คนมักกล่าวกันว่า หนังของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี มักเล่าเรื่องชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยกับบรรยากาศบ้านเมืองเป็นฉากหลัง เรื่อยมาตั้งแต่เรื่องของนักศึกษาหญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนเรื่องสวาทลงนิตยสารปลุกใจเสือป่า มาจนถึงเหล่าเด็กสาวที่ถูกมนุษย์กวางล่าสังหาร
บางครั้งสังคมและการเมืองในหนังของคงเดชก็ชัดเจนในรูปการกระจายเสียงจากรัฐผ่านวิทยุ, เหตุการณ์ล้อมปราบ แต่บางครั้งมันก็เจือจางอยู่ในความเนิบเฉยที่ตัวละครต้องเผชิญ อยู่ในอนาคตที่ถูกกระชากลากถูโดยคนรุ่นก่อน
19 ปีนับจากทำหนังเรื่องแรก ไม่เกินเลยหากเราจะบอกว่าหนังของเขาเป็นเสมือนบทบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทยในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งไว้ คำถามที่น่าสนใจคือเหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลต่อเขาในฐานะคนทำหนังอย่างไร มีอะไรตกหล่น อะไรที่สูญหายไประหว่างทางของสภาพบ้านเมืองที่คงเดชบอกเราว่า “ไม่เปลี่ยนแปลง” บ้างหรือไม่
สยิว (2546)

เต่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อาชีพคนเขียนเรื่องเสียวลงนิตยสารปลุกใจเสือป่ากำลังไปได้สวย เว้นก็แต่ว่าเธอขาดประสบการณ์จนต้องดิ้นรนพาตัวเองไปหาเรื่องสวาทแปลกประหลาดมาเล่า หนึ่งในวันแสนธรรมดาของเธอจึงหัวหมุนกับการหาเรื่องชวนเสียว ร้านขายโทรทัศน์ใกล้หอพักพร้อมใจกันฉายภาพกลุ่มทหารประกาศขอความสงบ เช่นเดียวกับอีกวันที่เธอขึ้นไปตากผ้าบนดาดฟ้า มีฉากหลังเป็นเสียงบรรยายเหตุการณ์ที่นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 แต่เต่าไม่ได้ไป เธอเพียงแค่ดำรงอยู่ตรงนั้นในหอพักเล็กๆ มองหาความเป็นไปได้ที่จะมีเรื่องสยิวมาเขียนเป็นงานชิ้นใหม่
“‘สยิว’ เริ่มต้นจากการเป็นบทหนังสั้น ตอนแรกไม่มีบริบททางการเมืองเลย แต่พอมาขยายเป็นหนังยาวเราก็พบว่าจริงๆ แล้วช่วงเวลาที่เป็นยุคทองของหนังสือตระกูลปลุกใจเสือป่า คือช่วงเวลาที่เราเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แล้วเหมือนว่าหลังจากนั้นหนังสือพวกนี้ค่อยๆ จางหายไป เปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น FHM, Playboy หรือคือกลายสภาพเป็นสิ่งที่ไฮคลาสมากขึ้น เลยรู้สึกเหมือนสังคมมันเปลี่ยนหน้าจากเรื่องเซ็กซ์ชาวบ้านให้กลายเป็นเรื่องที่ดูหน้าตาดีขึ้น มันเกิดการเปลี่ยนเปลือกหรืออะไรทำนองนั้น ตอนทำหนังเรื่องนี้มันเลยเหมือนแสดงความเคารพแก่หนังสือเหล่านี้ในช่วงเวลาที่เราเป็นนักศึกษาด้วย”
“จำได้ว่าตอนที่เราเรียนปีสาม กำลังจะขึ้นปีสี่ มันเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เรากับเพื่อนก็ไปร่วมกับเขา แต่ไปไม่ถึงไหนก็วิ่งกลับกัน ขณะเดียวกันเมื่อกลับมาถึงหอพักก็มีหนังสือโป๊ไว้แบ่งกันอ่านกับเพื่อน เป็นเสมือนเครื่องมือหลบหนีโลกของพวกเรา”
“คือปี 2535 จนถึงตอนนี้ก็สามสิบปีแล้ว ไอ้เหี้ยนานมาก (หัวเราะ) ถ้าให้พูดคือเหมือนเมื่อก่อนทุกอย่างมันง่ายกว่านี้มั้ง เรื่องไม่เยอะ มันเป็นทั้งจุดที่ทำให้ชีวิตอยู่ง่ายกับจุดที่มืดบอด เจเนอเรชันแบบพวกเรามันมีความก้ำกึ่งบางอย่างอยู่ ยุคสมัยนั้นเรารับรู้ข่าวสารแค่จากสิ่งที่เขาจะป้อนให้เรา ความไม่รู้เยอะมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย มันทำให้เราไม่รู้ความจริง แต่ความไม่รู้เยอะก็ทำให้เราโฟกัสกับสิ่งต่างๆ ที่เราสนใจได้ ขณะที่ยุคนี้ทุกอย่างมันเยอะไปหมด ข่าวสารเยอะมาก เรารู้กันเยอะแต่ก็ยังไม่รู้จริงๆ อยู่ดีว่าสิ่งไหนคือความจริง และความท่วมท้นที่ว่านี้มันทำให้เราโฟกัสไม่ได้”
“ถ้าพูดเรื่องบ้านเมืองในยุคนั้น เราก็รู้สึกว่า (คิดนาน) ไม่แปลกที่คนรุ่นเราหลายคนก็กลายเป็นคนอิกนอแรนซ์ (ignorance -คนที่ไม่สนใจประเด็นต่างๆ) หลายคนก็อาจมีสิ่งที่คล้ายๆ กับเป็นความสมประโยชน์ ลงตัวกับสภาพสังคมแล้ว และไม่อยากให้มันเปลี่ยนมือไปน่ะ”
เฉิ่ม (2548)

สมบัติ ดีพร้อม เป็นคนขับแท็กซี่ผู้สุภาพเรียบร้อย แต่ละวันของเขาหมดไปกับการตระเวนขับรถรอบเมือง รับผู้โดยสารคนแล้วคนเล่า ท้องหิวก็แวะกินต้มเลือดหมูร้านประจำ จักรวาลชีวิตของสมบัติเล็กแคบ และเขาก็พึงใจเช่นนั้น เขามีเพียงเสียงเพลงสุนทราภรณ์และดีเจแปลกหน้าจากวิทยุ AM เป็นเพื่อนทุกเช้าค่ำ กระทั่งการปรากฏตัวของ นวล สาวบริการหน้าตาสวยหยาดเยิ้มที่เขาหลงรักหัวปักหัวปำที่เข้ามาขยายจักรวาลหัวใจให้ชายขับแท็กซี่ พร้อมความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกที่เข้ามาเยือนชีวิตเขาผ่านเสียงอ่านข่าวการประชุมเทคโนโลยีที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ในรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร
“สมบัติเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ตอนเขียนตัวละครนี้มันผ่านการผสมผสานหลายอย่างมาก มาจากพ่อของเราก็มี เช่น พวกทรงผม การใส่ปอมเมด (Pomade -ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม) หรือการทำทุกอย่างซ้ำๆ กันทุกวัน เพียงแต่พ่อเราไม่ได้ฟังวิทยุ AM แบบสมบัติ พ่อจะอ่านหนังสือพิมพ์จีน แต่สมบัติเป็นคนขับแท็กซี่ที่ทำทุกอย่างซ้ำๆ เป็นรูทีน ไม่อยากหมุนไปตามโลก แต่โลกไม่อนุญาตให้เราอยู่กับที่หรือโลกในฝัน มันกระชากเราออกตลอดเวลา”
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าตัวเราไม่ได้มีความมั่นคงทางการเมืองขนาดนั้นว่าจะเรียกตัวเองเป็นฝั่งไหนหรือฝั่งไหน แต่เรามักมีความไม่วางใจในรัฐมั้ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เราว่าหน้าที่ของประชาชนอาจจะเป็นแบบนั้นด้วยซ้ำ คือตรวจสอบรัฐไม่ว่ารัฐจะเป็นใคร ต่อให้วันนี้มีเลือกตั้งแล้วได้พรรคการเมืองที่ดี หน้าที่ของเราก็ไม่ใช่ตะพึดตะพือเชียร์ ถ้ามันมีอะไรที่ไม่โอเค เราว่าประชาชนก็ควรจะพูดได้ แต่ตอนนี้มันแย่ยิ่งกว่าคือแม่งไม่ให้เราพูดด้วยซ้ำไป ก่อนหน้านี้เรายังพูดได้”
“ช่วงที่เรากำลังทำ ‘เฉิ่ม’ เป็นช่วงรัฐบาลทักษิณ มันมีบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจบางอย่างว่าอาจมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งมันคือช่วงก่อนหน้ารัฐประหารปี 2549”
กอด (2551)

ขวานเป็นชายสามแขน ชีวิตก็ทำท่าว่าจะดีเพราะแขนที่สามที่แม้จะดูเกะกะก็ยังพอทำประโยชน์ให้เขาได้บ้าง เพียงแค่เมื่อโตขึ้น มันกลับดูจำเป็นน้อยลง มิหนำซ้ำเขายังเหลือทนกับสายตาผู้คนที่มองมายังเขาราวกับเป็นตัวประหลาด ขวานจึงตัดสินใจออกเดินทางจากหมู่บ้านเล็กๆ เพื่อไปตัดแขนซ้ายอีกข้างออกที่กรุงเทพฯ และการเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาได้พบกับ นา สาวที่หวังจะไปตามหาสามีในตัวเมือง พวกเขาแลกเปลี่ยนชีวิตของการตกเป็น ‘คนนอก’ ของสังคมด้วยกัน คลอไปด้วยเสียงเพ้อฝันของเพื่อนคนขับแท็กซี่ที่ปรารถนาอยากรวยเป็นเศรษฐีคนใหม่ และไปให้พ้นจากชีวิตอันแสนขมขื่น
“กับเรื่อง ‘กอด’ ตอนเริ่มทำหนังเรื่องนี้มันเริ่มมาจากความรู้สึกส่วนตัวว่าเราไม่ชอบตัวเอง เราเชื่อว่าคนไม่ค่อยชอบตัวเองนะ สมมติถ้าส่องกระจกก็จะรู้สึกว่ากูไม่ชอบตัวเอง แล้วมันเริ่มจากตรงนั้นเลย ‘กอด’ ก็เป็นหนังที่บางคนรู้สึกไม่ชอบมัน (คิดนาน) ในเชิงกระบวนหนังของเรา ก็มีหนังที่คนไม่ค่อยพูดถึงหรือไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก กอดก็เป็นหนึ่งในนั้นมั้งเราว่านะ ทุกวันนี้มันยังเป็นหนังที่เจ๊งที่สุดของค่าย GTH อยู่หรือเปล่าเราก็ไม่แน่ใจ (ยิ้ม)
“ว่าไป มันอาจไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่มันคือเรื่องปัญหาโครงสร้างมั้ง มันเป็น road movie ที่ว่าด้วยความ centralized (รวมศูนย์) ความเป็นคนนอกของมึงที่มึงจะต้องไปทำตัวให้เป็นคนในด้วยการเดินทางไปในกรุงเทพฯ แล้วตัดแขนทิ้ง ตัดความเป็นอื่นออก แต่ต่อให้ตัดไปแล้ว เมื่อมึงกลับไปที่บ้านเกิด มึงก็ยังมีความเป็นอื่นอยู่ดี และยังมีความเป็นอื่นกับตัวเองด้วยอีกต่างหาก เวลาเราทำหนัง เราก็ทำด้วยความรู้สึกว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วเราเห็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ชีวิตติดขัด เราจึงอยากเล่าเรื่องนี้ มันไม่มีอะไรวิชาการหรือไม่ได้ร่างอะไรออกมาขนาดนั้นด้วยซ้ำไป”
แต่เพียงผู้เดียว (2555)

ช่างทำกุญแจที่มีชีวิตหัวเดียวกระเทียมลีบและพอใจอยู่แค่นั้น แต่ละวันเขาหาความสำราญจากการเอาดอกกุญแจที่ได้รับมาจากลูกค้าไปไขห้องลูกค้าเล่นๆ เพื่อสำรวจห้องหับคนแปลกหน้า ไม่เคยทำอะไรเกินเลยไปกว่านั้น เขาเพียงแค่สำรวจข้าวของที่บ่งบอกถึงตัวตนเจ้าของห้อง ขุดคุ้ยความลับส่วนตัวและเก็บไว้ในใจราวกับเป็นความลับร่วมกันระหว่างเขากับคนแปลกหน้า กระทั่งวันหนึ่งที่การเล่นซนของเขากับเพื่อนยังผลให้มีคนเสียชีวิต ชายช่างทำกุญแจจึงได้ตระหนักว่า แท้จริงแล้วบางทีชีวิตเขาอาจไม่ได้กอปรสร้างขึ้นมาจากตัวเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนเสี้ยวจากคนอื่น -ที่อาจเป็นคนแปลกหน้า- ร่วมอยู่ด้วย
