fbpx

อ่านศาสนากับการเมือง: อำนาจ ศักดินา และเกมความเชื่อ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไลฟ์สดผ่านทางโซเชียลมีเดียของ ‘2 พส.’  (พระมหาไพรวัลย์ – พระมหาสมปอง) ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาปลุกให้หลายคนหันกลับมาสนใจศาสนาหรือเรื่องธรรมะอีกครั้ง ทั้งด้วยการใช้ช่องทางเฟซบุ๊กที่เข้าถึงคนจำนวนมาก หรือการสอนธรรมะที่มีมุกตลกสอดแทรกทำให้เข้าใจง่าย รวมถึงพูดเรื่อง ‘การเมือง’ ซึ่งอาจไม่เห็นบ่อยนักในวงการสงฆ์

แต่แน่นอน เมื่อมีกระแสชื่นชมก็ต้องมีคนวิพากษ์วิจารณ์ คนจำนวนหนึ่งมองว่าการกระทำของ 2 พส. เป็นการกระทำที่ไม่สำรวมหรือไม่เหมาะสมจนนำไปสู่กระแสการจับสึก ประกอบกับเรื่องการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกมาบอกว่า “ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล” ก็ทำให้เรื่องพระเรื่องเจ้ากลายเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงมากขึ้น พร้อมกับการเปิดเปลือยมิติของความเป็นการเมือง อำนาจ และศักดินา ที่ฝังรากลึกอยู่ในศาสนามาอย่างยาวนาน

101 ชวน ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง’ มาคุยประเด็น ‘เรื่องพระเรื่องเจ้า’ กันอย่างถึงแก่น ไล่เรียงตั้งแต่กระแส 2 พส. การมองอำนาจและศักดินาที่อยู่ในศาสนา ไปจนถึงการย้อนมองและวิพากษ์วิจารณ์ศาสนากับรัฐไทย

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.243 ศาสนา การเมือง และเกมความเชื่อ กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

ในระยะที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราเห็นกระแสหลายอย่างในวงการสงฆ์ ทั้งการที่พระไปม็อบ กระแส ‘2 พส.’ (พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง) ที่ออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กและมีผู้ชมเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ทั้งกระแสชื่นชมและคำวิพากษ์วิจารณ์ และยังมีกระแสเกี่ยวกับการจับสึกที่ตามมา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ช่วงนี้เราเห็นประเด็นเกี่ยวกับพระเยอะพอสมควร ทั้งเรื่องการโยกย้ายเจ้าคณะระดับจังหวัดหรือเรื่องของพระสงฆ์ 2 รูปที่กล่าวถึงไป หรือถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องพระสงฆ์กับม็อบซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียอีก แต่จุดพีกของเรื่องนี้อยู่ที่ตอนหลวงพี่สองรูปออกมาและมีกระแสการจับสึก โดยใช้อำนาจหน้าที่พระสังฆาธิการระดับผู้บังคับบัญชา ทำให้คนเริ่มสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น

ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่า กระบวนการสึกพระถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในทางการเมือง เพราะคุณจะลงโทษพระอย่างไร จะไปจับโบยหรือขังคุกก็ไม่ได้มีกฎการลงโทษแบบนั้น การลงโทษพระที่รุนแรงที่สุดจึงเป็นการจับสึก แต่เรื่องการจับสึกก็มีการซ้อนทับกันอยู่อีก เพราะในแง่หนึ่ง การสึกอยู่ในกฎเกณฑ์พระวินัยอยู่ว่าการกระทำแบบไหนต้องสึก และมีเรื่องกฎหมายบ้านเมืองซ้อนทับเข้าไป คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้วจะเอาอำนาจไหนจับพระสึก เพราะฉะนั้น เราต้องคุยกันว่าการสึกพระเป็นการลงโทษที่ทำได้ด้วยกฎเกณฑ์อะไรบ้าง เพราะสำหรับชีวิตพระ การสึกถือว่าร้ายแรงมาก เป็นเรื่องการสูญเสียโอกาส สูญเสียอายุพรรษาที่สะสม และสูญเสียสถานภาพหลายอย่าง

แล้วการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก หรือการเล่นมุกตลกต่างๆ ที่คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สำรวม แบบนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้จับพระสงฆ์สึกได้ไหม

ถ้าอิงตามพระวินัย โทษที่จะทำให้ต้องสึกมีทั้งหมด 4 เรื่องหรือที่เรียกว่าปาราชิก จริงๆ ถ้ากระทำความผิด 4 อย่างนี้ก็จะหมดความเป็นพระไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องจับสึกเลย ประกอบด้วย การเสพเมถุนไม่ว่ากับเพศใด ฆ่ามนุษย์ ลักทรัพย์ และสุดท้ายคือการอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวเอง เช่น บอกว่าระลึกชาติหรือเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ถ้าอวดอ้างคุณสมบัติที่มีในตัวเองจริงๆ ก็ถือว่าเป็นความผิดแต่เล็กน้อย

กฎเกณฑ์การจับสึกตามพระวินัยมีเท่านี้ แต่บางทีจะมีเรื่องกฎหมายบ้านเมืองเข้ามาด้วย เช่น พระเมาเหล้า ซึ่งเป็นความผิดเล็กน้อยในพระวินัย แต่เราจะเห็นว่าพระโดนจับสึกเพราะเรื่องนี้บ่อย โดยจะอ้างเหตุผลว่าเพราะโลกจะติเตียนเอา หรือศัพท์ทางพระจะเรียกว่าโลกวัชชะ แปลว่าการทำผิดบ่อยๆ ให้โดนติเตียน ก็จะให้อำนาจเจ้าคณะหรือผู้บังคับบัญชาในการสึก ตรงนี้แสดงให้เห็นการที่บ้านเมืองเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจับพระสึก นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นคือพระที่ไม่มีสังกัด จะเท่ากับเป็นพระเถื่อน ไม่มีใบรับรอง ก็จะโดนจับสึกเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ถามว่าการเล่นตลกโปกฮาต้องจับสึกไหม ไม่ครับ ไม่ว่าจะอิงตามพระวินัยหรือกฎหมายก็แล้วแต่ ส่วนเรื่องรีวิวสินค้าก็ไม่ได้เป็นโทษหนักร้ายแรงถึงขั้นต้องจับสึกเช่นกัน เป็นโทษเล็กน้อยเท่านั้น

