fbpx
มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร

มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เรื่อง

 

มิตรสหายหลายท่านฉงนจนเอ่ยถาม เหตุไฉนผมไม่ลองเขียนอะไรๆ เกี่ยวกับ ‘คณะราษฎร’ บ้าง รับฟังคำชวนบ่อยๆ เข้าก็ชักใจอ่อน ตรึกตรองดูว่าเราจะบอกเล่าถึงเนื้อหาแบบไหนดี

ผมเองลุ่มหลงเหลือเกินเรื่องอาหารการกินและความเอร็ดอร่อย จึงตั้งใจจะสาธยายว่าด้วยร้านอาหารผูกโยงกับบุคคลในกลุ่มคณะราษฎรสู่สายตาคุณผู้อ่าน

ถ้วนเท่าเคยพบและสังเกตสังกาเรื่อยมา มักเห็นความนิยมเขียนถึงร้านกาแฟกับคณะราษฎร ยิ่งเฉพาะ Café ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยหลงเชื่อกันว่าเป็นแหล่งที่สมาชิกคณะราษฎรเคยรวมตัวพบปะพูดคุยสุมหัวคิดในช่วงทศวรรษ 1920 เพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเมื่อปี พ.ศ. 2475

ชื่อร้านที่ถูกกล่าวถึงซ้ำๆ อย่างเข้าใจผิดมาเนิ่นนานได้แก่ Café de la Paix หากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ผู้ภริยา พร้อมบุตรสาวของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนกลับเปิดเผยทำนองว่ามิใช่ร้านนี้หรอก แต่เป็นร้าน Café Select ใกล้ๆ ย่านนักศึกษาเยี่ยงการ์ติเย ลาแตง (Quartier Latin)

ดังเสียงเล่าตอนหนึ่งของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งหวนระลึกห้วงยามระหกระเหินตามสามีไปอยู่ปารีสช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2476 อันเป็นผลสืบเนื่องจากนายปรีดีเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติหรือ ‘สมุดปกเหลือง’ จนถูกหยิบยื่นความเป็นคอมมิวนิสต์ให้

“บางวัน ข้าพเจ้ากับนายปรีดีออกจาก Sainte-Geneviève แล้วก็มานั่งเล่นที่ร้านกาแฟ Café Select มุมถนน Rue des Ecoles ตัดกับถนน Boulevard Saint-Michel ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ Cluny นายปรีดีเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่ร้านกาแฟนี้ นายปรีดีและเพื่อนๆ ร่วมกันคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรารถนาให้สยามประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีเสรีภาพและประชาธิปไตย”

ทั้งเสริมว่า “เมื่อ 2 ปีก่อน (พฤษภาคม 2542) ข้าพเจ้าหวนกลับไปปารีสอีกครั้ง ร้าน Café Select ปัจจุบันเป็นร้านขายเสื้อผ้า ไม่หลงเหลือสภาพเดิมให้ปรากฏ”

กระนั้น มีผู้ระบุว่าปัจจุบันร้าน Le Select คงเปิดให้บริการอยู่ที่ 99 boulevard du Montparnasse และเปิดมาตั้งแต่ปี 1923 จะว่าไปตำแหน่งที่ตั้งของ Café Select ในความทรงจำของท่านผู้หญิงพูนศุขกับ Le Select ในปัจจุบัน ระยะทางช่างห่างไกลระดับเดินเมื่อยน่องไม่เบา แม้จะสามารถเชื่อมกันได้ด้วย Boulevard Saint-Michel ก็ตามที

แท้จริง ร้านกาแฟหรือจำพวก café ต่างๆ ในปารีสย่อมจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม แต่ผมมิวายใคร่ล่วงรู้ว่ามีร้านอาหารอื่นๆ อีกหรือไม่ที่สมาชิกคณะราษฎรเคยแวะรับประทานหรือนั่งสนทนาสารพัน เนื่องจากสิบกว่าปีที่ผ่านผัน ผมหมั่นขะมักเขม้นสืบเสาะค้นหาข้อมูลค่อนข้างจริงจังจนประจักษ์ร่องรอยอยู่หลายร้านเหมือนกัน

สำหรับร้านแรกสุดในกรุงปารีสที่ขอผายมือแนะนำคือ ภัตตาคารอาหารจีน Pascal ผมบังเอิญอ่านเจอร้านนี้เข้าจากบันทึกลายมือของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภริยาของสมาชิกคณะราษฎรเยี่ยงนายควง อภัยวงศ์

