fbpx
อ่านห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์

อ่านห้วงเวลาแบบคิสซินเจอร์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สวัสดีครับ!

ในบทความเดือนสิงหาคม ผมอยากชวนท่านผู้อ่านพิจารณาห้วงเวลาที่ขอเรียกในที่นี้ว่า Kissingerian Moment ห้วงเวลาตามที่ขนานนามนี้เป็นชื่อที่ตั้งเลียนห้วงเวลาอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Machiavellian Moment ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองจะรู้จักกันดีจากงานชั้นครูของ J. G. A. Pocock [1]

Machiavellian Moment เป็นห้วงเวลาที่เกิดการเบียดขับขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ 2 แบบ คือโลกทัศน์ที่ถูกคุมไว้ด้วยความเข้าใจเวลาตามความคิดทางศาสนา กับโลกทัศน์ที่มาจากสำนึกเกี่ยวกับเวลาแบบใหม่ในทางโลก

เดิมพันของความขัดเเย้งใน Machiavellian Moment คือเสถียรภาพของชุมชนการเมืองแบบมหาชนรัฐ ที่จะเกิดขึ้นมาได้จากความสำเร็จในการปลดปล่อยความก้าวหน้าของสภาวะมนุษย์ออกจากความคิดและจักรวาลวิทยาทางศาสนา มาสู่ความเป็นไปได้และความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ ซึ่งดำรงชีวิตทางโลกอยู่ในมหาชนรัฐ จะก้าวหน้าไปในเส้นเวลาของประวัติศาสตร์จากคุณธรรมแห่งพลเมืองของพวกเขาเอง และจากความสำเร็จในการบ่มเพาะและดำรงคุณธรรมเหล่านั้นไว้ได้ ไม่กลับกลายเสียหายไปเมื่อมั่งคั่งขึ้นมาในทางโภคทรัพย์ส่วนตัว หรือเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในเหตุการณ์ที่โชคชะตาพามาทดสอบพวกเขา

ถ้า Machiavellian Moment เป็นห้วงเวลาในความหมายที่รวบรัดมากล่าวโดยย่อข้างต้น แล้ว Kissingerian Moment คือห้วงเวลาแบบไหน และมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพของสังคมการเมืองแบบใด?

 

เมื่อเฮนรี คิสซินเจอร์ ตีพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาออกมาเป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1957 เขาให้ชื่อหนังสือเล่มนั้นว่า A World Restored [2]  ท่านที่คุ้นกับงานวิชาการของคิสซินเจอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานในระยะต้นของเขา คงทราบดีว่า โลกที่คิสซินเจอร์หมายถึง โลกที่ผู้นำรัฐพยายามจะทำให้มันกลับสมบูรณ์ดีดังเดิมนั้น คือโลกแบบอนุรักษนิยมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองจักรวรรดิอันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ คิสซินเจอร์นำเสนอความพยายามของเมตเตอนิช อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิออสเตรีย ในการวางระเบียบระหว่างประเทศของยุโรปหลังสงครามนโปเลียน ด้วยความมุ่งหมายที่จะใช้ระเบียบระหว่างประเทศนั้นมาช่วยรักษาสังคมการเมืองของระบอบอนุรักษนิยมออสเตรียให้ดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลง

งานของคิสซินเจอร์ที่ศึกษาความพยายามและความล้มเหลวของเมตเตอนิชในการปกป้องรักษาสังคมการเมืองของระบอบเดิมไว้จากพลังที่ก่อตัวขึ้นมาท้าทายและเรียกร้องการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ได้เปิดห้วงเวลาที่น่าสนใจของสังคมการเมืองอนุรักษนิยมแบบจักรวรรดิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกมา พร้อมกับแสดงให้เราเห็นความยากลำบากของผู้นำเมื่อต้องเผชิญประจันกับปัญหาในห้วงเวลาแบบนั้น ที่แนวทางการรักษาเสถียรภาพแบบเดิมไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะรักษาระบอบเดิมไว้ให้มั่นคงกลับยิ่งสร้างข้อจำกัดที่ระบอบนั้นจะสามารถรับมือกับข้อท้าทายใหม่ๆ ได้

