‘จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย’ ถึงเวลาออกจากโลกเก่าสู่การสร้างอนาคตที่คนรุ่นใหม่ปรารถนา

การตื่นตัวของเด็กและเยาวชนไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์สังคมการเมืองไทยอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อเพดานทางความคิดได้ถูกยกระดับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ประเด็นสาธารณะที่หลากหลายและแหลมคมถูกหยิบยกมาถกเถียง ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โลกออนไลน์ และบนท้องถนน

‘จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย’ คืองานวิจัยชิ้นที่พยายามทำความเข้าใจ ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) ของเยาวชนไทยหลากหลายกลุ่ม ด้วยมุมมองใหม่ แนวคิดใหม่ และเครื่องมือใหม่ โดยมองว่า ‘จินตนาการ’ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเพ้อฝัน หรือหนทางในการหลบหนีจากโลกความจริง แต่คือปริมณฑลสาธารณะที่ผู้คนสามารถมาถกเถียงถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ และอนาคตที่พึงปรารถนา และเป็นฐานรากของการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความจริง

จากอดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต เยาวชนไทยคิดและฝันถึงสังคมไทยอย่างไร และจัดวางตัวเองอยู่ตรงไหนบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันหาคำตอบได้ในงานวิจัย คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยโครงการ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563’

ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นโดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน  ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

YouTube video

‘จินตนาการพลเมือง’ รากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape เริ่มต้นอธิบายว่างานวิจัยจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดและระเบียบวิธีวิจัยเรื่อง ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) ที่พัฒนาโดย เฮนรี เจนกินส์ (Henry Jenkins) แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงขับเคลื่อนที่มุ่งฟื้นฟูจินตนาการพลเมืองในห้วงยามที่ประชาชนสิ้นหวังและมีการแบ่งขั้วทางความคิด โดยมีแนวคิดเบื้องหลังได้แก่

– สำนึกพลเมือง (civics) คือกระบวนการที่สังคมจะสร้างคุณค่าและเป้าหมายร่วมกันได้ผ่านความคิดที่หลากหลาย

– จินตนาการ (imagination) ทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูเชื่อมระหว่างอดีตกับอนาคตอันจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

– การสร้างโลกใหม่ (worldbuilding) เกิดจากการกระตุ้นให้คนและสังคมสร้างสรรค์โลกอนาคตที่ตัวเองปรารถนา และนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์พลเมืองและนวัตกรรมใหม่ๆ

– ด้วยสื่ออะไรก็ได้ (any media necessary) คือการเน้นวิธีการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ด้วยสื่ออะไรก็ได้ตามที่แต่บุคคลสะดวกและเข้าถึงได้

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย วรพจน์ระบุว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองและมีสำนึกพลเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด พวกเขาให้ความสำคัญกับประเด็นสาธารณะที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางการเมืองการปกครอง การศึกษา และสิทธิมนุษยชน ทั้งยังประเมินว่ารัฐบาลในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตนเองและคนในสังคมได้ จนนำไปสู่แนวโน้มต้องการย้ายประเทศในที่สุด ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังของเยาวชนไทย

ทั้งนี้ งานวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” แบ่งเยาวชนกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในหลากหลายภูมิภาค รวมถึงหลากหลากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มความสนใจร่วม ได้แก่ กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มกราฟิกดีไซน์หรือ content creator มาสร้างสรรค์จินตนาการผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยกระบวนการผสมผสานจินตนาการที่แตกต่างกัน (remixing) จนก่อรูปเป็น ‘จินตนาการใหม่’ ที่ผู้เข้าร่วมยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดความแตกต่างและกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน

อนาคตที่มาถึงไม่พร้อมกันของเด็กในเมืองกับเด็กต่างจังหวัด

ในฐานะผู้วิจัยและดูแลกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่ากลุ่มเป้าหมายในส่วนของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม และมีการจัดกิจกรรมด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กลุ่มเยาวชนที่ทำงานร่วมกับสภาเด็กตำบล และกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาและโรงเรียนระยองวิทยาคม โดยในการจัดกิจกรรม workshop กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ภาคินแบ่งออกเป็นกิจกรรมออนไลน์และออนไซต์ 

