fbpx

รักคือสิ่งใดอะไรหนา Klara and The Sun (คลาราและดวงอาทิตย์)

Klara and The Sun (2021) เป็นนิยายเรื่องล่าสุดของคาสึโอะ อิชิงุโระ และเป็นเรื่องแรกของเขา นับตั้งแต่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2017 รวมทั้งเป็นผลงานล่าสุดที่มีการแปลไทย ถัดจาก The Remains of the Day (1989 ชื่อไทยว่า เถ้าถ่านแห่งวารวัน), Never let Me Go (2005 ชื่อไทยว่า แผลลึกหัวใจสลาย), Nocturnes: Five Stories of Music and Nightfall (รวมเรื่องสั้นปี 2009 ตั้งชื่อไทยว่า เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง) และ The Buried Giant (วรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซี พิมพ์เผยแพร่ปี 2015 ชื่อไทยคือ ยักษ์ใต้พิภพ)

Klara and The Sun ใช้มุมมองการเล่าเรื่องแบบ First Person Point of View อันได้แก่การเล่าผ่านตัวละครชื่อคลารา คาสึโอะ อิชิงุโระเป็นนักเขียนที่นิยมใช้มุมมองการเล่าเรื่องเช่นนี้ และมีความถนัดชำนาญอยู่ในขั้นเทพ จุดเด่นสำคัญที่เขียนได้อย่างน่าอัศจรรย์มากคือ ขณะกำลังเล่าเรื่องราวมุ่งไปข้างหน้า ลักษณะนิสัยและพื้นเพความเป็นมาหนหลังของตัวละครก็ปรากฏขึ้นไปพร้อมๆ กัน และสิ่งที่ตัวละครเป็นอยู่ก็กำหนดท่วงทีลีลาของเรื่องเล่านั้นๆ ให้เกิดรสและบุคลิกเฉพาะตัว

พูดให้ชวนปวดหัวคือ ในเรื่องเล่ามีการแจกแจงให้เห็นนิสัยของตัวละคร ขณะเดียวกันบุคลิกพื้นฐานตัวละครก็กำหนดท่วงทีลีลาให้แก่เรื่องเล่า

ยกตัวอย่างเช่น ใน The Remains of the Day เรื่องทั้งหมดเล่าผ่านชายวัยกลางคนชื่อสตีเวนส์ หัวหน้าคนรับใช้ในคฤหาสน์หรูหราของผู้ดีเก่าในอังกฤษ ยึดมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรี ปกปิดเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่แสดงออกให้ใครล่วงรู้ เรื่องที่บอกเล่าจึงเต็มไปด้วยถ้อยคำสำนวนสุภาพเรียบร้อย มีลักษณะเป็นทางการ บรรยายพรรณนาถึงสิ่งต่างๆ ด้วยโครงสร้างรูปประโยคยอกย้อน อ้อมค้อมและหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา

คลาราผู้เล่าเรื่องใน Klara and The Sun ก็แสดงบทบาทหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน ข้อแตกต่างคือเธอเป็นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ เรียกกันว่า AF หรือ Artificial Friend ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นเพื่อนของเด็กๆ

คลาราถูกตั้งโปรแกรมให้มีคุณสมบัติช่างสังเกตต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกละเอียดอ่อนต่อทุกอย่างที่พบเห็น ขณะเดียวกัน การเป็นเอเอฟที่ไม่เคยสัมผัสกับมนุษย์หรือโลกกว้างภายนอกมาก่อน ก็ทำให้เธออยู่ในสภาพใกล้เคียงกับเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจอะไรต่อมิอะไรมากมาย จนกลายเป็นการมองสารพัดสิ่งด้วยความรู้สึกตื่นเต้น แปลกใหม่ และเกิดความเข้าใจแบบเพิ่งรู้จักเรียนโลก

