ก้อง ฤทธิ์ดี: เมื่อภาพยนตร์ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจและการสร้างสรรค์ไม่เกิดบนการเซนเซอร์

ท่ามกลางดราม่า ‘เทโรง-ตัดราคา-ลดรอบ’ ของโรงหนัง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคมและแบ่งฝักฝ่ายหลายขั้ว บ้างก็ว่าโรงหนังเขาทำธุรกิจ การเทโรงเพื่อหนังฟอร์มยักษ์จึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่บางเสียงก็ว่า นี่เป็นการทำลายหนังไทยและไม่ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมของประเทศ

นอกจากประเด็นเหล่านี้ ยังมีเรื่องการเซนเซอร์หนัง คุณภาพของเนื้อหาหนังไทย ไปจนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งสะท้อนภาพใหญ่ของระบบนิเวศหนังไทย 101 ชวน ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์หนัง รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ ในรายการ 101 One-on-One Ep.294 วงการหนังไทยไปไกลกว่านี้ได้ไหม? กับก้อง ฤทธิ์ดี

รากของปัญหาที่เป็นอยู่คืออะไร ทิศทางวงการหนังไทยควรไปทางไหน และมีอะไรที่เป็นคอขวดอยู่บ้าง

YouTube video

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวในวงการภาพยนตร์ทั้งเรื่องการตัดรอบ การเทโรง การเซนเซอร์เนื้อหา เรื่องเหล่านี้สะท้อนอะไรบ้าง

เป็นเรื่องที่เราพูดกันมานานมาก ประเด็นอาจจะแตกต่างออกไป แต่หลักๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ วงการหนังไทยเหมือนจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่ก็ไม่ทะยานออกไป ถอยกลับมาอย่างนี้อยู่หลายครั้ง

ข่าวต่างๆ ฟังดูก็เหนื่อยใจ อย่างเรื่องเซนเซอร์ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานมากๆ มีการต่อสู้ มีการเรียกร้อง มีการอธิบายด้วยเหตุผล มีทั้งโมโหกัน มีทั้งตั้งกลุ่มเพื่อที่จะเรียกร้องเพื่อนำมาซึ่งกฎหมายใหม่ มีตัวอย่างอะไรมากมาย แต่พอมีปัญหามันก็แทบจะกลับไปเป็นปัญหาเดิม

ส่วนเรื่องเทโรงก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคหนังมาร์เวล ผมไม่ได้บอกว่าหนังมาร์เวลเป็นผู้ร้าย แต่มันครอบงำรสนิยมคนเสียจนกระทั่งเบียดบังอย่างอื่นไป

ประเด็นการเทรอบเทโรงให้หนังใหญ่ๆ เรื่องเดียว ก็จะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เขาให้เหตุผลว่า ‘ก็โรงหนังเขาทำธุรกิจ’ คำพูดนี้เป็นเหตุผลแค่ไหน

เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์เป็นสินค้า เพราะว่ามันมีการสร้าง มีการลงทุน มีการขาย มีการเอากำไรกลับคืน แต่ขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เป็นศิลปะแบบหนึ่ง มันมีสเปกตรัมอันกว้างขวาง การที่เราบอกว่าโรงหนังเขาทำธุรกิจ มันถูกแค่หนึ่งสเปกตรัม

ภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) แน่นอน แต่เวลาพูดคำนี้น้ำหนักอยู่ที่คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ หรือคำว่า ‘สร้างสรรค์’ ซึ่งผมคิดว่ามันควรจะเท่ากัน เวลาเราบอกว่า ‘โรงหนังเขาทำธุรกิจ’ เท่ากับว่าเราพูดถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่เราตัดคำว่า ‘สร้างสรรค์’ ออก แล้วเอาแค่คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ อย่างเดียว ซึ่งมันก็ไม่น่าจะถูก

ใช่ครับ โรงหนังทำธุรกิจ ไม่ผิด แต่ว่ามันอาจจะถูกแค่ 20 หรือ 30 เปอร์เซ็น แล้วอีก 70 เปอร์เซ็นเราจะพูดถึงไหม