“ไอเดียหนังเรื่องช่างทำกุญแจมาจากผู้ช่วยเราที่ทำกุญแจหายแค่นั้นเลย (หัวเราะ) แต่อย่างหนึ่งคือ ตอนทำหนังเรื่องนี้เป็นช่วงที่เราค่อนข้างแคลงใจตัวเองว่าตกลงกูเป็นคนทำหนังสตูดิโอ แต่กูไม่สามารถทำหนังกับสตูดิโอด้วยพล็อตหนังแบบที่กูทำอีกแล้วได้แน่ๆ เลยว่ะ เพราะกูไม่แมสขนาดนั้น ความรู้สึกมันชัดขนาดนั้นเลย แล้วเรายังรู้สึกด้วยว่า เหี้ย แต่กูไม่ใช่สายหนังอาร์ตด้วยนะ”
“สำหรับเราเป็นหนังที่ทำให้เราเช็กขอบเขตของหนังว่า เราจะทำหนังแบบที่มากกว่าขอบเขตที่เราเคยทำไปได้อย่างไร เพราะสามเรื่องแรก ถึงมันจะแปลกๆ อย่างไร เราก็รู้สึกว่ามันมีความอยู่ในกรอบว่ะ มีขอบเขตของมันอยู่ แต่พอมาถึง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ เราอยากรู้ว่าเราจะดันมันไปได้ไกลแค่ไหน เราจะพูดเรื่องอัตลักษณ์ของเราเนี่ยแหละ ดังนั้นมันจึงเกิดหลายๆ อย่างขึ้นมา เช่น วิธีเล่าที่กระจัดกระจายสุดๆ หรือวิธีเล่าแบบที่เลือกให้เห็น เลือกไม่ให้เห็นอะไรต่างๆ นานา มันคือการที่เราเริ่มทำหนังด้วยความรู้สึกอีกแบบ ด้วยวิธีอีกแบบ และเราก็เหมือนค้นพบว่า เฮ้ย เรามีความสุขกับหนังมากขึ้นนะ และเรากลัวมันน้อยลง”
“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้หรอกว่าเรากลัวอะไร แต่มันมีความรู้สึกว่าเราต้องเล่าอย่างนี้นะ ต้องเล่าอย่างนั้นนะถึงจะรู้เรื่อง และตอนที่หนังเสร็จออกมาแล้วเราค้นพบว่ามันเป็นหนังที่คนดูจะมีเวอร์ชันของตัวเอง ซึ่งนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออเว้ย โอเคว่ะ กูเข้าใจแล้ว เราทำหนังอย่างนี้ก็ได้”
ตั้งวง (2556)

เรื่องชวนหัวของเหล่าวัยรุ่นที่ไปบนต่อศาลพ่อปู่เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ขอให้ชนะการแข่งขันการตอบปัญหาวิทยาศาสตร์, ให้คนรักกลับมาหา ไปจนถึงคนที่ไม่เชื่อแต่ต้องถูกลากมาให้รำแก้บนเพราะแฟนสาวไปขอไว้ และเมื่อทุกคนสมประสงค์กับสิ่งที่ขอ ภารกิจเดียวที่เหลือคือการไปรำแก้บนศาลท่ามกลางปัญหาชีวิตที่งอกเงยขึ้นมาทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อพ่อของเบสหายตัวไปท่ามกลางเหตุการณ์คืนล้อมปราบในปี 2553 และกระสุนนัดหนึ่งที่พุ่งปะทะไม้ปิงปองซึ่งเขาบังเอิญพกติดตัวไว้ หากแต่ความพิศวงคือไม่กี่วันต่อมา กรุงเทพฯ ก็มีเหตุการณ์ big cleaning ที่ชำระทั้งเลือดทั้งอดีตออกไปจากตัวเมือง ทิ้งหลักฐานไว้เพียงรอยกระสุนบนไม้ปิงปองและคราบเลือดจากคนแปลกหน้าบนเสื้อ ‘สามัคคีประเทศไทย’ ที่เขาสวมออกไปข้างนอกเท่านั้น
“ตัวละครในเรื่องเป็นเด็กมัธยมทั้งแก๊งเลย ในเวลานั้นเด็กมัธยมยังมีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์บ้านเมืองน้อยกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเยอะมากนะ และหมายความว่าเมื่อตัวละครเป็นเด็กมัธยม มันเลยเป็นเรื่องที่ไม่ได้พูดถึงว่าใครอยู่ข้างไหน แต่มันคือเรื่องของเด็กมัธยมที่เคว้งมากๆ ท่ามกลางเหตุการณ์ที่พ่อไปร่วมชุมนุม เพื่อนมีความเชื่อที่กูไม่เชื่อ ย้อนแย้งไปหมด เรามองสิ่งนั้นมากกว่ามั้งตอนทำหนังเรื่องนี้ และรู้สึกว่า ช่วงเวลานั้นมันฝุ่นตลบมากเลย เราจึงอยากทำหนังที่เด็กๆ อยู่ในภาวะฝุ่นตลบ ไม่ว่ามันจะเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า ทั้งเรื่องทำแฟนท้อง ทั้งเรื่องตอบปัญหา ทั้งเรื่องแก้บน ทั้งเรื่องไปผ่านม เราอยากให้มันมีความฝุ่นตลบ มันจึงเป็นหนังที่ดิบๆ หน่อยและแฮนด์เฮลด์ (handheld) ทั้งเรื่องเลย มันจึงเหมือนเป็นโจทย์ว่า เราอยากให้หนังมันฝุ่นตลบ อยากให้เด็กแม่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรมั่นคงเหลือไว้ให้กูยึดเหนี่ยวเลย”
“หรือฉากถัดมาก็ big cleaning เลย ช่วงเวลานั้นเราก็รู้สึกนะว่า big cleaning อะไร! เหตุการณ์มันเพิ่งผ่านไปเอง แล้วกูเห็นภาพทำความสะอาดนั้น ทุกคนช่วยกันรักกัน อะไรเนี่ย! ไอ้ความรู้สึกฝุ่นตลบต่างๆ นี้มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องบันทึกมันไว้”
Snap แค่…ได้คิดถึง (2558)

