fbpx

เมื่อพระมหากษัตริย์เป็นพ่อและข้อผูกมัดทางคุณธรรมของผู้จงรักภักดี

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์

(1)

พระมหากษัตริย์เป็นพ่อ ประชาชนเป็นลูก


ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หรือประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ถูกนำกลับมาใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง ผู้เขียนก็นึกถึงบทความของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เรื่อง ความผิดฐาน ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’: เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก”  ที่พยายามอธิบายความชอบธรรมโดยอ้างว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยนั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการคุ้มครองประมุขรัฐและยังเป็นไปตามบริบทจำเพาะของสังคมไทยที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนมีลักษณะพิเศษเสมือน ‘พ่อกับลูก’

ในเรื่องที่บวรศักดิ์อ้างว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้นก็ได้มีผู้โต้แย้งไว้มากแล้ว[1] แต่ผู้เขียนมีความสนใจเป็นพิเศษต่อคำอธิบายที่ว่าสังคมไทยมีลักษณะจำเพาะ ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ของไทยมี “…ความสัมพันธ์พิเศษที่มีลักษณะยากแก่ความเข้าใจของคนต่างชาติต่างภาษา…” (ในเครื่องหมายคำพูดคือข้อความของบวรศักดิ์) แม้คำอธิบายเช่นนี้จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้มาเป็นเวลานานแล้ว (นานจนกระทั่งเกิดคำถามในใจผู้เขียนว่าแล้วมีประเทศใดหรือวัฒนธรรมใดที่ไม่มี ‘เอกลักษณ์’ หรือ ‘บริบทจำเพาะ’ บ้าง) แต่การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนเป็นเสมือน ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ นี่เองที่ชวนให้ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงในแง่มุมที่ต่างออกไปจากที่ได้เคยมีการพูดกันมาบ้าง

ก่อนอื่นเราควรจะต้องเข้าใจว่า การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนที่เป็นเสมือน ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ นี้เป็นหัวใจสำคัญของวิธีคิดแบบบวรศักดิ์ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในบทความชิ้นนี้ของบวรศักดิ์) และที่สำคัญเขายังได้เสนอด้วยว่าอัตราโทษที่รุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์แบบนี้

บวรศักดิ์เห็นว่าสำหรับสังคมไทยแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ ‘พ่อ’ เป็นความผิดที่ร้ายแรงเหมือนกับการเนรคุณ “…เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกเหมือนพ่อตนเองกำลังถูกทำร้าย…” ดังนั้น “…ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงไม่ใช่การทําร้ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เป็นการทําร้าย “พ่อ” ของคนไทยส่วนใหญ่ เป็นความผิดทางสังคมที่ร้ายแรงเหมือนการเนรคุณและด่าพ่อของตนเอง…”

การที่ ‘ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ ประกอบขึ้นมาจากการ ‘หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย’ ต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้เขียนซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นนักกฎหมายก็เข้าใจว่า ‘การวิพากษ์วิจารณ์’ ไม่ได้นำไปสู่การ ‘หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย’ เสมอไป อีกทั้งการจะพิจารณาว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใดเป็นธรรมหรือไม่ก็ควรจะผ่านการประเมินด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างที่ชัดเจนเสียก่อน เพราะหากยึดถือเอาตามความรู้สึกของพวกรอยัลลิสต์หรือฝ่ายนิยมเจ้าเป็นใหญ่เสียแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างต่อพระมหากษัตริย์ก็คงจะกลายเป็นความไม่เป็นธรรมไปทั้งสิ้น[2]

แต่จะว่าไปแล้ว การอธิบายของบวรศักดิ์ที่ขยายขอบเขตของ ‘ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ เช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นตามข้อเท็จจริงที่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ (หรือแม้กระทั่งสุนัขของพระมหากษัตริย์) อาจทำให้บุคคลใดตกเป็นเหยื่อของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ได้ เพราะกฎหมายมาตรานี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้ด้วยลำพังอำนาจแห่งตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่มันยังอยู่ภายใต้บงการของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ที่ยึดถือเอาว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะด้วยลักษณะใดก็ตามล้วนเป็นการเนรคุณทั้งสิ้น ความผิดของคนที่วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐอันเป็นตำแหน่งทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่อยู่ที่การเป็น ‘คนเนรคุณคน’ หรือเป็นพวก ‘เลี้ยงเสียข้าวสุก’ เสียมากกว่า

ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของบวรศักดิ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นคำอธิบายที่ ‘อ่านขาด’ และเข้าใจสภาพสังคมไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหลังจากเราได้เข้าใจสภาพสังคมไทยว่าเป็นเช่นนี้แล้ว เรายังจะพอใจกับ ‘รากเหง้า’ หรือ ‘ลักษณะจำเพาะ’ เช่นนี้หรือไม่?

