fbpx
บนถนนสายตาสว่าง: กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์

บนถนนสายตาสว่าง: กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์

ธิติ มีแต้ม, สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ, ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

1 ทศวรรษแห่งการล้อมปราบคนเสื้อแดง ท่ามกลางวาทกรรมล้มเจ้า ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ที่เอื้อให้เกิดใบอนุญาตฆ่าได้ แต่ดูเหมือนเมื่ออำนาจรัฐยิ่งข่มยิ่งกด มวลชนยิ่ง ‘ตาสว่าง’

ไม่ว่าจะมีคนล้มตายด้วย ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ไปจนถึงมีคนต้องคดีจนเข้าคุกตารางมากแค่ไหน ภาวะตาสว่างของประชาชนอาจเป็นสิ่งเดียวที่รัฐควบคุมลำบากที่สุดท่ามกลางการเมืองมวลชน

101 สัมภาษณ์ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยมวลชนคนเสื้อแดงในประเด็น ‘ตาสว่างปากกระซิบ’ (My Eyes Are Open but My Lips Are Whispering: Linguistic and Symbolic Forms of Resistance in Thailand during 2006-2016)

น่าสนใจว่าถนนแห่งการตื่นตัวทางการเมืองที่วิ่งไปสู่การถูกปราบจนบาดเจ็บล้มตาย และเวียนมาสู่ภาวะตื่นรู้ใหม่เป็นอย่างไร กระทั่งในอนาคต ฝ่ายประชาธิปไตยจะหลุดพ้นจากเส้นทางดังกล่าวได้หรือไม่

 

 

ทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองไทยแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์เคยศึกษาคนเสื้อแดงในทางวิชาการ เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่น ขอออกตัวว่าข้อมูลต่อไปนี้เป็นไม่ใช่ประสบการณ์โดยตรงหรือความคิดความเชื่อจริงๆ ของคนเสื้อแดง เราเป็นเพียงผู้ติดตาม ผู้สังเกตการณ์ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวมาอีกที หากจะมีใครที่เหมาะสมที่สุดในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ก็คงเป็นตัวคนเสื้อแดงเอง ไม่ใช่ระดับแกนนำ ระดับปัญญาชน แต่เป็นคนเสื้อแดงหาเช้ากินค่ำธรรมดา สังคมไทยยังขาดพื้นที่เรื่องเล่าตรงนี้

กลับมาที่คำถาม ในปี 2553 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากในขบวนการการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง เพราะเป็นปีที่คนเสื้อแดงชุมนุมใหญ่กลางกรุงเทพฯ โดยมีข้อเรียกร้องที่ไม่ได้สุดโต่ง ไม่ได้ถอนรากถอนโคนแต่อย่างใด แค่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

ระยะเวลาการประท้วงเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมและจบลงด้วยความรุนแรงในกลางเดือนพฤษภาคม รวมเวลาสองเดือนเพียงเท่านั้น ทว่ารัฐไทยกลับตอบโต้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงด้วยการใช้อาวุธและกระสุนจริงสลายการชุมนุม นำไปสู่การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และยังมีนักโทษทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ปี 2553 จะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เราก็มองว่ามันนำไปสู่การปลดแอกทางความคิดในหมู่ผู้เข้าร่วมขบวนการเสื้อแดงมากๆ อันที่จริงข้อสังเกตนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีงานวิชาการหลายงานที่เห็นพ้องกันเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น งานของ Serhat Ünaldi, Nick Nostitz, Claudio Sopranzetti, ธงชัย วินิจกุล, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นต้น

ขออ้างคำพูดของแกนนำเสื้อแดงคนหนึ่งที่ได้พูดในงานศพคุณเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ คนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายในเดือนเมษายนปี 2553 เขาพูดว่า “ความรักทำให้เราตาบอด แต่ว่าความตายทำให้เราตาสว่าง” หลังจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เป็นที่ทราบกันว่าคำที่เรียกว่า ‘ตาสว่าง’ มันแพร่หลายไปในวงกว้าง

ฉะนั้นอยากจะขอย้อนไปว่า ‘ตาสว่าง’ มีที่มาจากไหน มันไม่ได้อยู่ดีๆ จะผุดขึ้นมาในงานศพปี 53 คำๆ นี้ถือได้ว่าเป็นศัพท์ทางการเมืองที่สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จะสะท้อนสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อผู้พูด หากแต่ยังเป็นคำสั้นๆ ที่ผู้พูดใช้สื่อถึงบางอย่างที่อาจไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้ในสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อย้อนรอยสืบเสาะก็ค้นพบว่า สัญลักษณ์คำทางการเมืองแบบนี้ถูกใช้ครั้งแรกใน (เว็บ) บอร์ดฟ้าเดียวกัน ช่วงประมาณปี 2550 หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2549 เพราะมีคนไปตั้งกระทู้ว่า “คุณตาสว่างเมื่อไหร่?” และมีคนมาเขียนตั้งแต่ว่า “เมื่อเข้าเรียนคลาสของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์” บางคนตอบว่า “เมื่ออ่านฟ้าเดียวกัน ปกโค้ก”

‘ตาสว่าง’ เริ่มเป็นคำทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 แต่ไม่ได้แพร่หลายมาก มิหนำซ้ำมันอาจจะเป็นคำที่จำกัดอยู่แค่ในหมู่แวดวงปัญญาชน ใครล่ะที่จะมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ใจ ใครล่ะจะมีโอกาสได้เข้าถึงนิตยสารฟ้าเดียวกัน มันมีความเป็นนักวิชาการมากๆ

จากปี 2550 จนถึงปี 2552 แกนนำมวลชนเสื้อแดงเริ่มหยิบฉวย ‘รหัสการเมือง’ นี้มาใช้บนเวทีชุมนุมบ้าง แต่อาจจะยังเป็นรหัสยังไม่เข้าใจตรงกันในวงกว้าง เช่น คุณจักรภพ เพ็ญแข ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ลี้ภัย เขาก็เคยพูดบนเวทีประมาณว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับโรคตาสว่าง ประชาชนต้องเลือกระหว่างระบอบประชาชนธรรมดาหรือระบอบอภิสิทธิ์ชน

