fbpx
84 ปี อภินิหารหมุดคณะราษฎร ในปีที่ 88 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

84 ปี อภินิหารหมุดคณะราษฎร ในปีที่ 88 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การครบรอบในปีที่ 88 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการเฉลิมฉลองและรณรงค์กันในหลายๆ ฝ่าย

ตั้งแต่ฝ่ายที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น และฝ่ายที่ต้องการให้ความหมายใหม่กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น โดยในปีนี้มีความก้าวหน้าถึงขนาดตีความการเปลี่ยนแปลง 2475 ไปในทางลบไกลกว่าสมัยที่ให้ความหมายแค่การชิงสุกก่อนห่าม คือมาถึงขั้นต้องเอากบฏบวรเดชมาฉลอง/รำลึกในวันที่ 24 มิถุนายนกันเลยทีเดียว

ขณะที่จุดสนใจในปีนี้อยู่ที่ ‘การลงถนน’ ของฝ่ายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในตอนย่ำรุ่ง ที่รัฐสภาในช่วงเพล และที่สกายวอร์กในตอนเย็น สิ่งที่พูดกันน้อย แต่บริโภคกันมาก หรือผลิต/แพร่กระจายกันมาก นั่นก็คือ ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่หายไปจากถนนเมื่อ 14 เมษายน 2560

ในปีนี้เราเห็นการผลิตซ้ำหมุดคณะราษฎรในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคุกกี้ สลัด สลากเจลล้างมือ ขนมปังลายหมุดฯ ที่อบเอง รวมถึงหมุดเสมือนที่เอาไปวางบนพื้นถนนบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อจำลองเหตุการณ์

 

 

เมื่อ 10 ธันวาคม 2479 หรือ 4 ปีกว่าๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หมุดคณะราษฎรถูกนำมาติดตั้งที่พื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่า (ซึ่งเป็นสถานที่ของการอ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475)

14 เมษายน 2560 หมุดฯ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ท่ามกลางความเพิกเฉยของรัฐเผด็จการที่กองทัพเป็นใหญ่ รวมไปถึงมหกรรมการพยายามลบความทรงจำขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องหมุดฯ หายไป แต่ยังรวมการปิดกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่ไปตรวจสอบ อภินิหารกล้องวงจรปิดจับภาพไม่ได้ และการจับ/เชิญผู้ที่ตั้งคำถามและรณรงค์การเอาหมุดคืนมานั้นไปปรับทัศนคติในพื้นที่กองทัพหลายครั้งหลายครา และการดำเนินคดีกับความเห็นของบุคคลสาธารณะด้วย พ.ร.บ.คอมฯ[1]

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน หมุดคณะราษฎรนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะหนึ่งในแกนกลางของความทรงจำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าเทียบกับพานรัฐธรรมนูญ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ชีวิตของหมุดคณะราษฎรนั้นมีหลายชีวิต เกิดดับหลายครั้ง

ไม่ว่าจะย้อนกลับไปที่การปักหมุดเมื่อ พ.ศ. 2479 ดังที่กล่าวไปแล้ว

การหายไปตามคำสั่งให้ย้ายหมุดสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์

การกลับมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม และการถูกนำไปเก็บไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น[2]

หลังจากนั้น ความน่าสนใจของหมุดก็เข้าสู่ยุคร่วมสมัย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สนใจเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่อยมาจนถึงรัฐประหาร 2490

ทั้งนี้การทำรัฐประหาร 2490 มีลักษณะเด่นหลายประการ โดยเฉพาะการทำงานอย่างเป็นระบบประสานสอดคล้องกันหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายอำนาจเก่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพ และสถาบันตุลาการ จากการใช้คำตัดสินของศาลเพื่อชี้ว่าการทำรัฐประหารนั้น แม้จะผิดทั้งกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อยึดกุมอำนาจรัฐได้ก็ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และจะพ้นผิด

แม้ความสนใจทางประวัติศาสตร์เรื่องการค้นพบสัญลักษณ์ต่างๆ ของคณะราษฎรจะเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ แต่การทำรัฐประหาร 2549 ว่ากันว่าเริ่มถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง และที่ชัดเจนมากๆ ก็คือเมื่อปี 2555 หรือในวาระครบรอบ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พื้นที่หมุดคณะราษฎรมีการมาจัดกิจกรรมรำลึก และมีกลุ่มกิจกรรมใหม่ที่ชื่อว่า ‘กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย’ [3] เข้ามามีบทบาทสำคัญรวมทั้งนักกิจกรรมอื่นๆ

แต่เมื่อสืบค้นลงไปแล้ว กิจกรรมของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นั้นมีมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่อาจจะยังไม่มีผลต่อความสนใจของสังคม แม้ว่าจะเริ่มมีการทำหมุดจำลองและเสื้อออกมาจำหน่าย[4]