จากที่คุณบอกว่าเจ้าคณะหรือผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการสึก ตรงนี้ฟังดูคล้ายกับว่ามีเรื่องของยศหรือศักดิ์ในวงการพระด้วย

ต้องบอกก่อนว่าเป็นพระไทยนี่ลำบากนะ อาจจะยิ่งกว่าทหารเสียอีกในแง่ระบบการบังคับบัญชา เพราะพระต้องอยู่ทั้งใต้พระวินัย 227 ข้อ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่เป็นกฎหมายของพระโดยเฉพาะ และยังอยู่ใต้สายการบังคับบัญชาอีก พูดให้เห็นภาพคือถ้าคุณเป็นพระลูกวัดก็จะต้องอยู่ใต้อำนาจเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสก็อยู่ใต้อำนาจของเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะตำบลอยู่ใต้เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภออยู่ใต้เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดก็อยู่ใต้เจ้าคณะภาคอีก เรียกได้ว่าเป็นลำดับการควบคุมคล้ายข้าราชการเลย อยู่ทั้งใต้พระวินัย กฎหมาย และมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรสูงสุดของพระตามกฎหมาย ยังไม่นับเรื่องขนบประเพณีที่มีในแต่ละชุมชนอีก

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าพระอยู่ใต้ข้อควบคุมมากมาย จะเรียกว่าเป็นระบบราชการก็ได้ ทั้งๆ ที่ถ้าถามว่าอะไรควรสำคัญที่สุด มันก็ควรจะเป็นพระวินัยที่มีมาแต่พุทธกาล แต่ในทางปฏิบัติจริง คนสนใจอำนาจ การควบคุมทางกฎหมาย และลำดับชั้นมากกว่า ถ้าพูดให้ถึงที่สุด พระเป็นข้าราชการยิ่งกว่าข้าราชการ และเป็นทหารยิ่งกว่าทหาร

การยึดถือเรื่องอำนาจหรือลำดับชั้นในวงการสงฆ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

ต้องเล่าก่อนว่าแต่เดิมโดยเจตนารมณ์ พระเป็นชุมชนอิสระตั้งแต่สมัยพุทธกาล จะเรียกว่าชุมชนฮิปปี้ก็ได้ เพราะพระถือกลุ่มคนที่ไม่เอาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและมาอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘สังฆะ’ แปลว่าชุมชน (community) ก็มารวมตัวกัน อยู่ด้วยกัน มีกฎเกณฑ์หลวมๆ พอให้อยู่กันได้จนเกิดเป็นพระวินัยขึ้นมา

ต่อมาภายหลัง ความสัมพันธ์กับรัฐก็เริ่มเกิดขึ้นตอนบรรดากษัตริย์ในอินเดียเริ่มอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา แต่หลายครั้งที่ไม่ใช่แค่อุปถัมภ์แต่กลายเป็นการควบคุมด้วย เพราะศาสนาเป็นสิ่งอันตรายสำหรับผู้ปกครอง มีทั้งการให้ยศและการลงโทษเป็นธรรมเนียมที่สืบกันมาจนถึงลังกา ถามว่าเป็นเพราะอะไร เพราะความแพร่หลายของศาสนาเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิธรรมในการปกครองด้วย ดังนั้น เมื่อเมืองไทยรับพุทธศาสนาเข้ามาก็รับระบบวิธีคิดแบบนี้เข้ามาด้วย มีการตั้งพระให้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ทั้งในนามและที่เป็นจริงๆ หรือบางทีกษัตริย์ก็ไปบวชเองบ้าง เกิดเป็นระบบสมณะศักดิ์ขึ้น ถ้าใครมองในแง่ดีหน่อยก็จะบอกว่า กษัตริย์แต่งตั้งพระที่ไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษา แต่ถ้ามองในมุมรัฐศาสตร์จะเห็นว่านี่คือความพยายามดึงองค์กรสงฆ์เข้ามาใกล้ชิดเพื่อควบคุมโดยใช้ระบบตั้งสมณศักดิ์ขึ้นมา

นอกจากนี้ เรายังเห็นการนำระบบการปกครองของโลกไปใช้ในทางสงฆ์ด้วย เพราะไม่ใช่ว่าพระมียศเฉยๆ แต่มีตำแหน่งในการปกครองด้วย เช่น พระสังฆราชคือประมุขฝ่ายสงฆ์ เป็นเหมือนพระราชาทางโลก และมีตำแหน่งรองๆ ลงมาซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนบอกว่าต้องแยกศาสนาออกจากการเมือง แต่ฟังดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถแยกศาสนาออกจากการเมืองได้เลย เพราะในศาสนาเต็มไปด้วยเรื่องการเมือง

ผมคิดว่าการเมืองในศาสนาไม่แปลก เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ในทุกมิติ เพราะถ้าเรามองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การกระจายหรือจัดสรรอำนาจ พวกนี้เป็นเรื่องที่มีทุกสังคม แต่การเมืองในสังคมพระทุกวันนี้ไม่สร้างสรรค์เพราะมันเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่ได้เกื้อกูลกันตามเจตนารมณ์ศาสนา

