fbpx

คนโซของสแกนดิเนเวีย

นอกเหนือจากเรื่องใหญ่อย่างสงครามในยูเครนแล้ว ภูมิภาคสแกนดิเนเวียเข้าสู่ช่วงหยุดยาวหน้าร้อน ที่ร้อนกว่าหลายปีที่ผ่านมา

วันที่ 25 มิถุนายน 2022 เกิดการกราดยิงหมู่ในไนต์คลับที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน LGBTQI+ กลางเมืองออสโลว์ นอร์เวย์ มีผู้เสียชีวิตสองคนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการตัดสินใจยกเลิกการเดินขบวนไพรด์ ที่มีแผนจะจัดขึ้นในวันถัดมา แต่กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถหยุดคนจำนวนหลายร้อย ที่ออกมาแสดงความเป็นปึกแผ่นท่ามกลางเหตุการณ์นี้

วันที่ 3 กรกฎาคม 2022 คนร้ายเข้าไปกราดยิงในห้างสรรพสินค้า Field’s ในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก มีผู้เสียชีวิตสามคน สองคนในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ส่วนผู้ต้องสงสัยมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก สองวันถัดมามีการรวมพลังคนหลายร้อยคนในการร่วมใจระลึกถึงผู้เสียชีวิต

วันที่ 7 กรกฎาคม 2022 บนเกาะกอตแลนด์ไม่ห่างออกไปจากสตอคโฮล์ม มีเทศกาลปราศรัยทางการเมืองประจำปีของพรรคการเมืองต่างๆ เวลาประมาณบ่ายสอง เกิดเหตุการณ์คนใช้อาวุธมีดแทงผู้หญิงคนหนึ่งกลางวันแสกๆ สุดท้ายเธอไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ผู้ตายอายุ 64 ปี เป็นจิตแพทย์คนสำคัญของสวีเดนที่มีบทบาทในสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสุขภาพทางจิตใจของเด็กและเยาวชน หลังจากเหตุการณ์ เกิดการรวมตัวกันเพื่อส่งกำลังใจต่อเหตุการณ์ที่ควรจะเป็นเทศกาลแสดงความเห็นทางการเมืองตามปกติมาทุกปี

ลักษณะร่วม

เนื่องด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดเพิ่งเกิดขึ้น และกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินไปอยู่ คงจะหาข้อสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้ในทันที แต่ในเหตุการณ์ทั้งสาม มีลักษณะบางประการที่พอจะเห็นว่ามีร่วมกันอยู่บ้าง

ในกรณีที่ออสโลว์ ผู้ต้องสงสัยเป็นชาย อายุ 42 ปี ชาวนอร์เวย์อิหร่าน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาตินอร์เวย์ตั้งข้อสงสัยว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย Extreme Islamic Network ในนอร์เวย์และมีข้อมูลการเคลื่อนไหวของเขามาตั้งแต่ปี 2015

ในกรณีที่โคเปนเฮเกน ผู้ต้องสงสัยเป็นชายอายุ 22 ปี ชาวเดนมาร์ก มีประวัติอาการป่วยทางจิตเวช เขาถูกควบคุมตัวในห้องควบคุมผู้ป่วยทางจิต ก่อนการดำเนินการสืบสวนสอบสวน

ในกรณีที่กอตแลนด์ ใกล้สตอคโฮล์ม ผู้ต้องสงสัยเป็นชายอายุ 32 ปี ชาวสวีเดน ตำรวจสืบสวนพบว่าเขามีส่วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มนาซีใหม่ (NMR) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วภูมิภาคนอร์นิคและในยุโรป เขาเตรียมการโจมตีนี้ตั้งแต่วันวาน จึงค่อนข้างจะแน่ว่าเป็นการสังหารที่วางแผนเอาไว้ก่อน

ลักษณะร่วมเหล่านี้ ที่แน่ๆ คือทั้งหมดเป็นชาย กรณีแรกและกรณีสุดท้ายดูค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางด้านอุดมการณ์ แม้ว่าในกรณีที่สองอาจจะต้องใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนก็ตาม

เมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ในพื้นที่สาธารณะของสังคมสแกนดิเนเวียจึงกระเพื่อม เกิดการพยายามย้อนพิจารณาอดีต เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์เฉพาะหน้า

คนุต ฮัมซุน (ที่มาภาพ)

