fbpx
โกโก้ กวินตรา เทียมไสย์

สนทนาว่าด้วย transgender และ นางงาม ในสังคมไทย กับ โกโก้-กวินตรา เทียมไสย์ หญิงข้ามเพศที่อยากเปลี่ยนสังคมให้เท่าเทียม

โลกนี้สร้างมนุษย์ขึ้นมาหลายแบบหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือมนุษย์จำพวกที่หยัดยืนฟาดฟันเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบและสิ่งแวดล้อมที่กดทับตัวเอง — โกโก้ กวินตรา เทียมไสย์ คือมนุษย์จำพวกนั้น

โกโก้ เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่งในสังคมที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะทางเพศให้คนข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ สังคมที่ขีดเส้นแบ่งให้อัตลักษณ์ทางเพศและเลือกปฏิบัติกับคนแต่ละคนอย่างไม่เท่าเทียม สังคมเดียวกันนี้ผลักให้เธอชิงทุนปริญญาโทจากรัฐบาลอังกฤษ จนได้ไปศึกษาด้าน Gender Studies ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) เพื่อกลับมาเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยโอบอุ้มความหลากหลายทางเพศ—ความหลากหลายของมนุษย์–เอาไว้

ปัจจุบันโกโก้ ทำงานเป็นนักวิจัยนโยบายให้กับองค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนโปรเจกต์ ‘she can’ ที่เธอสร้างขึ้นเพื่อช่วยฝึกทักษะและเตรียมคนข้ามเพศที่เป็นเด็กมัธยมและนักศึกษาให้กลายเป็นผู้นำในสังคม ผ่านการให้คำปรึกษา จัดเวิร์กช็อป และสร้างกลไกต่างๆ ในการเรียนรู้ อีกหนึ่งบทบาทที่โกโก้ทำ คือการเป็นผู้ฝึกการตอบคำถามให้กับ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ช่วงก่อนการประกวดรอบประเทศไทย โดยวิธีการฝึกของเธอคือการติดตั้งแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ที่สังคมยึดถือให้หลอมรวมอยู่ในตัวนางงาม ตั้งแต่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงประชาธิปไตย

2021 ปีที่คนข้ามเพศยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่เท่าเทียม ปีที่ตัวแทนจากประเทศไทยไม่ได้ ‘มง’ นางงามจากจักรวาล เราชวนโกโก้ กวินตรา เทียมไสย์ มาสนทนาว่าด้วยสิทธิและเรื่องราวของทรานส์เจนเดอร์ ไปจนถึงมุมมองต่อการประกวดนางงามในสังคมไทยยุคใหม่



ก่อนหน้าที่จะไปเรียนปริญญาโทสาขา Gender studies คุณมองเห็นประเด็นเรื่องเพศในสังคมไทยอย่างไร อะไรเป็นแรงขับให้คุณศึกษาต่อและทำงานด้านนี้

จริงๆ ทุกอย่างที่เป็น passion ในชีวิต เราเชื่อว่าเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวหมด เราเกิดมาเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่โดนกดขี่มาโดยตลอด โดนบูลลี่ในโรงเรียน และถูกบรรทัดฐานทางสังคมกีดกันไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะเป็นทรานส์เจนเดอร์

จุดแรกที่ทำให้เราตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เกิดอะไรขึ้นกับคนข้ามเพศ คือตอนสอบติดปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เราถามคนสัมภาษณ์ว่าหนูแต่งหญิงมาเรียนได้ไหม เขาปฏิเสธ โดยบอกว่าเครื่องแต่งกายของเราทรงเกียรติมากนะ มีเรื่องราวที่ยาวนาน เราเลยบอกว่าถ้างั้นเดี๋ยวเราไปสอบที่อื่น แล้วก็เดินออกมาเลย

สุดท้ายเราเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ เรียนหลักสูตรวารสารศาสตร์ที่สอนให้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และได้เป็นนักโต้วาทีภาษาอังกฤษให้กับคณะและมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้ถกเถียงในหลายๆ ประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เมื่อเรียนจบ ก็มีคนฝากงานพิธีกรภาษาอังกฤษให้เราที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง แต่ทีมงานกลับบอกว่าต้องแต่งชายนะถึงจะเป็นพิธีกรได้ จะแต่งไหม เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องแต่ง ทำไมเราต้องถูกกีดกันเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ

พอบรรทัดฐานทางสังคมกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานและการหาเงิน จริงๆ เรานอยมาก เล่าให้หลายคนฟัง เขาก็บอกว่ามึงเป็นเหยื่อ เราจึงคิดว่าเป็นเหยื่อแล้วยังไงต่อ และฮึดขึ้นมาว่าเราต้องเป็น agent of change ต้องผันตัวเองจากเหยื่อมาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ หลังจากนั้นก็เริ่มสำรวจการเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่อง LGBT เรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เรายังมีความรู้ไม่เพียงพอในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเพศที่จะสามารถพูดแล้วเปลี่ยนใจคนฟังได้ เราก็เลยไปเรียนต่อด้านนี้ แค่นั้นเลย เริ่มต้นจากความอยากเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง จากความคิดว่าจะกลับมาที่นี่ จะตีกับระบบให้ตายไปข้างหนึ่ง เราไม่ยอม 


Gender studies เรียนเกี่ยวกับอะไร การเรียนเปิดมุมมองเรื่องเพศของคุณอย่างไรบ้าง

Gender studies ไม่ใช่แค่การเรียนเรื่องเพศวิถี แต่เป็นการศึกษาทุกๆ อย่างเกี่ยวกับการเป็นคนกลุ่มน้อยหรือชายขอบในสังคม ซึ่งการที่คนๆ นึงจะถูกผลักเป็นกลุ่มชายขอบไม่ได้มีแค่เรื่องเพศ แต่ยังมีเรื่องความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ ฯลฯ หลักสูตรที่เราเรียนเป็นสหวิทยาการ เลนส์ที่ใช้มองประเด็นคนชายขอบจึงมีทั้งด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กฎหมาย ไปจนถึงรัฐศาสตร์

การเรียน Gender studies เป็นการทำความเข้าใจพื้นฐานของมนุษย์ที่ถูกครอบงำด้วยเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี ปิตาธิปไตย เป็นการศึกษาว่าเรามองเห็นปัญหานั้นอย่างไรและเราจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนั้นอย่างไร ออกแบบนโยบายสาธารณะอย่างไรที่จะทำให้การขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเพศครอบคลุมความหลากหลายของผู้คนมากยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ทั้งหมดในอังกฤษ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า โอ้โห ที่นี่มันเริ่ด ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายระดับประเทศ เพราะจริงๆ การออกนโยบายก็ทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เราได้รู้ว่าประเทศนั้นๆ inclusive จริงหรือเปล่า คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหน่วยสังคมเล็กๆ หรือในระดับปฏิบัติการ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตอนที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเห็นใบเกิดของเราระบุคำนำหน้าชื่อว่า ‘Mr.’ เขาก็มากระซิบถามเราเบาๆ ท่ามกลางคนจำนวนมากที่มาต่อแถวลงทะเบียนว่า คุณอยากให้เรียกคุณว่าอะไร เราก็บอกให้เรียกเราว่าโกโก้ จากนั้นเขาก็พิมพ์บัตรนักศึกษาให้ และทุกคนก็รู้จักเราในนาม โกโก้ เทียมไสย์ จะเข้าห้องสมุดหรือใช้บัตรรถไฟเราก็คือ โกโก้ เทียมไสย์ ไม่มีใครมาเรียกเราว่ามิสเตอร์

ผู้คนที่นี่มีความตระหนักรู้ในเรื่องเพศค่อนข้างสูง แน่นอน มันก็มีพวกเกรียนที่ตะโกนด่ากะเทยอยู่ แต่สุดท้ายกฎหมายของเขาเข้มแข็ง การนำไปใช้ในระดับปฏิบัติการก็ดี กระทั่งตำรวจก็มีความเข้าใจว่าควรปฏิบัติกับคนข้ามเพศอย่างไร เราว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนจริงๆ ว่า นโยบายต่างๆ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขียนในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แต่คือนโยบายที่คนนำมาปฏิบัติจริง


คุณรู้สึกว่าบรรยากาศความเข้าใจเรื่องเพศในต่างประเทศทิ้งห่างจากไทยมากแค่ไหน ภาพรวมในสังคมไทยตอนนี้มีพัฒนาการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง

ทิ้งห่างเก้าล้านช่วงตัว (หัวเราะ) ประเด็นหนึ่งที่เห็นว่าเริ่มดีขึ้น คือการสมัครงานในบริษัทใหญ่ๆ จริงๆ เป็นกระแสจากโลกที่หนึ่งด้วย ตอนนี้องค์กรใหญ่ๆ พูดถึงเรื่องเพศสภาพและความครอบคลุมทางสังคม (gender and social inclusion) เป็นประเด็นสำคัญ เพราะฉะนั้นสำนักงานใหญ่ในไทยจะไม่ให้ความสำคัญก็ไม่ได้ ต่อให้อยากทำหรือไม่อยากทำ เมื่อมีแรงกระเพื่อมก็ต้องทำ