ในประเด็นความสัมพันธ์รัฐกับศาสนา ผมว่าเราต้องแยกให้ชัดว่ามีการเมืองภายในสังคมสงฆ์เองไม่พอ แต่มีเรื่องการเมืองทางโลกกับการเมืองทางศาสนามาปนกันด้วย รัฐใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการพูดถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรมหรือการขจัดคนเห็นต่าง ศาสนาก็ใช้รัฐกำจัดศัตรูของตนเองหรือให้รัฐอุปถัมภ์ตนเอง ตรงนี้เห็นชัดเลยว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะการเมืองสองระบบมาพัวพันกัน ทางแก้คือการจัดสรรความสัมพันธ์ตรงนี้ใหม่ แยกรัฐออกจากศาสนา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางได้ แต่ถ้าถามว่าเราจะปฏิเสธการเมืองในศาสนาเลยได้ไหม ผมว่าเป็นไปไม่ได้

คุณบอกว่าพระวินัยควรจะเป็นสิ่งที่ยึดถือมากกว่าการใช้อำนาจลำดับชั้น แต่มองอีกมุมหนึ่ง อาจมีคนวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าพระวินัยเกิดขึ้นมาหลายพันปีและไม่ได้ตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

มีคนเสนอว่าต้องตีความพระวินัย เพราะถ้ายึดตามตัวอักษรโดยไม่สนใจเจตนารมณ์จะมีหลายเรื่องหลุดออกไปเลย เช่น แต่ก่อนไม่มีโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตเหมือนสมัยนี้ แล้วตอนนี้จะควบคุมพระเรื่องเล่นโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตไหม อย่างไร แต่ประเด็นอยู่ที่การตีความพระวินัยอย่างกว้างขวางไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะอำนาจในการตีความอยู่ที่ผู้มีอำนาจในสังคมศาสนาที่ชี้บอกว่าต้องตีความแบบไหนจึงจะถูก

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องเปิดโอกาสให้ตีความอย่างกว้างขวางอันจะนำไปสู่ข้อถกเถียงร่วมกัน แต่ถามว่าจริงๆ แล้วการตีความไม่เคยเกิดขึ้นเลยหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะมันมีการตีความพระวินัยเกิดขึ้น แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ได้ประโยชน์ฝั่งเดียวมากกว่า

ถ้าเช่นนั้น เราจะมองประเด็นการเมืองในสังคมพระอย่างไร ต้องมีกฎเกณฑ์ ท่าที หรือวิธีการมองแบบไหนจึงจะถือว่ามีหลักการและสมเหตุสมผลกับความเป็นจริง

ผมมองแบบนี้ เวลามีคนมองว่าพระต้องสำรวมหรือเป็นแบบนั้นแบบนี้ ประเด็นคือคุณไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เลย คุณคิดว่าพระมีแบบเดียวมาตลอด ทั้งที่การเทศน์แบบตลกเป็นเรื่องปกติและมีมานานแล้ว เพราะฉะนั้น การอ้างว่าการเทศน์ตลกโปกฮาเป็นการไม่สำรวมนั้นเป็นการอ้างที่ลืมมิติประวัติศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถามต่อว่าแล้วจะทำอย่างไร ใช้เกณฑ์แบบไหน ผมคิดว่าเราต้องกลับไปตั้งต้นที่พระวินัย เปิดโอกาสให้ตีความ ดูเจตนารมณ์และย้อนทวนกลับไปตั้งคำถามว่า อะไรทำให้พระเป็นพระ ต่างจากฆราวาสอย่างไร เพราะแน่นอนว่าพระเป็นคนเหมือนเรา มีทั้งกิเลสหรือความสุขทุกข์เหมือนกัน แต่พระคือคนที่เลือกชีวิตอีกแบบ ซึ่งมีรูปแบบวิถีชีวิตบางอย่างที่เป็นแก่นของพระ ผมคิดว่าเราต้องหาแก่นนั้นให้เจอว่าความเป็นพระอยู่ตรงไหน และค่อยมาเริ่มต้นกันว่าเราจะใช้เกณฑ์ใดมาตัดสินใจว่าสิ่งใดเหมาะหรือไม่เหมาะ และที่สำคัญที่สุดคือต้องเปิดกว้างด้วย

แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่าการเมืองกับศาสนาแยกกันไม่ขาด แต่หลายคนก็ยังบอกว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และวิพากษ์วิจารณ์พระที่ออกมาร่วมชุมนุมหรือเรียกร้องประชาธิปไตย คุณมองประเด็นพวกนี้อย่างไร

ปัญหาอาจจะเริ่มต้นที่การบอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นการเมือง เพราะฉะนั้น การที่คุณบอกว่าศาสนาหรือพระต้องไม่ยุ่งเรื่องก็ถือเป็นการเมืองในตัวเองแล้ว เวลาเราบอกว่าพระไม่ควรยุ่งเรื่องการเมืองแปลว่าห้ามทำในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการ แต่เราก็จะเห็นว่าพระหรือคนที่ออกมาพูดอะไรทำนองนี้อยู่ในการเมืองมิติอื่นตลอด เช่น ประกอบพิธีเสริมขวัญหรือเสริมดวง นั่นไม่ใช่การเมืองหรือ หรือการฝักใฝ่ในสมณศักดิ์ก็เป็นการเมือง แต่คุณไม่เรียกว่ามันว่าการเมือง และพยายามนิยามการเมืองที่ไม่ตรงกับแบบที่คุณต้องการขึ้นมาและเรียกว่าการเมืองแทน

