fbpx
เกษม ล่ำซำ กับ 56 ปีที่เลือนหาย

เกษม ล่ำซำ กับ 56 ปีที่เลือนหาย

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

หม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ กล่าวถึงความโศกเศร้าเสียใจกับความตายก่อนวัยอันควรไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถึงแม้จะตระหนักอยู่ว่า ความตายเป็นของเที่ยง เป็นของที่เกิดได้โดยไม่เลือกวัย เลือกกาล หรือเลือกสถานที่ แต่เมื่อคนที่ชอบพอรักใคร่ต้องถึงแก่กรรมไปโดยกะทันหัน โดยไม่มีเหตุการณ์ล่วงหน้าเช่นนี้ เป็นการยากที่จะระงับความเศร้าโศกเสียใจเสียได้”

เมื่อเห็นข่าวนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ถึงแก่กรรมก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับอากาศยานแล้ว ผู้เขียนจึงหวนนึกถึงการจากไปของนายเกษม ล่ำซำ ด้วยอุบัติเหตุจากอากาศยานในต่างประเทศ ในวัยกลางคน เมื่อ 56 ปีก่อน ซึ่งไม่เพียงยังความสูญเสียมาสู่ตระกูลและธุรกิจของครอบครัวเท่านั้น แต่สังคมไทยยังได้สูญเสียคนที่มีความสามารถไปก่อนเวลาที่สมควรด้วย

แต่ 56 ปีให้หลัง ชื่อของ ‘เกษม ล่ำซำ’ นายธนาคารกสิกรไทย นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักทั้งในไทยและต่างประเทศ นักสาธารณกุศลคนสำคัญ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปกับกาลเวลา  จึงคงจะไม่เกินไปนักที่จะกล่าวตามคำของเชคสเปียร์ว่า “คนทุกคนจะถูกลืม” เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

เกษม ล่ำซำ
เกษม ล่ำซำ (26 กรกฎาคม 2458 – 7 กรกฎาคม 2505)

กำเนิดและการศึกษา

เกษม ล่ำซำ เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายอึ้งยุกหลง ล่ำซำ กับนางทองอยู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2458 ที่กรุงเทพมหานคร  เขาเกิดมาในครอบครัวพ่อค้าเก่าแก่ของไทย โดยนายอึ้งผู้เป็นปู่และต้นตระกูลล่ำซำได้เข้ามาตั้งรกรากและประกอบการค้า ตั้ง ‘ห้างล่ำซำ’ ขึ้น ทำการค้าขายทั้งในและต่างประเทศ รับสัมปทานทำขอนไม้สักที่จังหวัดแพร่และกำแพงเพชร รวมถึงตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นด้วย  ครั้นถึงสมัยผู้บิดาของเขา กิจการของตระกูลก็เจริญขึ้นไปอีก ได้รับสัมปทานป่าไม้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ขยายกิจการค้าไม้ไปทั้งยุโรปและเอเชีย มีสาขาที่สิงคโปร์ ซัวเถา ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้  เปิดกิจการโรงสี ค้าขายข้าวกับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจการค้าน้ำตาล กระสอบป่าน และทำประกันภัยด้วย

เมื่อเล็ก เกษมเป็นเด็กอ้วนท้วนสมบูรณ์ ร่าเริง ซุกซน ฉลาดรู้จักเอาใจจนเป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่และพี่ๆ  ครั้นอายุได้ 8 ปี จึงบวชเณรที่วัดทองธรรมชาติ  หลังจากนั้นจึงเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี 2474  ด้วยความที่ครอบครัวมีกิจการค้าขายมาก บิดาจึงส่งเกษมไปเรียนที่โรงเรียนวาหยัน เมืองฮ่องกง ประมาณ 3 ปี

เกษมเป็นคนรักสัตว์ มีเมตตาต่อสัตว์ทุกชนิด เป็นต้นว่าสุนัข แมว กระต่าย ชะนี และเสือ  เมื่อคราวไปเรียนฮ่องกง ถึงขนาดให้ที่บ้านส่งชะนีไปให้เลี้ยง และยังลงทุนตัดเสื้อหนาวให้ชะนีอีกด้วย

จากนั้น เกษมไปศึกษาวิชาการธนาคารตามหลักสูตรของ The Institute of Bankers London พร้อมกันนั้นก็ได้ฝึกงานที่ Anglo-Portuguese Bank จนถึงปี 2485 จึงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรจากสถาบันที่ศึกษา (12 ปีต่อมา ในปี 2497 เกษมเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็น Fellow of The Institute of Bankers London อีกด้วย)

