารไปปราบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนก็ไปโผล่ขึ้นที่รามคำแหง โผล่ขึ้นที่สะพานปิ่นเกล้า ปราบยังไงก็ไม่หมด แล้วการแพร่กระจายข่าวสารทำให้เปลี่ยนทัศนคติของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ก็เหมือนตอน 14 ตุลาฯ คนพลิกความคิดเลยนะ ทั้งทหารตำรวจต้องหลบเข้าตรอกซอกซอย ถอดเครื่องแบบหมดเลย กลัวประชาชนมาก

หลังช่วงพฤษภาฯ 35 การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ พอนักการเมืองเห็นว่าลมเปลี่ยนทิศแล้ว ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญที่เสรี ก็ต้องเอา โหวตถูกต้องตามขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญทุกอย่าง มีการตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ถูกต้อง จนสุดท้ายรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เกิดขึ้นได้จริงๆ

 

เวลาเราบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เสรีภาพแก่ประชาชน เราต้องดูตรงไหนถึงจะเห็นเป็นรูปธรรม

ดูตรงหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก็เขียนคล้ายๆ กัน ต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ว่าฉบับไหนนะ รวมทั้ง 2540 ด้วย จะมีเขียนต่อท้ายว่า ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่มีกฎหมายลูกที่กำหนดไว้เลย เพราะฉะนั้นสิทธิเสรีภาพก็ลอย เราจะไปฟ้องใคร ฟ้องยังไง มีขั้นตอนมั้ย ในเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนด มันหลอกเราน่ะ

แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ก้าวหน้าคือพยายามทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ก็เกิดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศขึ้นมา แต่เมื่อบริหารดี ก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชัน การโกงกิน บางเรื่องไปขัดข้องกับผู้มีอิทธิพลเดิม พอทำให้บางอาชีพเขาเสียอภิสิทธิ์ เขาก็ต้องจัดการสิ

 

คนไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ 9 ปี ก็เกิดรัฐประหาร 2549 แล้วเราก็มีรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมา คุณมองรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับกล้าๆ กลัวๆ คือเรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมา 9 ปี คนเคยมีสิทธิ มีประชาธิปไตย จู่ๆ จะมาบั่นทอนไป เขาก็เลยไม่ค่อยกล้ามาก ก็มีการลงประชามติ ซึ่งก็ใช้ได้นะ คือแจกร่างรัฐธรรมนูญทั่วถึง ส่งถึงบ้าน เพียงแต่คนจะอ่านหรือไม่อ่านเท่านั้นแหละ แต่ก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนฉบับอื่นๆ นั่นแหละ ซึ่งสุดท้ายก็ได้ใช้ฉบับนี้ แต่ผลทางการเมืองออกมาก็ไม่เป็นไปตามที่เข้าต้องการเท่าไหร่

สุดท้ายก็มีการยึดอำนาจอีกในปี 2557 แล้วก็มีมาตรา 44 ขึ้นมา ซึ่งย้อนไปเหมือนมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญปี 2502 ในรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่รวบยอดทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการไว้ที่คนเดียว และเหมือนมาตรา 21 ในรัฐธรรมนูญปี 2519 สมัยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหาร

ไม่น่าเชื่อนะ ปี 2557 ยังมีคนเดียวที่มีอำนาจทั้งหมดโดยมาตรา 44 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2502 น่าเกลียดขนาดไหน ย้อนกลับไป 50 ปี เพราะฉะนั้น ผมจึงเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า อำนาจเป็นของแปลก อยู่กับใครมากๆ นานๆ แล้วมักบ้าทุกคน

การเมืองไทยก็เหมือนช้างสีชมพูในงานเลี้ยง เราทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เดินเฉียดกันไปมาหน้าตาเฉย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ นี่น่ากลัวนะ

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

แล้วถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญในแง่ของเนื้อหาล่ะ คุณมีรัฐธรรมนูญในฝันอย่างไร

ความจริงรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย มีอยู่ 6-7 หมวดเท่านั้นแหละ พอดูโครงสร้างเสร็จ เขียนสักอาทิตย์นึงก็จบแล้ว เราเคยเขียนตั้ง 9 ปีกว่ามาแล้ว ดึงกันไปดึงกันมา คือไม่อยากเขียน แล้วก็ร่างอะไรกันไม่รู้ รัฐธรรมนูญอเมริกาเขาเขียนมาตั้ง 200 กว่าปีแล้ว ยังใช้ฉบับดั้งเดิมอยู่เลย

