fbpx

“ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง” กรณ์ จาติกวณิชกับจุดยืนของ ‘ชาติพัฒนากล้า’

นับเวลาถอยหลังเข้าไปทุกทีสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ที่แม้จะยังไม่ระบุวันที่อย่างเป็นทางการ แต่พรรคการเมืองต่างก็ขยับ ปรับกลยุทธ์เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น บ้างเป็นพรรคใหม่ที่เปิดตัวขอรับใช้ประชาชน บ้างเป็นพรรคเก่าแก่ที่ขอรีแบรนด์ใหม่เพื่อเตรียมกวาดคะแนนเสียง แต่หนึ่งในความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สร้างความฮือฮาคือการที่กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าหอบนำลูกพรรคไปจับมือกับพรรคชาติพัฒนา ก่อนจะรีแบรนด์เป็น ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’

การผนึกกำลังของสองพรรคในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการปรับตัวของพรรคเล็กเพื่อรับมือกติกาเลือกตั้งใหม่ แต่ที่น่าจับตายิ่งไปกว่ายุทธศาสตร์ คือพรรคชาติพัฒนากล้าจะสร้างตัวตนอย่างไร วางที่ทางตัวเองไว้ตรงไหนของภูมิทัศน์การเมืองไทย และจะก่อร่างสร้างวิสัยทัศน์ของพรรคอย่างไรเพื่อชนะใจประชาชนท่ามกลางกระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลง

101 สนทนากับกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรายการ 101 One-on-One Ep.281: ‘ชาติพัฒนากล้า’ กับ ภูมิทัศน์ใหม่การเมืองไทย กับ กรณ์ จาติกวณิช ถึงการเกิดขึ้นของพรรคชาติพัฒนากล้า แนวทางและอนาคตของพรรคบนภูมิทัศน์การเมืองใหม่ รวมถึงชวนตีโจทย์เศรษฐกิจไทยในวันที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังใกล้เข้ามา

YouTube video


พรรคกล้าเปิดตัวสู่สนามการเมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้พรรคกล้าหันหัวเรือใหม่ไปจับมือกับพรรคชาติพัฒนาจนเกิด ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’ ขึ้น

ตอนที่ตั้งพรรคกล้าตั้งใจว่าอยากจะทำอะไรบางอย่างให้กับบ้านเมือง ด้วยบริบทหรือกติกาการเมืองตอนนั้น ถ้าสามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากทั้งประเทศมาถัวเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะสามารถคำนวณจำนวน ส.ส. ที่เราจะได้ มันก็เป็นวิธีการทำงานการเมืองที่ขายความคิด ซึ่งตอบโจทย์เรา ก่อนที่พรรคใหญ่จะไปแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องกติกาการเลือกตั้ง พอกติกาเปลี่ยน เราก็ต้องทบทวนในเชิงยุทธศาสตร์มาให้ความสำคัญกับการชนะในเขตมากขึ้น และจำเป็นที่ฐานต้องแข็งแรง บ้านต้องใหญ่ขึ้นถึงจะมีโอกาสหลังเลือกตั้งที่จะได้ขับเคลื่อนสิ่งที่เราคิดและตั้งใจอยากจะทำ

แล้วทำไมต้องเป็นพรรคชาติพัฒนา ถ้าพูดกันตามตรง ทุกพรรคก็คุยกันมาแล้ว สำหรับพรรคเรามีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา เรื่องแรกคือแนวทางทางการเมืองที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง นอกนั้นดูว่าใครที่เห็นตรงกันเรื่องเศรษฐกิจว่าต้องกล้าจะทำเรื่องยากๆ ชนกับโครงสร้าง และไม่เกรงใจใครจนเราทำอะไรใหญ่ๆ ไม่ได้ ซึ่งพอเรามาเจอกับคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภและคุณเทวัญ ลิปตพัลลภ ยิ่งคุยยิ่งมีความรู้สึกว่ามันอาจจะคนละรุ่น แต่แนวความคิดไม่ได้ทำให้ลำบากใจเลย ไม่ว่าจะรายละเอียดของตัวนโยบาย ทิศทางการเมือง หรือว่าหลักอุดมการณ์


