fbpx

พื้นที่และความว่างใน ‘เกดในเคิร์มแลนด์’

พื้นที่กับวรรณกรรมและวรรณกรรมกับพื้นที่

โดยปกติแล้ว พื้นที่ในวรรณกรรมมักจะหมายถึงฉาก (setting) เป็นเวทีที่ให้ตัวเรื่องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวละครได้แสดงบทบาท แสดงเงื่อนปมของเรื่อง พื้นที่ในฐานะที่เป็นฉากนั้นอาจหมายถึงสถานที่ (place) ช่วงเวลา (time) ภูมิทัศน์ (landscape) สภาพอากาศ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ องค์ประกอบของฉากเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ตัวเรื่องของวรรณกรรมนั้นมีความชัดเจน สมจริง เชื้อชวนให้ผู้อ่านคล้อยตามตรรกะของตัวเรื่องได้ นักเขียนที่มีประสบการณ์สูงและมีฝีมือที่ยอดเยี่ยมนั้นมักจะให้ความสำคัญกับฉากไม่น้อยไปกว่าตัวละคร เพราะพวกเขารู้ดีว่าฉากที่ดีนั้นย่อมส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและการกระทำของตัวละครด้วย

นอกจากนี้เราอาจพิจารณาได้อีกว่าวรรณกรรมในฐานะที่เป็น ‘พื้นที่’ อย่างหนึ่งด้วย วรรณกรรมอาจเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ เพราะบ่อยครั้งวรรณกรรมเป็นพื้นที่ในการเล่า/อธิบาย/ตีความ/นำเสนอเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างชัดเจน ในแง่นี้วรรณกรรมมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่างานประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่มักจะนำเสนอ ‘เหตุการณ์’ ในอดีตอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันอยู่เสมอ เพราะวรรณกรรมสามารถนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของอดีตได้อีกด้วย ดังนั้นวรรณกรรมจึงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก ในฐานะพื้นที่ วรรณกรรมยังอาจเป็นพื้นที่ ‘ความทรงจำ’ ได้อีกด้วย วรรณกรรมบรรจุความทรงจำไม่เฉพาะของปัจเจกบุคคลเท่านั้นแต่ยังหมายรวมไปถึงความทรงจำของสังคมด้วย ในแง่นี้วรรณกรรมจึงถูกทับถมและท่วมท้นไปด้วย ‘ความทรงจำ’ หลากหลายรูปแบบที่เราไม่อาจแยกระหว่างข้อเท็จจริงกับอารมณ์ความรู้สึกได้

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เราจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่’ ได้อย่างไรบ้าง และจะเข้าใจในแง่มุมใด ‘พื้นที่’ ​กับ ‘สถานที่’ แยกออกจากกันได้อย่างไร อะไรคือความแตกต่างกันของคำสองคำนี้ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ (2562:123-126) รวบรวมและนำเสนอนิยามความหมายของคำว่าพื้นที่และสถานที่ของนักภูมิศาสตร์เอาไว้กล่าวโดยสรุปก็คือ พื้นที่นั้นมีลักษณะที่เป็นนามธรรมและมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง พื้นที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถานที่ถูกใช้งานหรือมีการเคลื่อนไหว ส่วนสถานที่นั้นมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมและค่อนข้างตายตัว สถานที่เกิดจากการให้ความหมายและคุณค่าบางอย่างเอาไว้ แม้กระนั้นการนิยามพื้นที่และสถานที่ก็ไม่อยากแยกขาดออกจากกันได้เพราะทั้งพื้นที่และสถานที่ต่างเป็นสิ่งที่นิยามซึ่งกันและกันในบางครั้งเรื่องเล่าอาจต้องการทั้งสองมิติควบคู่กัน