เธอย้อนความหลังว่า “ในปี 1926 นั่นเอง ในวันชาติฝรั่งเศษ พี่แดงพาไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารจีน ถ้าจำไม่ผิดชื่อ Pascal ที่นั่นได้พบนักเรียนไทยในฝรั่งเศษหลายคน ที่จำได้มั่นเหมาะก็มีคุณควงอยู่ด้วยคนหนึ่ง ทานอาหารแล้วคนไทยก็ชวนกันได้เดินเที่ยวตามถนนเพื่อดูไฟและดูคน มีนักเรียนไทยที่รู้จักจากอังกฤษอยู่ 2 คนคือ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงและหม่อมเจ้าเพลิงนพดล ก่อนที่จะออกเดิน คุณควงเปนผู้จัดแถวและได้ให้ผู้ชายเดินนำหน้าแถวหนึ่งและให้คุณเล็กนี่แหละมาอยู่ตรงกลางเพื่อไม่ให้โดนคนเบียด และให้มีคนคุมทางด้านหลัง ความมีน้ำใจของคุณควงนี้เป็นสิ่งแรกที่จับอยู่ในดวงใจไม่มีวันจะหลุดออกมาได้”

พี่แดงคือนายแดง คุณะดิลก บุตรชายพระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ติลเลกี) นักกฎหมายเชื้อสายสิงหลชาวศรีลังกาผู้เข้ามารับราชการในเมืองไทย และเป็นพี่ชายของคุณหญิงเลขาที่ขณะนั้นใช้ชื่อนางสาวเล็ก (เจน) คุณะดิลก เดิมทีนางสาวเล็กมุ่งมั่นเดินทางมาเรียนวิชาการเรือนและการดนตรีหรือ Finishing School ในประเทศอังกฤษ แต่เธอถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนสตรีชั้นสูงเนื่องจากผิวคล้ำและดวงหน้าละม้ายชาวตะวันออกกลาง หาโรงเรียนไม่ได้แรมปี นายแดงจึงพาน้องสาวข้ามมาฝั่งประเทศฝรั่งเศส เธอก็ได้เข้าเรียนสมหวัง

 

บันทึกลายมือของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์บันทึกลายมือของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ : ภาพจากหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์

 

ภัตตาคารอาหารจีน Pascal อยู่ที่ Rue de l’Ecole de Médecine สายถนนแยกมาจากจุดตัดระหว่างถนน Rue des Ecoles กับถนน Boulevard Saint-Michel ถือเป็นร้านกระเดื่องดังช่วงทศวรรษ 1920 เพราะเสิร์ฟอาหารจีนแบบที่นำเอาเนื้อสัตว์และผักมาผัด ต้ม อบ นึ่ง ตุ๋นรวมๆ กัน เราๆ ท่านๆ ชาวไทยเรียก จับฉ่าย ส่วนฝรั่งเรียก ‘chop suey’ ขณะเดียวกันภายในร้านก็บรรเลงเพลงแจ๊ส (Jazz) ดนตรีแห่งทศวรรษ 1920-1930

 

บรรยากาศภายในภัตตาคารอาหารจีน Pascal ช่วงทศวรรษ 1920 : ภาพจาก pinterest

 

นางสาวเล็กเผชิญหน้านักเรียนชาวสยามในฝรั่งเศสหลายคนที่ร้าน Pascal (น่าเสียดายที่คุณหญิงเลขามิได้บอกชื่อของทุกๆ คนที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารว่ามีใครบ้าง) รวมถึงนายควง อภัยวงศ์ นักเรียนวิศวกรรมโยธาหนุ่มจาก Ecole Centrale de Lyon ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตของเธอ

หลังรับประทานอาหารเสร็จ เหล่าคนไทยชวนกันเตร็ดเตร่เที่ยวชมงานเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศสในปี 1926 ไปตามถนนสายต่างๆ ที่ประดับประดาไฟสีสันสวยงาม

ชาวไทยคนอื่นๆ ที่ร่วมเดินทัศนาปารีสในวันนั้นพร้อมๆ กับนายแดง นางสาวเล็ก และนายควง ได้แก่ นายชม จารุรัตน์ นักเรียนรัฐศาสตร์จาก École Libre des Sciences Politiques  (ต่อมาคือหลวงคหกรรมบดี), หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล จาก École nationale supérieure agronomique de Grignon (สำนักเดียวกับนายทวี บุณยเกตุ), หม่อมเจ้าลายฉลุทอง ทองใหญ่ นักเรียนวิชาไฟฟ้าและวิทยุจาก École centrale de la T.S.F., นายปรีดี พนมยงค์ นักเรียนกฎหมายปริญญาเอกมหาวิทยาลัยปารีส, ร้อยโทแปลก ขีตะสังคะ จากโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่แห่งฟงแตนโบล หรือ École d’application d’artillerie de Fontainebleau (ต่อมาคือหลวงพิบูลสงครามหรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เขาเกิดตรงกับวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคมพอดี), นายประยูร ภมรมนตรี ที่ย้ายจากเยอรมนีเพราะป่วยแล้วมาเรียนรัฐศาสตร์ และนายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษที่ข้ามมาเรียนกฎหมายในฝรั่งเศส ดังปรากฏภาพถ่ายบนปกนิตยสาร ไท-สัปดาห์  ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 ประจำวันจันทร์ที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2499[1] ดูเหมือนเจ้าของภาพคือนายควง อภัยวงศ์ ส่วนคนถ่ายภาพน่าจะเป็นหลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ข้าราชการสถานอัครราชทูตไทยในฝรั่งเศส (ประธานและเจ้าของหนังสือ เทอดรัฐธรรมนูญ ในยุคประชาธิปไตย)