จุดเริ่มต้นของการจับมือกันในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

การรวมกันแบบนี้สำคัญที่สุดคือต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน บางครั้งต้องมีคนที่เราทั้งสองเชื่อมั่น ครั้งนี้ก็มีคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นพ่อสื่อ ผมเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นเราทำงานใกล้ชิดกันมาก แล้วคุณกอร์ปศักดิ์ก็เคยเป็น ส.ส. โคราชก็สนิทสนมกับคุณสุวัจน์มายาวนาน

จุดเริ่มต้นมาจากการสนทนาระหว่างคุณกอร์ปศักดิ์และคุณสุวัจน์ ก่อนหน้านี้คุณกอร์ปศักดิ์อยากจะหวนกลับมาสู่วงการการเมือง แกก็คุยกับคุณสุวัจน์และผม สุดท้ายคุณกอร์ปศักดิ์ตัดสินใจมาอยู่พรรคกล้า แต่คุยไปคุยมาเขาบอกว่าแล้วทำไมไม่มาอยู่ด้วยกันเลย คุณสุวัจน์ก็บอกว่าน่าสน


หลายคนสงสัย ทำไมชื่อพรรคต้องเป็น ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’

เราทั้งคู่อยากรักษาอัตลักษณ์เดิม เพื่อเอาใจแฟนคลับของทั้งสองฝ่าย เราเสนอ ‘กล้าพัฒนาชาติ’ ว่ามีความหมายดี ขณะเดียวกันก็เกรงใจเพราะมีคำว่ากล้าขึ้นก่อน สุดท้ายมาลงเอยที่ ‘ชาติพัฒนากล้า’ เพราะพรรคชาติพัฒนาตั้งมาก่อน มี ส.ส. อยู่ในสภา เราเองก็ตระหนักว่าคนโคราช โดยเฉพาะคนที่ทำพรรคผูกพันกับชื่อนี้ พอไปศึกษาประวัติก็พบว่าท่านชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ก่อตั้งพรรค ท่านตั้งใจตั้งชื่อนี้ อยู่ดีๆ ไปเปลี่ยนก็เหมือนไม่แสดงความเคารพที่มา พอคิดแบบนี้ก็โอเค ชื่อก็คือชื่อ ที่สำคัญกว่าคือทำอะไรให้กับประชาชน สุดท้ายคนจะคุ้นเคยไปเองกับชื่อที่มันอาจจะขัดๆ เรียกยากนิดหนึ่ง และรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความหมายที่ชัดเจน แต่จริงๆ ผมจะบอกอย่างนี้นะ ‘ชาติพัฒนากล้า’ คือชาติจะพัฒนาได้ต้องกล้า


การผนึกกำลังของทั้งสองพรรคมีจุดไหนที่เติมเต็มการทำงานการเมือง และจุดไหนที่เป็นความท้าทายในการทำงานร่วมกัน

เรื่องพื้นที่ พรรคชาติพัฒนาแข่งกันในภาคอีสานโดยเฉพาะโคราช ส่วนของพรรคกล้าเดิม ผม คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี คุณวรวุฒิ อุ่นใจ เราดูพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก และด้วยเชื้อพรรคเก่าก็ทำให้มีฐานในภาคใต้ เพราะฉะนั้นพื้นที่ไม่ทับซ้อน นอกจากนี้คุณสุวัจน์ คุณเทวัญก็พูดอยู่เสมอว่าพรรคชาติพัฒนามีของ พรรคกล้าก็เข้ามาเติมมิติใหม่เข้ามาทำให้มีพลัง กระชุ่มกระชวยมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพรรคชาติพัฒนาเดิมเขามีอายุเฉลี่ยสูงกว่าพรรคกล้าเดิม และพรรคชาติพัฒนาจะระมัดระวังเรื่องข้อกฎหมาย ก็มีการปรับจูนเข้าหากันเป็นธรรมชาติของการทำงานข้ามวัย แต่สุดท้ายแล้วก็ปรับเข้าหากันโดยเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง


พรรคชาติพัฒนากล้ามองว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของพรรค และพรรคชาติพัฒนากล้าจัดวางตัวเองในภูมิทัศน์การเมืองไทยตอนนี้อย่างไร