ถ่ายรูปกับนางทองอยู่ ล่ำซำ มารดา และพี่ชายทั้งสองคน คือ โชติ และจุลินทร์
ถ่ายรูปกับนางทองอยู่ ล่ำซำ มารดา และพี่ชายทั้งสองคน คือ โชติ และจุลินทร์

คนไทยใจดี

เกษมเป็นคนใจดีโอบอ้อมอารี  เมื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นญาติของเขา[1] เดินทางไปถึงลอนดอนในปี 2481 เกษมผู้ไปอยู่ก่อนแล้ว ทำหน้าที่เป็นผู้ชักนำป๋วยให้รู้จักกรุงลอนดอน พาไปชมมหรสพต่างๆ ทั้งยังให้คติว่า “รีบๆ ชมเสียก่อนเริ่มเรียนหนังสือ มิฉะนั้นจะอด” ซึ่งก็เป็นจริงตามคำแนะนำของเขา

กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เกษมก็เอื้อเฟื้อ  หลวงภัทรวาทีเล่าว่า เมื่อย้ายจากฝรั่งเศสมากรุงลอนดอน ได้วันเดียว เขาไปกินข้าวที่ภัตตาคารจีนข้างสถานีแชร์ริงครอสส์ ขณะที่กำลังดูรายการอาหารอยู่นั้น เกษมก็เข้ามาทักว่า “คุณเป็นคนไทยใช่ไหม และคงจะเพิ่งมากรุงลอนดอนกระมัง เพราะแปลกหน้า ผมมักจะรู้จักคนไทยทุกคนในกรุงลอนดอน และแทบทุกคนก็มารับประทานอาหารกันที่นี่”  หลวงภัทรวาทีรับคำ แต่ก็ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นคนไทย

เกษมตอบว่า “แท้จริงผมก็ไม่แน่ใจนักว่าคุณเป็นคนไทย แต่ผมลองเสี่ยงโชคเข้ามาทักทายปราศรัย ถ้าคุณเป็นคนไทยผมจะได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติซึ่งมานั่งอยู่คนเดียวห่างไกลบ้านเมือง และคงจะรู้สึกหงอยเหงาอย่างที่ผมเองเคยรู้สึกมาแล้วเมื่อผมมาถึงกรุงลอนดอนใหม่ๆ  แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนไทย ผมก็จะได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนชาวอาเซียด้วยกัน ซึ่งก็คงจะรู้สึกว้าเหว่เช่นเดียวกันเมื่อจากบ้านเมืองของตนมาเช่นนี้”

ต่อมาไม่นานนัก ทั้งหลวงภัทรวาที ป๋วย และเกษม ก็เป็นเสรีไทยด้วยกันทั้งหมด

เสรีไทย

ระหว่างที่เกษมเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งตั้งขบวนการเสรีไทย ณ ประเทศแห่งนี้ เกษมก็ได้เข้าร่วมด้วย แต่มิได้สมัครเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เพราะมีปัญหาหัวเข่าไม่ดี จึงไปเป็นอาสาสมัครในหน่วยดับเพลิงและรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง หรือที่เรียกว่าเจ้าหน้าที่กองดับเพลิงอาสาสมัคร ณ ตำบล Leatherhead ที่เขาพำนักอยู่ตลอดสงคราม ทั้งยังคงทำงานที่ธนาคาร Anglo-Portuguese ที่ย้ายไปนอกกรุงลอนดอนด้วย

แต่เกษมก็ยังเอื้อเฟื้อเพื่อนฝูงอยู่เสมอ พยายามเข้ามาติดต่อและถามทุกข์สุขของบรรดาคนไทยที่ยังคงอยู่ในกรุงลอนดอนเสมอ และเนื่องด้วยอาหารในกรุงลอนดอนขาดแคลน โดยเฉพาะไข่ไก่ เกษมจึงมักหาติดมาฝากหลวงภัทรวาทีที่สถานทูต พร้อมล้อว่า “ผมนำเอาลูกบอมบ์ขนาดเล็กมาฝากเป็นของขวัญ เพราะบอมบ์ที่มาจากกระเป๋าของผมคงดีกว่าบอมบ์ซึ่งมาจากท้องฟ้าเป็นแน่”

นอกจากนี้ เกษมยังช่วยเหลือเพื่อนฝูงที่มีปัญหาเดือดร้อนเรื่องเงินทอง เนื่องจากไม่สามารถหางานได้ในระหว่างสงครามหรือไม่ได้รับเงินที่ที่บ้านส่งมาจากประเทศไทย  รวมถึงยังเชิญพรรคพวกหลายคนไปกินกับข้าวไทยแกมจีนฝีมือของเขาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ Leatherhead ด้วย

