fbpx
Justice Next Challenges: ความท้าทายใหม่ของระบบยุติธรรมไทย กับ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

Justice Next Challenges: ความท้าทายใหม่ของระบบยุติธรรมไทย กับ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

คดี ‘บอส อยู่วิทยา’ เปิดเปลือยปัญหาหลากมิติของระบบยุติธรรมไทย — อะไรคือบทเรียนสำคัญสำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เราจะยกระดับธรรมาภิบาลในระบบยุติธรรมและฟื้นฟูหลักนิติธรรมในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างไร

สนทนากับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

:: ระบบยุติธรรมเป็นรากฐานสำคัญของสังคม ::

 

 

จากคดีของวรยุทธ (บอส) อยู่วิทยา ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพราะเราเห็นผู้เชี่ยวชาญออกมาให้สัมภาษณ์กันเยอะ แต่ยังไม่มีใครถามประชาชนชัดๆ เลย ซึ่งผลที่ได้ออกมาน่าสนใจมาก คนมองว่าคดีของวรยุทธเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะประชาชนไม่ได้ไม่พอใจเฉพาะคดีนี้ เมื่อถามต่อไปว่า ประชาชนไม่พอใจเรื่องอะไรมากที่สุด คำตอบคือ คนมองว่ากระบวนการยุติธรรมเลือกปฏิบัติ ถูกซื้อได้ด้วยเงินหรืออำนาจ

ก่อนหน้าจะมีคดีวรยุทธ กระบวนการยุติธรรมก็ได้คะแนนคาบเส้นอยู่แล้ว คือได้ 2.4 เต็ม 5 แต่พอมีคดีนี้เกิดขึ้น คะแนนก็ลดลงเหลือประมาณ 0.99 เท่ากับว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 40% ให้คะแนนกระบวนการยุติธรรม 0 คะแนน ตรงนี้แสดงถึงความไม่พอใจในระบบยุติธรรมที่สะสมมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่อันตรายมาก เพราะในสังคมหนึ่งๆ จะให้คนเห็นตรงกันหรือไม่มีปัญหากันเลยคงยาก แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมชี้ผลแล้ว คนต้องยอมรับ เชื่อถือ เรื่องต้องจบและยุติด้วยความเป็นธรรมจริงๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น แม้คนจะไม่พอใจ แต่ถ้าเห็นมันยุติธรรมแล้วก็จะไปต่อได้ จึงกล่าวได้ว่า ระบบยุติธรรม หลักกฎหมาย และหลักนิติธรรมคือกระดูกสันหลังของสังคม ถ้าหลักเหล่านี้ไม่ดีหรือมีพื้นฐานที่ไม่มั่นคง สังคมจะเดินต่อไปไม่ได้

เรื่องนี้สะท้อนประเด็นเชิงการเมืองเหมือนกัน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมมีโอกาสเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ตอนนั้นผมมีโอกาสได้รับฟังคู่ขัดแย้งเยอะมาก และทุกฝ่ายบอกตรงกันว่า ปัญหาที่ร้ายแรงและอยากให้ได้รับการแก้ไขมากที่สุดคือ การส่งเสริมหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง พูดให้ชัดเจนคือ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็เห็นตรงกันว่า หลักนิติธรรมควรได้รับการดูแลและการยอมรับ

เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งที่เราเห็นกันมาก่อนหน้านี้ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่การพยายามใช้กระบวนการยุติธรรม หรือทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทำให้ฝ่ายตนได้เปรียบจะทำลายโครงสร้างความน่าเชื่อถือของสังคม เพราะพอระบบอ่อนแอแล้ว ก็ย่อมจะถูกดึงหรือทำให้เบี่ยงเบนไปทางไหนก็ได้ ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศจริงๆ การสังคายนาปัญหาทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักนิติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

 

:: Rule of Law ::

 

 

หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นคำที่ให้คำจำกัดความยาก แต่ถ้าให้คิดง่ายๆ คือการเริ่มจากความคิดว่า ถ้าสังคมใดจะพัฒนาอย่างยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย สังคมนั้นต้องปกครองด้วยกฎหมาย มีกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีคนหรือคณะบุคคลเป็นใหญ่ ซึ่งกฎหมายที่จะเป็นใหญ่ต้องมีที่มาจากคนส่วนใหญ่หรือประชาชน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน และต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ

ดังนั้น หัวใจของหลักนิติธรรมคือ สังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย เป็นธรรมกับทุกคน และมีระบบแวดล้อมที่ทำให้ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ซึ่งการจะไปสู่จุดนี้ได้ก็ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การพัฒนากฎหมายที่ต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่เมื่อดูที่ประเทศไทย ด้วยความที่ระบบการเมืองของเราอ่อนแอ การปฏิรูปกฎหมายจึงมาจากองค์กรของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ส่วนราชการไม่ค่อยบูรณาการกัน ทำให้แม้แต่กฎหมายแม่บทใหญ่ๆ ก็มีปัญหาได้ ขณะที่ในประเทศที่พรรคการเมืองพัฒนาแล้ว พรรคจะเป็นเจ้าของร่างกฎหมาย เอากฎหมายมาใช้หาเสียงได้ เป็นกระบวนการที่พวกเขาได้มีส่วนร่วม บ้านเราก็น่าจะพัฒนาไปสู่ตรงนั้นมากขึ้น

สภาพของหลักนิติธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งที่โปร่งใส จึงต้องมีกระบวนการออกแบบกฎหมายและระบบธรรมาภิบาลที่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่คนทั่วไปไม่ค่อยเห็น เหมือนอากาศหรือน้ำที่เรามีอยู่ตลอดเลยไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ขาดสิ่งเหล่านี้ไป คนจะรู้สึกว่าสังคมไม่ยุติธรรม และสันติสุขก็จะไม่เกิด

 

:: ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ::

 

 

คำว่า ‘กระบวนการยุติธรรม’ มีความหมายกว้างกว่าที่เราคิด เพราะไม่ได้มีแค่ตำรวจหรืออัยการ แต่เป็นกระบวนการใหญ่และซ้อนกับระบบกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเราปฏิรูปโดยไม่เข้าใจหรือไม่เห็นทิศทางอย่างถ่องแท้ ก็อาจจะกลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งยุ่งมากขึ้น

ถ้าเจาะเฉพาะคดีของวรยุทธ บางคนตั้งคำถามว่า ต้องปฏิรูปตำรวจไหม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องดี มีข่าวออกมาเหมือนกันว่า มีความพยายามจะทำให้ระบบการโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น และหวังว่าถ้ากระจายอำนาจออกไปให้ประชาชนตรวจสอบได้มากขึ้น ความเป็นวิชาชีพในแต่ละสาขาของตำรวจจะดีขึ้น แต่ในคดีนี้หรือแม้แต่คดีอื่นๆ ประเด็นจะอยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐาน เราจะเชื่อได้แค่ไหนว่า การรวบรวมพยานหลักฐานโดยต้นน้ำคือตำรวจ ผ่านมาที่อัยการ ไปจนถึงศาล เป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ

ตามหลักสากล เขาจะไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน แต่ต้องมีการตรวจสอบระหว่างกัน เช่น องค์กรอัยการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจะทำงานใกล้ชิดกับตำรวจตั้งแต่รวบรวมพยานหลักฐาน ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเยอรมนี ถ้าเป็นคดีที่ไม่ซับซ้อนมาก ตำรวจจะทำคดีและอัยการจะมากำกับอยู่ไกลๆ แต่ถ้าซับซ้อนมากๆ อัยการในเกาหลีหรือญี่ปุ่นจะลงมือทำเองเลย หรือในยุโรปที่เป็นต้นแบบของการตรวจสอบถ่วงดุลกันในระบบไต่สวน เวลาตำรวจเข้าไปจับกุมใคร จะมีฝ่ายคดีหรืออัยการที่มากำกับตำรวจอีกที ส่วนศาลก็มากำกับในเรื่องการออกหมายค้นหรือไต่สวนว่าจะรับฟ้องไหม ตรงนี้ไม่ใช่ว่าใครเก่งกว่าใคร แต่เราต้องจัดวางให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานก่อนถึงศาล มีความโปร่งใสในการทำงาน ถ่วงดุลระหว่างกัน และถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน

อย่างไรก็ดี ผลการตอบแบบสอบถามจากคดีของวรยุทธส่งสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งว่า แม้ประชาชนไม่มั่นใจว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะสำเร็จไหม แต่ประชาชนก็บอกว่า พวกเขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ดังนั้น ถ้าข้อมูลการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้เป็นสาธารณะและโปร่งใสมากขึ้น ตรวจสอบได้มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ผมคิดว่าเราก็น่าจะใช้แนวคิดเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบได้มาช่วยให้กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานดีขึ้น

ถ้าพูดให้ชัดเจน นี่ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่การปฏิรูปเป็นเรื่องการกระจายอำนาจและบทบาท สร้างความโปร่งใส และให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดุลและคานอำนาจอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าเรามาถึงจุดที่น่าจะทำแบบนี้แล้ว

 

:: รัฐประหารไม่ใช่ทางออก ::

 

 

เป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่คิดถึงอนาคตของตัวเองและของประเทศ ต้องเข้าใจว่าเขาเติบโตมาในโลกที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ชุดความคิดและข้อมูลที่เขาได้รับก็ต่างจากคนรุ่นก่อน พวกเขามองเห็นตัวเองเป็นพลเมืองโลก ไม่ได้มองประเทศไทยในมิติแบบเดิม จึงทำให้เขาตั้งคำถามว่าตำแหน่งของพวกเขาในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราควรต้องหาช่องทางที่จะมีพื้นที่ตรงกลางให้คนมาพูดคุยกัน ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็ก หรือจะกลุ่มไหนก็ตาม เราไม่มีทางจะทำให้คนคิดเหมือนกันหมดได้ ทั้งสองฝั่งย่อมมีคนที่คิดถูก คิดผิด และสุดโต่งกันทั้งคู่ การมีเวทีที่เปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัย การเชื่อมั่นในสันติวิธี การเชื่อมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย จะเป็นคำตอบได้

รัฐประหารไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะการรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกเราว่า รัฐประหารจะทำให้ปัญหาอื่นเกิดตามมา และยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนทั่วไปเห็นด้วยและเข้าใจ บทเรียนเหล่านี้จึงน่าจะเป็นตัวสอนพวกเรา และทำให้คนรุ่นเราอยู่ร่วมกันได้โดยสันติวิธี รวมถึงพยายามกันไม่ให้คนสุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาทำลายความชอบธรรมของกันและกัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ในที่สุดก็จะมีแต่ความรุนแรง เพราะต่างคนต่างหาแง่มุมมาทำร้ายกัน สร้างความไม่ชอบธรรมให้อีกฝ่าย ถ้าเป็นแบบนี้สังคมไทยจะย่ำอยู่กับที่อีกกี่ปีก็ไม่รู้

 

:: ฟังเสียงเยาวชน ::

 

 

ประเทศไทยยังไม่มีเวทีที่เปิดให้ทุกคนมาวาดฝันอนาคตร่วมกัน ซึ่งน่าเสียดายพลังของเยาวชนนะ แต่ก่อนเราอาจเคยปรามาสว่าเด็กรุ่นนี้ไม่มีอะไร แต่พอฟังความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ เราพบว่าความคิดของเขาน่าสนใจมาก แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีทุกเรื่อง แต่ต้องยอมรับว่า เยาวชนคิดเป็นระบบและตั้งประเด็นคำถามไว้น่าสนใจทีเดียว

