fbpx
เกาหลี-ไต้หวัน ในวิกฤต COVID-19: มาตรการรัดกุมภายใต้การจัดการแบบประชาธิปไตย

เกาหลี-ไต้หวัน ในวิกฤต COVID-19: มาตรการรัดกุมภายใต้การจัดการแบบประชาธิปไตย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

 

 

ในวิกฤตโควิด-19 สองพื้นที่ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมากในการจัดการ คือเกาหลีใต้และไต้หวัน เกาหลีใต้ มีมาตรการเชิงรุกในการคัดกรองผู้ป่วย เน้นการตรวจโรคให้เร็ว และครอบคลุม จนสามารถตรวจผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 10,000 ต่อวัน แม้จะพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ไม่พบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มในรอบ 1 เดือน และเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกถึงความเก่งกาจของรัฐ ทั้งเรื่องการรับมือกับวิกฤตอย่างรวดเร็วตั้งแต่โรคยังไม่สร้างความเสียหายมาก และเรื่องการใช้เทคโนโลยี Big Data อำนวยความสะดวกแก่ผู้คนในการเข้าถึงหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน ยังเป็นสองพื้นที่ที่ใช้วิธีที่โปร่งใส เปิดเผย และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าสู้วิกฤตในครั้งนี้ด้วย

ในรายการ 101 One-On-One Ep.122 เกาหลี-ไต้หวัน ในสมรภูมิ COVID-19 สนทนากับ ณัฐกานต์ อมาตยกุล นักเขียนอิสระ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ ที่ขณะนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ประเทศเกาหลีใต้ และ นิติธร สุรบัณฑิตย์ ผู้สื่อข่าว ผู้ดำเนินรายการข่าว และโปรดิวเซอร์รายการสารคดีเชิงข่าว Voice TV  ที่กำลังศึกษาต่อปริญญาโทที่วิทยาลัยการสื่อสาร มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน

ว่าด้วยมาตรการรับมือโควิด-19 ของเกาหลีและไต้หวัน การคัดกรองที่ครอบคลุม การใช้เทคโนโลยีรวบรวมและสื่อสารข้อมูล ภายใต้วิถีการจัดการแบบประชาธิปไตยที่โปร่งใส และเน้นการมีส่วนร่วม

 

ความกระตือรือร้นต่อสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

 

ณัฐกานต์: ช่วงที่มีข่าวผู้ติดเชื้อจำนวนมากคนก็ออกมาข้างนอกน้อยลง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านตามที่รัฐบาลแนะนำ แต่ช่วงนี้คนเริ่มออกไปชมดอกไม้บานกันบ้างแล้ว เพราะอดใจไม่ไหว และเพราะสถานการณ์เริ่มจะคุมอยู่ โดยเฉพาะในโซลที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง

คนเกาหลีตื่นตัวกับโรคระบาดมาก เพราะเคยเจอไวรัสเมอร์สมาก่อน และมีบทเรียนในอดีตที่รับมือกับโรคระบาดได้ไม่ดีพอ จึงมีการปรับปรุงสาธารณสุขใหม่เลยว่า ต่อไปถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ (KCDC)​ จะมีอำนาจในการชี้ขาดมาตรการต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไร

ในภาคประชาชน เคสผู้ติดเชื้อที่คอนเฟิร์มจากอู่ฮั่นเริ่มเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม แต่ตั้งแต่ช่วงกลางธันวาคม อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็เริ่มพูดถึงข่าวลือว่ามีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นในจีน และตอนนี้คนเกาหลีก็กลัวกันมาก เป็นการตั้งรับของภาคประชาชนกันเองก่อนแล้วว่า เดี๋ยวจะมีข่าวมาแน่นอน

