fbpx
“คนก็ต้องการการดูแลจิตใจ”: มองปัญหาสุขภาพจิตในยุคโควิด-19 กับ นพ.กานต์ จํารูญโรจน์

“คนก็ต้องการการดูแลจิตใจ”: มองปัญหาสุขภาพจิตในยุคโควิด-19 กับ นพ.กานต์ จํารูญโรจน์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

 

การดำเนินชีวิตในวิกฤตโควิด-19 ทั้งความปกติใหม่ การเว้นระยะห่างทางสังคม การติดตามสถานการณ์เรื่องโรคระบาดที่เปลี่ยนแปลง และการทำมาหากินในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากจะกระทบชีวิตและปากท้องของผู้คนแล้ว ยังกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คนจำนวนมาก และเป็นปัจจัยให้เกิดการฆ่าตัวตาย ดังที่มีการรายงานข่าวอยู่เรื่อยๆ ในช่วงนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่สังคมไม่ควรเพิกเฉย มองข้าม

101 สนทนากับ นพ.กานต์ จํารูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในรายการ 101 One-On-One Ep.131 : “ปัญหาสุขภาพจิต ในวิกฤต COVID-19” ว่าด้วยปัญหาสุขภาพจิตในวิกฤตโควิด-19 หาคำตอบตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว เช่น ภาวะที่เสี่ยงต่อสุขภาพจิตในสถานการณ์โควิด การรู้เท่าทันอารมณ์ ไปจนถึงภาพใหญ่ของการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในไทย ทำอย่างไรให้ความเข้าใจและบริการด้านสุขภาพจิตเข้าถึงผู้คนอย่างครอบคลุม

 

การดำเนินชีวิตในยุคโควิด มีอะไรที่เสี่ยงต่อสุขภาพจิตบ้าง

 

ตอนนี้มีหลายสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต อันดับแรกคือ ความอันตรายของโรคระบาดทำให้เกิดความกลัวขึ้นในตัวเรา การที่เรากลัวและกังวลไม่ได้แปลว่าผิดปกติ แต่แน่นอนว่า ถ้าเรากลัวหรือเครียดนานๆ อย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย ร่างกายจะทำงานหนักขึ้น และอย่างที่หลายคนบอกว่า สถานการณ์ตอนนี้อาจกลายเป็น new normal เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไปในระยะยาว ความกลัวและความกังวลนี้ก็อาจเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย

การที่เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตก็เป็นความเครียดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะเราออกจากความเคยชินและความมั่นคงเดิม เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น ทำให้เราไม่ได้เจอคนที่ผูกพันด้วยบ่อยเท่าเดิม เราต้องอยู่กับที่ ไม่ได้สัมผัสธรรมชาติ แสง สี เสียง หรือสภาพแวดล้อมที่เราเคยชิน หรือการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนคือเรื่องการงาน ปากท้อง เศรษฐกิจ จะเรียกว่าเป็นปัจจัยสร้างความเครียดหลักๆ ในสังคมเราเลยก็ได้ และในระยะยาวอาจทำให้สุขภาพจิตของผู้คนไม่ดี

อีกประเด็นที่เป็นไปได้คือ การที่คนต้องอยู่บ้านกับสมาชิกหลายคนในพื้นที่จำกัดอาจทำให้เสียพื้นที่ส่วนตัว และทำให้เราได้เห็นมุมต่างๆ ของคนที่เราอยู่ด้วย ซึ่งอาจทำให้เราหงุดหงิด ไม่สบายใจ เช่น เดิมทีเราออกไปทำงาน ไม่ค่อยได้เห็นว่าพี่น้องเราที่อยู่ในบ้านเดียวกันเขามีพฤติกรรมชอบรื้อของ ซึ่งเราไม่ชอบเลย ก็อาจจะเกิดความเครียด แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากจะปรับเข้าหากัน จากที่ต่างคนต่างใช้ชีวิต เราอาจมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับคนใกล้ตัวที่กลายเป็นคนไกลตัว

ผมแบ่งการรับมือกับปัญหาเป็นสองส่วนคือ การรับมือกับปัจจัยภายนอก และการรับมือปัจจัยภายใน ซึ่งสองอย่างนี้รับมือต่างกัน การรับมือกับปัจจัยภายนอก เช่น ถ้าเราต้องอยู่กับคนในบ้านมากขึ้น มีอะไรไหมที่เราจะปรับได้ในสิ่งแวดล้อมนี้ เราอาจจัดแจงพื้นที่ส่วนตัวของเรา และสื่อสารกับคนรอบข้างว่าเราต้องการแบบนี้  จะอยู่ร่วมกันยังไง การรับมือกับภายในก็เช่น ความคาดหวัง อารมณ์ นิสัยใจคอที่อยู่ข้างในเรา และเราเป็นผู้ที่รับผิดชอบมันได้ดีที่สุด เราต้องลองสังเกตว่าในสถานการณ์ต่างๆ เราเกิดอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดอะไร แล้วตัวเราเองจะจัดการกับสิ่งที่เกิดภายในได้อย่างไรบ้าง