คิสซินเจอร์นำปัญหาและแนวทางที่มีจำกัดในการแก้ปัญหาของผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมในห้วงเวลาแบบนี้มาประมวลไว้ในบทความของเขา ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปีที่เขาสำเร็จดุษฎีบัณฑิต ในวารสาร American Political Science Review [3] ความหมายของ Kissingerian Moment ที่ผมหมายถึงสรุปอย่างสั้นกระชับอยู่ในชื่อบทความนี้แล้วว่าเป็นห้วงเวลาที่เกิด “The Conservative Dilemma”

อะไรคือ dilemma ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเผชิญในเวลาแบบนี้ ทำไมจึงไม่มีทางเลือกที่ให้ผลน่าพอใจแก่พวกเขาได้มากนัก ทางออกจาก conservative dilemma หรือการเปลี่ยนออกจากห้วงเวลาแบบ Kissingerian เพื่อกลับคืนสู่เวลาของเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมจะเป็นไปได้เพียงใด

ผมขอนำเสนอการอ่านห้วงเวลาแบบนี้จากข้อเสนอของคิสซินเจอร์ในประเด็นสำคัญบางประเด็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพื่อชวนท่านที่สนใจหางานของเขามาพิจารณาโดยแยบคายต่อไป

 

คิสซินเจอร์เริ่มบทความของเขาได้อย่างน่าติดตามตั้งแต่ต้น ด้วยการเสนอข้อคิดว่าในยามที่ระบบคุณค่าความคิดในสังคมมีเอกภาพ ไม่มีใครที่ไหนลุกขึ้นมาประกาศตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยม ในสภาวะที่สังคมยังมีเอกภาพแบบนั้น การมุ่งแสวงหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเพื่อมาเปลี่ยนแปลงและจัดโครงสร้างทางสังคมเสียใหม่เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครคิด การแบ่งฝ่ายว่าเป็นก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยมจึงไม่มี แต่เมื่อใดที่มีขบวนการฝ่ายอนุรักษนิยมก่อตัวขึ้นมาปกป้องความชอบธรรมของโครงสร้างเดิมที่เป็นอยู่ และยิ่งแสดงพลังออกมาอย่างเข้มข้นเข้มแข็งมากขึ้นเพียงใด ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ในตัวเองว่า เวลาแบบนั้นคือช่วงขณะที่ความชอบธรรมของโครงสร้างสังคมเดิมกำลังสั่นคลอนอย่างถึงที่สุด

เมื่อถึงจุดนี้ วิธีประสานประโยชน์ผสมกลมกลืน ที่เคยใช้สำเร็จอย่างราบเรียบแต่เดิมมา ไม่อาจนำมาใช้ปรับความแตกต่างและสมานความแตกแยกระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้โดยง่ายอีกต่อไป

ในห้วงเวลาที่สังคมการเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาที่มาจากกระแสคลื่นการปฏิวัติ ซึ่งนับวันยิ่งจะขยายออกไป การยืนหยัดประจันหน้าระหว่างเสถียรภาพกับการปรับตัว ระหว่างสิทธิอำนาจกับเสรีภาพ และระหว่างระเบียบกับการวิพากษ์ขัดขืน จะสร้างสภาวะการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันขึ้นมาในสังคม และการประจัญที่ตามมาในที่สุดจะทำลายการยอมรับสิ่งที่เคยเป็นหลักยึดถือร่วมกันของสังคมสำหรับไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงและความเห็นพ้องยอมกันลงไป จนไม่เหลืออะไรที่เป็นเครื่องยึดโยงกันได้อีก