เราเดินทางไปประเทศไทยวันที่ 15 ม.ค. มีการคอนเฟิร์มผู้ติดเชื้อที่เกาหลีในวันที่ 20 ม.ค. และเดินทางกลับเกาหลีวันที่ 31 ม.ค. ตอนนั้นที่สนามบินมีป้ายติดจนทั่ว เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ติดโรคระบาด ทำให้เห็นว่าเขาเตรียมพร้อมมากทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังค่อยเป็นค่อยไป คิดว่าบรรยากาศระหว่างไทยและเกาหลีตอนนั้นเป็นคนละเรื่อง ถ้าตามข่าวที่ไทย ช่วงนั้นคนยังมองว่าเป็นแค่ไข้หวัดทั่วไป แต่ที่เกาหลีมีบทเรียนจากโรคระบาดครั้งก่อนๆ การมีป้ายติดอยู่ทุกที่ในสนามบิน ตั้งแต่ร้านขายยา ไปจนถึงร้านอาหาร นอกจากนั้นยังมีการประชาสัมพันธ์สายด่วน 24 ชั่วโมงเกี่ยวกับโรคโควิดไปทุกแห่ง ทุกมุมจอทีวี ทำให้เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับเขามากจริงๆ รัฐบาลน่าจะประเมินผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน และต้องการแพร่ข่าวสารก่อนที่โรคจะไปถึงคน

 

นิติธร: ที่ไต้หวัน ปัจจุบันผู้คนสามารถออกจากบ้านได้ทุกวัน ไปซื้อของ ออกกำลังกาย ไปมหาวิทยาลัยได้ปกติ แต่ว่าเป็นชีวิตปกติภายใต้เงื่อนไขและกฎควบคุม เช่น ยังต้องละเว้นสถานที่บางแห่ง และยังต้องสวมหน้ากากอย่างเคร่งครัด แต่โดยสภาพการณ์ทั่วไป ฟิตเนส ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้ายังเปิดเหมือนเดิม เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อยมาก อย่างเมื่อวันที่ 14-15 เมษายน ก็ไม่เจอผู้ติดเชื้อเพิ่ม ทำให้สถานการณ์ในไต้หวันอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่มาตรการไม่ได้ลดน้อยลงไป

ไต้หวันเริ่มเตรียมรับมือโควิดมาตั้งแต่ปลายปี 2019 และเริ่มมาตรการช่วงต้นปี ประกาศแรกเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ออกโดยศูนย์ควบคุมโรค ออกมาก่อนวันที่ 10 มกราคม ก่อนที่คนจะให้ความสนใจเรื่องโควิด-19 ด้วยซ้ำ ในประกาศเริ่มมีการพูดถึงเรื่องการกักตัว การเดินทาง สิ่งที่ควรและไม่ควรทำในสถานการณ์โรคระบาด ถือเป็นการรับมือที่รวดเร็ว คือให้ความสำคัญกับเบาะแส มีการศึกษาความรู้เกี่ยวกับโรค และแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานว่าทำอย่างไรไม่ให้ติดโรคระบาด

นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมโรคที่เป็นกองบัญชาการกลางควบคุมการแพร่ระบาด ก็พร้อมใช้งานได้เลย มีหลักการทำงานอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งขึ้นมาใหม่

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในไต้หวัน ในระลอกแรกเป็นคนที่ไปทำงานในอู่ฮั่นและเดินทางกลับมา ระลอกที่สองคือชาวไต้หวันที่ไปเรียนหรือไปทำงานในยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะเห็นว่าไม่ใช่การติดเชื้อจากในเกาะไต้หวัน ดังนั้นสองความเสี่ยงจึงสามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการสกัดกั้น และมาตรการกักตัว เมื่อควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง จึงไม่ส่งผลกับการติดเชื้อภายใน

ในช่วงแรกที่มาตรการออกมา ประชาชนทั้งตระหนักและตระหนกไปพร้อมๆ กัน ไต้หวันเคยเจอกับไวรัสซาร์สเมื่อปี 2003 คร่าชีวิตคนไปประมาณ 73 ศพ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ประกอบกับที่ไต้หวันเป็นเกาะ ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มีลมทะเลและมรสุม ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอยู่แล้ว และด้วยความที่ไม่อยากให้ตัวเองกลับไปสู่ภาวะแบบช่วงซาร์สระบาด เมื่อได้ยินคำว่าโรคระบาด ผู้คนจึงตื่นตัวและมีสำนึกว่าจะต้องดูแลสุขภาพตัวเองไว้ก่อนโดยอัตโนมัติ เมื่อสอดรับกับมาตรการจากภาครัฐ จึงไม่ค่อยมีอุปสรรคมากนักในการดูแลสุขภาพ