สำหรับกิจกรรมออนไลน์ เขาเลือกจัดกิจกรรม เรื่องเล่าแห่งอนาคต ซึ่งเน้นการสำรวจจินตนาการถึงอนาคตที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมป๊อปและประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนและร่วมสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น ในขณะที่กิจกรรมออนไซต์ เมืองแห่งอนาคต จะมุ่งเน้นให้เยาวชนได้ลองประดิษฐ์และสร้างเมืองในอนาคตที่ตนเองปรารถนาในเชิงรูปธรรม รวมถึงร่วมกันเสนอและถกเถียงเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น

ภาคินระบุว่าผลลัพธ์ที่น่าสนใจที่ได้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวกับนักเรียนทั้ง 3 กลุ่ม คือการค้นพบความสนใจร่วมกันของเยาวชนไทย เมื่อเขาให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาจินตนาการถึงโลกอนาคต สิ่งแรกที่พวกเขาส่วนใหญ่นึกถึงคือ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘ผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยี’หรือแม้กระทั่งนิทาน การ์ตูน วรรณกรรม เพลง และภาพยนตร์ที่เยาวชนกลุ่มเป้าหมายสนใจก็ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี 

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ในขั้นต่อไป เมื่อลองปรับเปลี่ยนโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมจินตนาการถึงโลกอนาคตที่เชื่อมโยงกับบริบทส่วนตัวของตนเอง ก็นำมาสู่การเกิดความเปลี่ยนแปลงของคำตอบอย่างมีนัยยะสำคัญ คือเปลี่ยนจากจินตนาการในเทรนด์ของเทคโนโลยีล้ำสมัยไปสู่ความหวังและความปรารถนาต่ออนาคตที่พวกเขาอยากเห็น

“กิจกรรมสำคัญอันหนึ่งของเวิร์กช็อป นี้คือให้เด็กแบ่งกลุ่มกันและพูดคุยถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับอนาคตของแต่ละคนแล้วก็ช่วยกันแต่งเรื่องราวใหม่และสร้างตัวละครในเรื่องขึ้นมา โดยผมให้โจทย์ไปว่าให้นึกถึงอนาคตของประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า เรื่องหนึ่งที่ได้มาคือ ‘ประเทศไทยในเมตาเวิร์ส’ เพราะพวกเขาอยากเห็นประเทศไทยในอนาคตเป็นสังคมสงบสุข แก้ไขความขัดแย้งได้โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรงชีวิตจริง”

“อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘แดดาลัสกับอิคาลัส’ ตำนานกรีกโบราณในแบบคนไทย นักเรียนคนหนึ่งแต่งเรื่องนี้เพราะมองว่าสังคมเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมาก แต่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของเทคโนโลยี เขาจึงอยากเห็นโลกอนาคตที่สังคมเราให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ในชีวิตมากขึ้น” ภาคินกล่าว

มากไปกว่านั้น ภาคินชี้ให้เห็นถึงมุมมองต่ออนาคตที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดระหว่างเยาวชนในเขตเมืองกับเยาวชนนอกเขตเมือง เมื่อเขาตั้งโจทย์ว่า “อีก 50 ปีข้างหน้าอยากเห็นอะไร” พบว่าเยาวชนเขตเมืองมีแนวโน้มจะใฝ่ฝันถึงเมืองที่ดีและสะดวกสบายกว่าเดิม เช่น อยากให้ประเทศไทยในอีก 50 ข้างหน้าเป็นเหมือนเมืองของต่างประเทศในปัจจุบัน ในขณะที่เยาวชนที่อาศัยนอกเขตเมืองมักจินตนาการถึงอนาคตในรูปแบบของสิ่งที่มีอยู่แล้วในเมืองใหญ่ คำตอบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอนาคตของเยาวชนแต่ละคนมีหน้าตาและมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและปูมหลังของเด็กแต่ละคน

