fbpx

“อยากทำหนัง ก็ต้องหนังเหนียว (ไม่งั้นเดี๋ยวได้ตายสมใจแน่)” อาคมแคล้วคลาดเพื่อคนทำหนังไทยของ ก้องเกียรติ โขมศิริ

‘ขุนพันธ์ 3’ (2023) คือหนังไทยเรื่องแรกของปีที่ทำรายได้ทั่วประเทศทะลุ 100 ล้านบาท ภายใต้สภาพ “ถูกมัดมือ-มัดตีน” ลงแข่ง -ประโยคหลังนี้เราอ้างตามสำนวนของ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับ

‘มัดมือ-มัดตีน’ น่าจะเป็นคำที่บรรยายภาพได้ชัดที่สุดสำหรับคนทำหนังไทยที่ต้องขึ้นสังเวียนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สภาพการณ์ทุกอย่างเอื้อให้เกิดการผูกขาด หลังจากที่ ‘ขุนพันธ์ 3’ เข้าฉายได้ไม่ถึงสัปดาห์ หนังก็ถูกเตะตัดขาหน้าคะมำด้วยการถูกโรงหนังลดรอบฉายเอาดื้อๆ ตอกย้ำด้วยบางช่วงบางตอนที่ก้องเกียรติโพสต์ถึงปรากฏการณ์นี้ว่า “เกมนี้มันห่วยและสะเหล่อมากในฐานะคนทำหนัง ผมเสียใจและอายแทนพวกคุณจริงๆ เราเดินลงจากเวทีคนละความรู้สึกแน่ๆ ขอยกวงการนี้ให้พวกคุณไปเลยครับ เดินหน้าก็ยากจะทำให้ถอยหลังทำไม อย่าอ้างเกมธุรกิจ”

“มันเหมือนโพสต์ของพ่อคนหนึ่งที่รักลูก และกูไม่เสียใจถ้าจะลุกขึ้นปกป้องลูกเวลาลูกโดนกระทืบ ใครเป็นพ่อก็ต้องทำแบบนี้ทั้งนั้นแหละ -ใช่ไหม” เขาบอกเรา

บ่ายนั้นอากาศร้อนอ้าว เรานั่งหลบแดดกันอยู่ในร้านกาแฟเล็กๆ ย่านลาดพร้าว บทสนทนาของเราทั้งคู่ลัดเลาะตั้งแต่หนังไตรภาคของท่านขุนที่เขาปลุกปั้นมาร่วมสิบปี ไต่ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่เขาเป็นเด็กถือไมค์บูมในกองถ่าย ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ (2000) ภาพยนตร์สารคดีแนวทดลองของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เติบใหญ่ขึ้นมาในฐานะคนเขียนบทที่ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์จนได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อทำหนังแบบ ‘เอาตั๋ว-ไม่เอาตังค์’ เป็นเรื่องแรก สี่ปีถัดจากนั้นเขาคว้ารางวัลสุพรรณหงส์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (“ได้รางวัลนี่ ชีวิตก็ไม่มีเ-ี้ยอะไรเปลี่ยนไปหรอกมึง” เขากระซิบ) แล้วกระโจนไปทำโปรดักชัน พร้อมกันกับที่ร่างโครงไตรภาค ‘ขุนพันธ์’ (2016-2023) ที่ฉากจบเพิ่งดำเนินมาสู่สายตาคนดู ในสภาพโดนขัดแข้งขัดขาจากรอบฉาย จากโรง หรือพูดอย่างให้เห็นภาพที่สุด คือจากความพิกลพิการของอุตสาหกรรมหนังไทยเอง 

เทียบกันว่านี่คือสนามฟุตบอล -สองทศวรรษของการเป็นคนทำหนัง- ก้องเกียรติคือนักกีฬาที่ลงเล่นหมดแล้วทุกตำแหน่ง กองกลางแล้วไล่ไปเล่นปีก สลับขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวเป้าแล้วถอยลงไปเป็นกองหลัง เขาน่าจะเข้าอกเข้าใจเกมนี้ไม่น้อยไปกว่าใคร และนี่อาจเป็นหนึ่งในคำตอบว่าทำไมเขาจึงต้องออกมาพูดแทนหัวใจสิ่งที่คนทำหนังไทยทั้งหลายต้องเผชิญ

“กูจะทำหนัง มึงยิงกูไม่ตายหรอก”

บทสนทนาระหว่างเราคึกคักตั้งแต่นาทีแรกและเป็นเช่นนี้ไปอีกเจ็ดสิบนาทีที่เหลือ เมื่อเราตั้งต้นด้วยคำถามว่า เทียบกันกับขุนพันธ์ที่ใช้ทั้งวิชาอาคม ทั้งเวทย์มนตร์แก่กล้าเพื่อต่อสู้ท่ามกลางสนามชุมโจรและการเมือง อย่างนั้นแล้วสำหรับคนทำหนังไทย ต้องอาศัยอาคมไหนในการเอาตัวรอดจากอุตสาหกรรมที่เพียบไปด้วยเล่ห์กลซึ่งพร้อมจะทำให้คุณสะดุดหัวทิ่มหัวตำตั้งแต่จุดออกตัวกัน 

“ก่อนคุณจะมีคาถา คุณต้องมีสติที่แข็งแรงมากๆ ก่อนนะ” เขาบอก “คาถาจะสัมฤทธิ์ผลได้นี่คุณต้องมีสติก่อน แต่คาถาแรกคือคาถาหนังเหนียว กูไม่ไป กูจะทำหนัง มึงยิงกูไม่ตายหรอก”

วัดจากผลงานของก้องเกียรติ เจ้าตัวก็น่าจะหนังเหนียวจริง เด็กชายจากชลบุรีที่หลงใหลในฟิล์มนัวร์เพราะความเท่ ความดิบตลอดจนน้ำเสียงการเล่าเรื่องที่พูดถึงความดำมืดบางประการของมนุษย์ และไล่ดูหนังของ เดวิด ฟินเชอร์, เดวิด ลินช์ เรื่อยไปจน ไมเคิล แมนน์ ที่เป็นเสมือนดินชุ่มเพาะรสนิยมด้านการเล่าเรื่องและทำหนังให้เขา จนถึงช่วงหนึ่งที่เขาหันไปตามดูหนังของ ทาเคชิ มิอิเกะ พระบิดาแห่งหนังเชือดสุดฉาวชาวญี่ปุ่นที่หลายคนน่าจะคุ้นชื่อจาก Audition (1999) และราชาหนังอาชญากรรมชาวฮ่องกง ตู้ฉีฟัง “แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังมี จางอี้โหมว อยู่ในใจเสมอ” เขาบอก “หรือกระทั่งถ้าพูดถึงแค่หนังไทย เราก็โตมากับ ‘กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน’ (1991) ของพี่มานพ อุดมเดช สมัยเด็กๆ นี่เรากรี๊ดกร๊าดมาก หนังมันเท่จังวะ”