ผมคิดว่าโดยเจตนาหรือโดยบังเอิญ ชาติพัฒนากล้าเป็นพรรคที่รวมคนที่มีประสบการณ์ภาคธุรกิจและเรื่องเศรษฐกิจเยอะที่สุด เมื่อเทียบกับทุกพรรค ทุกคนมีแพสชันในเรื่องการทำมาหากิน แล้วอยากเอาประสบการณ์ของตัวเองมาสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้กับเพื่อนร่วมชาติ ผมว่าตรงนี้น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของเรา

ผมกล้าที่จะบอกว่าผมไม่อยู่ฝั่งไหนเลย เรามีเรื่องที่อยากจะทำ ที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างโอกาสในการทำมาหากิน แก้ปัญหาโครงสร้าง ทำให้การแข่งขันป็นธรรม แก้ระบบราชการ ลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ถามว่าเราอยู่ข้างไหนก็คือข้างที่เรามีโอกาสจะได้ทำเรื่องเหล่านี้ จบเลย ผมไม่อยากแบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าเรามีส่วนในการที่จะช่วยให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมคิดว่านั่นคือจุดยืนและความตั้งใจของเรา


กลุ่มเป้าหมายของพรรคชาติพัฒนากล้าเป็นใคร

ไม่ได้จำกัดอยู่ในอาชีพหรือวัย เรื่องที่เราตั้งใจจะทำคือแก้ปัญหาปากท้องและการสร้างโอกาสการทำมาหากินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แม่ค้า นักธุรกิจ SMEs ถ้าคุณเห็นด้วยและอยากเห็นคนเอาจริงเอาจังเป็นมืออาชีพที่มาทำเรื่องนี้ นั่นคือกลุ่มเป้าหมายของเรา


พรรคมีนโยบายอะไรที่จะซื้อใจคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ต้องการความโปร่งใสและรังเกียจทุจริตคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้นนโยบายกระจายอำนาจ นโยบายปฏิรูประบบราชการน่าจะเป็นนโยบายที่ตรงกับจริตและความต้องการของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้นโยบายส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ รวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพและการให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQ+

ผมเป็น straight ที่สนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่แรก พูดตลอดว่าควรจะไปแก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ เรื่องการสมรสให้เปลี่ยนเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคล ทุกอย่างก็จบ และผมมองเห็นมิติโอกาสทางเศรษฐกิจ เรามีความคิดที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีรุ้ง (rainbow economy) เป็นที่รู้กันว่ากำลังซื้อของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมีมหาศาล ถ้าเราส่งสัญญาณออกไปว่าต้อนรับ ทางกฎหมายตามให้ทัน นโยบายหลักของรัฐสนับสนุนเต็มที่ ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะมีเงินจากกลุ่มนี้ไหลเข้ามาในประเทศเรามาก


คนรุ่นใหม่มีกลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันหรือการแก้ไขมาตรา 112 พรรคชาติพัฒนากล้ามองเรื่องนี้อย่างไร

ผมคุยประเด็นมาตรา 112 กับกลุ่มนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะมาร่วมงานกับเรา เขาถามผมว่าคิดยังไง ผมตอบว่าต้องมีมาตรา 112 ประมุขของประเทศควรจะต้องมีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง จะไปพึ่งกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปไม่ได้ ถ้ากังวลว่ากฎหมายนี้จะถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ตอนรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เราก็พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างคณะกรรมการการกลั่นกรองข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพราะปัญหาคือเวลาฟ้องร้องไปที่ตำรวจ ตำรวจไม่กล้าที่จะไม่ส่งต่อ อัยการรับมาก็ไม่กล้าที่จะไม่ส่งต่อ โยนภาระทั้งหมดไปที่ศาล มันก็เลยเป็นคดีความ ถ้ามีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งต้องเป็นคนที่สังคมเชื่อถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปัดตกเรื่องไม่เข้าเกณฑ์ออกไปเลยก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการการฟ้องร้อง