นอกจากนั้น เราเห็นไม้หนึ่ง ก.กุนที ใช้คำนี้ในงานบทกวีสถาปนาประชาชนของเขาว่า “บูชาคนตาสว่าง แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง รู้สิทธิ์คนมั่นคง ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน” บทกวีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2552

รัฐเองก็เริ่มสัมผัสได้ถึงคลื่นใต้น้ำตาสว่างนี้จนทำให้มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยข้อหาละเมิดมาตรา112 อันได้แก่ คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ใจ อึ๊งภากรณ์, จักรภพ เพ็ญแข, ชูชีพ ชีวสุทธิ์

ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2552 ขบวนการเสื้อแดงเองมีการถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตรด้วย อาจมองได้ว่านี่เป็นสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ในหมู่คนเสื้อแดงเอง

แล้วพอปี 2553 เกิดการสลายการชุมนุม คำว่าตาสว่างก็ระบาดไปทั่ว สะท้อนออกมาพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่มวลชนไปตะโกนที่แยกราชประสงค์ ‘ตาสว่าง’ กลายเป็นศัพท์ทางการเมืองที่มวลชนเข้าใจความหมายตรงกันในวงกว้าง ไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในกราฟิตี้นิรนาม คำๆ นี้ถูกใช้ในกลอนที่คนเสื้อแดงทุกคนคุ้นเคย เรียกกันว่า ‘กลอนสมัคร’ (เผยแพร่ช่วงมิถุนายน 2553) ว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัวชั่วชีวิต เคยหลงผิดถึงขั้นตายแทนได้ หลงตามลมชวนเชื่อทั่วเมื่อไป บัดนี้ไทยตาสว่างเห็นทางธรรม”

นอกจากนี้ นิตยสาร red power ก็ยังนำคำนี้ไปขึ้นปก ‘ประชา ตาสว่าง’ ด้วย

หลังการสลายการชุมนุม แกนนำหลักถูกจำคุก ประกอบกับมวลชนเสื้อแดงมีความคับแค้น มีคำพูดทำนองว่า “แพ้ชนะไม่รู้แต่กูจะสู้กับมึงทุกวัน” แรงปรารถนาแบบนี้มันจึงเปิดโอกาสให้แกนนำรุ่นถัดมามีบทบาทเยอะ เช่น คุณสุรชัย แซ่ด่าน คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำเหล่านี้ยิ่งมีบทบาทริเริ่มการต่อต้านรูปแบบใหม่ๆ ใช้ภาษาใหม่ๆ พร้อมการแสดงออกความคิดทางการเมืองที่แหลมคมขึ้นจากเดิม รวมไปถึงการก่อตัวขึ้นของกลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ในวันที่ 19 กันยายน 2553 และการจัดเสวนาวิชาการซึ่งเปิดตัวอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสาธารณชน สิ่งเหล่านี้ยิ่งสอดรับสนับสนุนกับอารมณ์ของมวลชน

บรรยากาศหลังการสลายการชุมนุมเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก มีกิจกรรมคนไปตะโกนว่า “ที่นี่มีคนตาย” ไปปั่นจักรยาน ไปกายบริหารที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดขึ้น และมีวงเสวนาในมหาวิทยาลัยอีกเยอะมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่พื้นที่วิชาการและพื้นที่แห่งการประท้วงขัดขืนผสมปนเปกัน เป็นยุคที่มีการสร้างแนวร่วมระหว่างปัญญาชน ศิลปิน นักวิชาการ และมวลชนคนธรรมดา

สิ่งที่แกนนำปราศรัยบนเวที หรือที่นักวิชาการบรรยายบนเวที มันไม่สำคัญเท่ากับปฏิกิริยาของมวลชนที่เขาโห่ร้องและตอบโต้ เป็นบรรยากาศที่คึกคักมาก ความแพร่หลายของความคิดการเมืองที่แหลมคมขึ้นทำให้แกนนำเสื้อแดงส่วนหนึ่งต้องปรับตัวและพยายามใช้ภาษาสัญลักษณ์ตามมวลชน ยกตัวอย่างเช่น ช่วงกลางปี 2554 ก่อนการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยจะชนะ

คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสนอว่า ต่อจากนี้ไปแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็น ‘ตาสว่างปากกระซิบ’ เขาเชื่อว่าสู้แบบนี้จะสู้ได้นานกว่า มีโอกาสชนะมากกว่า ตัวเขาเองก็ออกตัวว่าใครจะ ‘ตะโกน’ ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน แต่สำหรับเขาเขาขอสู้ด้วยแนวทางนี้ มันเห็นได้ชัดว่าเวลาที่ณัฐวุฒิพูด ไม่ต้องมีใครมาอธิบายว่าอะไรคือตาสว่าง ทุกคนเข้าใจหมด

หลังจากคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นรัฐบาล หลายคนมองว่าเป็นช่วงหวานชื่นของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นการได้ลิ้มรสชัยชนะของคนที่พ่ายแพ้มาหลายครั้งแล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แน่ล่ะ ยังมีการรณรงค์ทางการเมือง มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมาย ม.112 มีการเรียกร้องเอาผิดคนที่สั่งฆ่าประชาชน แต่คำว่าตาสว่างไม่ได้ถูกใช้อย่างเปิดเผยในมวลชน มันอยู่ในรูปแบบของการ ‘กระซิบ’ อาจจะอยู่ในเวทีปราศรัยย่อย วงเสวนาย่อยๆ อยู่ในเพลงล้อการเมืองต่างๆ เสน่ห์ของมันคือเป็นอาวุธของคนที่ไม่มีทางสู้ ไม่มีต้นทุนทางสังคม เพราะอย่าลืมว่าช่วงปี 2553-2554 คดีทางการเมืองพุ่งขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะคดี 112

สุดท้ายเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 ขึ้น การรัฐประหารครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มุ่งสลายภาวะตาสว่างที่ขึ้นเป็นกระแสสูงหลังปี 53 ดังที่สะท้อนออกมาผ่านรายชื่อคนที่ คสช.เรียกให้ไปรายงานตัว คนที่ตัดสินใจลี้ภัย และเหล่านักกิจกรรมเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งคนธรรมดาที่โดนข้อหาละเมิดพ.ร.บ.คอมฯ ม.112 หรือ ม.116  พูดง่ายๆ ว่า จากที่เคยเป็น ‘เสียงกระซิบ’ กลายเป็นบอดใบ้ไร้เสียง นี่คือเพดานเสรีภาพที่ถูกทำให้ต่ำลงภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.

