fbpx
คำสำคัญในคำขวัญวันเด็ก

คำสำคัญในคำขวัญวันเด็ก

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศคำขวัญเด็กประจำปี 2562 ออกมาว่า ‘เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ’ ผมเห็นหลายคนหยิบเอาคำขวัญนี้มาประเมินเปรียบเทียบกับเนื้อหาของคำขวัญฯ ที่ตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านอื่น และมีสื่อมวลชนบางรายกลับไปค้นคำขวัญวันเด็กในอดีต มาแสดงให้เห็นพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ในบทความนี้ ผมพยายามพิจารณาคำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ และเด็กๆ ถูกบอกให้ท่องจำ โดยการพิจารณานี้ผมจะทำให้มีความเคร่งครัดพอประมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้การตอบคำถามในครั้งนี้ เจืออคติของตัวเองที่มีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยความจำกัดของพื้นที่ ผมขออนุญาตไม่นำคำขวัญวันเด็กทั้งหมดมาแสดงซ้ำในบทความนี้ แต่จะนำเอาคำขวัญฯ มาพิจารณาลักษณะสำคัญ และความหลากหลายระหว่างคำขวัญฯ ต่างๆ หากผู้อ่านท่านใดมีความสนใจที่จะอ่านตัวคำขวัญฯ ในรายละเอียดก็สามารถที่จะหาอ่านได้จากลิงค์ต่อไปนี้

คำถามของการพิจารณาคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 – ปัจจุบัน ในครั้งนี้คือ คำขวัญวันเด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันบอกอะไร? ผมจะระบุคำสำคัญในคำขวัญฯ ตามความถี่ของการปรากฏซ้ำ และโดยการจำแนกนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของคำขวัญออกเป็น (1) ทหาร-แต่งตั้ง (2) พลเรือน-เลือกตั้ง (3) ทหาร-เลือกตั้ง และ (4) พลเรือน-แต่งตั้ง

คำขวัญวันเด็กมีการประกาศก่อนงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2499 จากนั้นก็เว้นการจัดงานไปสองปี (2500 – 2501) จึงไม่มีคำขวัญวันเด็กในสองปีนั้น ต่อมามีการประกาศคำขวัญวันเด็กอีกครั้งในปี พ.ศ.2502 และประกาศต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีบางปีที่ใช้คำขวัญวันเด็กซ้ำกันกับปีก่อน ทำให้มีจำนวนคำขวัญน้อยกว่าจำนวนปีในช่วงเวลาที่มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

ดังนั้น ในบทความนี้จะนับที่จำนวนครั้งของการประกาศคำขวัญแทน เนื่องจากคำขวัญวันเด็กจะมีการประกาศเผยแพร่ปีต่อปี และเมื่อประกาศแล้วก็จะถือว่าเป็นคำขวัญฯ ประจำปีนั้นๆ

หากเราพิจารณาจากชื่อนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าของคำขวัญฯ จะพบว่ามีจำนวนชื่อที่ซ้ำกันมาก คือมีเพียง 18 รายชื่อเท่านั้น ที่เป็นผู้ประกาศคำขวัญฯ รวม 61 ครั้ง (จอมพล ป.พิบูลสงคราม 1 ครั้ง, จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ 5 ครั้ง, จอมพลถนอม กิตติขจร 9 ครั้ง, สัญญา ธรรมศักดิ์ 2 ครั้ง, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 ครั้ง, ธานินทร์ กรัยวิเชียร 1 ครั้ง, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 3 ครั้ง, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 8 ครั้ง, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 3 ครั้ง, อานันท์ ปันยารชุน 1 ครั้ง, ชวน หลักภัย 7 ครั้ง, บรรหาร ศิลปอาชา 1 ครั้ง, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 1 ครั้ง, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 5 ครั้ง, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 2 ครั้ง, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 3 ครั้ง, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 ครั้ง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา 5 ครั้ง)

หากจำแนกตามวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง จะพบว่ามีคำขวัญวันเด็กซึ่งประกาศโดยอดีตนายกฯ ที่เป็นนายทหารที่ไม่ผ่านระบบเลือกตั้งมากที่สุด รองลงมาคือพลเรือนที่เป็นนักการเมืองในระบบเลือกตั้ง นายทหารที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง และพลเรือนที่เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการแต่งตั้ง

จำนวนคำขวัญวันเด็กจำแนกตามสถานะของนายกรัฐมนตรี

เมื่อเรานำคำต่างๆ ที่ปรากฏในคำขวัญวันเด็กมานำเสนอในรูปของ ‘เวิร์ดคลาวด์’ ซึ่งเป็นกราฟประเภทหนึ่งที่แสดงความถี่ของการเกิดซ้ำของคำด้วยขนาดของตัวอักษรที่แตกต่าง จะพบว่าคำพื้นฐานอย่างคำว่า เด็ก รู้ วินัย ไทย ดี ชาติ คุณธรรม เรียน ขยัน สามัคคี ฯลฯ เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยที่สุดเมื่อมองในภาพรวม อย่างไรก็ตาม การที่คำขวัญฯ ส่วนใหญ่ประกาศโดยอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารระดับสูง ที่ไม่ผ่านประสบการณ์การรับสมัครเลือกตั้งในระบอบตัวแทนเลย ย่อมน่าตั้งข้อสงสัยว่า เวิร์ดคลาวด์ที่ได้ออกมานี้ อาจเอียงข้างไปตามการถ่วงน้ำหนักของข้อมูลข้างมาก

ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถเห็นข้อมูลได้หลายแง่มุมขึ้น เราอาจนำเอา ‘สถานะของนายกรัฐมนตรี’ ที่เป็นผู้ประกาศคำขวัญมาใช้เป็น ‘ปัจจัย’ เพื่อใช้แยกพิจารณาว่าคำขวัญฯ ที่ประกาศโดยนักการเมืองที่เป็นพลเรือน นักการเมืองที่เป็นอดีตนายพล และพลเรือนที่เป็นนายกแต่งตั้ง จะใช้คำสำคัญที่แตกต่างกันไปในคำขวัญวันเด็กบ้างหรือไม่

เราสามารถวิเคราะห์ปัจจัยดังกล่าวได้ โดยการนำเอาคำที่มีการใช้ในคำขวัญฯ มากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ มาพิจารณาว่า เมื่อแยกตามสถานะของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ประกาศคำขวัญฯ ความถี่ของคำเหล่านั้นมีการแจกแจงต่างกันหรือไม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้ ทำให้เห็นว่าคำขวัญวันเด็กที่ประกาศโดยอดีตนายกฯ ที่มาจากนักการเมือง สะท้อนการให้คุณค่าที่แตกต่างไปจากนายกฯ ที่มาจากนักการทหารอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังจะเห็นได้จากกราฟนี้

คำสัญ - สถานะของผู้ประกาศคำขวัญ

เราจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตย สร้างสรรค์ คิด รัก รักษา พัฒนา เป็นต้น เป็นคำที่ไม่มีการใช้ หรือมีการใช้ในสัดส่วนที่น้อยกว่าในคำขวัญฯ ของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร แต่จะใช้มากกว่าในกลุ่มนายกรัฐมนตรีสายพลเรือนที่เป็นนักการเมือง แต่เราก็จะพบว่าคำที่แสดงคุณลักษณะพึงประสงค์ร่วมกัน จะเป็นกลุ่มคำที่เชื่อมอยู่ตรงกลาง เช่นคำว่า วินัย ฉลาด ซื่อ-สัตย์ เรียน รู้ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าคุณลักษณะในแง่อุปนิสัยพื้นฐานของเด็ก เป็นสิ่งที่นักการเมืองและทหารต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่าเป็นสิ่งที่พึงมีในเด็กไทย

ในทางกลับกัน ชุดของคำสำคัญในโซนสี่เหลี่ยมขวาล่าง คือคุณลักษณะที่เกิดจากความหมั่นเพียร ซึ่งมีความสอดคล้องกับการมุ่งเน้นวินัย ชุดของคำเหล่านี้กระจุกตัวอยู่รอบๆ ปัจจัย ‘นายพล-แต่งตั้ง’ หมายความว่าเป็นคำสำคัญที่พบในคำขวัญฯ ที่ประกาศโดยนายกฯ แต่งตั้งที่มาจากทหาร

อันที่จริงยังมีคำสำคัญที่น่าสนใจแต่ปรากฏความถี่ต่ำ เนื่องจากเป็นคำที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในช่วงปีหลังๆ มานี้เอง เช่น เทคโนโลยี จิตสาธารณะ อาเซียน จิตอาสา เป็นต้น ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนความสนใจใหม่ที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

นอกจากนั้น ในกลุ่มของคำขวัญวันเด็กที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน เราจะเห็นการให้ข้อแนะนำในเชิงการพัฒนาตนเองของเด็กเพื่อให้ประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งในระดับตนเองและครอบครัว คำแนะนำลักษณะนี้มักไม่ค่อยพบในคำขวัญวันเด็กที่ประกาศโดยนายกฯ ที่เป็นทหารเก่า ซึ่งมักจะโยงการพัฒนา-การฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เข้ากับการพัฒนาชาติ

ถ้าใครยังเป็นเด็กหรือเยาวชน หรือแม้แต่เป็นพ่อเป็นแม่ ท่านก็อาจจะเห็นดีเห็นงามกับคำขวัญที่แนะนำหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ปัจเจกบุคคลพัฒนาตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีและสมบูรณ์ขึ้น แล้วจึงเกื้อกูลต่อสังคมประเทศชาติอีกต่อหนึ่ง

แต่ถ้าใครมีใจเป็นนักชาตินิยมมากหน่อย และเห็นว่าเด็กและเยาวชนคือดินปืนที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่ความรุ่งเรืองวัฒนา ท่านก็คงไม่ผิดหวังในคำขวัญวันเด็กส่วนใหญ่ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save