fbpx

โดนกดขี่ ดูถูก ไม่เห็นคุณค่า: การลุกขึ้นสู้ของแรงงานเกาหลีใต้ช่วงปี 1970 -1987

“ใน 24 ชั่วโมงต่อวัน ฉันต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดที่ไม่ได้นอนอยู่ในโรงงาน และในเวลาที่เหลือ ทุกสิ่งที่ฉันต้องทำ เช่น การกิน การซักถุงเท้า และแม้แต่การนอน ทั้งหมดก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกลับสู่โรงงานอีกในวันรุ่งขึ้น” 

คิมคยองซุก (Kim Kyong sook) แรงงานชาวเกาหลีใต้ เขียนบรรยายถึงชีวิตประจำวันของพวกเธอที่ต้องอดทนทำงานหนักแทบทั้งวัน และไม่เหลือเวลาพอที่จะไปใช้ชีวิตอย่างอื่น เธอสรุปใจความชีวิตของเธอไว้เพียงสั้นๆ ว่า เธอกินและนอนเพื่อที่จะทำงานได้

ไม่ใช่แค่เธอคนเดียวที่ต้องเจอกับเรื่องราวแบบนี้ ยังมีแรงงานเกาหลีใต้นับล้านคนที่โดนบังคับให้ทำงานหนักแทบทั้งวัน เพื่อแลกกับค่าแรงอันน้อยนิด แถมยังโดนดูถูกเหยียดหยามราวกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์

บทความชิ้นนี้พาย้อนอ่านเรื่องราวการลุกขึ้นต่อสู้ของแรงงานเกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 1970 – 1987 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้กำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจต่างทำกำไรได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับกลุ่มบริษัทใหญ่อย่างกลุ่มเเชโบล (Chaebol) กลุ่มบริษัทที่ดำเนินการโดยครอบครัวตระกูลใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้าม การเจริญเติบโตของประเทศนั้นต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ น้ำตา หรือแม้กระทั่งชีวิตของแรงงานผู้สร้างประเทศ

แรงงานที่ทำงานนานที่สุดในโลก

ในสมัยของนายพลปาร์ค ชุงฮี (Park Chung Hee) ประธานาธิบดีที่ยึดอำนาจจากการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งใน ค.ศ. 1961-1979  มุ่งเน้นการใช้ยุทธศาสตร์ EOI (Export-oriented industrialization) หรืออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้มูลค่าของสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นสูงจาก 87 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1963 เป็น 835 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1970 จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตของแรงงานในเกาหลีใต้

อุตสาหกรรมเริ่มเบ่งบาน ธุรกิจโรงงานเริ่มเติบโต แรงงานจึงย้ายเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติประจำชาติของเกาหลีใต้ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของแรงงานในอุตสาหกรรมจาก ค.ศ. 1963 ที่มีเพียงแค่ 417,000 คน เป็น 3.1 ล้านคนใน ค.ศ. 1985 หรือเพิ่มขึ้นถึง 7.5 เท่า

เมื่อแรงงานมีจำนวนมาก และนายทุนต้องการพัฒนาธุรกิจเพื่อผลกำไรสูงสุด จึงทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่ยาวนานที่สุดในโลกจากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หากลองคิดคำนวณง่ายๆ ว่าเราทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของเราคือ 40 ชั่วโมง แต่สำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตของเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1986 ต้องทำงานเฉลี่ยมากถึงสัปดาห์ละ 54.5 ชั่วโมง ถือเป็นประเทศที่แรงงานต้องทำงานยาวนานที่สุดในโลกในช่วงเวลานั้น

คำถามต่อมาที่หลายคนอาจสงสัย ทำไมแรงงานเกาหลีใต้ต้องยอมทำงานหนักขนาดนั้น

แรงงานที่ถูกสร้างเพื่อนายทุน

จากการศึกษาของฮาเก็น คู (Hagen Koo) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่ศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานเกาหลีใต้ พบว่าสาเหตุที่แรงงานเกาหลีใต้มีจิตสำนึกที่ยอมจำนนกับผู้มีอำนาจมาจาก 3 สถาบันหลักในสังคม