 

 

 

งานเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1926 ภาพจากซ้ายไปขวา : นายชม จารุรัตน์ (ต่อมาคือหลวงคหกรรมบดี), นายแดง คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก (ต่อมาคือคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์), นายควง อภัยวงศ์, หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล, หม่อมเจ้าลายฉลุทอง ทองใหญ่, นายปรีดี พนมยงค์, ร้อยโทแปลก ขีตะสังคะ (คนก้มหน้าอ่านหนังสือ ต่อมาคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม), นายประยูร ภมรมนตรี และนายแนบ พหลโยธิน

 

สองนักเรียนไทยจากอังกฤษซึ่งคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์พาดพิง แต่พวกเขามิได้ปรากฏตัวในภาพถ่ายคือหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงและหม่อมเจ้าเพลิงนภดล สองพี่น้องแห่งราชสกุลรพีพัฒน์ ใครชอบอ่านวรรณกรรมไทยคงคุ้นเคยชื่อเสียงหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง นักประพันธ์เอกเจ้าของผลงาน ละครแห่งชีวิต อันลือเลื่อง

การรู้จักกันระหว่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกับนางสาวเล็ก คุณะดิลกสะกิดให้ผมนึกถึงถ้อยความในหนังสือ ละครชีวิต เจ้าชายนักประพันธ์ เบื้องหลังฉากชีวิตของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ของอรสม สุทธิสาครที่ว่า “สุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งที่เคยเยี่ยมกรายผ่านเข้ามาในหัวใจของท่าน คือคุณหญิงผู้ล่วงลับของอดีตนายกรัฐมนตรีหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ครั้งที่เธอยังเป็นสาวสวยวงหน้าหวาน ดวงตาคมเป็นประกายงาม”

 

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์

 

ภัตตาคารอาหารจีนอีกแห่งที่บรรดานักเรียนไทยในฝรั่งเศสมาชุมนุมจนค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มคณะราษฎรคงมิพ้นร้านที่พวกเขาเรียกขานติดปากว่า ‘ร้านอ้ายชุง’ อยู่บน Rue des Carmes ถนนสายที่ทอดมาตัดผ่านกับ Rue des Ecoles เช่นกัน

ตอนท่านผู้หญิงพูนศุขใช้ชีวิตในกรุงปารีสช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 เธอกับสามีฝากท้องมื้อค่ำที่ร้านนี้เนืองๆ

“…อาหารมื้อค่ำค่อยถูกลิ้นถูกปากและราคาย่อมเยากว่าอาหารฝรั่ง เรามักรับประทานอาหารจีนที่เขต Quartier Latin สมัยที่นายปรีดีเป็นนักศึกษารับประทานอาหารจีนที่ 11 bis, Rue des Carmes เสมอ คราวนี้นายปรีดีพาข้าพเจ้ามารับประทานที่นี่อีก Mr. Chung เจ้าของร้านให้การต้อนรับขับสู้อย่างดี”

ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในคณะราษฎรผู้ริเริ่มก่อการยังกล่าวถึง ภัตตาคาร Des Ecoleav Henry-Martin โดยอ้างว่าตนกับนายปรีดีคิดวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ร้านแห่งนี้

นอกเหนือไปจากการรับประทานตามภัตตาคารต่างๆ กลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่กลายเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้อาศัยฝีมือประกอบอาหารกันเองในที่พักด้วย

ดั่งที่คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ บันทึกว่า “โดยที่เรามี Flat หรือ apartment อยู่ที่ Passy คุณควงและสหายมีคุณปรีดี คุณชม คุณประยูร และอีกหลายคนมาทำอาหารแล้วให้คุณเล็กหรือคุณแดงเล่นเปียนโน…”  หรือบางคราวก็ไปรับประทานอาหารกลางวันตามสวนสาธารณะของกรุงปารีส เฉกเช่นคราวหนึ่ง หลวงสิริราชไมตรี, นายปรีดี และนายควง ไปร่วมมื้ออาหารกันในปี 1925

