fbpx
อีสานไซบอร์ก ทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก

อีสานไซบอร์ก ทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

 

ระหว่างวันที่ 6 ถึง 26 ตุลาคม 2561 มีการจัดนิทรรศการศิลปะชื่อ ‘Khon Kaen Manifesto: Flashy Flashed’ (ขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลี่ยม มาบ มาบ) ที่ตึกร้างแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ในเมืองขอนแก่น ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นวิทยากรสนทนาในหัวข้อ ‘อีสาน Colonized อาณานิคม Isan’ ในวันที่ 23 ตุลาคม ข้อเขียนสำหรับคอลัมน์ ‘โลกอุษาคเนย์’ ชิ้นนี้ จึงปรับมาจากคำบรรยายที่อ่านในงานเสวนาดังกล่าว

 

เกริ่นนำ

 

เมื่อเอ่ยถึง manifesto ผมเดาว่าคำประกาศหนึ่งที่อยู่ในใจอาจารย์ถนอม (ดร.ถนอม ชาภักดี ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการจัดงานครั้งนี้) น่าจะเป็น Manifesto of the Communist Party (คำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Communist Manifesto ที่คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) และฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) เขียนไว้ในปี 1847 คำประกาศนั้นอธิบายภาวะพัฒนาการที่จะนำไปสู่การก่อเกิดอาณานิคมโลก อันเป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของพัฒนาการทุนนิยมโลก มาร์กซและเองเกลส์กล่าวว่า

การค้นพบอเมริกา การอ้อมแหลมกูดโฮปไปอเมริกา (นี่เป็นความเข้าใจผิดของคนยุคมาร์กซ) ได้เปิดดินแดนใหม่ให้กับพวกกระฎุมพีที่กำลังเติบโตขึ้น ตลาดในอินเดียนตะวันออกและจีน การทำให้อเมริกากลายเป็นอาณานิคม การค้ากับอาณานิคมต่างๆ ได้เพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยน การเพิ่มสินค้าโดยรวมแล้วเป็นการเปิดทางสู่การพาณิชย์ การเดินเรือ การอุตสาหกรรม อันเป็นแรงผลักที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน แล้วดังนั้น ผลต่อองค์ประกอบในการปฏิวัติสังคมฟิวดัลที่คลอนแคลนก็มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว

นั่นคือ เมื่อโลกการค้าขยายตัวขึ้น นำไปสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรม แล้วเกิดการสร้างอาณานิคมใหม่ เป็นกระบวนการเร่งความเปลี่ยนแปลงที่ทำลายสังคมฟิวดัล เปลี่ยนไปสู่สังคมกระฎุมพี ที่น่าสนใจคือ ในสมัยของมาร์กซนั้น กล่าวได้ว่าอาณานิคมในเอเชียเพิ่งจะแค่เริ่มต้นเท่านั้น

ในข้อเขียนนี้ ผมจะกล่าวถึงการเป็นอาณานิคมของอีสานต่อเจ้าอาณานิคมสยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก พร้อมทั้งการหลุดออกจากการเป็นอาณานิคมนี้ด้วยพลังของอีสานเอง นั่นคือการทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก ด้วยสภาวะ ‘ไซบอร์ก’ ของอีสาน

 

อาณานิคมสยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก

 

อาณานิคมสยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก สร้างขึ้นมาจากการสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนที่ไม่เคยครอบครองมาก่อน ให้กลายเป็นดินแดนของตนเอง ในขณะที่ดินแดนรอบสยามส่วนหนึ่งกลายเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตก ยังมีดินแดนรอบสยามอีกส่วนหนึ่งที่กลายเป็นดินแดนในครอบครองของสยาม สยามใช้ทั้งกำลังยึดเอาและใช้วิธีหว่านล้อมให้ยินยอม บางแห่งสยามยึดเอามาจากเจ้านครเดิม เช่นปาตานี บางแห่งสยามแลกเอากับเจ้าอาณานิคมตะวันตก เช่นบางส่วนของล้านนา บางแห่งสยามจำยอมไม่สามารถยึดครองมาได้ เนื่องจากไม่สามารถจัดการปัญหาที่นั่นได้ เช่นสิบสองจุไท บางแห่งสยามหว่านล้อมเจ้าเมืองเดิมบ้าง ใช้กำลังยึดมาบ้าง แล้วได้ผล เช่นอีสาน