 

อาจารย์เห็นอะไรเปลี่ยนไปบ้าง พอภาวะตาสว่างถูกรัฐประหาร

การรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ไม่เพียงแต่มุ่งสลายความเป็นเสื้อแดง แต่กดปราบกระแสตาสว่างที่แพร่หลายในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย หลังปี 2557 เราพอจะเห็นกระแสมวลชนเองที่ต้องการสู้ มีบางคนไปถึงขั้นว่าต้องการคนอย่าง เสธ.แดง แต่พื้นที่ประท้วงถูกปิด มันไม่มีช่องทางแม้ใจยังอยากสู้อยู่ เคยนั่งฟังคนเสื้อแดงเขาเถียงกันเรื่องแกนนำไม่ออกมาสู้ บ้างก็บอกว่าเราต้องวิจารณ์ขบวนของเราเอง บ้างก็ถึงขั้นวิจารณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่ร่วมภาคีกับ ICC บ้างก็บอกคุณลองไปเป็นแกนนำบ้างสิ ไปติดคุก ไปตายแบบเขาไหม ก็ต้องยอมรับว่ารัฐประหารทำให้เสื้อแดงมาทบทวน ถกเถียงแนวทางการต่อสู้ของตัวเอง

ทีนี้ถามว่าภาวะตาสว่างเปลี่ยนไปอย่างไร เราเห็นคนถูกจำกัดมากๆ ในการแสดงออก แต่ยังมีอารมณ์ที่อยากแสดงออก ดูได้จากคลิปต่างๆ ของกลุ่มเสื้อแดงที่ลี้ภัย หรือบางเคสที่ไปเขียนระบายความโกรธขอองตัวเองบนประตูห้องน้ำห้าง มีแท็กซี่ที่ระบายความโกรธของตัวเองกับผู้โดยสารจนถูกอัดคลิปส่งตำรวจกลายเป็นคดีไปก็มี

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การตาสว่างด้วยวิธีการกระซิบก็ยังถูกจำกัดจำเขี่ยมากๆ กระทั่งมีหลายคนที่ถูกไล่ล่าด้วย ทำให้โค้ดทางการเมืองหายไป อาจกล่าวได้ว่า รัฐประหาร 57 ทำให้การต่อสู้ของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการต่อสู้ที่แหลมคมในช่วงปี 53-54 กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือน อะไรที่เคยเป็นไปได้ในสมัยนั้น กลับเป็นสิ่งที่เราจินตนาการไม่ได้ในปัจจุบัน ขอบฟ้าความเป็นไปได้ทางการเมืองถูกทำให้ต่ำลงมาก

ถ้าเราจะซื่อตรงกับความรู้สึกของคนเสื้อแดงและการแสดงออกทางความคิดของเขา เราคิดว่าในปัจจุบันมันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ‘ตาสว่าง’ คำว่า ‘ตาสว่าง’ เคยมีพลัง เคยมีความหมายในบริบทก่อน มันสื่อถึงการสำเหนียกหรือการตระหนักถึงอะไรบางอย่าง

อย่างในกลอนสมัคร นี่ชัดเจนว่าสื่อถึงภาวะการเข้าใจผิด เคยหลง เคยหวัง เคยรัก พอคุณตาสว่างขึ้นมา คุณกลายเป็นคนใหม่ เข้าใจโลกรอบตัวด้วยโลกทัศน์ใหม่ๆ นี่คือความหมายของตาสว่าง แต่การเมืองหลังรัฐประหาร 2557 อยากจะเรียกว่าเป็นสภาวะสว่างอยู่ตำตา แต่ก็ต้องทนอยู่กับมัน หรือแกล้งบอดใบ้ ทำเหมือนว่าไม่เห็น รูปแบบของการแสดงออกมันจึงแตกต่างกัน

 

แบบที่เห็นได้ในทวิตเตอร์ทุกวันนี้ ?

กระแสทวิตเตอร์ทุกวันนี้ ผู้ขับเคลื่อนหลักไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่ยังมีความเกี่ยวเนื่องกันระดับหนึ่ง เช่น อาจจะสมาทานความคิดกลุ่มนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน อาจจะเสพหนังสือบางเล่ม หรือ เชิดชูสนับสนุนตัวแสดงการเมืองในประวัติศาสตร์กลุ่มเดียวกัน เหล่านี้สะท้อนการมีความคิดความเชื่อซ้อนกันอยู่ แต่ก็มีความแตกต่าง สมัยนี้เป็นความสร้างสรรค์ทางสัญลักษณ์อีกรูปแบบ เช่น ตัวย่อต่างๆ แฮชแท็ก หรือคำว่า ‘ไอโอ’ เราเห็นได้ชัดว่าเป็นภาษาของการต่อต้านแบบคนรุ่นใหม่