และโดยปราศจากเจตนา สิบปีให้หลังจากนั้น เด็กชายก้องเกียรติโตมาทำหนังกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ก็มักมีน้ำเสียงของธริลเลอร์ ความเป็นชาย และไสยศาสตร์ อันจะเห็นได้จาก ‘ไชยา’ (2007), อันธพาล (2012) หรือกระทั่งไตรภาคขุนพันธ์เองก็ดี “ไม่เคยตั้งใจเลยว่าพวกนี้จะเป็นลายเซ็นต์เราเวลาทำหนัง แต่ทำหนังกี่ทีก็ออกมาเป็นแบบนี้ ตาเราเห็นแบบนี้ ตัวละครเราเลยต้องมีเหงื่อ มีกลิ่นบางอย่าง” 

“ไอ้ความเป็นชายนี่อาจเพราะเราเรียนโรงเรียนประจำชายล้วนมาตั้งแต่เด็กมั้ง เราเรียนที่โรงเรียน ภ.ป.ร. นักเรียนส่วนใหญ่ก็จบไปเป็นทหาร ตำรวจ เราเป็นคนเดียวที่มาเป็นผู้กำกับ” เขาบอก กอรปกันกับที่ช่วง ‘แสวงหา’ ของเขาคือช่วงที่หนังฮ่องกงกำลังเฟื่องฟูสุดขีดในไทย ไม่มากก็น้อย มันย่อมส่งอิทธิพลต่อสายตาที่เขาเห็นในโลกภาพยนตร์ “มันเป็นยุคคุณธรรมน้ำมิตร เรามีไอดอลเป็น หลิวเต๋อหัว ในเรื่อง ‘ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ’ (A Moment of Romance, 1990) ไอ้แบบที่ “ฟันแม่งเลยไหมๆ” มันเท่โว้ย แล้วรอบตัวเรานี่เพื่อนแต่ละคนก็ชายแท้ ชายกันเหลือเกิน”

ลายเซ็นต์สำคัญอีกประการของก้องเกียรติคือมักเล่าเรื่องไสยศาสตร์หรือความลึกลับอธิบายไม่ได้ ซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่ ‘ลองของ’ (2005) หนังเรื่องแรกที่เขากำกับร่วมกับเพื่อนทำหนังด้วยกันภายใต้สตูดิโอไฟว์สตาร์ ว่าด้วยคุณครูสาว (นภคปภา นาคประสิทธิ์) แก้แค้นเอาคืนนักเรียนที่ทำของใส่เธอด้วยสารพัดศาสตร์มนตร์ดำจนก่อกำเนิดเป็นผลลัพธ์ชวนสะอิดสะเอียนและขนหัวลุก 

“เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผีสางนี่เซอร์มาก” ก้องเกียรติยิ้ม “คือเราเป็นคาทอลิก”

เป็ดทางความเชื่อและศาสนาหนัง

พูดตามตรง ในฐานะคนทำสัมภาษณ์ ประโยคนั้นดูเหนือจริงยิ่งว่าฉากขุนพันธ์ปัดกระสุนทิ้ง

เขาหัวเราะเพราะอ่านสีหน้าเราออก “คือก็โตมาในบ้านที่เป็นคาทอลิกน่ะ แม่เราเป็นคาทอลิก แล้วใช้พื้นที่วัดคริสต์อยู่ แต่พ่อเป็นพุทธ เราเลยมีสถานะเป็นลูกครึ่ง ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นพุทธกับความเป็นคาทอลิก และความเป็นคาทอลิกทำให้เรามองฝั่งพุทธในฐานะคนดู เมื่อคุณไปอยู่ในพิธีกรรมแบบคริสต์แล้วมองมายังป่าช้าวัดไทยหรือความเชื่อต่างๆ มันเลยมีสายตาแบบคนนอกด้วย เรารู้สึกว่าไอ้ผีนั่นผีนี่ ความเชื่อ ไสยศาสตร์ต่างๆ นี่โคตร exotic เลยนะ คือเรารู้สึกว่าความเชื่อแบบนี้อยู่ในรากเลย แต่นี่คือเรากำลังพูดกันเรื่องความเชื่อ มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง เราพูดเรื่องความเชื่อและนี่ก็ไม่ได้แปลว่าเราเชื่อหรือเราไม่เชื่ออะไร”

ด้วยสายตาแบบคนนอกที่จับจ้องมายังเรื่องของขลังและอาคม ไล่เรื่อยไปจนผีสางที่ยึดโยงอยู่เป็นหนึ่งในจักรวาลไสยศาสตร์ ครั้งหนึ่งก้องเกียรติก็เคยมองมันในฐานะเรื่องไร้สาระที่ทำความเข้าใจไม่ได้ กระทั่งเมื่อชีวิตโยนเขาไปสู่มาคอนโด เมืองที่ฝนตกไม่หยุดติดต่อกันสี่ปีและผีของตระกูลบูเอนดิยาใน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ (1967) งานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์สัญชาติลาตินอเมริกาชื่อก้องโลกของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ เขาก็เห็นความยึดโยงที่โลกหลังความตาย ความเชื่อและเรื่องลึกลับกับชีวิตมนุษย์

“มันเปิดโลกมากว่าจริงๆ เราคล้ายคลึงกับอาร์เจนตินากับบราซิลฉิบหายเลย ความเชื่อหลังความตายกับปัจจุบันและการเมืองอยู่บนเส้นเดียวกันหมดเลย แล้วยุคนั้นมันมีหนังเรื่อง ‘คนทรงเจ้า’ (1989) ซึ่งเราชอบมากๆ ว่าด้วยคนทรงเจ้าที่มีอำนาจเหนือพระจนกลายเป็นการเมืองในชุมชน แล้วประเด็นนี้โดนใจเรามาก โคตรเจ๋งเลยว่ะ แสดงว่าไสยศาสตร์ที่เรามองว่าไร้สาระมาตลอด ก็อาจไม่ได้ไร้สาระนะ มันมีสาระ มีอำนาจอยู่ในนั้น”

