fbpx

น้ำท่วมกับ ‘โคก หนอง นา’: เก็บน้ำไว้ใช้ ทำได้จริงหรือ

น้ำท่วมฤดูน้ำหลากทีไร ก็มักมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำของประเทศเราเสมอว่า “ทำไมไม่หาที่เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง” “เราน่าจะขุดบ่อแก้มลิงไว้มากๆ เพื่อเก็บน้ำ” “ตอนนี้ท่วม อีกสองเดือนก็แล้ง” และอีกหลายๆ ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ พลอยโยงไปถึงเรื่องที่ว่า “ทำไมประเทศไทยเราไม่ปฎิวัติวงการเกษตรด้วย ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เราจะหาวิธีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตในการพึ่งพาน้ำฝน พึ่งพาธรรมชาติน้อยลงได้หรือไม่”

ในฐานะที่พื้นเพบรรพบุรุษของผมเป็นชาวนา สมัยเด็กก็ยังได้ทันไปลงแขกกับเขา ครอบครัวใช้เวลาสองชั่วอายุคนกว่าจะเขยิบฐานะมาเป็นชนชั้นกลาง แต่กระนั้น การทำนาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเรา ที่นาทั้งหลายก็ยังให้เพื่อนบ้านที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองได้เช่าทำ จึงเลยอยากสะท้อนมุมของคนที่มองจากคนข้างล่างไปหาคนในเมืองหลวงเพื่อให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เราไม่อยากจะทำ แต่ทำไมเราถึงทำไม่ได้

1. หากไปดูคอนเซ็ปต์ของโคก หนอง นา โมเดล สิ่งที่เป็นหัวใจหลักๆ อยู่ที่การสร้างระบบนิเวศน์เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนกันในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือการสร้างแหล่งน้ำ สร้างความหลากหลายของพืช และสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ 

เมื่อลองพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่กายภาพ อย่างเช่นการปรับพื้นที่เพื่อเริ่มต้นสร้างระบบนิเวศน์ การขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ดูจะเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้น ก็เหมือนเราสร้างโลกแหล่ะครับ ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต ฉะนั้นจะเริ่มปลูกอะไร อย่างแรกก็ต้องมีน้ำก่อน ส่วนบ่อจะมีขนาดท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของที่ดินที่ใช้การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรมีคู่มือสำหรับการขุดไว้ให้เกษตรกรที่สนใจในการทำโมเดล โคก หนอง นา ว่าควรขุดบ่อให้ลึกเท่าไหร่เพื่อให้พอกับการทำสวนทำไร่เมื่อเทียบกับอัตราการระเหยของน้ำต่อปีหรือปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย

2. แต่ประเด็นหลักคือก่อนชาวนาชาวสวนจะได้ขุดหนองน้ำ อย่างแรกจะต้องมีที่ดินเป็นของตัวเองเสียก่อน นี่ก็ยากแล้ว เพราะชาวนาในประเทศไทยกว่า 70% ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าต่อให้เขาอยากทำ แต่การขุดบ่อน้ำในบริเวณที่ดินที่เช่าเขาอยู่เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะใช่ว่าเจ้าของที่ดินจะยอมให้ขุด

3. ประเด็นถัดมา หากว่าเจ้าของที่ดินใจดี ยอมให้ขุดบ่อน้ำจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก เพราะบ่อที่พอเพียงต่อการใช้งานสำหรับกักเก็บน้ำได้เป็นหลายๆ เดือนต้องมีความลึกพอสมควร แรงงานคนไม่สามารถทำให้เสร็จได้โดยไว การจ้างรถแมคโครมาขุดก็เป็นทุนที่ต้องหามา สิ่งที่น่าขมขื่นกว่านั้นคือเมื่อขุดบ่อน้ำเสร็จ ก็ต้องมาลุ้นกันอีกว่าน้ำฝนจะมาตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกปีจะมีน้ำมาอย่างที่คิด และไม่ใช่ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีฝนตกชุกอย่างที่หวัง ที่สำคัญการ นำเอารถแมโครเข้าไปขุดในที่นา ซึ่งต้องขับผ่านที่นาของคนอื่นๆ ที่อยู่ติดกันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ

4. สมมติอีกว่าได้ที่ติดถนนสำหรับขุดบ่อ ถามจริงๆ ถ้าคุณเป็นเจ้าของที่ดินที่มีที่ติดถนน ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมให้ขุดบ่อน้ำ เพราะว่า ราคาของที่ดินจะเสียไป หากต้องการจะขายที่ดินผืนนี้ในภายหลัง ก็ต้องคิดให้ดีอีกว่าการใช้ดินที่ขุดบ่อมาถมที่ให้สูงจะทำให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านข้างเคียงหรือไม่ เพราะไม่แน่ว่าน้ำอาจไหลไปท่วมที่ดินของเพื่อนบ้าน หากคุณไม่ออกแบบบ่อหรือคลองใส้ไก่ของคุณให้ดี 

5. เมื่อขุดบ่อเสร็จแล้ว ประเด็นที่ต้องคิดถัดไปอีกคือจะเอาน้ำไปใช้อย่างไร แน่นอนว่าก็ต้องใช้วิธีติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ คำถามที่ตามมาคือ หากไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึงในที่นา การขอติดตั้งไฟฟ้าก็เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับชาวบ้านอีกไม่ใช่หรือ ลืมภาพฝันที่จะให้ชาวบ้านใช้กระบวยยาวๆ วิดน้ำเข้านา มันไม่มีแล้วนะครับ มันเป็นไปไม่ได้ 