การ ‘กระซิบ’ ของคนเสื้อแดงก่อนหน้านี้มีลักษณะการเปรียบเปรยสูง มีการใช้คำเช่น ฟ้า ฝุ่น ดิน มักแฝงด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น อารมณ์ตัดพ้อในเพลง ‘แดงเสรีชน’ มีท่อนที่ร้องว่า “ฟ้าอัสดงหลงลืมก้อนดินหรือเปล่า” บ้างก็แฝงอารมณ์ขันแบบบ้านๆ มีการใช้คำเรียกแทนชนชั้นนำบางอย่าง ที่คนชั้นกลางอาจจะมองว่าหยาบคาย ไม่ถูกจริตสำหรับคนมีการศึกษา แต่สำหรับเราคิดว่านั่นคืออาวุธทางสัญลักษณ์ที่ท้าทายระบอบที่เป็นอยู่ มันเป็นการพรากความศักดิ์สิทธิ์ไปจากอะไรบางอย่าง มันตรงไปตรงมากว่าคำศัพท์ ‘ทางวิชาการ’ ที่ปัญญาชนชอบใช้ในปัจจุบัน เช่น รัฐพันลึก ภูมิพลคอนเซนซัส เป็นต้น

 

 

ปรากฏการณ์ตาสว่างของคนเสื้อแดง มีเซนส์ความเป็นชนชั้นกว่าทวิตเตอร์ไหม

ที่น่าสนใจและมีเสน่ห์ของภาษาแห่งการต่อต้านแบบเสื้อแดงคือมีการประชดประชันสูง มีการเอาคำที่เคยถูกดูถูกมายกระดับและใส่ความหมายใหม่เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ เช่น ควายแดง ไพร่กับอำมาตย์ ดินกับฟ้า ธุลีดิน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเสื้อแดงคือนักต่อสู้ประชาธิปไตยที่โดนดูถูก โดนมองว่าโง่ จน เจ็บ เขาจึงตอบโต้ด้วยภาษาแบบนี้ ภาษาแห่งการต่อต้านในโลกทวิตเตอร์ปัจจุบันอาจจะไม่ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะนี้สักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการประชดว่ากูมันไพร่ มันควาย มันก้อนดินคือการเรียกร้องคือเรื่องความเป็นคนเท่ากัน และวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

อีกประเด็นหนึ่งคือบริบทในสมัยที่คนเสื้อแดงพยายามท้าทายมันเป็นอีกแบบหนึ่ง ลักษณะของอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยในยุคคนเสื้อแดงไม่เหมือนปัจจุบัน พูดง่ายๆ คือ ในยุคนั้นอำนาจมันมีหลายมิติ ไม่ได้เน้นแต่มิติด้านการกดปราม ใช้กฎหมายห้าม ปกครองด้วยความกลัว หลังรัฐประหารเราอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่ปิดกั้นเสรีภาพมาก การวิพากษ์อำนาจก็เลยไม่ได้มีลักษณะเดียวกันเสียทีเดียว

ก่อนหน้าจะมีเพจ ‘ไข่แมว’ ก็มี ‘มานีมีแชร์’ ‘กูkult’ ‘โหดสัส’ ‘กองทัพประชาชนล้มระบอบทักษิณ’ ‘ลัทธิคนไทยรักในหลวงจนเสียสติ’ เพจเหล่านี้ท้าทายอำนาจในลักษณะที่แตกต่างจากทวิตเตอร์ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นคือการใช้เทคนิค over exaggerate เช่น ลุกขึ้นยืน 5 ชั่วโมง หรือกราบสิบครั้ง ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ใช่เทรนด์แบบนั้นแล้ว หรืออีกเทคนิคคือ decontextualization หมายถึงเอาภาษาหรือสัญลักษณ์ที่ไม่ได้มีความหมายทางการเมืองที่ท้าทาย มาใส่ในบริบทใหม่ เช่น แพะ ฝุ่น เป็นต้น กลับมาที่คำถามที่ว่า การต่อสู้ประเด็นเรื่องชนชั้นชัดกว่าไหม ก็ไม่เชิง เราว่ามันมีประเด็นเรื่องการพรากความศักดิ์สิทธิ์ ทำลายมายาคติ เสียดสีความดัดจริตความย้อนแย้งของสังคมไทย

 

อาจารย์พอจะเห็นการชุมนุมล่าสุดของนักศึกษาที่มีประเด็นเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดงในอดีตบ้างไหม หรือมันแยกขาดอย่างสิ้นเชิง

กรณีของนิสิตนักศึกษาครั้งล่าสุด อาจจะยังไม่เห็นชัดว่าจะสืบสานการต่อสู้ของคนเสื้อแดง มันไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจน แต่อีกด้านหนึ่ง เราเคยฟังนักศึกษาคนหนึ่งปราศรัย เขาบอกว่าระบอบที่เราเจอตอนนี้มันไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีมาตั้งแต่ปี 2549 การที่เขาปราศรัยและพยายามจะอธิบายสภาวะที่เราเจออยู่ตอนนี้ในลักษณะที่โยงกลับไปมากกว่า 10 ปีก่อนก็สะท้อนความเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดงแล้ว

หรืออย่างป้ายประท้วงหลายๆ ป้ายก็มีการพาดพิงไปถึงคณะราษฎร นี่ก็เป็นอีกจุดร่วมเพราะคนเสื้อแดงเองก็ผูกโยงตัวเองกับคณะราษฎรเช่นกัน ที่น่าสนใจคือเราไปฟังนักศึกษาคนหนึ่งปราศรัย เขาออกตัวเลยว่า ขอโทษที่อาจพูดคำหยาบบ้าง เพราะ “ผมไพร่โดยสันดาน” แล้วเพื่อนๆ ผู้ฟังก็โห่ร้องหัวเราะชอบใจ เหล่านี้สะท้อนความเชื่อมโยงกับเสื้อแดงไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังมีการใช้ศัพท์อย่างคำว่า ‘ชนชั้นนำ’ ‘อำมาตย์’ ซึ่งเป็นคำที่คนเสื้อแดงใช้มาแล้วทั้งนั้น คือมันไม่ได้รับมรดกมาในเชิงตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ แต่เป็นภาวะที่เชื่อมโยงถึงเจตจำนงการต่อสู้ที่ผ่านมา