งานแต่งของเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่ม ทำให้เพื่อนเก่าๆ สมัยมัธยมต้องกลับมารวมตัวกันที่จันทบุรี ความทรงจำสุกปลั่งและอดีตพรั่งพรู ทั้งมันยังเป็นวันสำคัญที่ทำให้ บอย ได้กลับมาเจอกับ ผึ้ง เพื่อนสาวที่เขารู้สึกดีด้วยสมัยเรียนอีกครั้งหลังเธอต้องย้ายที่อยู่จากเหตุรัฐประหารปี 2549 ตามพ่อที่เป็นนายทหาร แปดปีต่อมา ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 พวกเขาได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในงานแต่งเพื่อน ความทรงจำเก่าเก็บผุดพรายขึ้นมาอีกครั้ง หากแต่มันถูกแต่งเติมและบิดเบี้ยวจนไม่ตรงกัน ปลาที่ผึ้งอ้างว่าเลี้ยงกับบอยนั้นมีอยู่จริงไหม นพได้ไปเที่ยวกับเพื่อนหรือเปล่า การตัดแต่งอดีตและภาพจำปรากฏตัวทับซ้อนข้อเท็จจริงราวกับฟิลเตอร์ของอินสตาแกรมที่ย้อมภาพจนไม่เหลือแสงสีเดิม
“เราว่ามันเป็นครั้งแรกที่เราทำนางเอกที่ไม่น่ารักเลย (ยิ้ม) มีหลายคนที่บอกว่า เหี้ย ไอ้ผึ้งนี่แหละคือคนแบบที่กูเกลียดที่สุด ทั้งนี้ เรารู้สึกว่าคนเหล่านี้เขาก็เป็นเหยื่อของสิ่งที่เขาเลือกไปด้วยนะ ความขมขื่นที่ตัวละครนี้ได้รับก็จะเป็นความขมขื่นอีกประเภทหนึ่ง เพราะเราจะเห็นว่าผึ้งเป็นตัวละครที่ใส่ฟิลเตอร์ให้ทุกอย่างในชีวิต อย่างหนึ่งคือเราคิดเรื่องการตัดแต่งความทรงจำของตัวเอง และเราก็ค้นพบว่า ชีวิตพวกเราบางทีแม่งเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้ และอะไรแบบนี้บางทีมันทำให้เราเศร้าน่ะ”
“เรื่องก็คือ ช่วงก่อนหน้าทำหนังเรื่องนี้ ยาวมาจนถึงช่วงที่กำลังทำ เป็นช่วงที่เราเสียเพื่อน เสียความสัมพันธ์ไปหลายแบบ มองทางหนึ่งก็อาจจะคิดว่า ไอ้เหี้ย ไม่เห็นต้องแคร์เลย แต่เราเป็นคนแคร์ไง เราแคร์ทุกคนเลยจริงๆ แล้วมันยากตรงไหนรู้ไหม ตรงที่หลายครั้งเราดูเหมือนจะแดงไม่พอ ซึ่งแม้แต่ความรู้สึกแบบนี้ก็ดูเหมือนเราจะยังไม่มีอิสระมากพอเลย ว่าเราจะเห็นด้วยกับตรงไหน แค่ไหน เราจึงรู้สึกว่านี่แม่งกระทบชีวิตมากๆ เลย คือเราเป็นคนแคร์คนมากๆ เลยด้วย และกระทั่งเรื่องที่ว่า เราไม่ได้เป็นคนที่รู้ เท่าทันสิ่งต่างๆ ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป”
“Snap มันจึงเป็นหนังที่เราทำด้วยความเศร้าสุดขีดเลยนะ จำได้ว่าเราสิ้นหวังในมนุษย์มากเลย อาจเพราะเราทำในช่วงที่เริ่มเสียความสัมพันธ์ไป และเราเป็นคนแคร์สิ่งนี้ เราจึงรู้สึกว่าสิ้นหวังน่ะ แล้วความสิ้นหวังที่ว่านี้ก็ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ -จนถึงทุกวันนี้เวลาที่เรานั่งดู- ในบรรดาหนังทั้งหมดที่เราทำ หนังที่เรารักก็คือ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ และ ‘Snap’ รักมากเป็นพิเศษ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร (คิดนาน) ‘Snap’ เป็นหนังที่ทุนต่ำมาก และถ่ายแค่สิบวัน แล้วมันเหนื่อยยากมาก แต่ความที่มันเล็ก มันน้อย ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ มันพอดีกับเรามากๆ และเรารู้สึกเยอะด้วย”
Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2562)

ซู กำลังจะได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เบล ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเธอคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง ก่อนจะต้องออกเดินทางนั้น ซูจึงใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการบอกลาเพื่อนร่วมชั้นเรียนแต่ละคนที่ต่างก็เติบโตและแยกย้ายไปมีชีวิตในแห่งหนอื่น เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นพนักงาน เป็นนักศึกษาที่เข้าเรียนคณะไหนก็ได้ที่สอบติด เธอยังลังเลทางเลือกชีวิตว่าเธอเลือกจะไปได้หรือไม่ ครูย้อนถามเธอว่าตั้งแต่เกิดมานี่เคยเลือกตั้งหรือยัง ซึ่งก็ยังเพราะหลังจากรัฐประหารปี 2557 ก็ยังไม่มีคนไทยคนไหนได้เลือกตั้ง ซูจึงเถียงไม่ได้ ขณะที่พ่อของซูคาดหวังให้เธออยู่ที่บ้านเกิดในจันทบุรีต่อไปเพื่อสืบทอดกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวของเขา รวมทั้งแม่ของซูผู้ลาลับและติดต่อเธอมาอีกครั้งผ่านร่างทรง แจ้งความปรารถนาว่าอยากให้เธอใช้ชีวิตต่อไปในเมืองเล็กๆ แห่งนี้
“ตอนทำเรื่องนี้ก็เป็นช่วงที่เราเศร้ากับชีวิตฉิบหายเลยอีกเหมือนกัน ปีที่เขียนบทหนังเป็นปีที่คล้ายๆ ว่าเราไม่เชื่อในระบบการศึกษาไทยอีกแล้ว อย่างแรก มันเป็นปีที่เรากับลูกตัดสินใจด้วยกันว่าลูกจะออกมาจากโรงเรียนแล้วมาทำ home school กัน ลูกก็เล่าสิ่งที่เขาเจอในระบบให้ฟัง ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่ค่อยอยากเล่าให้ฟังหรอก”