 

จากซ้าย หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), นายควง อภัยวงศ์ (คนถือแก้ว) และนายปรีดี พนมยงค์ กำลังรับประทานอาหารกลางวันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อปีคริสต์ศักราช 1925

 

ช่วงปี 1926 นักเรียนไทยในฝรั่งเศสต้องพยายามประหยัดค่าอาหารการกิน เนื่องด้วยสภาวะค่าเงินตกต่ำและราคาสินค้าดีดตัวสูงขึ้น เดิมทีนักเรียนทุนจะได้รับเงินจากรัฐบาลที่ส่งมาแล้วท่านอัครราชทูตจ่ายให้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าดำรงชีวิตเดือนละ 2,000 ฟรังก์

ตอนนั้นคิดเทียบอัตรา 80 ฟรังก์ต่อหนึ่งปอนด์ ก็เท่ากับ 25 ปอนด์ ปีที่ผ่านมาอัตราเงินใช้เพียงพอ แต่ปีนี้ค่าเช่าบ้านขึ้นราคา แม้จะเป็นบ้านแถวย่านการ์ติเย ลาแตง (Quartier Latin) ซึ่งราคาถูก แต่ก็ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 400 ฟรังก์ ส่วนค่ารับประทานอาหาร ปีก่อนๆ ร้านธรรมดาๆราคามื้อละ 10 ฟรังก์ แต่ปีนี้มื้อละ 15 ฟรังก์ สังเกตได้ว่าพวกเขาจึงเน้นรับประทานอาหารจีน

มูลเหตุข้างต้นส่งผลให้นายปรีดีทำหนังสือแจ้งต่อท่านอัครราชทูต ขอรับเงินค่าใช้จ่ายเป็นสกุลเงินปอนด์ตามที่รัฐบาลสยามส่งมา วอนทางสถานทูตอย่านำไปแลกเป็นเงินฟรังก์

หลังจากกลุ่มผู้ริเริ่มก่อการกลับจากฝรั่งเศสสู่เมืองไทย พวกเขาได้ชักชวนใครๆ อีกจำนวนมากมายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้ามาร่วมสมทบเป็นสมาชิกคณะราษฎร มีการนัดพบปะพูดคุยกันตามภัตตาคารและสถานกาแฟต่างๆ (เช่น สถานกาแฟนรสิงห์)

ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มิอาจละเลยเอ่ยถึงคือ ร้านข้าวสามสี สี่กั๊กเสาชิงช้า นั่นเพราะเป็นแหล่งที่ถูกอ้างว่าเกิดเหตุปัจจัยนำไปสู่การเลือกยึดอำนาจในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  รายละเอียดเหตุการณ์ ณ ร้านข้าวสามสีนั้น นายจรูญ สืบแสง สมาชิกคณะราษฎรผู้หนึ่ง (นักเรียนวิชาการเกษตรจากฟิลิปปินส์) เล่าเสียยืดยาวผ่านบันทึกเรื่อง ‘ทำไมจึงเป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน’

