fbpx
ผีซ้ำด้ำพลอยแม่น้ำโขง

ผีซ้ำด้ำพลอยแม่น้ำโขง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มก่อสร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขง ได้เริ่มก่อให้เกิดปัญหาแม่น้ำโขงแล้งน้ำบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง เพราะเขื่อนจีนได้กักเก็บน้ำ ไม่ปล่อยลงมาด้านล่างตามธรรมชาติ

น้ำในแม่น้ำโขงที่แห้งอย่างผิดปกติ มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเป็นหลัก แต่ในช่วงฤดูฝนของปีนี้ ได้เกิดปัญหาน้ำแล้งในแม่น้ำโขงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงที่บ้านพันลำ อำเภอเมืองบึงกาฬ ได้ออกมานั่งจับกลุ่มพูดคุยถึงสภาพน้ำในแม่น้ำโขงบอกว่าตั้งแต่เกิดมา 70 กว่าปี ไม่เคยเห็นน้ำในแม่น้ำโขงลดลงในหน้าฝนแบบนี้เลย จะมีก็เพียงในหน้าแล้งเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2409  ฟรานซิส การ์นิเยร์ นายทหารนักสำรวจชาวฝรั่งเศสทีมที่เป็นคนฝรั่งเศสและคนพื้นเมือง ได้ออกเดินทางจากเมืองไซง่อน เพื่อหาเส้นทางเดินเรือไปถึงจีน เพื่อการค้าและเอาชนะอังกฤษ เจ้าอาณานิคมคู่แข่งสมัยนั้นในการทำแผนที่แม่น้ำโขง

ทีมสำรวจได้ล่องไปตามลำน้ำโขง ผ่านนครวัด เข้าสู่เกาะแก่งกลางลำน้ำอันแสนเชี่ยวกราก สู่เวียงจันทร์ หลวงพระบาง เข้าเขตเมืองจีน ไปสิ้นสุดที่เมืองต้าลี่ เป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร นับเป็นทีมสำรวจแม่น้ำโขงชาวยุโรปทีมแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

การ์นิเยร์ ได้เคยกล่าวว่า “ไม่มีแม่น้ำใหญ่ขนาดนี้สายใดที่จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเท่าแม่น้ำโขงอีกแล้ว”

แม้ว่าทีมสำรวจจะไปไม่ถึงต้นน้ำแม่น้ำโขงบนเทือกเขาหิมาลัย แต่สิ่งที่เขาพูดไว้เมื่อร้อยปีก่อน กำลังถูกท้าทายด้วยน้ำมือของมนุษย์ในปัจจุบัน

น้ำแข็งและหิมะที่ละลายกลายเป็นสายน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย บริเวณที่ราบสูงทิเบต บนระดับความสูงชันร่วม 4,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล คือแม่น้ำโขงตอนบน ผ่านประเทศจีน ไหลเป็นแนวดิ่งผ่านโตรกเขา ลดระดับอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดสายน้ำที่ไหลเร็วเชี่ยวกราก ตัดผ่านร่องเขาสูงชันนับร้อยเมตร สลับซับซ้อนหลายแห่ง เป็นระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร จนไหลมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แนวเขตประเทศไทย-ลาว-พม่าจึงลดความรุนแรงเหลือระดับความสูงแค่ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่เรียกว่า แม่น้ำโขงตอนล่าง

ตลอดเส้นทางที่แม่น้ำโขงผ่าน จะมีสายน้ำหลายร้อยสายจากลุ่มน้ำสองฟากฝั่งไหลมาเติมน้ำในแม่น้ำโขง อาทิ แม่น้ำมูล, แม่น้ำชี, แม่น้ำสงคราม, หนองหาน, ทะเลสาบเขมร ฯลฯ  หล่อเลี้ยงให้แม่น้ำโขงเป็นสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายร้อยล้านคนไปจนออกปากแม่น้ำในเวียดนาม

แม่น้ำโขงจึงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำออกมาเฉลี่ยปีละ 475 ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมหาศาล มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

ด้วยลักษณะพิเศษของแม่น้ำสายนี้ คือมีปริมาณน้ำมาเติมจากสองแหล่งใหญ่ๆ คือ จากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยประมาณร้อยละ 20 และปริมาณน้ำอีกมหาศาลร้อยละ 80 มาจากลำน้ำนับร้อยสาขาตลอดสองฟากฝั่งที่ไหลผ่านไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ในอดีตที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศของสายน้ำต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย มีการประเมินว่า แม่น้ำโขงมีความยาว 4,909 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับสิบของโลก แต่มีพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ประมาณ 1,200-1,700 ชนิด กลายเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับสองของโลก

แต่ละปีมีการจับปลาในแม่น้ำโขงมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นกว่าล้านบาท และอาหารโปรตีนของคนลุ่มน้ำโขงหลายร้อยล้านคนมาจากปลาแม่น้ำโขง

ในอดีตวัฏจักรของระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำสูงในช่วงหน้าฝนจากปริมาณน้ำที่มากล้น และลดต่ำลงในช่วงฤดูแล้ง เพราะน้ำจากแม่น้ำสองฟากฝั่งที่ไหลมาเติมลดน้อยลงตามธรรมชาติ

แต่หลังจากได้มีการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน สายน้ำของแม่น้ำโขงก็ไม่ได้ไหลเป็นธรรมชาติอีกต่อไป แต่ถูกควบคุมด้วยน้ำมือมนุษย์ผ่านการเปิดเปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ปี 2539 ตรงกับปีที่เขื่อนม่านวาน เขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกสร้างเสร็จ

ทุกปีในฤดูแล้ง แม่น้ำโขงตอนล่างจะลดระดับต่ำ สองฟากฝั่งเป็นหาดทรายยาว บางแห่งระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้น้ำด้านล่างมาตลอด

ทุกวันนี้จีนมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงมากถึง 28 เขื่อน และลาวอีก 11 เขื่อน

ที่ผ่านมาหน้าแล้งฝนไม่ตก และมนุษย์กักน้ำไว้ใช้เหนือเขื่อน แม่น้ำโขงตอนล่างก็เหือดแห้งมาตลอด

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทผลิตไฟฟ้าของจีน สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยมานับสิบปี แต่รัฐบาลไทยไม่เคยแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลจีน ออกลูกเกรงใจคนจีนมาตลอด แต่ไม่เคยปกป้องความเดือดร้อนของคนไทยด้วยกันเลย

แต่ปีนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ คือ แม่น้ำโขงแห้งเหือดในช่วงหน้าฝน

ไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัย Stimson Center สหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าจากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ภาพถ่ายแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พบว่าแห้งกว่าในช่วงที่แห้งที่สุดในรอบศตวรรษของแม่น้ำโขง เมื่อเดือนเมษายน 2016 จนกระทั่งเห็นเกาะและหาดทายโผล่มาในภาพถ่ายเดียวเทียมชัดเจน

“น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้ฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับการใช้งานเขื่อนในประเทศจีนจนอาจทำให้เราเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่ระดับน้ำลดลงต่ำสุดในช่วงฤดูกาลนี้ซึ่งควรเป็นช่วงน้ำหลาก จนส่งกระทบต่อความสามารถของปลาอพยพที่จะว่ายไปสู่แหล่งอาศัยและวางไข่ตามตอนบนของแม่น้ำและลำน้ำสาขา” ไบรอันกล่าว

การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ได้ทำให้ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ฝนทิ้งช่วงยาวนานในภูมิภาคแถบนี้ จนเกิดภาวะความแห้งแล้งไปทั่วลาว พม่า ภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ปริมาณน้ำจากลำน้ำต่างๆ ที่เคยไหลลงแม่น้ำโขงก็ลดน้อยลง

นอกเหนือสาเหตุอื่น คือ เขื่อนหลายแห่งในประเทศจีนได้ลดการระบายน้ำในแม่น้ำโขงลงครึ่งหนึ่ง เพื่อกักเก็บน้ำ

และสาเหตุล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนสัญชาติไทยขนาดใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว ก่อสร้างได้เกือบครบสมบูรณ์ อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง ไปจนถึงระบบสายส่งและไปยันถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องลดการระบายน้ำ

ระดับน้ำแม่น้ำโขงจึงลดลงกะทันหัน สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับคนสองฟากฝั่ง

สมัยก่อนผู้คนแถวนี้ลำบากเฉพาะหน้าแล้งจากระดับน้ำที่ลดลง แต่มาบัดนี้ จากเขื่อนขนาดยักษ์สัญชาติไทยที่กำลังจะเปิดใช้งาน และอีกหลายเขื่อนที่กำลังก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงอีกหลายแห่ง และปัญหาโลกร้อน ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกในช่วงฤดูฝน

ไม่มีใครทำนายได้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะแห้งไปตลอดหรือไม่

จะเรียกวิกฤติของแม่น้ำโขงขนาดนี้ว่าอะไรดี

ผีซ้ำด้ำพลอยแม่น้ำโขงของแท้

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save