 

แก่นความสำเร็จของมาตรการรับมือ

 

ณัฐกานต์: ระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพของเกาหลีเกิดจากสองส่วน ส่วนแรกคือ ความสามารถในการสอบสวนและติดตามคนที่มีความเสี่ยง ไม่ใช่แค่ผู้ที่มาจากต่างประเทศ แต่หมายถึงคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ส่วนที่สองคือ กำลังในการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรค (Test Kit) ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้เอกชนที่เตรียมพัฒนาชุดตรวจตั้งแต่รู้ข่าวที่อู่ฮั่น โดยไม่ต้องรอเคสยืนยันในเกาหลี พอถึงวันที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคต้องการใช้ชุดตรวจเหล่านี้ เขาก็อนุมัติอย่างรวดเร็ว ส่วนที่สองสำคัญมากเพราะต่อให้เรายืนยันเคสต้องสงสัยได้ แต่หากไม่มีอุปกรณ์ในการตรวจสอบ ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร วันที่อนุมัติชุดตรวจคือวันที่ 14 ก.พ. พอวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งมีเหตุการณ์ Super Spreader ที่เมืองแทกู เครื่องมือก็พร้อมแล้วสำหรับการตรวจคนจำนวนมาก

นอกจากนี้การสอบสวนโรคยังใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาช่วย เช่น ข้อมูลการใช้บัตรเครดิตของผู้ติดเชื้อ เพื่อดูว่าเดินทางไปไหนมาบ้าง ประกอบกับการใช้ CCTV เนื่องจากที่เกาหลีมี CCTV หลายแห่ง ก็เลยนำมาใช้ประกอบในการระบุข้อมูลผู้ติดเชื้อ จนสามารถติดต่อคนที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อได้หมด

 

นิติธร: สิ่งที่ผมให้เป็นพระเอกในการรับมือโควิด-19 ของไต้หวัน ประเด็นแรกคือบทเรียนจากการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ปฏิวัติเฉพาะระบบการจัดการของภาครัฐหรือสาธารณะสุข แต่ยังสร้างทัศนคติของประชาชนต่อโรคระบาด คือเวลามีโรคระบาดเขาจะนึกถึงภาพเหตุการณ์ซาร์สซึ่งเลวร้ายมาก ควบคุมไม่ได้ การจัดการก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าปัจจุบัน โรคได้คร่าชีวิตเพื่อนพี่น้องหรือคนรู้จักของพวกเขาไป ผู้คนจึงไม่ต้องการกลับไปสู่ภาพแบบนั้นอีก

ประเด็นที่สอง ที่ผ่านมามีกระแสชื่นชมการบริหารงานของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ความจริงการที่คนเหล่านี้ได้รับความชื่นชมเกิดมาจากระบบที่เอื้อต่อการทำงาน เมื่อระบบถูกวางรากฐานไว้แล้ว ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งฟังก์ชันของระบบก็ยังเอื้อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ไต้หวันเกิดระบบหลายอย่าง เช่น ระบบศูนย์บัญชาการกลางควบคุมการแพร่ระบาด โดยศูนย์นี้ไม่ได้มีแค่โครงสร้าง องค์กร หรือคณะกรรมการ แต่ยังมีหลักการ (principle) ในการควบคุมโรคที่พร้อมใช้งาน ประกาศจากศูนย์ฯ ในช่วงแรกๆ ของเหตุการณ์โควิด จะพูดถึงการสัมผัสกับไก่ด้วย สังเกตุได้ว่ามันมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์ซาร์ส นอกจากนี้ยังมีการประกาศว่าภาครัฐควรจะทำงานกับหน่วยท้องถิ่นอย่างไร แนวทางบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ เป็นอย่างไร เช่น การบูรณาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการตรวจคนเข้าเมือง

