fbpx

มองย้อนเด็กไทย 2022: จงเติบโตอย่างแข็งแรง แม้โลกเต็มไปด้วยอุปสรรค

หลังจากใช้คำว่า ‘ปีหลังโควิด-19’ มาหลายครั้ง ที่ผ่านมามักจะจบลงที่การระบาดระลอกใหม่ แต่ปีนี้ทุกคนคงกล่าวได้ว่า ปี 2022 เป็นปีหลังโควิด-19 ได้อย่างเต็มปาก จากที่ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง และผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยว เชื่อว่าชีวิตทุกคนคงกลับสู่สภาวะ ‘ความปกติใหม่’ เสียที

คงเป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ง่ายสำหรับเด็กไทย – ปี 2022 เป็นปีที่เด็กไทยหลายๆ คนกลับเข้าสู่สถาบันการศึกษานอกจออีกครั้ง มาเรียนและใช้ชีวิตปกติ ทิ้งบาดแผลความเจ็บปวดจากการเรียนรู้ที่ด้อยประสิทธิภาพบนโลกออนไลน์ ความเปราะบางอันเกิดจากเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์ก่อนวัยอันควรไว้เบื้องหลัง และทำราวกับสองปีที่ผ่านมาไม่มีจริง

ปี 2022 เป็นปีที่เด็กไทยเจอความุรนแรง ทั้งความรุนแรงทางกายภาพจากเหตุการณ์กราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่ที่ควรจะปลอดภัยที่สุดกลับกลายเป็นพื้นที่อันตราย และความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันสืบเนื่องจากนิติสงครามของรัฐ เพียงเพราะพวกเขาออกมาส่งเสียง เพื่อหวังว่าสังคมจะดีขึ้นและเป็นสังคมที่พร้อมส่งต่อสู่เด็กรุ่นหลังพวกเขาต่อไป

นอกจากนี้ สังคมไทยยังมีโจทย์ใหม่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ซึ่งกำหนดให้ ‘ทุกส่วนของกัญชา’ ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด นโยบายดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเศรษฐกิจและสาธารณสุขไทย แต่ขณะเดียวกันก็ได้มีภาพเยาวชนเสพกัญชาตามท้องถนนปรากฏออกมา ถึงแม้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชามีส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน เนื่องจากสมองในช่วงอายุนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากใช้กัญชาในปริมาณมากและต่อเนื่อง ฤทธิ์ของกัญชาจะรบกวนการทำงานของเซลล์สมอง และที่ผ่านมาร่างกฎหมายกลับไม่ได้ปกป้องพวกเขาอย่างที่ควรจะเป็น

พวกเขาเปราะบางมาก – เด็กเหล่านี้กำลังอยู่ในสังคมแบบไหน หรือนี่จะเป็นสังคมบน ‘ความปกติใหม่’ ที่พวกเขาต้องเผชิญหลังจากนี้ ทั้งความรุนแรงจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันการเมือง หากเด็กไทยเป็นต้นไม้ที่กำลังเจริญเติบโต ต้องการแสงที่ดี ปุ๋ยที่ดี การดูแลที่ดี ในวันนี้สังคมกลับมีบรรยากาศไม่เอื้อสำหรับการเติบโตของพวกเขาเท่าไหร่นัก

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ได้รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวปี 2022 ที่สะท้อนให้เห็นถึง 7  แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องเผชิญ ประกอบด้วย

(1) เด็กและเยาวชนเผชิญกับภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (2) เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น (3) เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น (4) เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น (5) เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น (6) ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น (7) ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