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมตามมหา’ลัยที่มีลักษณะเปิดมากขึ้น ก็มีลุง ป้า น้า อา อดีตคนเสื้อแดงไปเข้าร่วมบ้าง คนเหล่านี้พร้อมลุกขึ้นมาสนับสนุนคนรุ่นใหม่เสมอ อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การชุมนุมของนักศึกษาย่อมแตกต่างจากการชุมนุมของเสื้อแดง ที่ชัดๆ ก็คือ การใช้ภาษาที่เป็นวิชาการ เน้นวาทะศิลป์ บทกลอน มีใช้ภาษาต่างประเทศ เนื้อหาในการปราศรัยเน้นความเป็นคนรุ่นใหม่ เปรียบเปรยว่าตนเป็นต้นกล้าประชาธิปไตย และโต้ตอบกับการดูแคลนของบรรดา ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ หรือ ‘พี่ๆ’ พูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่คนเสื้อแดงมีสโลแกน ‘ไม่ต้องจ้างกูมาเอง’ นักศึกษาเขาก็มีสโลแกน ‘ขอบคุณนะคะที่กล้าสอนหนู’ ทั้งหมดนี่ก็เพื่อตอบโต้บรรดา ‘คนดี’ ที่ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงเป็นพวกคิดเองไม่เป็น โดนหลอก

 

นอกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เปลี่ยนไป อาจารย์มองการเข้าไปรับใช้อำนาจรัฐบาลทหารของแกนนำเสื้อแดงบางคนอย่างไร มันมีผลต่อพลังที่ลดลงของขบวนการเสื้อแดงด้วยไหม

เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับขบวนการที่ต่อสู้ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลายาวนาน แล้วประสบชะตากรรมที่ผ่านมา ในหมู่มวลชนเองยังมีคนถอดเสื้อแดงเลย บางคนบอก “กูสู้ทีไรแพ้ทุกที” “ตายไปก็เยอะ” พอดีบังเอิญได้รู้จักกับผู้สนับสนุนเสื้อแดงบางคนที่ทั้งเคยติดคุก ล้มป่วย สิ้นเนื้อประดาตัว ครอบครัวเพื่อนฝูงลอยแพ แต่เขายังยืนยันจะสู้ต่อตามความคิดการเมืองแบบเดิม เรายังรู้สึกแปลกใจเลยว่าทำไมเขาไม่เลิก ไม่เปลี่ยน อาจเป็นเพราะเขาไม่มีอะไรจะเสีย ดังนั้น ในกรณีแกนนำบางคนมัน ‘มีอะไรจะเสีย’ ไปเยอะกับความพ่ายแพ้หลายครั้ง เขารู้แล้วว่า ‘สู้อยู่กับใคร’ จึงย้ายไปอยู่ฝั่งผู้มีอำนาจดีกว่า ก็อาจจะเป็นความธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับขั้วการเมืองที่ต่อสู้ยืดเยื้อแล้วไม่เคยชนะเลย อย่างไรก็ตาม เราไม่มองว่าการเปลี่ยนข้างไปรับใช้รัฐบาลทหารจะเป็นแนวโน้มหลักของเสื้อแดง มันเกิดขึ้นในหมู่แกนนำไม่กี่คน

แต่ว่ามันมีผลกระทบไหม ก็แน่นอน ขบวนการนี้บอบช้ำมาเยอะ แล้วไฟแห่งการต่อสู้ในแกนนำที่เหลือก็ไม่มี คงต้องรอให้คนกลุ่มใหม่จุด แล้วมวลชนเสื้อแดงคงเป็นแค่ฐานสนับสนุนมากกว่า เพราะจุดพีกของคนเสื้อแดงมันผ่านไปแล้ว จะให้กลับไปเป็นพลังทางการเมืองแบบ 10 ปีก่อนคงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ไม่ได้ประสงค์จะดูแคลนขบวน หากแต่มองว่า ในตอนนี้สิ่งที่ขบวนการเสื้อแดงควรได้รับน่าจะเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เหมาะสมและความยุติธรรม ไม่ใช่แรงกดดันว่าต้องออกมาแสดงพลังให้ได้แบบเดิม

เราไม่ควรลืมว่า บางสิ่งบางอย่างที่คนเสื้อแดงเคยทำ ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคสมัยปัจจุบัน เส้นของการวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะถูกทำให้ถอยหลังไปเยอะมาก ดูจากเพลงประเทศกูมี หรือการ์ตูนไข่แมว ที่เน้นภาพผู้นำทหารอย่างเดียว อาจจะมีนัยยะแฝงบางอย่าง แต่โดยรวมของการวิพากษ์วิจารณ์ มันถอยหลังไปเยอะ เราอาจจะเห็นพลัง เห็นภาษาถูกจุดขึ้นมาช่วงการชุมนุมของนักศึกษา เรารู้สึกตื่นเต้น กระชุ่มกระชวยมากแต่อาจจะลืมไปว่าเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้เราเคยพูดได้มากกว่านี้ เคยเกรี้ยวกราดได้มากกว่านี้ แต่ทั้งหมดถูกทำให้เงียบลงมากหลังจากรัฐประหาร 2557

 

อาจารย์เห็นเชื้อไฟแบบ 10 ปีก่อนจะกลับมาได้อีกไหม หรือเป็นแค่ประวัติศาสตร์ไปแล้ว

มันก็เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยรวมนั่นแหละ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ตัวขับเคลื่อนหลักมันเปลี่ยน ไม่ใช่คนเสื้อแดงแล้ว ถามว่าเขาหายไปเลยไหม เขายังไม่ได้หายไป และก็ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้ว ยังไม่ได้เลือนหายไป คนเสื้อแดงยังเป็นตัวเป็นๆ อยู่ คนที่พร้อมจะลุกขึ้นสนับสนุนตัวแสดงใหม่ๆ ให้มาถือคบไฟสู้ต่อก็ยังมี อันที่จริงในแง่ประวัติศาสตร์ การต่อสู้ การสูญเสียของคนเสื้อแดงควรถูกจารึก รับรู้ และสืบสานในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พัฒนาการประชาธิปไตยไทย เพราะแม้จะเพิ่งผ่านไปไม่นาน แต่ขบวนการเสื้อแดงเสี่ยงจะโดนกีดกันออกไป ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือกระแสรอง เราสะดวกใจที่จะจดจำนักต่อสู้ที่เป็นกลุ่มทหารหนุ่ม นักเรียนนอก นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง แต่กลับลืมคนธรรมดาที่ไม่มีสถานะทางสังคมสูงส่งอะไร เป็นนักต่อสู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘ธุลีดิน’

 

 

โศกนาฏกรรมผ่านมา 10 ปี วันนี้อาจารย์เห็นคนเสื้อแดงเรียนรู้อะไรบ้าง ถ้ามองแบบวิพากษ์โดยเฉพาะกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่ทำให้เกิดรอยร้าวในขบวนตามมา

จริงอยู่ที่เรื่องนิรโทษกรรมทำให้เกิดการทะเลาะกันเยอะมาก แต่เรามองว่าคนเสื้อแดงเองก็มีความหลากหลายมาก

ย้อนไปตั้งแต่ครั้งที่มีการถวายฎีกาปี 2552 หากมองในเชิงหลักการแล้ว ก็เหมือนนิรโทษกรรม มันดูย้อนแย้ง ทรยศอุดมการณ์ตัวเอง อย่างไรก็ตามเรามองว่าจะใช้ไม้บรรทัดหลักการไปวัดการตัดสินใจของมวลชนไม่ได้ เราเคยคุยกับป้าๆ ที่เคยเข้าร่วมการถวายฎีกาและเป็นคนอยู่หน้าแถว เราแปลกใจกับเหตุผลที่หลากหลายมากๆ บางคนบอกว่าอยากจะดูว่าฎีกาไปแล้วอีกฝั่งจะตอบอย่างไร จะได้รู้สักทีว่าใครอยู่เบื้องหลัง นี่เป็นคำตอบในวันนั้น มันไม่ได้เป็นคำตอบแบบอุดมการณ์ที่เป็นเส้นตรงซะทีเดียว

บางคนบอกว่า ความจริงไม่ได้เห็นด้วย แต่ถ้าลงชื่อกันมากๆ ก็คงมีพลัง ในฐานะของคนร่วมขบวน เขาอยากให้ขบวนเดินหน้าไป

สำหรับปี 2553 มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนเสื้อแดง และไม่ว่าเขาจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนิรโทษกรรมยังไงก็เปลี่ยนโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้

 

นอกจากตาสว่าง ปากกระซิบ อาจารย์มองเห็นการดีลระหว่างทักษิณ ชินวัตร และแกนนำกับมวลชนอย่างไร เวลามีคนมองว่าทักษิณสู้ไปกราบไป อาจารย์ทำความเข้าใจอย่างไร

เรานึกไปถึงคำถามที่ว่า คิดยังไงที่สังคมมองว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า และทำให้คิดถึงผังล้มเจ้าขึ้นมา คนที่อยู่ตรงกลางผัง จำได้ไหมว่ามีชื่ออะไรบ้าง ทักษิณ ชินวัตร คือคนที่อยู่กลางผังแล้วก็ถูกรายล้อมด้วยนักธุรกิจ มีปัญญาชน นักวิชาการ มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจด้วย นี่คือภาพที่รัฐต้องการที่จะสร้างให้เป็นขบวนการล้มเจ้าและพยายามเอามาทับซ้อนกับขบวนการเสื้อแดง

แต่ถ้าคุณฟังทักษิณพูดในที่ปราศรัยหรือไปดูการแสดงออกทางการเมืองหลายๆ ครั้ง จะไม่เห็นความคิดสุดโต่งเลย เพราะผังล้มเจ้าเป็นสิ่งที่รัฐมโนขึ้นมา มีลักษณะการโยงเอานักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการและแกนนำต่างๆ มาทำเป็นขบวนการ มีศูนย์กลางเป็นทักษิณหมด แต่สิ่งที่หายไปก็คือเสียงของประชาชน ผังแบบนี้นอกจากมโนขึ้นยังเป็นการลดทอนเสียงประชาชน ทำให้สังคมมองว่าประชาชนถูกจูงจมูกโดยพวกแกนนำที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้า ทั้งที่ความจริงตัวทักษิณไม่ได้มีความสุดโต่งใดๆ เลย

ทีนี้ถามว่าแล้วถ้าทักษิณไม่มีความสุดโต่ง คนเสื้อแดงเป็นหัวรุนแรงหรือเปล่า ถ้าตัดภาพที่รัฐสร้างขึ้น เราคิดว่าประชาชนกล้าพูดมากกว่าทักษิณแน่นอน ที่ผ่านมากระแสตาสว่างทำให้แกนนำต้องตามหลังมวลชน มวลชนนั่นแหละเป็นตัวขับเคลื่อน และเอาเข้าจริงคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็ต้องการประชาธิปไตยเสรี คนเท่ากัน ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์และแสดงออก นี่คือหลักการง่ายๆ ที่ประชาชนทั่วไปต้องการ ไม่ใช่แค่คนเสื้อแดงด้วยซ้ำ

ปัญหาคือรัฐไทยเองนั่นแหละที่สุดโต่ง จนมองการเรียกร้องแบบนี้เป็นอะไรที่รุนแรง ทั้งที่เนื้อหาเป็นเรื่องเบสิกมากๆ แต่ภาษาที่เขาใช้ ความตรงไปตรงมาทำให้เขาถูกตราหน้าว่าเป็นหัวรุนแรง เช่น ‘ฤา เลือดไพร่มันไร้ค่า’ ‘กูมันแค่ไพร่’ นี่เป็นคำที่คนเสื้อแดงใช่เปรียบเทียบให้เห็นภาพของสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน แต่ชนชั้นนำ คนชั้นกลางไม่คุ้นกับการพูดอะไรตรงไปตรงมาแบบนี้

 

ถ้ามองอีกแบบ ทั้งท่าที ภาษา จริตของคนเสื้อแดงเป็นทั้งเสน่ห์และทรงพลัง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน อะไรที่อาจารย์รู้สึกแคร์และไม่แคร์

