fbpx

‘ประวัติศาสตร์ที่สนุก คือประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมนุษย์’ กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร

“เคยมีคนเข้าใจอายุคุณผิดบ้างไหม?”

“ก็มีคนตกใจที่ผมไม่ได้อายุ 50-60 เหมือนกันครับ”

ในห้องประชุมของหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กษิดิศ อนันทนาธร ตอบข้อสงสัยของเราด้วยรอยยิ้ม ต่อคำถามนี้เราไม่ได้หมายความว่าเขาแลดูโตเกินกว่าวัย แต่เป็นเพราะความสนใจและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของเขาถือว่าหาตัวจับยากสำหรับคนหนุ่มวัย 30 ปี

กษิดิศหลงใหลในประวัติศาสตร์การเมือง ชีวประวัติบุคคลสำคัญของไทย และเป็นนักเขียนที่เหนียวแน่นเสมอต้นเสมอปลายในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้มาตลอดหลายปี — กวาดตามองเฉพาะผลงานมากกว่า 60 ชิ้นที่ปรากฏใน 101 เขาเขียนทั้งเรื่องเจ้าและสามัญชน คนที่มีชื่อบนหน้าประวัติศาสตร์และคนที่ถูกหลงลืมไปจากประวัติศาสตร์ เราอาจไม่มีวันรู้จัก ‘มือพิมพ์ดีดปฐมรัฐธรรมนูญของสยาม’ ‘ท่านหญิงแห่งราชวงศ์จักรีที่ตกระกำลำบากจนต้องขายตัวเป็นทาส’ ‘ผู้สังหารสี่อดีตรัฐมนตรีอีสาน’ และอีกมากมายหลายรายชื่อ หากปราศจากการค้นคว้าและบอกเล่าข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาของเขา

แต่กษิดิศเล่าเรื่องคนอื่นเยอะ พูดถึงเรื่องตัวเองน้อย

เราพอรู้มาบ้างว่า นอกจากหมวกคอลัมนิสต์ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีผ่านเว็บไซต์ The101.world กษิดิศยังทำงานบรรณาธิการหนังสืออีกหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์และป๋วย อึ๊งภากรณ์ สนิทสนมกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนกษัตริย์นิยมอาวุโส และล่าสุด กำลังจะเข้ารับตำแหน่งอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามที่ได้จบกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

แต่ทำไมคนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์เป็นงานอดิเรกจึงเลือกเดินบนเส้นทางนิติศาสตร์? ทำไมคนคนหนึ่งจึงมีปรีดีและป๋วยเป็นไอดอลในการใช้ชีวิต? จากการอ่านหนังสือและเอกสารชีวประวัตินับร้อย เขามีข้อสังเกตอะไรต่อบันทึกประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์ และคิดเห็นต่อการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไร? ฯลฯ

เป็นที่รู้กันว่าคำบอกเล่าถึงชีวิตใครสักคนหนึ่ง คนนอกเล่าได้ไม่น่าสนใจเท่าเจ้าของเรื่องมาเล่าเอง

และนี่คือส่วนหนึ่งของตัวตน ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตของกษิดิศ อนันทนาธร




เริ่มต้นสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่

ถ้าย้อนความกลับไป ตอนเด็กๆ ผมเรียนหนังสือเก่ง แต่โลกแคบ คือไม่เคยอ่านหนังสืออื่นนอกจากหนังสือเรียนเลย ผมโตที่ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ห้องสมุดโรงเรียนผมมีแต่หนังสือเก่าๆ ไม่ค่อยมีหนังสือน่าสนใจให้อ่าน  พอจะขึ้นมัธยมปลาย ที่บ้านก็ถามว่า จะเรียนหมอหรือวิศวะ ถ้าไปเรียนที่เชียงใหม่จะมีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้มากกว่าเรียนมัธยมปลายที่ตะพานหิน ผมก็เลยไปเรียนที่มงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ อย่างที่เจ๊ผมเคยเรียนมาก่อนแล้วเข้าคณะแพทย์ฯ มช. ได้

พอไปอยู่มงฟอร์ต ผมพบว่าที่นั่นมีห้องสมุดชั้นดี มีหนังสือจำนวนมากให้เราได้อ่าน ต่างจากตอนเด็กๆ ที่ผมไปร้านหนังสือเพื่อซื้อแต่หนังสือพิมพ์ สตาร์ซอคเก้อร์ กับ ลิเวอร์พูลรายเดือน แล้วบังเอิญเวลาผมไปโรงเรียนต้องไปกับรถตู้โดยสาร ซึ่งจะไปถึงโรงเรียนตั้งแต่ 7 โมง กว่าจะเรียกเข้าแถวตอน 8 โมง ผมก็มีเวลาวันละ 1 ชั่วโมง อ่านหนังสือที่ห้องสมุด จนพบว่าหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองสนุกกว่าหนังสือเรียนวิทย์คณิตเยอะเลย กลายเป็นคำถามว่า ถ้าเราอ่านหนังสือแนวนี้แล้วชอบ จะเรียนอะไรดี น่าจะไม่ต้องเรียนหมอหรือวิศวะแล้วก็ได้ โลกของผมเพิ่งไปเปิดตอนที่อยู่ ม.ปลาย


ทราบมาว่าหลังจากนั้นคุณเลือกเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำไมถึงไม่เลือกเรียนประวัติศาสตร์ตามความสนใจ

ช่วงที่ผมเรียน ม.ปลาย ปี 2550-2552 เป็นช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บริบทตอนนั้นนักกฎหมายกำลังเฟื่องฟูขึ้นมา เราที่สนใจการเมือง สังคม เลยคิดว่าเป็นนักกฎหมายก็ดูดีนะ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเรียนประวัติศาสตร์แล้วจะจบไปทำงานอะไร เรียนรัฐศาสตร์ก็มีภาพจำว่าจบไปเป็นนายอำเภอ ผมเป็นเด็กซื่อๆ จึงคิดว่าเรียนกฎหมายเป็นผู้พิพากษาก็ได้ คิดว่าจะช่วงเวลาอย่างน้อย 4 ปีคงได้เรียนรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร

พอผมสนใจประวัติศาสตร์ ตอนมาเรียนที่ธรรมศาสตร์เลยเน้นทางสายกฎหมายมหาชน รัฐธรรมนูญ ปกครอง เป็นหลัก แต่ตอนเรียนอยู่ ผมโดดเรียนเพื่อมาฟังงานเสวนาประวัติศาสตร์บ่อย ช่วงนั้นยังไม่มีระบบไลฟ์แบบในปัจจุบัน เรียนที่รังสิต แต่วงเสวนาจัดที่ท่าพระจันทร์ ผมก็โดดไปเลย กลายเป็นคนมีโลกสองใบในการเรียนมหาวิทยาลัย โชคดีที่มีเพื่อนฝูงช่วยเหลือ ทำให้ตามเรื่องเรียนทันได้ไม่ยาก


ความรู้จากการเรียนกฎหมายได้ส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ของคุณบ้างไหม หรือในทางกลับกัน ความรู้ทางประวัติศาสตร์สนับสนุนการเรียนนิติศาสตร์ของคุณอย่างไร

คำถามแรก ผมคิดว่าโดยสภาพการเรียนกฎหมายคล้ายการเรียนประวัติศาสตร์กลายๆ เพราะนอกจากการเรียนว่าหลักของกฎหมายคืออะไร ยังต้องเรียนตัวอย่างคดี ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตว่า ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมา เขาพิจารณากันอย่างไร ทำไมสังคมในอดีตถึงออกกฎหมายแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน กฎเกณฑ์ต่างๆ มีที่มาจากไหน การเรียนกฎหมายยังช่วยเราสร้างกรอบวิธีคิดบางอย่าง เวลาเรียนเราต้องหลักบรรทัดฐาน หากฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรวัดของเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนนี้ทำให้เวลาผมอ่านประวัติศาสตร์จะพยายามเข้าใจถึงหลักคิดในยุคสมัยของเหตุการณ์นั้นๆ