อนึ่ง เกษมได้เป็นกรรมการสามัคคีสมาคมหลายปีติดต่อกันด้วย และในระหว่างสงครามทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกของสมาคม  ตราบจนสงครามสงบลง จึงเดินทางกลับประเทศไทยในปลายปี 2488

ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อเกษมกลับมาประเทศไทยแล้ว เขาเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการของธนาคารกสิกรไทย ที่ โชติ ล่ำซำ พี่ชายคนโตของเขา ร่วมกับญาติมิตรและเพื่อนฝูงตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2488 โดยมีโชติเป็นกรรมการผู้จัดการ  เกษมช่วยพี่ชายของเขาในด้านงานต่างประเทศ วิธีการปฏิบัติงาน ตลอดจนฝึกอบรมพนักงาน

ต่อมาเพียงปีเศษ โชติถึงแก่กรรมลง เกษมจึงได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสืบแทนมาตั้งแต่ปี 2491  เขาเป็นผู้วางรากฐานให้ธนาคารแห่งนี้อย่างสำคัญ จนสามารถขยายกิจการมีสาขาไปทั่วประเทศ และมีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคารต่างประเทศอีกด้วย

กับโชติ ล่ำซำ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการคนแรกของธนาคารกสิกรไทย
กับโชติ ล่ำซำ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการคนแรกของธนาคารกสิกรไทย

สมาคมธนาคารไทย

สำหรับวงการธนาคารไทย เกษมเป็นผู้ริเริ่มให้มีการประชุมพบปะกันของนายธนาคารทั้งไทยและเทศทุกปักษ์ ที่สโมสรคอสโมโปลิตัน จนต่อมานำมาสู่การตั้งสมาคมธนาคารไทยในปี 2502 ซึ่งเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการอยู่ถึง 3 ปีติดต่อกัน และในฐานะนี้เขาได้ผลักดันให้เกิดสถานอบรมวิชาการธนาคารขึ้นเมื่อปี 2503 ด้วย

นอกจากนี้ เกษมยังสามารถชักชวนให้ธนาคารไทยและกลุ่มธนาคารต่างประเทศร่วมกันตกลงกันกำหนดอัตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และได้รับเกียรติให้เป็นผู้ออกประกาศอัตราทุกๆ วัน

ด้วยความที่เขาเป็นผู้มีความรอบรู้ในวิชาการธนาคาร เป็นคนมีอัธยาศัยดี และเพ่งเล็งไปที่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงได้รับความนับถือไม่แต่ในหมู่นายธนาคาร หากรวมไปถึงข้าราชการด้วย  เกษมจึงมีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันมีส่วนสำคัญยิ่งในการวางรากฐานที่มั่นคงให้วงการธนาคารไทย โดยเขาเป็นกรรมาธิการของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอว่า สิ่งใดสะดวกในทางปฏิบัติ สิ่งใดควรถือเป็นมาตรฐาน แม้เมื่อเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันของฝ่ายธนาคารพาณิชย์กับฝ่ายราชการ เกษมก็เป็นผู้ชี้แจงจนสามารถตกลงกันได้ด้วยดี

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ยกย่องเกษมไว้ว่า “ในฐานเพื่อนร่วมคิดในวงอาชีวะเศรษฐกิจด้วยกัน เกษมไม่เว้นที่จะแสดงความคิดเห็นของตนด้วยความสุจริต ซื่อตรง ถือสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ  จะมีอะไรท้วงติงจากนายธนาคารพาณิชย์ต่อนายธนาคารกลาง ก็ท้วงติงซึ่งๆ หน้า  ผู้ถูกท้วงแม้ไม่เห็นด้วย ก็ต้องเคารพว่าท้วงโดยปราศจากอคติ  ความสัตย์สุจริตและความรอบรู้เชี่ยวชาญของเกษมในวงการธนาคารเป็นคุณประโยชน์ยิ่งนักแก่ราชการและกิจการเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ” ก่อนจะทิ้งท้ายว่าการสูญเสียเกษมนับเป็น “การสูญเสียคู่คิดอันประเสริฐ”

อนึ่ง เกษมยังเป็นกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากร อีกด้วย

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์สรุปความสำเร็จของเกษมว่า “ได้รับความยกย่องสรรเสริญในวงการธุรกิจและสังคม ตลอดจนรัฐบาลด้วย เป็นอย่างสูงโดยทั่วกัน”

เกษมกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2504 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทยเป็นปีที่ 3 (ถัดจากเกษมไปทางขวามือของภาพ คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)
เกษมกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2504 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทยเป็นปีที่ 3 (ถัดจากเกษมไปทางขวามือของภาพ คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)
เกษมอ่านรายงานการก่อตั้งสถานอบรมวิชาการธนาคารของสมาคมธนาคารไทย ในวันเปิดสถานอบรมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2503
เกษมอ่านรายงานการก่อตั้งสถานอบรมวิชาการธนาคารของสมาคมธนาคารไทย ในวันเปิดสถานอบรมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2503

หอการค้าไทย

นอกจากวงการธนาคารแล้ว เกษมยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2492 และเป็นรองประธานสภาการค้าในปี 2502-2504  มีบทบาทเคยเป็นผู้แทนหอการค้าไทยไปร่วมประชุมหอการค้านานาชาติที่กรุงเวียนนา และเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ในฐานะทูตสันถวไมตรีของรัฐบาล ในปี 2496  ร่วมคณะทูตการค้าของรัฐบาลไปประชุมที่อินเดียเมื่อปี 2497 และไปร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันในปี 2502

เยี่ยมคำนับจอมพล เจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนที่ไทเป ในโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมเยียนตัวแทนของธนาคารที่ญี่ปุ่นและไต้หวัน พ.ศ. 2503
เยี่ยมคำนับจอมพล เจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนที่ไทเป ในโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมเยียนตัวแทนของธนาคารที่ญี่ปุ่นและไต้หวัน พ.ศ. 2503

งานสาธารณกุศล

เกษมเป็นคนจิตใจโอบอ้อมอารี มีใจใฝ่ในการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์มาก ได้ร่วมเป็นกรรมการในองค์กรสาธารณประโยชน์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสภากาชาดไทย มูลนิธิราชประชาสมาสัย และโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ทั้งยังมีบทบาทช่วยงานในองค์กรอื่นๆ อีก เช่น สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์

กล่าวจำเพาะสภากาชาดไทย เกษมเป็นกรรมการอำนวยการจัดงานวันกาชาดมาตั้งแต่ปี 2496  โดยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ประธานกรรมการชุดนี้กล่าวว่า “ตลอดหกปีเศษที่ได้ร่วมการจัดงานวันกาชาดกันมา ข้าพเจ้าไม่เคยผิดหวังเลย เพราะคุณเกษมเป็นกรรมการที่เข้มแข็ง ให้คำปรึกษาที่ดีและรอบคอบ สละทั้งกำลังกาย กำลังใจ และทรัพย์สินให้เพื่อการกุศลอย่างเต็มใจเสมอ”

นอกจากนี้ยังได้สร้าง ‘เกษมปัญญาคาร’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อเป็นที่ศึกษาของพระภิกษุสามเณรด้วย หลังจากที่เขาบวชเรียนที่พระอารามนี้เป็นเวลา 1 พรรษา ในปี 2501

ถนัด คอมันตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างดีว่า “เมื่อได้พบกับความสำเร็จในชีวิตแล้ว แทนที่จะเสวยสุขแต่โดยลำพัง คุณเกษมกลับนำโภคทรัพย์และความสามารถของตนบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะเป็นอเนกประการ ด้วยการอุทิศทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เป็นสาธารณกุศล เผื่อแผ่เมตตาแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากอยู่เสมอ”

เขมจิตโตภิกขุ (เกษม) ในพรรษาปี 2501 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ขณะเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นอุปัชฌาย์
เขมจิตโตภิกขุ (เกษม) ในพรรษาปี 2501 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ขณะเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นอุปัชฌาย์
รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษในพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2505
รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษในพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2505
รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 พ.ศ. 2502
รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 พ.ศ. 2502
ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในนามสมาคมธนาคารไทย เนื่องในโอกาสเสด็จนิวัตสู่พระนคร หลังจากที่เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป
ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในนามสมาคมธนาคารไทย เนื่องในโอกาสเสด็จนิวัตสู่พระนคร หลังจากที่เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป
ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกในงานกาชาด พ.ศ. 2505
ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกในงานกาชาด พ.ศ. 2505
รับพระราชปฏิสันถารจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถในโอกาสที่ทรงเยี่ยมร้านในบริเวณงานสภากาชาด พ.ศ. 2505
รับพระราชปฏิสันถารจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถในโอกาสที่ทรงเยี่ยมร้านในบริเวณงานสภากาชาด พ.ศ. 2505