คนโซ

ครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Utøya ในนอร์เวย์เมื่อปี 2011 ส่งผลสะเทือนไปทั่ว มีผู้สังเกตการณ์ถึงประวัติศาสตร์วรรณกรรมของนอร์เวย์ ที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะงานของนักเขียนรางวัลโนเบลปี 1920 ผู้สนับสนุนอำนาจของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง คนุต ฮัมซุน (Knut Hamsun, 1859-1952) ผู้เขียนนิยายที่เป็นที่รู้จักอย่างเช่น Sult (1890 แปลจากภาษาอังกฤษ Hunger เป็น คนโซ ในภาษาไทยโดย แดนอรัญ แสงทอง เมื่อปี 2535) หรือ Markens Grøde (1917 แปลจากภาษาอังกฤษ Growth of the Soil เป็น งอกงามจากผืนดิน โดย ปิยะภา ในปี 2563)

งานเขียนของฮัมซุนหลังจาก Sult มีความเป็นการเมืองอย่างชัดเจน และเห็นได้ชัดอยู่ว่าเขาสนับสนุนเยอรมนี (ตั้งแต่ก่อนการขึ้นมาของพรรคนาซี) ต่อต้านอังกฤษ อิทธิพลทางความคิดแบบนิตเช่ ปรากฏอยู่ในตัวละครของเขา ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งแสวงหามนุษย์ผู้ซึ่งใช้เวลาหลายสหัสวรรษจะมาปรากฏตัวขึ้น และมนุษย์ชายผู้นั้นจะแสดงถึงความมุ่งมั่นและพลัง เขาจะมาเป็นผู้นำ เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่

คนโซ (ที่มาภาพ)

จุดเชื่อมโยงอันสะเพร่าของการพิจารณาภูมิทัศน์ของอดีตเช่นนี้ ทำให้คนรุ่นหลังง่ายที่จะจับเขาเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ร้ายในประวัติศาสตร์และคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชื่อของฮัมซุน หายไปกับประวัติศาสตร์วรรณกรรมโลก เพราะเขาอยู่ผิดข้าง

ชีวประวัติของฮัมซุนที่มีผู้ศึกษา ทำให้เรารู้ว่าเขาเป็นคนมีบุคคลิกพิเศษและหัวแข็ง เขาเติบโตขึ้นท่ามกลางความยากจนและเคร่งศาสนาของชนบททางเหนือของนอร์เวย์ในปัจจุบัน รอบตัวเขาเห็นแต่คริสต์ศาสนาไพอาทิสม์ (Pietism) ของนิกายลูเทอรัน บุคคลที่สำคัญคือ โยฮัน อาร์นด์ต (Johann Arndt, 1555-1621)

นอกจากนี้เขายังไม่ได้เรียนหนังสือ ได้แต่ต้องช่วยเหลือลุงผู้เคร่งศาสนาที่ทุบตีเขาเป็นประจำ วัยเด็กอันลำบากยากแค้นท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ เป็นเหตุที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาด้วยทัศนะต่อต้านศาสนา  

โยฮัน อาร์นด์ต (ที่มาภาพ)

ต้องระบุไว้ด้วยว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาสองครั้ง และอยู่ที่นั่นหลายปี  ได้ไปร่วมอาศัยกับชุมชนคนนอร์เวย์อพยพในดาโกต้า, วิสคอนซิน และมินนิอาโปลิส เขาเติบโตด้วยการทำงานใช้แรงงานและใช้เวลาอ่านหนังสือและเขียนอย่างต่อเนื่อง กว่าจะกลับมาถึงนอร์เวย์เขาก็อายุ 29 และนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาจะเข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการวรรณกรรมของนอร์เวย์

เขาถือเป็นหัวหอกขบวนการวรรณกรรมสมัยใหม่ (Modernisme) ของนอร์เวย์ และยักษ์ที่เขามุ่งจะต่อกรด้วยก็ย่อมไม่ใช่ใครนอกจาก เฮนริค อิปเซน (Henrik Ibsen, 1828-1906) สำหรับฮัมซุน ในช่วงเวลาที่นิยาย คนโซ ตีพิมพ์ออกมาเขาได้เขียนและบรรยายวิพากษ์งานของอิปเซนแล้ว ว่าอิปเซนมุ่งแต่จะสร้างประเภท (types) ของตัวละคร ซึ่งมีมิติเดียว ตัวละครเหล่านี้ไปผูกกับศีลธรรมอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่ช่วงเวลานั้นๆ กำลังเป็นที่ยึดเหนี่ยว (คนหนึ่งที่วิจารณ์อิปเซนอย่างมากคือ อันตอน เชคอฟ ด้วย)