พื้นฐานเช่นนี้ส่งผลให้เรื่องเล่าในนิยายใช้ภาษาถ้อยคำสำนวนเรียบง่าย มุ่งบรรยายภาพฉากหลังอย่างละเอียดถี่ถ้วน จับสังเกตรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ความเข้าใจและไม่เข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ (ในแง่นี้ พูดได้ว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งในการทำให้ผู้อ่านรู้และเข้าใจเท่าๆ กับตัวละคร)

มีความเห็นอย่างหนึ่งซึ่งนักวิจารณ์และนักอ่านจำนวนมากกล่าวไว้ตรงกันคือ Klara and the Sun ค่อนข้างใกล้เคียงและชวนให้นึกถึงผลงานก่อนหน้าอย่าง Never Let Me Go

อย่างแรกคือ นิยายทั้งคู่ล้วนมีโครงสร้างการเล่าเรื่องเน้นให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกในใจของตัวละคร  มากกว่าจะคำนึงถึงความหวือหวาจัดจ้านของพล็อตเรื่อง (ซึ่งเมื่อติดตามไปจนจบครบถ้วน จะพบว่าค่อนข้างเรียบง่าย แต่ด้วยวิธีการเล่าลำดับอย่างประณีตเปี่ยมชั้นเชิง อิชิงุโระทำให้ความไม่โลดโผนนั้นเข้มข้นชวนติดตาม และนำไปสู่ความลับที่สั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน)

อย่างต่อมาคือ ทั้งสองเรื่องจัดอยู่ในประเภทนิยายวิทยาศาสตร์สะท้อนถึงสังคมแบบ dystopia บอกเล่าเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งไม่ได้ระบุเวลาแน่ชัด รวมทั้งสถานที่ฉากหลังก็ไม่ได้กล่าวเจาะจงว่าเป็นที่ใด แต่ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในอเมริกา

สังคมแบบ dystopia ในนิยายทั้ง 2 เรื่องนี้เล่าแสดงออกมาแบบเดียวกัน คือเหตุการณ์บ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แลดูปกติธรรมดา เกือบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากโลกร่วมสมัยในปัจจุบันของผู้อ่าน แต่แล้วกลับค่อยๆ ปรากฏรายละเอียดปลีกย่อยที่แสดงถึงความไม่ปกติทีละนิด (โดยปราศจากคำอธิบายขยายความที่แจ่มชัด) จนกระทั่งผู้อ่านสามารถปะติดปะต่อ ‘โลกที่ไม่พึงปรารถนา’ นั้น เป็นภาพรวมกว้างๆ ขึ้นมาได้ในที่สุด

ถ้าหากไม่นับการที่ตัวเอกผู้เล่าเรื่องเป็นหุ่นยนต์ กว่าผู้อ่านจะตระหนักว่า นี่เป็นนิยายแนว dystopia ก็ปาเข้าไปเกินครึ่งค่อนเรื่องเลยทีเดียว

พูดง่ายๆ นิยายของคาสึโอะ อิชิงุโระ สะท้อนภาพสังคม dystopia ด้วยการแสดงออกจำกัดแต่เพียงน้อย รวมทั้งใช้หลักการ ผู้อ่านรู้และมีความเข้าใจสถานการณ์เท่าๆ กับคลารา ดังนั้นต้นสายปลายเหตุทำนองว่า ‘เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’ จึงถูกละไว้ไม่มีการบอกเล่ากระจ่างชัด

กระทั่งว่าในรายละเอียดสำคัญบางอย่าง เช่น ‘การยกระดับ’ ก็เล่าในลักษณะให้ตัวละครอื่นๆ พูดพาดพิงถึงผ่านๆ เหมือนทุกตัวละครที่เป็นมนุษย์รู้และเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ขณะที่ผู้อ่านเกิดคำถามว่า มันคืออะไร? จนกระทั่งติดตามไปเรื่อยๆ จึงเกิดความเข้าใจย้อนหลัง