ในกรณีอีสาน สมัยพระเจ้าตาก และสมัย .3 หลังเวียงจันทน์ถูกทำลาย ประชากรลาวและชนกลุ่มต่างๆ รายรอบถูกกวาดต้อนให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กรุงเทพฯ และหัวเมืองทางตะวันตกของสยาม อย่างเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ก่อนหน้าการเข้ามาของอาณานิคมตะวันตก อีสานและประชาชนในมณฑลทางเหนือและอีสาน ต่างก็ถูกเรียกว่า ‘ลาว’ รวมไปถึงผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะพวกพวน พวกไต พวกหลวงพระบาง ต่างก็ถูกเรียกว่าลาวทั้งสิ้น ชื่อเรียกลาวถูกใช้โดยชาวสยามอย่างดูถูกมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว

หากแต่สยามพยายามเปลี่ยนทัศนคตินี้ หลังจากการถูกคุกคามอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้โดยอาณานิคมตะวันตก บันทึกหนึ่งของ ร.5 มีต่อข้าหลวงที่ส่งไปดูแลหลวงพระบาง หลังหลวงพระบางถูกพวกไตขาวและพวกฮ่อถล่มในปี 1887 ว่า

พวกเราต้องพยายามเอาอกเอาใจหลวงพระบางด้วยการอธิบายข้อเท็จจริงที่ว่า คนไทยและคนลาวอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ฝรั่งเศสเป็นต่างด้าวที่ดูแคลนชาวลาวว่าเป็นคนเถื่อน อะไรก็ตามที่ฝรั่งเศสทำเพื่อเอาใจเจ้าของหลวงพระบางนั้น ก็เพียงเพื่อหว่านเบ็ดหวังผล แม้ว่าชาวลาวจะเห็นว่าพวกเขาเองเป็นพวกเราส่วนคนไทยเป็นพวกเขาแต่หากว่าถึงเฉพาะคนสองกลุ่ม ถ้าเปรียบเทียบคนไทยกับคนฝรั่งเศสแล้วละก็ เป็นธรรมชาติอยู่เองที่ชาวลาวจะถือว่าชาวไทยเป็นพวกเราส่วนฝรั่งเศสเป็นพวกเขา” ” (ข้อความนี้ผมยกมาจากหนังสือ Siam Mapped พิมพ์ปี 1994 หน้า 102 ของธงชัย วินิจจะกูล ผมแปลกลับจากภาษาอังกฤษ ไม่ได้ไปตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาไทย)

กระบวนการทำลาวให้เป็นไทยไม่ได้เป็นกระบวนการที่กระทำเพียงลมปาก การเลิกระบบไพร่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงในการลดทอนอำนาจของผู้ครองนครในถิ่นต่างๆ หากแต่กลายเป็นผลดี คือการสร้างฐานกำลังของรัฐส่วนกลางมากยิ่งขึ้นในภายหลัง เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ดินแดนรายรอบสยามกลายเป็นอาณานิคมของสยาม ในขณะที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกยึดดินแดนต่างๆ ในอินโดจีน มลายู พม่า ไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา เจ้าอาณานิคมสยามก็ยึดดินแดนทางเหนือ อีสาน ใต้สุดปลายประเทศ เข้ามาเป็นของตน ทำลายอำนาจท้องถิ่น ส่งคนจากกรุงเทพไปปกครองอย่างเต็มตัว

หากใครในประเทศนี้ไม่รู้สึกว่าตนเองกลายเป็นอาณานิคมของสยาม นั่นก็คงเพราะพวกเขาอิ่มหมีพีมันอิงแอบอยู่กับอำนาจของสยาม หรือไม่ การศึกษาสมัยใหม่ก็ทำให้พวกเขาลืมตัวเองไปหมดแล้วว่าถูกสยามกระทำอย่างไรบ้าง