ส่วนคำถามที่ว่าความรู้ประวัติศาสตร์ช่วยในการเรียนกฎหมายอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น วิชารัฐธรรมนูญ เป็นวิชาบังคับของธรรมศาสตร์ ซึ่งผมเรียนเซคชั่นของอาจารย์วิษณุ วรัญญู อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งนอกจากหลักวิชา ทฤษฎีต่างๆ แล้ว การสอนวิชานี้เน้นประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญว่า เรามีหลักการพื้นฐาน ความเป็นมาอย่างไร ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองสามารถนำทฤษฎีทางกฎหมายมาจับอย่างไร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเกิดความผันผวนทางการเมือง เกิดรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เหตุการณ์เหล่านี้อธิบายผ่านวิธีคิดทางกฎหมายอย่างไร เป็นเรื่องที่เราสนใจและได้อ่านประวัติศาสตร์มาก่อน ทำให้มีองค์ความรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนแล้ว การเรียนก็ง่ายขึ้น วิชานั้นผมได้ท็อปเซคเลย


พอคุณบอกว่า การเรียนกฎหมายและการเรียนประวัติศาสตร์คล้ายกัน ทำให้เรานึกถึงจุดร่วมกันอย่างหนึ่งที่คนนอกมักมองสองศาสตร์นี้ — ‘เน้นจำหนักมาก’

แน่นอนว่า มันใช้ความจำเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สักแต่ว่าท่องจำไปอย่างไร้ความหมาย  ขอออกตัวก่อนว่า ผมศึกษาประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน จึงไม่รู้ว่าหลักสูตรประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษาจริงๆ แล้วเรียนกันอย่างไร แต่ผมคิดว่า การจำปี พ.ศ.ได้ จำชื่อคนได้ เป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่จะทำให้เราศึกษาต่อไปได้ง่ายขึ้น ส่วนตัวผมสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงรัชกาลที่ 4-5 ลงมา ถึงช่วง พ.ศ. 2500 ดังนั้นช่วง 100 ปีนี้ก็ต้องรู้ว่าใครเป็นใคร สัมพันธ์กับใครบ้าง ปีไหนเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพื่อให้เข้าใจบริบทของสังคม

จริงอยู่ที่ถึงจำอะไรไม่ได้เลยก็เรียนได้ แต่มันก็คงเหมือนการเดินบนถนนลูกรังแย่ๆ ไปถึงที่หมายด้วยความลำบาก แต่ถ้าจำได้ ก็เปรียบเหมือนมีทางด่วนให้เดินทางได้เร็วขึ้น 

ส่วนการเรียนกฎหมาย เราอาจจะต้องท่องเนื้อมาตราต่างๆ แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้รู้หลักว่าควรใช้กฎหมายอะไรกับเรื่องไหน ใช้อย่างไร โดยรวมผมคิดว่าเป็นการจำเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจหลักกฎหมาย 


มีทริกในการช่วยจำชื่อคนหรือปีที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บ้างไหม

ขอตอบแบบอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คือเรื่องเหล่านี้มาจากฉันทะ ถ้าเราชอบก็จำได้ เหมือนผมชอบดูบอลมาก ตอนอยู่ประถม ผมสามารถจำชื่อนักบอล 20 ทีมในพรีเมียร์ลีกได้หมดเลย ไม่ใช่เฉพาะทีมลิเวอร์พูลที่ผมเชียร์เท่านั้น ยังจำไปถึงชื่อตัวสำรองของทีมอื่นได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เราจำได้เพราะอยากดูบอลให้สนุก ฉันใดฉันนั้น การจะอ่านประวัติศาสตร์ให้สนุกต้องรู้จักตัวละครพอสมควร



ในฐานะที่เป็นนักเรียนกฎหมายเก่า คุณมองปรากฏการณ์ที่ระบบยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง การไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังคดีการเมือง หรือกระทั่งคำตัดสินของศาลบางเรื่องที่อธิบายตามหลักนิติศาสตร์ได้ยากว่าอย่างไร

ย้อนไปในสมัยที่ผมยังเรียนหนังสือ ปี 3-4 เป็นช่วงที่มีชุมนุม กปปส. เกิดขึ้น เราก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ คืออาจารย์บางท่านพูดถึงหลักกฎหมายในที่สาธารณะไม่ตรงกับสิ่งที่เขียนในตำรา สิ่งที่เราเรียนมาในห้องเรียน เพื่อให้ได้ผลทางการเมืองแบบที่ท่านต้องการ ยกตัวอย่างเช่น มีคราวหนึ่งผมเรียนซัมเมอร์ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้วบังเอิญมีเวทีเสวนาของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง เสนอให้ ส.ว. มาจากกลุ่มตัวแทนอาชีพแทนการเลือกตั้ง แต่เราเพิ่งเรียนกับอาจารย์ในคณะมาว่า ส.ว.ต้องมีที่มายึดโยงกับประชาชน ต้องมีความเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วไป จบงานเลยเดินไปถามนักวิชาการที่พูดในงานนั้นว่า ข้อเสนอแบบนี้อธิบายตามหลักวิชาอย่างไร ท่านบอกว่าไม่รู้ แต่มันต้องทำแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาการเมืองไทย เราก็รู้สึกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง

แม้ว่าตัวนักกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการเสนออะไรบางอย่าง ซึ่งอธิบายความชอบธรรมตามหลักกฎหมาย หลักวิชาไม่ได้ ก็ทำให้นักวิชาการเหล่านั้นเสื่อมความน่าเชื่อถือไปเยอะ ผู้เรียนเองก็รู้สึกไม่ดี  พอเป็นศาลยิ่งแล้วใหญ่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเคสต่างๆ แล้วให้ผลทางการเมืองแปลกๆ อธิบายหลักการไม่ค่อยได้ หรือกรณีที่ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 หลายครั้งอธิบายโดยหลักวิชาไม่ได้เลย เพราะกฎหมายบอกให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสิน และมีหลักที่เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ประกันตัวอยู่ ทำให้คนสงสัยและรู้สึกว่ามีคนบางกลุ่มที่ทำอะไรก็ถูกหมด ขณะที่มีอีกกลุ่มที่ทำอะไรผิดไปหมด

ปรากฏการณ์ที่ศาลใช้อำนาจแบบทุกวันนี้ ต่อให้จะตั้งใจสนองตอบกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ยิ่งยากจะรักษาคุณค่าของกระบวนการยุติธรรม เพราะสิ่งที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมคือต้องทำให้คนเชื่อว่ามันยุติธรรม ถ้าความน่าเชื่อถือหายไป ก็ยากที่จะฟื้นฟูกลับมาได้


อีกไม่นานคุณต้องสวมหมวกอาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเต็มตัว อะไรคือหลักคิดหรือสิ่งที่คุณยึดมั่นสำหรับการสอนนิติศาสตร์

การสอนหนังสือทำให้เรารู้ว่า อะไรคือหลักวิชา อะไรคือกฎเกณฑ์ที่เราต้องสอนคนอื่น นั่นหมายความว่านอกจากสอนคนอื่นแล้ว เราต้องสอนตัวเองอยู่ทุกวันด้วยว่า เรื่องต่างๆ มีหลักคิดทางกฎหมายเป็นอย่างไร  เผอิญผมได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์ห้องติดกันที่ท่านสอนนิติปรัชญามานาน ท่านว่าการสอนหนังสือทำให้เราได้ทบทวนความคิดของตัวเอง ทบทวนท่าทีของตัวเองอยู่เสมอว่าจะทำอย่างที่พูดได้ไหม ถ้าสอนเรื่องความยุติธรรม แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ก็ควรจะอายตัวเองนะ