แน่นอนว่าชาวอนุรักษนิยมก็คงจะตอบกับผู้เขียนว่า สภาพสังคมและลักษณะจำเพาะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีงามอยู่แล้ว ซึ่งผู้เขียนเองคงไม่คิดจะไปบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดความเชื่อ แต่ชาวอนุรักษนิยมบางกลุ่มก็ควรจะเลิกใช้เหตุผลในลักษณะที่ว่า ‘เพราะสังคมไทยมีลักษณะจำเพาะเช่นนี้ หรือมีรากเหง้าเช่นนี้ เราจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลง’ เพราะนี่เป็นการให้เหตุผลที่ประหลาด และถ้าเราจะยึดเอาเหตุผลเช่นนี้เป็นสรณะ ประเทศไทยทุกวันนี้อาจจะไม่มีพระมหากษัตริย์ที่อ้างอิงความเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นหน่อพระพุทธเจ้าและเป็นรามาวตารตาม ‘รากเหง้านำเข้า’ จากอินเดียและเขมรอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน แต่มีสถานะเป็นหัวหน้าเผ่าบูชาผีท้องถิ่น เป็นผีฟ้า เป็นแถนเดินดินอะไรไปตามความเชื่อดั้งเดิมที่เป็น ‘รากเหง้าอันมีลักษณะจำเพาะ’ ของสังคมไทยมาแต่บุพกาล

ก็ในเมื่อสังคมมนุษย์เรามีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงปรับตัวตามยุคสมัยมาโดยตลอด ทำไมเราจะตั้งคำถามกับรากเหง้าหรือลักษณะจำเพาะของสังคมไทยที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาบ้างไม่ได้เล่า?

แม้ผู้เขียนจะเชื่อว่าในบริบทของโลกสมัยใหม่ การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์อันเป็นสถาบันทางการเมืองที่ควรได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลจากสาธารณะนั้นก็มีความชอบธรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว และผู้เขียนไม่ได้เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็น ‘พ่อของคนไทยส่วนใหญ่’ ตามที่บวรศักดิ์กล่าวอ้าง แต่หากเราจะลองมองเฉพาะในแง่มุมที่พระมหากษัตริย์เป็น ‘พ่อของคนไทยส่วนใหญ่’ อย่างน้อยที่สุดก็ตามที่บวรศักดิ์เสนอหรือตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมบางกลุ่มคิดเชื่อแล้ว ผู้เขียนเองก็ยังรู้สึกกังขาอยู่ไม่น้อยหากการวิพากษ์วิจารณ์ ‘พ่อ’ ล้วนกลายเป็นความเนรคุณหรือความอกตัญญูไปหมดสิ้น

นอกจากจะรู้สึกกังขาแล้ว ผู้เขียนก็ยังรู้สึกปั่นป่วนใจอีกด้วยว่านิยามของความกตัญญูในสังคมไทยนั้นมีปัญหาอย่างยิ่ง ที่มีปัญหาเพราะว่า ‘ความกตัญญู’ นี้ไม่ได้วางอยู่บนฐานของคุณค่าเชิงคุณธรรมหรือจริยธรรมใดๆ เลย

กล่าวโดยสรุปคือ ‘ความกตัญญู’ ในลักษณะเช่นนี้วางอยู่บนฐานของความคิดที่ว่า หาก ‘พ่อ’ คิดจะทำอะไรแล้ว การกระทำนั้นก็ ‘สัมบูรณ์’ ไปทั้งหมด นั่นคือ การกระทำของพ่อลอยอยู่เหนือกฎหมาย เหนือคุณธรรม และเหนือจริยธรรม การเป็น ‘พ่อ’ นั้นก็เพียงพอแล้วในตัวเองที่ ‘ลูกๆ’ จะไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำใดๆ ของ ‘พ่อ’ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ ‘พ่อ’ นั้นเป็นความอกตัญญูและเนรคุณ[3]

ผู้อ่านเกิดคำถามเหมือนกับผู้เขียนหรือไม่ว่า ‘ความกตัญญู’ ในลักษณะเช่นนี้ยังควรถูกยึดถือเอาเป็นรากเหง้าของสังคมไทยอยู่จริงหรือ? และเราควรจะภาคภูมิใจกับ ‘ลักษณะจำเพาะที่ยากแก่ความเข้าใจของคนต่างชาติต่างภาษา’ นี้อยู่หรือไม่?