ประเด็นที่สาม คือความเชื่อมั่นต่อการจัดการของรัฐ ไม่ว่าชาวไต้หวันจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และไช่ อิงเหวิน แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ก็เหมือนมีหลักการพื้นฐานว่า ทุกคนจะต้องทำตามกฎและนโยบายที่รัฐบาลออกมา ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้ามก็ไม่กล้าทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการของรัฐในช่วงวิกฤตนี้ สองสิ่งนี้เป็นปัจจัยให้รัฐบาลไต้หวันมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะถ้าทำอะไรไม่ดี จะโดนด่าเอาได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องปากท้อง แต่เป็นทุกเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในชีวิต นอกจากนี้ความเป็นประชาธิปไตยในไต้หวันก็มีส่วน ปกติคนไต้หวันทะเลาะกันเยอะ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกันอย่างเต็มที่ ทำให้รัฐบาลกลัวว่าหากจัดการวิกฤตได้ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวต่อกระแสความนิยมด้วย

 

ประสิทธิภาพของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี

 

ณัฐกานต์: รัฐบาลเกาหลีจะเน้นการให้ข้อมูลเยอะไว้ก่อน อาจจะเยอะกว่าที่คนคาดหวังก็ได้ เช่น มีแถลงข่าวทุกวัน วันละหลายเวลา เว็บไซต์ของ KCDC ก็จะบอกจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม ให้รายละเอียดว่าติดเชื้อที่ไหน เกี่ยวข้องกับเคสก่อนหน้าอย่างไรบ้าง มันเป็นการให้ข้อมูลมากกว่าที่เราคาดหวัง และทำให้เราเห็นภาพรวมว่าสถานการณ์การระบาดกระจุกตัวหรือกระจายตัว

ส่วนเรื่องการเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางอื่น เช่น ผ่านมหาวิทยาลัยหรือสถานทูต เขาก็ทำได้ดีมาก ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ วันแรกๆ ที่เรากลับมาถึงไทย มหาวิทยาลัยก็ส่งอีเมลมาให้เราทำแบบสอบถาม ประเมินอาการ มีไกด์ไลน์ให้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงโรค ส่วนสถานทูตไทยก็จะคอยบอกว่ามีประกาศจากทางการเกาหลีว่า ไม่ว่าคุณจะเข้ามาแบบถูกหรือผิดกฎหมาย แต่ถ้ามีความเสี่ยงก็ให้ไปตรวจโรคได้ โดยที่เขาจะไม่จับ ตรงนี้เป็นการอ่านความคิดคนว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่จะทำให้คนปกปิดข้อมูล เพราะถ้าปล่อยให้คนมัวแต่กังวลเรื่องเงินหรือเรื่องถูกจับ การต่อสู้วิกฤตในภาพรวมจะดำเนินไปไม่ได้ และเจอความเสี่ยงเหล่านี้ซ่อนอยู่ กลายเป็นว่าเขาให้ข้อมูลสองทาง คือรัฐเองก็ต้องการข้อมูลจากประชาชน ประชาชนก็ต้องการข้อมูลจากรัฐ เราก็จะรู้สึกว่ากำลังต่อสู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน ไม่ได้ปกปิดกัน