มีรายละเอียดคลุมเครือทำนองนี้อยู่หลายอย่าง เช่น สาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่ร้าวฉาน กลุ่มคนที่พ่อสังกัดเข้าร่วมหลังแยกกันอยู่กับแม่ ทั้งหมดนี้ผู้อ่านไม่ทราบชัดว่าอะไรเป็นอะไร (คล้ายๆ กับการประชุมเพื่อถกกันเรื่องการเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน The Remains of the Day) แต่ที่แน่ๆ คือทั้งหมดนี้เป็นชิ้นส่วนรายละเอียดที่หนุนเสริมทำให้ภาพสังคมแบบ dystopia เพิ่มทวี มันอาจไม่ได้สะท้อนถึงความเสื่อมออกมาอย่างจะแจ้ง แต่ทำให้ตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากล แปลกแปร่งไม่เป็นปกติ

ย้อนกลับมาที่ ‘การยกระดับ’ ซึ่งผมคิดว่าเป็นร่องรอยเบาะแสที่จับต้องได้มากสุดของความเป็น dystopia ในนิยายเรื่องนี้ สรุปความสั้นๆ คือกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า เพื่อทำให้เด็กๆ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น และสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ก็ให้สิทธิในการเข้าเรียนสำหรับคนที่ผ่าน ‘การยกระดับ’ แล้วเท่านั้น

แต่ปัญหาคือ ‘การยกระดับ’ นั้น ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับเด็กบางคน จนมีอาการป่วยเรื้อรัง สุขภาพทรุดโทรม เด็กหญิงโจซีก็เป็นหนึ่งในผู้โชคร้าย

เรื่องราวหลักๆ ในนิยายหลังผ่านช่วงบอกเล่าความเป็นมาของคลาราแล้วก็คือความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์กับเด็กหญิง

ตรงนี้เล่าเพิ่มได้อีกนิดว่าโลกอนาคตใน Klara and The Sun ปราศจากแวดวงสังคม โจซีมีโอกาสได้พบปะเด็กอื่นๆ รุ่นราวคราวเดียวกันนานๆ ครั้งผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า ‘งานพบปะปฏิสัมพันธ์’ (ซึ่งเต็มไปด้วยความเหินห่าง เย็นชา แปลกหน้าต่อกัน และไม่เป็นมิตร) อาจเป็นด้วยเหตุนี้ Artificial Friend จึงถูกสร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘มิตรแท้’ ให้กับเด็กๆ (ซึ่งอยู่ในครอบครัวฐานะดี)

ผมอ่านนิยายเรื่องนี้ด้วยความเพลิดเพลินชวนติดตามตั้งแต่เปิดฉากเริ่มเรื่อง และสัมผัสได้ทันทีถึงความเป็นงานเขียนชั้นดี ลีลาทางศิลปะในการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าอ่าน แต่ในทางตรงข้าม ยิ่งอ่านก็ยิ่งสงสัยคลางแคลงใจนะครับว่านิยายเรื่องนี้มีเป้าประสงค์จะเสนอเนื้อหาอะไร?

พูดง่ายๆ คืออ่านๆ ไปก็มองไม่เห็นทางนะครับ ว่าผู้เขียนจะพาเราไปไหน?

จนกระทั่งใกล้ๆ จบ เมื่อความลับสำคัญเปิดเผยออกมานั่นแหละครับ จึงสิ้นสงสัย กลายเป็นความประทับใจ

ประเด็นเนื้อหาใน Klara and The Sun สะท้อนแง่มุมเอาไว้หลากหลาย เบื้องต้นเลยคือการพูดเรื่องเดียวกับที่หนังและนิยายจำนวนมากเคยนำเสนอเอาไว้ ตั้งคำถามต่อ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ว่าจะมีศักยภาพเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ ได้มากน้อยเพียงไร? และจะเข้ามาทำหน้าที่แทนได้แนบสนิทสมบูรณ์แบบหรือไม่?

นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การให้คำตอบข้างต้น แต่กำหนดสร้างสถานการณ์ที่ทำให้ตัวละครทั้งหมดต้องไตร่ตรองใคร่ครวญ เกิดการตัดสินใจครั้งสำคัญ ผ่านคำถามต่างๆ ได้อย่างลุ่มลึกและแหลมคม

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งแตกต่างเด่นชัด คือหุ่นยนต์ใน Klara and The Sun ไม่ใช่ตัวละครปัญญาประดิษฐ์ที่เผชิญเหตุการณ์สารพัดสารพัน แล้วค่อยๆ เกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง จนมีอารมณ์ความรู้สึก มีชีวิตจิตใจในบั้นปลายท้ายสุด

คลาราเป็นหุ่นยนต์ที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึกละเอียดอ่อนมาตั้งแต่เบื้องต้น มีความรักผูกพันและความปรารถนาดีต่อโจซีตั้งแต่แรกพบ ดังนั้นบทเรียนของเธอจึงไม่ใช่การแปรเปลี่ยนจากสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกตั้งโปรแกรมแข็งทื่อตายตัว ไปสู่ความรู้ร้อนรู้หนาวมีชีวิตจิตใจ รู้จักทุกข์โศกสุขปีติใดๆ

เส้นทางการเรียนรู้ของคลาราจึงเป็นการใช้พื้นฐานจิตใจอ่อนไหวเปี่ยมด้วยความรัก ผ่านเหตุการผจญภัย ผ่านความสัมพันธ์ต่อโจซีและครอบครัว จนกระทั่งเข้าใจความหมายของความรักที่แท้จริง (บนพื้นฐานของคำถามสำคัญที่ว่า มีความลับเกินหยั่งรู้อันใดอยู่ในก้นบึ้งไร้จุดจบของจิตใจมนุษย์)

ผมคิดว่าการค้นหาความหมายอันถ่องแท้ของความรัก เป็นประเด็นแก่นเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ และที่ชอบมากคือแง่มุมดังกล่าวไม่ได้เล่าสะท้อนผ่านบทพูดสนทนาหรือคำอธิบาย สิ่งที่คลาราเรียนรู้เกิดความเข้าใจ ปรากฏผ่านการกระทำ ความรู้สึกของตัวละครรายล้อมรอบๆ โจซี ไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้เชื่อคล้อยตามเทคโนโลยีก้าวหน้า รวมถึงระเบียบครรลองของสังคม พ่อผู้มีทัศนะขัดแย้งตรงข้ามอยู่อีกฟาก ริกเด็กชายเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเพื่อนรักเพื่อนสนิทเพียงหนึ่งเดียวของโจซีมาตั้งแต่วัยเยาว์ (ก่อนที่คลาราจะก้าวเข้ามามีบทบาท)

ตัวละครเหล่านี้มีวิธีแสดงออกและการปฏิบัติต่อโจซีผิดแผกแตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนทำไปเพราะความรักตามความคิดความเชื่อของตน (แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาและเธอเหล่านี้ขัดแย้งไม่ลงรอยกันก็เกิดจากความรักด้วยเช่นกัน)

แง่มุมสำคัญต่อมาก็คือศรัทธาและความหวัง นิยายเรื่อง Klara and The Sun มีบทสรุปลงเอยที่ให้ความรู้สึกตราตรึงซึ้งใจ และหม่นเศร้า แต่โดยรวมแล้วนี่คือนิยายที่เผยแสดงให้เห็นแง่งามกินใจ

 แง่งามนั้นก็คือการพูดถึงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ยินยอมสูญเสียความหวัง

ชื่อเรื่อง Klara and the Sun มีความหมายสำคัญในแง่นี้ คลาราเป็นหุ่นยนต์ที่มีพลังงานชีวิตจาการรับแสงอาทิตย์ ประกอบกับเหตุการณ์เล็กๆ ที่เธอสังเกตเห็นขณะอยู่ในตู้โชว์หน้าร้าน ทำให้เธอเกิดศรัทธาใหญ่หลวงต่อดวงอาทิตย์

ความเชื่อและความรู้สึกดังกล่าว ทำให้ดวงอาทิตย์ในความเข้าใจของคลาราเป็นพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ และเทียบเท่ากับพระเจ้า จนนำไปสู่การตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างในช่วงท้ายๆ