สำหรับ ‘เกดในเคิร์มแลนด์’ ผมคิดว่ามีสิ่งที่น่าสนใจบางประการในประเด็นเรื่องพื้นที่ก็คือ วรรณกรรมเรื่องนี้ว่าด้วย ‘พื้นที่’ ในความหมายที่เป็นนามธรรมและในความเป็นนามธรรมของพื้นที่ในนวนิยายเรื่องนี้ถูกทำให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้แต่มองเห็นไม่ได้ กล่าวคือเราจะได้เห็นว่าตัวละครแต่ละตัวนั้นสามารถรู้สึกได้ถึงพื้นที่ในจินตนาการและอุดมคติของพวกเขาแต่จะไม่มีใครมองเห็นพื้นที่ดังกล่าวในเชิงนามธรรมได้เลย ในขณะที่ความเป็นรูปธรรมของพื้นที่ในนวนิยายเรื่องนี้ทำหน้าที่เหมือนกับฉากทั่วๆ ไปในวรรณกรรม แต่มันยังส่งอิทธิพลให้แก่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับวิธีในการเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละตัวก็ช่วยทำให้เราเห็นว่าตัวละครสัมผัสกับความเป็นนามธรรมของพื้นที่ได้อย่างไร

พื้นที่และตัวละครใน ‘เกดในเคิร์มแลนด์’

‘เกดในเคิร์มแลนด์’ เป็นนวนิยายที่ว่าด้วยตัวละครสามตัวที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยมีพื้นที่เป็นตัวเชื่อมโยง ตัวละครทั้งสามได้แก่ มนัส ผู้เป็นโรคร้ายและต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด ผลจากการเป็นโรคร้ายที่ยืดเยื้อทำให้ชีวิตที่กำลังจะก้าวหน้าของเขาต้องหยุดลงในทันทีมนัสใช้ชีวิตราวกับหมดอาลัยตายอยากหมกตัวอยู่ในบ้านและเดินลอยชายในละแวกบ้านของเขาอยู่เสมอ เขาได้เจอกับ สังวาล ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าคนหนึ่ง เขาได้รับมรดกจากพี่สาวเป็นห้องคอนโดเก่าขนาดหกสิบตารางเมตรแถวชานเมืองไกลห่างออกไป ในห้องแห่งนั้นเคยเป็นที่อยู่ของพี่สาวของเขาและเป็นห้องที่กักเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มันกระตุ้นเตือนให้เขากลับไปรำลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์และความสัมพันธ์ของเขากับพี่สาว

ตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ เกด หญิงสาวสติไม่สมประกอบที่อาศัยอยู่กับสุดาผู้เป็นป้าที่อาจเป็นผู้ป่วยติดเตียงเดินไม่ได้ ผมคิดและเข้าใจว่าเกดนั้นน่าจะเป็นออทิสติค เพราะสังเกตได้จากการการบรรยาย เช่น “เช้านี้เกดดูแจ่มใสเป็นตัวของตัวเอง กุลีกุจอจัดสิ่งต่างๆ ให้เข้าที่… แขนอันแข็งแรงจับนาง (ป้าสุดา) ตะแคงอย่างนุ่มนวล พลิกและตบหมอนวางให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจัดเตียง เก็บชายผ้าอย่างว่องไวโดยไม่สบตา” (หน้า 38) เมื่อเกดเดินไปร้านโดนัทอย่างที่เคยไปเป็นประจำ พนักงานที่ร้านถามว่า “เหมือนเดิมนะคะ” แต่ “เกดไม่มองตา ก้มดูธนบัตรยับๆ บนเคาน์เตอร์ รอ” (หน้า 42) หรือในตอนที่ป้าสุดาพยายามจะดึงให้เกดออกจากภวังค์ด้วยการโยนแปรงผมใส่เพราะป้าเดินไปไม่ได้ เกดโกรธตามสัญชาตญาณและเดินเข้าหาหมายจะเอาเรื่อง ป้าสุดาขึงตาปราม “เกดรู้ตัว ซุกมือในกางเกง เปลี่ยนสีหน้าท่าทางฉับไว พินอบพิเทาเข้ามาใกล้ก้มหน้าหาวขับก้อนชั่วร้ายออกไป” (หน้า 79) จากนั้นป้าสุดาจับหัวเกดไปแนบที่หน้าอกนั่นเป็นการละเมิดกฎของเกดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “เธอทนใครถูกตัวมากๆ แบบนี้ไม่ได้ได้เด็ดขาด จึงปล่อยตัวไปตามแรงกระตุ้นหมายปกป้องตัวเอง” (หน้า 79) ป้าสุดาจึงได้รับรอยแผลจากการข่วนของเกดเป็นการตอบแทน

ตัวละครทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์ต่อกันในสองแง่มุม คือ ทั้งสามคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือละแวกเดียวกัน ทั้งมนัสและสังวาลต่างเคยพบเกดยืนตัวแข็งเหมือนรูปปั้นที่อยู่ที่ริมรั้วหน้าบ้านของเธอเองในขณะที่ทั้งคู่กับกำลังเดินทาง นั่นหมายถึงว่า บ้านของเกดเป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปมาของตัวละครทั้งสอง ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ตัวละครทั้งสามนี้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่แตกต่างกัน กล่าวคือพื้นที่ส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในมิติที่แตกต่างกันนั่นเอง

มนัส หลังจากใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย สังวาลแนะนำเกมให้เขาเล่นสองเกม เกมแรกคือ ‘สนธยาเลือด 2.0’ และ ‘เคิร์มแลนด์’ ทั้งสองเกมนี้เป็นเกมแนว RPG ที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกมและต้องคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ ในเกมให้ได้ ในเกม ‘สนธยาเลือด 2.0’ มนัสใช้ ‘ชีตโค้ต’ หรือทำสูตรอมตะโกงความตายทำให้มนัสสามารถผ่านด่านและฆ่าตัวละครสำคัญในเกมได้ทั้งหมด ภาพความตายทั้งหมดในเกมนั้น “มันไม่งดงาม ภาพที่เห็นดูอุจาดน่ารังเกียจ เขาเปล่ายินดีหรือเพลิดเพลินอะไรกับมันจริงๆ แต่ก็เฝ้าบอกตัวเองว่ากำลังสนุกสาแก่ใจ” (หน้า 16) จากประโยคนี้เป็นไปได้ว่าการเอาชนะเกม ‘สนธยาเลือด 2.0’ นั้นไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับเขาจริงๆ แต่เขาก็ต้องการที่จะเอาชนะมัน และชัยชนะนั้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ไม่ได้ทำให้ชีวิตหลุดพ้นไปจากความซ้ำซากจำเจใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมาเมื่อสังวาลแนะนำเกม ‘เคิร์มแลนด์’ ซึ่งเป็นเกมแนวสำรวจดินแดนโอเพนเวิร์ล (Open World  หมายถึงเกมที่มีลักษณะสร้างโลกและแผนที่ขึ้นมาให้ผู้เล่นสามารถออกสำรวจพื้นที่ไหนก็ได้) ให้เขาเล่น เกมนี้เขารับบทเป็น ดร.บันไซที่ต้องไล่ล่า ศจ.ชาโดว์ นักฟิสิกส์อัจริยะผู้ค้นพบประตูมิติของโลกคู่ขนานหรือโลกของเคิร์มแลนด์ ศจ. ชาโดว์ร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการหวังจะลักลอบเอาเทคโนโลยีจากพวกเอเลียนในเคิร์มแลนด์ ประตูมิติดังกล่าวเกิดรูรั่วจึงเกิดเหตุการณ์ร้ายตามมา ดร.บันไซจึงต้องตามหาศจ.ชาวโดว์เพื่อหยุดยั้งสงครามล้างผลาญ ในขณะที่เล่นเกมมนัสได้ค้นพบว่าการได้สำรวจพื้นที่และขอบเขตอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเกมนั้นดึงดูดเขาได้มากกว่าเนื้อาหาของเกมที่เขาต้องพิชิต มนัสสัมผัสได้ถึงการต้องการแสวงหา ‘พื้นที่’ แบบใหม่ พื้นที่ที่หลุดไปจากกรอบคิดแบบเดิม พื้นที่ที่ไม่อยู่ในการควบคุมของใครใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งอัลกอริทึ่มของเกม เขาไม่สนใจที่จะเอาชนะในเกมอีกต่อไป

