fbpx
จาก ‘มาตรการขาหยั่ง’ ถึง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง กับ กรกนก คำตา

จาก ‘มาตรการขาหยั่ง’ ถึง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังหญิง กับ กรกนก คำตา

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

เชื่อว่าในชีวิตของคนทุกคน ย่อมต้องการจะได้อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่สอดรับและเอื้อเฟื้อต่อสุขภาวะและเพศสภาพ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเคารพสิทธิในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นโรงเรียน ที่ทำงาน ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘คุก’

แต่ ‘คุก’ ก็คล้ายกับอีกหลายสถานที่ที่อาจถูกออกแบบโดยตั้งตนจากสภาพที่เอื้ออำนวยให้เพศชาย และมองข้ามความละเอียดอ่อนกับผู้ที่มีเพศสรีระเป็นหญิง จนบางครั้งอาจข้ามเส้นของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายไปด้วย

กรกนก คำตา หรือ ‘ปั๊ป’ นักกิจกรรมอิสระ เป็นหนึ่งคนที่ได้สัมผัสประสบการณ์การละเมิดสิทธิบนร่างกายในเรือนจำ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 เธอได้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. จากการทำกิจกรรมทางการเมือง เมื่ออัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลทหาร เธอถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างรอได้รับการประกันตัว และได้ถูกดำเนินการ ‘ตรวจภายใน’ ถูกสัมผัสร่างกายโดยปราศจากการอธิบายและขอความยินยอม

หลังจากได้รับการประกันตัวเธอจึงกลายมาเป็นหนึ่งคนที่คอยส่งเสียงสะท้อนปัญหาดังกล่าว และลงพื้นที่สำรวจเรือนจำหลายแห่งที่ได้มาตรฐานเพื่อศึกษาว่าสิ่งแวดล้อมในเรือนจำหญิงได้เอื้ออำนวยต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิงหรือไม่

ขณะที่ข้อกำหนดกรุงเทพ (the Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ที่เกิดจากความริเริ่มและการผลักดันของประเทศไทย และถูกใช้เป็นมาตรฐานปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับโลก ระบุว่าเรือนจำต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้แน่ใจว่าศักดิ์ศรีของผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการปกป้องในระหว่างการค้นตัว ทั้งยังเสนอให้ใช้วิธีการตรวจค้นโดยทางเลือกอื่น เช่น การสแกน เพื่อใช้แทนที่การค้นที่ต้องสัมผัสร่างกายและถอดเสื้อผ้า และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นอันตรายทางกายภาพและสุขภาพจิต

กระนั้น เรือนจำไทยก็ยังถูกตั้งคำถามต่อมาตรการการตรวจภายในและกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย แม้จะมีความพยายามยกเลิกขั้นตอนดังกล่าวไปหลายครั้ง แต่ก็มักจะกลับมาใช้ด้วยเหตุผลในการค้นหาสารเสพติด และแม้เรือนจำบางแห่งจะพยายามใช้เครื่องสแกนร่างกาย แต่หลายคนก็ยังตั้งคำถามว่าเครื่องสแกนร่างกายนั้นครอบคลุมทุกหนแห่งหรือไม่

101 สนทนากับ กรกนก คำตา ถึงประสบการณ์และมุมมองของเธอต่อมาตรการและความเป็นอยู่ในเรือนจำหญิง และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเรือนจำให้เป็นที่ปลอดภัยของผู้หญิงตามข้อกำหนดกรุงเทพ

 

 

เมื่อถูกคุมตัวไปที่เรือนจำระหว่างขอประกันตัว คุณได้พบกับประสบการณ์อะไรบ้างที่ได้รับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง

พอเราเข้าไป เขาจะพาไปทำประวัติก่อน จากนั้นเมื่อไปที่แดนแรกรับก็จะพบกับคนที่เขาเรียกกันว่า ‘แม่ดำ’ เป็นผู้คุมโหดๆ คอยรับคนที่เข้าไปใหม่ เขาก็บอกให้เราเปลี่ยนเสื้อผ้าตรงนั้นเลย ไม่มีห้องน้ำให้ วันนั้นเราไปจากศาลโดยใส่ชุดเดรสที่เรียบร้อย เราก็ต้องถอดเสื้อผ้าตรงนั้น เขาเอาผ้าถุงมาพร้อมชุดผู้ต้องขังคือเสื้อสีน้ำตาล ก็ต้องเอาผ้าถุงมารองอกแล้วดึงเดรสออก พอถอดชุดแล้วเขาก็ยังไม่ได้ให้ใส่เสื้อ เขาขอให้เราถือผ้าถุงไว้แล้วลุกนั่ง เพื่อถ้าเราแอบของไว้ในช่องคลอด ของจะได้หลุดออกมา ผู้คุมจะเป็นคนคอยถือผ้าถุงไว้ เราต้องชูมือขึ้น ลุกนั่ง และหมุนตัวไปรอบๆ ในผ้าถุง ซึ่งผู้คุมก็ต้องเห็นตัวเราอยู่แล้ว