ในบรรดาผู้คนในภูมิภาคต่างๆ คนเหนือ คนอีสาน คนในสามจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งคนที่แทบไม่ถูกนับเป็นไทยตามชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ต่างรับรู้การกลายเป็นอาณานิคมสยามเป็นอย่างดี ผมคิดว่าจะมีก็แต่คนในภาคใต้ก่อนถึงเขตมลายูมุสลิมนั่นแหละ ที่ไม่เคยสำนึกถึงการถูกทำให้เป็นอาณานิคม ความภักดีของพวกเขากลบลบเลือนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ไปจนแทบจะหมดสิ้น

สยามเก่งในเรื่องหลอกลวงให้ประชาชนเชื่อว่าสยามเป็นเหยื่อของเจ้าอาณานิคมตะวันตก แล้วขอความเห็นใจจากคนทั่วประเทศที่ตนไปยึดเอาดินแดนเขามาว่า สยามจำใจเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตก

หากแต่สยามเองก็ไม่ต่างไปจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก ที่เที่ยวไปยึดดินแดน สถาปนาอำนาจเหนือดินแดนไปทั่ว ดินแดนของสยามจึงไม่ได้เสียให้กับใครที่ไหน หากแต่สยามได้ดินแดนมามากมายจากการต่อรองเจรจาทีละจุด ทีละส่วน กับอังกฤษและฝรั่งเศส

การปักปันเขตแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 แท้จริงแล้วก็คือการแบ่งปันดินแดนกันระหว่างเจ้าอาณานิคมสามฝ่าย ได้แก่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และเจ้าอาณานิคมสยาม

นี่ไม่ใช่การสร้างอาณานิคมภายในแต่อย่างใด แต่นี่เป็นการสร้างอาณานิคมของรัฐขนาดย่อม ที่กลายเป็นรัฐชาติก่อนรัฐใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รัฐชาติอื่นๆ สร้างตัวตนขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐชาติสยามสถาปนารัฐอาณานิคมขนาดเล็ก แล้วเริ่มทำให้ตนเองเป็นรัฐชาติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

กระบวนการเปลี่ยนลาวเป็นไทย เปลี่ยนคนอื่นเป็นชาวเรา จึงเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยิ่งเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สรรพวิทยาการของอีสานจึงถูกลดคุณค่าลง ไม่เพียงแต่อักษรและตำราต่างๆ น่าตกใจที่แม้แต่สถาปัตยกรรมวัดวาอาราม ยังถูกอิทธิพลของกรุงเทพฯ ครอบงำมากยิ่งขึ้นทุกวัน

 

อีสานหลังอาณานิคม

 

จนถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคเริ่มต้นของสงครามเวียดนาม ชาร์ล คายส์ นักมานุษยวิทยาอเมริกัน (ในหนังสือ Isan: Regionalism in Northeastern Thailand พิมพ์ปี 1967) เสนอว่า อีสานได้พัฒนาตัวตนของตนเองขึ้นมา จากการถูกดูแคลนและจากสถานะทางเศรษฐกิจที่อยู่ในฐานะยากจนมาต่อเนื่อง จนแม้ทศวรรษ 1960 ก็ยังยากจน คายส์เห็นว่า อีสานมีสำนึกท้องถิ่นเฉพาะของตนเอง หากแต่ก็เป็นท้องถิ่นที่ผสมผสานกับสำนึกทางชนชั้น โดย ‘ชนชั้นอีสาน’ มองตนเองว่ามีความเฉพาะตนทางวัฒนธรรมและสำนึกทางประวัติศาสตร์ หากแต่ก็มีความสำนึกถึงตนเองในฐานะชนชั้นที่ถูกกดขี่ ถูกดูแคลน

หากแต่ ผมคิดว่าในปัจจุบัน ตัวตนอีสานแบบนั้นแทบจะหมดไปแล้ว อีสานเป็นแรงงานของคนในถิ่นอื่นก็จริง แต่ฐานะทางเศรษฐกิจของอีสานในปัจจุบันไม่ได้ ‘ยังไม่พัฒนา’ อย่างที่คายส์กล่าวไว้เมื่อ 50 ปีก่อนอีกต่อไป