“อย่างที่สองคือเป็นปีที่แม่เราเป็นมะเร็ง เราพาแม่มาดูแลที่บ้าน เมียเราก็คอยดูแลแม่ เราก็มองแม่เราว่าทั้งชีวิตเขาที่ผ่านมานี่เขาได้มีทางเลือกอะไรขนาดไหนวะ จึงเป็นที่มาของตัวละครย่าในเรื่องด้วย ก็เลยถามว่าเรามีทางเลือกอะไรในชีวิตบ้าง จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า มึงเป็นเจ้าของชีวิตของมึงเองแค่ไหน โดยเฉพาะในประเทศนี้ที่มันเต็มไปด้วยการควบคุมไม่ให้มึงมีชีวิตเป็นของตัวเอง เราจะเห็นตั้งแต่ตัวละครไปคุยกันที่ร้านเกมเรื่องทรงผม นี่หัวกูหรือหัวใคร (หัวเราะ) เราไม่ได้เลือกอะไรเลย ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ผู้หญิงหรอก แต่ว่าในประเทศนี้ผู้หญิงมันโดนหนักมากกว่า แล้วนึกออกไหม ผีของแม่ คำคัดค้านของพ่อ ร่างทรงต่างๆ มันเป็นความกลัวของคนรุ่นก่อนหน้า โลกกำลังจะหลุดมือเขาไปแล้วแต่เขาไม่ยอม เขาจะยื้อให้เด็กไม่ต้องไปไหน หรือไม่ให้โลกมันไปข้างหน้าน่ะ
“นี่ก็เป็นหนังที่เรารักมากอีกเรื่อง และเป็นหนังที่เราไม่กล้าดูบ่อย พอถึงตอนจบ คือซีนที่ไอ้เบล (แพรวา สุธรรมพงษ์) ขี่มอเตอร์ไซค์ทีไรเราก็ร้องไห้เองทุกครั้ง เรารู้สึกว่าเด็กในประเทศนี้มันสิ้นหวังจังเลย คนที่ไม่สามารถออกไปได้น่ะ”
Faces of Anne แอน (2565)

แอน หรือชื่ออะไรก็ตามที่มันเป็นชื่อของเธอตั้งแต่แรก ตื่นมาในห้องประหลาดโดยจำความอะไรไม่ได้เลย เธอพบว่าใบหน้าของเธอเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ แม้พยาบาลและหมอจะบอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในโมงยามแห่งความสับสนขณะที่พยายามควานหาตัวตนของเธอ แอนก็พบว่าเธอและแอนคนอื่นๆ ถูกปีศาจกวางไล่สังหารโดยไม่อาจต่อกรอะไรได้ และข้างนอกนั่น มีอีกแอนหนึ่งที่นั่งเหม่อบนโต๊ะอาหาร แว่วเสียงข่าวว่าเกิดม็อบนักเรียนเลวในสังคม แต่แม่ผู้ไร้ใบหน้าของเธอก็ไม่ได้นำพาใดๆ
“เป็นอาฟเตอร์เอฟเฟ็กต์ของ Where We Belong น่ะ แทบจะเรียกได้ว่าต่อกันเลย ตอนที่ Where We Belong ยังไม่ได้ฉายเราก็เริ่มเก็บข้อมูลทำหนังเรื่องนี้แล้วด้วยจากการไปได้เจอเด็กผู้หญิงจำนวนมาก คือตอนเริ่มโปรเจ็กต์นี่กะจะเริ่มแบบ ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ (2000, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล -หนังสารคดีกึ่งทดลองที่ให้ซับเจ็กต์ในหนังเล่าเรื่องต่อๆ กันไป) ให้เด็ก 50 คนมาเล่าเรื่องต่อกัน แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คิดว่าจะทำให้มันเป็นโปรเจ็กต์อาร์ตเฮ้าส์หน่อยเลยไหมวะ ให้เด็กจากจังหวัดต่างๆ ที่อายุเท่ากันมาเล่า ดูสีหน้าของเขาและสิ่งที่เขารู้สึก ณ ตอนนี้ แต่ไม่มีตังค์ทำ (หัวเราะ)”
“เราถ่ายฟุตเตจเด็กๆ แล้วเห็นว่าสิ่งที่ได้มาจากการนั่งคุยกับเด็กเหล่านั้น ทุกคนมีใบหน้าเดียวกัน เป็นใบหน้าแห่งความวิตกกังวล และเป็นแรงบันดาลใจแรกของหนังที่ว่าด้วยตัวละครเดียวแต่หน้าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วถ้าสังเกตดูคือ นักแสดงทุกคนในเรื่อง -แม้แต่โปสเตอร์- ไม่มีใบหน้าไหนที่มีความสุขเลย พอมันเขียนเป็นพล็อตแบบนี้ขึ้นมาได้ มันก็เหมือนว่าเรากระโดดจากเซฟโซนเหมือนกัน มีน้องคนหนึ่งมาช่วยกันคิดเรื่อง เป็นเด็กเพิ่งจบ แล้วก็ได้ ปอม-ราสิเกติ์ สุขกาล มาช่วยกำกับ มันเลยเป็นเรื่องใหม่หมดสำหรับเรา และเราก็อยากทำให้ตัวเองกระชุ่มกระชวย กระตือรือร้นขึ้น”
“ทั้งนี้ เหตุการณ์ม็อบนักเรียนในปี 2563 นี่คือเราไม่เคยเห็นเด็กมัธยมมีพลังงานและไม่กลัวขนาดนี้ เรารู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ การเห็นเด็กมัธยมทำสิ่งนี้มันทำให้เราอายมั้งที่ผู้ใหญ่ไปดึงเขาไว้ และความเละเทะทั้งหลายแม่งมาจากคนรุ่นเราหรือคนรุ่นก่อนเลยหน่อย พวกนี้นี่ตัวดีเลย แม้แต่เพื่อนเราเอง เราเป็นคนแคร์น่ะ มีเพื่อนที่อยู่ฝั่งแบบที่เห็นพวกเขาแล้วก็คิดว่า นี่มึงไม่คิดว่าจะแก่ตายในอีกไม่กี่ปีนี้เลยเหรอวะ จะไม่ให้โลกเป็นของเขาหน่อยเหรอ และจนถึงตอนนี้ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราคิดยังไงกับเรื่องความหวังว่าเรามีมันมากน้อยแค่ไหน”
คุยกับคงเดช จาตุรันต์รัศมี
19 ปีของหนังที่ทำให้เขาเศร้าและผู้คนที่ทำให้เขารัก

เห็นเคยบอกว่าเวลาทำหนัง คุณไม่เคยตั้งธงเรื่องการเมืองเป็นหลักเลย
ทุกวันนี้ เวลาเราทำหนัง เราก็ไม่ได้ตั้งธงมาก่อนนะว่าเราจะว่าด้วยการเมือง ทุกครั้งที่มีคนถามเราเรื่องนี้ เราก็ยังยืนยันคำเดิมว่าเราสนใจคนมากกว่า แต่ตั้งแต่เราเริ่มทำหนังมา มันก็มีภาวะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาเลย แม่งไม่นิ่งเลย แล้วมันไม่คืบหน้าเลยด้วย นี่ล่ะประเด็นสำคัญ
