fbpx

“คนเราจะต้องทำงานเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ” 70 พรรษา มหาราชา

คนเราจะต้องทำงานเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ควรรับหรือแสวงสิ่งอันใดเป็นการได้เปล่าโดยไม่ต้องทำงาน

นี่คือพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ทรงเป็นนักเรียนในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมักรับสั่งกับนายประสงค์ บุญเจิม อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

ในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม ศกนี้ จึงขอนำเรื่องราวในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง


พระนาม


เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ของวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระอิสริยยศขณะนั้น) ได้ประสูติพระราชโอรส ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

หลังจากนั้นในวันที่ 3 กันยายน 2495 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (ในขณะนั้น) ได้ขนานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ ถวาย ความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

โดยทรงอธิบายความหมายของพระนาม ‘วชิราลงกรณ’ ว่าได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฏขณะทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ผนวกกับ ‘อลงกรณ์’ จากพระนาม ‘จุฬาลงกรณ์’ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ในปี พ.ศ. 2515 และเมื่อสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ก็ได้ทรงสืบราชสมบัติต่อมา โดยใช้พระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

จนเมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 แล้ว จึงมีพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว


กำลังทรงพระสำราญ
(ภาพจาก ราชตระกูล)


พระปรีชาสามารถทางฟุตบอล


นายประสงค์ บุญเจิม อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา (พ.ศ. 2510-2514) เล่าไว้ใน ‘บันทึกความทรงจำ’ ว่า เมื่อทรงย้ายจากประเทศอังกฤษ มาศึกษาต่อในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2513 ที่โรงเรียนคิง ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารแล้ว ทรงตั้งปณิธานที่จะมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อฝึกความทรหดอดทน จึงมิได้ทรงละเลยการฝึกซ้อมทางพลศึกษาและการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอล

สำหรับผู้ถวายการฝึกด้านพลศึกษาและกีฬาฟุตบอลเป็นการส่วนพระองค์ ก็คือ พลตรี สำเริง ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งเข้มงวดกวดขันในหน้าที่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวันเรียนหรือวันหยุด ก็มิได้ทรงงดเว้นการฝึกซ้อมเลย นอกจากที่จำเป็นจริงๆ ดังนั้น จึงทรงสามารถนำทีมฟุตบอลของพระองค์ชนะทีมอื่นๆ ในโรงเรียนอยู่เสมอ

แม้แต่เมื่อเสด็จเยี่ยมข้าราชการและคนไทยในกรุงแคนเบอร์รา ก็ยังทรงฟุตบอลกับข้าราชการสถานทูตในตอนบ่าย “จนข้าราชการเหล่านั้น ซึ่งยังหนุ่มแน่นอยู่หลายคนหมดกำลังไปตามๆ กัน


“นี่ยังไงพุงยื่น”


นายประสงค์ บุญเจิม ยังบันทึกไว้ด้วยว่า “ถึงแม้จะทรงเจริญด้วยพระอนามัยถึงเพียงนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ยังทรงเป็นห่วงในพระวรกายอยู่อีก เคยรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า ‘ท่านทูตนี่หุ่นยังดีอยู่ ทำอย่างไรถึงไม่มีพุง?’ ข้าพเจ้านั้น ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ด้วยเนื้อหนัง ก็ยังมีพุงยื่นอยู่เล็กน้อย จึงกราบทูลว่า ความจริงข้าพเจ้าก็มีพุงยื่นอยู่ แต่พระองค์ท่านต่างหากที่ไม่มีพระนาภียื่นเลย รู้สึกว่าจะไม่ค่อยทรงเชื่อข้าพเจ้านัก เพราะเคยทรงชี้ให้ข้าพเจ้าดูพระนาภี พร้อมกับรับสั่งว่า ‘นี่ยังไงพุงยื่น’ ข้าพเจ้ามองเท่าใดก็ไม่เห็นว่ายื่นแม้แต่น้อยเลย”


นายประสงค์ บุญเจิม (ซ้าย)
เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา พ.ศ. 2510-2514
(ภาพจาก อนุสรณ์นายประสงค์ฯ ใน FB: Bookaya Time)


ทรงคิดถึงเมืองไทย


นายประสงค์ บุญเจิม เล่าไว้ด้วยว่า ทรงติดตามข่าวคราวของเมืองไทยจากหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ “ทรงสนพระทัยเหตุการณ์ทุกชนิด และทรงเป็นห่วงใยในความเป็นไปของบ้านเมืองเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุที่ทำให้ประชาชนคนไทยต้องประสบความทุกข์ยาก เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ และภัยพิบัติใดๆ ทรงปรารภถึงเรื่องนั้นอยู่เสมอ” พร้อมกับรับสั่งว่า ป่านนี้จะเป็นอย่างไรกันบ้าง มีใครช่วยเหลืออย่างไร?