ครอบครัว

ในปี 2490 เกษมสมรสกับ วาณี ณ ป้อมเพชร บุตรีของพระยาและคุณหญิงชวกิจบรรหาร มีธิดารวม 6 คน คือ วัชรีวรรณ สุมัณฑนา รุจิราภรณ์ สมรมิตร สุจิตพรรณ และสุปัญญา

เกษมกับวาณี เมื่อวัชรีวรรณอายุ 1 ขวบ วาณีและธิดา 5 คนที่เหลือ
(ซ้าย) เกษมกับวาณี เมื่อวัชรีวรรณอายุ 1 ขวบ  (ขวา) วาณีและธิดา 5 คนที่เหลือ

เกษมในสายตาคนรู้จัก

จอมพล ถนอม กิตติขจร กล่าวถึงเกษมว่า “เป็นบุคคลที่มีนิสัยอ่อนโยน โอบอ้อมอารี มีอัธยาศัยน่ารักน่านับถือ เป็นที่รักของบรรดาญาติและมิตรสหายทุกคน” ทั้งยังเป็น “คนดีทั้งในด้านความประพฤติและความรู้”

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง สุนทร หงส์ลดารมภ์ สะท้อนภาพว่า “ข้าพเจ้ารู้จักคุณเกษมมานานปี และจนกระทั่งวาระสุดท้าย ยังไม่เคยได้ยินใครกล่าวขวัญถึงคุณเกษมในแง่ร้ายเลยแม้แต่คนเดียว  ความคิดเห็นในด้านการงานอาจจะผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แต่จะหาผู้ใดที่มีนิสัยใจคอเยือกเย็น โอบอ้อมอารี และไมตรีจิตแก่เพื่อนฝูง ผู้รู้จักคุ้นเคย อย่างคุณเกษม เห็นจะหาได้ยากมากทีเดียว

ส่วน ถนัด คอมันตร์ เพื่อนของเขา ยกย่องว่า “คุณเกษมได้แสดงให้ประจักษ์ว่าเป็นมิตรที่ดีและน่านับถือ น่าให้ความไว้วางใจไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งในทางการงานและส่วนตัว  คุณเกษมเป็นผู้มีอุดมคติสูง มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างความดีงามในส่วนตัว และความเจริญรุ่งเรืองในกิจการที่ประกอบอาชีพเป็นอย่างดียิ่ง”

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็เห็นในทำนองเดียวกันคือ “เกษมมีแต่ความอารีอารอบต่อเพื่อน เพื่อนที่ดีก็รัก เพื่อนที่ไม่ดีนักก็ยังอารี  คำบ่นของเกษมเกี่ยวกับเพื่อนบางคนยังจำติดหู ‘ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาอย่างไร อย่างมากก็เอะอะเอา แล้วก็สงสารเขา’”

สอดคล้องกับที่คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ให้รายละเอียดว่า “เกษมเป็นคนที่ฉลาดรู้โลก พร้อมที่จะให้คำปรึกษาอันสุขุม ช่วยเพื่อนตัดสินใจในเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งอยู่เสมอ”

มรณกรรม

ด้วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในต่างประเทศ เกษมจึงต้องเดินทางไปมาอยู่เสมอ แต่ครั้งที่สุดของชีวิตนั้น ขณะกำลังเดินทางไปยุโรปพร้อมด้วย ด.ญ.วัชรีวรรณ บุตรสาวคนโต เครื่องบินที่โดยสารไปประสบอุบัติเหตุชนภูเขานิมคีรี ขณะจะร่อนลงที่สนามบินบอมเบย์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2505  ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด[2]

เป็นการปิดฉากชีวิตของนักธุรกิจผู้กำลังประสบความสำเร็จ ชายใจบุญคนหนึ่ง และสามีกับพ่อของลูกๆ ไป ในวัยเพียง 47 ปีเท่านั้น

บรรณานุกรม

หนังสืออนุสรณ์ เกษม ล่ำซำ, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญทักษิณานุสรณ์ นายเกษม ล่ำซำ ท.ม., ต.จ.ว., ต.ช. และเด็กหญิงวัชรีวรรณ ล่ำซำ ณ สรีรนิธาน ตึกเกษมปัญญาคาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เชิงอรรถ

[1] ลูกสาวคนโตของขุนรักษาอาการกิจ (ปอ อึ๊งภากรณ์) ซึ่งเป็นคุณลุงของป๋วย ชื่อ น้อม มาแต่งงานกับ โชติ ล่ำซำ พี่ชายของเกษม

[2] หมายถึง Alitalia Flight 771 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 94 คน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save