หลังการพัฒนาด้วยการขยายพื้นที่ทำกิน การลงทุนในไร่นา การกระจายทรัพยากรจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดต่างๆ การให้อำนาจจัดการภาษีของตนเองแก่ท้องถิ่นต่างๆ ส่งผลให้เกิดการขยับฐานะทางเศรษฐกิจของอีสาน อีสานหลายต่อหลายแห่งไม่ได้ยากจนไปกว่าหลายจังหวัดในภาคใต้ แม้ว่าจะยังเทียบได้ยากกับหลายจังหวัดในภาคกลาง และห่างไกลนักจากกรุงเทพฯ ที่ดูดซับรายได้มวลรวมของประเทศเอาไว้แต่ผู้เดียวเสมอมา

การขยับตัวขึ้นของสินค้าเกษตรทั่วโลกหลังทศวรรษ 1980 ดึงดูดให้คนอีสานกลับจากการไปทำงานในต่างประเทศ หันมาทำงานและลงทุนในไร่นาตนเอง ทุกวันนี้แทบจะหาที่ดินรกร้างในอีสานไม่ได้ แรงงานอีสานขาดแคลนจนต้องจ้างแรงงานจากต่างประเทศ รายได้คนในภาคอีสานปัจจุบันมาจากทั้งรายได้การเกษตรและการเป็นแรงงานรับจ้างภาคบริการและหัตถอุตสาหกรรม

อีสานมีเมืองขนาดใหญ่อย่างขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และหากจะยอมทำใจรับว่านครราชสีมาก็เป็นส่วนหนึ่งของอีสาน อีสานก็มีเมืองใหญ่มากกว่าแทบทุกภาคของประเทศ เมืองใหญ่เหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้พึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวแบบเมืองใหญ่ในภาคใต้ หากแต่เติบโตมาจากเศรษฐกิจภายในอีสาน ประกอบกับกระแสของการไหลเวียนของทุนข้ามชาติ

ปรากฏการณ์อีสานเฟื่องฟูดังกล่าวยังเกิดขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังทศวรรษ 1980 เกิดโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ ที่ทั้งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. หรือเทศบาลเมือง ตลอดจนพัฒนาการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจพรรคการเมืองสามารถกำหนดนโยบายเองได้

 

ทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก

 

ในยุคของการข้ามพ้นภาวะอาณานิคม ผมขอยืมความคิดของนักปราชญ์อินเดียชื่อ ดิเพช จักรพาตี (Dipesh Chakrabarty) ว่าด้วยการ provincializing บางกอก จักรพาตีเสนอว่า เราไม่อาจวิพากษ์ตะวันตกด้วยการละทิ้งตะวันตกโดยสิ้นเชิงได้ เช่นเดียวกัน การทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก ก็ไม่ใช่การลดทอนให้บางกอกเป็นเพียงท้องถิ่นหนึ่งแล้วกลับเชิดชูถิ่นอื่นขึ้นมาอย่างโรแมนติกเท่าๆ บางกอก

หากแต่การทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก เป็นการทำให้ถิ่นอื่นๆ พัฒนาความเป็นท้องถิ่นตนเอง ด้วยการแลกเปลี่ยน ถกเถียงปะทะกับบางกอก คือการทำให้เข้าใจว่า ในความเป็นอื่นนั้น มีการเปลี่ยนผ่านและยอมรับความสมัยใหม่อยู่แล้ว หากแต่ความสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่หมดจนลดละพลิกโฉมความเป็นท้องถิ่นไป

ผมคิดว่าอีสานมีจุดแข็งตรงนั้นอยู่เสมอมา คือการรับความใหม่มาผสมปนเปกับความเป็นท้องถิ่น อีสานหลังอาณานิคมจึงรับเอาความก้าวหน้าของเจ้าอาณานิคมบางกอกมา พร้อมๆ กับการคงไว้และพัฒนาความเฉพาะถิ่นของอีสานเอง