อีกเรื่องคือผมคิดว่า การเป็นอาจารย์ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งกว่านักศึกษาเสมอไป ไม่ได้เป็นฝ่ายถูกต้องเสมอไป และไม่เสียหายถ้าเราจะยอมรับกับนักศึกษาในเรื่องที่เราไม่รู้  ถ้ามีปรากฏการณ์ที่อธิบายตามหลักคิดทางกฎหมายไม่ได้ก็บอกว่าไม่รู้ แต่อาจจะให้ความเห็นได้ว่าเราเห็นว่าควรเป็นเช่นไร  หรือมาถามกฎหมายที่เราไม่เชี่ยวชาญ ก็บอกว่าไม่รู้ แล้วค่อยไปศึกษาหาคำตอบมาให้ทีหลัง หรือถ้านักศึกษารู้มากกว่า ก็ช่วยบอกเราก็ได้


ได้ยินมาว่าคุณมีไอดอลเป็นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลาย ทำไมเด็ก ม.ปลายคนหนึ่งถึงชอบท่านทั้งสองขนาดที่เลือกเป็นไอดอลของตัวเอง

เรื่องนี้ถูกแค่ครึ่งเดียว คือผมรู้จักปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่ประถม เรียนวิชา ส.ป.ช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) แล้วครูสอนให้รู้จักหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นมันสมองของคณะราษฎร เรารู้สึกว่าเท่มากเลย แล้วก็จำได้ว่าเขาชื่อปรีดี  พอไปเรียน ม.ปลาย ได้ไปอ่านหนังสือ ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย ของ ธนากิต กับ คู่มือรัฐประหาร ของ โรม บุนนาค ซึ่งเป็นหนังสือแนวนี้สองเล่มแรกที่ผมเริ่มอ่านตอน ม.ปลาย

ในบรรดาประวัตินายกฯ ไทยที่อ่าน เรื่องของปรีดียิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าโคตรเท่เลย เหตุผลที่มาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เพราะปรีดีเรียนกฎหมายนี่แหละ ดังนั้น ผมมีปรีดีเป็นไอดอลตอนเรียน ม.ปลาย ถูกต้อง

แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จักอาจารย์ป๋วยเลย ช่วงที่มาเรียนธรรมศาสตร์แรกๆ ก็ไม่ได้มีความประทับใจต่ออาจารย์ป๋วยเพราะธรรมศาสตร์ รังสิต มีหอสมุดกลางชื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ หน้าอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) มีอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย ถนนตรงนั้นก็ชื่อป๋วย ทำไมมีแต่ชื่อป๋วยเต็มไปหมดเลยนะ ขณะที่อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ดันไปอยู่กลางทุ่งหญ้าหน้ายิมสอง (ปัจจุบันคือ กิติยาคาร) ไม่มีใครไปแถวนั้นเลย ผมนี่หงุดหงิดมาก

บังเอิญว่าระหว่างที่ผมเรียนอยู่ ราวปี 2555 อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับพวก จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมงานฉลอง 100 ปีชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งจะครบรอบในปี 2559  อาจารย์สุลักษณ์สนุกกับการฉลองครบรอบ 100 ปีให้บุคคลสำคัญของโลก และรู้ว่าการฉลองเหล่านี้ต้องเตรียมงานล่วงหน้าหลายปี ก่อนหน้านั้นประมาณปี 2554 เป็นช่วงที่ผมเริ่มรู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ไปฟังปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ฟังเสวนา เริ่มอ่านหนังสือของอาจารย์ อาจารย์ชวนไปไหน ผมก็ไป อาจารย์เลยชวนมาทำงานโครงการอาจารย์ป๋วย ประชุมกันสองเดือนครั้ง ได้นั่งบันทึกการประชุม เจอผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย ทำให้เราเริ่มรู้จักอาจารย์ป๋วยมากขึ้น อ่านหนังสือเกี่ยวกับอาจารย์ป๋วยมากขึ้น ก็คิดว่าเรื่องราวของท่านมีสีสัน มีชีวิตชีวาดี

ช่วงที่ผมเรียนจบและเรียนต่อปริญญาโทกฎหมายมหาชนที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โครงการที่อาจารย์สุลักษณ์ทำอยู่ในนามมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปมา 2-3 ปี เขาก็ว่าธรรมศาสตร์ควรจะรับโครงการนี้มาเป็นของมหาวิทยาลัย เลยไปเสนอไอเดียให้อธิการบดีขณะนั้นคืออาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ซึ่งท่านก็ไม่ติดขัดอะไร แต่ต้องหาคนมาทำงานในฐานะโครงการของมหาวิทยาลัย ผมเรียนตอนค่ำ ว่างช่วงกลางวัน เลยได้มาทำงานให้ธรรมศาสตร์ในโครงการนี้ด้วยความบังเอิญ

หนึ่งในงานของโครงการที่ผมเสนอ คือ การนำงานเขียนอาจารย์ป๋วยมาชำระใหม่ให้เป็นระบบระเบียบ และรวมชุดอย่างสมบูรณ์เพื่อพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ผมมีโอกาสอ่านงานอาจารย์ทุกชิ้น ตามหาว่านอกจากงานที่เคยรวมตีพิมพ์มาก่อนแล้ว มีงานชิ้นอื่นหลงเหลืออยู่อีกไหม อ่านมากๆ เข้าก็สนุก และรู้สึกเหมือนผมได้นั่งคุยกับอาจารย์ป๋วยอยู่ ท่านอาจจะตายไปเป็นสิบปีแล้ว แต่ข้อเขียนของท่านมีชีวิตชีวามาก เทียบกันแล้วอ่านงานของอาจารย์ปรีดียังไม่สนุกเท่า เพราะท่านเล่าแต่ข้อเท็จจริงตามแบบนักกฎหมาย เกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร ผลคืออะไร ส่วนอาจารย์ป๋วยเล่าเรื่องแบบมนุษย์ อะไรคือความผิดพลาดของท่าน เรื่องตลกโปกฮา มีอารมณ์ขัน เราอ่านแล้วก็ชอบ คิดว่าคนคนนี้เท่จังเลย มีวิธีคิดที่ตรงกับเรา

เรื่องที่จับใจผมมากเป็นเรื่องที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงการศึกษา เช่น ท่านเข้าใจมุมมองของเด็ก อย่างปี 2512 ในช่วงสงครามเย็น ท่านเคยเขียนไว้ว่า “ผู้ใหญ่เคียดแค้นกัน แต่พวกเขาให้เยาวชนรักกัน และผู้ใหญ่พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง เยาวชนจึงหมดที่พึ่ง เสื่อมศรัทธาสิ้นนับถือ” ผมคิดว่าใช่เลย เราเคยรู้สึกต่อครูบาอาจารย์บางท่านแบบนี้ ผมเลยมีอาจารย์ป๋วยเป็นไอดอลเพิ่มมาอีกคน

สำหรับผม อาจารย์ปรีดีถือเป็นแรงบันดาลใจ ผมรู้จักท่านน้อยในช่วงแรกๆ คิดเพียงแค่ว่าเขาเท่มาก เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนอาจารย์ป๋วยเป็นคนที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์การเมืองในแง่ที่เป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะหลังจากนั้นผมได้ตามอ่านชีวประวัติอาจารย์ปรีดีในแง่มุมของมนุษย์ เช่น ท่านรักกับภรรยาท่านอย่างไร ชอบกินอะไร เป็นคนอย่างไร มีชีวิตแบบไหน แล้วพบว่าทุกอย่างที่ท่านคิดเป็นไปเพื่อคนอื่นแทบทั้งหมด ก่อนลูกท่านจะตาย ท่านบ่นว่าน่าเสียดายที่อายุสั้น ยังไม่ทันได้ทำประโยชน์ให้ชาติได้คุ้มค่าที่เกิดมาเลย ผมก็เฮ้ย ลูกตายแทนที่จะเสียใจที่ไม่มีโอกาสกลับไปพบหน้าลูก ดันบอกว่าเสียดายที่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อชาติให้คุ้ม พ่อแบบนี้จะมีสักกี่คน