เมื่อโควิด-19 จางหายไป แต่แผลเป็นจากการศึกษายังคงอยู่

องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเมินว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลก เผชิญกับสภาวะ ‘การเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)’ โดยเฉพาะการศึกษาไทยในปีที่ผ่านมา เมื่อเด็กไทยต้องเรียนออนไลน์ พัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กกลับถดถอยลงหากเทียบกับสิ่งที่เยาวชนควรจะได้รับ สภาวะดังกล่าวได้รับการยืนยันจากงานวิจัย โครงการสำรวจและประเมินความพร้อมเด็กปฐมวัยเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) ของ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และคณะ โดยช่วงวัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ‘ปฐมวัย’ ทั้งนี้ ช่วง ‘ปฐมวัย’ เป็นช่วงสำคัญในการเรียนรู้และฝึกกล้ามเนื้อจากการศึกษา กลับเป็นช่วงที่เด็กไม่ได้รับการศึกษาและดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) โดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ศึกษาสถานการณ์การปิดโรงเรียนในช่วงสถานการณ์การระบาดส่งผลต่อภาวะการถดถอยโดยเฉพาะช่วงปฐมวัยอย่างไร — ในบทความ เด็กเล็กไทยสูญเสียการเรียนรู้แค่ไหนจากโควิด-19? สรุปว่าช่วงปี 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2565 สถานศึกษาทุกพื้นที่ถูกปิดทั้งหมด 16 สัปดาห์ และบางพื้นที่ถูกปิดยาวนานถึง 53 สัปดาห์ การหยุดเรียนแต่ละวันส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยด้านวิชาการประมาณร้อยละ 99 ด้านความจำใช้งานประมาณร้อยละ 98

ถึงแม้วันนี้สถานการณ์โควิด-19 จะเบาบางลง แต่สภาวะการเรียนรู้ถดถอยยังคงอยู่กับเด็กไทยยุคออนไลน์ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้ เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็น ‘lost generation’ ในที่สุด

สำหรับทางออกนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเสนอว่าสังคมต้องช่วยกันออกแบบนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น คือ การเปิดเรียนให้นานและปิดให้น้อย ทั้งนี้มองว่า ควรจะเปิดเรียนในช่วงเวลาปิดภาคเรียนเพื่อชดเชยเวลาที่ขาดหายไป ส่วนนโยบายระยะยาวต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับเด็กปฐมวัย คือการพัฒนาทักษะให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมคุณภาพกับบุตรหลานของตน และยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย

สุกรี นาคแย้ม อาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เคยให้สัมภาษณ์กับ 101 ถึงโครงสร้างระบบการจัดการบริหารระบบการศึกษาที่มีปัญหา สุกรีมองว่าโควิด-19 เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้ปัญหาระบบการศึกษาใต้พรมอันเน่าเฟะนั้นถูกเปิดเผยขึ้น เพราะสภาวะที่การเรียนการสอนที่ผ่านมา ตัวครูเดิมมีปัญหาทำได้ไม่เต็มที่หรือสอนไม่ทันด้วยเหตุที่ต้องไปทำงานเอกสาร หรือไปประชุมอบรมบ่อยๆ ดังนั้น ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเกิดภายใต้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมานานแล้ว หากเรายังไม่ ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ และคืน ‘อำนาจที่ถูกพรากไปจากโรงเรียน’ เราจะไม่มีทางแก้ไขวิกฤตการเรียนรู้ครั้งนี้ได้เลย

นอกจากปัญหาการศึกษาจากสภาวะการเรียนรู้ถดถอยนั้น ช่วงที่โรงเรียนปิด เด็กไทยต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ภายในบ้าน จึงมีแนวโน้มที่จะมีเพื่อนยากขึ้นและตัวเลขการสำรวจที่ผ่านมาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เยาวชนไทยอายุ 15 ถึง 25 ปี จำนวน 19,694 คน พบว่าเยาวชนไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ เกือบครึ่งของผู้ตอบทั้งหมด (47.2%) มองว่าปัจจัยที่ทำให้ตนไม่ไปแหล่งเรียนรู้เพราะไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน ทำให้การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังกระจุกตัวตามหัวเมืองเท่านั้น