เฮนริค อิปเซน (ที่มาภาพ)

สำหรับฮัมซุน ตัวละครจะต้องไม่คงเส้นคงวา เป็นมนุษย์คนหนึ่ง คาดเดาไม่ได้ วิญญาณของมนุษย์ไม่ได้เป็นเส้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมา แต่เป็นการผลุงเข้ามาแทรกแซงของชะตากรรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ถ้าเป็นคำของ ออกุสต์ สตรินเบิร์ก [August Strindberg, 1849-1912] ก็คือ “ปะซ้ำปะซ้อน”) วิธีการทำงานเช่นนี้น่าจะไปจบลงที่ ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett, 1906-1989) ในหลายทศวรรษต่อมา 

ถ้าจะมีอะไรที่คงเส้นคงวา คงจะเป็นจุดยืนของฮัมซุนที่กระแทกกระทั้นคริสต์ศาสนาไพอาทิสม์มาโดยตลอด โดยเฉพาะความคิดที่ว่าการอุทิศตนต่อพระคริสต์ที่แท้จริงนั้นคือการต้องทำลายตัวตนของตนลง รวมไปถึงต้องไปสู่ความตายด้วย ฮัมซุนเห็นว่านี่เป็นความคิดที่บ้าบอ และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการนำเอาความคิดทางวรรณกรรมของฮัมซุนไปเปรียบเทียบกับความคิดทางปรัชญาของ ซอเรน เคียเกอการ์ด (Søren Kierkegaard, 1813-1855)

หากเราตีความด้วยวิธีการกลับด้าน ตัวละครหลักของคนโซ ผู้เป็นศิลปินไส้แห้งอยู่ไปวันๆ จึงเป็นการล้อเลียน (parody) ธรรมเนียมของคริสต์ศาสนาในเรื่องมรณสักขี (matry) ว่าจะต้องอยู่อย่างอดทน บำเพ็ญศีล และสันโดษเพื่อเข้าถึงพระเจ้า แต่ฮัมซุนทำให้เขากลายเป็นกระทาชายผู้ต้องการถูกเปิดโปงความโกหกพกลมของตัวเอง การอ่านกลับด้านเช่นนี้กลายเป็นการกลับด้านความคิดของนิทเช่ไปโดยปริยาย และทำให้การที่ฝ่ายขวาและนาซีใหม่อ้างการเป็นเจ้าของคนุต ฮัมซุนจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามได้

ข้ามแอตแลนติก

เมื่อกลับมาสู่ประเด็นเรื่องเหตุการณ์กราดยิงหมู่ หากเรามองข้ามไปทางฝั่งสหรัฐอเมริกาในเวลาเดียวกัน ดินแดนที่ฮัมซุนเดินทางไปและเติบโตทางความคิดที่นั่น เราจะเห็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าใดนัก เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน เกิดเหตุการณ์กราดยิงอย่างน้อยๆ 13 ครั้ง ผู้เสียชีวิตเป็นสิบ และบาดเจ็บอีกมาก

ดังนั้นการจะใช้การอ้างอิงว่า งานของนักเขียนที่เคยสนับสนุนพรรคนาซีเป็นแรงบันดาลใจกับการก่อการร้ายในนอร์เวย์ และปัดงานของเขาตกลงไปว่าเป็นงานของผู้ร้าย ก็คงจะเป็นการเชื่อมโยงอะไรที่สะเพร่าอยู่มากหรือไม่ เพราะสหรัฐอเมริกาก็อยู่ตรงข้ามกับนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมิใช่หรือ


อ้างอิง

– NRK, “Skyting ved utested i Oslo sentrum – siktede hadde to uregistrerte våpen”,

– DR, “OVERBLIK Det ved vi om skyderiet i Field’s” [https://www.dr.dk/nyheder/indland/overblik-det-ved-vi-om-skyderiet-i-fields]

– SVT, “Misstänkt knivman ska ha kopplingar till NMR

– James Wood, “Addicted to Unpredictability”, LRB (1998)

– Bernard Porter, “Vicious and Terrifying” [https://www.lrb.co.uk/blog/2011/july/vicious-and-terrifying]

– Chris Boyette and Holly Yan, “From graduation parties to a mall, 13 mass shootings over the weekend leave more than a dozen dead and over 70 injuredCNN 6 June 2022

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save