เรื่องการเคลื่อนไหวของเยาวชนเป็นเรื่องที่ผมพอเห็นความกังวลของทุกฝ่าย ถ้ามองในมุมเยาวชน แน่นอนว่าคำถามใหญ่ของพวกเขาคือ อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป นั่นคือหัวใจใหญ่ เรื่องอื่นเป็นองค์ประกอบ เราต้องไม่เชื่อว่ามีใครไปยุยงเยาวชน แต่ต้องเชื่อว่าพวกเขามีความสามารถที่จะคิดเองได้ อย่างในฮ่องกง สมัยก่อนคนฮ่องกงไม่เคยอิจฉาคนรวยเลย เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่งเขาจะทำงานและร่ำรวยได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้วเพราะตัวโครงสร้าง พอเห็นแบบนี้ เด็กก็รู้สึกไม่มีอนาคต เมื่อรู้สึกไม่มีอนาคตก็อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าเทียบกับไทยก็คงรู้สึกคล้ายกัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงบางเรื่องอาจจะเร็วเกินไป หรือยังไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ตรงนี้ทุกฝ่ายต้องมาคุยกัน มีกรอบเวลาและประเด็นชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องจะแย่ หรือเด็กจะถูกยุยง ถูกปั่นหัวเสมอไป ผมเห็นว่าทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีประเด็นที่ตนเองกังวล ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะรับฟังประเด็นเหล่านี้

 

:: กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีไว้เพื่อผู้ใช้อำนาจ ::

 

 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักและเป็นภาพใหญ่ ถ้าจะแก้ในเรื่องระบบยุติธรรม แน่นอนว่าต้องมีเรื่องหลักการทั่วไปและกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนด้วย เช่น การปฏิรูปตำรวจ ถ้าเราปฏิรูปจากโครงสร้างข้างบนลงมาก็อาจจะดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรากระจายอำนาจสู่ชุมชน และชุมชนนั้นมีคนสนใจเรื่องเหล่านี้ ตำรวจที่ดีจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชน คนไม่ดีก็คงอยู่ยาก

ในมุมนี้ การกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะทำให้พวกเขาสนใจ กระตือรือร้นอยากเข้าร่วม และเป็นพลังสำคัญของเมือง รัฐธรรมนูญควรพยายามทำเรื่องโครงสร้างของระบบใหญ่ๆ แบบนี้ หรือเป็นหลักประกันความอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ขององค์กร โดยเฉพาะเมื่อเราจะให้อำนาจเขา เช่น ถ้าจะให้อำนาจอัยการไปกำกับการสอบสวนของตำรวจ ก็ต้องมั่นใจในโครงสร้างขององค์กรหรือขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ

อีกประเด็นที่อยากพูดคือ การเมืองกับกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ยึดโยงและเกื้อกูลกัน เราจะปฏิรูประบบยุติธรรมโดยไม่ปฏิรูปการเมืองไม่ได้ ทุกอย่างเป็นแพ็กเกจที่ต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลที่จะเอื้อต่อประชาธิปไตย หรือหลักนิติธรรมที่เป็นพื้นฐานในการบังคับใช้กฎหมาย

เพราะฉะนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญจะต้องจัดวางระบบ ทั้งเรื่องธรรมาภิบาลในประชาธิปไตยว่าต้องมีความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎระเบียบ ถ้ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมต้องสามารถลงโทษและไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงได้ ผมมองว่า ถ้าเราจัดวางเรื่องพวกนี้ให้ดีก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีไว้เพื่อผู้ใช้อำนาจ ถ้าจะปฏิรูปตำรวจก็ไม่ต้องถามตำรวจ จะปฏิรูปอัยการก็ไม่ต้องถามอัยการ หรือจะปฏิรูปศาลก็ไม่ต้องถามศาล เพราะเจ้าของอำนาจคือประชาชน จึงต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชนมั่นใจ และเกิดความเชื่อถือศรัทธาในระบบด้วย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save