เพราะฉะนั้น ถามว่าพระไปม็อบได้ไหม ไปได้ครับ เราจะเห็นว่าในอดีตก็มีพระไปร่วมชุมนุมมาแล้ว แต่ทำไมฝ่ายหนึ่งไม่โดนลงโทษ ผมว่าปัญหาเกิดจากคำนิยามด้วยว่าพระยุ่งกับการเมืองที่สร้างสรรค์ได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าอยู่ในความขัดแย้งเยอะมาก เช่น ญาติสองฝ่ายทะเลาะกันแย่งน้ำ นั่นคือท่าทีที่ยุ่งได้ แต่คุณถูกกล่อมเกลาจนเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ซึ่งไม่จริง การเมืองเป็นจิตวิญญาณด้วยซ้ำ ทั้งการเห็นอกเห็นใจคนอื่น เห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นความทุกข์ของตนเอง ซึ่งแนวคิดพวกนี้โคตรจะศาสนาเลย และเป็นสปิริตที่ทำให้พระไปม็อบด้วย นี่ไม่ศาสนาตรงไหน ปัญหาอยู่ที่การทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้มากกว่า

การเมืองแบบไหนถึงเรียกว่าสร้างสรรค์

อันนี้อาจจะต้องตอบโดยมองบนจุดยืนแบบศาสนาด้วย การเมืองแบบไม่สร้างสรรค์อาจจะมีนิยามทางโลกแบบหนึ่ง แต่ถ้าพระหรือนักบวชต้องเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมว่าเขาต้องแม่นยำว่าศาสนาที่ตนเองสังกัดมีสปิริตอะไรเป็นแกนกลาง มีคำสอนอะไรที่ใช้ได้ในสถานการณ์นั้นๆ เช่น ศาสนาพุทธ อาจจะเป็นการไม่ปล่อยให้คนอื่นทุกข์ เห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นเหมือนความทุกข์ของตนเอง มีความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ถ้าเรานำท่าทีแบบนี้ไปประยุกต์ใช้ดูว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรให้เกิดประโยชน์เช่นนี้ได้บ้าง ผมว่าทั้งไม่เสียท่าทีพุทธและเป็นไปตามมติศาสนา ถือว่าเป็นการเมืองสร้างสรรค์ของพระได้

ในทางกลับกัน ถ้าพระออกมาสนับสนุนกลุ่มคนมีอำนาจให้ใช้ความรุนแรง อันนี้ผิดแน่นอน ในอดีตเราเคยเห็นการที่พระออกมาบอกให้ฆ่าคนแล้ว ช่วงที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป อันนี้โคตรผิดหลักศาสนาเลย แต่มันกลับไปรองรับความดีที่เหนือกว่านั้น (higher good) แทน แต่ถ้าไปม็อบด้วยความสงบ ช่วยเหลือคน เรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง ผมว่านี่ไม่ได้ขัดกับท่าทีของศาสนา

ถ้าเป็นแบบที่คุณว่า อะไรทำให้เกิดประโยค “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ขึ้นมา

เวลาเราพูดเรื่องศาสนา มันมีองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งส่วนที่เป็นศาสนองค์กรหรือองค์กรศาสนา รูปแบบการจัดตั้ง และส่วนที่เป็นศาสนวัฒนธรรม ซึ่งจะกลืนหายไปกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มีทั้งส่วนเป็นดั้งเดิม ส่วนที่ปรับปรุงตีความใหม่ และส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งคือ เวลาศาสนาเติบโตในพื้นภูมิที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอยู่แล้ว และไม่สามารถทำให้ศาสนธรรมขัดแย้งกับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้ มันจะไปด้วยกัน

ในกรณีเรื่องฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ตอนนั้นต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยมองว่ามีสิ่งที่เหนือกว่าและสูงสุดกว่าตัวเรา อาจจะเรียกว่าองค์สาม (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ก็ได้ และมีมโนคติเรื่องศัตรูที่จะมาทำลายสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น แทนที่ศาสนาจะช่วยปกป้องความเป็นมนุษย์ก็กลับกลายเป็นถูกตีความและดึงไปใช้ให้เข้ากับบริบทแบบนี้ เพราะมันมีความดีที่เหนือกว่าและสูงกว่าตัวเรารวมถึงมนุษย์คนอื่น เราจำเป็นต้องเสียสละเพื่อพิทักษ์ความดีนั้นโดยกระทำในนามศาสนา คำสอนต่างๆ จึงถูกบิดเบือนเพื่อให้รองรับความดีที่เหนือกว่าอันนั้น แต่คนจะมองว่านี่คือความดีทั่วไป แถมยังสามารถบิดพลิ้วมโนคติทางศาสนาให้รองรับได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย

อีกประเด็นหนึ่งคือการที่ชาวพุทธบางคนแชร์เรื่องธรรมะทุกวัน แต่กลับเงียบเมื่อเกิดเหตุการณ์อุ้มหายหรือใช้ความรุนแรงปราบม็อบ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมมีสองประเด็นหลักๆ แบบนี้ ประเด็นแรก ผมว่ามีความพยายามที่จะบอกว่ามีบางอย่างที่ชั่วร้ายในตัวมันเองอยู่ เช่น การเมืองและม็อบเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ศาสนิกชนไม่ควรเข้าไปยุ่งเพราะจะแปดเปื้อน ไม่บริสุทธิ์และไม่สะอาด พอเป็นแบบนี้ เขาก็จะมองว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย และมองว่าเขาไม่ควรยุ่งเรื่องนี้ในฐานะศาสนิกชนที่ดี เลยกลายเป็นท่าทีที่เมินเฉยต่อความอยุติธรรมเหล่านี้