หลังจากใส่ชุดนักโทษ เขาก็ให้ใส่รองเท้าแตะ เราได้รองเท้าข้างเดียวกันเป็นข้างขวากับข้างขวา มาคิดแล้วก็เหมือนกับซีรีส์เรื่อง orange is a new black เลย เราไม่รู้ว่าทั้งหมดนี้คืออะไร เขาไม่ได้อธิบายกระบวนการอะไรเลย

จากนั้นเขาก็พาเราไปที่เรือนพยาบาล บอกให้เราเข้าไปในห้องน้ำแล้วไปฉี่ใส่ขวดมา เราก็ไม่รู้เขาจะเอาไปทำอะไร พอฉี่เสร็จเขาก็จุ่มอะไรบางอย่างลงไปในที่เก็บฉี่ แล้วก็พูดว่า “ไม่ท้อง” คือตรวจครรภ์เราโดยที่ไม่บอกไม่ถามเลย เสร็จแล้วก็ให้ไปห้องตรวจภายใน ให้เราขึ้นขาหยั่ง ในห้องนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่ไม่รู้ว่าเป็นพยาบาลหรือเปล่าและผู้ช่วยที่เป็นผู้ต้องขัง เขาบอกว่าให้ขึ้นขาหยั่ง เถิบก้นลงมา แล้วก็เปิดผ้าออก จากนั้นเขาก็เอามือที่ใส่ถุงมือล้วงเลย ล้วงแบบล้วงซ้ายล้วงขวา แล้วก็บอกว่าเสร็จแล้วโดยไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งนี้คืออะไร จริงๆ การตรวจภายในต้องละเอียดอ่อนนะ ขนาดหมอเองก็ต้องขออนุญาต

อันนี้แค่ประตูแรก พอไปประตูที่สองซึ่งเป็นแดนที่เราจะได้อยู่ ก็เอาอีก คือให้ถอดเสื้อออก ใส่แค่ผ้าถุงอย่างเดียว แล้วก็หมุนตัว นั่งสก็อตจัมพ์สามครั้ง คือไปแก้ผ้าให้ผู้คุมแดนนั้นดูอีกรอบ

ตอนอยู่ในนั้นผู้คุมก็ไม่ให้เราคุยกับคนอื่น เพราะเราเป็นนักโทษทางการเมือง ช่วงสวดมนต์เย็น ผู้คุมแยกเราไว้ไม่ให้นั่งรวมกับผู้ต้องขัง พอเรานั่งและพยายามจะหาอะไรมาพิง เหมือนคนปกติที่ไม่ได้นั่งหลังตรงได้ตลอดเวลา เขาก็บอกว่า “ฉันไม่ได้บอกให้เธอไปพิง เธอไปได้ยังไง” แล้วก็ให้กลับมาท่าเดิม นั่งเป็นชั่วโมง ฟังทั้งเรือนจำสวดมนต์พร้อมกัน และถ้าเราจะคุยอะไรกับผู้คุมต้องคลานเข่าไปคุย ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่า ถ้าติดคุกนี่เป็นบ้าตายแน่นอน เพราะเขาควบคุมเราทุกอย่าง เอนหลังก็ไม่ได้ถ้าเขาไม่ได้สั่ง

สุดท้ายเราก็ได้ขึ้นไปเรือนนอน ได้ห้องนอน ได้หมอนของเรา ตอนกำลังจะล้มตัวนอน เขาก็บอกว่าให้กรกนกออกไปได้ ได้ประกันแล้ว ตลกดี จริงๆ เราได้ประกันตั้งแต่บ่ายสาม แต่ว่าคนข้างในไม่ยอมบอกเรา แล้วก็ให้เราดำเนินกระบวนการต่างๆ

 

 