ปัจจัยโรงเรียนปิดและไม่มีพื้นที่แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนเพียงพอ ทำให้เด็กไทยจึงถูกผลักให้เข้าสู่โลกออนไลน์ไวขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ในบทความ ‘มหันตภัยร้ายต่อเด็กในบ้านที่มากับชาเลนจ์เสี่ยงตายบน TikTok’ โดยโสภณ ศุภมั่งมี ยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา คือการที่เยาวชน ทำตามคำท้าทายสุดแผลงบน TikTok ชื่อ ‘Blackout Challenge’ ที่กำลังเป็นกระแส ชาเลนจ์ดังกล่าวท้าให้คนบีบคอตัวเองจนขาดอากาศหายใจเป็นลมหน้ากล้อง จนกระทั่งมีเยาวชนคนหนึ่งเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์เกี่ยวกับความเปราะบางของเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์

เด็กไทยถูกรัฐโบยตีจาก ‘นิติสงคราม’ กับ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’

หากนิยามสถานการณ์เมื่อปี 2564 คือ ปีแห่งนิติสงคราม ปีนี้คงเป็น ‘นิติสงคราม ภาค2’ เพราะเยาวชนก็ยังถูกรัฐดำเนินคดีเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การตั้งคำถามใหม่ๆ ในสังคม และเสียงของพวกเขาก็ยังคงถูกมองข้ามเหมือนเคย

ปีนี้เป็นอีกปีที่รัฐไทยคงยังไม่เข้าใจคำว่า ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ เป็นปีเดียวกันที่เยาวชนได้รับสิทธิการประกันตัวจากเรือนจำ แต่พวกเขาต้องแลกกับเงื่อนไขว่าจะไม่กระด้างกระเดื่องต่อสถาบันกษัตริย์ และต้องสวมกำไลอีเอ็ม โดยอ้างว่าเป็นการคืน ‘เสรีภาพ’ ให้กับพวกเขา แต่กำไลอีเอ็มนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับตรวนเหล็กแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ล่ามข้อเท้า ล่ามเสรีภาพของพวกเขา ทั้งที่พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์

“ผมสมัครงานไม่ได้เลย แต่ละที่ปฏิเสธหรือไม่ก็หายไปเงียบๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้บอกว่าเราต้องสวมกำไลติดตามตัวเพราะอะไร เราอยากบอกเขาว่าเราต้องติดมันที่ข้อเท้าเพราะคดีทางการเมืองนะ แต่ส่วนใหญ่เขาก็หายไป ไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย” เรื่องที่เกิดขึ้นกับ บีม-ณัฐกรณ์ ชูเสนาะ เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมกิจกรรม ‘ใคร ๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน’ ทำให้เยาวชนคนหนึ่งกับความฝันในการทำกาแฟ ต้องถูกดึงรั้งด้วยตรวนเหล็กที่ข้อเท้า จนบีมถูกปฎิเสธงานบ่อยครั้ง

บีมไม่ใช่คนแรกและไม่ใช่คนเดียว – ยังมีเยาวชนอีกหลายคนที่ถึงแม้วันนี้เขายังไม่ถูกจับใส่กำไลอีเอ็ม แต่พวกเขาถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งแบบเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยตัวตน สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ขณะที่ปี 2565 ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม – 15 กันยายน พบว่ามีเยาวชนถูกคุกคามอย่างน้อย 35 คน กันต์-กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา คือหนึ่งในนั้น

“ส่วนใหญ่ผมเจอต่อหน้าเลยครับ วันไหนอยู่บ้านพร้อมหน้ากับครอบครัว เขาก็เดินเข้ามาเลย ไม่ได้มีหมายเรียกหรือหมายค้นอะไรเลย จำนวนคนแล้วแต่ระดับการเคลื่อนไหวของเรา บางทีก็มา 5-6 คน บางทีก็มา 2-3 คน 20 คนก็เคยเจอ เขาพยายามกดดันให้เราหยุดทำกิจกรรม ห้ามไม่ให้เราแชร์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง” กันต์เล่า

นอกจากการคุกคามจะเกิดขึ้นกับเยาวชนแล้ว ยังมีบ้างครั้งที่การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว อย่างที่ เมลิญณ์ – สุพิชฌาย์ ชัยลอม ประสบพบเจอ