 

ทำอย่างไรให้ WFH ไม่ใช่ Work from Hell

 

การทำงานจากที่บ้านสำหรับบางคนอาจจะไม่เป็นปัญหาเลย ขณะที่บางคนทำงานไม่ได้ ไม่ว่ามันเป็นปัญหาหรือไม่ แน่นอนว่ามันมีการปรับตัว และมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง บางอย่างก็ควบคุมได้ บางอย่างก็ควบคุมไม่ได้ เช่น สถานการณ์โควิดเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนรู้สึกว่าควบคุมไม่ค่อยได้ ไม่รู้ว่าตกลงแล้วมันจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน เราต้องปฏิบัติตัวยังไงถึงจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น นอกจากดูว่ามีปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในอะไรบ้าง เราต้องดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในความควบคุมของเราไหม หรือเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น เราเป็นลูกจ้าง เจ้านายบอกมาว่าให้ทำงานที่บ้าน หรือบางคนอาจจะถูกบังคับให้ยังทำงานที่ออฟฟิศอยู่ ถ้าเรารู้แล้วว่ามันอยู่นอกเหนือการควบคุม ผมแนะนำว่าให้เราลองกลับมาดูว่า แล้วอะไรที่อยู่ในความควบคุมของเราได้บ้าง เช่น เราจะวางแผนการทำงานยังไง จะจัดวางอะไรในพื้นที่ทำงานให้เราทำงานได้คล่องตัวที่สุด ดูแลตัวเองได้มากที่สุด

วิกฤตนี้ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าจะอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยังไง หลายครั้งเหตุผลที่เราเครียดไม่ใช่แค่สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้อย่างเดียว แต่เป็นเพราะความคาดหวังของเราด้วยเหมือนกัน เราคาดหวังว่ามันควรจะต้องทำนายได้ ควรจะต้องรู้สิว่าจะเป็นยังไงต่อ ซึ่งเป็นธรรมดามาก เพราะเรากำลังเป็นห่วงแและดูแลตัวเอง แต่ถ้าเรายึดกับความคาดหวังนี้มากเกินไป จะคานกับธรรมชาติที่ไม่แน่นอน วิกฤตนี้ยังต้องค่อยๆ ติดตามตอนต่อไป และค่อยๆ ปรับตัวไปทีละตอน ถ้าเราค่อยๆ วางความคาดหวังที่จะรู้ให้แน่ชัดลงบ้าง จิตใจเราจะสบายจากมันมากขึ้น และจะค่อยๆ เชื่อว่า ตัวเราก็มีความสามารถที่จะปรับตัวได้

 

จัดการกับความรุนแรงในครอบครัวเมื่อต้องอยู่บ้านอย่างไร

 

เรื่องของความรุนแรง ความก้าวร้าว และความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นในครอบครัวมีหลายระดับ ในขณะเดียวกันการรับมือในระดับต่างๆ ก็จะแตกต่างกันไป ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงมาก เช่น ครอบครัวที่ขัดแย้งกันอยู่แล้ว มีปากเสียงกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับใช้ความรุนแรง ตรงนี้อาจต้องปรับเข้าหากัน เรื่องของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว การปรับอาจต้องใช้ความร่วมมือของคนอื่นๆ ในครอบครัว แต่อย่างน้อยมันเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนได้ อาจจะเริ่มต้นจากการสังเกตตัวเราว่า เวลาอยู่ในครอบครัวเรามีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น หรือมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในครอบครัวบ้าง พอเรารู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ตัวเอง จะรับมือและจัดการอย่างมีสติมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเราจะไม่เอาความคิด หรือความหงุดหงิดไปลงกับคนอื่นหมด และเราจะไม่ทำอะไรที่เราไม่อยากทำ ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถสื่อสารกับคนอื่นในครอบครัวได้ ก็จะเริ่มจูนเข้าหากันได้มากขึ้น

ในกรณีที่ระดับที่ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนจากที่เราพยายามปรับเข้าหา เป็นการกลับมาดูแลตัวเองก่อนด้วย ระแวดระวังว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น เราจะดูแลตัวเองได้ยังไงบ้าง ให้สุขภาพกายสุขภาพใจผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้อย่างดี การดูแลตัวเองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลครอบครัวได้มากขึ้นด้วย