ในห้วงเวลานั้น การปฏิบัติที่เคยเกิดจากสำนึกและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่มีต่อกัน หรือการปฏิบัติตัวตามแบบแผนธรรมเนียมที่เคยมีเคยทำมาตามปกติ จะกลายเป็นบททดสอบที่ใช้เรียกร้องและยืนยันถึงความจงรักภักดี หรือสร้างการต่อต้านเพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งการขัดขืนและหาทางปลดปล่อยการครอบงำของแบบแผนธรรมเนียมเก่า และในขณะที่ทางเลือกอื่นถูกเสนอเข้ามาท้าทายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิม การมุ่งปกป้องโครงสร้างเดิมก็ยิ่งดำเนินไปอย่างขึงตึงไม่มีผ่อนปรนมากยิ่งขึ้นเพราะการตั้งป้อมของแต่ละฝ่าย

สิ่งที่ฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงเรียกร้องมิใช่เพียงแค่การปรับตัวภายในโครงสร้างแบบเดิม แต่เป็นการเปลี่ยนระบอบการเมือง ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ครองไว้ด้วยพวกปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง และขับเน้นความจงรักภักดีขึ้นมาเป็นจริยธรรมและเครื่องมือระดมพลังในการต่อสู้

ในขณะที่ฝ่ายเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงมุ่งนำอำนาจการปกครองคืนมาให้ประชาชนของชาติผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มองเสรีภาพว่าเป็นสิทธิติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เป็นสัจจะที่ยืนยันหลักฐานได้โดยความจริงในตัวของมันเอง และถือการรักษาเสรีภาพว่าเป็นพันธกรณีที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพโดยไม่มีเงื่อนไขข้อแม้ใดๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเมตเตอนิชก็มุ่งรักษาอำนาจอธิปัตย์ของสถาบันพระจักรพรรดิ มองสิทธิอำนาจและระเบียบว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็นของเสรีภาพ และเห็นว่าเสรีภาพจะเกิดขึ้นได้และมีหลักประกันก็จากระเบียบที่ได้รับการยอมรับโดยสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องต้องการเวลา และการมีรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับบุคลิกลักษณะเฉพาะที่เหมาะสมกับคนในชาติแต่ละส่วนที่เป็นสมาชิกของจักรวรรดิ

ในสถานการณ์ประจันหน้าระหว่างการรักษาระเบียบกับการเปลี่ยนแปลง ผู้นำอนุรักษนิยมจะเผชิญกับ dilemma ที่แก้ให้ตกได้ยาก ด้านหนึ่งเขารู้ดีว่าสภาวะปกติไม่อาจกลับคืนมาได้จากการบีบบังคับความจงรักภักดี แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจคล้อยตามข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธชุดคุณค่าเดิมที่เคยยึดถือมาไปหาความปั่นป่วนไม่แน่นอนที่เขาเชื่อแน่ว่ารออยู่ข้างหน้า แต่ทางเลือกสำหรับเขาที่จะแก้ไขปัญหาความแตกแยกในสังคมที่ยากต่อการประสานกลับคืน ให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมเหมือนที่เคยเป็นมา ก็มีเหลืออยู่ไม่มากนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐที่ไม่แยกตัวออกจากสังคม แต่เป็นอำนาจที่เข้าไปจัดและยึดโยงส่วนต่างๆ ในความสัมพันธ์ทางสังคมเข้าไว้ด้วยกันอย่างจักรวรรดิออสเตรีย ที่คนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์ยึดโยงอยู่ร่วมกันโดยความสัมพันธ์กับรัฐและสถาบันพระจักรพรรดิ ความขัดแย้งทางการเมืองกับความขัดแย้งในสังคมจึงไหลเข้าหากัน โดยที่แต่ละส่วนไม่อาจแก้ไขให้กันได้ แต่กลับยิ่งทำให้เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากยิ่งขึ้น และปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อเสรีภาพในสังคมการเมืองแบบนี้ไม่ได้มาจากอำนาจรัฐที่แทรกแซงเข้ามายับยั้งปิดกั้นเท่านั้น แต่ยังมาจากการขาดขันติธรรม ความหวั่นกลัว และอคติเดียดฉันท์ที่คนต่างกลุ่มในสังคมมีต่อกันและหาทางปิดกั้นหรือตอบโต้ก้าวร้าวเข้าหากัน