ถ้าเราต้องการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของประเทศให้รุ่มรวย มีอารยะขึ้น หน่วยงานรัฐเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลได้ไหม เช่นกำหนดมาเลยว่าโรงควรจะมีรอบฉายหนังไทยกี่เปอร์เซ็น

เรื่องสกรีนโควตา (screen quota) มีตัวอย่างคือที่เกาหลี เขามีระบบสกรีนโควตามา 30-40 ปีแล้ว กำหนดเลยว่าโรงหนังเกาหลีจะต้องมีหนังเกาหลีกี่รอบกี่วัน

ในแง่ของผู้ผลิตก็คิดว่าการใช้สกรีนโควตาน่าจะเวิร์ก คนทำหนังไทยต้องการสิ่งนี้เพื่อให้โรงหนังไทยฉายหนังไทยมากขึ้น แต่ในฝั่งคนดูค่อนข้างจะต่อต้านพอสมควร คนดูก็จะบอกว่า เขามีสิทธิเลือกว่าจะดูอะไร ซึ่งเหตุผลฟังได้ทั้งสองฝั่ง อยู่ที่ว่ารัฐจะเลือกอุดมการณ์ไหน

ส่วนตัวคิดว่าสกรีนโควตามีประโยชน์ แต่คิดว่าช้าไปแล้วที่จะนำมาใช้ตอนนี้ ถ้าเราคิดสิ่งนี้ได้เมื่อ 10-20 ปีก่อน ช่วง พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่หนังไทยได้รับการสนับสนุนจากคนดูมากพอสมควร คนดูมีความมั่นใจในหนังไทย การมีสกรีนโควตาตั้งแต่ตอนนั้น คนดูน่าจะไม่ต่อต้าน

พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ปี 2551 ระบุให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติมีหน้าที่จัดสัดส่วนภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศอยู่แล้ว มองว่าเรื่องนี้มีการใช้จริงมากน้อยแค่ไหน

ก็อย่างที่เห็นว่ามันไม่ค่อยถูกใช้ กฎหมายควรจะต้องส่งเสริม ซึ่งเขาก็ส่งเสริมนะ เช่น ไปจัดบูธตามตลาดหนัง พาคนทำหนังไปเสนอไอเดียอะไรแบบนี้ก็มีนะครับ ส่วนที่ดีก็ต้องบอกว่าดี แต่ว่าการส่งเสริมต้องทำระยะยาวจึงจะเห็นผล

ถ้าถามคนทำหนังไทยจริงๆ เรื่องการจัดโควตาฉาย เขาก็อาจจะบอกว่าดี คือการันตีไปเลยว่าหนังไทยต้องฉายอย่างน้อย 10-14 วัน มันก็อาจจะช่วย แต่อย่างที่บอกว่าถ้าใช้ระบบโควตาตอนนี้จะช้าไปไหม คนดูจะสนับสนุนไหม โรงหนังจะยอมไหม ผู้เล่นต่างๆ จะยอมแค่ไหน

ที่บอกว่าช่วง พ.ศ. 2540 เป็นช่วงพีของหนังไทย แล้วเกิดอะไรขึ้น มีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้วงการหนังไทยไม่ไปอย่างที่ควรจะเป็น

ตอนนั้นวงการหนังไทยมีความตื่นเต้น สายคอมเมอเชียลมีหนังดังๆ ได้เงินเยอะแยะ อย่าง 2499 อันธพาลครองเมือง (1997), สตรีเหล็ก (2000), ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ(2004) ฝั่งหนังอาร์ตก็มีหนังของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นเอก รัตนเรือง หลายๆ คน ค่อยๆ ไล่มา

มันพีกอยู่ มีหนังหลากหลายแนว หนังหลายเรื่องในตอนนั้นถ้ามาเล่าพล็อตตอนนี้ ทุกคนคงจะ ‘อุ๊ยตายแล้ว สร้างได้ยังไง?’ มาพูดตอนนี้มันคงไม่ได้สร้างหรอก แต่ตอนนั้นมันได้สร้าง เพราะมีความเปิดกว้างมากกว่า เช่นหนังเรื่องแรกๆ ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี อย่างสยิว (2003) หรือเฉิ่ม (2005) มันก็ดราม่าและมีความคิดแปลกๆ หนังแบบนี้ได้สร้างได้ยังไง อย่างคืนไร้เงา (2003) ของพิมพกา โตวิระ ไอ้ฟัก (2004) ของพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ หรือแม้แต่สัตว์ประหลาด (2004) ของอภิชาตพงศ์ ก็มีบริษัทของไทยสนับสนุนด้วยหนึ่งส่วน ซึ่งในปัจจุบันคงแทบจะยากมากที่หนังแบบนี้จะได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจ

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการหนังไทยค่อนข้างมีความตื่นเต้น มีความหวัง จุดสำคัญคือคนดูเกิดความมั่นใจในหนังไทย มีความภูมิใจนิดๆ ในหนังไทย แล้วหนังไทยเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ไปฉายเมืองนอก ได้รางวัลจากเมืองนอก แต่ที่กระแสลดลงไปอาจเป็นเพราะว่าโมเมนตัมมันไม่ต่อเนื่อง มีความตื่นเต้นฮือฮาอยู่ซัก 6-7 ปี แล้วไม่มีคลื่นใหม่มาแทนทัน เช่นปีนี้อาจจะมีหนังดรอป หนังไม่ค่อยดี พอสองปีติดกันคนดูก็เริ่มถอยแล้ว จะบิวด์กลับมาก็เริ่มยาก เทียบกับเกาหลีเขาไม่มีลดลง เกาหลีขึ้นมาพร้อมๆ กับเรา ในปลายทศวรรษ 1990 ผู้กำกับดังตอนนั้นคือ ปาร์ค ชาน-วุค แล้วช่วงต้น 2000 ก็มี บง จุนโฮ เกาหลีมีคลื่นลูกใหม่ตลอด ทุกปีจะมีหนังที่ขายตั๋วได้สิบกว่าล้าน อาจจะเป็นเพราะเกาหลีพร้อมสร้างคนรุ่นใหม่หรือเปล่า อันนี้เราก็ต้องมาดูตัวเองว่าเราสร้างคนรุ่นใหม่พอไหม

คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความฝันอยากทำหนัง อยากเป็นผู้กำกับ แล้วไม่มีคนที่ได้ทำหนังดีๆ เลยเหรอ

มีเยอะ ถ้าดูเทศกาลหนังสั้นจะเห็นว่ามีนักศึกษาที่ทำหนังสั้นดีๆ เยอะมาก ต้องมาดูหนังสั้นที่ฉายที่หอภาพยนตร์ จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้หนังสั้นนักศึกษาก็ทำยาวขึ้น ระดับหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงกว่า หลายๆ เรื่องคุณภาพโอเค หลายๆ เรื่องดีเทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าหนังบางเรื่องที่ฉายในโรงด้วยซ้ำ

หนังไทยบางเรื่องที่ได้ฉายในโรงถูกตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่าบทผ่านจนนำไปสร้างเป็นหนังได้ยังไง เพราะบทแย่มาก ทำไมคนทำหนังดีๆ ที่มีตั้งเยอะไม่ได้รับโอกาสในการทำหนังฉายโรงใหญ่

รสนิยมคนก็เดายากจริงๆ แม้แต่ผู้สร้างเองก็ตาม ถ้าผู้สร้างสามารถรู้รสนิยมคนได้ว่าแบบไหนคนจะชอบ เขาก็คงรวยกันหมด แต่เขาก็ควรจะรู้เพราะว่าเขาอยู่กับตลาด เขามีข้อมูล มีตัวเลข ว่าทำหนังแบบไหนคนดูน่าจะชอบ เขาก็ยังทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

เรื่องคุณภาพมีปัญหาไหม…ก็อาจจะเป็นได้ เราก็อาจจะต้องการคนเขียนบทดีๆ โปรดิวเซอร์ดีๆ นายทุนดีๆ ซึ่งพร้อมจะให้โอกาสบทดีๆ ที่ไม่โหล ไม่ซ้ำซาก