จริตแบบคนเสื้อแดงอาจจะถูกมองว่าไม่มีความถูกต้องทางหลักการ และอาจจะย้อนแย้งว่าเชื่อในหลักการประชาธิปไตยจริงๆ เหรอ เพราะมันไม่ถูกจริตทั้งชนชั้นกลางและปัญญาชน แต่ขบวนการต่อสู้ประชาธิปไตยจะมีแต่ปัญญาชนไม่ได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ มันมีคนธรรมดา ตาสียายสา มันถึงมีพลัง

บทเรียนหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้ คือ ในครั้งหนึ่งทั้งปัญญาชนและคนเสื้อแดงเป็นพันธมิตรกัน ลุงป้าน้าอาเอาตีนตบเข้าไปฟังเสวนาในมหาวิทยาลัยได้ ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ บางทีมันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยนักศึกษาหรือปัญญาชนอย่างเดียว หลายครั้งถูกขับเคลื่อนด้วยชาวบ้านทั่วไปนี่แหละ และก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจภาษาวิชาการด้วย แต่มันพูดคนละภาษาเท่านั้น

 

แปลว่ามวลชนพร้อมปรับตัวเข้าหาปัญญาชน แต่ในเชิงกลับกัน อาจารย์เห็นปัญญาชน นักวิชาการลงจากหอคอย เข้าหามวลชนบ้างไหม

ช่วงปี 2553-2554 มีปัญญาชนที่ปรับตัวเข้าหามวลชนเหมือนกัน ไม่ได้ให้เครดิตมวลชนอย่างเดียว มีทั้งศิลปิน นักเขียน ที่เขาพยายามสื่อสารกับสังคมอยู่ เขาต้องรู้ว่าผู้ฟังของเขาคือใคร และต้องปรับวิธีการสื่อสารของเขาเหมือนกัน

แต่ถ้าพูดโยงมาปัจจุบัน เรากำลังเห็นคลื่นการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาที่ดูมีความหวัง แต่อาจจะลองย้อนกลับไปดูว่าถ้าเราต้องการฐานสนับสนุนและอยากให้มีพลังมากขึ้น จะเอาบทเรียนของบรรยากาศสมัยคนเสื้อแดงมาสร้างในปัจจุบันนี้ได้ไหม

คุณอาจจะเถียงต่อว่าถ้ามีแต่นิสิตนักศึกษาจะเป็นพลังบริสุทธิ์กว่า แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการที่มีแนวร่วมหลากหลายมันมีพลังมากกว่า ถ้าเชื่อในจุดนี้ ขบวนการต่อสู้ก็ควรพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น เปิดรับคนมากขึ้น

 

 

ถ้าต้องการพลังที่ใหญ่มากๆ ต้องพร้อมรับอะไรที่ไม่ถูกจริต ทั้งการไม่ PC ความสุภาพ หรือการใช้ศัพท์แสงยากๆ และความหยาบคายจะปนกันเป็นก้อนใหญ่ เราเลือกได้ไหมว่าจะเอาอะไรเพียงอย่างเดียว

อยากให้มองว่าท่ามกลางความหลากหลายในการแสดงออกทางการเมือง สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจร่วมกันว่าประชาชนกำลังสู้กับอะไร ศัตรูทางการเมืองคืออะไร ระบอบที่เราคิดว่ามีปัญหามากที่สุดร่วมกันคืออะไร ถ้าคุณไม่เคลียร์ตรงนี้ มันจะเป็นปัญหาใหญ่ในการเคลื่อนไหว ส่วนเรื่องการใช้ภาษา PC ไม่ PC หอคอยงาช้างหรือไพร่มากเกินไป เหล่านี้เป็นเพียงปัญหายิบย่อยภายในขบวนที่ผู้เข้าร่วมไม่ควรถือเป็นสรณะสำคัญในการเคลื่อนไหว

 

ถ้าอย่างนั้นฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยเคลมได้ไหมว่าทุกวันนี้มองเห็นร่วมกันว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร

ภายใต้บริบทปัจจุบันมันตอบยาก เพราะหลังจากอยู่กับคสช.มาร่วมหกปี ขั้วการเมืองแบบเดิมถูกสลายไป มีกลุ่มเคลื่อนไหวใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ เราไม่แน่ใจว่าทุกฝ่ายเห็นร่วมกันมากน้อยเพียงใดว่าต้นตอของปัญหาการเมืองไทยอยู่ที่ไหน บางคนต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันเพียงเพราะเขาไม่ชอบบุคลิกผู้นำ เหม็นหน้านักการเมืองบางคน หรือไม่นิยมพรรคร่วมรัฐบาลก็มี ประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์เสี่ยงจะกระจัดกระจาย และมีเพดานค่อนข้างต่ำ

ขอพูดซ้ำว่าจุดพีกจริงๆ มันเกิดช่วงปี 2553-2554 กระแสตาสว่างว่าใครเป็นใคร สู้อยู่กับใคร แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็ใช้เวลาค่อยๆ ไต่ระดับการวิจารณ์ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองหลายครั้งที่ช่วยลอกคราบอำนาจ จนสร้างความเห็นร่วมกันภายในขบวน ซึ่งมันใช้เวลานาน พอเข้าใจตรงกันแล้วว่าสู้อยู่กับอะไร ก็มีปัญหาตามมาอีกว่า จะสู้อย่างไร สู้แบบ ‘กระซิบ’ สู้บนท้องถนน สู้เชิงวิชาการ หรือสู้ในสภา หลายครั้งเมื่อขบวนการเคลื่อนไหวเข้าสู่รัฐสภา เป็นต่อสู้ทางการเมืองเชิงสถาบัน คุณไม่สามารถทำเหมือนเดิมได้

อย่างตอนที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เป็น ส.ส. เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ปี 54 เราสัมผัสได้ถึงความไฟแรง เมื่อมีโอกาสพูดในรัฐสภาช่วงแรกๆ เขายังมีท่วงทำนองเหมือนปราศรัยบนเวที คุณณัฐวุฒิพูดในสภาทำนองที่ว่ามีหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปกับการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีทางการเมือง เพียงพูดแค่นี้ก็ไปต่อไม่ได้ โดนฝ่ายค้านประท้วงไปหลายชั่วโมงเลย นี่เป็นตัวอย่างว่าสภาไม่อนุญาตให้คุณเป็นนักเคลื่อนไหวแล้ว สิ่งที่เคยปราศรัยกับมวลชน ไม่สามารถเอามาพูดแบบทางการได้