สถาบันแรกคือ สถาบันการศึกษา โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 ทำให้ชาวเกาหลีใต้มีมาตรฐานการศึกษาอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล และด้วยอิทธิพลจากระบบการศึกษาแบบตะวันตกที่เตรียมความพร้อมให้นักเรียนก้าวสู่การเป็นแรงงาน ทั้งการปรับพฤติกรรมให้คุ้นเคยกับการทำงานที่มีผู้บังคับบัญชา การเข้าเรียนตามระบบเวลา และการประเมินผลด้วยตัวชี้วัด

สถาบันที่สองคือ สถาบันทหาร ตามกฎหมายได้ระบุให้ผู้ชายเกาหลีทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร การรับใช้กองทัพทำให้แรงงานรู้จักกับระบอบอำนาจนิยมที่ต้องทำงานภายใต้คำสั่งของผู้บังคับบัญชา การจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล การลงโทษเมื่อทำผิดวินัย การเคารพผู้อาวุโส เหล่านี้คือการกล่อมเกลาให้แรงงานเกาหลีสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ

สถาบันที่สามคือ สถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตซ้ำด้วยอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ที่กล่อมเกลาให้เคารพเชื่อฟังโดยไม่ต้องตั้งคำถาม โดยเฉพาะกับแรงงานหญิงที่ต้องเจอประเพณีและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น แรงงานส่วนใหญ่มีฐานะยากจนที่ต้องทำงานเพื่อนำเงินรายได้ไปดูแลคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ที่ป่วย พี่น้องที่ต้องเรียนหนังสือ ฯลฯ ความรับผิดชอบต่อครอบครัวจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้แรงงานยอมอดทนทำงานหนัก

จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้นายทุนของเกาหลีใต้แทบจะไม่ต้องลำบากในการคัดสรรแรงงานเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรม เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงานหนักและยอมรับค่าแรงน้อยนิด ซึ่งแรงงานหลายคนนิยามการทำงานแบบนั้นไว้ว่า ‘นรกบนดิน’

แรงงานในระบบเผด็จการ

“ในตอนกลางคืนแม้แต่วัวควายยังได้นอนหลับ แต่พวกเราต้องทำงานตลอดทั้งคืน ดังที่ทุกคนรู้ เราทำงาน 10-12 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และค่อนข้างบ่อยที่จะต้องทำต่อไปตลอดคืน… ฉันกลัวว่าฉันคงจะต้องตายไปในวันใดวันหนึ่งที่มีชีวิตเช่นนี้” 

ข้างต้นคือข้อความจากสมุดบันทึกของคิมคยองซุก แรงงานหญิงที่บรรยายถึงชีวิตการทำงานที่โหดร้ายในช่วงทศวรรษ 1970-1980

สาเหตุที่แรงงานเหล่านี้ต้องอดทนใช้ชีวิตแบบนี้ก็เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก เริ่มต้นจากการมีฐานะยากจนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง ทำให้พวกเขาต้องทำงานใช้กำลังซึ่งเป็นงานที่มีรายได้ต่ำ เห็นได้ชัดจากสถิติรายได้ของแรงงานใน ค.ศ. 1983 ที่แรงงานในโรงงานได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานในสำนักงานถึงร้อยละ 47 ความแตกต่างเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำทัศนคติในการดูถูกเหยียดหยามแรงงานในโรงงาน จนมีคำที่ถูกเรียกขานว่า ‘คงซูนี’ (สาวโรงงาน) และ ‘คงโดลี’ (หนุ่มโรงงาน) ซึ่งเป็นคำเรียกที่จัดสถานะให้แรงงานเป็นเหมือนคนรับใช้

เมื่อมีทัศนคติที่ดูถูกแรงงานเหล่านี้ จึงทำให้พวกเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติ พวกเขาถูกตะคอกและด่าอย่างหยาบคายเมื่อทำผิดพลาด รวมถึงถูกบังคับให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาพักผ่อน