แต่สถานการณ์จะต่างออกไปในบ้านเมืองที่รัฐกับสังคมดำรงอยู่แยกจากกัน โดยถือสังคมและเสรีภาพส่วนบุคคลว่าเป็นส่วนที่มีอยู่ก่อน และคนในสังคมที่ยึดถือคุณค่าหลักการร่วมกันในการปกป้องรักษาเสรีภาพมาตกลงกันสร้างรัฐขึ้นมา รัฐจึงเป็นผลของสัญญาประชาคมที่สังคมตกลงให้มาทำหน้าที่จัดการเรื่องที่เป็นกิจการสาธารณะและแบ่งสรรจัดการอรรถประโยชน์ต่างๆ

คิสซินเจอร์เสนอว่าในสังคมการเมืองแบบหลังนี้ ความขัดแย้งในปริมณฑลทางการเมืองแก้ได้ไม่ยากนัก เพราะการไกล่เกลี่ยรอมชอมในปริมณฑลการเมืองจะอาศัยอาณัติของสังคมนั้นเองมาตัดสินให้ได้ และการแก้ปัญหาเสรีภาพในสังคมแบบนี้คือการจำกัดอำนาจรัฐที่จะเข้ามาแทรกแซงยับยั้งให้เหลือเท่าที่จำเป็น ซึ่งจัดการได้ง่ายกว่าปัญหาเสรีภาพในสังคมที่แตกร้าวและขาดเจตจำนงร่วมกันของคนในชาติ หรือมีสำนึกเกี่ยวกับความเป็นชาติแตกต่างกัน โดยที่รัฐกับสังคมไม่มีเส้นแบ่งแยกจากกันชัดเจน

ในบ้านเมืองที่รัฐกับสังคมไม่ได้แยกจากกันชัดเจน เสรีภาพจึงขึ้นอยู่กับทั้งคุณภาพของสิทธิอำนาจที่เข้ามาถืออำนาจการปกครองและคุณภาพของสมาชิกในสังคมนั้นเอง การใช้เหตุผลจะให้คำตอบได้ไม่ยากว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป เมื่อสมาชิกในสังคมไม่มีโอกาสและเวลานานพอที่จะบ่มเพาะคุณธรรมพลเมืองสำหรับจะใช้เป็นหลักการกำกับการอยู่กันเองปกครองกันเองร่วมกันในความแตกต่าง และอำนาจการปกครองที่ผ่านมาก็เคยชินแต่การตีกรอบบังคับในทางดิ่งจากบนลงล่าง จากศูนย์กลางสู่รอบนอก ยิ่งเมื่อแต่ละฝ่ายในความแตกต่างนั้นยังยึดฐานคิดที่ทำให้มองตัวเองว่ามีสถานะความถูกต้องทางศีลธรรม หรือยึดถือคุณค่าหลักการที่เป็นสากล เหนือกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งเปิดช่องให้ใช้เป็นเหตุผลมาสนับสนุนรองรับการเข้าข่มขี่ฝ่ายอื่นที่แตกต่างจากตนได้โดยง่ายถ้าไม่รู้จักยับยั้ง

แต่ความรู้จักจำกัดขอบเขตและยับยั้งตนเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเชิงหลักการที่สำคัญของเสรีภาพ ก็บ่มเพาะขึ้นมาได้ไม่ทัน และในสถานการณ์ของการต่อสู้ที่ยังไม่แพ้ชนะ ก็ไม่มีใครมากนักที่จะคิดถึงการรักษาคุณธรรมข้อนี้ต่อฝ่ายตรงข้าม

เมื่อปราศจากความรู้ยับยั้งชั่งใจและจำกัดตัวเองในขอบเขตที่เหมาะสม ในการต่อสู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเมื่อสภาพเดิมไม่อาจฟื้นคืนกลับมา แต่ละฝ่ายจึงมีส่วนวางเงื่อนไขไม่มากก็น้อยให้แก่ความปั่นป่วนขนานใหญ่ทางสังคมที่จะตามมา

คิสซินเจอร์เขียนข้อสังเกต ซึ่งผมขออนุญาตไม่แปล ในบริบทนี้ว่า

[T]he most fundamental problem of politics … is not the control of wickedness but the limitation of righteousness. To ‘punish’ the wicked is a relatively easy matter because it is a simple expression of public morality. To restrain the exercise of righteous power is more difficult because it asserts that right exists in time as well as in space; that volition, however noble, is limited by forces transcending the will; that the achievement of self-restraint is the ultimate challenge of the social order.