(2)

ข้อผูกมัดทางคุณธรรมของผู้จงรักภักดี


เมื่อเริ่มพูดถึงความขัดแย้งระหว่าง ‘ความกตัญญู’ และคุณค่าอื่นของสังคม ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณี ‘พ่อขโมยแกะ’ ที่มหาเสนาบดีแคว้นเย่ (叶公) เคยสนทนากับขงจื่อ

เมื่อมหาเสนาบดีแคว้นเย่พูดขึ้นมาว่า “…ในแคว้นของเรามีคนซื่อตรง ถ้าหากพ่อของเขาขโมยแกะ เขาก็จะเป็นพยานเอาผิดพ่อของตนเอง… เราอาจจะคาดหวังว่าขงจื่อคงจะเห็นด้วย แต่เปล่าเลย เขากลับตอบว่า “…ในพวกของข้าพเจ้า คนที่ซื่อตรงแตกต่างออกไป นั่นคือพ่อจะช่วยปกปิดความผิดของลูก และลูกก็จะปกปิดความผิดของพ่อ ความซื่อตรงพบได้ในสิ่งนี้…”

ทำไมลูกต้องปกปิดความผิดให้พ่อ แล้วถ้าต่างฝ่ายต่างปกปิดความผิดให้กันและกัน นี่จะเรียกว่าเป็น ‘ความซื่อตรง’ ได้อย่างไร?

ก่อนอื่นควรเข้าใจว่า สำหรับขงจื่อแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกคือรากฐานของสังคม การรักษาความสัมพันธ์เช่นนี้เอาไว้มีค่ายิ่งกว่าการทำหน้าที่เป็น ‘คนซื่อตรง’ ที่กล้าเป็นพยานเอาผิดพ่อของตนเองและทำให้ความสัมพันธ์อันเป็นรากฐานของสังคมนี้ต้องขาดสลายไป

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าความกตัญญูแบบขงจื่อคล้ายๆ กันกับความกตัญญูแบบไทยๆ ที่เมื่อ ‘พ่อ’ หรือ ‘พระมหากษัตริย์’ กระทำผิดอะไรลงไปแล้ว ‘ลูกๆ’ หรือ ‘ประชาชน’ ก็ไม่ควรจะวิพากษ์วิจารณ์ มิหนำซ้ำควรจะต้องช่วยกันปกปิดความผิดของพ่อหรือของพระมหากษัตริย์ด้วยการไม่พูดถึงเสียด้วย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกและพระมหากษัตริย์-ประชาชนนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

แต่เปล่าเลย นั่นไม่ใช่ความกตัญญูในนิยามของขงจื่อ และการปกปิดความผิดให้พ่อก็ไม่ใช่หัวใจของความซื่อตรงอีกด้วย แล้วอย่างนั้นทำไมขงจื่อถึงได้บอกว่า ความซื่อตรงสามารถพบได้ในการปกปิดความผิดให้กันและกัน?

นั่นเพราะสำหรับขงจื่อแล้ว ลูกที่กตัญญูย่อมมีหน้าที่แก้ไขความผิดพลาดของพ่อ การแจ้งความจับพ่อตนเองหรือการแฉความผิดของพ่อในที่สาธารณะไม่ได้แก้ไขต้นเหตุที่ทำให้พ่อไปขโมยแกะตั้งแต่แรก การแก้ไขความผิดที่ต้นเหตุคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของพ่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่การจับพ่อเข้าคุก ขงจื่อให้ความสำคัญกับการทำให้คนรู้สึกผิดและละอายในสิ่งที่ตนกระทำลงไปด้วยตนเอง มากกว่าการทำให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นคนผิดในสายตาของคนอื่นและใช้การลงโทษด้วยกำลัง – ‘ความซื่อตรง’ จึงแฝงอยู่ในการแก้ไขความผิดพลาดของพ่อ เพราะถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นการดัดคนที่คดให้ตรงขึ้นได้[4]