ส่วนเรื่องความเข้าใจของคน เราเห็นมูฟเมนต์ที่แข็งแรงในประเด็นเฟมินิสต์ เห็นการที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิในร่างกาย หลายคนอาจบอกว่ามันสุดโต่งเกินไป แต่ก็ดีกว่าการที่เราไม่มีอะไรมาต้านทานปิตาธิปไตย ดีกว่าการที่เราโดนปิดปากด้วยซ้ำ เพียงแต่บางครั้งหลายคนจะนำเอาความรู้จากตะวันตกมาแปลเพื่อสื่อสารเรียกร้อง ก้าวต่อไปที่เราอยากเห็นคือมูฟเมนต์ที่เราสามารถสร้างและสังเคราะห์ความรู้ในบริบทของไทยด้วยตัวเอง เพราะย่อมเป็นความรู้ที่สะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริงภายในบริบทแบบประเทศเรามากกว่า


ถ้ามองภาพกว้างๆ ในสังคมตอนนี้ เรามี LGBT ในพื้นที่ทางการเมือง เคยเข้าไปนั่งอยู่ในสภา ในหน้าจอทีวีหรือโซเชียลมีเดียก็มีซีรีส์วายที่ได้รับความนิยม ภาพแบบนี้พอจะบอกว่าเราอยู่ในจุดที่ดีขึ้นได้ไหม

ยังค่ะ ภาพเหล่านี้ถือเป็นมูฟเมนต์อย่างหนึ่งจริง แต่สิ่งที่เราต้องมองเห็นคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างยังไม่เกิดขึ้น กฎหมายยังไม่เกิดขึ้น กฎหมายรับรองเพศสภาพยังไม่มีเลย

เรายังเห็นว่ามันมีความทับซ้อนทางวาระในการเคลื่อนไหวเรื่อง LGBT ด้วย เช่น ในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเรื่องการสมรสเพศเดียวกัน (same sex marriage) ซึ่งเราเข้าใจว่าการแต่งงานเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความต้องการที่เร่งด่วนอื่นๆ ที่ยังไม่เคยเข้าระบบเลยด้วยซ้ำ คือมูฟเมนต์ถูกทับซ้อนด้วยบรรทัดฐานของความเป็นเกย์หรือบรรทัดฐานคนรักเพศเดียวกัน (homonormativity) โดยชูบางประเด็นขึ้นมาก่อนที่จะแคร์สเปกตรัมอื่นๆ ของ LGBT ดังนั้น ภาพรวมของสังคมเลยไม่ได้ยืดหยุ่นจริงๆ เช่น การรับรองสถานะหรือการให้พื้นที่กับคนข้ามเพศ

ตอนไปเรียนที่อังกฤษ แม้แต่คนที่นั่นเองก็มองว่าไทยเป็นสวรรค์ของ LGBT เราเลยถามเขากลับว่าสวรรค์ที่คุณคิดคืออะไร เขาบอกว่าเขามาปาร์ตี้ที่นี่ได้ มาที่นี่แล้วไม่โดนเหยียด ไม่โดนกระทืบบนถนน แต่การที่คุณไม่โดนกระทืบบนถนน หมายความว่าคุณภาพชีวิตของ LGBT ดีจริงๆ หรือ หากสุดท้ายไม่มีกฎหมายที่โอบรับ LGBT เลย ทั้งที่เขาเป็นแรงงานขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้กับประเทศเหมือนคนอื่นๆ

เรื่องพื้นที่ทางการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรก เราเห็นด้วยกับการมีโควตา มีสัดส่วนของตัวแทน LGBT เพราะเป็นการทำให้สังคมมองเห็นและรับรู้จนเกิดความเป็นปกติ ขณะเดียวกันการมีโควตาแปลว่าเราต้องเฟ้นหาตัวแทนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ใช่แค่หยิบคนที่เป็น LGBT มาเพื่อเป็นตัวแทน ยิ่งไปกว่านั้น การมีตัวแทนในสภายังไม่ใช่ชัยชนะ อย่าเฉลิมฉลองกับสิ่งนี้ มันเป็นแค่การเริ่มต้น ตราบใดที่ LGBT ในหน่วยสังคมยังถูกเลือกปฏิบัติ ต้องโดนบูลลี่จากโรงเรียนและหนีออกจากโรงเรียน หรือยังมีคนที่สมัครงานกี่ร้อยที่ก็โดนปฏิเสธหมดเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ

ในระดับที่สอง หลังจากมีตัวแทนจนเกิดความเป็นปกติขึ้นแล้ว เราอยากให้เรื่อง gender เป็นวาระร่วม ต่อให้จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงในสภา คุณต้องทำให้ประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นวาระสำคัญเพื่อสร้าง social inclusion ให้ได้