“ในตอนเที่ยงของวันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคุณหลวงประดิษฐ์ฯ  คุณหลวงพิบูลฯ และคุณหลวงสินธุฯ ที่ร้านอาหารซึ่งเรียกกันว่าร้านข้าวสามสีที่สี่กั๊กเสาชิงช้า ในเที่ยงวันนั้นเผอิญไม่มีคนพลุกพล่าน และในห้องที่เราเข้าไปนั่งรับประทานอาหารกันนั้นก็มีแต่พวกเรา ๔ คนเท่านั้น  ข้าพเจ้าได้โอกาสก็บอกกับท่านทั้งสามว่า ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งทางราชการให้ไปรับตำแหน่งแทนคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจที่สถานีทดลองการเกษตรควนเนียงทางภาคใต้  และในบ่ายวันนั้น (๒๒ มิถุนายน) ข้าพเจ้าจะต้องเดินทางโดยรถด่วนสายใต้ไปตามคำสั่ง  ข้าพเจ้าจึงขอทราบว่าเมื่อไหร่เราจึงจะลงมือทำการกัน  คุณหลวงพิบูลฯบอกข้าพเจ้าว่ายังกำหนดวันไม่ได้ว่าจะลงมือกันเมื่อไร เพราะคุณประยูร ภมรมนตรี ได้ไปบอกพวกเราฝ่ายทหารเรือเป็นความเท็จว่าเราได้กำลังทางทหารบก เช่น ทหารปืนใหญ่  ทหารม้า  ทหารราบ เป็นต้นไว้ได้มากแล้ว  ซึ่งทางฝ่ายทหารเรือทราบต่อมาว่าไม่เป็นความจริง จึงยังไม่ยอมที่จะลงมือทำการจนกว่าจะได้กำลังพอ ทำให้ต้องรอกันต่อไปอีก  เพราะฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าเดินทางไปรับตำแหน่งตามคำสั่งก่อนเถิด  เมื่อใดเป็นที่แน่นอนว่าจะลงมือกันจึงจะส่งข่าวไปบอกให้ข้าพเจ้าทราบ ข้าพเจ้าได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกโกรธขึ้นทันที  ข้าพเจ้าบอกกับท่านทั้งสามว่าข้าพเจ้าได้ตัดสินใจไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่ไปรับตำแหน่งตามคำสั่ง  แต่จะทำเป็นว่าจับรถด่วนไปตามกำหนดในบ่ายวันนั้น และจะไปลอบลงที่สถานีบางซื่อ ส่วนครอบครัวของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าจะซื้อตั๋วรถไฟให้ไปลงที่สถานีโคกโพธิ์เพื่อให้ไปอยู่กับบิดามารดาของข้าพเจ้าที่ปัตตานีโดยไม่บอกให้ภรรยาหรือใครๆทราบล่วงหน้า  เผอิญพี่ชายคนโตของข้าพเจ้าจะเดินทางไปปัตตานีโดยรถด่วนในวันนั้นด้วย  จึงเป็นโอกาศดีที่ข้าพเจ้าจะฝากฝังพี่ชายให้ช่วยดูแลครอบครัวข้าพเจ้าในระหว่างการเดินทาง  ข้าพเจ้าบอกต่อไปว่าข้าพเจ้าได้นัดไว้แล้วกับคุณเสงี่ยม ซึ่งได้เข้ามาร่วมมืออยู่ในสายของคุณทวี  บุณยเกตุและข้าพเจ้าให้ไปคอยรับข้าพเจ้าที่สถานีบางซื่อในบ่ายวันนั้น  ข้าพเจ้าจะหลบตัวอยูในกรุงเทพฯและจะไปปรึกษาตกลงกับคุณบรรจงและคุณประเสริฐ ศรีจรูญว่า ภายในเดือนมิถุนายนนั้นถ้าพวกเรายังไม่ตกลงกันให้แน่นอนว่าจะลงมือกันเมื่อใด พวกข้าพเจ้าสามคนก็จะลงมือทำกันก่อน  ท่านหนึ่งในสามท่านนั้นข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าเป็นผู้ใดถามข้าพเจ้าว่าทำไมจะลงมือทำก่อนและจะทำอย่างไร  ข้าพเจ้าได้บอกเหตุผลที่จะต้องทำให้ฟังและจะทำโดยเข้าไปยึดตัวเจ้านายที่สำคัญพระองค์หนึ่งไว้เป็นประกัน  พวกเราที่ยังรีรอกันอยู่นั้นจะทำอย่างไรกันต่อไปหรือไม่ข้าพเจ้าไม่คำนึงถึง  ท่านทั้งสามได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอึ้งกันไป”

นายจรูญเชื่อว่าโทสะและความใจร้อนของเขาบันดาลให้พวกแกนนำคณะราษฎรตัดสินใจจะเร่งปฏิบัติการเร็ววัน (เรียกว่าถ้าเขาไม่เกรี้ยวกราดก็คงยังไม่เกิดการยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน)

และ “…ในที่สุดคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ก็บอกข้าพเจ้าว่าในบ่ายวันนั้นให้ข้าพเจ้าขึ้นรถด่วนไปลงที่สถานีตลิ่งชัน  เพราะรถด่วนสายใต้ไม่หยุดที่บางซื่อ เมื่อลงจากรถด่วนแล้วให้ลงเรือจ้างไปบ้านคุณหลวงสินธุฯในคลองบางกอกใหญ่และคอยฟังข่าวอยู่ที่นั่น ข้าพเจ้าได้ฟังคุณหลวงประดิษฐ์ฯ บอกเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกคลายความโกรธลง ข้าพเจ้าอนุมานเอาว่าทั้งสามท่านคงจะปรึกษาตกลงกันที่จะรีบลงมือทำการกันเสียโดยเร็ว ถ้าขืนปล่อยให้ข้าพเจ้าทำไปก่อนอย่างบ้าบิ่นโดยไม่ได้คำนึงถึงผลได้ผลเสีย แผนการณ์ที่ได้คิดกันไว้มาเป็นเวลาหลายปีก็คงจะล้มเหลวไปหมด”

 

บันทึกลายมือของนายจรูญ สืบแสง : ภาพจากหนังสือ ที่รฤกเนื่องในงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย”

 

นายจรูญ สืบแสง

 