ส่วนคนรุ่นใหม่มองว่าเมื่อเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมอย่างน้อยที่สุดก็ให้มีประชามติว่าให้แก้หรือไม่ให้แก้ 112 ได้ไหม ในหลักการผมเข้าใจ แต่ผมกังวลในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งว่าถ้ามีประชามติเรื่องนี้ ผมว่าสังคมจะยิ่งแตกแยกขึ้นไปอีกแน่นอน สุดท้ายคนที่แพ้ประชามติก็จะไม่ยอมรับผลอยู่ดี ผมมองว่าทางปฏิบัติอย่าอย่างนั้นเลย ความเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลาและจังหวะที่เหมาะสมมันจะเกิดขึ้นเอง เขาฟังอาจจะไม่ได้เห็นตรงกัน 100% ในเรื่องนี้ แต่ว่าสมมติเราอยู่ในพรรคเดียวกัน บทสรุประหว่างนี้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองเป็นแบบนี้เขารับได้ก็ไปด้วยกันได้


หากประเมินนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ 8 ปีที่ผ่านมา มองว่าอะไรคือผลงานเด่น อะไรคือผลงานที่สอบไม่ผ่าน

แอปฯ เป๋าตังถือว่าเป็นสิ่งที่ผมชื่นชมมากที่สุดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยโหลดแอปพลิเคชันนี้มาใช้อยู่ 40 ล้านคน คุณสามารถทำให้เป็นแอปพลิเคชันแห่งชาติ (national platform) ได้ ซึ่งเขาพยายามอยู่ ตอนนี้ก็มีซื้อลอตเตอรี พันธบัตร น่าเสียดายเขาไม่ทำอะไรให้มากกว่านี้ ควรจะต้องเปิด open API ให้สตาร์ตอัปเอาข้อมูลไปใช้สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สร้างอะไรได้อีกเยอะ นอกจากนี้การขับเคลื่อนระบบสาธารณูปโภคหลายๆ เรื่อง ผมว่าทำได้เร็วกว่ารัฐบาลอื่นนะ ขนส่งมวลชนในกรุงเทพขยายเร็วมาก มีบางเรื่องที่ไปสะดุดช่วงตอนปลายทาง เช่น มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน น่าจะเสร็จตั้งนานแล้ว แต่ใช้ไม่ได้สักที 

ในอีกด้านตอนที่ท่านประยุทธ์เข้ามามีอำนาจเต็มมือในช่วง 4 ปีแรก ผมว่าหลายคนก็หวังว่าไหนๆ มีอำนาจอยู่ในมือก็ทำเรื่องที่นักการเมืองเขาทำไม่ได้ ปฏิรูปเรื่องยากๆ ด้วยอำนาจที่มี สุดท้าย -พูดแล้วอาจจะโหดไปนิด- คือไม่ได้ทำสักเรื่อง แล้วหลายเรื่องแย่ลง จะปฏิรูปการเมืองกลับมีทัศนคติที่เป็นลบมากกับนักการเมือง วันนี้นักการเมืองดีขึ้นไหม ผมว่าระบบแย่ลง และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เป็นพรรคของท่าน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่คณะรัฐประหารทุกคณะจะอ้างเป็นเหตุผลในการรัฐประหารดีขึ้นไหม ผมว่าทุกคนก็ตอบได้ว่าแย่ลง


ประเด็นเรื่องการให้ต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยได้กำลังถูกพูดถึงในหลายแง่มุม บางฝ่ายใช้คำว่า ‘ขายชาติ’ หรือวิพากษ์ว่าจะทำให้คนไทยซื้อที่ดินยากขึ้น คุณกรณ์มองอย่างไร

เห็นด้วยกับหลักคิดของนโยบาย แต่ผมคงไม่ออกนโยบายที่ไม่มีการสื่อสารการทำความเข้าใจกับประชาชนเลย ถ้าเป็นผมจะเสนอว่าลองหาพื้นที่ทดลองก่อนไหม พื้นที่ที่มีความพร้อม พื้นที่ที่ต่างชาติสนใจอยู่แล้วที่จะมาซื้อ และความจริงแอบซื้ออยู่แล้วผ่านนอมินี เช่น ขยายผลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตามกติกาที่รัฐบาลกำหนดออกมาคือห้ามซื้อเกิน 1 ไร่ ต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อย 40 ล้าน ถือไว้ 3 ปี หลัง 5 ปีค่อยมาทบทวนและประเมินนโยบายกันอีกที จะทำประชามตินโยบายนี้กับคนภูเก็ตก่อนเลยก็ได้  ผมคิดว่าถ้าให้โอกาสทดลองนโยบายในทางปฏิบัติ มันมีโอกาสที่จะไปได้สวยมากกว่า