มีไอดอลคนอื่นที่ไม่ใช่สองท่านนี้ไหม

ก่อนจะมาอินกับท่านทั้งสอง ผมมีไอดอลเป็นนักบอลนะ จำได้ว่า ตอน ม.ต้น ครูเคยให้กรอกชื่อบุคคลต้นแบบ ผมยังไม่มีคนที่นับถือ เลยกรอกไปว่า ชาบี อลอนโซ (Xabi Alonso) เป็นกองกลางของลิเวอร์พูล เท่ดี เล่นเป็นกองกลางตัวรับ คุมจังหวะเกม โยนบอลแม่น จ่ายบอลให้เพื่อนดี รู้สึกว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์ เป็นคนสำคัญของทีม



คนรุ่นใหม่ที่สนใจและเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของไทยอย่างคุณมีไม่มาก อะไรคือเสน่ห์ของมันที่ทำให้คุณหันมาศึกษาค้นคว้าและผลิตงานเขียนอย่างจริงจัง

คำถามนี้ตอบยากเหมือนกันนะครับ คำตอบที่ง่ายที่สุดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้สามารถผลิตงานเขียนได้อย่างจริงจัง เพราะ 101 ให้พื้นที่เขียนบทความทุกเดือน มีคนคอยทวงงานอยู่ตลอด เขียนทุกเดือนมาตั้งแต่มีนาคม 2560 จนถึงปัจจุบันนี้ได้ เพราะ 101 แท้ๆ ไม่งั้นคงไม่มีแรงจูงใจให้มาเขียนอะไรบ่อยขนาดนี้

ส่วนที่ผมสนใจประวัติบุคคล เพราะรู้สึกว่าสนุกดี ได้เห็นชีวิตของคนอื่น พูดง่ายๆ ว่า ผมอาจจะขี้เสือกน่ะ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปถึงสภาพแวดล้อมนั้น ตั้งแต่เด็กๆ ผมโตมาในครอบครัวคนจีน กง (ปู่) ของผมมาจากเกาะไหหลำ คอยมาดูแลหลานเวลาผมเล่นอยู่ในบ้าน แล้วเขาจะชอบเล่าความทรงจำในวัยเด็กให้ฟัง มาจากเกาะไหหลำอย่างไร ตอนสงครามโลกครั้งที่สองมีความลำบากอย่างไร หนีสงครามมาแบบไหน ลงเรือกี่วันมาถึงไทย มาถึงเมืองไทยต้องทำงานอะไรบ้าง ลำบากขนาดไหน เขาจะเล่าแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา ผมก็โตมากับเรื่องเล่าในอดีตของกง และฟังได้อยู่เรื่อยๆ เพราะงั้นผมถึงชอบประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยชีวิตของคน

แต่พอเราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แบบที่สอนในโรงเรียน เรียนเรื่องอาณาจักรโบราณ น่านเจ้า ฟูนัน ฯลฯ เราไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับชีวิตปัจจุบันเลย หรือต่อให้สอนประวัติศาสตร์ที่ใกล้เข้ามาหน่อยอย่างกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี เราก็รู้แค่ว่ามีตัวละครชื่อนี้และเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่เห็นชีวิตชีวาของเขา เลยรู้สึกว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้แห้งแล้งมาก

การศึกษาชีวประวัติของคนที่มีชื่อเสียงบนหน้าประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตเขาเป็นแบบนี้เอง มีความเป็นมนุษย์ทั้งด้านบวกด้านลบ ในแง่หนึ่งมันช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ที่เรารับรู้ ทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมักสอนแค่ว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ผมศึกษาประวัติศาสตร์โดยตั้งคำถามว่า คนคนหนึ่งคิดอะไรถึงได้ทำเรื่องเช่นนั้นลงไป แล้วทำไมถึงคิดแบบนั้น สิ่งเหล่านี้เราจะรู้ได้ผ่านการทำความเข้าใจบริบทรอบตัวเขา เรียนรู้ชีวิตของเขา


ก่อนหน้านี้ที่คุณบอกว่าสนใจประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา เกี่ยวไหมว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลมากมายให้คุณศึกษาด้วย

ผมสนใจประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา เพราะผมอ่านเอกสารก่อนหน้าสมัยนั้นไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) พวกพงศาวดารต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เอกสารต่างๆ ภาษาไทยที่ใช้มันแบบโบราณ ผมอ่านไม่เข้าใจ

แล้วในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็มีเอกสารให้อ่านจำนวนมาก เป็นช่วงที่เริ่มมีการจดบันทึกเรื่องราวเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่แบบพงศาวดารแล้ว และผมสนใจประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นหลัก เพราะผมมีไอดอลเป็นอาจารย์ปรีดี ผมเลยศึกษาช่วงเวลาตั้งแต่ท่านเกิดจนตาย แล้วเผอิญตัวละครที่เรารู้จักส่วนใหญ่มีชีวิตในช่วงนี้ มันเลยสนุก


เวลาศึกษาประวัติบุคคล มีแง่มุมไหนของชีวิตที่คุณสนใจเป็นพิเศษไหม เช่น มุมมองทางการเมือง เรื่องราวในครอบครัว ฯลฯ

อันที่จริง ประวัติบุคคลที่เขียนอย่างละเอียดก็มีไม่มากครับ สำหรับคนที่เขียนไว้เยอะๆ อย่างอาจารย์ป๋วยหรืออาจารย์ปรีดี ผมเริ่มต้นจากการสนใจว่า งานที่เขาลงมือทำเพื่อสังคมมีอะไรบ้าง และผ่านการคิดมาอย่างไร ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ลึกลงไปมากกว่าผลงาน ผมก็สนใจในแง่ที่เป็นมนุษย์ เช่น โตมาอย่างไร อ่านหนังสืออะไร เรียนอะไรมาบ้าง มีความรักแบบไหน  ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์ให้ประโยชน์แก่เราในฐานะที่เป็นบทเรียนสอนสิ่งต่างๆ อย่างเวลาเราเป็นวัยรุ่น มีความรักแล้วอกหัก ก็อยากรู้ว่าคนเขาอกหักแล้วทำอย่างไร ตอนอกหักนี่เป็นเรื่องใหญ่ของเราเลยนะ สำหรับคนดังๆ ในประวัติศาสตร์จะมีความรู้สึกแบบนี้บ้างไหม


แล้วที่ผ่านมาเคยเจอประวัติศาสตร์คนอกหักบ้างหรือยัง

นึกไม่ออกเหมือนกัน เข้าใจว่าเพราะบริบทสังคมต่างกัน คนสมัยก่อนแต่งงานกันเร็วมาก ตั้งแต่อายุยังน้อย อาจจะไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้มาก แล้วอีกอย่างหนึ่งถึงจะมี แต่ก็ยากที่จะเขียนออกมา เพราะจะกระทบกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแน่นอน


ถ้ามองย้อนกลับไป คุณคิดว่าภาพการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนควรจะเป็นแบบใด