6. ข้ามเรื่องไฟฟ้าไปก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่า เมื่อติดตั้งปั๊มน้ำเสร็จแล้ว ในระยะยาวก็ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องขโมยขโจรที่อาจเข้ามาขโมยน้ำหรือปั๊มน้ำของคุณได้อีก ใครจะเฝ้า เฝ้าอย่างไร ถ้าจะจ้างคนมาเฝ้า จะใช้เงินจากส่วนไหน หรือหากจะตัดสินใจเฝ้าเอง วิถีชีวิตของเกษตรกรจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้ามองจากปัจจัยทั้งหมด การทำการเกษตรแบบโคก หนอง นา ดูเหมือนจะทำเป็นอาชีพหลักได้ยาก เพราะต้องการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในหลายด้าน หากจะใช้โคก หนอง นา โมเดลมาเแก้ปัญหาในระดับมหภาคและแก้อย่างเป็นระบบ

7. หากถอยออกมามองในระดับชุมชน หากว่าชุมชนสักแห่งสนใจจะทำที่กักเก็บน้ำเอาไว้ใช้เป็นของตัวเอง ก็มีคำถามมากมายที่ชวนคิดต่อ เช่นว่า ชุมชนจะเอาเงินจากไหนในการจัดการ ตั้งแต่หาที่ดินที่เหมาะสม องค์ความรู้ที่จะจัดการ ไปจนถึงการจัดหาทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องใช้ หากมองให้ลึกลงไปอีก พบว่าปัญหานี้อาจซับซ้อนกว่านั้น เช่น การทำ contract farming บนที่เดิมชาวบ้านที่ทำอยู่ล่ะ จะเกิดอะไรต่อ อะไรคือสิ่งรับประกันว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตจะทำให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง ที่ดินที่หายไปเพื่อการทำบ่อกักเก็บน้ำ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็จะย้อนกลับมาว่า ตลาดของสินค้าที่มาจากแนวความคิดนี้มีอยู่จริงไหม หากตอบไม่ได้ ผมก็คิดว่านี่เป็นการทำสวนเพื่อความสุขทางใจมากกว่า  

8. ทุกวันนี้ชุมชนมีความสามารถในการจัดการตัวเองได้น้อยมาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสม ทั้งรัฐเองก็ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณได้ ดูได้จากงบประมาณกว่า 4,700 ล้านบาทที่รัฐใช้ไปในโครงการเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็พบปัญหาเรื่องการทุจริตและปัญหาเรื่ององค์ความรู้ที่ถ่ายทอดไปถึงชาวบ้าน ระบบสหกรณ์ที่น่าจะเป็นที่พึ่งพิงของชุมชนขนาดเล็กๆ ที่สามารถออมเงิน ตรวจสอบกันเองและฝึกการจัดการบริหารต่างๆ รัฐก็ไม่ได้สร้างกระบวนการเหล่านี้ให้เข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรทำหน้าที่ ‘ส่งเสริม’ แต่ส่วนมากจะทำหน้าที่เป็น ‘ผู้จับผิด’ มากกว่าบทบาทของผู้ส่งเสริม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการปกครองไทยที่ติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์มาอย่างยาวนานจนผมเองก็คิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

9. สิ่งที่พอจะเป็นไปได้หากรัฐต้องการเปลี่ยน รัฐควรลงทุนเรื่องในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ผ่านหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาอย่าง กรมชลประทานที่มีสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาเป็นศูนย์กลางข้อมูล ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้หน่วยงานราชการมีความสามารถในการบูรณาการ จัดทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการสร้างบ่อพักน้ำแบบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กรมชลประทานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ก็ต้องมีเรื่องที่ดินเข้ามาจัดการเรื่องที่ดิน หรือกรมทางหลวงอาจต้องเข้าช่วยเรื่องถนนหนทาง ไหนจะเรื่องไฟฟ้าอีก ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ต้องมีโซ่ข้อกลางเข้ามาช่วย แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ประเทศเราไม่มีใครฟังใคร ต่างคนต่างหวงผลงาน ต่างคนต่างมีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองคนละพรรค และแต่ละคนก็ไม่ได้เห็นภาพรวมร่วมกันเสียทีเดียว มองถึงแต่ข้อได้เปรียบเชิงการเมืองเสียมากกว่า แต่ครั้นจะตั้งเป้าเรื่องการกระจายอำนาจไปให้ชุมชนก็เกรงว่าตัวเองจะสูญเสียความสำคัญ โดยเฉพาะฐานอำนาจของตัวเอง และอีกอย่างคือ การพัฒนาเช่นนี้ใช้เวลานานเกินกว่ารอบของการยุบสภา  

10. โคกหนองนาจึงเป็นเรื่องของนาที่ไม่สามารถทำได้จริง มันเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับข้าราชการเกษียณ คนที่พร้อม หรือคนที่มีต้นทุนทางสังคมประมาณหนึ่ง แต่สำหรับการนำมาแก้ปัญหาสังคมในเชิงมหภาค แนวความคิดแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้ หากว่าเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และยิ่งยากไปอีกขั้นที่ว่า หากอยากทำขึ้นมาจริงๆ เราจะอยู่รอดในโลกทุนนิยมได้จริงหรือไม่ ในประเทศที่ระบบสวัสดิการของรัฐไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะอยู่ได้สบายๆ 

…ก็บ่นเบื่อกันไปครับ ได้แต่หวังว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วม

อ้างอิง


แบบเแปลนมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล

ส่องทุจริต รื้อความเข้าใจ “โคกหนองนาโมเดล”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save