บ่ายวันที่ 22 มิถุนายน นายจรูญไปถึงบ้านหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เวลาประมาณ 5 โมงเศษ ที่นั่นเขาพบนายทหารเรืออีกหลายนาย ทั้งหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา), เรือเอกชลิต กุลกำม์ธร และคนอื่นๆ  เมื่อ “ข้าพเจ้าฟังเสียงที่นายทหารเรือเหล่านั้นพูดกันก็รู้ว่ากำลังทำคำสั่งปลอมในทางทหาร จึงแน่ใจว่าความตั้งใจอย่างบ้าบิ่นของข้าพเจ้าเป็นเหตุให้มีการวางแผนและเตรียมการที่จะยึดอำนาจการปกครองกันขึ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นภายใน ๒-๓ วันข้างหน้านี้”

คืนนั้น นายจรูญนอนหลับสนิทที่บ้านหลวงสินธุสงครามชัย ตลอดวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน เขาก็คอยฟังข่าว (วันนี้เป็นวันเกิดของหลวงสินธุฯ) กระทั่งเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน “มีคนมาปลุกให้ข้าพเจ้าลุกขึ้น ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าเป็นใคร บอกให้ข้าพเจ้ารีบแต่งตัวลงเรือจ้างข้ามฟากไปขึ้นที่ปากคลองตลาด  แล้วให้ไปคอยอยู่ที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตราธิการ (กรมที่ดินในขณะนี้) จะมีคนมารับข้าพเจ้าไปเวลาประมาณ  ๕ นาฬิกา  ซึ่งก็ปรากฏว่าผู้ที่ขับรถยนต์มารับข้าพเจ้าคือคุณประยูร ภมรมนตรี เขาพาข้าพเจ้าไปที่บ้านของเขาที่สามเสนใน ที่นั่นข้าพเจ้าได้พบคุณทวี บุณยเกตุ, คุณยง พลบุล, คุณหลวงทัศนัยนิยมศึก และนายทหารม้าอีก ๓ นาย คือคุณไชย ประทีปเสน, คุณทวน วิชัยขัตคะและคุณน้อม เกตุนุค ทุกคน (ไม่รวมคุณประยูรฯ) ที่มาพร้อมกันนี้อยู่ในสายที่จะไปยึดเกราะ เราคอยเวลากันอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ต่างแยกกันไปทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ คุณทวีฯ, คุณยงฯ และข้าพเจ้าขึ้นรถยนต์โดยคุณทวี เป็นผู้ขับไปรับคุณหลวงพิบูลฯ และคุณหลวงอดุลยเดชจรัสที่บ้านในตรอกศาลเจ้าครุธ แล้วก็ตรงไปรวมกันใกล้ๆกองทหารม้า เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาและเจ้าคุณทรงสุรเดชก็รวมอยู่ด้วย  เมื่อเอารถเกราะออกมาได้แล้ว  พวกเราที่แยกกันไปทำหน้าที่ในสายต่างๆ ก็ไปรวมกันทั้งหมดที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคม”

บันทึกลายมือชิ้นนี้ เมื่อนายจรูญเขียนเสร็จในปี พ.ศ. 2524 ได้ส่งต้นฉบับไปให้นายปรีดีผู้พำนักอยู่ที่ฝรั่งเศสอ่านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งนายจรูญบอกว่านายปรีดีก็ยืนยันความถูกต้อง

การที่นายปรีดีบอกให้นายจรูญ สืบแสงไปบ้านหลวงสินธุสงครามชัย มิใช่สิ่งที่เพิ่งคิดกะทันหันในร้านข้าวสามสีหรอก เพราะจริงๆ เป็นแผนการสำรองที่นายปรีดีเคยกำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว เรียก ‘แผนตลิ่งชัน’ อีกทั้งแผนการที่นายจรูญจะจับเจ้านายพระองค์สำคัญเป็นตัวประกัน นายปรีดีก็เคยคิดและเสนอกับกลุ่มเพื่อนๆ มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศส ดังผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนส่งเสียงเล่าผ่านหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ตอนหนึ่งว่า

“ในบรรดาแผนที่เราค้นคว้ากันที่ปารีสก่อนมีหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น[2] มีอยู่แผนหนึ่งซึ่งประยูรอาจระลึกได้  คือในการสนทนากันในค่ำวันหนึ่ง  ข้าพเจ้าได้แจ้งให้รู้ถึงความคิดที่ข้าพเจ้าเกิดขึ้นขณะได้ฟังคำบรรยายประวัติศาสตร์กฎหมายพิสดารในชั้นปริญญาเอก ศาสตราจารย์ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยโบราณที่เจ้าแคว้นแห่งหนึ่งใช้วิธียึดเจ้าแคว้นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตาม  ข้าพเจ้าก็เกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่าวิธีการอภิวัฒน์ของเรานั้นน่าจะทำได้โดยมิให้เลือดตกยางออก  คือใช้วิธียึดตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารสมัยนั้นเป็นตัวประกัน….”