 

 

ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามของฝ่ายที่ไม่พออกพอใจกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็พยายามจะมาทำลายหมุด และตั้งคำถามตามสื่อโซเชียลอยู่ก่อนหน้าการหายของหมุดอยู่หลายครั้งว่าควรให้คุณค่ากับหมุดคณะราษฎรมากน้อยแค่ไหน[5]

แม้ว่าหลังจากการหายไปของหมุดคณะราษฎรเมื่อ 14 เมษายน 2560 จะไม่ใช่การหายไปของวัตถุและสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรเป็นครั้งสุดท้าย ดังจะเห็นจากการรื้ออาคารศาลฎีกาที่มีการต่อสู้ถกเถียงทางความคิดกันมานานเกือบสิบปีก่อนการหายไปของหมุดคณะราษฎร และการหายไปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏเมื่อ 27 ธันวาคม 2561 แต่สถานะพิเศษของหมุดคณะราษฎรนั้นก็คือ ไม่ใช่วัตถุที่มีลักษณะใหญ่ในระดับสถาปัตยกรรม และไม่ได้ถูกให้คุณค่าอะไรในทางประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ เห็นได้จากคำอธิบายของกรมศิลปากรเมื่อครั้งที่หมุดหายว่า “หมุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ทางกรมดูแลเฉพาะองค์อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น อีกทั้งหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เนื่องจากไม่ถือเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น” [6]

เมื่อหมุดคณะราษฎรไม่มีคนอ้างเป็นเจ้าของ ซึ่งน่าจะต้องถกเถียงต่อ เพราะว่าเมื่อสืบค้นกันจริงๆ แล้วเราก็เห็นหลักฐานว่ารัฐบาลในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง ดังนั้นย่อมจะต้องเป็นทรัพย์สินทางราชการ ถ้าหายไปก็ควรจะต้องมีการติดตามมากกว่านำประชาชนที่สงสัยไปปรับทัศนคติ

ลักษณะพิเศษของหมุดคณะราษฎรทำให้เกิดประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อไปอีกอย่างน้อยสองประการ ที่ไม่ใช่มิติทางประวัติศาสตร์การเมือง และอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งมีคนกล่าวถึงไว้มากมายแล้ว

ประการแรก หมุดคณะราษฎรที่หายไป ไม่ได้หายไปเฉยๆ แต่ถูกแทนที่โดยสิ่งที่ผู้คนขนานนามว่า ‘หมุดหน้าใส’ ซึ่งก็ไม่ได้มีใครอ้างเป็นผู้ที่นำมาติดตั้งแทน

ขณะที่ข้อความในหมุดคณะราษฎรนั้นกล่าวว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

ข้อความในหมุดหน้าใสนั้นกล่าวว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

แม้ว่าจะมีการอ้างว่าข้อความในหมุดหน้าใสนั้นจะตรงกับคาถาภาษิตในเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ แต่ด้วยสถานะที่คลุมเครือของการไม่มีใครอ้างมาติดตั้งและผลิตสิ่งนี้ การเชื่อมโยงระหว่างคาถาและข้อความในหมุดจึงทำได้แค่บันทึกถึงความเหมือนกันเท่านั้น

ส่วนใครจะตั้งข้อสังเกตอื่นใด ก็สุดแล้วแต่ความสนใจของแต่ละท่าน โดยเฉพาะการหายไปของคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ในคาถาใหม่นี้

ความน่าสนใจของหมุดหน้าใสก็คือ กระบวนประกอบสร้าง ติดตั้ง และจัดวางหมุดอันใหม่ในที่เดิม ขณะที่การป้องกัน ปิดกั้น หรือไม่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงหมุดอันนี้ได้ง่ายนักกลับเป็นจุดน่าสังเกตว่า ความคิดเบื้องหลังของการจัดทำและจัดแสดงสิ่งนี้คืออะไร และใครเป็นคนรับผิดชอบ/เจ้าของในบริเวณนั้น และสถานะของหมุดหน้าใสนั้นจะเข้ามาแทนที่หมุดคณะราษฎรต่อไปได้หรือไม่อย่างไร

ลักษณะพิเศษประการที่สองในข้อสังเกตเรื่องการหายไปของหมุดคณะราษฎร ทำให้เกิดการตั้งคำถามในเชิงทฤษฎีทางสังคมประการหนึ่งที่เรียกว่าด้วยเรื่อง ‘ของจริง/ความจริง’ และ ‘ของปลอม/ความปลอม’ โดยเฉพาะในข้อถกเถียงที่ว่าด้วยเรื่องที่ภาษาอังกฤษใช้กันว่า simulacrum