ผมคิดว่าอย่างน้อยเนื้อหาควรเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเด็กก่อน ยกตัวอย่างเช่น รู้เรื่องราวของจังหวัดที่เราอยู่ ผมเพิ่งมารู้ประวัติศาสตร์ของบ้านผม (อำเภอตะพานหิน พิจิตร) ตอนเรียนมงฟอร์ต เพราะเขาให้การบ้านถามว่า ที่มาของบ้านตัวเองมีชื่อมาจากไหน ที่โรงเรียนเดิม ผมไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้ ภาพลักษณ์ของวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกลายเป็นวิชาสำหรับเด็กเรียนไม่เก่ง วิชาเลือกของเด็กเก่ง ที่โรงเรียนจัดให้มีแต่วิทย์คณิต   

ในความรับรู้ของผม เราเรียนประวัติศาสตร์ไกลตัวเยอะมาก หลักสูตรอาจจะสอนเนื้อหาแกนกลางบางอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันบางอย่างได้ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใกล้ตัวเด็ก เมื่อเทียบกับเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เข้ามาหน่อยอย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามเวียดนาม สงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองอย่าง 6 ตุลา 14 ตุลา สอนได้นิดเดียวก็เลิก หรือไม่ก็ไม่พูดถึงเลย แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่รัฐไม่อยากพูด แต่ถ้าผู้มีอำนาจใจกว้างพอก็ต้องเล่าประวัติศาสตร์ได้ทั้งด้านบวกและลบ เป็นความทรงจำร่วมกันของคนในชาติ หรืออย่างน้อยควรเปิดโอกาสให้เด็กที่โตขึ้นเห็นมิติทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรากล้าพูด เด็กนักเรียนจะมีบทสนทนาร่วมกับผู้ใหญ่ได้ เวลาผมไปคุยกับคนอายุ 70-80 คนเหล่านี้มีความทรงจำเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผมรู้เรื่องนี้เลยคุยกับเขารู้เรื่อง ถ้าเราสอนประวัติศาสตร์ใกล้ตัวเด็กขึ้นมาหน่อย พวกเขาจะกลับไปคุยพ่อแม่ ปู่ย่าตายายรู้เรื่องมากขึ้น บทสนทนาของคนต่างวัยจะไปต่อกันได้


เวลาคุณเขียนบทความหรือผลิตงานสื่อต่างๆ มีวิธีการทำงานอย่างไร มีกรอบในการ shape ประเด็นเนื้อหาแบบไหน

เวลาเขียนงานชิ้นหนึ่ง ผมจะตั้งธงก่อนว่าจะเขียนเรื่องของใคร เล่าเรื่องอะไร แต่ละเดือนมีวันสำคัญอะไรที่เราอยากเขียนถึงไหม หาอะไรมาเล่าได้ เช่น เดือนกรกฎาคมนี้ในหลวงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา ผมอยากเขียนบทความเฉลิมพระเกียรติในแบบของเรา เขียนแบบที่ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของท่าน มีมุมมองความคิดอย่างไร ก็มาหาหนังสือในห้องสมุดว่ามีบทสัมภาษณ์หรือข้อเขียนเกี่ยวกับความคิดของท่านบ้างไหม ต้องขอบคุณหอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งกบดานในการค้นคว้าข้อมูลของผม ยิ่งตอนนี้มีฐานข้อมูลออนไลน์ (TUDC) ยิ่งทำให้เราเข้าถึงหนังสืองานศพ หนังสือเก่าจำนวนมาก ช่วยให้เรามีวัตถุดิบเขียน

อีกแบบหนึ่ง คือ เราไปอ่านหนังสืออะไรสักอย่างแล้วรู้สึกสนุก อยากเขียนเกี่ยวกับมัน เช่น หนังสือ สาส์นสมเด็จ ผมซื้อของสำนักพิมพ์ต้นฉบับมาครบชุด 10 เล่ม เป็นหนังสือที่ต้องนั่งอ่านทุกหน้า เพราะไม่มีดัชนีค้นคำ เนื้อหาเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เวลาผมอ่านเจอประเด็นอะไรน่าสนใจ ก็จะเขียนทดไว้ในหน้าสารบัญ แล้วมาดูว่าเล่าอะไรได้บ้าง อย่างเรื่อง รก ท่านถามกันว่า รก มีคำราชาศัพท์ว่าอะไร ไปไล่ถามคนอื่นมาเยอะแยะ ไม่ได้คำตอบสักที ผมต้องไล่ตามหาไปพร้อมๆ กับคนเขียนในแต่ละภาคเพื่อนำมาเล่าต่ออีกที

บางครั้งผมก็คิดจากกระแสสังคม เช่น ตอนมีกระแส #หญิงเองก็ลำบาก ผมคิดตั้งต้นว่าเคยมีเจ้าหญิงพูดแบบนี้บ้างไหม ชีวิตของเจ้าหญิงมีความลำบากอย่างไร จำได้ว่าเคยอ่านเจอมาก่อนเรื่องหม่อมเจ้าผู้หญิงขายตัว ก็กลับไปอ่านใหม่เพื่อนำมาเขียน และค้นหาเพิ่มเติมจากหนังสือที่มีหัวข้อใกล้เคียงกัน



ผลงานหลายชิ้นของคุณเขียนถึงชีวประวัติบุคคลที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม การศึกษาชีวประวัติคนเหล่านี้สำคัญอย่างไร และให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร

อย่างที่บอกไปว่า การอ่านประวัติบุคคลทำให้ภาพการเมืองหรือภาพประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักสนุกมากขึ้น และผมคิดว่า ในแง่การใช้ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง มีใครหลายคนส่งอิทธิพลตั้งมากมาย เราอ่านเรื่องพวกนี้และเขียนถึงเพื่อบอกว่า คนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองย่อมมีคนอื่นอยู่เบื้องหลัง รวมถึงมีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขา และไม่ใช่แค่ชีวิตของเจ้าหรือคนดังเท่านั้นที่สำคัญ สามัญชนก็มีแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจเหมือนกัน แน่นอนว่า ประวัติคนสามัญอาจจะหายาก มีหนังสืองานศพที่บอกเล่าเรื่องราวเป็นหลัก ซึ่งก็มีข้อจำกัดว่าอาจจะเล่าแต่เรื่องด้านบวกเท่านั้น หน้าที่ของผมจึงเป็นการกรองเรื่องเล่าเอาเฉพาะที่ทำให้เจ้าของประวัติมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้

เวลาที่ผมอ่านประวัติบุคคลเหล่านี้ ก็จะเห็นชีวิตของมนุษย์ว่ามีสุข มีทุกข์แตกต่างกัน เราอ่านประวัติของเจ้าก็เห็นความทุกข์ของเจ้าแบบหนึ่ง อ่านประวัติสามัญชนที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในสังคมก็เห็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง คนเหล่านี้มีความรัก มีครอบครัว ถึงที่สุดแล้วเราจะเห็นชีวิตมนุษย์ที่อยู่คนละตำแหน่งแห่งที่ในสังคม และผมหวังว่า คนที่อ่านจะเข้าใจเช่นกันว่า ชีวิตมนุษย์ก็อย่างนี้ มีสุข มีทุกข์

อีกเรื่องหนึ่ง คือ การศึกษาประวัติคนตัวเล็กตัวน้อยทำให้เราเห็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นต่อคนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่คนที่มีชื่อเสียง ผมอยากให้พื้นที่เรื่องราวของคนเหล่านี้มีมากขึ้นในยุคสมัยที่มีสื่อต่างๆ มากขึ้น การจดบันทึกเรื่องราวทำได้ดีขึ้น เป็นที่รับรู้วงกว้างขึ้นได้


เวลาอ่านประวัติศาสตร์บุคคลที่เป็นชนชั้นสูง เชื้อพระวงศ์ คุณเห็นความตรงไปตรงมาในการเล่าเรื่อง ครบถ้วนทั้งด้านบวกลบของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน

ขอยกตัวอย่างบทความที่ผมเขียนเรื่องหม่อมราชวงศ์เผ่าเทพ เทวกุล ซึ่งอ้างจากหนังสือจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระยาอนุมานราชธนชื่อ ให้พระยาอนุมาน และส่วนหนึ่งใน สาส์นสมเด็จ หม่อมราชวงศ์เผ่าเทพเป็นหลานเขยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่กินยาฆ่าตัวตาย โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เล่าว่าเขาทำแบบนั้นเพราะป่วยเป็นวัณโรค ไม่อยากให้ติดเมียหรือคนใกล้ชิด พอเขาเสีย ลูกหลานก็มาขอให้ท่านเขียนประวัติให้ แต่ท่านก็ว่าจะเขียนให้ได้อย่างไร ถ้าเขียนว่าเผ่าเทพกินยาตายเพราะเป็นวัณโรค จะมีคนหาว่าท่านปกป้องหลาน คือหม่อมราชวงศ์เจตนีดิศ เพราะคนลือกันว่าเขาทะเลาะกับเมียจนฆ่าตัวตาย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เลยให้พระยาอนุมานราชธนเขียนแทน

กรณีนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้พูดถึงหลักในการเขียนประวัติบุคคล ซึ่งท่านก็เขียนมาเยอะมาก ว่าหลักของท่านคือการเขียนชมนะ ไม่ใช่เขียนยอ เขียนชมคือพูดในสิ่งที่เขาเป็น ตามที่เป็นจริง  ส่วนเขียนยอคือเขียนเพื่อเอาใจเจ้าภาพ อาจจะไม่จริงก็ได้  แม้จะให้พระยาอนุมานราชธนเขียนประวัติหม่อมราชวงศ์เผ่าเทพแทน แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ช่วยกำกับว่าควรจะเลือกเขียนอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เผ่าเทพเป็นหม่อมราชวงศ์ที่กลับมาประเทศไทยช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว อยากจะเข้ารับราชการ แต่ทำไม่ได้ เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ให้เจ้ามารับราชการ เผ่าเทพเลยไปทำงานบริษัท พอเจริญก้าวหน้าระดับหนึ่งก็มีคนชวนกลับมารับราชการ บอกว่าจะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เผ่าเทพกลับปฏิเสธและตัดสินใจทำที่เดิมต่อ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็บอกพระยาอนุมานราชธนว่า นี่แสดงให้เห็นขัตติยะมานะ คือมีความเป็นเชื้อเจ้า หยิ่งในศักดิ์ศรี เรื่องนี้ท่านเจ้าคุณน่าจะเขียน แต่ต้องระวังอย่าให้เขียนเป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป เดี๋ยวท่านเจ้าคุณจะลำบาก สุดท้าย หนังสืองานศพของหม่อมราชวงศ์เผ่าเทพก็ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ คงเกรงว่าจะเป็นเรื่องการเมืองมากไป

นี่เป็นตัวอย่างที่ผมรู้มา สังเกตว่าคนเหล่านี้ส่วนมากก็เขียนประวัติตามความเป็นจริงนะ แต่เรื่องที่อาจจะกระทบบุคคลที่สาม ก่อปัญหาทางการเมืองจะไม่เขียนถึง เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งเวลาเราอ่านประวัติบุคคลต่างๆ ผ่านหนังสืองานศพจะเจอแต่ด้านดีทั้งนั้นเลย ในแง่หนึ่งมันก็ทำให้คนไม่เป็นมนุษย์ เพราะการเป็นมนุษย์ต้องมีทำผิดพลาด ใครจะทำถูกต้องหมดทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้


ยุคสมัยเปลี่ยนไป การจดบันทึกประวัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าเสียดาย คือ สมัยก่อนเขายังบันทึกถึงเรื่องต่างๆ ได้ทั่วไป เช่น ใน สาส์นสมเด็จ ที่ผมอ่านแล้วขำดีนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เล่าว่า เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 สร้างพระราชวังดุสิตแล้ว ทรงพระดำริจะประทับชั่วคราว เฉพาะเสาร์อาทิตย์  จึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเกรงแต่จะทรงพระเสียคน เมื่อคุ้นอากาศสบายแล้ว จะทนที่ในวังไม่ไหว” หลังจากนั้นไม่ถึงปี รับสั่งว่า “กรมดำรง ฉันเสียคนเสียแล้วอย่างเธอว่า ปีนี้เข้ามาถูกร้อนในวังถึงเป็นลม” จะเห็นได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 สวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไม่ใช่ในพระบรมมหาราชวัง

นอกจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระยานริศฯ แล้ว ก็มีหม่อมเจ้า หรือข้าราชบริพารที่เขียนบันทึกเรื่องเล่าในราชสำนักไว้บ้างจำนวนหนึ่ง ทำให้ยังพอเห็นภาพราชสำนักในรัชกาลที่ 5-6 ได้ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 6 เองก็ทรงพระราชนิพนธ์อัตชีวประวัติต้นรัชกาลไว้ด้วย พอมาถึงรัชกาลที่ 7-8 ก็น้อยลงมาก อย่างในรัชกาลที่ 9 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์ท่านมาก แต่ที่เป็นข้อเขียนของพระองค์ท่านเอง หรือบทสัมภาษณ์ของพระองค์ท่านเองกลับมีไม่มาก ที่มากคือพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ  ครั้นถึงในรัชกาลปัจจุบัน ผมเห็นว่า พระราชประวัติของพระองค์ท่านแทบไม่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางเลย

มองไปในฝ่ายอนุรักษนิยมหรือรอยัลลิสต์แบบไทยๆ สมัยนี้ก็ไม่ค่อยเห็นการสร้างความชอบธรรมแก่ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันผ่านเรื่องเล่า ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องในหลวงรัชกาลปัจจุบันใช้พระปรมาภิไธยว่า ‘พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคำว่า ‘เกล้าเจ้าอยู่หัว’ เป็นพระนามที่ใช้เรียกแผ่นดินแทนการเรียกชื่อกษัตริย์ กล่าวคือรัชกาลที่ 5 เราตั้งชื่อแผ่นดินว่า ‘พระจุลจอมเกล้าฯ’ และเรียกท่านตามนั้น จะไม่เรียกชื่อ ‘จุฬาลงกรณ์’ หรือรัชกาลที่ 6 ชื่อ ‘วชิราวุธ’ เราเรียกท่านว่า ‘พระมงกุฎเกล้าฯ’ เป็นขนบแบบเดิมที่เราจะไม่กำเริบไปเรียกชื่อตัวท่าน (พระบรมนามาภิไธย) แต่เรียกชื่อที่เฉลิมขึ้นมาใหม่ในฐานะชื่อแผ่นดิน

ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชื่อพระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 8 หรือ 9 ก็เลิกเรียกชื่อแผ่นดิน กลายเป็นการเรียกชื่อตัวกษัตริย์ เพราะถือว่าในระบอบประชาธิปไตย แผ่นดินเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นของกษัตริย์ คำถามคือ ทำไมรัชกาลปัจจุบันถึงกลับมามีพระนามแผ่นดินได้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมเขียนบทความลง 101 ไป เพราะต้องการคำอธิบาย ผมเองก็ไม่ทราบ แต่ก็ไม่มีใครมาตอบเลย

การกระทำของในหลวงที่ต่างไปจากประเพณีเดิมควรต้องมีคำอธิบายหรือสร้างเรื่องเล่าบางอย่างเพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าคุณไม่สร้างความชอบธรรมผ่านเรื่องเล่า คนอาจจะมองว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผล กลายเป็นคำครหานินทา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่ายิ่งเราอยู่ในบริบทที่สถาบันกษัตริย์ถูกตั้งคำถามท้าทายความชอบธรรม ฝ่ายอนุรักษนิยมเองก็จำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมผ่านเรื่องเล่าให้ได้