ถ้าเรามองในเชิงนโยบายหรือมิติทางกฎหมาย ตอนนี้ไทยยังขาดอะไรบ้างในการรองรับสิทธิของคนข้ามเพศ

กฎหมายแรกที่ควรมีคือ legal gender recognition หรือการรับรองสถานะทางเพศตามกฎหมายให้กับคนข้ามเพศในประเทศไทย เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เราเขียนวิทยานิพนธ์ กฎหมายเรื่องนี้คนอาจมองว่าเป็นแค่การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ แต่ความจริงมันไปไกลกว่านั้นมาก การที่เราสามารถเปลี่ยนชื่อจากนายเป็นนางสาวในสูติบัตรหรือในเอกสารทางกฎหมายได้คือการที่สังคมสร้างอีกมิติหนึ่งขึ้นมาเพื่อรองรับคนข้ามเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

นอกจากนี้เรายังขาดการรองรับในภาคส่วนสำคัญ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนจะมีมาตรการอย่างไรในการรองรับเด็กที่เป็นทรานส์ โรงเรียนมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาหรือเปล่า โรงเรียนสนับสนุนเรื่องความเป็นทรานส์และเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า มีหลักสูตรไหนไหมที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ หลักสูตรที่บอกว่าสมชายกับสมชายแต่งงานกันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะสมชายคือมนุษย์และสมชายอีกคนก็คือมนุษย์ หรือแม้แต่ในเรือนจำ จะให้นักโทษที่เป็นทรานส์และยังไม่แปลงเพศเข้าไปอยู่กับผู้ชายจริงหรือ เพราะสังคมของเรายังไม่มีการรับรองในภาคส่วนเหล่านี้ การรับรองสถานะทางเพศตามกฎหมายจึงสำคัญและเป็นสิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงได้

แม้แต่การเรียกร้องตัวกฎหมายเอง ก็มีการระบุเงื่อนไขทางการแพทย์ว่า คนที่จะถูกรับรองโดยกฎหมายนี้จะต้องเป็นคนที่แปลงเพศแล้วเท่านั้น ซึ่งถ้ามองจริงๆ เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อการแปลงเพศเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เรายังต้องรับผิดชอบเองอยู่ คิดว่าจะมีกะเทยกี่คนในโลกนี้ที่มีเงินในบัญชีเกินสิบล้าน ในเมื่อกะเทยโดนกีดกันออกจากระบบหมด จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่ารักษา เราต้องมาระบุใหม่ว่าความเป็นทรานส์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีอวัยวะเพศแบบผู้หญิง กฎหมายควรรับรองทุกคนไม่ใช่หรือ ถึงจะเรียกว่าเป็นกฎหมายที่โอบอุ้มทุกคนจริงๆ

นอกจากมิติทางกฎหมายหรือทางรัฐแล้ว เอกชนก็เป็นส่วนสำคัญ ถ้าดูในตลาดงานจริงๆ มีทรานส์เข้าไปทำงานกี่คน มีกี่คนที่ขึ้นไปในตำแหน่งสูงได้ เคยเห็น CEO ที่เป็นทรานส์ไหม ไม่มีเลย ไม่ใช่เพราะทรานส์ไม่สามารถไปถึงได้ แต่เพราะระบบไม่เอื้อหรือเปล่า เอกชนควรพิจารณาเรื่องเพศสภาพและการพัฒนาสังคม ถ้าเอกชนเชื่อเรื่องทุนนิยม ก็ต้องเชื่อว่าไม่ว่าคนเพศไหนก็ถือเป็นกำลังของคุณ แม้แต่การสร้างนโยบายต่างๆ ก็ไม่ควรคิดบนฐานของ binary หรือมองเป็นเรื่องชายหญิงอย่างเดียว หากพนักงานเป็น LGBT แต่ถ้าเขามีลูก เขาควรได้สิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร หรือถ้าเขาจะต้องไปผ่าตัดแปลงเพศ ก็ควรได้สิทธิการลา ไม่ใช่มองว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมความงาม


คุณคิดว่าอุปสรรคสำคัญที่ขวางการทำความเข้าใจเรื่องเพศหรือการพัฒนาของสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยคืออะไร

คิดว่าคงเป็นที่คณะทำงานหรือผู้มีอำนาจที่ทำงานอยู่ เราว่าคนที่มีอำนาจตัดสินใจแคร์เรื่องนี้ไม่มากพอ และเข้าใจไม่มากพอ เพราะฉะนั้นต่อให้เราซึ่งเป็นคนทำงานพยายามเสนออะไรขึ้นไป ถ้าเขาไม่แคร์และไม่สนใจ มันก็เปลี่ยนไม่ได้ เราต้องการระบบที่ดีและผู้นำที่ฉลาดกว่านี้


การถูกกดขี่และกีดกันในเรื่องเพศมาตลอดทางการเติบโต ส่งผลกระทบต่อตัวตนของคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างไร

มันทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มั่นคงทางใจ ถึงเราจะดูมั่นใจ แต่ลึกๆ เรามีความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ (insecurity) สูงมาก เวลาจะต้องประสานงานกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย มักจะรู้สึกว่า ไม่ ฉันไม่อยากคุยกับแก เพราะแกเป็นผู้ชาย เราจะคาดการณ์ไปล่วงหน้าเลยว่าผู้ชายมาพร้อมความ toxic ทั้งที่ความจริงเขาอาจไม่ใช่ก็ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่ toxic แต่มันฝังในความคิดของเราไปแล้ว เพราะตอนเด็กๆ สมัยเรียนโรงเรียนประจำ เราโดนพวกผู้ชายล้อและคุกคาม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เคยถูกรุ่นพี่จับหน้าอก ทุกคนตกใจมาก พอถามว่าจับทำไม เขาตอบว่าของปลอมจับได้ เขาไม่เข้าใจเรื่องความยินยอม (consent) ด้วยซ้ำ 

มันยังทำให้เราเป็นคนแข็งกระด้าง เพราะเราสู้มาโดยตลอด เหมือนที่คนเขาพูดกันว่า when you fight with the monster you become one (เมื่อคุณต่อสู้กับสิ่งที่โหดร้าย คุณจะกลายเป็นความโหดร้ายนั้นเอง) เรากลายเป็นคนที่ก้าวร้าว ใครฟาดมา เราก็ฟาดกลับ ใครตีมา ก็ตีกลับ เราไปเรียนเทควันโดเพื่อเตะกับผู้ชาย กลายเป็นคนรุนแรงไปเลย มันมาจากสิ่งแวดล้อมในการเติบโตที่ไม่สนับสนุนความเป็นผู้หญิงข้ามเพศของเรา ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงเหล่านี้ในชีวิต


เราจะเห็นว่าคนข้ามเพศหลายรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง คุณเคยรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม สังคมแบบไหนที่ผลักให้คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น

ก็จริง เราเป็นหนึ่งในทรานส์พวกนั้นที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องเรียนเก่งที่สุด ต้องสอบชิงทุนให้ได้ ต้องมั่น ต้องเลิศ แต่มันเหนื่อย มัน toxic มากเลย สิ่งที่เราอยากเห็นคือทรานส์ที่สามารถเป็นคนปกติ ทรานส์ที่เป็นคนธรรมดาก็ได้ ขี้เกียจก็ได้ ไม่ต้องสวย ไม่ต้องเก่ง ขอให้สังคมให้เกียรติแค่นั้นก็พอ แต่มันยังไม่ถึงจุดนั้นหรอก เพราะสังคมก็ยังมีความเข้าใจที่ผิดและมีความคาดหวังอยู่ เราเคยไปทำงานแล้วมีคนถามว่าทำไมไม่เห็นสวยเหมือนนางงามทิฟฟานีเลย ก็เลยถามกลับไปว่า ทำไมพี่ไม่เห็นหล่อเหมือนณเดชน์เลย เขาบอกพี่เป็นผู้ชาย อ้าว แล้วไงคะ ทำไมต้องมาคาดหวังกับเรา ในเมื่อพี่ยังหล่อไม่เหมือนณเดชน์เลย ทำไมเราต้องสวยเหมือนน้องปอย 

สังคมเองนั่นแหละเป็นคนสร้างความคาดหวังและกำหนดเงื่อนไข เหมือนพ่อแม่บางคนที่พูดว่า ลูกเป็นกะเทยไม่เป็นไรหรอก แต่ขอให้ลูกเป็นคนดีก็พอแล้ว คือการยอมรับทรานส์ต้องมีเงื่อนไขเสมอ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทรานส์ต้องเก่ง ไม่ใช่ว่าทรานส์ต้องทำงานหนัก แต่เป็นเพราะสังคมทำให้ทรานส์ต้องทำงานหนักมากกว่า 


อีกบทบาทหนึ่งของคุณคือเป็นคนฝึกตอบคำถามให้ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 เป็นมาอย่างไรถึงได้มารับบทบาทนี้