แต่เราคิดว่าในภาพใหญ่ของการต่อสู้มันเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะทิ้งการต่อสู้ในรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ แล้วเอาเฉพาะมวลชนไม่ได้ มันต้องมี party มี leader นี่พูดภาษาแบบนักจัดตั้งเลย หรือจะเอาแต่รัฐสภาโดยไม่สนใจขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ เลยก็ไม่ได้

สรุปก็คือ ในการต่อสู้กับระบอบที่ไม่เป็นธรรม ควรต้องมีทั้ง movement และ party ที่มีฐานยึดโยงกับมวลชน สองอย่างแรกจะทำหน้าที่รองรับและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของอย่างหลังไปพร้อมๆ กับสร้างความชัดเจนภายในขบวนว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร มีเป้าหมายเดียวกันหรือไม่

 

อาจารย์ทำความเข้าใจคนเสื้อแดงกรณีพรรคไทยรักษาชาติยังไง อะไรคือบทเรียนที่ฝ่ายประชาธิปไตยเรียนรู้ร่วมกัน

ส่วนตัวคือไม่เห็นด้วย บางคนอาจจะมองว่าไทยรักษาชาติเป็นพรรคเสื้อแดง เพราะแกนนำเสื้อแดงมาอยู่เยอะมาก แต่เราคิดว่าตำแหน่งสูงๆ ในพรรคไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดงจริงๆ

ถ้าจะไปให้สุดจริงๆ ให้พรรคนี้เป็นพรรคเสื้อแดง คุณต้องเอาเสื้อแดงมาอยู่แถวหน้า ถึงจะเคลมได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว แต่ถ้าพยายามมองจากมุมคนเสื้อแดง เราเข้าใจว่าการต่อสู้มันแพ้มาหลายครั้งและต้องรอไปเรื่อยๆ ไปชุมนุมก็ถูกสลาย พอพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาก็ถูกรัฐประหาร พอแพ้มาทุกช่องทาง เขาก็ต้องลองช่องทางใหม่ อาจมองว่าจะใช้ไทยรักษาชาติเป็นช่องทางในการต่อสู้ พอสุดท้ายก็ถูกยุบ อาจจะเรียกได้ว่าขบวนการเสื้อแดงคือลูซเซอร์ทางการเมืองก็ได้ ไม่ว่าจะสู้ช่องทางไหนก็แพ้ จะแข็งกร้าวจะประนีประนอมก็แพ้ ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่เปิดโอกาสให้มีที่ยืนเลย

 

เราพูดได้ไหมว่าพลังคนเสื้อแดงที่สังคมไทยเคยสัมผัส อาจจะถูกประเมินเกินจริงจนทำให้ถูกปราบหนัก

ถ้าเรามองย้อนกลับไป เสื้อแดงมีอายุยาวนานเท่าไหร่ ตั้งแต่ปี 2550 จนมาเงียบไปหลังรัฐประหาร 2557 นานมากนะถ้าเทียบกับเสื้อสีอื่นอย่างพันธมิตรฯ กปปส. หรือแม้กระทั่ง กลุ่มจุดเทียน กลุ่มเสือดำ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมมักจัดตั้งขึ้นเพื่อพันธกิจบางอย่าง มีกิจกรรมให้คนเข้าร่วม ผ่านไปไม่นานก็หายไป ในบางกรณีคนที่เข้าร่วมองค์กรพวกนี้หลายคนอายด้วยซ้ำว่าเคยเข้าร่วมองค์กรพวกนี้มา

ประเด็นคือเราไม่ควรไปให้ภาระกับขบวนการเสื้อแดงมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็มาไกลแล้วทั้งโครงสร้างองค์กร มีทั้งสื่อ ทีวี วิทยุ วารสาร มีเพลงของตัวเองเต็มไปหมด แทบจะหาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นในไทยที่มีโครงสร้างองค์กรแน่นเท่าขบวนนี้ไม่ได้แล้ว อยากให้มองว่าเขาก็สู้มานานพอควร พัฒนาความคิดและการเคลื่อนไหวจนแหลมคมมากขึ้น ช่วยเผยความอัปลักษณ์ของระบบ แล้วถูกกดปราบอย่างหนัก

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ คุณูปการของขบวนการเสื้อแดงทำให้รัฐไทยเผยด้านมืดออกมา และตอบโต้กลับอย่างถึงที่สุด ตั้งแต่การใช้กฎหมาย ม.112 จำคุกเป็นสิบๆ ปี ไปจนถึงใช้ทหารปราบปรามและรัฐประหารในที่สุด และสะท้อนว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด แสร้งทำเป็นมองไม่เห็นกันมานาน นี่คือสังคมไทย

 

ในอนาคตถ้าจะมีขบวนการแบบคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมา อะไรคือสิ่งที่ต้องคำนึงบ้าง

ถ้าเราแปรเปลี่ยนอารมณ์ของมวลชนให้มีสถาบันทางการเมืองรองรับ มีแกนนำที่สืบสานพลังที่ถ่ายทอดมาจากมวลชนได้ พูดตรงๆ ก็คือมวลชนในปัจจุบันยังขาดสถาบันทางการเมือง ขาดแกนนำที่เชื่อมอารมณ์ของมวลชน เพราะมวลชนไปไกลและกล้าเสี่ยงมากแล้ว

ในต่างประเทศ พวกสายจัดตั้งเขามองว่ามีความจำเป็นที่มวลชนต้องมีองค์กร มีพรรคการเมืองที่มารองรับความบ้าคลั่งของฝูงชน the crowd and madness ไอ้ madness ตรงนี้ ถ้ามันถูกจุดขึ้นมาแล้วไม่มีอะไรมาสืบสานต่อมันก็จะสลายไป

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save