ความกตัญญูตามความหมายของขงจื่อจึงไม่ใช่แค่การเคารพเชื่อฟังพ่ออย่างเชื่องๆ แต่ยังเป็นการทำให้พ่อรู้จักครองตนในครรลองที่ถูกต้องอีกด้วย ในตำรา ‘ว่าด้วยความกตัญญู’ (孝经) มีบันทึกว่าครั้งหนึ่ง ‘เฉิงจื่อ’ (曾子) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้ถามขงจื่อว่าการเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่อย่างเชื่องๆ นั้น ถือว่าเป็นความกตัญญูได้หรือไม่ ขงจื่อตอบกลับว่า ลูกมีหน้าที่โต้แย้งทัดทานพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่กำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เช่นเดียวกันกับขุนนางที่มีหน้าที่โต้แย้งทัดทานพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอย่างไม่ถูกต้อง[5]

การวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งทัดทาน (remonstrance) จึงเป็นหัวใจของความกตัญญู และความกตัญญูที่ไม่มีการโต้แย้งทัดทานก็เป็นเพียงแค่การเชื่อฟังอย่างมืดบอดเท่านั้น ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงความคิดของพ่อให้สอดคล้องกับหลักการที่ถูกต้องนี่เองที่ต้องใช้ความพยายามและความกล้าหาญอย่างมาก บางทีอาจจะมากเสียยิ่งกว่าการแจ้งความจับพ่อตนเองเสียอีก ด้วยเหตุนี้ในภาษาจีนจึงมีคำว่า ‘死谏’ ซึ่งหมายถึง ‘การโต้แย้งทัดทานที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลก’

ในยุคที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมาก การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ย่อมมีความเสี่ยงถึงชีวิต แต่ในขณะเดียวกันคำสอนของขงจื่อก็ถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อโต้แย้งทัดทานพระมหากษัตริย์นั้นเป็นข้อผูกมัดทางคุณธรรม (moral obligation) ของขุนนางที่จงรักภักดีไปด้วย กล่าวคือ ยิ่งจงรักภักดี ยิ่งต้องวิพากษ์วิจารณ์ ในประวัติศาสตร์จีนจึงมีเรื่องราวของขุนนางที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเตือนสติพระมหากษัตริย์อยู่ไม่น้อย แน่นอน มีขุนนางหลายคนที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับการรักษาอุดมคติแห่งความกตัญญูนี้ แต่บางคนเช่น เว่ยเจิง (魏徵) ขุนนางราชวงศ์ถังที่มีชีวิตในช่วงคริสศตวรรษที่ 6-7 ก็ได้รับการยกย่องจากจักรพรรดิว่าเป็นเสมือนกระจกคอยสะท้อนความผิดพลาดทางการเมืองของตนเอง

อนึ่ง แม้นักปรัชญาในสำนักคิดแบบขงจื่อมักจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนและพ่อกับลูกอยู่บ่อยครั้ง แต่พวกเขาก็มีเส้นแบ่งระหว่างพระมหากษัตริย์และพ่อที่ค่อนข้างชัดเจนต่างจากบวรศักดิ์ เพราะนักปรัชญาในสำนักคิดขงจื่อไม่เคยตัดบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมือง ขงจื่อเชื่อว่าหากพระมหากษัตริย์กระทำผิด ขุนนางมีหน้าที่ต้องหยิบเอาความผิดนั้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะ (แต่ถ้าพ่อแม่กระทำผิด ลูกกลับไม่ควรเอาความผิดนั้นมาพูดในที่สาธารณะ) ส่วนเมิ่งจื่อ (孟子) ซึ่งเป็นสานุศิษย์ในยุคหลังของขงจื่อไปไกลยิ่งกว่าด้วยการเสนอว่าถ้าหากพระมหากษัตริย์ไม่ยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของขุนนางแล้วก็ควรจะถูกโค่นล้มลงไปเสีย[6]

หากเราย้อนกลับมาพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชนในฐานะของ ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ อีกครั้ง ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า อันที่จริงมันยังมีรูปแบบของ ‘ความกตัญญู’ ที่น่าจะอารยะกว่า ‘ความกตัญญูแบบไทยๆ’ ที่บวรศักดิ์เสนอ เพราะความกตัญญูแบบบวรศักดิ์นั้นคือเรื่องราวของคนที่ได้ยินได้ฟังใครกล่าวถึง ‘พ่อ’ ของตนเองในทางที่ไม่ชอบแล้วจะต้องเกิดบันดาลโทสะอยู่เสมอไป แต่ ‘ความกตัญญู’ ในแบบของขงจื่อนี้คืออุดมคติที่มุ่งหวังให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้ผู้เขียนเองจะไม่ใช่รอยัลลิสต์และไม่ได้นับตนเองเป็นลูกของพระมหากษัตริย์ แต่ก็เห็นว่าคุณค่าความกตัญญูเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสถาบันกษัตริย์และต่อฝ่ายผู้จงรักภักดีได้เสียยิ่งกว่าความกตัญญูแบบไทยๆ ที่ไม่ใช่แค่ ‘ยากแก่ความเข้าใจของคนต่างชาติต่างภาษา’ แต่ยังยากต่อคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นขวาสุดโต่งอีกด้วย