เราเป็นแฟนนางงามมา 15 ปีแล้ว ดูมาตลอด ตอนที่เราอยู่อังกฤษมีประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์พอดี เราเห็นอแมนด้าแล้วคิดเลยว่าผู้หญิงคนนี้จะชนะ เลยบ่นผ่านเฟซบุ๊กว่าอยากฝึกให้นางงามคนนี้ บังเอิญเพื่อนของเราเป็นแอดมินเพจนางงามพอดี เพื่อนก็ติดต่อไปที่ทีมงานภูเก็ตให้ เราก็เลยได้ไปฝึกให้อแมนด้า


ต้องฝึกอะไรบ้าง และเติมอะไรให้เขาในเรื่องการตอบคำถาม

ต้องออกตัวก่อนว่าเราฝึกให้อแมนด้าก่อนที่จะได้มงในประเทศ ฝึกในเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ แต่หลังจากนั้นไม่ได้ฝึกให้ สิ่งที่เราเติมให้คือเรื่องแนวคิด ตั้งแต่เรื่องประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก, เพศ, เฟมินิสต์, สิทธิในเรือนกาย, ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ, การแก้ปัญหาความขัดแย้ง, ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ เราคิดว่ากำลังสร้างผู้หญิงคนหนึ่งให้มีหลักการคิดที่เป็นเฟมินิสต์ ถ้าคิดแบบเฟมินิสต์ได้ ยังไงก็เป็นผู้หญิงที่ empower คนอื่นได้ นี่คือหัวใจหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วอแมนด้าก็คิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วแต่เป็นคนไม่กล้าพูด

ตอนที่เทรน เราจะให้อแมนด้าตอบคำถามเองก่อน แล้วก็แก้หรืออธิบายกันตรงนั้นเลย เช่น ทำไมถึงใช้คำนี้ไม่ได้ ถ้าจะพูดถึงประเด็นนี้ต้องใช้คำไหน เพราะอะไร เป็นมาอย่างไร บางครั้งถ้าคำตอบยังไม่ได้ เราจะบอกให้อแมนด้าคิดคำตอบแบบที่เป็นตัวของเขาเองจริงๆ ให้เวลา 30 วินาที แล้วตอบใหม่ ตอบจนกว่าอแมนด้าจะเข้าใจและเราโอเค

ตอนนั่งพักกินข้าวกัน เราก็โยนคำถามไปให้อแมนด้า เช่น “ด้า ประชาธิปไตยคืออะไร” บางครั้งก็ถามคำถามที่ไม่ใช่คำถามนางงาม แต่เป็นคำถามทั่วไปเพื่อให้ความคิดเขาเชื่อมโยงกับทุกอย่างให้ได้ เราถามด้วยซ้ำว่าถ้าผู้นำของคุณคือโดนัลด์ ทรัมป์ คุณจะรับมือกับผู้นำแบบนี้อย่างไร ถ้าพูดกับเขาได้จะพูดอะไร แล้วประยุทธ์ จันทร์โอชาล่ะ ถ้าบอกอะไรกับเขาได้สักอย่าง จะบอกอะไร


การตอบคำถามบนเวทีนางงามสำคัญอย่างไร

สำคัญมาก เพราะแอร์ไทม์ในช่วงนี้มันแน่นมากนะ คนติดตามเยอะ เพราะฉะนั้นไม่ว่านางงามจะรู้จริงหรือไม่รู้จริงก็ตาม แต่สิ่งที่นางงามตอบมา บางเรื่องก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ เหมือนหลักทฤษฎีที่บอกว่า “media is the most immediate solution to change the world” (สื่อคือวิธีเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างฉับพลันที่สุด) แล้วเราก็เห็นด้วยว่าคนได้รับอิทธิพลจากพลังของสื่อ ในเมื่อแอร์ไทม์สูง ถ้าตอบออกมาแล้วสร้างแรงกระเพื่อมได้ มันก็ดี เพราะฉะนั้นเราเลยมองว่าเวทีนางงามก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีผลในมิติการเมืองและสังคมได้

อย่างในปีนี้ ด้วยสภาวะโควิด-19 ระบาด และเศรษฐกิจที่ซบเซา ไม่ว่าจะฝั่งเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมก็ซบเซาแน่ๆ หลักการหนึ่งที่คนมองว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้คือการสร้างแนวคิดชาตินิยมในประเทศนั้นๆ การประกวดมิสยูนิเวิร์สระดับโลกปีนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดคือ Telemundo ทีวีของลาตินอเมริกา เราเลยไม่ค่อยแปลกใจที่รอบท้ายๆ มีแต่นางงามลาตินเข้ารอบ เราวิเคราะห์ว่ายิ่งนางงามละตินเข้าเยอะ เรตติ้งก็ยิ่งเยอะ ทุกคนเปิด ทุกคนเชียร์ และยิ่งไม่แปลกใจที่เม็กซิโกได้มง เพราะตลาดใหญ่ที่ช่องขายได้ก็คือตลาดเม็กซิโก ผลประโยชน์ทางธุรกิจก็สูงขึ้น


ในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันเรื่องคุณค่าของนางงาม บ้างบอกว่าเวทีนางงามเป็นเวทีที่สร้างมาตรฐานความงามให้กับผู้หญิง แล้วแบบนี้จะ empower ผู้หญิงได้อย่างไร บางคนก็ถึงกับตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องมีนางงามไหม คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง เราควรมองเวทีนางงามด้วยสายตาแบบไหน

เรามองว่ามันเป็นเรื่องการแข่งขัน ในทุกๆ เวทีที่เป็นการประกวดมีคุณสมบัติสำหรับแต่ละเวที ไม่ใช่แค่ประกวดนางงาม เช่น ประกวดสุนทรพจน์ก็ต้องหาคนที่พูดสุนทรพจน์ดีที่สุด เราเข้าใจว่ามันคือการสร้าง beauty standard อย่างหนึ่ง เราเห็นด้วย แต่ผู้ชมก็ต้องเข้าใจในบริบทของความเป็นนางงามด้วย ผู้ชมต้องคิดว่าจริงๆ เราดูนางงามเพื่ออะไรกันแน่ มันเป็นสื่อบันเทิงเหมือนที่เราดูดาราดูซีรีส์หรือเปล่า ถ้าใช่ จุดประสงค์หรือสิ่งที่การประกวดนางงามให้เราก็อยู่ในขอบเขตของสื่อบันเทิง

ขณะเดียวกัน ตัวเวทีนางงามก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบรับกับสเปกตรัมของความงามและคุณค่าที่มากกว่าแค่เรื่องหุ่นดี เดินสับ ซึ่งเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก สิ่งที่เราอยากเห็นจากเวทีนางงามคือการสะท้อนผู้หญิงที่หลากหลายจริงๆ เวลาดูนางงามแว็บเดียว 15 วินาที มันก็รู้สึกว้าวเนอะ แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องตั้งคำถามว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงสามารถนำมาสร้างพลังหรือเป็นแรงบันดาลใจได้ ดังนั้น เวทีนางงามอาจจะสร้างความหวือหวาและวูบวาบได้ แต่ถามว่าเป็นการ empowerment ในระยะยาวได้ไหม เราบอกเลยว่าไม่


แล้วจะทำให้คนเข้าใจได้อย่างไรว่า แม้แต่การดูนางงาม ก็อาจต้องมองไปให้ไกลกว่าคุณค่าเรื่องรูปลักษณ์และมาตรฐานความงาม

จริงๆ ความไม่เข้าใจหรือไม่เปิดรับความแตกต่างหลากหลายของความงามเป็นปัญหาใหญ่มากในประเทศไทย ถ้ามองเรื่องนางงามหรือวงการบันเทิงโดยใช้เลนส์เรื่องเพศเข้ามา จะเห็นว่าคนยังมีสเปกตรัมและความคาดหวังต่อมาตรฐานความงามแบบเดิมๆ ซ้ำๆ

เรามองว่าเรื่องนี้ต้องกลับไปที่การศึกษาและการปลูกฝังในสังคม ที่จะต้องพูดถึงความหลากหลายให้มากขึ้น แม้กระทั่งเอเจนซี่และผู้ที่ผลิตสื่อก็ควรคิดถึงเรื่องนี้ด้วย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตซ้ำมาตรฐานความงาม เราควรคิดไหมว่าจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อที่แค่ตอบสนองความสนใจของสังคม แต่เป็นสื่อที่นำความคิดของสังคมด้วย


ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนอินเรื่องนางงามจำนวนมาก ขณะที่หลายประเทศกลับไม่สนใจ ไม่รับรู้ความเป็นไปเลย คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

หนึ่ง ถ้ามองในแง่ของความเป็นรัฐชาติ การที่เราส่งอะไรไปแข่งโดยแขวนสายสะพายประเทศไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นนางงามหรือทีมนักกีฬา มันเป็นกลไกในการสร้างความเป็นชาตินิยมอย่างหนึ่ง ประเทศที่อัตลักษณ์ของความเป็นรัฐชาติไม่ทำงานกับคน คนไม่รู้สึกว่าภูมิใจในความเป็นชาติของเรา ก็จะเป็นประเทศที่ไขว่ขว้าโหยหาการยอมรับและชื่อเสียงที่มากกว่าประเทศอื่นในแง่มุมที่เป็นไปได้