มองเป็นข้อดีไหม พอบ้านเมืองไม่นิ่งแล้วทำให้เรามีวัตถุดิบไปทำหนัง
ถ้าสำหรับหลายคนก็อาจจะบอกว่าเป็นข้อดีนะ มันทำให้เราได้แรงบันดาลใจบางอย่าง หรือมีเชื้อถึงสิ่งที่อยากจะพูด ในเชิงคนทำงานทางศิลปะไม่ว่าจะแขนงใด ตามปกติแล้วก็อยากใช้สิ่งนี้ หรือแม้แต่พี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง -ผู้กำกับภาพยนตร์) ก็เคยพูดว่า “เวลากูไปเทศกาลหนังในประเทศที่สงบสุขนี่น่าเบื่อจัง มันไม่มีอะไรจะพูดเลย” (หัวเราะ)
แต่พูดรวมๆ แล้วคือเราไม่ได้ตั้งต้นที่การเมืองก่อนเลย เหมือนเราสนใจว่ามนุษย์ในช่วงเวลานี้ หรืออาจจะตั้งที่ตัวเราเองว่าเป็นอย่างไรในสภาพการณ์นั้นๆ แค่ว่าหนังสองเรื่องคือ Where We Belong กับ Faces of Anne ตั้งธงที่คนรุ่นถัดไป ไม่ใช่ตัวเราแล้ว
ตัวละครของคุณล้วนเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยหรือชนชั้นล่างในสังคม คุณสนใจคนตัวเล็กตัวน้อยเสมอมาเลยไหม
(คิดนาน) เออแปลกเหมือนกันว่ะ เราสนใจคนเหล่านี้เพราะเมื่อเขาอยู่ในประเทศนี้ เราคิดว่าคนเหล่านี้ยิ่งต้องใช้แรงขับเคลื่อนทางจินตนาการในการรอดชีวิตมากกว่าคนรวยเสียอีก แต่ทั้งนี้เราก็เชื่อว่าคนรวยเขาก็ต้องหลบหนีเหมือนกัน เพียงแค่เขามีต้นทุนในการหลบหนีสูง เราเลยรู้สึกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยต้องใช้พลังงานในการเอาตัวรอด หลบหนีไปมากๆ
น่าสนใจว่าเมื่อก่อนหนังแบบนี้มันก็ยังทำได้อยู่ ไม่ว่าจะ ‘สยิว’, ‘เฉิ่ม’ หรือ ‘กอด’ พวกที่เล่าเรื่องชีวิตคนเล็กๆ ในบ้านเมือง และเป็นหนังสตูดิโอด้วย
ใช่! สามเรื่องแรกเราทำในสตูดิโอ! นี่แหละที่เรารู้สึกว่าช่วงสิบปีหลัง หรืออาจจะพูดว่าคือจุดหลังจากเราทำเรื่อง ‘กอด’ แล้วเปลี่ยนมาทำหนังอิสระ มันคือจุดที่เรารู้สึกว่าอุตสาหกรรมหนังเปลี่ยนไปและไม่มีพื้นที่ให้หนังบางอย่าง วิธีลงทุนของค่ายหนังต่างๆ ก็เปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการมาถึงของกล้องดิจิทัล นั่นก็เป็นจังหวะที่เรามาทำหนังอิสระพอดี
จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของวงการเลย และทำให้เรารู้สึกว่า เหี้ย สิ่งที่กูเคยทำเมื่อสามเรื่องแรก กูเอาอะไรแบบนี้ไปเสนอค่ายไหนได้อีกต่อไปแล้ว เขาคงด่าแม่กูแน่ๆ (ยิ้ม) คุณนึกออกใช่ไหม มันคือหนังแบบที่มีอะไรซึ่งผิดระเบียบนิดหน่อย ไม่เรียบร้อย เราไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร
ตอนทำหนังสามเรื่องแรก เรายังไม่ได้ทำหนังอิสระ เรายังไม่เคยทำ director statement (ถ้อยแถลงคือแถลงการณ์จากผู้กำกับ) ด้วยซ้ำไป เพราะเราไม่รู้ว่ามันต้องทำ เนื่องจากการทำหนังในค่ายยุคก่อนมันเหมือนกับการที่กูมีเรื่องนี้เลยเอาไปขายนายทุน นายทุนซื้อไหม อ้าวเขาซื้อเว้ย โอเคแม่งจบ แต่พอมาทำหนังอิสระ มันก็มีเรื่องของพวกเทศกาลหนังต่างๆ ที่ทำให้เราต้องเขียน director statement และตั้งแต่ทำหนัง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ เราต้องเริ่มกลับมานั่งเขียนหาแก่นของตัวเองว่า อ๋อ นี่มึงทำสิ่งนั้นไปเพื่อสิ่งนี้สินะ ซึ่งมันก็ดีสำหรับเรานะ เพิ่งมารู้ว่าไอ้เหี้ย ที่ผ่านมากูไม่เคยเขียนมันออกมาเลยนี่หว่า

มองสามเรื่องแรกที่เป็นหนังสตูดิโอ มาจนถึง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ที่เป็นหนังอิสระ มันต่างกันมากไหม
มันยาก ทำหนังอิสระมันไม่เคยง่ายอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการหาทุนต่างๆ นานา แต่ด้วยกระบวนการมันบังคับให้เราคิดเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเขียน director statement หรืออะไรต่างๆ มันช่วยเราเองโดยอัตโนมัติ กระบวนการคิดเรามีระเบียบมากขึ้น
ตอนนั้นคนทำหนังอาร์ตก็มีไอ้จุ๊ก (อาทิตย์ อัสสรัตน์) หรือไม่ก็พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ตอนนั้นเราตั้งคำถามกับตัวเอง เราไม่ใช่สาย Thai Short Film ขนาดนั้น คือเราทำหนังกับสตูดิโอมาตลอด ไม่ได้ไปขลุกกับฟากนั้นเลย มันเลยรู้สึกว่ากูก็ไม่ใช่คนทำหนัง independent จ๋าเสียด้วย
มันเป็นช่วงที่เราถามหาตัวเองว่าตกลงกูเป็นอะไร กูจะต้องทำหนังแบบไหนวะ คงจะพูดว่าเป็นช่วงที่มี identity crisis แบบนั้นมั้ง (หัวเราะ) มันมีความไม่แน่ใจในตัวเองว่าตัวเราคืออะไร ประกอบสร้างจากอะไร ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เราทำหนังเรื่อง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ขึ้นมา