ประเด็นที่สองคือ บางคนไม่เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นความอยุติธรรมอย่างไร หรือบางคนสามารถนำแนวคิดทางศาสนาไปจับได้ด้วยซ้ำ เช่น เพราะคุณทำชั่วถึงต้องลี้ภัยทางการเมือง ถ้าทำดีก็ไม่มีปัญหาหรอก ถูกแล้วที่โดนลงโทษ กรรมตามสนองแล้ว อันนี้เป็นเรื่องสยองนะที่คุณสามารถให้ความชอบธรรมกับการกระทำเหล่านี้ด้วยการบอกว่ามันดีแล้ว ถูกแล้ว เป็นเรื่องกรรม และยังมีเรื่องความดีที่เหนือกว่าที่ผมพูดไปแล้ว คือมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนชั่ว พวกม็อบจะมาทำลายศาสนา เลยเฉยกับเรื่องพวกนี้และเอาความสงบสุขของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะมองว่าการเข้าไปยุ่งคือการเกลือกกลั้วอย่างหนึ่ง

แล้วถ้าจะสื่อสารกับชาวพุทธที่คิดแบบนั้น คุณจะสื่อสารอย่างไร

ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เข้าใจได้ผ่านมุมมองแบบพุทธเลยนะ เช่น เวลาพูดถึงความเมตตา กรุณา ที่เป็นคำสอนในพรหมวิหาร 4 คุณก็ดันมองข้ามไปแล้วกระโดดข้ามไปอุเบกขา (การวางเฉย) เลย จะบ้าหรือ คุณกลับเลือกใช้อะไรที่ทำให้คุณสบายใจทั้งๆ ที่พรหมวิหาร 4 เริ่มต้นด้วยเมตตา กรุณา เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนอื่นทุกข์คุณก็ควรจะมีเมตตากรุณาต่อเขาหรือเปล่า แล้วถ้าอ้างเรื่องเวรกรรม คุณรู้ได้อย่างไร เป็นพระพุทธเจ้าเหรอถึงรู้ว่ากรรมนี้เป็นของคนนี้ เพราะฉะนั้นในฐานะชาวพุทธ คุณวางเฉยกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ ถ้าคุณวางเฉยเท่ากับคุณไม่ซื่อสัตย์ต่อคำสอนเรื่องเมตตากรุณา ถ้าจะเอามาก็เอามาให้ครบ ผมว่าสังคมไทยมีปัญหากับการคัดเลือกคำสอนนะ เลือกเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและไม่ซื่อตรงกับระบบคำสอนจริงๆ

ประเด็นแหลมคมหลายๆ อย่างในเรื่องศาสนาทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกว่าไม่เชื่อมั่นและไม่นับถือศาสนาอีกต่อไป คุณมองว่าเราทำอะไรได้ไหม และสังคมเราจะหล่อหลอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดการตีความศาสนาเพื่อความดีที่เหนือกว่าได้อย่างไร

การเป็นอศาสนิกโอเคนะ แต่ตัวผมเองก็เติบโตมาในสังคมชนบทที่มีศาสนาและมองเห็นพลังมันในหลายแง่มุม ผมเลยคิดว่า ถ้าศาสนาจะอยู่ได้ต้องถูกตีความใหม่ ตอนนี้มีแนวโน้มหนึ่งในฝั่งตะวันตกเรียกว่าศาสนาที่มีความเป็นโลกวิสัย (secular religion) คือการที่คุณสามารถนำเอาแนวปฏิบัติทางศาสนาหรือระบบคุณค่าบางอย่างใปใช้ได้โดยไม่ต้องแปะป้ายตนเองว่าคุณเป็นศาสนิกหรือเข้าประกอบพิธีกรรม และเริ่มมีการตีความศาสนธรรมให้ไปกันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ ผมว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นและเชื่อว่ามีคุณค่าแบบนี้ แต่ที่มันยังไม่ถูกเน้นเพราะคุณค่าเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์กับผู้มีอำนาจหรือคนบางกลุ่ม เช่น ถามว่าศาสนามีส่วนที่มองว่าชายหญิงเท่าเทียมกันไหม มี แต่คุณกลับหยิบส่วนอื่นมาแทน เพราะคนพูดคือผู้ชายที่ได้ประโยชน์ไง เพราะฉะนั้น มันจึงต้องเริ่มจากการเปิดให้ตีความอย่างที่ผมพูดไปแล้ว และไปดึงเอาส่วนที่ดีออกมาแทน

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาคือ การตีความมาพร้อมกับอำนาจในการตีความ (authority of interpretation) แต่ตอนนี้ยังไม่เกิดกระบวนการตีความเพราะมีผู้ผูกขาดอำนาจในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงมีอำนาจรัฐเข้าไปจัดการด้วย เช่น ถ้าผมบอกว่าจะตั้งสำนักที่ตีความพระวินัยแบบใหม่ ผมจะถูกเรียกว่าพวกอลัชชีและถูกกฎหมายจัดการ เราจึงยังไม่เห็นการกระจายอำนาจในการตีความ แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วใครมีอำนาจในการตีความ ต้องบอกว่าทุกคน และอย่าลืมว่าการตีความต้องมาพร้อมการโต้เถียง ต้องพร้อมโดนวิจารณ์ว่าที่ตีความมีเหตุผลไหม มีข้อบกพร่องอย่างไร ต้องมาพร้อมกันเช่นนี้การตีความจึงจะงอกงามได้

ปัจจุบัน มีบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาสนาชอบบอกให้เรามองที่ตัวเอง ทำใจให้ว่าง ซึ่งดูจะขัดกับการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมมากขึ้น ศาสนาจะไปกับความคิดเช่นนี้อย่างไร

ในแง่หนึ่ง ผู้นำทางศาสนาหลายท่านก็พูดว่าสันติภาพเริ่มต้นจากตัวเราเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดไปจากวิธีคิดทางศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีมิติด้านสังคมเลย ผมมองว่าศาสนามีคำสอนทุกด้าน ขัดแย้งกันเองก็มี แต่ประเด็นอยู่ที่คุณหยิบตรงไหนมาโปรโมตมากกว่า ซึ่งบ้านเราเน้นโปรโมตอุดมคติที่ต้องทำตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน ดีก่อน และค่อยไปช่วยคนอื่น ผมคิดว่ามโนคติแบบนี้ต่างหากที่ทำให้การเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาและถูกตอกย้ำมากขึ้น