ตลอดกระบวนการของการสร้างอาณานิคมสยาม ผมคิดว่าท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้ยินยอมสยบให้กับการกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างเฉยชา หลักฐานอื่นไกลในอดีตเป็นอย่างไร หาอ่านจากหนังสือ Isan: Regionalism in Northeastern Thailand ของคายส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของกบฏผีบุญ ไล่มาจนการเกิดพรรคการเมืองของชาวอีสาน การเป็นพันธมิตรกันของนักการเมืองอีสานกับกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ จนนำไปสู่การที่สี่รัฐมนตรีอีสานถูกสังหาร เหล่านั้นคือรากเหง้าของความเป็นตัวของตัวเองทางการเมืองของอีสาน

ในปัจจุบัน การเมืองของอีสานก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นคง ดังที่เราเห็นในขบวนการคนเสื้อแดง และกลุ่มคนหนุ่มสาว ‘ดาวดิน’

ดุจเดียวกับชาวอาณานิคมในเอเชียใต้ ที่ปรับตัวต่อการครองอำนาจในอาณานิคมของอังกฤษดังที่จักรพาตีเสนอ ความสมัยใหม่ของการเมืองเอเชียใต้ มีอยู่อย่างซ้อนทับกับสำนึกความเป็นท้องถิ่นที่ยังคงทรงอิทธิพลในเอเชียใต้ หรือหากจะไปให้ไกลกว่าจักรพาตี อันที่จริงความสมัยใหม่ในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค ในหลายท้องถิ่นนั้น มีมาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสและการประกาศเสรีภาพของอเมริกาด้วยซ้ำ

หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ความคิดที่เราเข้าใจว่ามีความสมัยใหม่อย่างประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ นั้น มีปรากฏอยู่แล้วในสังคมนอกตะวันตก หากแต่ดูเหมือนว่าชาวตะวันตกเองนั่นแหละที่ไม่ยินยอมให้เขาเหล่านั้นได้ใช้ความคิดดังกล่าว อาณานิคมของฝรั่งเศสและการปกครองชนพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา จึงมีการเมืองแบบประชาธิปไตยเฉพาะในดินแดนชนชั้นนำเจ้าอาณานิคม หากแต่วางอยู่บนการกดขี่ประชาชนในดินแดนอาณานิคมของพวกตน

บางกอกก็ทำตัวเช่นนั้น หรือเลวร้ายยิ่งกว่า คราวใดที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย บางกอกก็อ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อม เมื่อใดที่ประชาชนเข้มแข็ง บางกอกก็ปราบปราม ไม่ให้อำนาจกระจายออกไปอย่างต่อเนื่อง บางกอกสร้างอาณานิคมทั้งด้วยความการุณจอมปลอม และด้วยกำลังดิบเถื่อนของอาวุธสงคราม ด้วยการล้อมปราบยิงทิ้งกลางเมือง และด้วยการจับกุมคุมขังโดยไม่ยอมให้คดีสิ้นสุด

หากแต่ในท้องถิ่นต่างๆ เราเห็นพลังของประชาชนพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ประชาชนหลังการยกเลิกระบบไพร่ พัฒนาความเป็นอยู่ของตัวเองพร้อมๆ ไปกับสืบสานความเป็นตัวของตัวเองในทุกภูมิภาค

 

อาณานิคมศิลปะบางกอก

 

ความเป็นอาณานิคมของศิลปะกรุงเทพฯ สร้างขึ้นมาจากการเน้นความเป็นช่างฝีมือ ศิลปะของเจ้าอาณานิคมสร้างมาตรฐานอยู่ในโรงเรียนศิลปะในบางกอก ที่อวดอ้างว่าสืบสายตระกูลมาจากขุมความรู้สมัยเรอเนซองส์ ศิลปะของพวกเขาเน้นความงามของคนสูงศักดิ์ ความดีงามของศาสนาจากอินเดีย และเมื่อพวกเขาพบว่ามีความงามของศิลปะไทยอยู่ที่ไหนสักแห่ง ในรั้วในวัง ในอดีตอันรุ่งเรืองของสยามก่อนที่บางกอกจะเป็นเจ้าอาณานิคม พวกเขาก็ไปเรียนรู้ ไปคัดลอก ไปดัดแปลง นำมาเป็นของเจ้าอาณานิคม