ขณะเดียวกันหนังที่บอกว่าซ้ำซาก แต่ถ้าทำดีๆ มันก็ต้องทำ วงล้อต้องมีน้ำมันคอยหล่อลื่นให้หมุนไป น้ำมันที่ว่านั้นอาจเป็นอะไรที่โหลๆ หน่อย หนังตลก หนังรัก แต่ถ้าทำดีๆ วงล้อก็จะหมุนไป และเราก็จะมีโอกาสที่จะมีหนังประเภทอื่นๆ เข้ามาในวงล้อ อาจจะเป็นหนังอาร์ต หนังวัฒนธรรม หนังที่ตั้งคำถาม หนังการเมือง ฯลฯ เพียงแต่ตอนนี้วงล้อมันหมุนบ้างหยุดบ้าง เขาก็เลยไม่กล้าจะเอาอะไรใส่เข้ามามาก ก็ต้องเติมน้ำมันเดิมๆ ซึ่งน้ำมันอาจจะดำแล้ว ถ่ายน้ำมันออกมาแล้วก็เติมกลับเข้าไปใหม่ มันอาจจะยังต้องใช้แบบนี้อยู่

หนังไทยหลายเรื่องต้องไปออนทัวร์ฉายทั่วโลกก่อน จึงจะมีโอกาสได้รอบฉายในประเทศไทย หนังไทยหลายเรื่องคนต่างประเทศมีโอกาสได้ชมก่อนคนไทย มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

บางทีมันก็เป็นการตัดสินใจของคนทำนะ เป็นหนึ่งในการทำการตลาดของเขา ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากเข้าโรงไทย เขาก็อยากเข้า แต่ว่าหนังบางเรื่องมีแรงดึงดูดต่อตลาดโลกด้วย เขาก็เลือกใช้วิธีนั้น เช่นไปเปิดตัวเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ก็มีนักข่าวเยอะ มีสื่อ มีคนที่ไปซื้อหนังจากต่างประเทศ คนกลุ่มนั้นก็จะเห็น เขาก็มีโอกาสที่จะเอาหนังเหล่านี้ไปเผยแพร่ สร้างกระแสให้ตื่นเต้นแล้วค่อยกลับมาเมืองไทย

ไม่ใช่แค่หนังไทยนะ หนังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายๆ เรื่องที่เป็นลักษณะเดียวกันก็ทำแบบนี้

เรื่องบทภาพยนตร์ไทย ในภาพรวมคุณภาพใช้ได้แล้วหรือยัง มีจุดเด่นอะไรที่สามารถต่อยอดไปได้

ก็มีดีๆ เยอะนะ บทหนัง GDH ส่วนใหญ่ก็ผ่านการเคี่ยวกรำมาจนมีคุณภาพที่โอเค ถึงแม้บางเรื่องอาจจะถูกรสนิยมหรือไม่ แต่คุณภาพค่อนข้างโอเคประมาณหนึ่ง แม้แต่หนังตลกบางเรื่องที่เราคิดว่ามันดาดๆ พอไปดูบทจริงๆ ก็พอใช้ได้นะ อาจไม่ได้ดีเทียบเท่ากับเกาหลีหรือฮอลลีวูด แต่ที่ดีมันก็มี

เราต้องให้โอกาสบทที่ดีได้ถูกทำออกมาจริงๆ มากกว่านี้และเราต้องมีโครงการที่จะปั้นให้บทดีๆ มีมากขึ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีมากขึ้น สอนเขียนบทที่นั่นที่นี่

หน่วยงานรัฐควรเข้ามาส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างไร

เวลาพูดถึงการให้รัฐมาสนับสนุน คนมักคิดภาพเกาหลีอีกเช่นกัน เช่นให้เงินทำหนังเลยไหม หรือรัฐเปิดโรงหนังเองไหม ภาพมันจะไปแนวนี้ ไม่ใช่ภาพแบบส่งเสริมหนังอันหลากหลาย ในไทยตอนนี้หน่วยงานที่ให้ทุนก็มี แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ พอรัฐอยู่ต้นน้ำ มันจะมีปัญหาอื่นตามมา เช่น หลักเกณฑ์ อุดมการณ์ และทัศนคติที่ปกคลุมอยู่ในราชการไทย พูดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณทำหนังด่ารัฐบาลแล้วไปขอตังค์เขามันจะได้ไหม หรือทำหนังเกี่ยวกับโสเภณีคุณจะได้เงินสนับสนุนไหม