“ดร. บันไซผันบทบาทจากผู้เล่นที่มีเป้าหมายออกล่าพิชิตชัย กลายสู่ผู้จาริกสังเกตการณ์ สละไอเท็มของตนทีละอย่างสองอย่าง ขณะเดียวกันต้องพลิกแพลงกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอด เนื่องจากไม่มีการอัพเลเวลอีกแล้ว พลังการต่อสู้ถดถอยไปทีละนิด…การเพิกถอนตัวเองจนไม่เหลือเขี้ยวเล็บ จึงต้องฝากตัวเองไว้กับทักษะการหลบซ่อนตัวเอาตัวรอด…เขาพบพวกดรอยด์สีน้ำเงิน รีบหมอบตัว คลานศอกตามพงไม้ จนพวกมันคล้อยหลัง ดร.บันไซมุ่งไปต่อ” (หน้า 80)

มนัสในบทบาทของดร.บันไซพาตัวเองหลบเลี่ยงการฆ่าฟันไปยังพื้นที่อันไกลโพ้นของเกม ข้ามจุดเออเร่อของเกมที่มีกราฟิกสวยงามไปสู่ตัวละครที่พิกเซลแตกระยับ ภาพที่เคยสวยงามกลับกลายเป็นความอุจาด วิตถารอัปลักษณ์ มนัสพาบันไซเดินฝ่าความวิปลาสที่เหนือการควบคุมของเกมไปยังขอบพรมแดนของเคิร์มแลนด์เพื่อพบว่าในพื้นที่แห่งนั้น “…ดูเสถียรอีกครั้ง เส้นขอบฟ้าเกลี้ยงเกลา ร่างโดดเดี่ยวของดร.บันไซเตร่ไปตามที่ราบทอดตัวแผ่เหยียดยาวไร้ซึ่งจุดรวมสายตา ความเวิ้งว้างมากขึ้นจนทิวทัศน์ว่างโล่ง ดร.บันไซเคลื่อนตัวไปอย่างผ่อนคลายสู่ปลายขอบพรมแดนของเคิร์มแลนด์” (หน้า 77)

ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจในตัวละครของมนัสก็คือ ความพยายามค้นหาและสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยการไปให้ถึงจุดที่เส้นกั้นเส้นแบ่งของพื้นที่ที่ดำรงอยู่กับพื้นที่ที่เราไม่รู้จักและไม่อาจรู้ได้ด้วยว่าเป็นพื้นที่แบบไหน มันคือความพยายามค้นหาเส้นกั้นเส้นแบ่งของพื้นที่ราวกับเป็นการทดสอบว่าพื้นที่ที่ดำรงอยู่นั้นมีข้อจำกัดแบบไหนและอย่างไรบ้าง จะต้องพบหรือเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากเราพิจารณาว่า มนัสเริ่มไปสร้างงาน ‘กราฟิตี้’ ที่ตอม่อสะพานแห่งหนึ่งด้วยการเขียนผลแล็บที่เขาได้มาเหมือนกับที่หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นว่าตามตอม่อสะพาน ตอม่อรางรถไฟฟ้ามีใครสักคนมาเขียนแผนภาพและสูตรทางคณิตศาสตร์ประหลาดๆ ในตอนแรกหลายคนนึกคิดไปว่ามันคือรหัสปริศนาที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลกหรือการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตแต่สุดท้ายมันคือฝีมือของคนสติไม่ดีเท่านั้นเอง การสวมบทบาทดร.บันไซในด้านที่เป็นนักสำรวจพื้นที่ภายในเกมเคิร์มแลนด์นั้น ในแง่หนึ่งอาจหมายถึงความพยายามในการหาเส้นแบ่งของพื้นที่ระหว่างความปกติกับความไม่ปกติ หรือ บ้ากับไม่บ้า ดังนั้นผมเห็นว่า กราฟิตี้ของมนัสในเรื่องนี้คือความพยายามในการท้าทายเส้นแบ่งระหว่างคนบ้ากับคนไม่บ้านั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับตัวละครอีกตัวที่ผมสนใจก็คือ เกด ผมสนใจเกดในสองประเด็น ประเด็นแรกผมสนใจวิธีการเล่าเรื่องของเกด วิธีการบรรยายปฏิสัมพันธ์ระหว่างเกดกับพื้นที่ที่เป็นนามธรรม ทุกๆ ครั้งที่ผู้เล่าเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ การกระทำ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของเกดนั้น ผมสังเกตว่าผู้เล่าเรื่องจะใช้วิธีบุคลาธิษฐาน (personifications) ด้วยการทำให้พื้นที่ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศนั้นมีลักษณะเหมือนบุคคล มีปฏิสัมพันธ์กับเกดเหมือนกับคนปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เช่น “วันใหม่ทิ่มแทงเนื้อหนังของเกดจนต้องจมซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม” (หน้า 36) “เงาที่ทอดจากต้นไม้เหมือนจมูกนุ่มๆ มาดอมดมแทบเท้า ตอนนี้เงาเริ่มหดกลับ แล้วพอล่วงบ่าย มันก็เลื่อนมาหมอบใกล้ๆ อีกเพื่อหลบแดดจ้าที่ส่องเข้าตา” (หน้า 51) “บางทีความมืดก็หิวจัดอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้มันกำลังบดเคี้ยวเธอ ขย้อนกลืน พร้อมทั้งย่อยสลายร่างกายเธอไปอย่างเอร็ดอร่อยทีละส่วน ในไม่ช้า ร่างนี้คงไม่เหลืออะไรแม้แต่ซาก” (หน้า 105)