ในเกาหลียังมีระบบ emergency alert ผ่านข้อความมือถือ ปกติก็มีอยู่แล้ว และส่งมานานๆ ครั้ง เช่น เตือนว่าวันนี้อากาศร้อนมากให้ระวังฮีทสโตรก หรือวันนี้ค่าฝุ่นสูงให้สวมหน้ากากอนามัย แต่พอมีเรื่องโควิดเข้ามา ระบบนี้ก็ถูกใช้ถี่ขึ้น เสียงของข้อความจะดังและสั่นแรงกว่าข้อความทั่วไป และถ้าเป็นโทรศัพท์ของ Samsung จะไม่สามารถปิดเสียง emergency alert ได้เลย เสียงจะดังเหมือนดูภาพยนตร์ที่ฐานทัพโดนบุก เขาต้องการให้ทุกคนได้ข่าวสาร ถึงไม่อยากรู้ ก็ต้องรู้ ช่วงสถานการณ์พีคๆ วันนึงมี emergency alert ประมาณ 4 ครั้ง ข้อมูลที่ส่งมาเช่น สถานการณ์บริเวณไหนร้ายแรงเป็นพิเศษ ในเขตที่เราอยู่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และจะมีลิงก์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสำนักงานเขต ซึ่งระบุอย่างละเอียดว่าผู้ติดเชื้อในเขตไปสถานที่ไหนมาบ้าง นอกจากนี้ก็ส่งข้อปฏิบัติทั่วไป ที่แม้จะเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เขาก็ไม่กลัวที่จะพูดซ้ำๆ เพื่อให้เราไม่ลืม

 

นิติธร: เรื่องข้อมูลสารสนเทศเป็นเรื่องที่ไต้หวันโดดเด่นมาก โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ไต้หวันมีระบบ clarification หรือการทำข้อมูลให้กระจ่าง เช่น เมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้น รัฐ กระทรวง หรือหน่วยงานบริหารท้องถิ่นจะเข้ามาเสนอข้อมูลอีกชุดนึงเกี่ยวกับข่าวลือนั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าข่าวลือไม่ถูกต้องระบบจะกรองข้อมูลไม่ให้ประชาชนเห็น ระบบนี้จึงไม่ใช่การบอกว่าสิ่งที่ประชาชนพูดเป็นเท็จ แต่เป็นการสร้างความกระจ่างในเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ไม่ใช่แค่รัฐเพียงฝ่ายเดียวที่มีสิทธิทำ ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐหรือรัฐมนตรีต่างๆ พูดสิ่งที่น่าจะเป็นข่าวลือ หรือเป็นเท็จ ประชาชนก็สามารถทำให้ข้อมูลกระจ่างได้เช่นกัน

ส่วนเรื่องเทคโนโลยี พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้าตอนนี้เพื่อนผมจะบินมาที่ไต้หวัน พอเขามาถึงไต้หวันปุ๊บระบบเทคโนโลยีจะทำงานทันที เขาจะถูกตรวจจับโดย GPS ตั้งแต่ถึงสนามบิน และช่วงกักตัวทั้งหมด 14 วัน เขาจะอยู่กับ GPS ที่ตำรวจท้องถิ่นรับรู้ นอกจากนี้ยังมีการส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมโรค ทำให้ทราบว่าตอนนี้มีคนกักตัวอยู่กี่คน และอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าคนที่กักตัวเดินออกจากบ้านนิดเดียวตำรวจก็รับทราบแล้ว

ส่วนการให้ข้อมูลความรู้ประชาชนก็ทำโดยสื่อหลัก การส่ง SMS และการจัดการของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่ประชาชนสังกัด เช่น ผมเองได้รับอีเมลจากมหาวิทยาลัยเยอะมากเกี่ยวกับโควิด-19 และจะต้องรายงานตลอด เวลาไปถึงห้องเรียนสิ่งแรกที่ต้องทำคือสแกนบาร์โค้ด เพื่อให้เห็นว่าเราเคลื่อนย้ายไปตรงไหนบ้าง คือใช้ big data ที่ไม่ได้จบแค่ภายในมหาวิทยาลัย แต่มีการรายงานไปยังศูนย์ควบคุมโรคด้วย