สำหรับก้องเกียรติ ไสยศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะท้อนภาพบางอย่างมานับแต่นั้น ไม่ว่าจะความแค้นเคืองของครูสาวที่ถูกลูกศิษย์รุมกลั่นแกล้งจนศาสตร์มืดเป็นอำนาจเดียวที่เธอถืออยู่ในมือ หรือไตรภาคขุนพันธ์ที่ไสยศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของตัวละครทั้งจากอำนาจรัฐและชาวชุมโจร ครอบภาพใหญ่ที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองและการต่อสู้กับรัฐส่วนกลาง “คนชอบมาถามเราว่าชอบเรื่องเครื่องรางของขลังเหรอ ไม่ใช่เลย แต่เราเชื่อเรื่องการเมือง เชื่อว่าแบบนี้แหละคืออำนาจแบบหนึ่ง เหมือนมีคนกุเรื่องผีขึ้นมาขู่เพื่อจะไปทำอะไรสักอย่าง เราเลยหยิบพวกนี้มาเป็นเครื่องมือในการไปเล่าเรื่องอื่น เหมือนไสยศาสตร์ เวทย์มนตร์ คาถาที่อยู่ในขุนพันธ์ แต่เราอยากเล่าเรื่องการเมืองน่ะ”

เท่ากันกับที่มองรูปแบบความเชื่อเรื่องภูตผีด้วยสายตาเป็นอื่น สำหรับชาวคาทอลิกแล้ว ก้องเกียรติก็ไม่ได้ดูเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขานัก “ก็พ่อเราเป็นพุทธ เราเลยเหมือนเป็นคนนอกของทั้งสองศาสนากลายๆ ประกอบกับเราเองก็ไม่ได้เคร่งอะไรด้วย แม่ก็ไม่ได้มาถามไถ่อะไรเราเรื่องนี้” เขาเล่า ไม่นานหลังจากนั้น วัยหลังทำบัตรประชาชนได้ไม่เท่าไหร่ ก้องเกียรติก็ไม่กรอกศาสนาที่ตัวเองนับถือลงในบัตร ค่าที่ว่า ความสนใจเรื่องศาสนาและความเชื่อของเขานั้นกว้างไกลเกินกว่าจะนิยามหรือจำกัดไว้ได้ด้วยรูปแบบใดรูปแบบเดียว ใกล้เคียงสุดเท่าที่เขาพอจะเรียกตัวเองได้คือการเป็น ‘เป็ดทางความเชื่อ’ “เราชอบท่านพุทธทาสภิกขุนะ เคยไปบวชพระด้วย” เขายิ้ม “พระพุทธเจ้านี่เราก็ชอบ เพราะคิดว่าสิ่งที่เขาพูดก็จริงในหลายๆ อย่าง มันมีข้อเท็จจริงบางอย่างในนั้น ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเราก็เชื่อสันติสุข แบบที่เวลาเพื่อนหรือญาติเราที่เคร่งๆ หน่อย เขาจะบอกเราว่า ‘ขอให้เจอสันติสุข’ แล้วอะไรแบบนี้ก็เป็นพลังดีๆ นะ มันเหมือนคุณได้รับความรัก เดินออกมาจากบ้านด้วยความรู้สึกดีๆ”

“เราเลยกลายเป็นว่าพร้อมจะรับ อะไรที่ดีก็ไปหามัน และมองว่าเป็นเครื่องมือ แล้วถึงขั้นมียุคหนึ่งที่เราบอกว่า เรานับถือศาสนาหนัง มีหนังเป็นศาสนา เป็นศรัทธาของเรา เชื่อว่ามันมีคำสอน มีศักยภาพพอที่จะสื่อสารและเปลี่ยนแปลงได้”

เด็กถือไมค์บูม

จากคนที่ ‘เป็นเป็ดทางความเชื่อ’ เรื่อยมาจนถึงการนับถือ ‘ศาสนาหนัง’ ก้องเกียรติผู้หลงใหลในหนังของฟินเชอร์, มิอิเกะและตู้ฉีฟง พร้อมรอยประทับของจางอี้โหมวในหัวใจ ถ้าเป็นหนังข้ามพ้นวัยนี่คือช่วงที่ตัวละครต้องก้าวเข้าไปเรียนไล่ตามความฝันอยากเป็นคนทำหนังของตัวเองในคณะภาพยนตร์แล้ว

“ยุคเราไม่มีภาควิชาฟิล์มว่ะ” ก้องเกียรติบอก “ถ้ามี มันก็เปิดอยู่ไม่กี่ที่ มีอยู่แค่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ อีกที่หนึ่งคือที่มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งแพงมาก เราเลยไปเข้าเรียนละครเวที สาขาวิชาศิลปะการแสดงที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ”

ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หากแต่พื้นฐานของการเรียนละครเวทีกลายเป็นหนึ่งในรากฐานที่ช่วยปูพื้นการทำหนังให้ก้องเกียรติในแบบที่เขาไม่เคยวาดฝันหรือจินตนาการถึง ประการแรกคือการมองเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวละครต่างๆ และเหลี่ยมมุมบางอย่างของนักแสดง และประการที่สอง ไม่มากก็น้อย ทักษะนี้ช่วยเขาเรื่องเขียนบทที่เป็นบันไดก้าวสำคัญของเขาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 

“เวลาไปกำกับนักแสดง เราเข้าใจคน เข้าใจนักแสดง เข้าใจว่าต้องกำกับการแสดงแบบไหน ไม่ใช่แค่กำกับไดเรกชันให้ดาราไปแสดง คนที่มาเล่นหนังให้เราเขาถึงสนุกไง” ก้องเกียรติสาธยาย “กับอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนบท สองอย่างนี้มาเจอกันทำให้เราตอบคำถามนักแสดงได้หมด ถ้าเขาไม่เข้าใจตรงไหนเราตอบได้ และถ้าเขาเสนออะไรที่เราสองฝ่ายเห็นตรงกันว่ามันเข้าท่า เราก็พร้อมเปลี่ยน เราไม่ชอบให้นักแสดงมาเล่นทื่อๆ บางทีถ้ามันดีกว่าเราก็ปรับ ถ้ามันไปกันได้ก็เหมือนการแจมกัน มันเลยเหมือนผลงานที่เราร่วมสร้าง”

‘ดอกฟ้าในมือมาร’ ถือเป็นหนึ่งใน ‘จ็อบ’ ที่เขาได้รับในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สมัยยังเป็นเจ้าหนุ่มถือไมค์บูมให้หนังสารคดีเชิงทดลองของอภิชาติพงศ์ ก้องเกียรติเป็นหนึ่งในคนที่เติบโตขึ้นจากกองถ่ายนั้นมาเป็นคนทำหนังไทย ขณะที่อีกคนหนึ่งคือ ไพสิฐ พันธ์พฤกษชาติ เจ้าของผลงานหนังที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกันดีอย่าง ‘จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว’ (2000) 

“คนจากกองถ่ายหนังพี่เจ้ยในวันนั้น วันนี้ทุกคนล้วนไปทำหนังอิสระระดับขับเคลื่อนวงการอะไรต่อมิอะไรหมดแล้ว” อดีตหนุ่มถือไมค์บูมบอก “วันที่ทำกับพี่เจ้ยจบนี่เรารักมาก รักกองถ่าย รักความรู้สึก รักหนังเรื่องนั้นมาก”