ทุกคนที่ต้องเข้าเรือนจำไม่ว่าจะรอประกันตัวหรือเข้าตามกระบวนการอื่นก็ต้องเจอแบบนี้หมดเลยหรือ

ใช่ค่ะ ผู้ต้องหาทางการเมืองหลายคนก่อนหน้าก็โดน แต่จังหวะที่เราออกมาเล่าเรื่องนี้ เน้นเล่าเรื่องตรวจภายใน และเอามารณรงค์ หลังจากนั้นเขาก็เลยบอกว่าตอนนี้เลิกตรวจภายในแล้วนะ นักโทษทางการเมืองผู้หญิงก็จะให้นั่งอยู่ที่เก้าอี้แล้วรอประกันตัว ไม่ต้องไปตรวจภายใน

ในเรือนจำก็มีเรื่องสนุกคือ เขาลือกันว่า เฮ้ย นักโทษหญิงกรกนกทำให้ผู้หญิงไม่ต้องโดนตรวจภายในแล้ว แล้วเขาก็ถามกันว่าใครคือนักโทษหญิงกรกนก พี่กอฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เจ้าของหนังสือ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ”) เขาออกมาเล่าให้ฟัง เราคิดว่าทุกคนดีใจค่ะ เพราะไม่ได้มีใครอยากโดนแบบนั้น

แต่ประมาณสามเดือนหลังจากนั้น เขาก็กลับมาใช้มาตรการตรวจภายในใหม่ ให้เหตุผลว่ายาเสพติดเข้าไปกระจายอยู่ในเรือนจำ ดังนั้นการตรวจภายในจึงเป็นการป้องกันไม่ให้มียาเสพติดในเรือนจำ

 

ก่อนหน้านี้เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนบ้างไหมว่าถ้าต้องเข้าคุกจะต้องเจอกระบวนการแบบนี้

ไม่รู้ จริงๆ ก็ไม่รู้ด้วยว่าเราจะต้องเข้าคุกวันนั้น เรายังใส่ชุดที่ถอดยากอยู่เลย ยังใส่รองเท้ามีส้น แต่ว่าฝั่งเพื่อนผู้ชายที่โดนพร้อมกัน เช่น จ่านิว ที่เข้าเรือนจำชาย เขาพอรู้แล้ว เตรียมใส่กางเกงขาสั้นมา เพราะถ้าใส่กางเกงขายาวจะโดนตัดขากางเกง วันนั้นก็ถือว่าเราช็อคอยู่ พอเราเข้าไปเจอการตรวจภายใน ก็ออกมาด้วยความรู้สึกว่า นี่มันเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กเล่า คนก็แชร์ไปสามพันแชร์ จากนั้นพี่ๆ ที่เขารณรงค์เรื่องคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงอยู่ก็ชวนเราไปแถลงว่ายังมีการตรวจช่องคลอดผู้หญิงอยู่ ทั้งที่คุณบอกว่าจะต้องไม่มี แต่ที่เราเจอคือการบังคับตรวจ ตอนนั้นก็ได้รับคำอธิบายว่ามีเงินไม่พอซื้อเครื่องสแกน ก็เลยต้องใช้มือตรวจ

 

ช่วงปลายปี 2559 ทัณฑสถานหญิงกลางนำเครื่องสแกนร่างกายมาติดตั้งและใช้งานเป็นครั้งแรก เพื่อลดปัญหาการร้องเรียนด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งตรวจค้นการลักลอบนำยาเสพติด คุณรู้สึกยังไงบ้างที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ประสบมาด้วยตัวเอง

ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อย่างจริงจังแค่ไหน อาจต้องดูกันต่อไปในอนาคต เพราะการล้วงเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิอะไรแล้ว ถึงตัวได้เลย ล้วงเลย เขาทำได้ทุกอย่าง เหมือนควบคุมชีวิตเราได้ ดังนั้นเราหวังว่าจะไม่เห็นข้ออ้างอื่นๆ เช่น มียาบางอย่างที่สแกนไม่เห็น ต้องติดตามผลกันต่อไป คนออกจากเรือนจำมา เขาก็จะมาเล่าให้ฟังแน่ๆ ว่าเครื่องสแกนใช้ได้จริงมั้ย ที่สำคัญก็หวังว่าจะติดตั้งทุกเรือนจำ และทุกประตู

 

จากที่คุณเคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และลงพื้นที่สำรวจเรือนจำหญิง เห็นอะไรที่น่าสนใจในเรือนจำบ้าง ผู้ต้องขังหญิงมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร เจอเรื่องอะไรที่ยังรู้สึกว่าไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของผู้หญิงไหม