อนุรักษนิยมอย่างเมตเตอนิชจึงหวั่นเกรงและคาดการณ์ว่า เสรีภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อระเบียบและสิทธิอำนาจของรัฐเดิมหมดสิ้นไปในสถานการณ์ปฏิวัติ จึงเป็นเสรีภาพที่จะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางสังคมได้มาก และในความปั่นป่วนทางสังคมที่ตามมาแบบนั้นในที่สุดจะพาผู้คนร้องหาผู้ที่จะนำระเบียบกลับคืนมาให้พวกเขาได้ ซึ่งหนีไม่พ้นการมีใครสักคนเผด็จอำนาจขึ้นมาด้วยคำสัญญาที่จะนำระเบียบกลับคืนมา ทรราชย์ไม่ได้เป็นสาเหตุของการปฏิวัติ แต่คือผลตามมาที่เป็นไปได้มากของมัน

คิสซินเจอร์แปลบันทึกของเมตเตอนิชมาลงไว้ให้พิจารณาดังนี้

For thirty-nine years I played the role of rock from which the waves recoil … until finally they succeed in engulfing it. They did not become calm however, afterwards, for what caused their turmoil was not the rock but their inherent unrest. The removal of the obstacle did not alter the situation, nor could it have … I would like to call out to the representatives of social upheaval: “Citizen of the world that exists but in your dreams, nothing is altered. On March 14 nothing happened save the elimination of a single man.[4]

คิสซินเจอร์ดูจะทั้งเห็นใจเมตเตอนิชในสถานการณ์ที่เขาเผชิญ เข้าใจปัญหาความยากลำบากของเขา และพอใจทางคิดในการวิเคราะห์ของเมตเตอนิชเกี่ยวกับ dilemma ของอนุรักษนิยมและเงื่อนไขที่ถูกผูกไว้ในสถานการณ์ที่สังคมเดิมกำลังเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และผลลัพธ์เลวร้ายที่เป็นไปได้ที่จะตามจากการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทุกฝ่ายขาดความยับยั้งชั่งใจและไม่รู้จักระดับความพอเหมาะพอควรสำหรับจำกัดท่าที ข้อเรียกร้อง และการกระทำไม่ให้เกินเลย

แต่ขณะเดียวกัน Kissinger ก็เห็นข้อจำกัดในวิธีจัดการปัญหาของเมตเตอนิชอย่างมาก ที่พยายามใช้กลวิธีทางการทูตและรัฐประศาสโนบายต่างๆ ในทุกทาง ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นอันพึงต้องทำ ที่จะช่วยให้จักรวรรดิออสเตรียมีความสามารถจะปรับตัวเข้าหาข้อเรียกร้องของฝ่ายก้าวหน้า

ในทางหนึ่ง คิสซินเจอร์เข้าใจโจทย์ยากของเมตเตอนิช  เอ็ดมัน เบิร์ก อาจอ้างขนบธรรมเนียมประเพณีที่สังคมสั่งสมมาใช้เป็นเครื่องป้องกันกระแสที่เรียกร้องการปฏิวัติทางสังคม แต่นั่นก็เพราะในอังกฤษ สังคมดำรงอยู่ก่อนและเป็นที่มาของรัฐและการเมือง ประเพณีที่อดีตส่งมอบสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ของสังคมนั้นจึงเป็นเครื่องเแสดงออกของวิถีประชา ที่ไม่ควรยอมให้การปฏิวัติมาทำลาย อย่างน้อยเบิร์กก็อ้างเช่นนั้นได้ แต่สำหรับเมตเตอนิช ขนบธรรมเนียมประเพณีและสำนึกประวัติศาสตร์ของคนต่างกลุ่มในสังคมที่เขาปกครองเป็นพลังที่เขาเผชิญและต้องเข้าไปจัดการ ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาเป็นแนวต้านกระแสปฏิวัติได้ ในทางตรงข้าม มันเป็นที่บ่มเพาะข้อเรียกร้องการเป็นอิสระและสิทธิที่จะกำหนดการปกครองตนเองที่จะทำให้จักรวรรดิดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้