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการเข้าถึงหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยที่ไต้หวันหาซื้อได้หลายแบบ วิธีแรกคือซื้อตามโควตาประกันสุขภาพโดยไปยืนต่อแถวที่ร้าน สำหรับใครที่ไม่อยากไปยืนต่อแถว ก็สามารถไปซื้อจากหุ่นยนต์โดยใช้โควตาเดียวกัน และจะมีระบบบาร์โค้ดเก็บข้อมูลทำให้ไม่สามารถซื้อซ้ำเกินโควตาได้ วิธีที่สามคือการซื้อหน้ากากทางออนไลน์ โดยเข้าไปกรอกข้อมูลตามเว็บที่รัฐจัดให้ หน้ากากอนามัยก็จะมาส่งที่บ้าน โดยมีระบบในการติดตาม ส่วนแอปพลิเคชันตรวจสอบหน้ากากอนามัยที่เป็นที่พูดถึงกัน จริงๆ แล้วก็ถูกพัฒนาโดยเอกชน และได้รับการตอบสนองจากกระทรวงดิจิทัล แอปพลิเคชันนี้ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบว่าร้านใกล้ๆ บ้านมีหน้ากากไหม หากมีก็สามารถจองและสื่อสารกับเภสัชกรได้เลย แล้วค่อยไปต่อแถว และยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคโดยไม่จำเป็นจากการไปร้านต่างๆ ด้วย

 

การเยียวยาชีวิตและเศรษฐกิจ

 

ณัฐกานต์: ตอนนี้รัฐบาลตระหนักดีว่าเศรษฐกิจปีนี้แย่แน่นอน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่การที่คนไม่ได้ออกไปไหนเพื่อป้องกันการติดโรค ก็ทำให้เศรษฐกิจซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด เขาเลยเริ่มมีมาตรการว่าจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และช่วยครัวเรือนตามระดับรายได้มีกรอบอ้างอิงอยู่ที่การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ที่จ่ายกันตามระดับรายได้อยู่แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาเขาพูดถึงนโยบาย เขามองว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่ได้มองว่าเป็นการสงเคราะห์ และมองว่าถ้ากลุ่มคนหนึ่งเดือดร้อนก็น่าจะเดือดร้อนกันไปหมดทั้งประเทศ

 

นิติธร: อุตสาหกรรมการบินไต้หวันจะเชื่อมระหว่างเอเชียและอเมริกา ใช้สำหรับการต่อเครื่องเยอะ ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบหนัก ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่รู้จะจัดการยังไง ก็นำมาสู่การจ่ายเงินตอบแทนโดยรัฐ เพื่อพยุงอุตสาหกรรมการบินเอาไว้ แต่แน่นอนว่ามันได้ไม่สมกับที่ขาดทุนไป นักบินหรือลูกเรือก็ได้รับผลกระทบ เมื่อไม่นานมานี้ไต้หวันจึงอนุญาตให้เปลี่ยนกฎของอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ คือ ปกติคุณขนคน งั้นในช่วงนี้ขนของแทนแล้วกัน อย่างน้อยๆ ก็ได้เงินกลับมาบ้าง ทำให้สายการบินพาณิชย์สามารถเปลี่ยนสถานะการบินได้ ซึ่งจะพิจารณาจากสถานการณ์ของเมืองรอบข้าง เช่น จีนเริ่มเปิดเมืองแล้ว แม้คนจะไปมาหาสู่ไม่ได้ แต่สิ่งของยังสามารถเคลื่อนที่ได้และเป็นที่ต้องการของคน เป็นมาตรการที่ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ที่ไต้หวันผู้คนยังทำงานกันตามปกติ ไม่ค่อยมีบริษัทที่หยุดงาน หลายภาคส่วนเปลี่ยนมาทำออนไลน์ แต่ถ้าแรงงานหรือพนักงานคนไหนต้องกักตัว จะมีการชดเชยให้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไต้หวันอัดฉีดเงินช่วย 6 หมื่นล้านบาท เพื่อป้องกัน ฟื้นฟู ลงโทษ และทำให้เกิดสภาพคล่องตัว แล้วก็ให้กระทรวง หรือหน่วยอื่นๆ ไปบริหารเพิ่ม

 

ประเทศไทยจะถอดบทเรียนอะไรจากเกาหลี-ไต้หวันได้บ้าง

 

ณัฐกานต์: ที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาใช้ระบบการเรียนออนไลน์มาได้ประมาณหนึ่งเดือนแล้ว เป็นที่ฮือฮาและทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ของการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะภาวะโรคระบาดบังคับให้หันมาใช้ระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ต่อไปอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระยะยาวก็ได้