ตอนนั้นก็ยังมีการตรวจภายในเหมือนเดิม ไม่มีห้องเปลี่ยนชุดเหมือนเดิม แล้วก็เห็นว่าเขามักจะให้ทอมไปอยู่รวมกันเพราะกลัวเรื่องชู้สาว มีการห้ามมีเซ็กซ์ ถ้าโดนจับได้ก็โดนทำโทษ แต่ธรรมชาติของคนก็ต้องมีเซ็กส์ เขาก็ต้องไปแอบที่ที่ตากผ้าถุง และด้วยสถานที่ในเรือนจำจะไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว ก็เลยไม่สามารถช่วยตัวเองได้ พอนอนเบียดกันมากๆ ช่วยตัวเองยังไงคนข้างๆ ก็รู้อยู่ดี คือทุกที่มันโปร่ง แม้แต่ตอนฉี่ กำแพงก็เตี้ยมาก แต่ละคนก็ยืนต่อแถว คนต่อไปก็ต้องเห็นอวัยวะเพศเรา ก็ต้องทนเอา ซึ่งทุกเรือนจำเป็นแบบนี้ ไม่มีห้องน้ำปิด เขาอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนั้นก็มีเรื่องงานและการฝึกอาชีพด้วย บางสิ่งที่ให้ผู้หญิงทำจะเป็นอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ติดกระดาษ ติดกาว ไม่ค่อยได้ทักษะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ บางคนต้องบำบัดยาเสพติด แต่ก็ให้มาทำงานติดกาว ซึ่งไม่ใช่กระบวนการบำบัดที่สามารถช่วยเขาได้

นอกจากนี้ก็มีเรื่องพวกสุขภาพ ถ้าใครป่วยจะได้ยาพารา ถ้าช่องปากมีปัญหา มีอย่างเดียวคือถอนฟัน ดังนั้นคนที่ไปอยู่ในคุกนานๆ ฟันก็จะไม่เหลือ เพราะว่าไม่สามารถอุดฟัน ไม่สามารถเก็บรักษาฟันของเขาเอาไว้ให้

 

 

ปัญหาหลายๆ อย่างน่าจะมองด้วยตาไม่เห็น คุณได้พูดคุยกับผู้ต้องขังอย่างไรบ้าง

จริงๆ เราขอสัมภาษณ์กับผู้ต้องขังเดี่ยวๆ โดยไม่ให้ผู้คุมอยู่ เราเขียนไปในจดหมายเลย สิ่งที่เขาจัดให้คือเขาเลือกผู้ต้องขังมา ไม่ใช่การสุ่ม และผู้คุมจะมานั่งประกบ บางทีก็ตอบคำถามแทน ไม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้ต้องขังจะสามารถบอกเราได้เต็มที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ต้องขังก็เป็นคนที่เขาเลือกมาแล้ว ดังนั้นเราอาจไม่สามารถเชื่อข้อมูลจากคนที่เขาเลือกมาให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องอาศัยกระซิบถามตามข้างทาง คือเวลาเราเดินเข้าไป เขาจะให้ผู้ต้องขังทั้งหมดนั่งรอเป็นแถวๆ ผู้คุมจะมาล้อมเราไว้ไม่ให้คุยกับนักโทษ แต่เราก็จะต้องมีเทคนิค คอยหาจังหวะที่ผู้คุมเผลอ ไปกระซิบถามว่า พี่เป็นยังไงบ้าง อยากได้อะไร ทำงานได้เงินกี่บาท

 

เรื่องอะไรที่ผู้ต้องขังมักจะพูดกับเรา

น่าจะเป็นเรื่องว่าเขาไม่อยากติดแล้ว ไม่อยากอยู่ที่นี่ มันนานเกินไป จริงๆ พวกเขาค่อนข้างชินกับความเป็นอยู่ต่างๆ แล้วนะ และมีวิธีการเอาตัวรอดในแต่ละจุดไปได้ แต่จะมีเรื่องสุขภาวะบางอย่างที่เขาบอกมา เช่นของที่ผู้หญิงจำเป็นต้องใช้มีไม่พอ ที่ตากผ้าถุงและชั้นในไม่พอ กางเกงในไม่พอ ขโมยกางเกงในกัน เพราะว่าเขาไม่ได้แจกบ่อย บางที่ไม่ได้แจกด้วยซ้ำ ต้องหาเงินซื้อ ถ้าไม่มีงานก็ต้องรับจ้างดูแลคนที่รวยกว่าในคุก