วิธีการเช่นนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเจ้าอาณานิคมในฟิลิปปินส์ ในอินโดจีน ในพม่า ที่ศิลปะสมัยใหม่ต่างก็เติบโตขึ้นมาบนคราบไคลของศิลปะเรอเนซองส์ ที่กระฎุมพีพัฒนาขึ้นมา เมื่อลงหลักปักฐานในดินแดนอาณานิคมระยะหนึ่ง เจ้าอาณานิคมในประเทศอาณานิคมเหล่านั้นก็พัฒนาศิลปะอาณานิคมให้มีกลิ่นอายของท้องถิ่น จนพัฒนากลายเป็นศิลปะร่วมสมัยในแต่ละถิ่นของอาณานิคม

ในเวียดนาม ศิลปะอาณานิคมก่อนยุคกู้ชาติจากฝรั่งเศสนำเอาเทคนิควิธีการ ตลอดจนภูมิทัศน์และทรวดทรงของผู้คนของศิลปะพื้นบ้านและราชสำนัก มาดัดแปลงให้กลายเป็นผลงานแบบใหม่ สร้างภาพเล่าเรื่องราวร่วมสมัย หากแต่ยึดมั่นบอกเล่าแต่เรื่องราวที่สะท้อนความสงบสุข งดงาม ร่มเย็น สดใส ของสังคม กลบทับความเลวร้ายของระบอบอาณานิคม ที่ข่มเหงกดขี่ขูดรีดผู้คนเยี่ยงทาส กลบฝังซากศพที่นอนตายเกลื่อนกลาดบนท้องถนนในเมืองที่อดอยาก

ศิลปะอาณานิคมบางกอกสร้างอิทธิพลผ่านเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้อง เครือข่ายศิษย์ร่วมครูเดียวกัน กลุ่มศิลปินอาณานิคมอ้างความเป็นอิสระภายใต้การครอบงำของระบบโซตัสที่นับวันจะยิ่งพัฒนาอย่างเสื่อมทราม อาณานิคมบางกอกสร้างราคาผ่านการได้รางวัลจากการประกวด เน้นการจัดแสดงผลงานในพื้นที่ที่ควบคุมเนื้อหาและเทคนิควิธีได้

ศิลปะอาณานิคมย่อมต้องรับใช้เจ้าอาณานิคม ศิลปินในค่ายศิลปะอาณานิคมบางกอกลอกเลียนเทคนิควิธีการสร้างงานศิลปะต่างๆ เพื่อรับใช้เจ้าอาณานิคม สาระของผลงานจึงเน้นเชิดชูสถาบันประเพณี ละเลยเรื่องราวของคนสามัญ หรือหากจะเล่า ก็จะเน้นแง่มุมของความงดงาม สงบ สดใส ภาพฝันงดงามของท้องถิ่นถูกนำมาแสดง กลบลบความทุกข์ยากคับข้องใจของผู้คน

เจ้าอาณานิคมทางศิลปะขยายดินแดนความงามผ่านโรงเรียน และสำนักที่ให้การศึกษาศิลปะในเครือข่ายความงามแบบมาตรฐาน ปัจจุบันศิลปะแบบเจ้าอาณานิคมกำลังถูกทำให้สั่นคลอนจากแนวโน้มทางศิลปะใหม่ๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเจ้าอาณานิคม

 

อีสานไซบอร์ก

 

ในงานนิทรรศการ ‘ขอนแก่นแม่นอีหลี’ ย้อนกลับไปยังข้อเขียนของมาร์กซและเองเกลส์ นอกจากคำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ผมนึกถึงอีกคำประกาศหนึ่งที่น่าจะเข้ากับขอนแก่นแมนิเฟสโตไม่น้อยไปกว่ากัน แถมอาจทันสมัยกว่า นั่นคือ A Cyborg Manifesto (พิมพ์ปี 1984) ของดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway)

ตามคำประกาศของฮาราเวย์นี้ เราไม่ควรแปล ‘ไซบอร์ก’ อย่างทื่อๆ ว่า ‘มนุษย์หุ่นยนต์’ เพราะความเป็นไซบอร์กมีความหมายมากกว่านั้น