ผู้เขียนอยากทิ้งคำถามไว้ท้ายนี้ว่าคนที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ยิ่งต้องมีข้อผูกมัดและหน้าที่ในทางคุณธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? ส่วนคนที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์แล้วยึดถือเอาการกระทำทุกอย่างของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมนั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้หวังดีต่อสถาบันกษัตริย์จริงหรือ? และบุคคลที่ต้องการส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากแต่กลับไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำเช่นนี้เรียกว่าเป็นความกตัญญูได้หรือไม่? โปรดระวังว่าความกตัญญูที่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตักเตือนนั้นไม่ใช่ความกตัญญูแต่เป็นแค่การเชื่อฟังอย่างมืดบอด และการเชื่อฟังอย่างมืดบอดก็อาจจะนำไปสู่ความเสื่อมถอยทั้งต่อสถาบันกษัตริย์และต่อตัวผู้ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายจงรักภักดีเอง



[1] เช่น ดูข้อโต้แย้งของเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

[2] อันที่จริงแล้วข้อความนี้ก็ไม่ได้กล่าวเกินเลย ดังในกรณีคดีแจกจ่ายข้อมูลจากวิกิลีกส์ของนายเอกชัย หงส์กังวานที่ผู้พิพากษาอย่างนายอภิสิทธิ์ วีระมิตรชัยกล่าวกับทนายของนายเอกชัยว่า การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในวิกิลีกส์นั้นไม่มีความจำเป็นต่อการต่อสู้คดีเลย เพราะเรื่องนี้ ”ยิ่งจริงยิ่งหมิ่น” – ดู สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. คดีประหลาดยิ่งจริงยิ่งหมิ่น. หนังสือพิมพ์ ‘โลกวันนี้ วันสุข’ ฉบับที่ 405  วันที่ 6 เมษายน 2556.

[3] และที่สำคัญ พระมหากษัตริย์อาจเป็นมากเสียยิ่งกว่า ‘พ่อ’ ผู้ให้กำเนิดใครหลายๆ คน เสียอีก เพราะการเนรคุณ ‘พ่อ’ ที่เป็นพระมหากษัตริย์นั้นไม่ต้องรอการ ‘ชดใช้บาปกรรม’ ในชาติหน้า แต่ว่าอาจจะต้อง ‘ชดใช้บาปกรรม’ ได้เลยเสียตั้งแต่ชาตินี้ในรูปของโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี

[4] The Master said, “…If the people be led by laws, and uniformity sought to be given them by punishments, they will try to avoid the punishment, but have no sense of shame. If they be led by virtue, and uniformity sought to be given them by the rules of propriety, they will have the sense of shame, and moreover will become good…” – ดู หลุนอวี่ 2.3

[5] “…What words are these! what words are these! Anciently, if the Son of seven had seven ministers who would remonstrate with him, although he had not right methods of government, he would not lose his possession of the kingdom; […] the father who had a son that would remonstrate with him would, not sink into the gulf of unrighteous deeds. Therefore, when a case of unrighteous conduct is concerned, a son must by no means keep from remonstrating with his father, nor a minister from remonstrating with his ruler. Hence, since remonstrance is required in the case of unrighteous conduct, how can (simple) obedience to the orders of a father be accounted filial piety?...” – ดู เสี้ยวจิง: ว่าด้วยการทัดทาน

[6] ดู เมิ่งจื่อ 5B.9 – ในกรณีนี้ เมิ่งจื่อแบ่งขุนนางออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือขุนนางชั้นสูงที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และประเภทที่สองคือขุนนางทั่วไป เมิ่งจื่อแนะนำให้ขุนนางประเภทแรกโค่นล้มกษัตริย์ที่ไม่ยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนขุนนางประเภทที่สอง เมิ่งจื่อแนะนำให้ออกไปอยู่แคว้นอื่น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save