 

ของจำเป็นต่อผู้หญิงอย่างผ้าอนามัย ในคุกมีการจัดหาอย่างเพียงพอไหม

เรือนจำบอกว่าแจก แต่จริงๆ ผู้ต้องขังจำนวนมากก็ต้องซื้อเอง บางรายที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม อย่างน้อยจะต้องทำงานในนั้นเพื่อหาเงินซื้อ เช่น นวด หรือซักผ้าให้ผู้ต้องขังคนอื่น พวกยาสระผมก็ได้แค่ตอนแรกที่เข้าไปใหม่ นอกนั้นก็ไม่ได้แจกอีก หลายอย่างไม่พอ ก็เลยเกิดการขโมยกันเยอะ

 

มีปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ หรือเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ต้องขังไหม

ในเรือนจำแถบภาคเหนือ หลายคนไม่ได้พูดภาษาไทยหมด แต่เขาก็ไม่ยอมเตรียมล่ามไว้ ในข้อกำหนดกรุงเทพ’ ระบุว่าเมื่อผู้ต้องขังเข้าไปจะต้องบอกสิทธิกับเขา พูดภาษาอะไรก็จะต้องมีล่าม แปลภาษาให้เขาได้รู้ถึงสิทธิผู้ต้องขัง แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ค่อยมี

ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ใช่สัญชาติไทย หรือเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็มีการเลือกปฏิบัติอยู่ ให้ทำงานที่ได้เงินน้อยและต้องใช้แรง คุณภาพชีวิตก็จะแย่กว่า หลายคนมาจากครอบครัวที่จน ก็จะไม่มีใครมาเยี่ยม

อีกเรื่องคือ ผู้ต้องขังบางคนมีลูก เขาก็จะไม่ได้เจอลูกเขาง่ายนัก ต้องรอให้ยายพาลูกมาเยี่ยม เรือนจำทางภาคเหนือตอนนั้นเจอเคสที่ยายก็จน ไม่สามารถลงมาจากบนดอยแล้วพาหลานมาได้ ดังนั้นก็ไม่ได้เจอหน้าลูกเลย

หลายเคสที่เจอคือคดียาเสพติด แต่เป็นคดีที่เรามองว่าไม่จำเป็นต้องจับมาเข้าคุก เช่น ยายแก่ๆ ที่เสพฝิ่นของแกอยู่แล้ว บางเรื่องไม่ใช่ภัยต่อสังคม แต่คนแบบนี้ต้องโดนมาอยู่ในคุก แล้วในคุกก็คับแคบมาก อย่างเรือนจำหนึ่งที่ส่วนมากผู้ต้องขังเป็นชาวเขาที่โดนคดีฝิ่น ผู้ต้องขังจะไปนั่งชิดกำแพงตามลานหรือที่โล่งแจ้ง ไม่นั่งอยู่ในร่ม เรางงว่าไปอะไรอยู่ตรงนั้น เขาก็เล่าว่า วิถีของชาวเขา เขาเคยอยู่แต่ที่ที่มันโล่งๆ แต่ในคุกไม่มีที่ให้ไป

 

 

คุณว่ามีประเด็นอะไรที่เรือนจำหญิงไทยยังน่าเป็นกังวล

เรื่องความแออัด และสุขภาวะ สุขภาพของผู้หญิงก็มีหลายโรค พอไม่ได้เจอหมอ ยาไม่มี บางทีก็ทำให้การรักษาช้า เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูก จริงๆ สภาพในเรือนจำเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะอาดและความแออัด ผ้าถุงไม่ค่อยแห้ง กางเกงในไม่ค่อยแห้ง ช่องคลอดก็จะติดเชื้อง่าย เสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ด้วยเช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นเชื้อราในช่องคลอด เรากังวลว่าจะยังไม่มีการดูแลที่เหมาะสมในเรื่องเหล่านี้

นอกจากนี้ก็มีเรื่องสุขภาพของแม่และเด็ก ใครตั้งครรภ์ในนั้นบางที่จะให้ไข่ต้ม ให้แม่ฟองนึง ให้ลูกฟองนึง เพิ่มจากอาหารธรรมดา

 