ความเป็นไซบอร์กมีทั้งภาวะความอยู่ร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร ความก้ำกึ่งระหว่างคนและสัตว์ และสภาวะปะปนของสิ่งกายภาพและสิ่งชีวภาพ ฮาราเวย์เห็นว่าการแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ แยกคน/สัตว์ออกจากเครื่องจักร แยกสิ่งชีวภาพออกจากสิ่งกายภาพ ในแบบวิธีคิดดั้งเดิมของตะวันตก ซึ่งมาร์กซมีส่วนคิดเช่นนั้น วิธีคิดแบบนี้นอกจากจะไม่เข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างที่ไม่เคยแยกขาดระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร สัตว์ และวัตถุสภาวะแล้ว ยังนำไปสู่การเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างคลาดเคลื่อน

สำหรับฮาราเวย์ ปัจจุบันเรายิ่งอยู่ในภาวะไซบอร์กมากยิ่งขึ้น ในโลกที่ ‘แรงงาน’ คือการทำงานที่มีเครื่องจักรเป็นส่วนประกอบสำคัญในหลายๆ ลักษณะ ‘เซ็กซ์’ คือการผลิตทางชีวภาพที่มีสภาวะกึ่งกายภาพผ่านจักรกลกึ่งเคมีชีวภาพ และ ‘จิตใจ’ คือการตัดสินใจที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเครื่องจักรที่คิดเองและการตัดสินใจของสิ่งมีชีวิต เหล่านี้คือสภาวะไซบอร์ก ซึ่งก้ำกึ่งข้ามมนุษยภาวะเข้าไปทุกที ฮาราเวย์เห็นว่า การเข้าใจการครอบงำอย่างเก่าๆ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป

ผมอยากอาศัยคำประกาศของไซบอร์กและการทำบางกอกให้เป็นจังหวัดหนึ่ง เพื่อเข้าใจทางเลือกต่อศิลปะของอาณานิคมสยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก ผมคิดว่า ขณะที่สยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก สร้างอาณานิคมทางการเมืองและอาณานิคมทางปัญญา ตลอดจนอาณานิคมทางศิลปะขึ้นมา อีสานก็มีศักยภาพที่จะสร้างความเป็นอีสานหลังอาณานิคมขึ้นมาได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากอีสาน คือความสำนึกที่เป็นตัวตนของตนเอง ที่ทั้งดูดซับแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนต่างๆ และมีสำนึกของการปะทะกับกรุงเทพฯ

หากกล่าวเฉพาะในทางวัฒนธรรม อีสานเชื่อมต่ออย่างไม่เคยตัดขาดตนเองจากทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง จนเลยล้ำไปถึงอินโดจีนทั้งมวล ทั้งกัมพูชา เวียดนาม และลาว ขยายไปยังล้านนา จนกระทั่งจีนตอนใต้ สิ่งเหล่านี้สังเกตได้จากวรรณกรรม อักษร ศาสนา การเทศน์พระเวสสันดรที่ต่างจากกรุงเทพฯ ทว่าก็ไม่เหมือนกันนักกับในภาคเหนือ

ความเชื่อเรื่องแถน เรื่องเจือง ที่ทั้งกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ และชาวไตหลายกลุ่ม ถือว่าเป็นวีรบุรุษทางการเมือง นิทานพื้นบ้าน ที่แลกเปลี่ยนกับกลุ่มชนชาติพันธ์ุต่างๆ ตลอดจนสถาปัตยกรรม นอกจากอุโบสถแบบอีสานเอง ยังมีอุโบสถ วัด และอาคารในบางจังหวัด เช่นที่อุบลราชธานี นครพนม ที่มีศิลปะเวียดนามและฝรั่งเศสผสมอยู่ นี่ยังไม่นับวัฒนธรรมอาหาร รวมถึงผักหญ้า รสชาติ และชนิดการกินอาหาร

ผมไม่รู้ว่าอีสานไซบอร์กจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมรู้แต่ว่า อีสานแมนิเฟสโตมีความไซบอร์ก เป็นไซบอร์กต่อศิลปะของเจ้าอาณานิคมบางกอก

