fbpx
ทำไมชีวิตถึงดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว: คำอธิบายแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ทำไมชีวิตถึงดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว: คำอธิบายแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ไพลินรัตน์ คล่องวรภัค ภาพประกอบ

 

จากหนังสือ ‘ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว’ หรือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ของ มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) กลายมาเป็นซีรีส์ใน Netflix ที่หลายคนดูแล้วบอกว่า ‘เปลี่ยนชีวิต’ ตัวเองไปจริงๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เห็นว่ามีอะไรน่าสนใจนัก เพราะแนวคิดของเธอดูซ้ำๆ ง่ายๆ แค่บอกว่าวัตถุไหน Spark Joy หรือสร้างความสุขให้ก็เก็บเอาไว้ วัตถุไหนไม่ Spark Joy ก็โยนทิ้งไป โดยมีรายละเอียดวิธีการโยนทิ้งต่างๆ ก็เท่านั้น

ไม่ว่าซีรีส์นี้จะน่าสนใจหรือไม่ ไม่ว่าวิธีคิดของคนโดะจะน่าสนใจหรือไม่ ส่ิงที่น่าสนใจอยู่ดี ก็คือ ‘กระแส’ ที่คนตอบรับกับหนังสือและซีรีส์เรื่องนี้

คำถามก็คือ ทำไมคนถึงสนใจการจัดบ้านแบบนี้ และการที่คนสนใจวิธีการจัดบ้านแบบนี้ กำลัง ‘บอก’ อะไรเราอยู่หรือเปล่า?

ผมคิดว่า ในเรื่องนี้ คนที่ ‘อธิบาย’ ปรากฏการณ์นี้ได้น่าสนใจที่สุด ก็คือทิม ฮาร์ฟอร์ด (Tim Harford)

ฮาร์ฟอร์ดเป็นใคร?

เขาเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ เป็นคอลัมนิสต์ของ Financial Times และเป็นเจ้าของหนังสือขายดีหลายเล่ม เล่มที่แปลเป็นไทยแล้วมีอาทิ ‘เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต’ (The Logic of Life) หรือ ‘จดหมายถึงนักสืบเศรษฐศาสตร์’ (Dear Undercover Economist) แต่เล่มที่ผมคิดว่าชื่อเรื่องและเนื้อหามีลักษณะ ‘ขัดแย้ง’ กับคนโดะ มากที่สุด ก็คือ Messy: The Power of Disorder to Transform Our Lives ซึ่งเข้าใจว่ายังไม่ใครแปลเป็นไทย แต่ชื่อเรื่องแปลได้ประมาณว่า ‘ความเลอะเทอะรกรุงรัง: พลังของความไร้ระเบียบที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา’

เห็นไหมครับ ว่าแค่ชื่อหนังสือของฮาร์ฟอร์ด (คือ Messy) กับชื่อหนังสือของคนโดะ (คือ Tidying Up) อยู่กันคนละขั้วจริงๆ

และดังนั้น การที่ฮาร์ฟอร์ดออกมา ‘อธิบาย’ คนโดะ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมาก

ฮาร์ฟอร์ดเขียนไว้ใน Finanticl Times ว่า คนโดะ (หรือวิธีการแบบ ‘คอนมารี’ – KonMari Method) นั้น พูดถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เอาไว้หลายอย่าง แต่เรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมาก ก็คือการ ‘พลิก’ ความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า status quo

คำว่า status quo ถ้าแปลเร็วๆ ก็หมายถึงสถานภาพในปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่ แต่นัยแฝงของคำนี้ก็คือ คนที่มี status quo คือคนที่พึงพอใจกับโครงสร้างลักษณะและที่ทางที่ตัวเองอยู่ จึงไม่ค่อยอยากเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ เท่าไหร่ แล้วจึงโยงใยไปถึงการให้ความหมายและการตีความสถานะต่างๆ ของผู้คนในสังคม ส่วนใหญ่แล้ว ขบวนการทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นก็เพื่อต่อสู้ต่อรองกับ status quo ของคนบางกลุ่มนี่แหละครับ

แล้ววิธีแบบคอนมารีเกี่ยวอะไรกับ status quo ด้วย?