“คำตอบของเด็กที่มาจากต่างจังหวัดหลายคนพูดว่าอยากเห็นระบบการขนส่งสาธารณะปรากฏที่บ้านของตัวเอง เช่น อยากมีรถเมล์ อยากมีสนามบิน พูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่คนกรุงเทพฯ มีอยู่แล้ว เช่น สวนสนุกและห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน หรือแม้แต่อยากให้มีน้ำสะอาดและทะเลน้ำจืดอยู่หน้าบ้าน”

“อนาคตของเด็กต่างจังหวัดจำนวนมากมาถึงแล้วสำหรับเด็กกรุงเทพฯ ในขณะที่เด็กกรุงเทพฯ มองไปถึงต่างประเทศแล้ว แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วอนาคตไม่ใช่เรื่องของความเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องของความต้องการ ทรัพยากร การเมือง และเป็นเรื่องของพื้นที่ด้วย”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่กระตุ้นให้เยาวชนได้ใช้จินตนาการในการกำหนดอนาคตเชิงนโยบายคือกิจกรรมเมืองแห่งอนาคต ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองออกแบบเมืองและเสนอนโยบายของเมืองในอนาคตที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจินตนาการและความปรารถนาด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเข้ากับคุณค่าสาธารณะในหลายมิติ เช่น ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การเมืองการปกครอง การกระจายความเจริญ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน การศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเมืองที่น่าอยู่ในอนาคตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ

“พอได้คุยกับคนที่เข้าร่วมกิจกรรม เราพบว่าจินตนาการไม่ใช่เรื่องของการหนีจากความเป็นจริง (escapism) แต่ถ้าได้รับการกระตุ้นที่ดีพอ และมีการจัดวางให้ได้ลองคิดทีละขั้น จะทำให้แต่ละคนมองเห็นว่าอะไรคือความต้องการและความปรารถนาที่พวกเขาอยากเล่า ทำให้คิดถึงโลกอนาคตในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในห้องเรียน”

“และที่สำคัญที่สุดคือบางคนพูดว่ากิจรรมที่เคยเข้าร่วมส่วนใหญ่ชวนให้คิดแต่จินตนาการที่เป็นของตัวเอง แต่จินตนาการพลเมืองพาไปไกลกว่านั้น คือไม่ใช่จินตนาการแค่ตัวเอง แต่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างไรในโลกอนาคตข้างหน้าด้วย” ภาคินสรุป

จินตนาการให้ไกลโดยไม่มีอะไรมากั้น

ในส่วนของเยาวชนกลุ่มความสนใจร่วม ทั้งแฟนคลับศิลปินเกาหลี LGBTQ+ กราฟิกดีไซน์ และ content creator สรัช สินธุประมา นักวิจัยที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวแบ่งกิจกรรมเวิร์กช็อป ออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ กิจกรรม ‘ความหวังที่ไม่มีอะไรกั้น: จินตนาการสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2615’ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ปลดปล่อยจินตนาการถึงอนาคตประเทศไทยหรือโลกที่อยากจะเห็นในอีก 50 ปีข้างหน้าบนแนวคิดที่ว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปได้โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น ด้วยการสร้างเรื่องราวที่รวมจินตนาการของทุกคนเข้าด้วยกันโดยใช้องค์ประกอบจากป๊อปคัลเจอร์ และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน

“ความสนใจของเยาวชนหลากหลายมาก สุดท้ายป๊อปคัลเจอร์จึงเป็นความหลากหลายที่ต้องเรียนรู้ และเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การพูดคุยและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่มีพื้นเพต่างกัน”