ส่วนตัวเชื่อว่าการสนับสนุนที่ปลายน้ำเหมาะสม คือการพัฒนาคนดู ผมเห็นด้วยถ้าจะมีโรงหนังที่รัฐสนับสนุนให้มีการฉายหนังหลายประเภท ให้คนดูมีรสนิยมที่หลากหลาย เช่น คุณไปช่วยโรงหนังเล็กๆ ให้ได้สิทธิพิเศษ ถ้าเขาฉายหนังหลากหลาย เช่น Doc Club ที่เขาพยายามจะเป็นคอมเมอเชียลและส่งเสริมหนังที่หลากหลายด้วย กรณีแบบนี้จะมีการวางกฎเกณฑ์ที่รัฐไปช่วยสนับสนุนระดับหนึ่งได้ไหม หรือว่ารัฐจะสร้างโรงภาพยนตร์เอง เป็นโรงของรัฐหรือกึ่งรัฐ อย่างหอภาพยนตร์ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ เราจึงฉายหนังทุกแบบและให้ดูฟรี มีการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์ เราเสริมสร้างให้คนมีความรู้ เปิดโลกทัศน์ภาพยนตร์ แล้วรัฐจะทำแบบนี้กับที่อื่นได้ไหม หรือจะไปร่วมกับคนที่เขาทำอยู่แล้ว ต่างจังหวัดมีกลุ่มฉายหนังเยอะแยะ รัฐก็ไปสนับสนุนสิ วิธีการสามารถออกแบบได้ แต่ว่าเป้าสุดท้ายคือสนับสนุนคนดู สร้างฐานคนดู สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพอรัฐเข้ามา บทบาทกลายเป็นกำกับดูแลเรื่องเนื้อหา แต่ไม่ได้ส่งเสริมสร้างสรรค์อุตสาหกรรมให้ดีขึ้น?

ต้องมานิยามว่า ตกลงคุณจะกำกับดูแลหรือส่งเสริม มันต่างกันเยอะ เรามองว่าควรจะส่งเสริม ไม่ใช่การกำกับ ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายมาตราจำนวนมากที่เกี่ยวกับการควบคุมและกำกับ นั่นไม่ได้นี่ไม่ได้ แต่พอส่งเสริมแทบจะไม่มี เขียนไว้กว้างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะส่งเสริมเมื่อไหร่ หรือส่งเสริมรูปธรรมยังไง

การสนับสนุนให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจริงๆ ควรทำยังไง เราพูดเรื่องนี้กันมาเยอะมากๆ ยังควรต้องพูดเรื่องนี้กันอยู่ไหม

ซอฟต์พาวเวอร์ก็เป็นคำ buzzword ที่พูดแล้วมันดูดี ดูทันสมัย แต่ถ้าเราจะแทนคำนี้ด้วยคำอื่นได้ไหม เช่นเราพูดไปเลยว่าส่งเสริมการแสดงออกอันหลากหลาย หรือคำว่าส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งคำว่าวัฒนธรรมนี่ก็เข้าใจยากแล้ว แต่คำว่าซอฟต์พาวเวอร์นี่เข้าใจยากกว่าอีก เพราะแต่ละคนก็มีภาพกันคนละอย่าง

ซอฟต์พาวเวอร์มาพร้อมคำว่าความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราส่งเสริมการสร้างสรรค์แปลว่าเราต้องเปิดกว้างให้คนคิด แต่ถ้าซอฟต์พาวเวอร์แล้วยังนั่นไม่ได้นี่ไม่ได้ มันก็มีความลักลั่น มันก็จะกลายเป็น ‘ไม่จริงใจ’ ไป หลายๆ ครั้งมันถูกตีความเป็นความไม่จริงใจ เช่นคุณไปพูดไม่ดีกับมิลลิ แล้วพอเขาไปโปรโมตข้าวเหนียวมะม่วงก็ไปอวยกันอย่างกับอะไร