“เราได้ทำงานล่วงเวลาในตอนกลางคืนมาหลายวันติดต่อกัน ใกล้เวลาสิ้นสุดของวันนี้แล้ว เราได้ยินหัวหน้าของเราพูดคำพูดซ้ำๆ  ฉันให้พวกคุณทำงานล่วงเวลากลางคืน เพื่อตัวคุณเองและบริษัท ดังนั้นแม้ว่าคุณมีอะไรจะบ่น แต่ก็โปรดทำงานให้หนัก คุณจะสามารถมีชีวิตที่ดีกว่าในตอนแก่ตัว โดยการทำงานให้หนักขึ้นเมื่อคุณยังเป็นหนุ่มสาว” 

เรื่องเล่าจากบันทึกของแรงงานนี้ สะท้อนให้เห็นทัศนคติของนายทุนที่ไม่เคยสนใจความรู้สึกของแรงงาน แม้กระทั่งการขออนุญาตออกไปทำธุระส่วนตัวหลังเลิกงานก็ยังต้องเจอกับคำพูดของหัวหน้าที่บอกว่า “นี่คุณ คุณคิดว่ามีคุณเพียงคนเดียวหรือที่มีธุระส่วนตัว พวกเขา (คนงานอื่นๆ) ต้องทำอะไรด้วยกันทั้งนั้น คุณเห็นไหม?  ฉะนั้นกลับไปทำงานของคุณให้เสร็จ แล้วค่อยไปทำธุระส่วนตัวของคุณหรือนอนหลับก็ตามใจคุณ เข้าใจไหม?”

การทำงานในโรงงานในยุคสมัยนั้นจึงไม่ต่างจากการเป็นทหารในกองทัพ ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดที่ได้รับอิทธิพลจากการปกครองแบบทหารที่มีลำดับชั้น จึงไม่ต่างจากการเป็นประชาชนในระบอบเผด็จการที่ห้ามแสดงความคิดเห็นอื่นใด นอกจากการทำตามคำสั่ง โดยคิว ฮัน เบ นักสังคมวิทยาชาวเกาหลีที่ศึกษาชีวิตแรงงานในเมืองอุลซาน ค.ศ. 1983 บรรยายภาพที่เห็นในโรงงานว่า “พวกเขาต้องเชื่อฟังกฎระเบียบของโรงงานอันเข้มงวด ตัวอย่างเช่น พวกเขาต้องตัดผมสั้น ตำแหน่งของพวกเขาเห็นได้จากรูปแบบของป้ายชื่อซึ่งติดอยู่บนกระเป๋าเสื้อด้านซ้าย พวกเขามาถึงโรงงานก่อน 8 โมงเช้า ซึ่งมีเพลงมาร์ชเปิดผ่านลำโพงเสียงดัง ที่ประตูโรงงานยามผู้รักษาความปลอดภัยควบคุมทางเข้าและออกของคนงานและผู้มาติดต่อ แรงงานได้พัก 10 นาที หลังจากทำงาน 2 ชั่วโมง พวกเขาทานอาหารกลางวันที่โรงอาหารของบริษัท ซึ่งแบ่งออกเป็นสัดส่วนสำหรับพนักงานที่มีตำแหน่งแตกต่างกัน”

เมื่อต้องเจอกับการกดขี่ ดูถูก เหยียดหยาม แถมยังต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนและใช้ชีวิต หนทางที่พวกเขาทำได้จึงมีอยู่สองทาง คือยอมอดทนทำงานต่อไป หรือเลือกลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเอง

แรงงานที่ลุกขึ้นสู้ : ฆ่าตัวตาย โดนกักขัง และเปลือยกาย 

แรงงานคนหนึ่งในโรงงานสิ่งทอ เจอหนังสือกฎหมายแรงงานจากร้านหนังสือมือสอง เขาอ่านมันอย่างตั้งใจและพบว่ากฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบที่นายจ้างต้องดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงาน เขาศึกษากฎหมายแรงงานอย่างมุ่งมั่นและเริ่มต้นเขียนจดหมายไปถึงหน่วยงานของรัฐ โดยมีความหวังว่าหน่วยงานรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่มาจัดการให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เขาก็ต้องผิดหวัง เมื่อพบว่าทั้งหน่วยงานรัฐและนายจ้างไม่เคยสนใจกฎหมายหรือคุณภาพชีวิตของแรงงานเลยสักนิด