ฮาร์ฟอร์ดอธิบายว่า คนเรามีสิ่งที่เรียกว่า status quo bias หรืออคติในอันที่จะรักษาสถานภาพแบบเดิมๆ เอาไว้ ซึ่งการรักษาสถานภาพที่ว่า คือมีความรักชอบในสถานภาพปัจจุบันมากกว่า (เรียกว่า มี preference for the current state of affairs) แล้ววิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการแสดงความรักชอบนั้นผ่านข้าวของ ทำให้เราไม่ค่อยอยากทิ้งสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป เพราะมันไม่ใช่แค่ ‘ของ’ เท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่แสดงสถานภาพของเราด้วย เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องใช้ของนั้นๆ เพื่อนำมาแสดงสถานภาพอีกเมื่อไหร่

แต่วิธีการของคนโดะกลับข้างเรื่องของอคตินี้เสีย ด้วยการบอกว่า การแสดงสถานภาพที่เหนือกว่า ไม่ใช่การเก็บของพวกนั้นเอาไว้ แต่นี่คือการแสดงสถานภาพแบบใหม่ ด้วยการ ‘ไม่มี’ ของอยู่ในบ้าน หรือบ้านที่เรียบร้อย ไม่รก มีของน้อยๆ มีแต่ของที่จำเป็นและ Spark Joy เท่านั้น ที่จะแสดงสถานภาพแบบใหม่ให้เราได้

พอเรามองว่า การไม่มีของเป็น status quo แบบใหม่ที่พึงปรารถนามากกว่า status quo แบบเก่า เราจึงสามารถ ‘ทิ้ง’ ข้าวของพวกนั้นไปได้ เราจะไม่เก็บของต่างๆ เอาไว้เพียงเพราะเรา ‘เคยทำอย่างนั้นมาตลอด’ เท่านั้นอีกแล้ว

คอลัมนิสต์ของ The Atlantic อย่าง บัวร์รี แลม (Bourree Lam) ก็เคยวิเคราะห์เอาไว้ด้วยว่า วิธีการแบบคอนมารี คือการทำลาย ‘ตรรกะวิบัติ’ ในทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งลง นั่นคือทำลายสิ่งที่เรียกว่า Sunk-Cost Fallacy

คำว่า Sunk Cost นั้นแปลตรงตัวได้เลยว่าเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ ‘จม’ อยู่ ถูกฝังอยู่ คือหายไปแล้วไปลับไม่กลับมา มันคือค่าใช้จ่ายในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว จ่ายออกไปแล้ว และเอากลับคืนมาไม่ได้ อย่างเช่น ธุรกิจหนึ่งๆ อาจจะต้องลงทุนค่าเครื่องจักรใหม่ไปล้านบาท เงินส่วนนี้หายไปเลย ฟื้นคืนมาไม่ได้ ภาษาไทยเรียกว่า ‘ต้นทุนจม’ คือไม่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกคืนต้นทุนนั้นมาได้

ตัวอย่างของต้นทุนจมมีหลายเรื่อง เช่นเรื่องเครื่องบินคองคอร์ด (ที่บางคนเรียกว่า Concorde Effect) ที่รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสลงทุนร่วมกันแล้วตัดสินใจเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่คุ้มทุนเนื่องจากถูกต้นทุนจมนี่แหละครับ ถ่วงเอาไว้ ต้นทุนจมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำธุรกิจ

คำถามก็คือว่า แล้วนักธุรกิจจะมองไม่เห็นหรือไง ว่าต้นทุนจมกินตัวเองไปมากเท่าไหร่ คำตอบก็คือบางทีอาจไม่เห็นก็ได้นะครับ เพราะเกิด Fallacy ในการมอง (คือมี Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้น) ทำให้มองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังกัดกินตัวเองอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น คุณซื้อตั๋วไปดูคอนเสิร์ตเอาไว้ แต่พอถึงวันงาน คุณป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ร่างกายอ่อนเพลียมากๆ ควรนอนอยู่บ้าน แต่คุณรู้สึก ‘เสียดาย’ ต้นทุนจมที่ได้จ่ายไปแล้วเป็นค่าตั๋ว คุณก็เลยตัดสินใจไปดูคอนเสิร์ตเพราะไม่อยากเสียเงินไปเปล่าๆ สุดท้ายคุณก็ป่วยหนัก ทำให้ต้องมาใช้ ‘ต้นทุน’ อีกด้านหนึ่ง คือต้นทุนด้านสุขภาพ ซึ่งก็ไปฉุดการทำงานด้านอื่นให้เสียไปด้วย นั่นก็เพราะคุณไม่ยอม ‘ปล่อย’ เจ้า sunk-cost นั้นทิ้งไปนั่นเอง

อีกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เราซื้ออาหารมาแล้ว แต่ว่าซื้อมามากเกินไป เราก็เลยเสียดาย ต้องกินให้หมด แล้วพอกินหมดก็อ้วน แบบนี้ถ้ามองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ก็อาจถือเป็น Sunk-Cost Fallacy ได้เหมือนกัน

วิธีแบบคอนโดมารีก็คือการ ‘โจมตี’ โดยตรงไปที่ Sunk-Cost Fallacy ของเรานี่แหละครับ นั่นคือการที่เรามีข้าวของเก็บเอาไว้ในบ้านเยอะๆ นั้น มองด้านหนึ่งก็คือเผื่อเอาไว้ใช้ (หรือเผื่อเอาไว้แสดง status quo อย่างที่ฟอร์ดว่า) แต่เราไม่ได้คิดถึงค่าเก็บ ค่าพื้นที่ที่เสียไป ค่าอมฝุ่น ค่าแม่บ้านที่ต้องมาทำความสะอาด และสุดท้ายก็หาของไม่เจอ ไม่ได้หยิบมาใช้ แล้วก็ต้องซื้อใหม่ ทับถมวนเวียนกันไปเป็นวัฏจักร

นอกจากนี้ ยังมีกลไกทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมดังๆ อย่าง ดาเนียล คาห์นีมาน (Daniel Kahneman) แจ็ค คเนตช์ (Jack Knetsch) และริชาร์ด ธาเลอร์ (Richard Thaler) เคยทดลองและอธิบายเอาไว้ด้วยว่า คนเรามักให้คุณค่ากับสิ่งที่ตัวเองครอบครองสูงกว่าสิ่งอื่นๆ (เช่นในการทดลอง เราจะต้ังราคาแก้วกาแฟของตัวเองสูงกว่าของคนอื่น) ซึ่งก็อธิบายความ ‘ไม่เป็นเหตุเป็นผล’ ที่เราเอาแต่เก็บข้าวของเอาไว้ไม่ยอมทิ้งไปได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาคำอธิบายแบบนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดนี้ ผมชอบคำอธิบายของฟอร์ดที่สุด เพราะมันเกี่ยวพันไปถึงวิธีคิดทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย ทำให้เรามองไกลไปในอนาคตได้ว่า เป็นไปได้ไหมที่สังคมของเรากำลังเปลี่ยน เราจะไม่ใช่สังคมที่ ‘ครอบครอง’ ข้าวของอีกต่อไปแล้ว แต่คือสังคมที่มีเฉพาะข้าวของที่สร้างความสุขให้กับเราเท่านั้น

ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นได้ เป้าหมายที่อาจเลยพ้นไปกว่าการทำให้ ‘ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว’ ก็คือการ ‘เกลี่ยกระจาย’ ทรัพยากรที่เราคิดว่าจะ ‘ทิ้ง’ (แต่คนอื่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้) จากที่กองสุมอยู่ในบ้านของเรา ให้กลายไปเป็นของที่ Spark Joy ของคนอื่น ซึ่งก็คือสังคมที่ไม่สั่งสมทว่ากระจายทรัพยากร ซึ่งตรงข้ามกับวิธีคิดแบบอเมริกันอย่างมาก

หากวิธีแบบคอนโดมารีจะกลายเป็นเทรนด์ และก้าวไกลไปถึงระดับการแบ่งปันทรัพยากรได้ ก็จะเป็นเทรนด์ที่พูดแบบโลกสวยได้ว่า, ทำให้โลกนี้ดีขึ้นนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save