ผมคิดว่า การที่ผู้เล่าเรื่องใช้อุปมาเช่นนี้ช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าในความไม่ปกติหรือความสติไม่สมประกอบหรืออาจจะเข้าใจได้ว่าเกดเป็นออทิสติกนั้นสิ่งที่ทำให้เกดพิเศษกว่าคนอื่นๆ ก็คือการสัมผัสได้ถึงพื้นที่ที่เรามองไม่เห็น สภาพแวดล้อมที่ดูจะมีชีวิตชีวาเป็นผู้กระทำกับเกดอยู่ตลอดเวลา เราจะไม่พบการบรรยายหรือการเล่าเรื่องด้วยอุปมาแบบนี้ในตัวละครอย่างมนัสและสังวาลเลยไม่ใช่เพราะทั้งสองคนนี้ดูปกติกว่าเกด แต่เป็นเพราะพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อเกดนั้นเป็นพื้นที่ในมิติอื่นๆ ที่ดำรงอยู่แต่ไม่มีใครสัมผัสและรู้สึกได้ ความพิเศษของเกดจึงเป็นการรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความเป็นนามธรรมของพื้นที่ที่ดำรงอยู่ในอีกมิติหนึ่งและมันได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเธออย่างมหาศาลอีกด้วย  

ประเด็นต่อมา เกดตระหนักได้ถึง ‘รูโหว่’ ที่เกิดขึ้นในอากาศและรูโหวนี้เป็นสิ่งที่คุกคามและรบกวนชีวิตของเกดอยู่ทุกวัน สิ่งที่เกดต้องทำก็คือการเอาตัวเองไป ‘อุดรูโหว่’ เพื่อรักษาความเป็นปกติสุขของชีวิต รอยปริรอยแยกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่หน้ารั้วลวดหนามหน้าบ้านของเธอทุกวัน มันทำให้เธอต้องไปยืนแข็งในอิริยาบถต่างๆ เป็นที่ประหลาดกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา โดยเฉพาะมนัสและสังวาล ‘รูโหว่’ นั้นคุกคามเกดอย่างรุนแรงดังที่กล่าวว่า “น่าแปลกที่ไม่มีใครนอกจากเธอเพียงผู้เดียวที่หยั่งสัมผัสได้ ตอนนี้มันส่งผลกระทบต่อเธอรุนแรงขึ้น ดูเหมือนมันกำลังคลอนทุกข้อต่อ ทั้งยังมีพลานุภาพกัดกร่อนเยี่ยงน้ำกรด หลายอย่างรอบตัวแปรผันบิดไปในลักษณะผิดแผลง” (หน้า 44) นอกจากนี้รูโหว่ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและผัสสะที่เกดมีต่อสิ่งรอบข้างเปลี่ยนไปอีกด้วย “กลิ่นเหม็นไหม้จากเตาอบและเสียงเจรจาจ้อกแจ้กยิ่งทำให้อากาศในร้านอวลแน่นหายใจลำบาก ผนังและเพดานเริ่มปรากฏรอบคล้ำเป็นด่างดวงคล้ายขยุ้มรา บานกระจกร้านมัวทึมดูสกปรก ผิวขรุขระบนขอบโต๊ะกำลังปูดโปนขึ้นอย่างชั่วร้าย…” (หน้า 44-45)