อีกส่วนนึงคือเรื่องประชาธิปไตย การมีประชาธิปไตยเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้ผู้นำยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน สิ่งมหัศจรรย์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเกาหลีคือมีคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนที่มากกว่าครั้งไหนๆ มันสวนทางกับความคิดของคนบางส่วนที่คิดว่า ในภาวะแบบนี้คงไม่มีใครอยากออกไปเลือกตั้งหรอก ปรากฏว่าประชาชนยิ่งเห็นความสำคัญ และออกไปเลือกตั้ง คนมั่นใจกับการทำงานของมุนแจอิน ทำให้คะแนนความนิยมเขาสูงขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้โดนวิจารณ์หนักเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ วิกฤตครั้งนี้ยิ่งทำให้คนเกาหลีเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองในระบอบประชาธิปไตย

เรื่องเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งของเกาหลีอาจเป็นต้นทุนเดิม และเป็นส่วนที่ไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการตามทัน แต่ส่วนที่เป็นบทเรียนให้ไทยทำได้ทันทีเลยคือการพัฒนาการสื่อสารให้มีเอกภาพชัดเจน และอัดกระจายข้อมูลให้เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่อัดการประชาสัมพันธ์ ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องข่าวลือที่ทำให้ประชาชนต้องมาชั่งใจว่าอันไหนผิดถูก คิดว่าปัญหานี้น่าจะแก้ได้โดยการที่รัฐต้องมีข้อมูลเยอะ ให้ข้อมูลเยอะๆ ไว้ก่อน และข้อมูลต้องเข้าถึงประชาชนในทุกๆ ช่องทางโดยที่ข้อมูลไม่ขัดกันเอง เพราะจะมีผลกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่อยู่ท่ามกลางวิกฤต

 

นิติธร: ประชาชนไต้หวันน่าจะแข็งแกร่งขึ้น คนช่วงอายุ 20-40 กว่าๆ ที่เคยเห็นซาร์สก็รู้ว่าจะจัดการตัวเองยังไงในช่วงโควิด ส่วนคนรุ่นเด็กๆ ที่ตอนนี้ได้เจอโควิด โตไปก็จะรู้ว่าควรจะบอกลูกหลานตัวเองยังไง สำนึกของพลเมืองในการจัดการโรคระบาดมันแข็งแกร่งขึ้นมาก และไม่รอรัฐ ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องจัดการวิกฤตให้ทันความตื่นตัวของประชาชน เพราะถ้าจัดการไม่ทันจะโดนด่าแน่ ทำให้ทุกอย่างมันเร็ว ดังนั้นในอนาคต เป็นไปได้สูงมากว่าไต้หวันจะจัดการโรคระบาดได้แม่นยำ และเป็นบทเรียนให้หลายประเทศ

บทเรียนหนึ่งที่ไทยสามารถเรียนรู้จากไต้หวันได้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในบริบทของไต้หวันเงื่อนไขสำคัญหลายอย่างในช่วงโควิดบังคับให้รัฐต้องดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นรัฐจะเสียคะแนนนิยมไปด้วย และผมคิดว่าสำนึกเรื่องโรคระบาดที่คนไต้หวันมี ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในหมู่ประชาชน แต่รวมไปถึงรัฐที่เป็นคนจัดการวิกฤตด้วย การคานกันระหว่างสิ่งที่ประชาชนต้องทำตามรัฐ และสิ่งที่รัฐต้องมอบให้ประชาชนช่วยสร้างความสมดุลขึ้นมา ความโปร่งใสเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การมีเวทีให้พูดคุย ถกเถียง มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดช่องว่างของความไม่เชื่อมั่นลง

ในวิกฤตใดๆ ก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนและความเชื่อมั่นต่อรัฐเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องถามว่าไทยมีความเชื่อมั่นนี้หรือเปล่า หากไม่มีก็จะนำไปสู่การจัดการวิกฤตที่ยากลำบาก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save