เราว่าถ้าเราไม่ได้ทำ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ เราอาจไม่รอดมาถึงทุกวันนี้ว่ะ
ไม่รอดในแง่ไหน
(คิด) เหมือนมันเป็นจุดเปลี่ยนยังไงไม่รู้ หรือถ้าเราจะทำหนังต่อ เราก็อาจทำหนังสตูดิโอแบบที่เขาอยากให้ทำอะไร กูก็ทำไปเลย ซึ่งเราก็เห็นหลายๆ คนที่เริ่มต้นยุคเราแล้วกลายไปสู่การเป็นแบบนั้นไปเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ในที่สุดตอนนั้นเราก็ตัดสินใจว่า เราจะลองมาลุยแบบนี้ดู ซึ่งมันก็ค่อยๆ พาเรามาถึงทุกวันนี้ได้
การทำ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ มันเหมือนเราเพิ่งมารู้ว่า เราทำหนังรสชาติแบบนี้ก็ได้นี่หว่า เราเพิ่งมาพบความรู้สึกบางอย่างตอนดูหนังตัวเอง เป็นรสชาติบางอย่างที่มันอธิบายเป็นคำไม่ได้ แต่เรารู้สึกว่าเราก็ทำอะไรแบบนี้ได้เหมือนกัน และเรารู้สึกดีกับมันด้วย เหมือนก่อนหน้านี้เราอยู่ในกะลา พอได้ออกไปสำรวจข้างนอกบ้างมันก็ทำให้เรา (คิดนาน) กล้ามากขึ้นมั้ง ไม่อยากใช้คำนี้เลยเพราะมันดูยิ่งใหญ่ไป แต่มันก็ทำให้เรากล้ามากขึ้นน่ะ
คำว่ากล้านี่หมายถึงการพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมาใน ‘ตั้งวง’ ด้วยหรือเปล่า
เหตุการณ์เสื้อแดงมันสำคัญมากจนเราไม่ทำไม่ได้เหมือนกันว่ะ แล้ว ณ ช่วงนั้นมันพูดยากเพราะทุนหนังมาจากกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีโครงการเขียนหนังเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย คนอื่นก็เขียนเรื่องทอผ้า ปลูกข้าว แต่กูไม่รู้เลย และกูไม่แคร์ด้วย ตอนนั้นที่สำคัญกว่าเรื่องวัฒนธรรมไทยคือ ตอนนี้ใครมันยังแคร์วัฒนธรรมไทยอีกวะ เพราะมันมีเรื่องที่สำคัญกว่านั้นเพิ่งเกิดขึ้น

คิดว่าเบสใน ‘ตั้งวง’ ที่ผ่านเหตุการณ์ล้อมปราบ โตมาจะเป็นนพแห่ง ‘Snap’ ได้ไหม
(คิดนาน) เออว่ะ คืออาจจะไม่เดือดเท่านพหรอก เราว่าตัวละครเบสมันก็หลงทางมากๆ นะ ตอนท้ายมันก็อุตส่าห์เป็นคนที่เหมือนว่า กูอุตส่าห์จะแก้บนแล้วเนี่ยท่ามกลางเพื่อนคนอื่นๆ ที่ก็ยอมแพ้กันไปหมด การแก้บนเป็นการยอมแพ้เฉยเลย แล้วพ่อก็ออกไปร่วมชุมนุมอีกแล้ว เบสมันก็วิ่งตามออกไป มันมีความสิ้นหวังอยู่มากแหละ
‘ตั้งวง’ คือหนังเรื่องแรกที่พูดเรื่องเยาวชน คิดว่าการเมืองกับคนรุ่นหลังมันโยงเกี่ยวกันชัดมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยไหม เพราะกระแสสังคมตอนนั้น ถ้าพูดเรื่องเด็กกับการเมือง คนคงมองว่ามันไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่
เรารู้ว่าเราจะทำเรื่องรำแก้บน ซึ่งรำแก้บนที่ตลกที่สุดของเราคือเด็กที่ไปแข่งตอบปัญหาวิทยาศาสตร์แล้วต้องมาตามแก้บน มันย้อนแย้งอยู่นะ เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่กับการรำแก้บนมันย้อนแย้ง แล้วนี่คือวัฒนธรรมไทยที่เราเสนอกระทรวงวัฒนธรรมไปนะ แล้วเขาเสือกเลือกด้วย
เราคิดว่าการเมืองเกี่ยวกันกับมนุษย์ทุกคนเลย แต่เราตั้งธงไว้ตั้งแต่เขียนบทแล้วว่าตัวละครคือเด็กมัธยม เด็กมัธยมยังถูกสิ่งเหล่านี้ล้อมรอบเหมือนกัน ตัวละครอยู่ที่แฟลตซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเหตุการณ์ คือถ้าเป็นเด็กในปีนั้น มันจะไม่มีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวพันในตัวมันได้ยังไงไม่ว่ามันจะสนใจการเมืองหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้นจึงมาถึงเรื่อง ‘Where We Belong’ ซึ่งพูดเรื่องคนรุ่นใหม่ภายใต้บรรยากาศการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปล่า
หลังจากเราทำเรื่อง ‘Snap’ ด้วยความเศร้าอย่างที่สุด เราก็พยายามกลับมาความหวังมากๆ ซึ่งมันคือ ‘Where We Belong’ หรือ ‘Faces of Anne’ ที่เราเริ่มมองไปสู่อนาคตแล้วเพราะลูกเราเริ่มโตขึ้น หมายความว่าเราเริ่มเลยจากตัวเองแล้ว เริ่มสนใจโลกที่ลูกเราจะอยู่ในอนาคตมากขึ้น และเราก็เห็นว่ามันมีความเหนื่อยยากที่เขาต้องเผชิญ โดยที่มีความเศร้าและสิ้นหวังอยู่ในนั้นด้วย แต่เราพยายามจะมีความหวังกับมนุษย์มากขึ้น
คุณรู้ใช่ไหมว่า ‘Where We Belong’ กลายเป็นมีมตอนม็อบปี 2020
ใช่! พอมันกลายเป็นมีมในปีถัดมาพร้อมกระแสย้ายประเทศนี่คือ ไอ้เหี้ย! (หัวเราะ) ประโยคที่ว่า “การไปจากที่นี่ถือเป็นความฝันได้ไหมคะ” มันกลายเป็นมีมไปได้ยังไงวะ แต่ตอนเห็นครั้งแรกเราก็ไม่รู้จะพูดยังไงเหมือนกันนะ