ถ้าเปิดกว้างก็คือต้องเปิด คนที่เขาแสดงออกทางไหนก็ให้เขาแสดงออก เกาหลีนี่เขาด่ารัฐบาลกันไม่รู้จะยังไงแล้ว ในขณะเดียวกันเขาก็ทำหนังรักโรแมนติกจิกหมอน มันก็มีทั้งสองอย่างได้ ซอฟต์พาวเวอร์ต้องแบบนั้น ไม่ใช่พูดว่าอยากจะเอาแบบเกาหลี แต่พอเกาหลีทำหนังลอบสังหารผู้นำ หนังประท้วงกวางจู ทำไมเขาทำได้ แต่ของไทยยังไม่ต้องถึงกับเรื่องประท้วงหรอก แค่หนังโสเภณีก็เครียดกันแล้ว คือคุณไม่เปิดกว้างพอ

ล่าสุดมีประเด็นเซนเซอร์เรื่องหุ่นพยนต์ด้วยเหตุผลเรื่องทางศาสนา มองประเด็นนี้อย่างไร ทั้งที่เราก็มีระบบการจัดเรตติ้งอยู่แล้ว

ในความเห็นส่วนตัวก็คือ ระบบเรตติ้งมันดี แต่ก็มีความลักลั่นอย่างมาก คือเรายังมีการแบน ทั้งที่เมื่อมีเรตติ้งแล้วไม่ควรแบน การจัดเรตติ้งแปลว่าคนทำควรยอมรับว่าถ้ามีฉากเหล่านั้นต้องได้เรตนี้ แต่ไม่ต้องไปตัดออก เพียงแต่ว่าได้เรตนี้นะ ยอมรับได้ไหม ไม่ใช่บอกว่าให้ไปตัดฉากตรงนี้ตรงนั้นก่อนแล้วค่อยยื่นมาใหม่ถึงจะได้เรตนั้นเรตนี้

ยกตัวอย่างอเมริกา เรตสูงสุดคือ NC-17 คือรุนแรง เลือดสาด แต่ NC-17 ไม่ได้แปลว่าแบน คุณฉายได้ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องตัดอะไรสักฉาก แต่คุณต้องไปดีลกับโรงเองว่าโรงจะยอมฉายไหม ถ้าหาโรงได้ก็ฉายไปตามสะดวก แต่ถ้าผู้กำกับเห็นว่าได้เรต NC-17 เดี๋ยวคนจะไม่มาดู ไปตัดเองก็ได้วะ เพื่อให้ได้เรต R อันนี้คือเขายอมตัดเองเพื่อจะให้ได้เรตต่ำลง แต่ไม่มีการบังคับอะไรทั้งสิ้น นี่คือจุดที่แตกต่าง

ส่วนคณะกรรมการเรตติ้ง ผมคิดว่าหลักๆ ควรจะเป็นคนจากเอกชนมากกว่า ไม่ควรจะเป็นคนของรัฐเป็นหลัก เพื่อให้เกิด self-regulating อุตสาหกรรมจะต้องประคับประคองดูแลกันเอง ถ้าดูแลกันเองแล้วมีปัญหาก็ไปฟ้องเอา ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ทำความผิดแต่ไปห้ามๆๆ ถ้าเขาทำแล้วแล้วมันผิดก็มีกฎหมายอื่นอีกมากมายที่จะไปฟ้องได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเซนเซอร์ไม่เวิร์กครับ แบนไม่เวิร์กครับ

อย่างเรื่องพระไม่โกนคิ้ว ไปไล่ดูหนังพระได้เลยมีเรื่องไหนโกนคิ้ว ก็ไม่มีใครโกน คุณจะไปบอกให้เขาโกนทำไม มันดับเบิลสแตนดาร์ด บางครั้งมันถึงขั้นกลั่นแกล้ง มันไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้

หลักการง่ายๆ เลยคือจัดเรตติ้งแล้วไม่ควรตัด

หากเราต้องการพัฒนาหนังไทยหรือทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น ปัญหาล็อแรกที่เราต้องปลดคืออะไร

ล็อกแรกคืออยากให้โรงหนังฉายหนังมากขึ้น เรื่องนี้คิดว่าทำได้เลย เราเชื่อในความหลากหลาย ทุกอย่างควรจะได้รับการแสดงออกมา แล้วคนดูควรมีทางเลือก เพราะฉะนั้นโรงหนังก็ควรจะฉายหนังที่หลากหลาย