รูโหว่ที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของเกดนั้นในแง่หนึ่งมันอาจเป็นเหมือนกับประตูมิติที่เชื่อมโยงระหว่างโลกที่คู่ขนานกันเหมือนกับในเกมเคิร์มแลนด์ที่มนัสเล่น ความแตกต่างระหว่างมนัสกับเกดก็คือ มนัสในฐานะดร.บันไซไม่พยายามจะพิชิตเกมเพื่อทำให้ประตูมิติของสองโลกนั้นปิดตัวลงไป เขาพยายามสำรวจดินแดนอันไกลโพ้นในเกมและไปถึงพรมแดนของเกมแต่ทั้งหมดทั้งมวลในเรื่องราวของมนัสนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเกม ในขณะที่เกดที่อยู่ในโลกของความเป็นจริงแต่เธอกลับรู้สึกและสัมผัสได้ถึงรูโหว่ในฐานะที่เป็นประตูมิติที่คล้ายคลึงกับเกมเคิร์มแลนด์ แม้เธอจะไม่ได้เล่นมันก็ตามและเกดถือเป็นหน้าที่ที่ต้องอุดรูโหว่นั้นด้วยตัวเธอเองเพราะ “มันเป็นความภูมิใจเมื่อได้คืนความผาสุกแก่ทุกชีวิต เพราะนี่เป็นเสมือนการต่อสู้กับภูติปีศาจชั่วร้ายเพื่อปกป้องจิตวิญญาณทั้งมวลที่ถูกประทุษครอบงำ” (หน้า 49)

ผมคิดว่านี่อาจเป็นที่มาของชื่อนวนิยายที่ว่า ‘เกดในเคิร์มแลนด์’ แต่เป็นการกลับหัวกลับหางกันของตัวละครสองตัวคือเกดและมนัส เคิร์มแลนด์เป็นชื่อเกมที่มนัสเล่นเป็นพื้นที่และกาลเวลาที่ไม่ได้มีอยู่จริงและมนัสก็ไม่ได้สนใจเนื้อหาของเกมมากไปกว่าการสำรวจพื้นที่ในเกม แต่เกดที่ดำรงอยู่ในโลกของความเป็นจริงเธอกำลับสัมผัสได้ถึงพื้นที่ที่ไม่มีอยู่จริง การอยู่ในโลกของความเป็นจริงของเกดจึงเหมือนกับการอยู่ในเกมเคิร์มแลนด์ ในขณะที่มนัสใช้การสำรวจพื้นที่เหมือนกับการเดินสำรวจละแวกบ้านของเขาในเกม กล่าวคือ มนัสใช้สำนึกของโลกที่ดำรงอยู่จริงๆ ไปใช้กับเกมนั่นเอง

ปริมาตรของความว่างเปล่า

ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ‘ว่าง’ กับตัวละครปรากฏอย่างชัดเจนผ่านเรื่องของสังวาล สังวาลมีพื้นที่อยู่สองแบบ แบบแรกคือร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าของเขาที่เต็มไปด้วย “เครื่องช้ไฟฟ้าอนาล็อกรุ่นเก่าหลากหลายชนิดและประเภท ส่วนใหญ่พังใช้การไม่ได้ โดนถอดรื้อเปลือยแผงวงจร ทั้งหมดกองพะเนินสูงเรียงกันแน่นตา ชวนให้นึกถึงห้องแล็บใต้ถุนของนักประดิษฐ์สติเฟื่อง” (หน้า 22) และห้องคอนโดเก่าของพี่สาวที่เต็มไปด้วยข้าวของกระจุกกระจิกมากมายแต่ทุกอย่างทุกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีระบบในการจัดเก็บที่ชัดเจน สิ่งของทั้งหมดในห้องคอนโดกระตุ้นเตือนความทรงจำของเขาในวัยเด็กกับพี่สาว ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่ทั้งสองแบบนั้นเต็มไปด้วยข้าวของต่างๆ แบบแรกเป็นข้าวของที่เกี่ยวเนื่องกับสัมมาอาชีพ แบบที่สองเป็นความทรงจำ แต่พื้นที่ทั้งสองแบบนั้นก็ไม่อาจสร้างความพึงพอใจหรืออาจถึงขั้นขัดแย้งกับความคิดในเชิงพื้นที่ของสังวาลเองด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่ในอุดมคติของสังวาลคือพื้นที่ว่างเปล่าอันบริสุทธิ์นั่นเอง