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เดิมนั้นเราเข้าใจว่าของในโลกนี้แบ่งเป็นของจริงและของปลอม หรือของที่ถูกทำใหม่ ของที่ถูกทำซ้ำ ซึ่งของที่ถูกทำใหม่นั้นถูกเข้าใจว่าเป็นของปลอม ไม่มีคุณค่าเท่ากับของแท้ มีลักษณะที่ด้อยกว่าของแท้ อาทิ ความเข้าใจของคนที่สะสมของเก่า นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และนักโบราณคดี หรือถ้าในโลกของคนสมัยใหม่ก็อาจจะพูดถึงของก๊อบ ของโออีเอ็ม ของก๊อบเกรดเอ หรืองานมิลเลอร์

ต่อมาความเข้าใจเรื่องของที่ไม่ใช่ของแท้นั้นกลายมาเป็นเรื่องของการตั้งคำถามที่ซับซ้อนขึ้น เช่นของที่ไม่ใช่ของที่ตรงกับของจริง บางครั้ง ‘อาจจะจริงมากกว่าของจริง’ เพราะมีความจงใจที่จะทำให้มันจริง แต่การทำให้มันจริงนั้นจำต้องบิดเบือนเพื่อให้เกิดความจริง

 

 

จะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ สักสองเรื่องก็คือ รูปปั้นหรือพระพุทธรูปที่สัดส่วนผิดเมื่อเรามองที่พื้น แต่เมื่อเราเอาขึ้นไปตั้งในมุมที่พอดีแล้ว ก็จะทำให้ได้สัดส่วน แต่ถ้าเราปั้นได้สัดส่วนแต่แรก เมื่อเอาไปจัดวางแล้ว เราก็อาจจะเห็นว่ามันเพี้ยน

หรือตัวอย่างประเภทภาพถ่ายขาวดำ ที่ทุกคนก็รู้ว่าภาพขาวดำนั้นความจริงถ่ายในเหตุการณ์ที่เป็นสี แต่การจัดวางองค์ประกอบภาพ เลนส์ ความไวแสง และความไวชัตเตอร์บางประการต่างหากที่จะทำให้ภาพดูไม่เหมือนจริง ทรงพลัง และทำให้เราสนใจเรื่องราวที่เป็นจริงและสื่อสารความจริงได้ดีกว่าภาพที่ขาดองค์ประกอบ หรือใช้เลนส์ 50 มม.ปกติ ที่ถือว่าไม่บิดเบือน

ขณะที่ในยุคใหม่อาจมีการตั้งคำถามว่าโลกนี้ไม่มีอะไรที่จริงแล้ว เพราะว่าการจัดสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างนั้น มันพ้นไปจากตัวต้นฉบับไปนานแล้ว เช่น การวาดรูปจากภาพถ่ายของรูปต้นฉบับ คือหาความจริงแท้อะไรไม่ได้แล้ว เพราะรูปตั้งต้นก็ไม่แท้ วาดออกมาก็ยิ่งไม่แท้เข้าไปใหญ่ หาแก่นสารสาระอะไรไม่ได้กันอีก (ขณะที่ในทางตรงข้าม การมีเครื่องพิมพ์สามมิติ อาจจะทำให้เราสามารถผลิตของบางอย่างที่ไม่แท้ แต่กลับใช้งานได้ก็เป็นไปได้ ดังนั้นข้อถกเถียงเรื่องความแท้และไม่แท้จึงกำลังเข้าสู่ปริมณฑลในการถกเถียงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา)

คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ หมุดคณะราษฎรในปัจจุบัน (ถูกทำให้) หายไป และเราไม่เห็นความพยายามของผู้มีอำนาจในช่วงที่ผ่านมาซึ่งอ้างว่าตนมีอำนาจล้นเหลือจะไปทำการค้นหาหมุดนี้ ไม่นับความพยายามอย่างแข็งขันในการไม่ให้เกิดการค้นหาและตั้งคำถามกับการหายไป

เราต้องคิดต่อว่า การทำให้หมุดหายไปนั้นแทนที่จะทำให้ความทรงจำหายไป สิ่งที่พบมากเป็นพิเศษในปีนี้ก็คือ การแพร่กระจายของการผลิตวัตถุที่ระลึกและสินค้าที่ถอดแบบมาจากหมุดจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

แม้ว่าการถอดแบบจากหมุดจริงทั้งหมดนั้นจะเป็นสิ่งไม่แท้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากหมุดต้นแบบหายไป การสร้างจึงต้องกระทำจากภาพถ่าย ไม่ใช่หมุดและขนาดจริง มาปีนี้ความเหมือน/เสมือนกลับถูกข้ามพ้นเข้าไปอีก ทั้งคุกกี้ สลัด ขนมปัง ป้ายฉลากติดแอลกอฮอล์ล้างมือ ฯลฯ กลับแพร่กระจายและถูกผลิตพ้นไปจากเหรียญ และกลุ่มรณรงค์ทางการเมืองมาสู่ห้องครัว งานมงคล และพื้นที่อีกมากมายที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่เสมือนที่ทำให้ความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะแยกจากกันไม่ออกอีกต่อไป