กับเรื่องบรรยากาศและฉากหลังด้านการเมืองต่างๆ มันชวนให้รู้สึกว่าตัวละครอยู่ในภาวะไม่มีทางเลือก จนมาถึงเรื่อง Faces of Anne มันเห็นการเปลี่ยนผ่านทั้งกระแสย้ายประเทศ ทั้งนักเรียนเลว และอีกหลายๆ อย่าง เรารู้สึกเลยว่านี่คือการเคลื่อนไหวที่สำคัญมากๆ เด็กแม่งใจถึงกว่ากูมาก แล้วเราก็เจ็บปวดแทนเด็ก ไอ้เหี้ย เด็กอายุเท่านี้เองแต่ถูกเอาไปดำเนินคดีแล้ว (ถอนหายใจ)
เอาจริงๆ นะ คนเจเนอเรชันเรา โลกมันเปลี่ยนไปเร็วมาก มันทั้งน่าตื่นเต้นและก็น่ากลัว โดยเฉพาะสำหรับคนที่สมประโยชน์แล้ว โลกที่เรารู้จักจะค่อยๆ หายไป แต่เราก็ไม่เห็นด้วยมากๆ ในการจะยื้อมันไว้
ทุกครั้งที่มองว่าตอนมึงอายุ 17-18 โลกแม่งไปข้างหน้าแบบที่มึงก็ไม่ต้องการให้ใครมารั้งมึงไว้เหมือนกัน
ว่าไป ตอนนั้นคุณเป็นวัยรุ่นแบบไหน
มันมีความก้ำกึ่งอย่างที่บอกว่าเราไม่มีข้อมูลเยอะ เมื่อเกิดปัญหาอะไรสักอย่างเราจึงไม่รู้ความจริง เราได้รับชุดข้อมูลที่รัฐจัดหามาให้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราพุ่งไปข้างหน้าอย่าง individual ไม่ต้องกลัวอะไรมาก เพราะความยังไม่ท่วมท้นของข้อมูล มันไม่มีอะไรมาทำให้เราเสียโฟกัส เราอ่านหนังสือ เราอยากทำหนังเราก็ทำ เพลงแม่งน่าเบื่อมากเลย จึงต้องรวมวงกับเพื่อนแล้วทำวงดนตรีด้วยกัน วงดนตรีแม่งก็มีไม่เยอะด้วย มันทำให้เราโฟกัสและพุ่งไปได้
เราจึงรู้เลยว่าเด็กรุ่นใหม่มันเหนื่อยกว่า มันอยู่ท่ามกลางกระแสมหาสมุทรแห่งความท่วมท้นหลายอย่างที่แม้แต่เรายังเหนื่อยเลย นี่ก็อาจจะพูดแบบคนแก่พูดด้วยนะเพราะแรงเราแม่งก็น้อยแล้ว แต่การรู้เยอะนี่ก็ดีนะ มันทำให้เราไตร่ตรองมากขึ้น แต่มันก็เหนื่อยเหลือเกิน

ตอนนั้นคุณรู้สึกโลกหมุนไปเร็วมากไหม หรือยังพอรับมือได้
รับมือได้ (ตอบเร็ว) เรารู้สึกชัดเจนมากๆ เราเรียนจบ เราทำหนัง เราไม่ต้องวัดว่าเพื่อนในรุ่นไปถึงไหนแล้ว เพื่อนมหาวิทยาลัยโน้นไปถึงไหนแล้ว แต่เด็กเดี๋ยวนี้รู้จักกันหมด แล้วมันจะมีคนที่รู้สึกว่า ฉันจบมาปีนึงแล้วแต่ยังไปไม่ถึงไหนเลย แต่ทำไมไอ้คนนั้นมันไปโน่นแล้วล่ะ
เราทำงานกับเด็ก เราเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆ ซึมเศร้าเยอะมาก ตั้งแต่มาฝึกงานจนถึงพวกเด็กจบใหม่ที่มาเริ่มงานด้วยกัน พวกเขาเป็นซึมเศร้าเยอะมากเลยนะ แล้วมันก็เคว้งกันมากเลย ทั้งที่เด็กเหล่านี้ดูมั่นใจกว่ายุคเราอีกนะ มั่นใจกว่าแต่เคว้งกว่า เหมือนว่ามีความรู้สึกของการดีไม่พอๆ ตลอดเวลา ขณะที่คนรุ่นเราแม่งรู้น้อย แม่งไม่รู้ว่าดีไม่พอด้วยซ้ำ พร้อมกันนี้ก็ไม่ได้มั่นใจอะไรด้วย เราเองก็ไม่เคยมั่นใจว่าเราเก่งอะไร แต่ว่ากูก็ทำของกูไป
เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ละล้าละลัง โทษตัวเองเยอะ ซึ่งเราไม่อยากให้เขาโทษตัวเองเลยนะ อยากบอกพวกเขาว่ามึงช้าไปปีสองปีก็ไม่เป็นอะไรหรอก มึงจะพุ่งพรวดตอนอายุ 38 ก็ได้มึง แต่ทุกวันนี้เด็กหาเงินแสนกันได้เร็วมาก และคนที่ยังไม่ได้ถึงแสนก็จะรู้สึกว่า แย่แล้ว! ขณะที่คนได้ถึงแสนก็วางแผนว่าจะเกษียณตอนอายุ 30 เดี๋ยวมึง! ตอนอายุ 30 กูเพิ่งทำหนังเรื่องแรก (เกาหัว)
เราแค่รู้สึกว่า คนที่ประสบความสำเร็จเร็วก็เหนื่อยเร็วเหมือนกัน เช่น น้องทีมงานที่เป็นตากล้องของเราคนนึง อายุสักยี่สิบกลางๆ และเก่งมากๆ ยังคิดอยู่เลยว่าเด็กเดี๋ยวนี้แม่งเก่งจังเลยเว้ย จบมาแม่งขึ้นเป็นตากล้องเร็วมาก ฝีมือก็ดี ทำงานไม่หยุดอีกต่างหาก แต่เนี่ย มันบอกมันหมดไฟแล้ว แต่เดี๋ยวนะ อายุมันเพิ่งยี่สิบกว่าๆ เองไม่ใช่เหรอ แล้วตอนสัก 40 มึงจะยังไงล่ะ อย่างกูตอน 40 นี่ก็ยังไม่ได้อะไรถึงไหนเลยด้วยซ้ำนะ
เด็กเฆี่ยนตัวเองกันมากขึ้นน่ะ อยากบอกว่ามันไม่เป็นไรนะเว้ย ไม่ต้องรีบ โลกมันหมุนเร็วอยู่แล้ว แม้แต่เราที่ตอนนี้อายุ 50 บางทีเรายังเผลอเฆี่ยนตัวเองจนต้องถามว่า ทำไมกูต้องทำขนาดนี้ล่ะ
หนังที่ผ่านมาพูดเรื่องคนต่อสู้กับความสิ้นหวังเยอะมาก อยากลองทำหนังที่มีความหวังสักเรื่องไหม
เราอยากจะมีความหวังมากเลย ทำยังไงดีวะ (หัวเราะ) นี่พูดจริงๆ นะ เราอยู่ในประเทศที่ไม่ไปไหนมาจะยี่สิบปีแล้วนะ เราจำได้ตั้งแต่ลูกเราเกิดมายังไม่ถึงขวบดี แม่งมีรัฐประหาร และเราว่าทุกอย่างมันหยุดตั้งแต่ตอนนั้น รัฐไม่ได้กลายเป็นรัฐแบบที่ควรจะเป็นมาตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าเรายังข้ามตรงนี้ไปไม่ได้สักที เราก็จะเห็นเมืองแช่แข็ง และผู้คนก็จะถูกแช่แข็งไปด้วย แล้วเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาในเวลานั้น ทั้งชีวิตเขาไม่เคยได้รับรู้เรื่องที่มีความหวังจากรัฐเลยนะ ไม่เคยเห็นสิ่งที่รัฐควรจะต้องทำเลยสักครั้ง ใครจะไปทนได้วะ