สังวาลมีความรู้สึกต่อพื้นที่ที่แตกต่างไปจากมนัสและเกด “เขามักจินตนาการถึงพื้นที่ว่างอันบริสุทธิ์ คิดว่าตัวเองมีความรู้สึกไวต่อองค์ประกอบทั้งหลายในพื้นที่ มองเห็นสัมพันธภาพระหว่างรูปทรงสิ่งปลูกสร้าง การจัดวางปริมาตรที่แทรกเข้ามาในพื้นที่ว่างอย่างคล้องจอง และมักพิศวงในแรงกระทบที่ตนเองรู้สึกเมื่ออยู่ในสถานที่พิเศษ” (หน้า 29) จากข้อความดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ ‘ว่างอันบริสุทธิ์’ ในจินตนาการของเขานั้นเป็นพื้นที่อันเป็นอุดมคติ ดังนั้นเมื่อมีวัตถุหรือรูปทรงอะไรก็ตามเข้ามาในพื้นที่ว่างอันบริสุทธิ์ของสังวาลเขาจะมีความรู้สึกต่อพวกมันเสมอและเขามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและพื้นที่ได้อีกด้วย

ในห้องคอนโดเก่า สังวาลพยายามสร้างพื้นที่ในอุดมคติของเขาด้วยการรื้อของและย้ายสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างออกไปจากห้องให้หมด เพื่อสร้างพื้นที่ว่างเปล่า สังวลาพยายามขุด รื้อ ถอน กำจัด ลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างออกมาจากห้อง พื้นผิวทุกชนิดถูกเซาะและชำแหละออกมา “เขาตั้งใจขจัดริ้วรอยและปุ่มปมบนพื้นผนังแต่ละหย่อมให้เกลี้ยงเกลา ทำลายความแปลกปลอมที่เกาะยึด ลบทุกสิ่งที่เคลือบผิวหน้า หมายมั่นให้ทุกอย่างคืนสู่สภาพบริสุทธิ์ดังแรกเริ่มที่ยังไม่ถูกสวมทับ” (หน้า 64) จากตัวอย่างดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่สังวาลกำลังทำอยู่ก็คือการกลับไปหาความว่างเปล่าอันบริสุทธิ์ของพื้นที่ ความว่างเปล่าอันบริสุทธิ์เช่นนี้หมายถึงการที่พื้นที่ยังไม่ถูกถมด้วยข้าวของต่างๆ วัตถุข้าวของเหล่านั้นแม้จะไม่ได้ส่งผลอะไรต่อสังวาลมากนักแต่ทั้งหมดมันก็คือ ‘ความทรงจำ’ ดังที่กล่าวว่า “อดีตกลบทับอยู่ในสารพัดสิ่ง” (หน้า 63)

สังวาลพยายามแทนที่ข้าวของ วัตถุต่างๆ ด้วยความว่างเปล่า นั่นหมายถึงว่าความว่างเปล่าเป็นสิ่งที่สามารถรู้สึกได้และสัมผัสได้ ความว่างเปล่าเป็นสิ่งที่มีปริมาตรที่ชัดเจนดังที่สังวาลกำลังถมห้องคอนโดของพี่สาวด้วยความว่างเปล่า ความว่างเปล่ายังส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของสังวาลอย่างชัดเจนจากกรณีที่เขาสามารถรู้สึกได้ว่าพื้นที่ว่างของกับดักหนูนั้นมีความน่าสะพรึงกลัวและทำให้เขาขนลุกขนพองได้อย่างไร ดังนั้นความว่างเปล่าสามารถกลายเป็นผู้กระทำได้มากกว่าเป็นสิ่งที่รองรับการกระทำหรือถูกกระทำนั่นเอง ในแง่นี้ผมคิดว่านวนิยาย ‘เกดในเคิร์มแลนด์’ ชวนให้เราคิดถึงหน้าที่ของความว่างเปล่าในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่มักจะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ที่ว่างเปล่านั่นเอง