แผนจับตัวประกันนี้ ที่ประชุมคณะราษฎรหลายฝ่ายรับไว้พิจารณา แต่ส่วนใหญ่ยังเห็นควรให้ใช้แผนการอาศัยกำลังทหารจำนวนมากยึดอำนาจ จนเกิดข้อขัดแย้งกันในฝ่ายทหารบกระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับพระยาฤทธิอัคเนย์ เรื่องช่วงเวลาจะลงมือทำการ นายปรีดีจึงหารือกับเพื่อนๆ ฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารเรือตระเตรียม ‘แผนตลิ่งชัน’ ขึ้น

สมัยนั้นรถไฟแล่นไปหัวหินจะต้องหยุดจอดที่ชุมทางตลิ่งชันซึ่งติดกับคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางกอกน้อย เมื่อคณะเสนาบดีเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน ช่วงปลายสุดสัปดาห์ ก็จะให้พวกทหารเรือเพียงหมวดเดียวคอยดักรถไฟให้หยุดแล้วเชิญคณะเสนาบดีมากักตัวไว้บนเรือกลไฟชั้นสี่ของทหารเรือ

กำหนดผู้จะรับหน้าที่ในภารกิจนี้คือ เรือเอกหลวงสังวรยุทธกิจ ผู้บังคับการเรือรบหลวงพาลีรั้งทวีป ซึ่งหลวงสังวรฯ ก็บอกว่าเป็นแผนการที่ “สนุกดี” หลังจากนั้น ที่ประชุมคณะราษฎรหลายฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้แผนการจับเจ้านายและเสนาบดีเป็นตัวประกันมากกว่าอาศัยกองกำลังรบพุ่ง ‘แผนตลิ่งชัน’ ของนายปรีดีจึงมิได้ถูกนำมาใช้

ท่านใดสนใจเรื่องอาหารกับนายปรีดี พนมยงค์เป็นพิเศษ ผมยินดีจะเล่าเพิ่มเติมว่าสมัยนายปรีดีเป็นนักเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส วันหนึ่งเขาไปรับประทานอาหารในกรุงปารีสแล้วนั่งรถไฟเพื่อกลับที่พักมาพร้อมเพื่อนหนุ่มชาวไทยอีกคน

รถไฟขบวนนั้นเป็นตู้โบกี้โบราณ ประตูจะเปิดออกด้านข้าง ครั้นนายปรีดีจะเดินไปทำธุระอีกตู้ เขาพลันเผลอเปิดประตูจะก้าวออกไปจนร่างแทบตกจากรถไฟที่กำลังแล่นอยู่ โชคดีเจ้าหน้าที่ประจำรถรีบถลันเข้ามาขวางทันท่วงที นายปรีดีเลยปลอดภัย มิต้องจบสิ้นชีวิตด้วยอุบัติเหตุในต่างแดน

อ้อ! เกือบลืมเฉลย เพื่อนหนุ่มคนที่อยู่บนขบวนรถไฟ คือนายกิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือหลวงวิจิตรวาทการ ข้าราชการสถานอัครราชทูตไทยในฝรั่งเศส

นายปรีดีนับเป็นผู้นิยมทางด้านการประกอบอาหาร ร่ำลือกันทีเดียวว่า ขนาดตอนลี้ภัยการเมืองในต่างแดน เขาก็มักปรุงอาหารเองบ่อยๆ และอดคำนึงถึงเรื่องอาหารไทยมิได้ ปรากฏข่าวคราวความเคลื่อนไหวในหนังสือพิมพ์ วันชาติ[3]  ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2491 ซึ่งพาดหัว ‘ปรีดีโทรเลขเรียกพ่อครัวไทยไปลอนดอน’

เนื้อหารายงานว่า “บัดนี้นายปรีดีได้เดินทางจากเกาะเซนต์จอห์นสิงคโปร์พร้อมด้วยเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขานุการส่วนตัว ตรงไปยังลอนดอน…” และ “ในการไปลอนดอนครั้งนี้ ปรีดี  พนมยงค์ได้กะการณ์ไว้ล่วงหน้าในอันที่จะไปเปิดภัตตาคารใหญ่ในกรุงลอนดอนเพื่อขายอาหารต่างๆ รวมทั้งอาหารไทย จีน และฝรั่ง  เนื่องจากนายปรีดี ได้เป็นผู้หนึ่งที่เอาใจใส่ในการปรุงอาหารต่างๆนานมาแล้ว”

นายปรีดียังปรารถนาผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไปร่วมด้วยช่วยกัน เขาหวนนึกถึงลูกศิษย์รสมือเยี่ยม

“เปนที่น่าเชื่อถือได้ว่านายปรีดีจะได้โทรเลขเรียกตัวพ่อครัวไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งเปนศิษย์ก้นกุฏิผู้หนึ่งของนายปรีดี  และมีความชำนาญในการประกอบอาหารไทยได้ดีเปนพิเศษ ท่านผู้นั้น (แหล่งข่าวสงวนนาม – ผมเอง) ได้แจ้งต่อไปว่าผู้ที่นายปรีดีจะเรียกตัวไปครั้งนี้คือนายลิ่วละล่อง บุนนาค ซึ่งนายปรีดีเคยเห็นฝีมือมาแล้ว”

มองผาดเผิน บางทีใครๆ อาจมิคาดว่าเรื่องของอาหารและร้านอาหารจะโยงใยเกี่ยวพันกับเรื่องราวความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียก ‘คณะราษฎร’ ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร หากคุณผู้อ่านคงสัมผัสอรรถรสจากขบวนตัวอักษรหลายบรรทัดที่ผมเพียรเรียบเรียงเกร็ดน่ารู้ให้เอร็ดอร่อยพร้อมยกมาบริการแล้วกระมังครับ !

 

นักเรียนไทยในฝรั่งเศสอย่างนายปรีดี พนมยงค์, นายควง อภัยวงศ์ และคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกันในเมืองไทย พร้อมกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิตรสหาย และบุตรธิดา : ภาพจาก หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

 

____________________________

[1] ขอขอบคุณ คุณปรัชญากรณ์ ลครพลที่กรุณาเอื้อเฟื้อนิตยสาร ไท-สัปดาห์ ฉบับนี้

[2] หมายถึงหนังสือ เทคนิครัฐประหาร หรือ ของคูร์สิโอ มาลาปาร์เต (Curzio Malaparte) ซึ่งคนเข้าใจผิดกันว่าหลวงพิบูลสงครามศึกษายุทธวิธีจากเล่มนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในฝรั่งเศส แต่นายปรีดีแย้งว่าหนังสือของมาลาปาร์เตเพิ่งตีพิมพ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475 ไม่กี่เดือน เขาเป็นผู้สั่งซื้อมาจากฝรั่งเศส ฉีกปกออกเผาไฟ เมื่ออ่านจบแล้วก็มอบให้หลวงพิบูลสงครามไปอ่านและยังมิได้รับคืน

[3] หนังสือพิมพ์ วันชาติ  ประกาศตัวว่าเป็น ‘หนังสือพิมพ์ไม่อยู่ใต้อิทธิพลผู้ใด เพื่อชนไทยทั้ง ๑๘ ล้านคน’ ขณะบรรณาธิการอย่างสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ก็เคยเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

เอกสารอ้างอิง

กษิติ มงคลนาวิน. ฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: ปราชญ์เปรียว, 2549.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย(กศป.). ที่รฤกเนื่องในงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” วันที่ 24-27 มิถุนายน 2525 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ :โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525

คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกงานฉลอง 100 ปีรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์. คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 2543

จรูญ สืบแสง. “ทำไมจึงเป็นวันที่ ๒๔ มิถุนายน”. รวมบทความประวัติศาสตร์. ฉบับที่ 4 (มกราคม 2525). หน้า 98-105

เทอดรัฐธรรมนูญ 2476. พระนคร: โรงพิมพ์สยามพาณิชยการ, 2476

ไท-สัปดาห์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 8  (17 กันยายน 2499)

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ข้างหลังภาพ ‘คณะราษฎร’ ณ กรุงปารีส”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2563)

ประยูร ภมรมนตรี. ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2518

พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายแนบ พหลโยธิน ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพุธที่ 12 มกราคม 2515. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2515

พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516

พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยเอก หม่อมเจ้าลายฉลุทอง ทองใหญ่ ป.ช.ป.ม., ท.จ.ว ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ.2534. กรุงเทพฯ: บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, 2534

พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์. บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์.กรุงเทพฯ : ตถาตาพับลิเคชั่น, 2551.

วันชาติ. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (24 มิถุนายน 2491)

ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526

อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ท.จ. ท.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2526. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ป. สัมพันธ์พาณิชย์, 2526

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ป.จ., ม.ป.ช., ป.ม.  ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2511. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511

อรสม สุทธิสาคร. ละครชีวิต เจ้าชายนักประพันธ์ เบื้องหลังฉากชีวิตของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2530

Jackson, Jeffrey H.. Making Jazz French: Music and Modern Life in Interwar Paris. Durham: Duke University Press, 2003

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save