สุดท้ายเลย ถ้าสถานการณ์รุนแรงมาก จนมีการใช้กำลัง เรื่องที่สำคัญมากคือเราต้องดูแลความปลอดภัยของตัวเอง การยื่นมือหาความช่วยเหลือ เป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ในเรื่องความปลอดภัย ในขณะเดียวกันถ้าใครพบเห็นความรุนแรง ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคมเหมือนกัน ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ ต้องช่วยดูแลความปลอดภัยของคนที่กำลังถูกกระทำ

จะทำความเข้าใจสถานการณ์และดูแลสุขภาพจิตของเด็กได้อย่างไร

 

อีกประเด็นคือการดูแลเด็กในช่วงนี้ เด็กมีหลายช่วงอายุ แต่ละช่วงอายุมีการรับรู้ และความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค การปฏิบัติตัว การเล่าให้เด็กหรือวัยรุ่นฟังก็อาจต้องใช้วิธีแตกต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นเด็กๆ วัยก่อนประถม อาจจะต้องใช้อุปมาอุปไมยในการเล่า สมมติว่าโรคเหมือนผู้ร้าย และมีตัวเอกที่จะแก้ปัญหา ตัวเอกอาจเป็นเราทุกคนที่จะช่วยกันเว้นระยะห่างทางสังคม ดูแลสุขอนามัย คือใช้เทคนิคเปรียบเปรยให้เด็กเข้าใจง่าย อาจไม่ต้องให้เขาเข้าใจทั้งหมด เพียงแต่พอรู้หลักการปฏิบัติตัว แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น เขาจะเริ่มคล้ายผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจอะไรได้อย่างมีเหตุมีผล เราอาจต้องการสร้างความเข้าใจ แล้วให้เขาได้เลือกตัดสินใจเองว่าทำยังไงถึงจะดี

ผมรู้สึกว่าเด็กทั่วไปอาจไม่ได้เครียดเท่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เขารู้สึกคือ เดิมทีเขามีสังคมที่โรงเรียนกับเพื่อนๆ การห่างจากเพื่อนอาจทำให้รู้สึกเหมือนเสียบางอย่าง เขาอาจเครียด และไม่สนุก เพราะฉะนั้นการช่วยให้เขาได้มีความเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ อยู่ หรือการมีคุณพ่อคุณแม่คอยเล่นกับเขา คอยถามไถ่เขา ก็อาจเป็นตัวช่วยหนึ่ง

 

ทำไมไลฟ์โค้ชเป็นที่นิยมในยุคโควิด และเราควรระมัดระวังอะไร

 

การที่ไลฟ์โค้ชหรือศาสตร์การพัฒนาตัวเองได้รับความนิยมในสถานการณ์เช่นนี้ มันสะท้อนว่าคนก็ต้องการการดูแลจิตใจภายในตัวเรา ไม่ใช่แค่เรื่องภายนอกอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่สำคัญนะ เพราะการรับมือ การดูแลตัวเอง จะทำให้เราใช้ชีวิตได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ถามว่าจะต้องระวังอะไร ผมมองว่า จริงๆ กับทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องไลฟ์โค้ชอย่างเดียว เราต้องระวังการยึดถือหรือเชื่ออะไรจนเกินพอดี เช่น เราฝังใจว่าเขาบอกมาอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ หรือถ้าเขาบอกว่าอะไรไม่ควรทำ เราก็จะต้องไม่ทำเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตกหลุมกับดักความยึดติดของตัวเอง ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้หรือปรับตัวไปตามความเป็นจริง เช่น ที่หมอกำลังพูดอยู่นี้ จริงๆ หมอก็ต้องบอกว่าอย่าเชื่อหมอร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเชื่อหมอแล้วยึดติดกับมันมาก จะยิ่งทำให้เราทิ้งทักษะ ทิ้งความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองไป เพราะฉะนั้น ฟังหมอแล้วลองเรียนรู้ และลองดูว่าเราจะนำมาปรับยังไง ลองทำแล้วเป็นยังไงต่อ กับไลฟ์โค้ชหรือศาสตร์การพัฒนาตัวเองก็เหมือนกัน

 

โควิดกระทบต่อการให้บริการสุขภาพจิตในโรงพยาบาลอย่างไร

 

ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด ผู้รับบริการก็จะได้รับผลกระทบเยอะ ทางโรงพยาบาลเองจะต้องเตรียมพร้อมในการคัดกรองว่าจะมีผู้ป่วยโควิดหรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาไหม แล้วถ้ามี จะมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคยังไงบ้าง เพราะฉะนั้นจึงมีการจำกัดการเข้ารับบริการ ส่วนหนึ่งก็เพื่อตัวผู้ป่วยเอง ถ้ามาโรงพยาบาลแล้ว เกิดตอนนั้นมีคนที่มีความเสี่ยงเข้ามา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงไปด้วย แล้วกลายเป็นการแพร่กระจายขนาดใหญ่ขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกคน ถ้ามีการติดเชื้อ ก็จะต้องมีบุคลากรที่หยุดทำงาน ส่งผลต่อการทำงานของสาธารณสุขโดยรวม

เมื่อจำกัดการเข้ารับบริการ ตอนนี้ก็จะเน้นให้ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการไม่ค่อยดี หรือจำเป็นต้องมาประเมินที่โรงพยาบาลจริงๆ เดินทางมาที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่อาการคงที่อาจต้องขอให้เลื่อนนัดไปก่อน หรือหาทางอื่นในการรับยาต่อเนื่อง

 

ประเด็นสุขภาพจิตในไทยควรเดินหน้าอย่างไร

ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงบริการและความเข้าใจอย่างเท่าเทียม

 

เท่าที่ทำงานมาก็เห็นพัฒนาการความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตในทางที่ดีขึ้นนะ คือคนเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั้งของตัวเอง และของคนอื่น เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในสื่อต่างๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้ในเชิงที่อยากให้ทำความเข้าใจ

แต่ในขณะเดียวกัน การตีตราทางสังคมก็ยังชัดเจนอยู่ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น บางทีเราพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่า เฮ้ย เป็นอย่างนี้ต้องไปกินยาแล้วรึเปล่า โห เธอคิดมากอย่างนี้ต้องกินยาแล้วไหม จริงๆ เขาก็พูดเล่นๆ แต่คนฟังจะรู้สึกว่าเป็นการต่อว่า ทำให้การตีตรายังเกิดขึ้นในทุกๆ วัน ที่ผมพูดเรื่องนี้ไม่ได้อยากให้รู้สึกผิด รู้สึกแย่ แต่ถ้าเราเท่าทันมันมากขึ้น เวลาความคิดพวกนี้เกิดขึ้น เราจะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารมันออกไป และคอยดูแลความคิดเราเอาไว้

ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องฐานะ ทำให้เกิดความเครียดได้มาก แล้วยิ่งเจอกับสถานการณ์โควิดเข้าไปอีก คนจนก็ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนัก เรื่องนี้ทำให้เห็นเลยว่าสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องของบริการทางสาธารณสุขอย่างเดียว เป็นเรื่องของด้านอื่นๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเศรษฐกิจ การดูแลความเป็นอยู่ ศักยภาพของคน รวมไปถึงความเท่าเทียมในการดูแลประชาชนโดยรวม เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องค่อยๆ ดูแลแต่ละส่วนร่วมกันไป

แต่ในมุมของบริการทางสุขภาพจิตเอง ถามว่ามันครอบคลุมคนทั้งหมดไหม ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วครอบคลุมได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาอยู่ เพราะมีพื้นที่ที่บริการสุขภาพจิตยังเข้าไม่ถึง จิตแพทย์ก็ยังเป็นหมอสาขาที่ขาดแคลน ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศได้ทั้งหมด เรายังต้องการการผลิตและการพัฒนาจิตแพทย์อยู่

นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพจิตเป็นส่วนที่สังคมเรียนรู้ร่วมกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ที่สำคัญมากคือเรื่องตราบาป หลายครั้งคนไม่มารับความช่วยเหลือดูแล เพราะรู้สึกว่าโรคทางสุขภาพจิตเป็นตราบาป เวลาถูกบอกว่าสุขภาพจิตไม่ดี มีโรคจิตเวช คนจะรู้สึกว่าโดนคนอื่นตำหนิ ดูถูก หมอก็ไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นในสังคม เพราะจะยิ่งทำให้การดูแลสุขภาพจิตทำได้ยากมากขึ้น

การกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรับบริการเป็นเรื่องที่สำคัญ ในเชิงนโยบายต่างๆ นอกเหนือจากการเปิดรับการรักษาแล้ว การสร้างความเข้าใจ การส่งเสริมและป้องกันเรื่องสุขภาพจิตก็สำคัญมาก เราจะให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้คนได้ยังไง รวมไปถึงการค้นหาคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช หรือสุขภาพจิตแย่ เราจะเข้าไปค้นหายังไง หรือคนที่ป่วยอยู่แล้วเราจะเข้าไปบำบัดฟื้นฟูได้ยังไง ถ้านโยบายตรงนี้พัฒนาขึ้น จะช่วยให้คนดูแลตัวเองในเรื่องสุขภาพจิตได้มากขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save