การกระทำของคลาราไม่อาจพิสูจน์ชัดว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่อาจอธิบายด้วยเหตุและผลหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ที่แน่ๆ คือการกระทำและการตัดสินใจนั้นกอบกู้ ปลุกเร้า ทำให้ตัวละครอื่นๆ อย่าง พ่อ แม่ และริก ซึ่งกำลังท้อแท้ทอดอาลัย หวนกลับมามีความหวังอีกครั้ง

ประเด็นสุดท้ายที่ผมนึกออก เป็นไปตามขนบของนิยาย dystopia นะครับ นั่นคือการพูดถึงสังคมที่ขัดแย้งตรงข้าม ด้านหนึ่งก็เจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัย แต่ในทางตรงข้ามชีวิตความเป็นอยู่ก็ถดถอยเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยปัญหานานัปการ

สิ่งที่น่าสนใจในนิยาย dystopia ของคาสึโอะ อิชิงุโระก็คือ เขาไม่ได้มองเทคโนโลยีด้วยทัศนะติดลบ แต่แสดงให้เห็นทั้งคุณและโทษ และดูจะเข้าลักษณะของการใช้จินตนาการสร้างสังคม dystopia ขึ้นมาในนิยาย เพื่อตั้งคำถามถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำยุค และค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ต้องชดใช้ รวมถึงคำถามถึงความถูกต้องทางจริยธรรมต่อสิ่งที่ความทันสมัยต่างๆ จะนำมาสู่มนุษย์

ผมเคยอ่านจากที่ใดที่หนึ่ง (จำต้นทางที่มาไม่ได้แล้วนะครับ) อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เสนอทัศนะเอาไว้ว่าสังคมแบบ dystopia นั้น ลึกๆ แล้วสืบเนื่องมาจากสังคมแบบ utopia ที่ล้มเหลวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นิยายของคาสึโอะ อิชิงุโระก็มีแนวคิดขานรับใจความข้างต้นนะครับ

นอกเหนือจากความยอดเยี่ยมในการเล่าเรื่องเปี่ยมด้วยชั้นเชิงลีลาทางศิลปะแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมชื่นชอบงานเขียนของคาสึโอะ อิชิงุโระคือเนื้อหาสาระที่สื่อสารออกมาผ่านนิยายของเขา ซึ่งนำเสนอออกมาพอเหมาะกำลังดี

กล่าวคือ ด้านหนึ่งก็มีทั้งความลึกซึ้ง ชวนให้ครุ่นคิดตีความเพิ่มเติมต่อไปอีกหลังจากอ่านจบ ไม่มีลักษณะเป็นคำตอบตายตัวเบ็ดเสร็จ เต็มไปด้วยการทิ้งคำถามคมคาย (และยากแก่การสรุปชี้ขาดไปในทางใดทางหนึ่ง) ทว่าพร้อมๆ กันนั้น การเสนอแก่นสารสาระในนิยายของเขา ก็ไม่ได้ทอดทิ้งคนอ่านไปไกล มีรายละเอียดให้ยึดจับ มีความชัดเจนอยู่มากพอสมควรแก่การทำความเข้าใจ

เทียบกับนักเขียนรางวัลโนเบลอื่นๆ แล้ว งานของคาสึโอะ อิชิงุโระ จัดอยู่ในหมวดหมู่ อ่านง่าย เข้าใจง่ายนะครับ และอีกอย่างที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน คือลีลาเยือกเย็นค่อยเป็นค่อยไปในการโน้มน้าวสร้างความซาบซึ้งสะเทือนใจและบาดลึกอย่างแนบเนียน จนแทบไม่รู้สึกถึงการเร้าอารมณ์ใดๆ เลย

พูดอีกแบบคือนิยายของคาสึโอะ อิชิงุโระนั้นไม่บีบคั้น ฟูมฟาย (แม้ว่าตัวพล็อตและเหตุการณ์จะเอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายดายเหลือเกิน) เป็นอารมณ์ที่แผ่วบาง แต่อ่านจบแล้วติดค้างในใจและความทรงจำไปอีกนาน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save