อีสานแมนิเฟสโตไม่ได้ดำเนินการในระบอบของการประกวด มั่นใจว่าอยู่นอกเครือข่ายอาวุโสของสถาบันศิลปะเก่าแก่ของเจ้าอาณานิคม ไม่เล่าเรื่องสถาบันประเพณี ไม่จัดแสดงในห้องแอร์ที่สว่างไสวบนผนังขาวบริสุทธิ์ หากแต่การเล่าเรื่องประชาชนก็สร้างเรื่องเล่าที่ปะทะวิพากษ์อำนาจของเจ้าอาณานิคม ไม่โรแมนติไซส์ชาวบ้านชาวอีสาน หากแต่บอกเล่าความทุกข์ยากและถูกเอาเปรียบ ถูกดูแคลนของชาวบ้านอีสาน

น่าสนใจที่ศิลปินที่แสดงผลงานในบริบทนี้จำนวนมากมาจากกรุงเทพฯ เอง หรือมาจากถิ่นอื่นๆ หากแต่ในงานจัดแสดงนี้ พวกเขาได้ผลักให้ผลงานศิลปะมีภาวะพ้นจากการเป็นงานในกรอบของเจ้าอาณานิคมบางกอก หรือในแง่หนึ่ง ศิลปินในระบอบอีสานไซบอร์กได้จัดวางตัวเองในฐานะผู้อยู่ใต้อาณานิคมที่ลุกขึ้นมาปะทะกับเจ้าอาณานิคม

 

ส่งท้าย

 

อาณานิคมศิลปะของสยาม/กรุงเทพฯ/บางกอก วางอยู่บนภาวะแยกขาดความเป็นมนุษย์ ความงาม ความเป็นศิลปิน ออกจากชีวิตของสังคมและคนสามัญ อีสานไซบอร์กสร้างภาวะที่ก้าวข้ามการแยกขาดกันนั้น อันจะนำไปสู่สังคมหลังอาณานิคม ที่การแยกขาดระหว่างมนุษย์กับสังคม สิ่งมีชีวิตอื่น และเครื่องจักร ระหว่างความงามและสังคม ระหว่างศิลปินและคนสามัญ ถูกท้าทายจนแทบจะสูญสลายไป โดยไม่จำเป็นต้องย้อนหลังกลับไปสู่การยกย่องเชิดชูอดีตอย่างโรแมนติก

การเป็นอีสานหลังอาณานิคมดำเนินมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการพยายามกลืนกลายอีสานของกรุงเทพฯ อีสานเป็นตัวของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องถอยหลังกลับไปเป็นชาวนาพอเพียงแบบนิทานเศรษฐกิจพึ่งตนเอง หรือนิทานวัฒนธรรมชุมชนที่อยากกอบกู้ชีวิตชุมชนขึ้นมาจากการล่มสลายไปในยุคทุนนิยมและการครอบงำของรัฐ

ทว่าอีสานหลังอาณานิคมเดินหน้าเข้าสู่ทุนนิยม เข้าสู่การเมืองสมัยใหม่ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยความเป็นตัวของอีสานเอง คนอีสานยังนิยมกินลาบก้อยซอยจุ๊ ชมหมอลำ ไปพร้อมๆ กับสำนึกถึงการถูกดูแคลนและพยายามกดขี่อีสาน เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเท่าเทียม

อีสานไซบอร์กเป็นผลผลิตของความเป็นตัวของตัวเอง การเชื่อมต่อกับโลกภายนอกในภูมิภาค ข้ามพรมแดน ข้ามประเทศ ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม ข้ามเผ่าพันธ์ุ ข้ามไปยังธรรมชาติแวดล้อม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดำเนินไปอยู่แล้ว แต่หากจะมีการขับเน้นแสดงออกให้ชัดขึ้น หากนักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน จะแสดงสิ่งเหล่านี้ให้ชัดขึ้นได้ ผมคิดว่าอีสานจะให้บทเรียนกับภูมิภาคอื่นๆ ได้มากขึ้น

 


Illustrated by ภาพิมล หล่อตระกูล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save