มันก็ฟังดูท้าทายฝ่ายอนุรักษนิยมและรอยัลลิสต์ไทยอยู่เหมือนกัน กับการสร้างเรื่องเล่าอธิบายปรากฏการณ์ การกระทำของสถาบันให้สมเหตุสมผล ท่ามกลางห้วงขณะที่คนส่วนหนึ่งของสังคมมองว่าคนทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

ใช่ครับ แต่ถ้ามองกลับกัน เมื่อมั่นใจว่า สถาบันทำในสิ่งที่ถูก เราจะกลัวการเอ่ยถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทำไม ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสดีมากๆ ด้วยซ้ำที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถาบัน เพื่อพิสูจน์ว่า สถาบันจะดำรงอยู่ได้แม้เกิดการตั้งคำถาม การทดสอบมากมาย 


คุณคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หายไปในช่วงหลังคืออะไร กฎหมายอย่างมาตรา 112 มีส่วนไหม

น่าจะเป็นเรื่องความกลัว เกรงใจ หรือกังวลอะไรบางอย่าง กฎหมายอาจจะมีส่วนที่ทำให้คนไม่กล้าเขียนถึงในทางวิพากษ์วิจารณ์ แต่คำถามคือ ถ้าไม่เขียนในทางวิพากษ์วิจารณ์ล่ะ เผยแพร่ได้ไหม ยกตัวอย่างพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เรารู้เรื่องเกี่ยวกับพระองค์ท่านน้อยมาก ก่อนที่จะมาเป็นทหาร ทรงมีชีวิตอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง เราไม่ทราบเลย ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่แล้ว เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพระองค์ท่านเยอะมาก พระประยูรญาติมีใครบ้าง การศึกษาเป็นอย่างไร ฯลฯ ก็น่าคิดว่า พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีเล่าไม่ได้เลยหรือ ได้แต่หวังว่า เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม เช่น ครบ 48 พรรษา (4 รอบนักษัตร) จะมีการจัดทำพระราชประวัติอย่างเป็นกิจจะลักษณะตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาให้พสกนิกรได้รับรู้


มองในระยะยาว ถ้าเราไม่เขียนถึงหรือบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้เลย จะส่งผลต่อประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร

มันจะยิ่งทำให้ประวัติศาสตร์แห้งแล้ง และอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย ยิ่งไม่เล่า หรือทำให้เล่ายาก หรือพูดถึงไม่ได้ คนจะยิ่งสงสัยว่ามีความจริงอะไรแอบซ่อนอยู่ เสี่ยงต่อการเกิดความเท็จ เช่น ข่าวลือซึ่งเล่าต่อๆ กันมาจะกลายเป็นสิ่งที่คนเชื่อว่าจริง ทั้งที่อาจจะไม่มีมูลความจริงเลย  นี่ผมพูดแบบคนที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์เต็มที่เลยนะ  



ถ้าให้คุณนิยามตัวเอง จุดยืนทางการเมืองของคุณถือว่าเป็นฝ่ายไหน ซ้ายหรือขวา ถือว่าเป็นรอยัลลิสต์ไหม

ตอบยากเหมือนกัน ไม่รู้ว่าผมจะเป็นอะไรดี ผมคิดว่าบ้านเมืองควรเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีคุณค่าในทางความรู้สึก ในแง่วัฒนธรรม อาจจะเป็นเพราะผมชอบอะไรเก่าๆ อ่านประวัติศาสตร์แล้วนึกถึงบรรยากาศสมัยก่อน แต่เราไม่ได้อ่านแล้วรู้สึกแบบเดียวกับที่ฝ่ายอนุรักษนิยมบางกลุ่มรู้สึก เช่น ถ้าอ่าน สี่แผ่นดิน บางคนอาจคิดว่านี่เป็นบ้านเมืองที่ดีที่ต้องการให้กลับมา ขณะที่ผมคิดว่ามันเป็นตัวอย่างความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ชัดเจน ลำดับชนชั้นต่างๆ ควรหายไป ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังสั่งให้ยกเลิกการหมอบคลานเลย แสดงว่าสถาบันก็เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรามีจุดตรงกลาง เป็นประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี


แต่บางคนอาจจะแย้งว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับการมีสถาบันกษัตริย์มันไปด้วยกันไม่ได้

ตามหลักทฤษฎีอาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะประชาธิปไตยยึดถือคุณค่าหลักว่าประชาชนเป็นใหญ่ จึงตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของกษัตริย์ในสภาพที่ประชาชนเป็นใหญ่ได้ แต่ในอดีตมันอธิบายได้นะว่า พระมหากษัตริย์ถือเป็นมหาสมมติของประชาชน คือการสมมติให้บุคคลหนึ่งเป็นหัวหน้า  สิ่งที่สำคัญกว่า คือระบอบการเมืองปัจจุบันเข้มแข็งพอไหม ถ้าบอกว่า บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารต้องเข้มแข็งพอจะคานอำนาจกับสถาบัน เช่น การที่พระมหากษัตริย์ทำอะไรบางอย่างได้โดยไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว เพราะถ้าไม่มีคนเซ็นรับสนอง เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้น ประชาชนก็จะวิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยตรง เราต้องทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารไม่ออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ใช้พระราชอำนาจทำได้ทุกอย่าง เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ให้ปลอดพ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์


สถาบันกษัตริย์ควรปรับตัวอย่างไร และควรมีที่ทางในสังคมแบบไหน

ภาพของสถาบันกษัตริย์ในความทรงจำของคนมักนึกถึงภาพสมัยโบราณว่า พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เป็นมนุษย์วิเศษ เราเลยไม่ค่อยเห็นชีวิตท่านที่เป็นมนุษย์ ในรัชกาลที่แล้ว สถาบันก็ปรับภาพลักษณ์ให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในต่างจังหวัด เสด็จมาทรงดนตรี มาร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ฯลฯ ในแง่นี้เจ้านายก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่อยู่ในสถานะที่แตกต่างออกไป โดยเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งในรัฐธรรมนูญ เหล่านี้ผมเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ดังเช่นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา…ข้าพเจ้าบอกกับลูก ๆ ของข้าพเจ้าเสมอว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิง พวกเขาจึงไม่เหมือนกับใครๆ เพราะเขามีหน้าที่ต่อประชาชน ไม่ใช่สิทธิ แต่หน้าที่  เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงต้องพยายามทำตัวของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้ ให้มีคุณค่าสมกับศักดิ์เจ้าฟ้าเสมอ” หรืออย่างพระบรมวงศานุวงศ์ที่ปรับตัวกับโลกปัจจุบันได้มาก เช่น ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ฯ ทรงพระสเลนเดอร์ อะไรแบบนี้ ผู้คนก็รู้สึกว่าใกล้ชิด เข้าถึงท่านได้มากขึ้น


ก่อนหน้านี้คุณเคยทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อย่างใกล้ชิด พอเล่าได้ไหมว่าทำอะไร และเห็นแง่มุมวิธีคิดในการทำงานที่น่าสนใจของปัญญาชนสยามผู้นี้บ้าง

หลักๆ คือทำหนังสือกับอาจารย์สุลักษณ์ ตอนแรกผมอ่านหนังสือของอาจารย์แล้วสนุก เพราะเล่าเรื่องคนที่ท่านรู้จัก ซึ่งเขียนไปไกลกว่าขนบแบบสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คือเริ่มพูดด้านลบขึ้นมาบ้าง วิจารณ์บ้าง บางทีเราก็ตื่นเต้นนะว่ากล้าด่าขนาดนี้เลยเหรอ แปลกใหม่ดี  พอเริ่มรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ผมก็เสนอให้อาจารย์ทำหนังสือแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งอาจารย์คงรำคาญ ตอนปี 2556 เลยบอกให้ผมมาเป็นบรรณาธิการ ทำหนังสือให้  ซึ่งผมไม่เคยทำหนังสือมาก่อน อาจารย์ก็ไม่สอนอะไรมาก สอนตอนที่ตรวจแก้งานอะไรไปเลย ก็เอาต้นฉบับมารวบรวม แก้ไขข้อความ ใส่รูปประกอบ ประสานงานต่างๆ ฯลฯ