“เพียงแต่เราก็คุยกับพี่เจ้ยชัดเจนมากเหมือนกัน ว่าเราไม่ได้ผลิตงานแบบนั้น เราชอบดูนะ แต่ไม่ได้อยากผลิต เราอยากทำหนังเอนเตอร์เทนในแบบของเรา หัวใจเรามาทางนี้ เราไม่ได้รังเกียจหนังในกระแสอะไร ขณะเดียวกัน สำหรับเราแล้วหนังอิสระก็ไม่ใช่ยาขม และหนังกระแสหลักก็ไม่ใช่สิ่งแย่อะไร เราอยากทำแบบนี้เราก็ทำ”

การทำหนังเอาตั๋วในยุค ‘หนังไทยผลิบาน’

ขวบปีไล่เลี่ยกันกับที่เขายืนถือไมค์บูมเก็บเสียงให้หนัง อีกด้านหนึ่ง ก้องเกียรติในวัย 25 ปีก็ง่วนอยู่กับการร่วมเขียนบทหนังฟอร์มใหญ่ทุนสร้าง 30 ล้านบาทของ ธนิตย์ จิตนุกูล และ ‘บางระจัน’ (2000) ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ก็ทำรายได้ถล่มทลายไปทั้งสิ้นที่ 150 ล้านบาท สองปีถัดจากนั้นเขาร่วมเขียนบทหนังแอ็กชันสุดคัลต์ ‘7 ประจัญบาน’ (2002) และหนึ่งในหนังที่กล่าวกันคร่าวๆ ว่าเป็นคลื่นลมสำคัญของคนทำหนังไทยยุคหลังวิกฤติต้มยำกุ้งที่สร้างความนิยมถล่มทลายไปทั่วโลกอย่าง ‘องค์บาก’ (2003) 

ไม่เกินเลยนักหากเราจะบอกว่ารอยต่อระหว่างยุค 90s เรื่อยมาจนต้นทศวรรษ 2000 คือช่วงที่หนังไทยเฟื่องฟูอย่างที่สุด พ้นไปจากรายชื่อภาพยนตร์ข้างต้นที่ก้องเกียรติมีส่วนร่วมในการเขียนบท ยังมีหนังไทยหน้าตาสดใหม่ -ที่ที่อาจจะหาได้ยากในทุกวันนี้- ที่สร้างหมุดหมายสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะ ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’ (1997) กับโปสเตอร์หนังสุดตราตรึงที่ เรย์ แมคโดนัลด์ นั่งบนชักโครก ชั้นในสีขาวกองอยู่ตรงข้อเท้าขณะที่มือขวากำปืนสั้น และ ‘เรื่องตลก 69’ (1999) หนังสองเรื่องแรกจาก เป็นเอก รัตนเรือง คนทำหนังโฆษณาที่ผันตัวมาทำหนังยาว, ‘นางนาก’ (1999) หนังที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทระดับปรากฏการณ์จนถือเป็นหัวเรือสำคัญที่ทำให้วงการหนังไทยกลับมามีสีสันอีกครั้งหลังภาวะฟองสบู่แตก เรื่อยมาจน ‘แฟนฉัน’ (2003) หนังว่าด้วยวัยเยาว์และการเติบโตของเด็กๆ โดยกลุ่มคนทำหนังหน้าใหม่ที่ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 137 ล้านบาท

โมงยามนั้น ก้องเกียรติเองก็กอดคอกับเพื่อนเพื่อปั้นโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาเหมือนกัน

ลองของ (2005)

“ตอนนั้นเป็นยุคหนัง Ju-on: The Curse (2000) เข้ามาในไทย คุณ เชน-เจริญ เอี่ยมพึ่งพร (ประธานกรรมการบริหารค่ายไฟว์สตาร์) บอกว่า ‘กูไม่รู้ล่ะ แต่หนังผีขายได้ กูอยากทำหนังผี’ เพราะตอนนั้นหนังไทยเอะอะก็ต้องผี เราก็รับโจทย์มาแบบรู้ว่านั่นคือการตลาด แต่ก็แอบบอกเขาว่า ‘คุณเชนครับ ใช้คำว่าหนังสยองขวัญได้ไหมครับ’ คือขอเปลี่ยนจากฌ็องเฮอร์เรอร์เป็นธริลเลอร์ได้ไหม ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ ค่ายจะได้บอกกลับมาน่ะสิว่า ‘ก็กูจะเอาแบบนี้ จะเอาหนังเฮอร์เรอร์!'” ก้องเกียรติหัวเราะ “แต่สมัยนั้นเขาก็ใจนักเลงนะ ก็ถามเราว่ามันยังไงของมึงล่ะไอ้ธริลเลอร์ที่ว่า จะสยองขวัญแบบไหนที่ไม่มีผี”

คำตอบเดียวที่ก้องเกียรติมีและมอบให้ได้ คือเรื่องของไสยศาสตร์ เรื่องราวความขรึมขลังดำมืดที่มองผ่านสายตาของอดีตเด็กชายลูกครึ่งคาทอลิก-พุทธอย่างเขา 

“คุณคงเห็นภาพแล้วว่า เมื่อก่อนการทำหนังมันก็ถูกครอบด้วยการตลาดนี่แหละ แต่มันยังคุยกันได้ คือเราก็กลับมาบอกคุณเชนว่า ‘ผมจะทำหนังสยองขวัญแบบเห็นๆ จะๆ เลยครับ เป้าหมายที่ผมอยากให้มาดูหนังเรื่องนี้คือคนที่อ่านหนังสือคู่สร้างคู่สมครับ คนที่เขาชอบความไม่เซ็นเซอร์’ แต่ทางสตูดิโอเขาก็มีภาพการตลาดในหัวแบบของเขาอยู่ เขาเลยบอกว่า ‘อย่างนั้นหนังแบบนี้ต้องมีโป๊ๆ หน่อย’ และไอ้ความโป๊เนี่ยคือการตลาดนะ” 

‘ลองของ’ ถือกำเนิดขึ้นมาในขวบปีนั้น โดยได้ มะหมี่-นภคปภา นักแสดงสาวที่เพิ่งโด่งดังสุดขีดจากบทหญิงสาวทรงเสน่ห์แห่ง ‘แม่เบี้ย’ (2001) 

“เรารู้ตั้งแต่เราทำแล้วว่า ชาวทองหล่อไม่มาดูหนังเราหรอก” เขาหัวเราะ “แต่ตลาดอื่นเป็นของเราทั้งนั้น เรารู้ว่าเราจะพูดกับใคร ทำหนังอะไร และนายทุนก็เชื่อที่จะให้เราทำแบบนั้น มันก็เป็นการตลาดแหละ แต่เป็นการตลาดที่คนทำหนังกับสตูดิโอแลกเปลี่ยนกัน”