เมื่อรัฐและนายจ้างไม่ใยดี เขาพยายามประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างเห็นความสำคัญของสิทธิแรงงาน แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 เขาตัดสินใจประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเองพร้อมกับถือหนังสือกฎหมายแรงงาน วิ่งไปตามท้องถนนและตะโกนว่า “เราไม่ใช่เครื่องจักร” “รักษากฎหมายแรงงานด้วย” ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในวัย 22 ปี แรงงานคนนั้นชื่อว่า ชอน แท-อิล (Jeon Tae-il)

หลังจากวันนั้น การสละชีวิตของชอน แท-อิล กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แรงงานคนอื่นลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองอย่างแพร่หลาย เพื่อนๆ ของเขาก่อตั้งสหภาพแรงงานในชื่อว่าสหภาพชุงจิงสิ่งทอ ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากกว่าสองหมื่นคน  พวกเขาต่อสู้ เรียกร้อง ต่อรองกับนายทุนอย่างแข็งขัน จนกระทั่งผู้นำสหภาพถูกจับกุมและสหภาพต้องปิดตัวลงใน ค.ศ.1980 อย่างไรก็ตาม แม้จะพ่ายแพ้ แต่อุดมการณ์ของชอน แท-อิล ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของแรงงานเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว

สถาบันที่ช่วยผลักดันให้แรงงานมีความรู้และความกล้าในการต่อสู้กับนายทุน คือองค์กรคริสต์ศาสนา 2 แห่ง คือ JOC (Jeunesse ouvrière chrétienne) และ UIM (Urban industrial mission) โดยให้การศึกษาด้านกฎหมายกับแรงงานและสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงานให้เข้มแข็ง จนเป็นเหมือนที่พักพิงแห่งเดียวของแรงงาน “ขณะที่ไม่มีใครในสังคมมองพวกเราในฐานะมนุษย์  พวกเขาแสดงให้เราเห็นถึงความห่วงใยอย่างแท้จริง และปฏิบัติกับพวกเราในฐานะมนุษย์ที่ควรเคารพ นั่นมีความหมายมากสำหรับพวกเรา” คิม จี ซุน (Kim Jee soon) ผู้นำสหภาพแรงงานหญิงกล่าวถึงความสำคัญขององค์กรคริสต์ศาสนาที่ช่วยผลักดันให้พวกเธอต่อสู้

เมื่อได้รับการสนับสนุนและแรงงานต่างตื่นตัวกับการเรียกร้องสิทธิกลับคืนมา นายทุนจึงเจอการประท้วงต่อต้านมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 เช่น การประท้วงครั้งใหญ่ของพนักงานโรงงานทอผ้า ดงอิล เท็กซ์ไทล์ (Dong IL Textile) 

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1976 สหภาพแรงงานโดนกดดันจากกลุ่มนายจ้างด้วยการส่งคนเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหภาพ และกักขังแรงงานหญิงไว้ในหอพักเพื่อไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อแรงงานหญิงทนไม่ไหวจึงพังประตูและกระโดดออกจากหน้าต่าง เพื่อออกมานั่งหยุดงานประท้วงกว่า 800 คน สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยคนถูกส่งเข้ามาควบคุมเหตุการณ์ กลุ่มแรงงานหญิงตัดสินใจถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าจับกุม พวกเธอเปลือยกายสวมกอด พร้อมกับร้องเพลงของสหภาพด้วยความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับตำรวจนับร้อยคน

พวกเธอคิดว่าตำรวจจะไม่กล้าเข้ามาควบคุมตัว แต่พวกเธอคิดผิด ตำรวจเข้าบุกจับกุมและตีพวกเธอด้วยท่อนไม้ ฉุดกระชากลากหญิงสาวในร่างเปลือยนับร้อยคนไปตามพื้นถนน ก่อนจะนำร่างขึ้นรถตำรวจเพื่อนำตัวไปที่สถานี พวกเธอพ่ายแพ้ เจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจที่ถูกย่ำยี