ช่วงแรกๆ นั้น อาจารย์ยังเขียนหนังสืออยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น ก็ใช้วิธีพูดบอกคำให้พิมพ์แทน ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของอาจารย์สุลักษณ์ คือ อาจารย์คิดชัดเจนมาก เราในฐานะเป็นคนพิมพ์ดีด ทำงานง่ายมาก เพราะอาจารย์คิดในหัวเสร็จ พูดเรียบเรียงเป็นประโยคได้เลย ไม่ต้องแก้ พิมพ์เสร็จให้อาจารย์ดูแค่คำผิด แล้วก็อาจจะเขียนเติมเนื้อหาเข้าไปบ้าง

เรื่องที่อาจารย์สนใจ มีเรื่องศาสนา ประวัติศาสตร์ เจ้านาย การเมืองเล็กน้อย เรื่องศาสนากับเจ้าเป็นเรื่องที่อาจารย์มีความรู้อยู่ในหัว แทบไม่ต้องค้นหนังสือมาเขียนงานเลย แต่ทำงานร่วมกันไปนานพอจะรู้ว่าอาจารย์ก็มีข้อมูลจำกัด เป็นความทรงจำที่เล่าซ้ำ พูดเรื่องที่ตัวเองรู้ในแง่มุมเดิมๆ ตอนที่ผมทำงานใหม่ๆ ไฟแรง เวลาอาจารย์เล่าเรื่องจากความทรงจำว่า ใครพูดอะไรอย่างไร บางครั้งผมก็ไปเถียงว่า เขาไม่ได้พูดแบบนี้ แต่พูดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ทักท้วงได้ อาจารย์ให้เกียรติเรามาก บางทีก็ให้ผมช่วยอ่านบทความ ดูให้หน่อยว่ามีอะไรผิดไหม แก้ให้ที


คุยเรื่องการเมืองกับอาจารย์ไหม เคยเห็นแย้งกันบ้างหรือเปล่า

เราคุยเรื่องการเมืองกันน้อย เรามีคุณค่าพื้นฐานบางอย่างที่เห็นตรงกัน แต่ในแง่วิธีการอาจจะเห็นต่างกัน ผมเลยเลือกไม่พูดดีกว่า เราสนใจประวัติศาสตร์เรื่องเจ้าเหมือนกัน ก็มักจะหยิบเรื่องนี้มาคุย เช่น ผมทำหน้าที่เล่าข่าวคราวความเป็นไปในวงการสงฆ์กับข่าวในพระราชสำนัก ว่าวันนี้ในหลวงทำแบบนี้ อาจารย์ว่าอย่างไร  เวลาที่เห็นอาจารย์ให้สัมภาษณ์ปกป้องในหลวงในกรณีต่างๆ นั้น เวลาคุยกันส่วนตัวอาจารย์ก็พูดแบบนั้นจริงๆ  อาจารย์เห็นว่า เป็นความผิดรัฐบาลที่ไม่ดูแล ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลกลับอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในการลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างนายกรัฐมนตรีบอกว่า ในหลวงทรงมีพระกรุณางดใช้มาตรา 112 แต่ไม่นานก็กลับมาใช้อีก แบบนี้ก็ทำให้คนตั้งคำถามขึ้นมาได้



อาจารย์สุลักษณ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นอนุรักษนิยมสายรอยัลลิสต์ตัวอย่างที่ดีให้สังคมไทย คนใกล้ชิดอย่างคุณพอเห็นภาพไหมว่า ระหว่างรอยัลลิสต์แบบอาจารย์ และรอยัลลิสต์ที่เราเห็นในสังคมไทยตอนนี้แตกต่างกันอย่างไร

ผมไม่ได้รู้จักรอยัลลิสต์คนอื่นที่โด่งดังในสังคมไทยเท่าไหร่ก็เลยพูดไม่ได้ แต่เท่าที่เห็น ผมว่าอาจารย์สุลักษณ์รักสถาบันเหมือนผมรักลิเวอร์พูล เราเชียร์ทีมนี้ รักทีมนี้ แต่เวลาตกต่ำ เล่นไม่ดี เราก็บ่น วิจารณ์ แต่ถ้ามีคนอื่นด่าเราก็โกรธเหมือนกันนะ อาจารย์สุลักษณ์คงรู้สึกแบบนี้ รู้สึกว่าสถาบันควรมีอยู่ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีไว้ดีกว่าไม่มีแบบที่อาจารย์มักให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยๆ

สิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสถาบัน คือ รอยัลลิสต์แบบแย่ๆ  คนที่ทำตัวเป็นราชามากกว่าพระราชา แสวงหาประโยชน์จากชื่อสถาบัน อาจารย์สุลักษณ์มักจะวิจารณ์คนเหล่านี้


ท้ายที่สุดแล้ว จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา คุณได้บทเรียนอะไรให้การเมืองไทยปัจจุบันบ้างไหม เข้าใจสภาพการเมืองไทยมากขึ้นหรือเปล่า

ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะวิกฤต มีความขัดแย้งกันสูง เราต้องการความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลย การอ่านประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา มีคนหัวก้าวหน้าและคนที่ครองอำนาจไม่อยากเปลี่ยนแปลงตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ในระบอบเก่าก็มี ระบอบใหม่ก็สู้กันมานาน เฉพาะประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ผ่านความผันผวนมาหลายยุคหลายสมัย เราอาจจะไม่สามารถหาสูตรสำเร็จจากประวัติศาสตร์มาใช้ปัจจุบันได้ แต่มันก็สะท้อนภาพอะไรหลายๆ อย่าง

พูดอย่างน่าเศร้า คือ มีคนจำนวนหนึ่งถูกรังแกเบียดเบียนเพราะเหตุผลทางการเมืองมาตลอด สี่รัฐมนตรีอีสานถูกฆ่า ผู้นำชาวบ้านถูกอุ้มหาย ผู้นำการชุมนุมต่อสู้โดนคดี แต่มันยังมีความหวังหล่อเลี้ยงใจคนอยู่เสมอ อย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็ยังเกิด เราเห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้ แม้อาจจะไม่ได้สมหวังทุกอย่างในทันที แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น  การที่นักเรียนนักศึกษามาชุมนุมกัน ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ยกเลิกระบบโซตัส การรับน้อง หรือวัฒนธรรมที่ขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย การพูดถึงปัญหาสังคมการเมืองที่ไม่เคยพูดกันมาก่อน เหล่านี้ก็เป็นความสำเร็จนะ แต่จะได้อย่างที่ม็อบต้องการหรือเปล่า ต้องรอดูกันไปในระยะยาว


ถ้าสักวันหนึ่งมีคนสนใจศึกษาประวัติของคุณบ้าง คุณอยากถูกจดจำแบบไหน

ผมมีความทะเยอทะยานตั้งแต่ตอน ม.ปลายแล้วว่า อยากเป็นที่จดจำ อยากเป็นคนที่มีความพิเศษบางอย่างในสังคม พอผมได้เขียนประวัติบุคคลลงคอลัมน์ 101 บ่อยๆ ก็มีคนแซวว่า ผมกลายเป็นนักเขียนประวัติบุคคลไปแล้ว ซึ่งผมก็ชอบนะ ถ้ามีใครสักคนจดจำว่า ผมเป็นคนที่พยายามเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้มีความเป็นมนุษย์ขึ้นมา แค่นี้ผมก็ดีใจแล้ว

กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save