เริ่มที่คำปรารภ 3-4 บรรทัดก็พอ ไม่ใช่ 3-4 หน้า อ่านไม่รู้เรื่อง เขียนให้ชัดๆ แล้วก็มีหมวดทั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ แบ่งอำนาจอธิปไตย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ดูการปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วก็วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะก็เหมือนทุกอย่างนั่นแหละ รัฐธรรมนูญล้าสมัยได้ เราต้องมีวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่หลักการใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน แต่ถ้ามีวิกฤตขึ้นมา เราก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่ควรเปลี่ยนง่ายจนเกินไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าให้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ไม่ใช่ ถึงเขาเขียนว่ามีวิธีการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าต้องไปขอ ส.ว. ซึ่งก็ตั้งกันมาเองทั้งหมด ไม่มีทางเปลี่ยนได้เลยก็ว่าได้

 

แล้วควรจะทำอย่างไรในภาวะที่กลอนล็อกทุกประตูแล้วแบบนี้

มี ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาฯ หรือ พฤษภาฯ 35 นักการเมืองทั้งหลายก็คงเห็นว่า ประชาชนเอาอย่างนี้แน่ๆ

 

ยังไงก็ต้องลงถนน?

ผมคิดว่าถ้าลงถนนเหมือน 14 ตุลาฯ หรือ พฤษภาฯ 35 ก็โอเค แต่ผมไม่เชื่อว่าของเราจะเหี้ยมถึงขนาดเทียนอันเหมิน ถ้าไม่ใช่ถึงขั้นนั้น โอกาสเปลี่ยนแปลงได้ชัดๆ เลย เพราะคนก็ตระหนักแล้ว นักการเมืองก็ต้องลู่ไปตามลมนั่นแหละ รวมทั้ง ส.ว. ด้วย แต่ผมก็ไม่อยากจะให้เกิดความรุนแรงนะ

น่าเสียดายที่การลุกฮือทั้งสองครั้งคือ 14 ตุลาฯ กับ พฤษภาฯ 35 ที่ว่ามา เราไม่ได้แตะโครงสร้างสำคัญเลย แต่เที่ยวนี้น่าคิดนะครับ โครงสร้างสำคัญชัดๆ อันนึงเลยคือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งตอนนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าควรจะต้องเลิก เพราะเป็นแหล่งคอร์รัปชันที่มหาศาลที่สุด แล้วก็เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของฝ่ายทหาร

ไม่ใช่แค่แตะโครงสร้างด้วย แต่ต้องชำแหละ เข้าไปโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้อยู่แล้ว

 

ถึงที่สุดแล้ว คุณมองว่ารัฐธรรมนูญที่เรามีสะท้อนภาพสังคมไทยอย่างไร

ก็เป็นลักษณะสังคมที่ไม่อยากพัฒนา ไม่อยากก้าวหน้า คืออยากจะหยุดนิ่ง good old days ขอให้เหมือนเมื่อวาน ซึ่งเป็นปกตินะ คนทั่วไปมักจะพูดถึง good old days คนแก่ๆ อย่างผม ส่วนใหญ่พรรคพวกก็ชอบมาคุยกันว่าสมัยเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ผมว่าไม่เห็นดีอะไรเลย แต่คนเราก็จำได้แต่เรื่องดีๆ ก็เลยคิดว่าไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องแก้ไข

รัฐธรรมนูญที่เขียนๆ มาส่วนใหญ่ก็อย่างนี้ ประเภทไม่อยากเปลี่ยน แล้วก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนตั้งเยอะตั้งเยอะขนาดนี้แล้ว จะพยายามไปแบบเก่าได้ไง

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ช่วงหลังคุณเป็นที่โด่งดังในหมู่วัยรุ่นมาก คนก็ตามเยอะในทวิตเตอร์ ทั้งที่ก็เขียนหรือพูดด้านวิชาการมาตั้งนานแล้ว แต่พอคุณมาแสดงความคิดตอนนี้ก็กลายเป็นเรื่องก้าวหน้าในประเทศเรา คุณรู้สึกอย่างไร