ถามว่ามันคือขายชาติไหม ผมไม่เห็นว่าขายชาติตรงไหนนะ เราไปซื้อบ้านที่ญี่ปุ่น ที่อังกฤษ เราก็ไม่รู้สึกว่าเขาขายชาติ แถมมีค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงรักษา ค่าอะไรภาษีมากมายต้องเสียอีกต่างหาก เพราะงั้นผมคิดว่าการใช้วาทกรรมแนวทางการเมืองโจมตีกัน เสียโอกาสในการที่จะมาคิดด้วยเหตุด้วยผล

ผมพูดกว้างๆ ว่าทุกนโยบายมีผลข้างเคียง เราต้องอ่านให้ขาดว่าผลข้างเคียงในทางลบอาจจะมีอะไรบ้าง แล้วเราจะมีมาตรการยังไงที่จะจัดการไม่ให้เป็นปัญหา ผมพยายามคิดเผื่อรัฐบาลว่าความตั้งใจของเขาก็คือใครที่มีเงิน 40 ล้านมาลงทุนนอกเหนือจากซื้อบ้านจะต้องเป็นเศรษฐี เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มาซื้อแข่งกับคนไทยทั่วไป ผมมองว่านโยบายนี้เจ้าของที่ดิน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ประโยชน์แน่นอน และเขาได้ประโยชน์มากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายปัจจุบันเสียภาษีซื้อ-ขายที่ดินตามราคาประเมิน  ผมพูดมานานแล้วว่าควรจะปรับให้มีการเสียภาษีตามราคาที่ขายจริง ถ้าทำอย่างนั้นเขาอาจจะขายที่ดินมีกำไรให้กับต่างชาติ แต่รัฐจะได้เก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วภาษีนั้นเอามาสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนคนไทยทั่วไป อย่างนี้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย นโยบายควรที่จะครอบคลุมในประเด็นที่เป็นจุดอ่อนไว้ตั้งแต่แรก


ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นช่วงพีกของโควิด-19 หลายธุรกิจก็ยังไม่ฟื้น ขณะเดียวกันก็ต้องเจอปัญหาข้าวยากหมากแพง คุณกรณ์ในฐานะอดีตรัฐมนตรีการคลังมาก่อน คิดว่านโยบายการคลังควรจะเป็นแบบไหนที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

Stagflation เป็นช่วงที่ยากที่สุด ผมว่าสำคัญที่สุดตอนนี้คือสร้างรายได้ แก้ปัญหาหนี้ของประชาชน และก็หาช่องทางในการสร้างรายได้ ทั้งระดับครัวเรือนและระดับประเทศ

เราต้องทำความเข้าใจว่าที่มาของแพงมาจาก 2 เหตุผล 1. โครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น ราคาน้ำมันแพง หลายๆ สินค้าที่ไม่มีการแข่งขันที่เสรีจริงหรือเป็นธรรมจริง 2. ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น คราวนี้แบงก์ชาติเองตระหนักว่าเครื่องมือเดียวที่เขามีในการสู้กับเงินเฟ้อคืออัตราดอกเบี้ย แต่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยทั้งสองปัญหานี้ จะสังเกตว่าแบงก์ชาติเพิ่มดอกเบี้ยช้ามาก เพราะกลัวว่าพอเพิ่มจะไปซ้ำเติมคนไทยด้วยต้นทุนเงินกู้ที่สูงขึ้น ซ้ำเติมรัฐบาลที่ออกพันธบัตรกู้เงินมา แต่เขาไม่เพิ่มเลยก็มีปัญหาเงินบาทอ่อน

วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อคือเกือบที่จะเรียกว่า ต้องรอให้เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับลดลง ที่ผมเป็นห่วงมากในช่วงนี้คือสถานะทางการเงินของประชาชน ด้านฐานะทางการคลังของรัฐบาลถือว่าดีกว่าหลายๆ ประเทศ แต่ว่าระดับครัวเรือนวิกฤตมาก ทุกๆ วันที่ประชาชนแบกภาระหนี้นี้ไว้ มันเป็นทุกข์จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ได้วันนี้ เราต้องแก้เลย ช่วงโควิดแบงก์ชาติออกกองทุนมา 4 แสนล้านที่จะมาช่วย SMEs 5 แสนล้านที่จะมารักษาสภาพคล่องตลาดธนบัตร สุดท้ายไม่ได้ใช้ สภาพคล่องนั้นยังอยู่ สามารถที่จะใช้สภาพคล่องมาช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนได้ โดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากิน ผมมองว่าถ้าผมเป็นรัฐมนตรีคลังนี่คือเรื่องที่ผมจะทำตอนนี้เลย


ในระยะยาวมีปัญหาอะไรที่พรรคชาติพัฒนามองว่าจะต้องเข้ามาแก้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ปัญหาภายในประเทศคือสังคมสูงอายุ ประชากรลดลง สัดส่วนคนไทยที่อยู่ในวัยทำงานลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 30 ปีก่อนตอนที่ GDP โตปีละ 10% เรามีคนไทย 10 คนที่อยู่ในวัยทำงานเทียบกับคนไทยที่อยู่ในวัยเกษียณ 1 คน ตอนนี้เหลือ 4 ต่อ 1 และอีก 15 ปีจะเหลือ 2 ต่อ 1 มันเป็นปัญหามาก แล้วคนไทยก็แก่ตอนยังจนอยู่ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีบำเหน็จ บำนาญ เราจะดูแลรักษาคุณภาพชีวิตของคนไทยจากนี้ไปยังไง คนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงานจะแบกรับภาระนี้ไหวเหรอ แล้วก็สังเกตประเทศที่เข้าสู่ช่วงของสังคมสูงวัย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง

ข้อดีคือความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี บางประเทศเขามองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะมาแย่งงานคนทำ แต่ไทยไม่ได้มีปัญหาคนถูกแย่งงาน ปัญหาคือเรามีคนทำงานไม่พอ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่จะเสริมทักษะหรือมาเพิ่ม productivity ของแรงงาน มันอาจเป็นจังหวะที่เราต้องการพอดี

เทคโนโลยีจะตอบโจทย์อีกหลายๆ ปัญหาให้กับเราได้ ปัญหาเรื่องการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันก็สามารถที่จะรื้อฟื้นหรือปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ผมมองว่าใครเป็นรัฐบาลสิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือ digitize ระบบราชการ ประชาชนเข้าถึงระบบราชการผ่านโทรศัพท์มือถือได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องไปสถานที่ราชการ และมี digital footprint ติดตามการทุจริต เพราะตอนนี้ภาระต่องบประมาณในส่วนของราชการเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในส่วนนี้เราก็จะลดภาระต่อเงินงบประมาณลงได้ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใส สร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศด้วย


สมมติว่าเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 พรรคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คุณกรณ์จะนำพรรคชาติพัฒนากล้าไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลเอกประยุทธ์ไหม

สาเหตุที่ผมออกมาตั้งพรรคตั้งแต่แรก เพราะผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเป็นคนเดิมๆ ผมตอบอย่างนี้นะว่าผมไม่สร้างเงื่อนไขที่จะกีดกันใครเลยออกไปจากสมการ ผมถือว่าเมื่อประชาชนเลือกเข้ามาแล้ว มีความชอบธรรมหมด แต่เรามีเกณฑ์ว่าถ้ารวบรวมคะแนนเสียงข้างมากในสภาล่างไม่ได้ ต้องพึ่งเสียงจาก ส.ว. เพื่อที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผมพูดแทนทุกคนที่พรรคชาติพัฒนากล้าได้เลยว่า ไม่เอาด้วย แล้วเรามาเพื่อแก้ปัญหาประชาชน ถ้ามีโอกาสที่จะทำงาน เรามีเงื่อนไขขั้นต้นว่าต้องมีโอกาสได้ทำอะไรบ้าง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณาไม่ว่าจะเป็นใคร