กลับกลายเป็นว่า หากคิดดีๆ ว่าถ้าหมุดยังอยู่นั้น อาจเป็นไปได้ที่การจัดกิจกรรมอาจมีได้ปีละครั้ง แต่เมื่อหมุดหายไป การผลิตสร้างหมุดคณะราษฎรในรูปแบบใหม่ๆ กลับทวีความสำคัญและจำนวนมากขึ้น เกิดความหลากหลายมากขึ้นราวกับพืชพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยปราศจากแก่นแกนหรือราก (ไม่ว่าจะรากแก้วหรือรากหญ้า) ที่ถูกโค่นล้มลงได้

คุณูปการของการอุ้มหายหมุดคณะราษฎรจึงได้ปลดปล่อยข้อจำกัดทางกายภาพของหมุดคณะราษฎร ณ กาลเทศะหนึ่งออกไป จนเกิดไวรัสวิทยาของการแพร่กระจายสำนึกและความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลับมาใหม่และทำให้ความรู้สึกต่อการโต้อภิวัฒน์หลัง พ.ศ. 2475 นั้นมีความจริงแท้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

ตราบใดที่การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งจินตนาการนั้นยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และผู้คนจำนวนไม่น้อยยังรับรู้ รู้สึก และให้ความหมายกับหมุดคณะราษฎรและเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

เมื่อย้อนไปพิจารณาหมุดหน้าใส ซึ่งมีความจริงแท้ในแง่ของการปรากฏตัวขึ้นจริง สร้างจริง ติดตั้งจัดวางจริง แต่ด้วยการติดตั้งจัดวางและการปิดกั้นไม่ให้คนเข้าถึง จึงอาจส่งผลให้สถานะการรับรู้ของผู้คนต่อหมุดหน้าใสที่ถูกจัดวางลงในพื้นที่เดิมอาจถูกตั้งคำถามถึงความจริงแท้และสถานะทางความทรงจำสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยเงื่อนไขของปฏิบัติการทางอำนาจบางอย่าง สถานะของหมุดหน้าใสอาจจะถูกจัดวางในความเงียบของประชาชน เพราะคนที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เองก็อาจจะไม่สามารถเฉลิมฉลองและยึดโยงตัวเองกับวัตถุสิ่งนี้ได้เช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหมุดหน้าใสจึงเป็นสภาวะที่เรียกได้ว่า ประชาชนจะสุขสันต์หน้าใสหรือไม่ พิสูจน์ได้ยาก สิ่งที่พิสูจน์ได้เป็นเพียงแค่การไม่ถูกพูดถึง หรือพูดถึงไม่ค่อยจะได้ของเรื่องราวหมุดหน้าใส สะท้อนออกถึงสภาวะความเงียบของคนหมู่มาก (silent majority) ที่อธิบายได้ยากว่าพวกเขารู้สึกนึกคิดอะไร

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหมุดคณะราษฎรในปีนี้อาจจะเรียกได้ว่า ประชาชนจะสุขสันต์หน้าใสหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็นเท่ากับการเฉลิมฉลองการสร้างตัวแบบใหม่ๆ ของความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยตัวเองออกจากการอุ้ม(หมุดฯ)หายและการกดทับการตั้งคำถามและสืบค้นในช่วงที่ผ่านมาในระดับหนึ่ง

และชวนให้เราคิดต่อไปในอีกมิติที่ไม่ใช่แนวการศึกษาแบบประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงแท้เท่านั้น โดยประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะจริงแท้ในแง่ของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแค่ไหน การผลิตใหม่ในวัตถุ ความทรงจำ และความใฝ่ฝันต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นได้ทำงานของมันอย่างจับต้องได้และมีชีวิตชีวามิใช่น้อย

 

 

(แรงบันดาลใจจาก Wikipedia: Simulacrum และ Brian Massumi. Realer than Real: The Simulacrum according to Deleuze and Guattari. Copyright no. 1, 1987)

 


[1] รวบรวมจาก 2 ปี 2 เดือน การหายไปของหมุดคณะราษฎร, ประชาไท, 23 มิ.ย. 2563

[2] หมุดคณะราษฎร, วิกีพีเดีย

[3] 2 ปี 2 เดือน การหายไปของหมุดคณะราษฎร, ประชาไท, 23 มิ.ย. 2563

[4] เพิ่งอ้าง

[5] เพิ่งอ้าง

[6] เพิ่งอ้าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save