“จากกิจกรรมนี้มีกลุ่มหนึ่งจินตนาการเรื่องราวให้มีผู้พิพากษาฮีโร่ใช้ค้อนวิเศษเสกให้ผู้นำเผด็จการหายไป ทำให้ประเทศเจริญขึ้นมาทันทีในทุกๆ ด้าน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ แต่ในช่วงที่เปิดให้มีการพูดคุยถกเถียงกันก็มีคนตั้งคำถามว่าถ้าเพียงแค่ใช้วิธีแบบศาลเตี้ยทำให้ผู้นำที่เลวร้ายหายไป แล้วถ้าในอนาคตมีผู้นำคนใหม่มาแทน วิธีการนี้จะเป็นวิธีที่ดีจริงหรือเปล่า สุดท้ายกิจกรรมนี้จึงชวนให้เราย้อนกลับมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย” สรัชอธิบาย

สรัช สินธุมา นักวิจัยโครงการ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563’

อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ‘ทาบจินตนาการสู่ความเป็นจริง’ ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลองวาดโครงการในฝันทาบลงไปบนสถานที่หนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงความหมายของสถานที่นั้น สรัชระบุว่าในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นการทวงคืนพื้นที่สาธารณะและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงปรารถนาให้สถานศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สรัชเสริมว่าสำหรับเยาวชนกลุ่มความสนใจร่วม เมื่อลองให้จินตนาการถึงโลกอนาคตผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปดังกล่าว ประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องของความเท่าเทียม ความหวัง การศึกษา ขนส่งสาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการโค่นล้มทรราช และการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม

“สิ่งที่เราเห็นคือเยาวชนหลายคนกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองพูดจะผิด หรือกลัวการถูกตัดสินว่าพูดจาเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากกรอบของระบบการศึกษา แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตได้จริงๆ และจินตนาการก็สะท้อนกลับมาชวนให้ถกเถียงถึงโลกความเป็นจริงได้อย่างสร้างสรรค์” สรัชกล่าวสรุป

เพราะเยาวชนเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของชาติ

ในฐานะนักวิชาการที่สนใจเรื่องของคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่างานวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” เป็นงานที่ยกระดับศักยภาพและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมของงานวิจัยเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่เคยมีมาในอดีต เพราะเป็นงานที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงพัฒนาการทางความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มาไกลจากจุดเริ่มต้น และเจาะลึกลงไปถึงความหวังและความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อโลกในอนาคต

“งานวิจัยก่อนหน้านี้มีข้อสรุปมากมายว่าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ตื่นตัวแล้ว คนรุ่นใหม่เป็นพลังที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าพวกเขามองโลกอย่างไร ภายใต้เครื่องมือการวิจัยแบบหนึ่งเราจะเห็นแต่เสียงของแกนนำ แต่เราไม่เห็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในการชุมนุม” กนกรัตน์ให้ความเห็น

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ กนกรัตน์แสดงข้อคิดเห็นถึงความสำคัญทั้งในเชิงเครื่องมือวิจัยและข้อค้นพบต่องานวิจัยนี้ 11 ข้อ

ข้อที่ 1 วิธีการที่ใช้ในการวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” เป็นเครื่องมือแบบใหม่ในการรักษาจินตนาการของคนรุ่นใหม่ที่เคยถูกทำลายท่ามกลางการต่อสู้และความล้มเหลวต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งยังช่วยเยียวยาความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นไปไม่ได้ในระบบการศึกษาในโรงเรียน

ข้อที่ 2 ถือเป็นการสร้างพลัง (empower) ให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจว่าพวกเขาเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างความเชื่อมั่นว่าปัจเจกบุคคลเป็นพลังในการพัฒนาสังคมและเปลี่ยนโลกได้จริง

ข้อที่ 3 สามารถออกมาจากกรอบ ‘เผด็จการความเป็นไปได้’ ทั้งยังปลุกความมั่นใจให้คนรุ่นใหม่จินตนาการถึงโลกที่พวกเขาปรารถนาได้อย่างแท้จริง

ข้อที่ 4 เป็นการเชื่อมโยงโลกปัจจุบันกับโลกอนาคต ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเห็นโลกอนาคตมาอยู่ในโลกปัจจุบัน

ข้อที่ 5 เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระหว่างเจนเนอเรชัน (generation bridge) ที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเยาวชนได้มากกว่าเรื่องของการชุมชน ให้ผู้ใหญ่มองคนรุ่นใหม่ในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่มีความฝันและมีศักยภาพ