นอกจากมุมของผู้ต้องขังแล้ว เห็นอะไรในการปฏิบัติงานของฝั่งเจ้าหน้าที่บ้าง เขาเห็นปัญหาขนาดไหน

จริงๆ แล้วเขาเห็น อย่างเรือนจำที่ขนาดเล็ก เขาจะเป็นกันเองกับผู้ต้องขัง เพราะมีคนน้อย บางคนเป็นเหมือนแม่กับลูก หรือเป็นเพื่อนกัน แต่เรือนจำใหญ่ๆ คนมันเยอะ วิธีที่เขาจัดการคือต้องดุ บางเรือนจำ เวลาผู้คุมเดินผ่าน ต้องหมอบ ค้อมตัวต่ำๆ ผู้คุมจะเปลี่ยนบุคลิกไปตามแต่ละที่เพื่อที่จะคุมคนให้ได้

ส่วนหนึ่งเขาอาจจะโดนฝึกมาว่า คนพวกนี้คือคนไม่ดี จะต้องปฏิบัติกับเขาด้วยความโหด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีวิสัยทัศน์แบบไหน มองว่าผู้ต้องขังเป็นมนุษย์ไหม

แต่ต้องยอมรับว่าผู้คุมอาจไม่ได้เห็นปัญหาอย่างรอบด้าน ผู้คุมบางคนรู้และตระหนักแค่ว่าต้องคุมเรือนจำนี้ให้ได้ แล้วก็ใช้ทุกวิธีเพื่อคุม โดยอาจไม่ได้คำนึงว่าจะละเมิดสิทธิผู้ต้องขังยังไง หลายครั้งใช้วิธีกดความเป็นคนเพื่อให้คุมได้ เช่น ให้คลานเข่า ให้แก้ผ้าลงโทษ ผู้ต้องขังไม่กล้าที่จะโต้เถียง ก็ทำตามคำสั่ง

 

ปัญหาที่คุณสะท้อนมาประกอบด้วยหลากหลายประเด็น คุณคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ยังทำให้เรือนจำยังมีปัญหาแบบนี้อยู่

ถ้าถามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน คิดว่าต้องมองทั้งโครงสร้างระบบยุติธรรม หลายเรือนจำบอกเราว่า มาเยี่ยมเรือนจำก็เหมือนเห็นปัญหาที่ปลายน้ำ คุณต้องไปเริ่มดูตั้งแต่กระบวนการดำเนินคดี ในภาพรวมเมื่อมีการตัดสินว่าคนนี้ต้องติดคุก เรือนจำเขาก็รับมา แต่ต้นทางไม่ได้คำนึงถึงปัญหาคนล้นคุก เรือนจำเองไม่ได้เป็นคนออกนโยบายว่าใครต้องติดหรือไม่ติด แต่เขาต้องมารับมือกับปัญหาความแออัด ดังนั้นการมาบี้เอากับเขาก็เหมือนปลายน้ำ

เราก็มองเห็นว่าเป็นปลายน้ำอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่ต้องทำอะไรเลย และยังมีกระบวนการหลายอย่างที่ช่วยหลีกเลี่ยงให้คนกลับมาติดคุกอีก เช่น การ empower ผู้ต้องขัง ทำให้เขากลับไปสู่สังคมและมีชีวิตอย่างปกติ ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการฝึกอาชีพ สันทนาการ เวิร์กช็อป หรือการร่วมมือกับเอกชน แต่ประเด็นสำคัญคือ เรือนจำต้องมองผู้ต้องขังใหม่ ทำกระบวนการเยียวยาให้เป็นจริงโดยเริ่มจากเคารพความเป็นมนุษย์ หากคุณลดความเป็นมนุษย์เขาในเรือนจำ คุณจะหวังให้เขากลับมาอยู่ในสังคมโดยเคารพกฎของสังคม เคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ได้อย่างไร

 

 