ผมคิดว่าในแง่นี้เราอาจเห็นได้อีกว่าสังวาลกำลังไล่รื้อความทรงจำที่ผูกอยู่กับข้าวของทิ้ง เพราะความทรงจำคือสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ มันถูกแต่งเติมได้เสมอ ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตรง แม้ว่ามันจะแทนค่าด้วยวัตถุสิ่งที่ของที่มีรูปทรงคงที่ แต่ความทรงจำที่ผูกอยู่กับวัตถุเหล่านั้นกลับไม่คงที่เอาเสียเลย ดังนั้น พื้นที่ว่างเปล่าคือสิ่งที่บริสุทธิ์ ปราศจากการแต่งเติม ยิ่งไปกว่านั้นผมยังเห็นว่าจินตนาการถึงความว่างเปล่าอันบริสุทธิ์นั้นคือความพยายามในการตามหาสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ก่อนที่เราจะมีความทรงจำ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือก่อนหน้าที่มนุษย์จะมีความทรงจำรูปร่างของสำนึกเหล่านั้นเป็นอย่างไร ตัวนวนิยายเองอาจจะไม่บอกอย่างชัดเจนเอาไว้ แต่ก็เชื้อเชิญให้เราไตร่ตรองและขบคิดกับความบริสุทธิ์ในสำนึกของเรา

ส่งท้าย

เราจะเห็นได้ว่า ในนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้มีพื้นที่ดำรงอยู่ถึงสามแบบ แบบแรกคือพื้นที่ที่ไม่ได้ดำรงอยู่จริงแต่เป็นพื้นที่ในจินตนาการที่ถูกสำรวจเพื่อไปให้ถึงสุดขอบพรมแดนของพื้นที่นั้นๆ แบบที่สองพื้นที่ในจินตนาการที่ถูกเชื่อว่ามันมีอยู่จริงดำรงอยู่จริงๆ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกบุคคล แบบที่สามคือพื้นที่อันบริสุทธิ์ ปราศจากการแต่งเติม เป็นพื้นที่ของสำนึกก่อนที่มนุษย์จะถูกความทรงจำปรุงแต่งขึ้นมา

‘เกดในเคิร์มแลนด์’ ผลงานนวนิยายขนาดสั้นของ วิภาส ศรีทอง เป็นนวนิยายที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพื้นที่ที่มีต่อปัจเจกบุคคลผ่านตัวละครแต่ละตัว แม้จะเป็นนวนิยายขนาดสั้น แต่ระยะเวลาในการอ่านกลับไม่สั้นตามไปด้วยเพราะผู้อ่านอาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเรื่องพยายามสื่อสารออกมา ‘เกดในเคิร์มแลนด์’ เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของตัวเรื่องและวิธีการเล่า นักอ่านคอแข็งหลายคนอาจเคยได้อ่านหรือมีประสบการณ์กับวรรณกรรมที่ฉากมีบทบาทสำคัญต่อตัวเรื่องมามากมาย แต่สำหรับนวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ พื้นที่อาจไม่ได้หมายถึงฉาก ฉากไม่ใช่พื้นที่ แต่นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่ว่าด้วย ‘พื้นที่’ และความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับตัวละคร


อ้างอิง

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2562). “The Spatial Turn: วิธีวิทยาการศึกษาพื้นที่ในวรรณกรรม” ใน สุรเดช โชติอุดมพันธ์ (บรรณาธิการ). (2562). นววิถี วิธีวิทยาร่วมสมัยในการศึกษาวรรณกรรม (หน้า 119-182). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save