แต่แน่นอน การถูกตอกย้ำว่าทุกปัญหาเกิดจากเราเป็นเรื่องที่เราถูกบ่มเพาะมา จริงๆ ต้องโทษระบบทุนนิยมด้วยที่สอนให้เราพัฒนาตัวเอง ต้องเป็นคนมีคุณค่า เก่ง สู้ และจะประสบความสำเร็จ แต่ทุนนิยมก็ไม่ได้บอกเราว่าสังคมเป็นแบบนั้น มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กดทับอยู่ ทุกคนจะมุ่งเป้าแสวงหาคำตอบเฉพาะของตัวเอง พอบางคนเห็นช่องพวกนี้ก็เอาคำสอนทางศาสนามาสอดรับกับประเด็นเหล่านี้ มันก็เหมือนการไปตอบรับพอดี ซึ่งจริงๆ แล้วศาสนามีมุมวิพากษ์วิจารณ์เชิงโครงสร้างแหละ แต่น้อย ซึ่งพูดตรงๆ มันก็ต้องน้อย แต่ขณะเดียวกันไม่ได้แปลว่าไม่มี แต่มันยังไม่ถูกเน้นย้ำและไม่ถูกพูดให้ไปด้วยกันได้ กลายเป็นว่าศาสนาเฝ้าพูดแต่ว่าต้องพัฒนาตัวเอง เริ่มจากตัวเอง อย่าโทษคนอื่น ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้นเลย เพราะชีวิตคนเรามีปัจจัยอะไรมากมายกว่านั้น

ตัวคุณใช้ศาสนาในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน ศาสนาเข้ามาช่วยสนับสนุนอะไรคุณบ้าง

ผมรู้จักพี่คนหนึ่งที่เป็นอศาสนิก เขาพูดไว้ดีมากว่าตนเองไม่ได้แอนตี้ศาสนา แต่คิดว่าสิ่งที่มีอยู่รอบตัวพอแล้ว คำว่าพอในที่นี้คือมิติทางใจ เพราะเขามีดนตรี วรรณกรรม กวีนิพนธ์ เขาบอกว่านั่นคือพอสำหรับเขาที่จะรู้สึกว่าชีวิตรุ่มรวยได้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมยังไม่พอและยังต้องการอย่างอื่นอีก เพราะฉะนั้น ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องพอกับไม่พอมากกว่า

ต้องพูดก่อนว่าศาสนาไม่ได้ทำให้เราสงบอย่างเดียวนะ แต่เป็นภาระบนไหล่เราด้วย เพราะศาสนาไม่ได้เป็นแค่พิธีกรรม ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่การนับถือลัทธิพิธี (cult) แต่การรับศาสนาหมายถึงการรับเอาระบบจริยธรรมหรือระบบคุณค่าบางอย่างมาไว้กับตัวด้วย เช่น ผมอยากเป็นคนสบายๆ ไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองหรือสังคมอะไรมากมาย แต่พอเรารับศาสนาที่เป็นอุดมคติเข้ามาก็เริ่มดลใจให้เราเขียนหรือพูดบางอย่างเกี่ยวกับประเด็นศาสนา ทำให้ผมสามารถทำงานบางอย่างหรือสัมพันธ์กับคนอื่นรอบตัวนอกเหนือจากมิติความสัมพันธ์ทั่วไป จะบอกว่าเป็นเรื่องอุดมคติบางอย่างด้วยก็ได้

ที่นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทั่วไป ก็มีเรื่องอุดมคติบางอย่างด้วย สำหรับผม ศาสนาเป็นเรื่องอุดมคติบางอย่างของชีวิต

แล้วต่างอย่างไรกับคนที่อยากทำอะไรให้เพื่อนมนุษย์ แต่ไม่ได้นับถือศาสนา

ไม่ต่างครับ (หัวเราะ) ในแง่การมีอุดมคติเพื่อช่วยเหลือคนอื่นไม่ต่างกันเลย จิตใจเป็นแบบเดียวกัน ไม่ต่างกัน แต่อย่างที่บอก มันมีเรื่องกลิ่น รส มีคำอธิบายบางอย่างเพิ่มเติมต่อสิ่งที่เราทำหรือเป็นที่มาของแรงดลใจ ผมว่าเวลาคนอยากออกไปทำอะไรสักอย่างมันเกิดแรงดลใจบางอย่างนะ และแหล่งที่มาของแรงดลใจมีได้หลายประเภท เช่น ความใฝ่ฝันที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น หนังสือบางเล่ม ประโยคบางประโยค ส่วนของผม ที่มาของแรงดลใจคือศาสนา

ที่ทางของศาสนาในโลกยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร

ผมมักพูดกับเพื่อนว่าถ้าสุดท้ายศาสนาไม่ปรับตัวและไปกับเขาไม่ได้ก็จะถูกทิ้งไปเลย ไม่มีใครช่วยอะไรได้ แต่ผมคิดนะว่าผมเป็นคนที่ยังหวังดีกับศาสนามาก เพราะถ้ามองภาพของสังคมไทยตอนนี้ เราเห็นความพยายามจะรื้อทุกอย่างเพื่อไปสู่สังคมใหม่ แต่เราไม่ค่อยถามต่อหรอกว่าแล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมใหม่ ผมเชื่อนะว่าเรารื้อได้แน่ๆ แต่อย่าลืมว่าเมืองไทยไม่ได้มีแต่สังคมเมือง แต่มีสังคมต่างจังหวัดที่มีศาสนาด้วย และศาสนายังเป็นพลังของผู้คนจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีสังคมใหม่ที่ห้ามมีศาสนาเลย แล้วคนเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหน จะมีที่ทางอย่างไรให้เขาและจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