แต่พวกเธอก็สู้ต่อ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1977 ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรศาสนาคริสต์ กลุ่มแรงงานจากดงอิลจัดงานแถลงข่าวและเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมงานที่โบสถ์มุนดง เมืองโซล เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่ามีแรงงานถูกกดขี่ โดยมีคำแถลงการณ์ส่วนหนึ่งว่า “แม้ว่าพวกเรายากจนและไร้การศึกษา เราก็ได้เรียนรู้เรื่องความยุติธรรมและประชาธิปไตยผ่านสหภาพแรงงานของเรา พวกเราผิดหรือที่เข้าร่วมต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิต เพื่อที่จะให้สำนึกของการมีชีวิตนั้นคงอยู่ และไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ความอยุติธรรม” แล้วความพยายามของพวกเธอก็สำเร็จ ตำรวจปล่อยตัวผู้นำสหภาพและกระทรวงแรงงานสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่โปร่งใสและให้พนักงานทุกคนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้

เรื่องราวของชอน แท-อิล และพนักงานดงอิล เท็กซ์ไทล์ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้แรงงาน เกาหลีใต้กว่าล้านคนต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ และผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในปี 1987

แรงงานที่ลุกฮือครั้งใหญ่ในปี 1987

จากการต่อสู้ของแรงงานที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ได้สร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับนายทุนมาอย่างต่อเนื่อง และมาปะทุถึงขีดสุดใน ค.ศ. 1987 โดยมีปัจจัยสำคัญคือการประกาศของโร แทวู (Roh Tae-woo) ผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีชุน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการขณะนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1987 ว่ารัฐบาลจะเปิดรับข้อเรียกร้องจากฝ่ายค้านและประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการมาหลายสิบปี

การประกาศในครั้งนั้นสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง และกระตุ้นให้แรงงานลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ โดยจากสถิติของกระทรวงแรงงานพบว่าใน ค.ศ. 1987 มีคดีความที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างแรงงานกับนายจ้างสูงถึง 3,749 คดี มากกว่าปีก่อนที่มีคดีเพียงแค่ 276 คดี โดยคดีความขัดแย้งนั้นก็นำมาสู่การประท้วงหยุดงาน การเดินขบวนเรียกร้อง ฯลฯ รวมทั้งจำนวนสหภาพแรงงานได้ถูกก่อตั้งเพิ่มขึ้นจนมีจำนวน 4,086 แห่ง มากกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 2,658 แห่ง

แต่หลังจาก ค.ศ. 1987 การต่อสู้ของแรงงานก็แผ่วลงและมาถึงจุดอิ่มตัว โดยมีปัจจัยหลายอย่างทั้งการปรับตัวของนายทุนที่เน้นการเจรจาต่อรองกับแรงงานมากกว่าการใช้กำลังบังคับเหมือนในทศวรรษ 1970 และเริ่มคำนึงถึงความสำคัญในการให้สิทธิสวัสดิการกับแรงงานเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยแบ่งแยกให้แรงงานประจำกับแรงงานชั่วคราวได้รับสิทธิสวัสดิการแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้แรงงานขาดจิตสำนึกร่วมกันในการต่อสู้ ต่างคนต่างอยู่เพื่อเอาตัวรอด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้จำนวนการหยุดงานประท้วงของแรงงานที่มีมากถึง 1,616 ครั้งใน ค.ศ. 1989 ลดลงเหลือเพียง 144 ครั้งใน ค.ศ. 1993 และเหลือเพียงแค่ 78 ครั้งใน ค.ศ. 1997

ในปัจจุบันที่แรงงานเกาหลีใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้ของแรงงานในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างรวดเร็ว การต่อสู้ของแรงงานในอดีตนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้แรงงานยุคหลังมีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เช่นกัน พร้อมทั้งแสดงให้สังคมได้รับรู้ถึงความสำคัญและมองเห็นคุณค่าของเหล่าแรงงานผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาประเทศ

——————————-

อ้างอิง

หนังสือ แรงงานเกาหลี วัฒนธรรมและการเมืองว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้น เขียนโดย ฮาเก็น คู แปลโดย ธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์ สำนักพิมพ์วิภาษา พิมพ์ พ.ศ. 2552

https://prachatai.com/journal/2020/11/9042

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save