และทรงกระตือรือร้นที่จะเสด็จกลับเมืองไทยในช่วงปิดภาคเรียน โดยรับสั่งกับท่านทูตว่า ไม่ใช่อยากจะไปเที่ยวหรอก ทางบ้านมีงานอยู่มาก อยากจะไปช่วยกัน”   


ไม่โปรดการที่จะใช้สิทธิพิเศษใดๆ เลย


นายประสงค์ บุญเจิม ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า พระอุปนิสัยที่เห็นชัดประการหนึ่ง คือ ความละเอียดถี่ถ้วนและความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น ในห้องทรงพระอักษรส่วนพระองค์ที่โรงเรียนคิง มีความเป็นระเบียบ ทรงทราบว่าอะไรอยู่ที่ไหนทุกอย่าง เพราะทรงจัดข้าวของด้วยพระองค์เอง 

ท่านทูตประสงค์ยังบันทึกไว้ด้วยว่า พระองค์ท่าน “ไม่โปรดการที่จะใช้สิทธิพิเศษใดๆ เลย” เพราะทรงเห็นว่า การใช้อภิสิทธิ์เป็นการเอาเปรียบผู้อื่น และแสดงความอ่อนแอและความไม่สามารถของตนเอง ดังเช่นที่ทรงรับสั่งกับท่านทูตอยู่เสมอว่า

คนเราจะต้องทำงานเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ควรรับหรือแสวงสิ่งอันใดเป็นการได้เปล่าโดยไม่ต้องทำงาน

ด้วยพระอุปนิสัยข้อนี้เอง จึงทรงสอบใบขับขี่รถยนต์ เพื่อจะทรงรับใบขับขี่มาด้วยพระองค์เอง


ทรงใช้เวลาว่างค้นคว้าวิชาการต่างๆ ในห้องสมุดของวิทยาลัยการทหารดันทรูน นครแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย
(ภาพจาก ราชตระกูล)


ถวายพระพร “สมเด็จแม่”


เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงมีพระชนมายุครบ 40 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2515  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศขณะนั้น) มีพระนิพนธ์เป็นกลอนสุภาพถวาย ซึ่งความตอนหนึ่งสะท้อนพระปณิธานของพระองค์ได้เป็นอย่างดี ดังนี้

                        แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้

          ชายจะสู้ สุดชีวี อย่าสงสัย

          จะทำตัว ให้สม แม่วางใจ

          จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรี จักรีวงศ์

                    จะรักหญิง ที่เขา เข้าใจแม่

          จะแน่วแน่ พุทธศาสน์ ถือพระสงฆ์

          การสวดมนต์ ไหว้พระ จะดำรง

          จะมั่นคง รักชาวไทย ไม่เสื่อมคลาย

                    ขอถวาย สมเด็จแม่ เพียงแค่นี้

          จงโชคดี มีสุข ทุกข์จากหาย

          อย่าคิดมาก ทำพระทัย ให้สบาย

          เรื่องลูกชาย แม่อย่าเศร้า เขารักดี


ทรงเป็นหัวหน้าชั้นเรียนวิชาสถานการณ์ปัจจุบัน วิทยาลัยการทหารดันทรูน
(ภาพจาก ราชตระกูล)


ถวายพระพร “ทูลหม่อมพ่อ”


ครั้นถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2515 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีพระชนมายุครบ 45 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนิพนธ์เป็นกลอนสุภาพถวายเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระบรมชนกาธิเบศร และสะท้อนพระปณิธานส่วนพระองค์ได้อย่างน่าสนใจ ความว่า

                        ขอน้อมกราบพระบาทมาบูชาพ่อ

          พ่อเพียรก่อชายมาจนกล้าแข็ง

          พ่อรักชาย ห่วงชาย ไม่แสดง

          พ่อคอยแจ้งทิศทางให้สร้างตน

                    ชั่วชีวิตที่ผ่านมาจนบัดนี้

          เข้าใจดีชายผิดพลาดดื้อสับสน

          เคยสร้างความยุ่งยากให้กังวล

          พ่อสู้ทนให้อภัยแก้ไขมา

                    วันเวลาผ่านไปให้สำนึก

          ในส่วนลึกของพ่อปรารถนา

          ยากจะหาพ่อใครในโลกา

          ที่เมตตารักลูกอย่างถูกทาง

                    จะอดกลั้นขันตีมีมานะ

          เสียสละยุติธรรมทำทุกอย่าง

          จะซื่อสัตย์จริงใจไม่อำพราง

          เดินสายกลางข่มใจให้นิ่มนวล

                    บรรดาข้าฯ บริวารจะสานไว้

          แม้ยากไร้อุ้มชูสุดสงวน

          จะเผื่อแผ่เมตตาเท่าที่ควร

          เป็นขบวนแน่นมัดพัฒนา

                    การศึกษาของชายในปีนี้

          ก้าวหน้าดีผ่านได้ไร้ปัญหา

          ขอถวายทูลหม่อมพ่อที่รอมา

          โล่งอุราวันเฉลิมฯ เพิ่มสุขเอย


บรรณานุกรม

  • กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555.
  • ประยุทธ สิทธิพันธ์. ราชตระกูล. กรุงเทพฯ : สยาม, 2517.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save