ชื่อเดิมของเธอคือ ‘เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ นักกิจกรรมที่เริ่มต้นเส้นทางจากการเคลื่อนไหวด้านการศึกษา สู่การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ การเคลื่อนไหวของเธอทำให้ต้องพบกับชะตากรรมอย่างที่เยาวชนหลายคนเจอ คือ การถูกดำเนินคดีและการสวมกำไลอีเอ็มเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกเรือนจำ

ทว่าเส้นทางของเธอต่างออกไป – เธอและเพื่อนตัดสินใจทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง และก้าวออกจากแผ่นดินเกิดเพื่ออิสรภาพของพวกเธอในดินแดนใหม่

“การที่เราโดนใส่กำไลอีเอ็ม หรือการมีเงื่อนไขในการห้ามออกจากบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรายังรับไหว แต่จุดที่ทำให้เราตัดสินใจออกมาทันทีเลย คือเจ้าหน้าที่รัฐมาคุกคามพ่อแม่ มีวันหนึ่งเขามาเชิญตัวพ่อกับแม่ของเราไปและริบโทรศัพท์ไม่ให้ถือหรือบันทึกข้อความอะไรทั้งนั้น อีกทั้งพาไปที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ได้ ก่อนที่จะพยายามรีดข้อมูลเกี่ยวกับเรา ว่าเราเรียนอะไร เราชอบอะไร ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า จากนั้นเขาก็ข่มขู่พ่อและแม่ว่าให้จับตามองเราดีๆ ช่วงนั้นพอดีกับเจ้าหน้าที่ทหารส่งข้อความมาข่มขู่เราว่า พวกเขาจะไม่จัดการเราด้วยกฎหมายแล้ว จากที่เรากับพ่อแม่ไม่ได้สื่อสารกันมานานแล้ว เพราะว่าเขาไม่เห็นด้วยที่เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง พอมารู้ว่าเขาโดนข่มขู่แบบนี้พร้อมกับข้อความที่เจ้าหน้าที่รัฐฝากมาบอกเราว่า เดี๋ยวเราจะเป็นอันตราย เขาจะทำให้เราหายไปนะ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ออกมาดีกว่า” เมลิญณ์เล่า

จากเรื่องราวของบีม, กันต์ และเมลิญณ์ นั้น ทุกคนต้องไม่ลืมว่าพวกเขาเป็นเพียงเยาวชน ที่วันนี้พวกเขาเพียงแค่ต้องการออกมาส่งเสียงว่าเขาอยากเห็นสังคมแบบไหน – สังคมแบบนี้เองหรือ ที่ทำให้เยาวชนต้องออกมาสู้กับการใช้อำนาจผ่านกฎหมายและนอกกฎหมาย เช่น การจำกัดเสรีภาพผ่านกำไลอีเอ็ม และคุกคามชีวิตประจำวันของพวกเขาผ่านการรักษาความสงบ

เรามักจะเรียกพวกเขาว่าอนาคต แต่ผู้ใหญ่ต่างไม่สนใจและไม่รับฟังเสียงของพวกเขา มองว่าสิ่งที่พวกเขาคิด พูด เป็น นั้นอันตรายต่อสังคม ‘อันดีงาม’ ภายใต้ระบอบต่อท้ายอย่าง ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ – ทุกวันนี้พวกเขาเป็นอนาคตที่ผู้ใหญ่โบยตี

เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ชวนมองนัยยะของประโยค ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ว่าเด็กต้องแบกความคาดหวังของสังคม ต้องเป็นอนาคตของอะไรสักอย่าง แต่ผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นอนาคตที่ ‘รอได้’ แปลว่าหากเยาวชนพูดตอนนี้ยังไม่ต้องฟังได้ เพราะเสียงเยาวชนคือเสียงที่ต้องรอให้วันเวลาอันเหมาะสมมาถึงเสียก่อน ทั้งนี้เด็กไม่ได้เป็นเพียงเสียงของอนาคตที่ต้องรอให้มาถึงแล้วจึงฟังพวกเขา แต่เด็กเป็นเสียงแห่งปัจจุบันด้วย ดังนั้นการรับฟังเสียงของเยาวชนจึงเป็นประเด็นที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยควรสนใจ  