หากเป็นรัฐบาลจะฟื้นฟูประชาธิปไตยและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร 2557 อย่างไร

จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ พรรคชาติพัฒนากล้ามองว่าในอนาคตจะมี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้คนรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของเหมือนกับสมัย 2540 แต่การที่จะมี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาหลายปี ผมมองว่าบางเรื่องควรต้องแก้รายมาตราในสภาได้เลย หนึ่งในเรื่องที่ต้องแก้คือ แก้รัฐธรรมนูญให้มันแก้ง่ายขึ้น ตอนนี้เป็นระบบเสียงข้างน้อย มีอำนาจมากกว่าเสียงข้างมาก เพราะว่าพรรคเล็กนิดเดียวสามารถที่จะ veto ความต้องการของเสียงข้างมากในการแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่ามันไม่ถูกหลักประชาธิปไตย

อีกประเด็นก็คืออำนาจ ส.ว. ตามมาตรา 272 หลายคนบอกช่างมันเถอะ เดี๋ยวอีกปีก็หมดสภาพแล้ว มีบทเฉพาะกาลที่ใช้ได้แค่ 5 ปี แต่ผมคิดว่าแม้แต่วันเดียวก็ไม่ควรมีอำนาจนี้อยู่ มันควรแก้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อดีเยอะมากในเนื้อหาสาระ แต่มันขาดความเป็นประชาธิปไตย หลักๆ ก็เพราะประเด็นนี้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเลือกนายกรัฐมนตรี


ประเมินว่าจะได้ ส.ส. ประมาณกี่ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งหน้า และหากจะร่วมรัฐบาลมีพรรคไหนไหมที่หลีกเลี่ยง

ไม่แน่ใจ เราก็คิดว่าน่าจะได้จำนวน ส.ส. ที่พอต่อการทำงานของเรา ที่ผมพูดได้ก็คือจะส่งให้ครบทุกเขตแน่นอน ส่วนพรรคไหนที่ไม่สามารถทำงานร่วมได้ ณ วันนี้ ยังตอบไม่ได้ เพราะคงต้องรอแต่ละพรรคประกาศนโยบายและจุดยืน แต่ ณ วันนี้ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีพรรคไหนที่เรามีความรู้สึกว่าทำงานร่วมไม่ได้


พรรคชาติพัฒนากล้าจะส่งใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ผมกล้าตอบว่าน่าจะมีหัวหน้าพรรคอยู่ด้วย ผมพร้อมตั้งแต่อยู่พรรคกล้า เรื่องที่เราคิดอยากจะทำก็ชัดเจน ประสบการณ์ที่สะสมมาและความตั้งใจ เจตนาที่เรามี ผมก็คิดว่าไม่ด้อยกว่าใคร แต่นอกจากนั้นผมไม่รู้ เพราะว่ายังไม่มีโอกาสคุยกันในพรรคถึงเรื่องนี้ ผมไม่ทราบว่าท่านประธานพรรคมีเจตนายังไง ถามว่าท่านเหมาะสมเป็นนายกฯ ไหม ผมบอกได้เลยว่าเหมาะสมมาก แต่นั่นคือความต้องการของท่านหรือเปล่า ผมไม่รู้


ถ้าไม่ใช่นายกรัฐมนตรี มองเก้าอี้รัฐมนตรีไหนไว้ไหม

ผมได้เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งที่ในฝันไปแล้วก็คือรัฐมนตรีคลัง ผมพูดอย่างนั้นเพราะพ่อผมเป็นข้าราชการกระทรวงการคลังมาทั้งชีวิต ผมวิ่งเข้า-ออกกระทรวงการคลังมาตั้งแต่เล็ก รู้จักกับข้าราชการที่สุดท้ายผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมในฐานะรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะต้องกลับไปเป็นรัฐมนตรีหรืออะไร ถามว่าพร้อมไหมที่จะต้องเข้าไปทำงานอีกก็โอเค แต่จริงๆ ที่ผมออกมาทำพรรคคือผมอยากสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ให้เขามีพื้นที่สร้างสรรค์งานการเมือง 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save