คิดอย่างไรกับแนวคิดว่า เมื่อทำผิดจนต้องติดคุก ก็ไม่สมควรได้รับความสะดวกสบาย

ต้องถามว่า เวลาคนทำผิดกฎของสังคมบางอย่าง เราอยากจะทำให้เขากลับมาทำให้ถูกกฎของสังคมหรือเราอยากจะทำให้เขากลัว แล้วคิดว่าความกลัวได้ผลจริงมั้ย กฎหมายที่ตราเอาไว้แบบกำหนดโทษ แม้แต่คดียาเสพติด ก็มีโทษสูงมาก และการกำหนดโทษก็ไม่ได้หยุดยั้งหรือทำให้คนเลิกทำ การที่เราอยากจะให้เขากลับมาใช้ชีวิตโดยเคารพกฎของสังคม การลงโทษไม่ใช่วิธีแก้ เขาแค่กลัวโทษเท่านั้น ดังนั้นเราควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ต้องย้อนดูเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาทำผิด แล้วไปแก้แต่ละกรณีไป คิดว่าเราจะช่วยให้เขาได้รับความยุติธรรมในด้านต่างๆ พอจะใช้ชีวิตในสังคมและไม่ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอย่างไร ไม่ใช่การไปบอกเขาว่าอะไรที่เขาสมควรหรือไม่สมควรได้รับ นั่นเป็นเพียงการขู่ให้กลัว ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

เหตุการณ์ที่ รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล)  ถูกย้อมผม ให้เปลี่ยนแว่น เป็นช่วงเดียวกับที่คุณออกมารณรงค์ต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับรุ้งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐพยายามที่จะแสดงอำนาจเหนือคนๆ นึง ว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เมื่อคุณทำผิดไปจากสิ่งที่เขาต้องการ แสดงให้เห็นว่า ฉันกล้อนผมเธอได้ เธอไม่มีสิทธิแตกต่างจากคนอื่น เธอก็เป็นผู้ต้องขังที่ทำผิดกฎของสังคมแล้วจะต้องได้รับการปฏิบัติแบบนี้ คือเขาพยายามทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นความผิด เป็นอาชญากร ให้สังคมรู้สึกว่านี่คือการจัดการของรัฐต่อคนที่สร้างความวุ่นวายให้กับรัฐ

อย่างการเปลี่ยนกรอบแว่นเขาอาจจะอ้างว่า แว่นอาจจะเป็นอาวุธ การย้อมผม เขาก็บอกว่า เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังอื่นรู้สึกว่าตัวเองต้องไปเสริมสวย คือมีหลายเรือนจำไม่ให้ผู้ต้องขังแต่งหน้า บอกว่าความสวยความงานมันสร้างปัญหา จะมีการทะเลาะเบาะแว้ง มีปัญหาชู้สาวเกิดขึ้น สิ่งที่คนในคุกทำก็คือเอาสีผสมอาหารผสมกับวาสลีน แล้วทาแทนลิป แอบเอาดินสอเเขียนคิ้วเข้าไป พอมาทำกับรุ้ง เขาก็ใช้ข้ออ้างดังต่อไปนี้้ แว่นไปเป็นอาวุธ สีผมจะทำให้ต่างจากคนอื่น ผมสั้นเป็นกฎของเรือนจำว่าป้องกันเหา รุ้งก็ต้องสั้น เขาใช้ความพยายามมากเกินเพื่อที่จะทำให้คนยอมสยบภายใต้การใช้อำนาจ

 

คุณรณรงค์เรื่องสถานการณ์เรือนจำหญิงมาหลายปีแล้ว มีการตอบรับ การรับฟัง หรือแนวโน้มที่ดีบ้างไหม

แนวโน้มที่ดีคือ การพยายามเอาข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในหลายที่ ใช้หลายเรือนจำมากขึ้น ทำให้ดีขึ้นตามมาตรฐาน แต่เราก็ยังต้องมองไปถึงปัญหาต้นเหตุ ไปจนถึงข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องทำยังไงให้ลดจำนวนคนในคุก จะปฏิรูปคดียาเสพติดยังไงให้พัฒนาผู้ต้องขังได้จริง

 

ข้อเสนอของคุณที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมพัฒนาขึ้นคืออะไร เราจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความแออัดในเรือนจำได้อย่างไร

ระบบยุติธรรมเป็นต้นเหตุตั้งแต่เรื่องการกำหนดโทษ หากดูวิธีคิดของรัฐต่อคดียาเสพติดจะเห็นว่า หลายคนแค่ใช้ ไม่ได้ขาย ก็ต้องติดคุก ทำให้ปริมาณผู้ต้องขังล้น นำไปสู่ปัญหาว่ากรมราชทัณฑ์จะต้องทำยังไงก็ได้เพื่อคุมคน