คู่แข่งของโรงหนังตอนนี้อาจจะเป็นสตรีมมิง ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องความสะดวกสบายแล้วมันมีความหลากหลาย คุณจะดูอะไรก็ได้ในนั้น เราเห็นอยู่ว่าความหลากหลายมันช่วย โรงหนังก็น่าจะมองเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน มันอาจจะเจ็บปวดตอนแรก เช่นเรื่องนี้อาจไม่มีคนดูเลย แต่เราเชื่อเรื่องการให้คนดูมีโอกาสเข้าถึงหลายๆ สิ่ง ให้ลองชิมให้ลองดูหลายๆ อย่าง อาจจะยังไม่เห็นผลในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ในระยะยาวคนดูที่เติบโตขึ้นมาจะดีต่อธุรกิจนี้แน่นอน

ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ มีรัฐบาลที่ไม่ได้สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร การสนับสนุนจะดีขึ้นไหม

มันก็น่าจะดีขึ้น แต่อาจไม่ง่ายอย่างนั้น พูดตรงๆ คือต่อให้เป็นคนที่ดูมีความหัวก้าวหน้า มีความเปิดกว้าง แต่พอพูดเรื่องวัฒนธรรม บางทีก็ยังมีความ ‘เฮ้ย อะไรวะ?’ อยู่…เราอาจจะหวังมากไป แต่แน่นอนว่าต้องมีจุดเริ่มต้นก่อน

ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบันเทิงเกาหลี เขามักจะนับตอนที่เกาหลีโค่นเผด็จการลงได้ ตอนที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน กระแสความคิดก็เบ่งบานตามไปด้วย โอกาสที่จะเปิดกว้างทางความคิดก็มากขึ้น ไม่ว่าความคิดอะไรก็ตาม ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มสนับสนุนวัฒนธรรมจริงจัง กฎหมายเซนเซอร์ก็ถูกปรับลดลงกว่าเดิม รัฐสามารถวางบทบาทตัวเองได้ว่าฉันจะสนับสนุน อาจจะมีการกำกับดูแลนิดหน่อยไม่ให้มันเลยเถิด แต่โดยรวมๆ แล้วคือปล่อย

เกาหลีก็ยังมีมีเดียบอร์ด แต่เป็นเอกชน ไม่ใช่นายทหารหรือตำรวจ เขาเขียนไว้เลยว่าเอกชนจะต้องนำและรัฐจะต้องประคอง เวลาตั้งตำแหน่งต่างๆ เช่น กรรมการเซนเซอร์ของเกาหลี ลองไปไล่ดู เขาก็เป็นผู้กำกับหนัง ไม่ใช่เป็นใครก็ไม่รู้

สุดท้ายในสถานการณ์เช่นนี้ต้องการพูดอะไรกับคนในแวดวงหนังไทย

ช่วงนี้อาจจะมีข่าวไม่ดีติดๆ กัน แต่เชื่อว่ามันไม่ได้แย่ไปเสียทุกอย่าง ฝ่ายเอกชน ฝ่ายสตรีมมิง ฝ่ายคนดูก็รู้แหละว่าอะไรเป็นอะไร ฝ่ายรัฐก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร การขยับเขยื้อนอาจจะช้าหน่อย

เรากำลังจะมีเลือกตั้งใหม่ เมื่อก่อนไม่มีใครพูดเรื่องนี้ตอนหาเสียงหรอก 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครหาเสียงด้วยการบอกว่าหนังไทยจะเป็นยังไง หรือเพลงไทย แฟชั่นไทย วรรณกรรมไทยจะเป็นยังไง ไม่มีใครพูด แต่เดี๋ยวนี้มีคนพูดแล้วทุกพรรค เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ผมสนับสนุนเลยว่าในวงพูดคุยไหนที่มีนักการเมือง ให้แต่ละคนไปถามเลยว่าเรื่องเหล่านี้จะเอายังไง ปัญหาเป็นแบบนี้ เป็นคำถามที่จะต้องตอบให้ได้ เพราะว่าเราไม่มีอำนาจอะไร เราทำในส่วนของเราเล็กๆ น้อยๆ แต่เราต้องจี้คนที่เขามีอำนาจไปทำและต้องทำให้มั่นใจว่าเขาเข้าใจอย่างที่พวกเราเข้าใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save