เมื่อไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากการใช้เหตุผลวิเคราะห์ให้เห็นถึงความปั่นป่วนหายนะที่การปฏิวัติสังคมจะก่อให้เกิดขึ้น เมตเตอนิชจึงเลือกทำโดยไม่เข้าไปแตะต้องอะไรที่จะทำให้โครงสร้างเดิมของออสเตรียต้องเปลี่ยนแปลง

 

คิสซินเจอร์ทิ้งคำวิจารณ์อนุรักษนิยมแบบเมตเตอนิชไว้สั้นๆ ในตอนท้ายของบทความที่เขาเขียนว่า แม้ความคิดเมตเตอนิชอาจจะถูกที่ยืนยันว่าใครก็ตามที่ทิ้งอดีตที่เคยมีจะไม่สามารถเป็นเจ้าของอนาคตได้ แต่ก็ต้องกล่าวเพิ่มด้วยว่าใครก็ตามที่พยายามจะเก็บอดีตที่เคยมีไว้ด้วยการหวังจะตามเจอมันในอนาคตด้วย จะลงเอยด้วยความล้มเหลวแน่นอน

คิสซินเจอร์จบบทความของเขาว่า ภารกิจของอนุรักษนิยมไม่ใช่การเอาชนะ แต่เป็นการรักษาสภาวะที่จะกันไม่ให้เกิดกระแสปฏิวัติขึ้นมาได้แต่แรก แต่เมื่ออนุรักษนิยมไม่อาจห้ามกระแสการปฏิวัติไม่ให้เกิดขึ้นมาได้แล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายปฏิวัติได้ด้วยวิธีการแบบอนุรักษนิยม และเมื่อระเบียบได้แตกออกเป็นเสี่ยงแล้ว จะฟื้นฟูกลับมาได้ ก็ต้องให้สังคมผ่านพบเจอกับความปั่นป่วนโกลาหลก่อนเท่านั้น

หรือถ้าคิสซินเจอร์รู้สำนวนไทย เขาคงพูดในภาษาของเราว่า เมื่อถึงคราว Kissingerian Moment แบบนี้ที่ท่านจะต้องตกบันไดของการเปลี่ยนแปลง พลอยโจนลงเถิด โจนลงไปเสียโดยดี และโจนลงให้ดีๆ ก็แล้วกัน

ส่วนผมน่ะหรือ สั้นๆ นะครับ ผมขอให้ทุกท่านสวัสดี.

 

อ้างอิง

[1] J. G. A. Pocock, The Machiavellian Moment: Florentine Political Thought and the Atlantic Republican Tradition (Princeton, N.J.: Princeton University Press, 1975).

[2] Henry Kissinger, A World Restored: Metternich, Castlereagh and the Problems of Peace 18121822 (Boston, M.A.: Houghton Mifflin Company, 1957).

[3] Henry Kissinger, “The Conservative Dilemma: Reflections on the Political Thought of Metternich,” The American Political Science Review Vol. 48, No. 4 (Dec., 1954), pp. 1017-1030. การอ้างอิงข้อความส่วนอื่นๆ ในบทความมาจากงานนี้ของ Kissinger

[4] วันที่ 14 มีนาคม ที่เมตเตอนิชกล่าวถึงในบันทึก เขาหมายถึงวันที่เขาต้องออกจากตำแหน่ง Staatskanzler

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save