fbpx
คีโตฯ: อาหารมาแรง

คีโตฯ: อาหารมาแรง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘อาหารคีโตฯ’ จนคุ้นหู เพราะคนดังๆ หลายคนนิยมหันมากิน ‘คีโตฯ’ กันไม่น้อย โดยหลายคนบอกว่า สรรพคุณสำคัญของการกินคีโตฯ ก็คือช่วยลดน้ำหนัก

แต่คำถามก็คือ แล้วที่เรียกกันว่าคีโตฯ มันคืออะไรกันแน่ เหมือนหรือต่างจากการกินอาหารลดน้ำหนักแบบอื่นๆ อย่างไรบ้าง เช่น อาหารจำพวกโลว์คาร์บหรือการกินมังสวิรัตอะไรทำนองนั้น

บางคนบอกว่า การกินคีโตฯ คือการกิน ‘ไขมัน’ เยอะๆ (เช่น กินอะโวคาโด) เพื่อจะได้ลดน้ำหนัก ซึ่งขัดกับความเชื่อเดิมๆ ของเราที่ว่า การกินไขมันเยอะๆ นั้นไม่ดี

แล้วการกินคีโตฯ จะ ‘ดี’ ได้อย่างไรกัน?

ที่จริงแล้ว คีโตฯ (หรือจริงๆ ต้องเรียกว่า Ketogenic Diet) ไม่ใช่อาหารสูตรใหม่อะไรเลยนะครับ และเดิมทีเดียว คีโตฯ ก็ไม่ใช่อาหารที่เกิดขึ้นเพื่อลดน้ำหนักด้วย แต่คีโตฯ เป็นอาหารที่เกิดมาตั้งแต่ยุค 20 หรือ 30 คือเกือบๆ จะ 100 ปีที่แล้ว โดยอาหารสูตรนี้เกิดขึ้นเพื่อต่อกรกับ ‘โรคลมชัก’ หรือ Epilepsy ก่อนอื่น  ไม่ใช่เพื่อลดน้ำหนัก

อาหารสูตรคีโตฯ คือการกินไขมันในสัดส่วนที่เยอะมาก คือต้องกินราว 90% ต่อวัน กินโปรตีนแค่ราว 6% และกินคาร์โบไฮเดรตแค่ราว 4% เท่านั้น นั่นแปลว่าใครกินคีโตฯ ต้องไม่กินข้าวกินแป้ง และต้องไม่กินผักด้วยนะครับ เพราะในผักจะมีเซลลูโลสซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตอยู่ โดยไขมันที่กินนั้น เป็นไปได้ตั้งแต่สเต็กที่มีริ้วไขมันแทรกปนอยู่ในเนื้อ ไข่แดง เบคอนมันเยิ้ม น้ำมันปลา เนย น้ำมันมะกอก หรือแม้กระทั่งน้ำมันหมู ซึ่งทั้งหมดนี้ฟังดูผิดหลักการแพทย์ที่เราเรียนในวิชาสุขศึกษาทั้งหมด

ฟังดู ‘บ้า’ มาก แต่ทำไมอาหารสูตรคีโตฯ ถึงกำลังฮิต?

ที่จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของคีโตฯ ไม่ใช่การลุกขึ้นมากินไขมันนะครับ แต่อยู่ที่การ ‘อดอาหาร’ หรือ Fasting

ในร่างกายของเรา เวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลเข้าไป ร่างกายเราจะย่อย ‘คาร์บ’ ทั้งหลายให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว แล้วเก็บเอาไว้ทั้งในตับและในกล้ามเนื้อ รวมๆ แล้วราวๆ 2,000 กิโลแคลอรี่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ร่างกายของเราจะใช้เวลาเผาผลาญราวๆ 48 ชั่วโมง

มีการค้นพบกันมาตั้งแต่ยุคกรีกแล้วนะครับ ว่าการอดอาหารมีผลดีต่อผู้ป่วยโรคลมชัก แม้อธิบายไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่การอดอาหารจะทำให้อาการของโรคลมชักดีขึ้น ซึ่งในยุค 20  แพทย์จากเมโยคลินิก (Mayo Clinic) ชื่อรัสเซล มอร์ส ไวลเดอร์ (Russell Morse Wilder) ได้ทำวิจัยเรื่องนี้ และเป็นคนคิดคำว่า Ketogenic Diet ขึ้นมาเพื่อเรียกชื่ออาหารที่ทำให้ร่างกายมี ‘คีโตน’ (Ketone) ในเลือดสูง

คีโตนคืออะไร?

คำตอบก็คือ ถ้าเราอดอาหารนานๆ (เช่น 48 ชั่วโมง) จนร่างกายใช้น้ำตาลที่เก็บไว้ไปหมดแล้ว ร่างกายก็จะหันมาใช้ไขมันที่เก็บสะสมเอาไว้แทน โดยการเปลี่ยนไขมันพวกนี้ให้เป็นสารไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ซึ่งให้พลังงานเหมือนกันกับน้ำตาล โดยสภาวะที่ร่างกายเปลี่ยนไขมันให้เป็นคีโตนและมีคีโตนอยู่ในเลือดประมาณหนึ่ง เรียกว่าภาวะ ‘คีโตซิส’ (Ketosis)

คุณหมอไวลเดอร์คิดว่า ถ้าไม่ให้ทรมานมากนัก เราไม่ต้องอดอาหารนานถึง 48 ชั่วโมงได้ไหม แต่ทำให้ร่างกายของเรามีน้ำตาลน้อยๆ เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่ใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ส่วนโปรตีนก็ลดลง เอาแค่ให้พอสำหรับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แล้วหันมากินไขมันเยอะๆ เพื่อเลียนแบบกระบวนการ ‘คีโตซิส’ ที่ว่านี่้ ผลจะเป็นอย่างไร