ถ้าให้เทียบกับสมัยนี้ ก็น่าเศร้าที่ดูเหมือนว่าอิสระและบทสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคนทำหนังกับคนออกเงิน ดูจะหดแคบลงทุกที “สมัยนี้ เด็กที่มาทำหนังมักจะถูกมองว่ามันเป็นเด็กตลอดกาล ผู้ใหญ่คิดทุกอย่างมาให้แล้วก็โยนให้เด็กไปปั้นมาให้ได้ อาจจะมีบ้างที่หนังสร้างจากไอเดียของเด็กๆ แต่มันก็มักไม่ค่อยเกิดด้วยหลายปัจจัย เลยกลายเป็นว่ายุคนี้มันอยู่ยากจริงๆ ยากกว่ายุคเราทั้งที่โอกาสมากกว่า”

อย่างนั้นถือว่าการทำหนังเรื่องแรกโรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่ไหม -เราถาม ค่าที่ว่า ‘ลองของ’ ก็แจ้งเกิดคนทำหนังหน้าใหม่ ทั้งตัวหนังก็ได้รับคำวิจารณ์แง่ดีและถูกพูดถึงอยู่ไม่น้อยในยุคนั้น

“เอาอะไรมากุหลาบล่ะ” เขาย้อน “เอาจริงๆ ไหม ตลอดชีวิตการทำหนังนี่ไม่มีตรงไหนเลยที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

ความที่เป็นเด็กหน้าใหม่ ก้องเกียรติกับเพื่อนกอดคอร่วมหัวจมท้ายทำหนัง -ลักษณะเดียวกันกับที่แก๊งผู้กำกับ ‘แฟนฉัน’ หรือคือการจับคนทำหนังหน้าใหม่มามัดรวมกันเพื่อทำหนังเรื่องเดียว

“แล้ววันที่เราถ่ายทำ จำได้ว่าเราบอกกันว่า เราทำหนังเอาตั๋ว ไม่ได้ทำเอาตังค์ แปลว่าถ้าหนังมันทำงาน เราจะได้เครดิตที่จะแตกไปทำหนังของตัวเอง เราเลยแลก” ก้องเกียรติบอก “มันถึงได้มัดผู้กำกับใหม่ๆ 6-7 คนมาทำหนังหนึ่งเรื่อง เพราะมันไม่ง่ายที่สตูดิโอเขาจะเปิดหนัง 6 เรื่องให้คน 6 คนที่ยังไม่เคยทำหนังได้ลองทำ เราก็ต้องแลกด้วยการทำงานเป็นทีม แลกกับค่าตัวที่ยังไงคุณก็ต้องหารค่าตัวกับเพื่อนๆ ที่ร่วมกำกับมาด้วยกัน สุดท้ายแทบไม่เหลืออะไรตกมาถึงมือแล้ว ทำเพราะรักล้วนๆ แต่ถอยไม่ได้เลยต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่แรงมี”

“คือตอนนั้นมันเหนื่อยแหละ เหนื่อยกว่าตอนนี้เพราะเทคโนโลยีมันไม่เอื้อเลย แต่ในความเหนื่อยนั้น มันก็แลกมาด้วยความแม่นยำ สมัยนั้นเราใช้ฟิล์มถ่าย แต่ตอนนี้ใช้กล้องดิจิทัล ถ่ายไปแล้วไม่ชอบก็ถ่ายใหม่ แต่ลองถ่ายฟิล์มนี่มันมีอยู่สี่นาที ทะลึ่งถ่ายสโลว์โมชันก็เหลือสองนาที แล้วไหนจะอุปสรรคต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้สอนให้เราแม่นว่า เราเผื่อไม่ได้ การผิดพลาดควรเกิดให้น้อยที่สุด”

พูดก็พูด ให้จินตนาการว่าเด็กจบใหม่ที่หวังอยากใช้สูตรนี้เพื่อทำหนังฉายโรงในปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะริบหรี่เต็มทน “ตอนนี้การจะได้ทำหนังฉายโรงก็ยากแล้ว หรือถ้าได้ทำ แทนที่จะได้ทำหนังคุณภาพสูง เขาก็จะให้คุณทำหนังเล็กๆ ที่เขาหวังเผื่อฟลุกว่ามันจะไป มันจะเกิด อะไรที่มันเป็น cinematic ค่อยมาทีหลัง”

กล่าวอย่างรวบรัด เทียบกับสมการการตลาดด้านบน หากว่าเมื่อก่อนการตลาดและเจตจำนงของคนทำหนังมีอำนาจไล่เลี่ยกัน เวลานี้ฝ่ายแรกชนะน็อกตั้งแต่ยกแรกก่อนคู่ต่อสู้จะได้ยกปากกาเขียนบทเสร็จด้วยซ้ำไป “มันมาทีหลังการตลาดน่ะ เขาอาจจะโยนโจทย์การตลาดอะไรสักอย่างมาให้คุณ แล้วให้เงินคุณมาเท่านี้ อาศัยการที่คุณเป็นเด็กใหม่แล้วบอกให้คุณไปทำงานมา ถ้าเขาขายได้ก็ว่าไป แต่ทั้งนี้คุณจะได้ไปต่อไหมก็ไม่มีใครรู้นะ” เขาบอก ยิ้มเศร้าปรากฏแวบหนึ่ง “แต่นี่คือคุณก็อาจจะโชคดีกว่าเพื่อนเรียนเอกฟิล์มร่วมรุ่นกับคุณอีกหลายร้อยคนที่หวังจะทำหนังฉายโรงแต่ยังไม่มีที่ไปนะ”

ผู้กำกับรางวัลสุพรรณหงส์ (แล้ว?)

สี่ปีให้หลังจากการกระโจนมาเป็นผู้กำกับใน ‘ลองของ’ ก้องเกียรติก็กลายเป็นผู้กำกับมือรางวัลเมื่อ ‘เฉือน’ (2009) ส่งเขาคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ และตัวหนังยังทำสถิติเป็นหนังที่เข้าชิงรางวัลมากที่สุดของปีนั้นที่ 14 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สัปดาห์แรกที่หนังเข้าฉาย มันทำรายได้เล็กจิ๋วไปที่ 2.6 ล้านบาท และออกจากโรงโดยมีรายได้ทั้งหมด 6 ล้านบาท

“ทุกวันนี้ ‘เฉือน’ เป็นหนังที่สตูดิโอเข็ดนะ” ก้องเกียรติบอก “ตอนนั้นมันคงมีหลายปัจจัยแหละที่ทำให้หนังมันไม่ได้ตังค์ สักห้าปีก่อนลองคุณไปบอกสิว่าจะทำหนังแบบ ‘เฉือน’ นายทุนส่ายหัวเลย กลายเป็นยาขม เพราะมันถูกปั๊มตราว่าเป็นหนังเจ๊ง”