ข้อเสนอของ NGOs แบบสุดโต่งคือไม่อยากให้คนเข้าคุก เพราะคุกเป็นแค่การลงโทษเขา แล้วคาดหวังให้เขากลับมาอยู่ในสังคม ทำตามข้อกำหนดของสังคม แต่ถ้าจะทำให้เรือนจำมีมาตรฐาน ก็จะต้องเปลี่ยนแนวคิดของผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนแนวคิดรัฐให้มองผู้ทำผิดเป็นมนุษย์ จัดสรรงบประมาณเยอะขึ้นเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ต้องคำนึง เช่น เรือนจำควรมีพื้นที่เท่าไหร่สำหรับผู้ต้องขังหนึ่งคน แต่หลายเรือนจำต่ำกว่ามาตรฐาน คนล้นเรือนจำ ยังไม่นับว่ามีคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เลยต้องอยู่เรือนจำเพื่อจ่ายค่าปรับ คือถ้าเกิดเราเกิดมาจน ก็ต้องเอาตัวไปอยู่ในคุก

ข้อเสนอของเราก็คือต้องทำให้คนออกจากคุกให้เยอะที่สุด เพื่อที่เรือนจำจะได้ไม่ล้น และเป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพ ต้องใส่งบประมาณลงไปให้เยอะขึ้น ไม่ใช่อ้างว่างบประมาณไม่พอ ทำให้ไม่มีเครื่องสแกนร่างกาย จริงๆ มีวิธีการแก้ปัญหาหรือการบำบัดอีกมากที่ไม่จำเป็นต้องใช้โทษจำคุก เช่น คดียาเสพติดในต่างประเทศ ใช้วิธีทำให้คนเข้าใจว่าการใช้ยาแบบไหนคือปกติ การใช้ยาแบบไหนคือส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่งผลเสียต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หรือเป็นอันตรายกับคนอื่น ทำงานทางความคิดหรือใช้นักสังคมสงเคราะห์ประกบ ไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย หรือต้องจำคุกในทันที ทำให้เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหายไปเยอะ

 

 

ในประเด็นผู้ต้องขังหญิงมีอะไรที่ทำได้เลยเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสุขภาวะของผู้หญิงมากกว่าบ้าง

ต้องดูทั้งระบบ มองอย่างเป็นองค์รวมว่าผู้หญิงต้องการอะไรบ้าง ตั้งแต่การมีประจำเดือน จึงต้องการผ้าอนามัย ต้องมีพื้นที่ให้สามารถมีความสุขทางเพศได้ ถ้าเขาท้องและคลอดลูกในเรือนจำ ก็จะต้องให้เขาได้สารอาหารที่ครบถ้วน ได้รับบริการทางสุขภาพ ไปตรวจครรภ์ ได้ไปคลอดที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นเขาก็ต้องได้ใช้เวลาและรับรู้ว่าลูกเป็นยังไง ครอบครัวเป็นยังไง ต้องดูเรื่องทางเศรษฐกิจของเขา และมองไปถึงสาเหตุที่กระทำความผิดเพื่อทำความเข้าใจและช่วยนำเขาออกจากปัญหา ไปจนถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่น ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศได้ การดูแลความปลอดภัยจึงยังต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เสมอ

หยุดการตรวจภายในโดยอ้างว่าเดี๋ยวยาเสพติดกระจายเข้าไปในเรือนจำ ยาเสพติดไม่ใช่เหตุผลในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การตรวจภายในและกระบวนการอื่นๆ ที่ไม่ได้ขอความยินยอมคือการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย คุณจะใช้กฎเล็กมาคัดง้างกับกฎใหญ่ไม่ได้ ต้องไปหาวิธีที่จะตรวจยาเสพติดได้โดยที่ไม่ละเมิดสิทธิตรงนี้ เครื่องสแกนควรจะมีทุกคุก เพื่อที่คุณจะไม่ต้องล้วงใครเลย ถ้าเกิดจะต้องแก้ผ้าทุกประตู ก็ต้องมีเครื่องสแกนทุกประตู

ในภาพรวมคือการทำให้มีพื้นที่มากพอที่คนๆ หนึ่งจะสามารถเป็นมนุษย์ได้ มีเวลาให้เขาได้เรียนรู้หรือได้เลือกในสิ่งที่เขาสนใจ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก บางคนที่อยู่ในเรือนจำนานๆ ออกมาปรับตัวไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รู้เศรษฐกิจ ไม่รู้การเมือง ไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นข่าวสารจะต้องถึง แม้ว่าโดนจำกัดเสรีภาพทางกายแต่ว่าเสรีภาพอื่นๆ ไม่ได้ถูกจำกัด

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save