สอง ถ้ามองในแง่ของสังคม การเป็นนางงามในบริบทของหลายประเทศ นอกจากจะทำให้มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นใบเบิกทางไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี มีงานให้คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงไม่ได้มองนางงามด้วยความรู้สึกหวือหวา

สาม ถ้ามองในแง่มุมการศึกษา การศึกษาที่ไม่สามารถทำให้คนรู้เท่าทันเรื่องมาตรฐานความงาม (beauty standard) หรือ สิทธิพิเศษของคนสวยหล่อ (beauty privilege) ย่อมไม่สามารถทำให้คนตระหนักว่า การเป็นคนสวยไม่ได้หมายถึงเป็นคนดี หรือมีโอกาสมากกว่าคนอื่น และจริงๆ แล้วคนทุกคนมีโอกาสในการได้รับสิ่งต่างๆ เท่าเทียมกัน


หลายคนมองว่านางงามควรจะเป็นกระบอกเสียง ออกมาพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย ขณะเดียวกันแฟนนางงามหลายคนก็เลือกไม่สนับสนุนนางงามที่ออกมาพูดถึงประเด็นเหล่านี้ คุณคิดว่าคนที่อยู่ในสถานะแบบนางงาม ไปจนถึงคนที่ได้รับความสนใจจากสังคม เช่น ดารา คนดัง ควรจะปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้อย่างไร

การเป็นดารา นางงาม หรืออะไรก็ตาม คุณจะ call out ไม่ call out เราเข้าใจได้ แต่ใจเราอยากให้ call out นะ เลือกๆ มาเลยว่าจะออกมาพูดหรือไม่ เพราะคุณคือคนที่ประชาชนติดตาม แต่สุดท้ายแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนเหมือนกันที่จะต้องไม่ให้ค่ากับดารานางงามมากเกินไป อย่าให้แสง ให้พื้นที่ และสิทธิพิเศษกับเขาเกินไปจนเขาลอยตัวเพราะมีสิทธิพิเศษพวกนี้ ถ้าเขาไม่ออกมา call out เราไม่ต้องด่าเขาก็ได้ แต่จำไว้ จำไว้ว่าเขาไม่ call out จำไว้ว่าเขาจะทำเพียงแสดงหนัง พอเรารู้แล้วว่าเขาไม่ call out หรือดันไป call out ในฟากฝั่งที่ไม่ยุติธรรม เราในฐานะผู้สนับสนุนก็มีสิทธิเลือกว่าจะสนับสนุนเขาต่อไปหรือไม่ 


ประเทศอื่นเริ่มมีนางงามที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศบนเวทีบ้างแล้ว ทำไมไทยยังไม่มีภาพนั้นอีก

ยังไม่มีเพราะว่ากฎหมายไม่รองรับ เวทีใหญ่มิสยูนิเวิร์สให้ผู้หญิงข้ามเพศไปประกวดได้ถ้าชนะในระดับประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะรับรองสถานะของผู้หญิงข้ามเพศว่าเป็นผู้หญิง ภาพนั้นก็เลยยังไม่เกิดขึ้น แค่นี้เลย


คุณคิดอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า แม้วันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว การพัฒนาความเข้าใจเรื่องเพศและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยอาจยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

(ถอนหายใจ) ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องการโหวต ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การด่าและวิจารณ์รัฐบาลได้ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องการนำเข้าวัคซีน แต่ภายใต้การต่อสู้ของประชาธิปไตยผืนใหญ่นี้ประกอบไปด้วยคนหลากหลายชีวิต จากหลากหลายอาชีพ จากหลากหลายอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ คนกวาดถนน CEO เด็กบนดอย หรือผู้หญิงข้ามเพศ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ ถ้าวันนึงเราเป็นประชาธิปไตย แต่เรื่องเพศยังไม่ได้เรื่อง ก็จงอย่าเรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบเลย เพราะสุดท้ายแล้ว คุณก็เป็นแค่ประชาธิปไตยภายใต้ปิตาธิปไตยเหมือนเดิม

เราไม่รู้หรอกว่าเราจะต้องรอนานอีกแค่ไหนที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องเพศและความเท่าเทียมในสังคมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่เราคงไม่เลือกรอ เราคงเลือกทำงานอย่างเต็มสปิริตเพื่อให้ความเข้าใจเรื่องเพศและความเท่าเทียมเกิดขึ้นควบคู่ไปกับประชาธิปไตยและสิทธิที่เราควรได้รับในฐานะประชาชนของรัฐที่เป็นประชาธิปไตย 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save