เมื่อเขาทดลองทำกับผู้ป่วยโรคลมชัก ปรากฏว่าได้ผลดี แต่ผลอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาด้วยก็คือทำให้น้ำหนักลด แต่คุณหมอไวลเดอร์ไม่ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนกินอาหารตำรับนี้เพื่อลดน้ำหนักหรอกนะครับ ต้องรออีกหลาย 10 ปีถัดมา คือในยุค 70 ถึงเกิดการโฆษณาอาหารตำรับ Last Chance Diet คือเป็นตำรับอาหาร ‘โอกาสสุดท้าย’ แล้ว ประมาณว่าลองอะไรอย่างอื่นมาแล้วไม่ได้ผลก็มาลองตำรับนี้ โดยใช้หลักการคีโตฯ ที่ว่า แต่ปัญหาของอาหาร ‘โอกาสสุดท้าย’ ที่ว่านี้ก็คือไม่มีการควบคุมให้ได้รับปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น จึงมีคนเสียชีวิตเพราะการกินอาหารตำรับนี้อย่างน้อย 60 คน สุดท้ายคนก็เลยไม่นิยม

แต่กระนั้น หลักการแบบคีโตฯ ยังถูกนำมาใช้อยู่เรื่อยๆ ช่วงที่โด่งดังมากอีกช่วงหนึ่งคือทศวรรษ 80 เมื่อโอปราห์ วินฟรีย์ ลดน้ำหนักด้วยตำรับนี้ แต่มีการเรียกชื่อใหม่เป็น Optifast ซึ่งก็ได้รับความนิยมสูงอีกเช่นกัน ตามมาด้วยตำรับโลว์คาร์บ โดย โรเบิร์ต แอตคินส์ (Robert Atkins) ช่วงต้นทศวรรษ 2000s ทว่าเมื่อแอตคินส์เสียชีวิตในปี 2003 เพราะเส้นเลือดในสมองอุดตัน คนก็เลยชักหวั่นๆ ทำให้อาหารตำรับนี้ซาลงไปอีกหน

ในปี 2013 มีบทความวิชาการในวารสาร Science บอกว่าถ้าร่างกายอยู่ในสภาวะคีโตซิส นอกจากจะมีประโยชน์อย่างที่รู้กันแล้ว ยังมีคีโตนชนิดหนึ่ง (อย่าลืมว่าคีโตนมีหลายชนิดนะครับ) ที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างสารต้านอนุมูลอิสระและต้านอาการอักเสบต่างๆ ออกมาด้วย จึงทำให้กระบวนการแก่ตัว (Ageing) ช้าลง รวมถึงอาจมีผลดีต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ อัลไซม์เมอร์ และมะเร็งประเภทต่างๆ ด้วย

ข่าวนี้ค่อยๆ แพร่ออกมาทางโลกอินเทอร์เน็ต เพราะมีคนดังหลายคนนำตำรับอาหารคีโตฯ ไปใช้ และมีการทำวิจัยต่อเนื่อง ค้นพบว่าการกินอาหารคีโตฯ หรือทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะคีโตซิสนั้น จะทำให้เราหิวน้อยลงและมีสมาธิมากขึ้น ที่สำคัญก็คือ คนที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากอาหารคีโตฯ ก็คือคนที่ป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่สอง เพราะคีโตฯ คือการลดน้ำตาลลงอย่างมาก

แต่ที่ต้องเน้นย้ำก็คือ การกินคีโตฯ นั้น ต้องมีความรู้เรื่องวิตามินและเกลือแร่อย่างมากนะครับ เพราะการกินคีโตฯ จะทำให้ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่ จึงต้องกินอาหารเสริมพวกนี้ในปริมาณที่พอดีและสมดุล ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ปัจจุบันนี้ อาหารคีโตฯ เป็นที่พูดถึงมากมายว่าลดน้ำหนักได้ แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่า ที่คนน้ำหนักลดลงนั้น เป็นเพราะการกินอาหารคีโตฯ หรือเป็นเพราะคนกินอาหาร ‘น้อยลง’ กันแน่ เนื่องจากคีโตฯ ไม่ได้มาพร้อมกับการกินไขมันไม่บันยะบันยัง แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่กินคีโตฯ จะกินอาหารน้อยลงด้วย เมื่อเรากินอาหารจำกัด น้ำหนักก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา

มีการศึกษาพบว่า ในคนที่ลดน้ำหนักโดยใช้สูตรอาหารไขมันต่ำ เทียบกับสูตรอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (ซึ่งคีโตฯ ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย) พบว่าให้ผลไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

ดังนั้น สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอก็คือ ไม่ใช่อาหารสูตรคีโตฯ นะครับที่ทำให้น้ำหนักลดหรือส่งผลดีต่อร่างกาย แต่คือการทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะ ‘คีโตซิส’ ต่างหาก ที่จะทำให้ร่างกายได้ประโยชน์ อาหารคีโตฯ เป็นเพียง ‘ตัวช่วย’ ให้เราเข้าสู่สภาวะคีโตซิส แต่ไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำหนักลด เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ได้ผลสำหรับทุกคน

แต่สิ่งที่ได้ผลแน่ๆ ก็คือการอดอาหารหรือ Fasting อันเป็นวิธีปฏิบัติที่เราพบได้ในแทบทุกอารยธรรมเก่าแก่ ตั้งแต่พุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม

เพียงแต่มันเป็นวิธีที่ ‘ทรมาน’ สำหรับคนยุคนี้ที่มีของให้กินจนล้นเหลือ — เท่านั้นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save