และการได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในไทย ก็ไม่ได้เป็นบัตรผ่านสลักสำคัญอะไรให้เขาในฐานะคนทำหนัง “ไม่เลย ชีวิตไม่เปลี่ยน หนังมันไม่ได้ตังค์ รางวัลมาทีหลัง แต่แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ได้ความภูมิใจในชีวิต มันเดินทางไปทั่วโลกเลย ไปเทศกาลหนังเยอะมาก ไปได้รางวัล นำพาเราไปเจอคนเต็มไปหมด เป็นความประทับใจที่หนังมันพาเราไปเจอ แต่สุดท้าย เมื่อมันไม่ได้ตังค์ เสียงเราก็เบาเหมือนเดิม”

ถ้าไม่ใช่รางวัลที่จะเป็นบัตรผ่านในการต่อรองกับทุนให้คุณในฐานะคนทำหนัง อย่างนั้นแล้วอะไรที่จะเป็นบัตรผ่านได้ -เราถามกลับ ก้องเกียรติมอบรอยยิ้มส่งกลับมา รอให้เราตอบ

“หนังทำเงินเหรอ” ยิงคำตอบส่งเดช

“ถูกต้อง” เขาชูนิ้วเหมือนพิธีกรรายการเกมโชว์ “ยิ่งในตลาดที่เราถูกมัดมือมัดตีนขนาดนี้ คุณทำหนังได้ตังค์ก็จบ มันอาจจะไม่สมบูรณ์ก็ได้ แต่ถ้ามันได้ตังค์ก็โอเคแล้ว คุณมีสิทธิไปต่อ หรือในอีกด้าน สมมติคุณทำหนังรางวัล 4-5 ตัว คุณก็อาจไปต่อได้ แต่คุณก็จะได้ทำหนังรางวัลต่อไปและเอาเข้าจริงๆ คุณก็จะรู้ว่ามันเลี้ยงดูชีวิตคุณไม่ได้หรอก”

เฉือน (2009)

คนทำหนังไม่ได้รวยทุกคน นี่เป็นเรื่องที่เขายืนยัน แล้วสำทับว่า “ปิดกล้องก็ตังค์หมดแล้วมึง”

“สมมติคุณถ่ายหนังเจ็ดเดือน ติ๊ต่างว่าคุณเป็นผู้กำกับเบอร์ใหญ่ที่ได้ค่าตัวสูงมาก คุณได้ค่าตัวหนึ่งล้านบาท ถ่ายทำเจ็ดเดือนหรือก็เกินครึ่งปีไปแล้ว โพสต์โปรดักชันต่อไปสักสามเดือน กระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลาสิบเดือน” เขายกนิ้วสิบนิ้วขึ้นมาชู “แปลว่าคุณได้เงินเดือนละแสน อันนี้ยังโอเค คุณก็มีตังค์ไปกินชาบูได้เดือนละมื้อสองมื้อ แบ่งเงินไปผ่อนรถ ผ่อนคอนโดได้ แต่คนทำหนังคือชนชั้นกลาง และอย่าลืมว่านี่เรากำลังติ๊ต่างว่าคุณเป็นผู้กำกับเบอร์ใหญ่ค่าตัวสูงในไทยนะ”

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เป็น ‘ผู้กำกับเบอร์ใหญ่’ “ถ้าคุณเพิ่งเริ่มทำหนัง คุณจะได้มากสุดคือสามแสนบาท ทำงานสิบเดือนเหมือนเดิม คุณจะเหลือเดือนละสามหมื่นบาท” เขาอธิบาย “สามหมื่นนี่เหนื่อยนะ จะกินชาบูเกรดเอไม่ได้แล้ว ไหนจะค่าเบียร์ค่าอะไร เหนื่อยจริงๆ” 

ยังไม่ต้องไปพูดถึงว่า สามแสนบาทคือค่าตัว ‘มากที่สุด’ ที่ผู้กำกับหน้าใหม่จะได้ นั่นแปลว่ามีอีกมากทีเดียวที่ได้เงินทุนน้อยกว่านี้และต้องถูลู่ถูกังถ่ายหนังด้วยระยะเวลาสิบเดือนเท่ากันกับคนอื่นๆ “มันถึงได้ยากไง ถามว่าทำไมเขาถึงไปทำซีรีส์ ทำละครกันหมด เพราะมันหายใจได้ เขาตัดจ่ายเป็นตอนๆ ชีวิตคุณมันก็ดีขึ้นได้”

นี่เป็นสิ่งที่คนทำหนังมาสองทศวรรษรำพึง

“มึงอย่าตายง่าย”

วันที่เรานั่งสนทนากับก้องเกียรติ รายได้ทั่วประเทศของ ‘ขุนพันธ์ 3’ เพิ่งแตะเลข 80 ล้านบาท ท่ามกลางบรรยากาศการถูกขัดแข้งขัดขา-เตะถ่วง-พุ่งสกัดจนหน้าคะมำ ตามแต่ศรัทธาว่าจะเรียกพฤติกรรมที่อุตสาหกรรมนี้มอบให้หนังไทยสักเรื่องว่าอะไร

“อยากให้มันไปถึง 100 ล้านเหมือนกัน หวังอยู่นะ” ผู้กำกับบอก มองจากแววตา เห็นร่องรอยอ่อนแรงปรากฏให้เห็น -แต่นั่นก็ไม่ใช่สัญญาณของความท้อถอย

คนท้อถอยที่ไหนจะเปิดหน้า-สาวหมัดใส่กับโรงภาพยนตร์อย่างตรงไปตรงมาแบบนั้น

“การทำหนังในไทยคือการที่ใครชนะก็กินพื้นที่ไป ใครอ่อนแรงก็โดนกิน มันเลยเป็นการสู้กันแบบมวยวัด แล้วเดิมทีการทำหนังก็ต้องใช้พลังเยอะอยู่แล้ว การที่คุณจะมาพูดคำว่าหลากหลาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มันก็หลากหลายได้ หนังอย่าง ‘ขุนพันธ์’ มันเกิดขึ้นยากเพราะทำยากด้วยประการทั้งปวง ด้วยเงินทุน ด้วยอะไรต่ออะไร” เขาบอก ชวนนึกถึงคำต้องห้ามที่เป็นสำนวนคุยกันขำๆ ในหมู่คนทำหนังว่า ‘สัตว์-เด็ก-เอฟเฟกต์-สลิง’ คือสิ่งที่ทำงานด้วยยากที่สุดในการถ่ายทำ แล้วดูเหมือน ‘ขุนพันธ์ 3’ จะไล่ครบเช็กลิสต์ดังกล่าวครบทุกประการเพื่อเล่าเรื่องศรัทธา ความหวังและคนรุ่นใหม่ 