ข้อที่ 6 ถือเป็นกิจกรรม self-therapy สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยบาดแผล เพราะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สะท้อนความเจ็บปวดของตัวเองโดยไม่ต้องทำร้ายบาดแผลตัวเองซ้ำๆ และได้รับการเติมเต็มความหวังอีกครั้ง

ข้อที่ 7 เป็นกิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่โรงเรียนให้พวกเขาไม่ได้ ทั้งยังเป็นกลไกให้เยาวชนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

ข้อที่ 8 เป็นรากฐานสำคัญให้เยาวชนที่อาจไม่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงนโยบายมากขึ้น

ข้อที่ 9 ทำให้เยาวชนที่ขับเคลื่อนความคิดผ่านโลกออนไลน์เป็นหลักได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันในชีวิตจริง

ข้อที่ 10 การทำงานกับกลุ่มความสนใจร่วมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองและสังคมอยู่เสมอเช่นกัน ซึ่งเป็นการทำลายภาพจำเชิงลบที่สังคมมีต่อพวกเขา

ข้อที่ 11 งานวิจัยนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มี self-criticism เพื่อเข้าใจความคิดและความเชื่อของตัวเองอย่างลึกซึ้ง

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ตอบสนองเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งความปรารถนาที่จะผลักดันความคิดใหม่ๆ รวมถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบใหม่ได้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ และสะท้อนให้เห็นว่าการตื่นรู้ทางความคิดของคนรุ่นใหม่นั้นเกิดขึ้นจริงแล้วในสังคมไทย

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มากไปกว่านั้น เขามองว่าคำว่า ‘โลกใหม่’ ของเยาวชนไทยไปไกลมากกว่าที่เคยเป็นมา และไม่ใช่การจินตนาการแบบฝันฟุ้งอยู่เพียงในโลกแห่งอุดมคติ แต่คือการมองปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงใน ‘โลกเก่า’ และนำมาใช้ในการจินตนาการถึงความเป็นไปได้และความหวังในแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเพื่อให้สังคมเดินหน้าไปสู่โลกใหม่ที่น่าอยู่ได้อย่างแท้จริง

“ถ้าคุณพยายามจะกักขังคนที่โตมากับโลกใหม่ให้อยู่ในโลกเก่า ความตึงเครียดระหว่างรุ่นก็จะสูงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงความตึงเครียดในสังคมด้วย ยิ่งสังคมสามารถพัฒนาโลกให้เท่าทันกับเทคโนโลยีมากเท่าไร ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านของรุ่นก็จะเป็นไปด้วยความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น” พริษฐ์กล่าว

อีกทั้งพริษฐ์ยังเห็นด้วยกับกนกรัตน์ว่าการออกแบบกิจกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระตุ้นจินตนาการของเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยนั้นแตกต่างจากที่เคยมีมา และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานวิจัยนี้ได้ผลลัพธ์ที่เข้าไปถึงความคิดและความปรารถนาที่เยาวชนต้องการอย่างลึกซึ้ง

“เท่าที่ผ่านมาผมก็ถูกสัมภาษณ์โดยนักวิจัยมาตั้งแต่ผมยังเด็ก จนตอนนี้ก็ไม่เด็กแล้ว ทุกคนก็จะมาเหมือนกันหมดคือเอาความเป็นนักวิชาการมาถามผม แต่งานวิจัยนี้มีการออกแบบเครื่องมือวิจัยให้เข้ากับธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ยึดตัวผู้วิจัยเป็นหลัก แต่ยึดเอาตัวเด็กเป็นหลัก”

“ผู้ใหญ่ก็จะพูดเหมือนกันหมดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ และเด็กก็ต้องแบกรับความหวังอะไรบางอย่าง แต่ความจริงเด็กไม่ใช่อนาคตเพียงอย่างเดียว เด็กยังเป็นปัจจุบันด้วย เพราะฉะนั้นการรับฟังเสียงและความต้องการของเด็กจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save