ให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ได้เสนอแนวทางเพื่อขยายช่องทางการมีส่วนร่วมของเยาวชนผ่านนโยบาย ‘สามเสาหลัก’ เพื่อให้เสียงของพวกเขามีควาหมายอีกครั้ง ได้แก่ ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ และให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในนโยบายของระบบการศึกษา

เสาหลักแรก ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทางศูนย์เสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เหลือ ‘15 ปี’ ครอบคลุมสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิออกเสียงประชามติ ตลอดจนสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรง เช่น การเข้าชื่อต่อรัฐสภาและสภาท้องถิ่น การลดอายุเช่นนี้จะส่งผลให้เยาวชนกลายเป็นหนึ่งใน ‘ฐานเสียง’ ที่ฝ่ายการเมืองจะรับฟังอย่าง ‘เสมอภาค’ และการกำหนดตัวเลขที่ 15 ปีนั้น เนื่องจากเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปถูกศาลสั่งลงโทษอาญาได้แล้ว จึงควรมีสิทธิในการร่วมออกแบบกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนเป็นผู้กำหนดนโยบายได้โดยตรง

เสาหลักที่สอง ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ โดยสภาเยาวชนถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้เสียงของเยาวชนถูกรับฟังมากขึ้น ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศรวม 8,781 แห่งมาตั้งแต่ปี 2008 แต่มีปัญหามากมายทั้งขาดความเป็นตัวแทนที่ดี ขาดความเป็นอิสระ ขาดบทบาทเชิงนโยบาย และขาดงบประมาณการสนับสนุน ทั้งนี้ คิด for คิดส์ เสนอหลากหลายนโยบายเพื่อปฎิรูปทั้งที่มาและบทบาทเพื่อให้เสียงของเยาวชนนั้นถูกรับฟังมากขึ้น หนึ่งในนโยบายสำคัญคือ ให้มีสภาเยาวชนแห่งชาติ สภาเยาวชนจังหวัด และสภาเยาวชนท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและการสุ่ม เพื่อให้สมาชิกเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนในวงกว้างที่หลากหลายและชอบธรรม

เสาหลักที่สาม ให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในนโยบายของระบบการศึกษา ปัจจุบันเยาวชนยังคงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละวันภายในสถานศึกษา แต่นักเรียน-นักศึกษากลับมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายได้จำกัดมาก โดยจากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึง 47.8% รายงานว่าเคยประสบปัญหาที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา ดังนั้นจึงควรมีการปฎิรูปสถานศึกษาให้นักเรียนและนักศึกษามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายของระบบการศึกษาที่พวกเขาอยู่ได้มากขึ้น

นี่คือหนึ่งในหนทางที่ทุกคนยังดำเนินการทัน เพื่อไม่ให้สังคมไทยเสียต้นทุนทางสังคมอย่างกลุ่มเยาวชน พวกเขามีแรงเยอะพอ และมีความหวังมากพอ ที่จะเปลี่ยนสังคมนี้ให้ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมาพวกเขารับผิดชอบกับ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ เพื่อให้สังคมที่พวกเขาอยู่ดีขึ้น – คำถามที่พวกเราต้องถามดังๆ คือ เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต้องจ่ายอีกมากเท่าไหร่ และนานแค่ไหนที่ผู้มีอำนาจจะรับฟังเขาอย่างที่พวกเขาเป็นพลเมืองคนหนึ่ง

หวังว่าปีนี้จะเป็นภาพยนตร์ม้วนสุดท้ายของ ‘นิติสงคราม’ และเยาวชนจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ไม่ต้องคำนึงถึง ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ท่ามกลางสังคมการเมืองที่ลุ่มๆ ดอนๆ นี้

เด็กไทยแข็งแกร่งมากที่เอาชีวิตรอดในปีที่ผ่านมาได้ – ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกและไม่มีทางไป นอกจากจะต้องเข้มแข็งใน ‘สังคมไทยปกติใหม่’ นี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save