สำหรับผม ศาสนาเหมือนมรดกโบราณสักอย่าง แต่เราสามารถตีความใหม่และให้พื้นที่อยู่ร่วมกับคนไม่มีศาสนาได้ นี่เป็นเจตนารมณ์ของผม ถามว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร คุณก็ต้องปรับตัวให้เข้ากันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ และแน่นอนว่าเราต้องเปิดพื้นที่ในสังคมให้เป็นที่ที่ไม่ว่าคนมีศาสนาหรือไม่มีก็อยู่ร่วมกันได้และวิจารณ์กันได้ด้วย ไม่ใช่อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่

ในประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าเขาสามารถสอดแทรกศาสนาพุทธเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมป็อบที่หลากหลายมาก เช่น มังงะหรือแอนิเมชัน แต่ในไทยไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลย คุณคิดว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรบ้าง

ศาสนาในญี่ปุ่นปรับตัวค่อนข้างมากเพราะเขามีประวัติศาสตร์บางอย่าง เช่น ศาสนาชินโตเคยถูกใช้เพื่ออุดมการณ์รัฐจนพาคนไปตายจำนวนมากเพื่อพระจักรพรรดิ หรือแม้แต่พุทธศาสนานิกายเซนที่พระไปเป็นนักรบ เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงต้องแยกจากรัฐ แต่คนก็ยังนับถือศาสนาอยู่ และศาสนาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้คงอยู่ได้ด้วย และการปรับตัวในญี่ปุ่นคือการถอดมิติความศักดิ์สิทธิ์ออกไปค่อนข้างเยอะ ขณะที่ของไทยยังมีมิติตรงนี้ค่อนข้างมาก และเป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมของเราเอง ไม่ใช่แก่นคำสอนทางศาสนา

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น สมมติเราปฏิบัติต่อพระพุทธรูป เราจะปฏิบัติในฐานะของศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจ ห้ามลบหลู่ แต่ไม่ได้ปฏิบัติในแง่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเราไม่ถอดความคิดแบบนี้ออกไป ศาสนาจะไม่สามารถดัดแปลงไปสู่วัฒนธรรมใดๆ ได้เลย เพราะเราจะยึดมั่นแต่ในความศักดิ์สิทธิ์ที่ละเมิดไม่ได้ ตรงนี้ก็มีปัจจัยทางวัฒนธรรมอยู่ด้วย

หลายคนพูดถึงประเด็นเรื่องรัฐฆราวาส (secular state) หรือการแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างชัดเจน ถ้าเรามองกลับมาที่รัฐไทย เราอยู่กับศาสนาพุทธอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่หากจะนำแนวคิดรัฐฆราวาสมาประยุกต์ใช้และเป็นที่ทางของศาสนาพุทธในสังคมปัจจุบัน

ต้องอธิบายก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนามี 3 แบบหลักๆ แบบแรกคือรัฐศาสนา (religious state) หมายความว่าทุกข้อกำหนด คำสอน หรือความเชื่อทางศาสนาจะถูกยกขึ้นมาเป็นนโยบายและแนวกฎหมายของรัฐ เช่น ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม

แบบที่สองคือรัฐที่แอนตี้ศาสนา เช่น ประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะห้ามนับถือและไม่มีเรื่องศาสนาเลย และแบบสุดท้ายคือรัฐที่เป็นทางกลางทางศาสนาหรือฆราวาสวิสัย (secular state) ซึ่งผมว่าน่าสนใจ เพราะรัฐที่เป็นแบบนี้มีแนวโน้มจะเป็นรัฐที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบบที่เปิดพื้นที่ให้ความเห็นส่วนใหญ่ด้วย เพราะศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อที่หลากหลายของประชาชน ถ้าคุณหยิบเอาแค่นโยบายของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นนโยบายรัฐก็เท่ากับคุณละเลยเสียงส่วนน้อยหรือละเลยคนส่วนอื่นของประเทศไป

รัฐที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นรัฐฆราวาสด้วยก็มีหลายแบบ เช่น ฝรั่งเศส ศาสนาต้องอยู่ในรูปขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ และรัฐต้องไม่สนับสนุนศาสนาด้วย ถ้ามีรายได้ก็ต้องโดนเก็บภาษีไป หรืออย่างอินเดียก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือรัฐส่งเสริมศาสนาได้ แต่ต้องส่งเสริมศาสนาเท่าๆ กัน ใช้กฎหมายของศาสนาได้แต่ต้องไม่ใหญ่กว่ากฎหมายของรัฐ เพราะในอินเดียมีศาสนาเยอะมาก ถ้ารัฐไปบงการหรือจำกัดมากจะเกิดปัญหาได้ แนวคิดแบบอินเดียจึงเป็นการจำกัดระยะห่างที่พอดี ก็ทั้งคล้ายและมีปัจจัยที่แตกต่างจากของไทย

ถ้าเรากลับมาวิเคราะห์รัฐไทย อันดับแรกคือเราเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือเป็นแค่ในนาม อีกอย่างรัฐไทยมีความโปรศาสนา อาจจะไม่ถึงขั้นรัฐศาสนา แต่แน่นอนว่าโปรศาสนาใดศาสนาหนึ่งและยกความเชื่อทางศีลธรรมเป็นแนวนโยบายของรัฐด้วย เช่น ที่เห็นกฎหมายห้ามดื่มเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งจะเขาจะบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็ถูกในเชิงข้อเท็จจริง แต่การเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องสนับสนุนศาสนาพุทธมากกว่าศาสนาอื่นนะ ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ก็ให้ศาสนิกชนเขาดูแลสิ การเรียกร้องให้รัฐดูแลเป็นการกระทำราวกับว่าคุณไม่เชื่อว่าศาสนิกชนจะดูแลศาสนาของตนเองได้ หรือถ้ารัฐจะดูแลก็ต้องดูแลศาสนาให้เป็นกลางเท่าๆ กันมากกว่า