อย่างนี้ ไม่ให้เรียกทะเยอทะยานแล้วจะให้เรียกด้วยคำไหน

“ฉะนั้นไอ้การทำหนังเนี่ย คุณต่อสู้เพื่อให้ได้ทำมันก็ยากแล้ว การควบคุมมันให้ได้ ทำมันให้ได้ในเงื่อนไขที่มี มันก็ยาก บางครั้งเรารู้ว่าเราถ่ายอันนี้ไปด้วยเวลาเท่านี้ แล้วฉากนั้นมันไม่สมบูรณ์ เราเห็นแล้วว่ามันไม่สมบูรณ์ แต่มันทำอะไรไม่ได้แล้ว จะไปอ้อนวอนอะไรใครก็ไม่ได้แล้ว เราเลยจึงต้องยอมรับ ว่าโอเค สิ่งนี้จะเป็นแผลของหนัง แต่เราก็เชื่อว่ามันจะมีอีกหลายๆ อย่างที่ดีมาเกลี่ยๆ แต่มันจะไม่มีทาง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก และคนทำหนังเองก็ไม่ได้รู้สึก 100 เปอร์เซ็นต์แบบนั้น”

“แต่ที่เจ็บกว่าคือ แผลนิดแผลหน่อยมันจะไม่ถูกให้อภัยทั้งสิ้นถ้าไอ้หนังเรื่องนั้นเป็นหนังไทย”

ย้อนไปในวันที่ ‘ขุนพันธ์ 3’ โดนลดรอบฉาย ก้องเกียรติบอกว่าเสียใจนั้นเสียใจแน่ และเพราะว่าเสียใจ เขาจึงต้องออกมาพูด มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องปรากฏตัวขึ้นตรงหน้า เขาก็ต้องบอก “เราไม่ได้มาทำหนังเมื่อวาน เรารู้เรื่องนี้มานานแล้ว ก่อนทำหนังเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องให้รอบฉาย ให้โรงเรามากกว่าเดิม เราแค่อยากได้ความยุติธรรม มันควรเป็น fair game สิเพราะมันจะเป็นผลดีด้วย มันสร้างความหลากหลาย” 

“เราเป็นพ่อ หนังเหมือนลูก โรงเรียนบอกว่า ปลายปีจะมีการซ้อมให้ขึ้นไปเต้นโชว์ ลูกก็ซ้อมมาทั้งปี ตั้งใจเพื่อรอขึ้นโชว์ ปรากฏวันจริง ให้ขึ้นไปสองนาที ผู้อำนวยการโรงเรียนมาบอกให้ลูกลงจากเวที เราจะบอกลูกว่านี่คือความซวยของหนูเหรอ ไม่ได้เว้ย มันไม่ใช่ความซวย” เขายืนยัน “แล้วที่เราโพสต์ เราก็ไม่ได้โพสต์ในฐานะจะไปต่อสู้กับเขา เพราะเรารู้ว่าเราแพ้ตั้งแต่โพสต์แล้ว วันที่เราโพสต์นี่แพ้แล้ว จนต้องยอมรับว่า ได้ มึงปิดตา มัดมือกูให้ต่อยก็ได้ กูก็จะต่อย วันนี้หนังมันเดินทางมา 80 ล้าน มันสู้เต็มที่ละทั้งที่ถูกมัดมือมัดขาแล้ว ลูกกูทำเต็มที่แล้ว ท่านขุนได้ทำเต็มที่แล้ว”

“ส่วนใครจะยอมรับได้ คิดว่ามันเป็นการค้า ธุรกิจที่ถูกต้อง เรื่องของมึงเลย กูก็อวยพรว่าวันหนึ่งมึงจะเจอแบบนี้บ้าง เอาให้สมใจอยากมึงน่ะ”

“แล้วพูดจริงๆ นะ เราไม่ชอบวลีว่าเราเป็นคนไทยต้องช่วยกันดูหนังไทย ไม่เลย ไม่ชอบ ก่อนมาเป็นคนทำหนังเราก็เป็นคนดูหนังมาก่อน ดูมาไม่น้อย เรารักหนังมาก หนังเ-ี้ยก็มีแต่เราก็ไม่ด่าไง หรือไม่ก็ไม่ดูไปเลย แล้วก็มีหลายครั้งในชีวิตเหมือนกันที่เข้าไปเจอหนังเ-ี้ยแล้วดูไม่ไหว เดินออกจากโรงดีกว่า มันก็แค่นั้นเอง คือมันเป็นเรื่องแค่ว่าคุณอ่านพลาด คุณคิดว่าหนังมันจะดีแต่มันอาจไม่ดีก็ได้ คุณแค่พลาดน่ะ เขาไม่ได้มาโกงอะไรคุณ หนังมันไม่ดี เรื่องที่คุณเลือกมันไม่ดี มันแค่นั้นเอง ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกคนจะทำหนังไม่ดีไง มันไม่ใช่หน้าที่อะไรเราต้องมาด่าหนังด้วยวิธีการพูดเหมือนเจ้าของหนังไปขับรถชนบ้านมึง”

ความหลากหลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ก้องเกียรติเห็นว่าเป็นแผลใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังไทย -ซึ่งก็ดูเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตความเชื่อมั่น’ มานานหลายปีแล้ว- วัดจากข้อครหาที่ว่าหนังไทยมีแต่หนังไม่กี่ประเภท หรือไกลกว่านั้นคือมีแต่หนังไร้สาระ ซึ่งสำหรับคนที่ดูจะทำหนังฌ็องเป็นหลักอย่างก้องเกียรติ ข้อกล่าวหานี้ดูไม่สมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อย และภาวะอัตคัตทางความหลากหลายนี้ก็ส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบนิเวศในอุตสาหกรรมหนังเอง “หนังมันต้องการความหลากหลาย มันต้องมีทุกแนว ทุกฌ็อง แน่นอนว่ามันมีคนที่แสดงความเห็นอคติว่าหนังไทยมีแต่หนังตลก หนังผี หนังไร้สาระ แต่เรากลับรู้สึกว่ายังไงเราก็ต้องมีหนังเหล่านี้ คือมันต้องมีให้ทุกแบบ ระบบนิเวศ ระบบชีวภาพหนังถึงเสียไงเพราะความอุดมสมบูรณ์มันเกิดจากความหลากหลาย”

“คุณนึกดู ขณะที่มหาวิทยาลัยเปิดภาควิชาฟิล์ม ในระยะสิบปีก็ผลิตเด็กจบสาขานี้มาเยอะมาก คำถามคือเด็กพวกนี้ไปไหนกัน ถ้าเด็กๆ เหล่านี้ผลิตหนังมา จะผลิตไปไหนในเมื่อวงการหนังมันไม่มีพื้นที่ให้คุณโตเลย”