คงจะเป็นจังหวะมากกว่า หรือสิ่งที่เรียกว่า mutual understanding คือเกิดคลิกกันขึ้นมา บางครั้งบางคราวถ้ายังไม่สุกงอม ก็จะไม่ใช่แบบนี้

จริงๆ ผมทำมาติดต่อกันนะ อย่างเรื่องตั้งคำถามว่าชาติคืออะไร ทำไมถึงรักชาติ ผมก็ถามเวลาไปบรรยาย ส่วนใหญ่ผมรับเชิญบรรยายโรงเรียนทหาร ผมก็มักจะถามว่า ใครรักชาติบ้าง ก็ยกมือกันทั้งนั้น พอถามว่าชาติคืออะไร ทีนี้เกิดปัญหาแล้ว ทำไมถึงต้องรักด้วย รักแบบไหน อะไรทำนองนี้ เขาก็สนุกสนาน ชี้กันไปชี้กันมา แต่น่าเสียดายที่เสร็จแล้วก็ลืม

หรือหลายครั้งที่มีคนชอบพูดเรื่องความเป็นไทย แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ ต้องแต่งชุดไทย กินอาหารต้องแกะสลักผลไม้เหรอ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกินน่ะสิ พอถามว่าไทยคืออะไรก็ตอบไม่ได้อีก แต่ก็จะเอาเป็นไทย เพราะฉะนั้นการพูดกันด้วยเหตุด้วยผลก็เป็นพลังที่สำคัญนะครับ แต่ส่วนใหญ่ปฏิกิริยาชัดแจ้งก็คือด่า เพราะตอบไม่ได้ สักพักก็คงจะหมดแรงเอง เพราะเวลาอยู่ข้างเรา

 

ในช่วงที่ผ่านมา คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรของเด็กรุ่นใหม่บ้าง

เขามีความรู้ มีเหตุมีผลดีกว่าคนรุ่นเก่า เรื่อง fake news เขารู้เร็วกว่า รู้ดีกว่า พวกรุ่นผมโดนหลอกมาเยอะ ผมศรัทธาในคนรุ่นใหม่ เขามีโอกาสแสวงหาความรู้ได้เองจากเครื่องไม้เครื่องมือที่เขามีอยู่ ผมอิจฉานะ เพราะเมื่อก่อน ต้องไปห้องสมุด แล้วก็หยิบหนังสือหนักๆ มา พอมานอนอ่านแล้วง่วง หนังสือตกมาโดนจมูก จมูกจะหัก เป็นปัญหานะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้เปิดมือถือดูได้สบาย ผมก็ใช้โอกาสนั้นด้วย สงสัยอะไรก็กดดู ทำไมสบายอย่างนี้

 

คุณทำงานมานานขนาดนี้ คุณยังมีความหวังอยู่ขนาดไหนว่าจะเปลี่ยนได้จริง

ผมหวังมาก ก็อย่างว่านะ ถ้าคนเราหมดหวังก็ตาย และผมก็ยิ่งมีความหวังมากๆ เมื่อเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีเหตุมีผล แล้วก็มีความรู้ดีกว่ารุ่นผมมากๆ ผมมองโลกในแง่ดีนะ พวกทุ่งลาเวนเดอร์น่ะ ผมก็คิดว่าเราคงไปได้ดี ต้องเปลี่ยนแปลงนะ ตอนนี้เราถอยหลังมาเยอะเหลือเกิน

 

มีเรื่องอะไรที่คุณรู้สึกผิดพลาดในวัยหนุ่มมั้ย

ความไม่รู้นั่นแหละ ก็เพิ่งจะมารู้เพิ่มขึ้น เพราะข้อมูลของเราโดน propaganda โดนปิดบังอยู่เสมอ จนพอผมเรียนประวัติศาสตร์ ค้นหา พูดคุย เจอหลักฐานเพิ่มขึ้น ก็ค่อยๆ สว่างขึ้นมา จากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมไปค้นพบเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ตรงกับที่สอนกันมาเลย เราโดนโกหกมาตลอดชีวิตเลยนี่ ถ้าจะมีอะไรเสียใจมากที่สุด ก็คือผมไปหลงเชื่อประวัติศาสตร์ที่เคยเรียนมาจากในโรงเรียนนั่นแหละ

 

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save