แต่หลายคนก็มักอ้างว่าถ้ารัฐไม่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนศาสนา บ้านเมืองจะไร้ศีลธรรม ไม่มีอะไรมาคอยควบคุมความดีงามของประชากรในรัฐ

ผมก็เรียนศีลธรรมมาตั้งแต่เด็กนะ คนรุ่นผมก็เต็มประเทศแล้วตอนนี้ แต่โจรยังมีไหมล่ะ และเป็นโจรในทุกระดับเลยใช่ไหม ตรงนี้เห็นถึงความล้มเหลวของการให้รัฐเป็นผู้กล่อมเกลาทางศีลธรรมชัดเจน และผมมองว่าปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทยตอนนี้คือการมองว่าศีลธรรมมีแบบเดียวคือศีลธรรมที่มาจากศาสนาเท่านั้น แบบนี้โคตรเชยเลย เพราะศีลธรรมมาได้จากหลายแหล่ง อาจจะมาจากความคิดทางปรัชญา โลกวิสัย การเห็นคุณค่าคนเท่ากัน หรือการเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ต้องมาจากศาสนาเลยก็ได้ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่มันมีความจำเพาะเกินไป

ถ้าเราจะคิดเรื่องแยกศาสนาออกจากรัฐ จำเป็นไหมว่าเราจะต้องยกเลิกพิธีกรรมทางศาสนาหรือวันหยุดที่มาจากศาสนาด้วย

อาจจะไม่ถึงขั้นต้องยกเลิกนะ เพราะผมว่าปัญหาจริงๆ ของเรามาจากการที่วันหยุดทางศาสนาเป็นเรื่องศาสนามากๆ ไม่ได้มองในแง่ของเทศกาลที่คุณจะสามารถฉลองได้โดยไม่เกี่ยวกับศาสนา มันเลยดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปหน่อย เช่น วันคริสมาสต์ในโลกตะวันตกไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา แต่เป็นเทศกาลที่ครอบครัวกลับมารวมตัวกัน มีเซนส์ความเป็น secular ด้วย ดังนั้น ถ้าเราจะพูดเรื่องนี้กับสังคมไทย เราอาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่าวันหยุดของเราจะเป็นอย่างไร มีความเป็นศาสนาแค่ไหน หรืออย่างพิธีกรรม เราอาจจะเริ่มพิจารณาจากพิธีกรรมที่เป็นศาสนามากๆ จนข่มคุณค่าอย่างอื่นไปจนหมดก่อนว่าสมควรยกเลิกไหม อย่างไร หรือจะต้องปรับรูปแบบไปอย่างไร

อีกทางหนึ่งถ้าเป็นเรื่องวันหยุดคือ รัฐอาจจะต้องไม่จำเป็นต้องระบุให้หยุดก็ได้ เช่น ในอินเดีย ถ้าจะหยุดทุกวันเกิดเทพเจ้าคงไม่ต้องทำงานกันพอดี เพราะทั้งปีจะเต็มไปด้วยวันหยุด ดังนั้น เมื่อถึงวันเกิดของเทพเจ้าที่ใครศรัทธา คนนั้นก็อาจจะหยุดไปเอง รัฐก็ประกาศเฉพาะวันที่สำคัญจริงๆ ไป

ทำไมรัฐไทยถึงปิดกั้นการมีภิกษุณี และคุณคิดว่าควรเปิดให้มีภิกษุณีในไทยไหม อย่างไร

ควรมีที่สุดเลยครับ แต่ผมต้องให้ข้อมูลก่อนว่า ในไทยมีภิกษุณีหลายร้อยรูปแล้วซึ่งก็ขวนขวายไปบวชกันเองที่ลังกา กลับมามีชุมชนของตนเอง แต่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ ไม่ได้แม้แต่สถานภาพของความเป็นนักบวชในทางกฎหมาย

ถ้าย้อนกลับไป เรามีความพยายามจะสร้างภิกษุณีขึ้น แต่รัฐไทยหรือผู้มีอำนาจมักจะเข้ามาจัดการโดยอ้างเหตุผลเดิมๆ ว่าภิกษุณีขาดหายไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่เลย การพูดแบบนี้ขาดทั้งองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องพระวินัยด้วย เพราะจริงๆ ภิกษุณีไม่ได้ขาด แต่มีการสืบสายวงศ์โยกไปมา เช่น จากอินเดียไปลังกา จากลังกาไปจีน มีความสืบเนื่องบางอย่างอยู่ ผมคิดว่าการอ้างแบบนั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่มีภิกษุณีมากกว่า เหตุผลที่แท้จริงคือเพศชายผู้กุมอำนาจไม่ยอมให้มีคณะนักบวชที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่ง แย่งความศักดิ์สิทธิ์ ความเคารพนับถือ ทรัพยากรและประชาชนของคุณไปหรอก

คำถามสุดท้าย ถ้าไม่นับหนังสือของคุณเอง มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธไทยเล่มไหนที่สนุกและแหลมคมบ้าง

มีหลายเล่มเลย เช่น รัฐ-ธรรม-นัว ของวิจักษ์ พานิช ซึ่งเป็นเล่มรวมบทความ อีกเล่มคือหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และล่าสุดคืออาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ เรื่อง อำลาพุทธราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นงานที่จี๊ดจ๊าดน่าอ่านมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา รัฐ ความเป็นราชาชาตินิยมกับศาสนา

เอาเป็นว่าผมขอแนะนำชื่อนักเขียน 3 ท่านนี้แล้วกัน คิดว่าน่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นทั้งภาพกว้างและภาพสรุปด้วย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save