เทียบสมการกับ ‘ขุนพันธ์ 3’ ที่ก็ว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่กับที่ต้องรับมือกับความสิ้นหวังของรัฐใต้เงื้อมมือของข้าราชการต่ำช้า ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว ‘เด็กจบฟิล์ม’ รุ่นใหม่ๆ นี้ยังจะพอเหลือความหวังอะไรให้มองหรือไม่ในพื้นที่อุตสาหกรรมที่ดูจะปิดประตูตายใส่ความหลากหลายและความงอกงามทั้งสิ้นเช่นนี้ 

“เหนื่อยว่ะไอ้น้อง” เขาบอกตรงๆ “เราทำหนังมา 20 ปียังเหนื่อยอยู่เลย เพียงแต่คุณต้องเชื่อว่ะ เราเคยพูดไปแล้วว่าข้อดีของคนรุ่นพวกคุณคือ คนเป็นคนทำหนังระดับโลก ถ้าคุณกล้าสู้พอ คุณจะได้ตั๋วไประดับโลก เพราะมันมีโอกาสที่คนจะเห็นคุณ ไม่ได้แค่ในประเทศ แต่ถ้าจะทำหนังในประเทศนี้ เหนื่อยแน่นอน แต่มันไม่ได้แปลว่า ถ้ามึงทำงานแล้วสะสมแต้มบุญมากพอ วันหนึ่ง คุณอาจจะได้ไปทำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ กับจีน กับอินเดีย หรือหนังนอกที่เข้ามาถ่ายทำในไทย คุณก็อาจจะได้เป็น second unit มันมีโอกาสโตที่ต้องไปโตทางอื่น”

ใช่ เส้นทางนี้เหนื่อย ใช่ เส้นทางนี้น่าสิ้นหวัง แต่กับคนที่นับถือศาสนาหนังและใช้ชีวิตในฐานะคนทำหนังอาชีพอย่างก้องเกียรติ -ก็มันไม่เหลือทางให้ถอยแล้ว มีแต่ต้องเดินหน้าต่อไป แม้กระทั่งในวันที่องคาพยพต่างๆ ของอุตสาหกรรมจะอ่อนแรงเหลือเกินก็ตามที “ผมว่าประเด็นเรื่องการเทโรงอะไรต่างๆ เป็นปัญหาเชิงสังคมที่ใหญ่เกินกว่าสมาคมผู้กำกับจะออกมาพูดด้วยซ้ำ สมาคมผู้กำกับก็เป็นสมาคมทั่วไปน่ะ สมาคมปลากัดยังมีแรงกว่าเลยมั้ง คือเขาก็แถลงการณ์และมีอำนาจเท่านั้น จะไปขยับอะไรก็ไม่ได้หรอก”

“แต่ถ้ามันมีการรวมตัว เช่น สมาพันธ์นักศึกษาภาพยนตร์กับสมาคมผู้กำกับ เพื่อพูดเรื่องนี้โดยตรง เสียงมันก็น่าจะดังขึ้นนะ ไอ้เด็กจบใหม่เนี่ยมึงต้องช่วยกันเขียนด่า” เขาหัวเราะ “ถ้าแต่ละรุ่นมันจบมาหนึ่งพันคน มึงเขียนด่าพันคน มันต้องสะเทือนบ้างแหละ ของแบบนี้มันเปลี่ยนด้วยคนคนเดียวไม่ได้ คุณก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน มันก็ต้องรวมตัวน่ะ กูมันแก่วัดแล้ว กูพูดจบก็ไปแล้ว กูทำหน้าที่ไปแล้ว แต่กูเสียงเดียวไม่ได้ไง”

อย่างนั้นแล้วอาคมไหนที่ ‘ขุนโขม’ อยากให้คนทำหนังรุ่นใหม่ๆ เรียนรู้ติดตัวไว้ ในสนามรบที่เรียกเลือดเรียกเนื้อ ต้องยืดอกรับกระสุนสร้างหนังกันสักเรื่อง “คาถาที่สำคัญที่สุดคือคาถาช่างแม่งมัน ถ้าคุณไปเอาทุกอย่างมาเป็นสาระหมด คุณเดินต่อไม่ได้หรอก เพราะการทำหนังจะบั่นทอนคุณทุกองศาเลย เรายืนยันว่าไม่จำเป็นต้องแข็งแกร่งแบบยิงไม่เข้า แต่เราต้องมีวิธีรักษาตัวเองได้เร็ว แหม โดนรุมยังไงมึงก็เป๋อยู่แล้ว แต่มันต้องกลับมาได้”

และที่สุด มันจะหวนกลับไปสู่อาคมข้อแรกที่เขาบอกไว้ตั้งแต่ต้นบทสนทนา “หนังเหนียวเข้าไว้ อย่าเปราะ อย่าตายง่าย เพราะว่าถ้าเปราะแล้วมึงได้ตายจริงเอาแน่ๆ”

ฟังแล้วเหนื่อย เรียกร้องพลังชีวิตสูง แต่ทั้งอย่างนั้น อะไรที่ทำให้ก้องเกียรติยังเป็น ‘คนทำหนัง’ ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสมรภูมิเลือดแบบนี้กัน คำตอบไม่ใช่ว่าไม่มีทางไป -ทางไปน่ะมีแน่ และอาจจะง่ายดายกว่าการยังต้องกำหมัด ฟัดฟันสู้อยู่เช่นนี้ด้วยซ้ำ 

“เรารักมันว่ะ” คำตอบง่ายดาย “เรารักความรู้สึกของการอยู่ในโรงหนังและมันสร้างมหรสพที่คนร่วมรู้สึกไปกับมันไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ไหน และความรู้สึกนั้นแหละที่มันต้องแลกด้วยการทำหนังแล้วทำหนังอีก ทำซ้ำ ทำแล้ว ทำอีกไปเรื่อยๆ”

ให้หลังจากบทสนทนานี้จบลงไม่กี่วัน รายได้ของ ‘ขุนพันธ์ 3’ ทะยานขึ้นสู่เลข 100 ล้านบาท ซึ่งไม่ง่ายเลยหากมองจากคมดาบและห่ากระสุนที่ประดังประเดเข้าใส่นับตั้งแต่วันแรกของการทำหนัง ไล่เรื่อยมาจนถึงวันที่เข็นหนังออกสู่สายตาผู้คน และปลายทางนี้คือผลลัพธ์ที่ได้มาจากการแลกเลือดแลกเนื้อของการ ‘ทำซ้ำ ทำแล้วและทำอีก’ ของก้องเกียรติ ชายผู้กระโจนเข้าใส่สนามรบในนามของวงการหนังไทยที่แสนไม่เป็นมิตรมาแล้วกว่าสองทศวรรษ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save